ต่อจากฉบับ ๑๗๘


ตอน "กอแล"

แม่ยังคงไปเยี่ยมพี่รอมะห์ทุกวัน แม่จะไปเมื่อพี่แมะและน้อยกลับจากโรงเรียนแล้ว สองพี่น้อง ต้องเฝ้าหน้าร้าน จนกระทั่งพ่อหรือแม่ กลับบ้าน ซึ่งบางวันก็เย็นมาก จนไม่มีเวลาไปอาบน้ำคลอง ต้องนั่งอาบกันที่คูสายเล็กหน้าบ้าน พ่อได้ทำสะพานพิเศษ ด้วยต้นมะพร้าวผ่าซีก ข้ามคูนี้ไว้เฉพาะ สำหรับสมาชิกในครอบครัว นั่งอาบน้ำกันเล่นเย็นๆ ใจ เป็นคนละสะพาน กับที่พ่อให้คนทำ สำหรับข้ามมาที่หน้าร้าน น้อยชอบคูเล็กนี้ เพราะไม่มีปลิง ปลิงมันไม่ชอบน้ำเชี่ยวอย่างนั้น

อาบน้ำใกล้ค่ำอย่างวันนี้ก็ดีเหมือนกันเพราะไม่ต้องรีบร้อนเดินฝ่าดงทุเรียนที่แสนมืดมาจากท่าริมคลอง นั่งตักน้ำอาบไปพลาง คุยกันไปพลาง อย่างสนุกสนาน อาบเสร็จก็ก้าวขึ้นเรือนตรงไปในครัวได้เลย ข้าวปลาอาหารร้อนๆ รอทุกคน อยู่ใต้ฝาชีในครัวแล้ว

มามุซึ่งอาบน้ำกินข้าวเสร็จแล้วได้ยินเสียงคุยและหัวเราะกันอย่างเบิกบานใจจึงเดินเตร่มาจากบ้านของเขา มาถึงก็ลงนั่งยอง ๆ ริมคู เอามือกอดอก พูดอย่างเสียดายว่า

"อาบน้ำกันสนุกจัง รู้งี้ฉันมาอาบที่นี่มั่งก็ดีหรอก"

"ฮารีนิงโต๊ะซารีกูลาอะปอ มามุ (วันนี้โต๊ะซารีแกงอะไร มามุ)?" แม่ถามมามุเป็นภาษามลายู

"ไม่ได้แกงครับ เมาะ (แม่) โต๊ะต้มไข่เป็ด แล้วก็ทำบูดูกินกับผักครับ" มามุตอบ ทำให้น้อย รู้สึกหิวข้าว ขึ้นมาทันที

"บ้านฉันทำซามาบลาแจ (เป็นคำสมาสของภาษามลายูท้องถิ่น ซามา+บลาแจ ตรงกับภาษา มลายูกลางว่า ซำบัล (sambal) + บลาจัน (blajan) แปลว่าน้ำพริก + กะปิ) กินกับผักเหมือนกัน เดี๋ยวเธอมากินอีกก็ได้นะ" น้อยชวนเพื่อน

"ขอบใจมาก แต่ฉันกินอิ่มแล้ว วันนี้เธอขายของได้มากไหม?" มามุถาม

"เธอก็รู้ วันไหนพี่แมะอยู่หน้าร้าน วันนั้นต้องขายดี ถ้าฉันอยู่คนเดียว ก็ไม่มีใครเข้าร้านหรอก" น้อยพูด ตามความเป็นจริง ไม่รู้สึกน้อยใจด้วย

"น้อยเขาเคยขายดีเหมือนกัน มามุไม่รู้หรือ เขาเคยขายตึบากา (ยาเส้น) ที่เป็นกลุ่มน่ะ หมดขวดโหลเลยแหละ" พี่แมะพูด พลางหัวเราะกิ๊ก พ่อกับแม่ ก็หัวเราะด้วย

"ไหนเธอว่าเธอขายของไม่ดีล่ะ น้อยขายยาเส้นทีเดียวหมดขวดโหลเลยเหรอ?" มามุถาม ทั้งที่สงสัย เสียงหัวเราะของพี่แมะ

"นั่นมันตั้งนานมาแล้วน่า ตอนนั้นฉันยังเล็ก ยังไม่เข้าโรงเรียนเลย ขายของก็ยังไม่เป็น" น้อยว่า ไม่อยาก ให้ใครพูดเรื่องเก่าให้มามุฟัง เธอรู้สึกว่า น่าขายหน้ามาก

"ยังขายของไม่เป็น แต่อยากขายมาก คนมาซื้อตึบากาก็ไม่เรียกใคร เดินอวดตะปิ้งออกไปขายได้" พี่แมะว่า ยิ่งทำให้น้อย อายมามุมากขึ้น แถมแม่ ยังหันไปพูดกับพ่อว่า

"จริงนะ ตอนนั้นน้อยยังเล็กมาก แต่อยากขายของ เลยออกมาหน้าร้าน เสื้อผ้าก็ไม่ใส่" พ่อหัวเราะ อย่างอารมณ์ดีเช่นเคย พูดว่า

"เป็นการคิดเลขที่ยอดเยี่ยมมาก"

"ฉันไม่เห็นรู้เรื่องเลย เล่าหน่อยสิ น้อย" มามุขอร้อง น้อยยอมเล่าให้เพื่อนฟัง แต่พยายามให้สั้นที่สุด

"ตอนนั้นฉันยังเล็กมากๆ เลย มีคนมาซื้อยาเส้น เขาเอาเหรียญห้าตังค์มา ที่จริงยาเส้นนั้น กลุ่มละห้าตังค์ ฉันจำผิดว่า ห้ากลุ่มตังค์ ก็แค่นั้นแหละ" น้อยเล่าเหมือนเป็นเรื่องแสนธรรมดา มามุนั่งนิ่ง ไปสักครู่ แล้วสีหน้าเขาก็เปลี่ยนเป็นขำ อย่างสุดกลั้น หันไปถามแม่ว่า

"ป๊ะห์ เมาะฆอแดน้อยก๋อ (แล้วแม่ตีน้อย หรือครับ)?"

"กาลูเจ๊ะเตาะดูโดะซะดียอฆึนอซูโงะห์ (ถ้าพ่อไม่อยู่ตรงนั้น น้อยต้องโดนจริงๆ ด้วย) ขายผิด แล้วยังมาอวดแม่อีกว่า ขายยาสูบ ได้หมดขวดโหล ห้ากลุ่ม เอาตังค์แดงทอนให้สี่ตังค์เรียบร้อย น่าตีไหมล่ะ แต่เจ๊ะว่าเด็กเขาอยากช่วยพ่อแม่ แม่ว่าน้อยทำเป็นรู้มากต่างหาก" แม่เล่าอย่างขำไปด้วย ขณะที่พ่อว่า

"ก็ถึงว่าเขาเริ่มเรียนบวกลบด้วยยาเส้นไง เสียแต่จำกลับไปหน่อย ให้เขาห้ากลุ่ม ทอนอีกสี่ตังค์ก็ถูกแล้ว นะน้อยนะ ก็ห้ากลุ่มตังค์นี่"

"พ่อเยาะเย้ยน้อยแบบเม็ดในสำลีอีกแล้ว ขึ้นบ้านไปในครัวก่อนดีกว่า มามุไปกินข้าวด้วยกันเหอะ" น้อยชวนเพื่อนซ้ำ

"ฉันกินแล้ว เดี๋ยว อย่าเพิ่งไป พรุ่งนี้ว่าไง จะไปดูเขามัยย์ตึฆีไหม ที่บ้านพี่รอมะห์น่ะ?"

มามุถามและน้อยแอบพยักหน้าเป็นสัญญาณว่า ตกลงแต่อย่าอึงไป

ที่ในตัวอำเภอแว้งไม่มีใครทำพิธีรักษาไข้ด้วยการมัยย์ตึฆีเป็น ถ้าบ้านไหนมีคนไข้หนัก และครอบครัว จะให้มีการมัยย์ตึฆี ก็ต้องไปตาม คนทำพิธี มาจากแถวหมู่บ้านบือเลาะห์ หรือไม่ก็แถวฆอเลาะตุวอ คนมุสลิมทราบดีว่า พิธีอย่างนี้ ไม่มีในศาสนาอิสลาม แต่เมื่อไม่มีทางเลือก และเพื่อความมั่นใจ ว่าได้ทำทุกอย่าง เพื่อรักษาคนเจ็บ พวกเขาก็ยอมทำ

วันนั้นแม่กับพ่อไม่ได้ไปที่บ้านของเป๊าะจิ-ฮามิหรอก พี่แมะก็ไม่ไป น้อยกับมามุเท่านั้น ที่ไปทั้งๆ ที่อีกใจหนึ่งก็กลัว น้อยเห็นเขาหาม พี่รอมะห์ มาที่ลานบ้าน ใต้ต้นไม้ พวกผู้ใหญ่ยืนบ้างนั่งบ้าง อยู่รอบเสื่อ ที่พี่รอมะห์นอน เธอและมามุค่อยๆ เดินเข้าไปแอบดู อยู่ข้างหลังคนเหล่านั้น

ไม่มีใครพูดอะไรเลย มีแต่เสียงลมพัดผ่านทางสาคูและใบยาง ทำให้บรรยากาศน่ากลัว และน่าอึดอัด ไปพร้อมกัน น้อยเห็นชายที่เป็นคนทำพิธี นั่งอยู่ด้านหนึ่งของตัวพี่รอมะห์ สีหน้าของเขาเคร่งขรึม ในมือมีกลองสองหน้าใบหนึ่ง น่าน! เขาเริ่มตีกลองแล้ว เสียงกลอง ดังเบาๆ และช้าในตอนแรก แล้วรัวมากขึ้นๆ จนน้อยรู้สึกเหมือนมันมาดัง ตุม ติ๊ติ๊ ตุม บำ บำ อยู่ในทรวงอกของเธอ ผู้หญิง ที่นั่งนิ่ง อยู่อีกข้างหนึ่งของพี่รอมะห์ ลุกขึ้นสยายผมยาวเฟื้อยเกือบถึงพื้น ตัวของผู้หญิงคนนั้น เริ่มสั่น ตอนแรก ก็สั่นนิดๆ ก่อน แล้วก็สั่น มากขึ้นทุกที ทั้งสองคน จ้องไปที่ร่างพี่รอมะห์ เหมือนกับเขาเห็นอะไร อย่างนั้นแหละทั้งๆ ที่น้อยไม่เห็นมีอะไรเลย

น้อยเอาข้อศอกกระทุ้งมามุ เริ่มรู้สึกกลัวและอยากออกไปจากที่นั่น แต่มามุกระซิบว่า อีกประเดี๋ยว เธอจึงต้องยืนแอบดู อยู่หลังพวกผู้ใหญ่ ต่อไป ด้วยความรู้สึกกึ่งกลัว กึ่งอยากดู ลึกๆ ลงไปในใจ น้อยคิดว่า ผู้หญิงกับผู้ชาย ที่ตีกลอง เขาต้องมองเห็นผีสิง อยู่ในร่าง ที่ซีดจนเหลือง ของพี่รอมะห์ พี่เขาถึงได้ป่วย จนต้องให้หมอผี มาไล่ผีนั้นออกไป

ผู้ชายคนนั้นตีกลองแรงและเร็วขึ้นอีก ผู้หญิงผมยาวเริ่มโยกตัวไปข้างหน้าบ้าง หกกลับไปข้างหลังบ้าง จนน้อยกลัว เอวเขาจะหัก ตัวเขายิ่งสั่น มากขึ้นทุกทีแล้ว มากกว่าเวลาพี่รอมะห์ไข้ขึ้นเสียอีก เขาผงกหัว ไปข้างหน้า แล้วก็แหงนเงยไปข้างหลัง อย่างแรง ผมที่ดำยาว เกือบถึงพื้นดิน ฟาดไปฟาดมาด้วย น้อยเห็นเขาหลับตาบ้าง ลืมตาบ้าง ถลนตาบ้าง เธอพยายามจะมองตา ผู้หญิงคนนั้นให้ชัดๆ แต่พอเขามองมาทางเธอ น้อยก็ต้องรีบหลบ ด้วยความกลัว

ผู้หญิงคนนั้นตัวสั่นโยกตัวไปมาอยู่ครู่ใหญ่ ก็ลดความสั่นลง จนหยุดนิ่ง คนตีกลองก็หยุดตีด้วย ครู่ใหญ่มีคนเอาน้ำ มาให้พวกเขาดื่ม เอาหมาก มาให้พวกเขากิน แล้วเขาก็บอกให้หามพี่รอมะห์ ขึ้นไปข้างบนบ้าน

"มามุ เธอกลัวไหม?" น้อยถามเพื่อนระหว่างเดินกลับบ้าน "เธอว่ามีอะตู(ผี)อยู่ในตัวพี่รอมะห์ไหม? แล้วสองคนนั้น เขาไล่อะตู ออกไปแล้วหรือเปล่า?"

"ไม่รู้ซี" มามุตอบ "ฉันว่าถ้ามีอะตูก็น่าจะอยู่ในผู้หญิงคนที่สั่นๆ นั่นมากกว่า แต่ก็น่ากลัวนะ เดี๋ยวเรา ไปอาบคลองกัน น้ำเย็นๆ จะได้ช่วยล้าง ที่เราเห็นออกไป คืนนี้จะได้ไม่ฝันร้ายไง"

เด็กทั้งสองตกลงกันว่า จะไม่ไปดูมัยย์ตึฆีอีกแล้ว ไม่ว่าที่ไหน และเมื่อต่างช่วยกันเล่า ให้พ่อกับแม่ ฟังคืนนั้น แม่ไม่พูด ว่าเชื่อเรื่องที่เด็กๆ ไปเห็นมาหรือไม่ แต่พ่อเชื่อว่าไข้จับสั่น หรือที่ชาวบ้าน เรียกว่า ไข้ป้างนั้น สักวันหนึ่ง จะหมดไปอย่างแน่นอน

พี่รอมะห์หายป่วยแล้ว ไม่มีใครพูดว่าเป็นเพราะยาสมุนไพรพื้นบ้าน เพราะยาฝรั่งของหมอจรูญ หรือ เพราะการมัยย์ตึฆี วันนั้น แต่อย่างน้อย ท้องพี่รอมะห์ ก็ไม่ป่อง ตัวก็ไม่เหลือง เหมือนตอนป่วย และไปตัดยาง ได้ตามเดิม

พิธีสำคัญกำลังจะเกิดขึ้นในนาหน้าบ้านของน้อย ในวันอาทิตย์หน้า!

ทุกคนในอำเภอกำลังพูดกันถึงเรื่องนี้ไม่เว้นแม้แต่ในโรงเรียนแว้ง!

"แม่ว่าเป็นการเซ่นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในกอแล (สระ) ข้างบ้านฉันไงล่ะ จะมีเมาะโยง วอแยกูเละ (เมาะโยง เป็นการแสดง ที่รวมทั้งเรื่อง ร้อง และ เต้นแบบมลายู วอแยกูเละ ตรงกับภาษามลายูกลางว่า วายังกูลิต (wayang kulit) คือหนังตะลุงซึ่งทางปักษ์ใต้เรียกว่า หนังควน) มาแสดงด้วย จะของกิน ตั้งหลายอย่างแน่ะ พวกเธอไปบ้านฉันนะ" น้อยเอ่ยชวนเพื่อนๆ ร่วมชั้นเรียน

"วอแยของโต๊ะอุมาใช่ไหม น้อย? เราได้ยินเขาพูดกันที่มนึเก๊ะ(มนึเก๊ะ แปลว่า ตลาด แน่นอนว่า ภาษามลายู ยืมมาจาก ภาษาอังกฤษว่า market) ว่าแชซาอิ๊ (ดูตอน "สามเฒ่า") จะไปทำพิธีเอง ปะดอแมะเต๊ะห์ จะไปช่วยทำด้วย ใครๆก็รู้ว่า กอแลติดบ้านเธอศักดิ์สิทธิ์จะตาย เด็กๆ ลงไปเล่น ได้เมื่อไหร่ เธอไม่กลัวหรือน้อย บ้านเธออยู่ติดขอบกอแลอย่างนั้น เป็นฉันๆกลัวแย่ เธอเคยเห็น... มั่งไหม?" มณีพรรณถาม ลดเสียงประโยคตอนท้ายลง เป็นเสียงกระซิบ

"ฉันไม่เคยเห็นอะไรสักที แต่แปลกนะ กอแลไหนๆ น้ำแห้งหมด กอแลนั้นไม่เคยแห้ง ฉันเห็นมี ต้นไม้ใหญ่ ที่ตายแล้ว อยู่ในนั้นเต็ม แล้วก็มีแลน (แลน เป็นคำเรียกตะกวดของทางปักษ์ใต้ ซึ่งใช้คำเดียวกับทางภาคอีสาน และภาคเหนือ รวมทั้งไม่ได้ถือกันว่า เป็นสัตว์นำเคราะห์ร้าย มาให้คนแต่อย่างใด) นอนอยู่บนต้นไม้นั้นด้วย มันชอบขึ้นมาขโมยไข่ไก่ ลูกไก่บ้านฉัน กินเรื่อยเลย แม่ว่าถ้าบ้านฉัน ทำแต่สิ่งที่ดี สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในกอแลนั้น จะช่วยคุ้มครองเรา ความจริงฉันกลัว เหมือนกันแหละ นี่นะ เคยมีคนที่เดินผ่านหน้าบ้านฉัน ตอนดึก เล่าว่าเขาเห็นคนแก่ แต่งชุดสีขาว นั่งอยู่ตรงนอกชาน หน้าบ้านด้วยหละ" น้อยเล่า

"บรื๊อ! น่ากลัวจัง เธอไม่กลัวหรือนั่น?" วัลลีถาม เขยิบเข้ามาในวงเพื่อน

"แม่ว่าถ้าจริง คนแก่นั้นก็มาช่วยให้พวกเราปลอดภัย ไม่ต้องกลัว อย่าลงไปซนในกอแลก็แล้วกัน" น้อยทำเป็นใจกล้าเล่าเพื่อน รู้สึกว่า บ้านนอกท่าฝั่งคลองของเธอ กำลังกลายเป็น ความสนใจ ของคนทั้งอำเภอแล้ว

"นั่นแหละ โต๊ะกอเป็ง คนแก่ที่น้อยว่ามีคนเห็นมานั่งหน้าบ้านเธอนั่นละ ในกอแลนั้น ฉันเคยลงไปนะ" สมานผู้มักรู้เรื่องราวเก่าๆ เอ่ยขึ้น ก่อนที่ทุกคนจะรุมถามเขา เป็นเสียงเดียวกันว่า

"เธอรู้จักหรือ ยา โต๊ะกอเป็งนั่นหนะ? เขาเป็นใคร? น้อยอยู่ตรงนั้น ยังไม่เคยรู้ว่าชื่อโต๊ะกอเป็ง ยารู้จักเขาได้ไงล่ะ? แล้วเธอลงไปในสระนั้น เธอไม่กลัวหรือไง?" ยาเป็นชื่อย่ออิสลามของสมาน และเพื่อนๆ ในห้องเรียน ก็ชอบเรียกเขาด้วยชื่อนี้ มากกว่าชื่อสมาน

"ฉันจะไปรู้จักโต๊ะกอเป็งได้ไง พวกเธอนี่ เขาเป็นโต๊ะบีแด (โต๊ะบีแด หรือที่ออกเสียงเป็นภาษา มลายูกลางว่า โต๊ะบีดัน แปลว่า หมอตำแย "โต๊ะ" เป็นคำเติมข้างหน้า แสดงความนับถือ เช่น โต๊ะครู โต๊ะอิหม่าม หรือ โต๊ะบอมอ บอมอ น่าจะเป็นคำยืม จากภาษาไทย คือ พ่อหมอ หมอจรูญที่แว้ง ซึ่งเป็นหมอเสนารักษ์ ก็ได้รับการเรียกขานเช่นนั้น) สมัยไหนก็ไม่รู้ ฉันได้ยินคนแก่ที่บ้านเล่าว่า โต๊ะกอเป็ง เป็นคนมี เวทมนตร์คาถา เขาสั่งว่า พอตายให้เอาเขาไปฝังใต้ก้นกอแลนั้น กอแลนั้น ก็เลย ศักดิ์สิทธิ์ ที่น้อยว่าแลนในนั้น ชอบขึ้นมากินไก่ บ้านเธอนั่นแหละ คอยดูนะ เวลาเขาทำพิธี เขาต้องเอาลูกไก่ลงไปด้วย" สมานพูดต่อ

"เอาลงไปทำไมล่ะ? แล้วนี่เขาจะเอาลูกไก่ของฉันหรือ? ฉันไม่ให้หรอก เอาลงไปมันก็ถูกแลนกินน่ะซี แล้วยาเคยลงไปจริงๆ หรือ?" น้อยถามยา

"จริง" สมานตอบเสียงหนักแน่น "ถ้าขอก่อนโต๊ะกอเป็งเขาให้นะ เธอก็รู้นี่น้อยว่าเคยมีคนสิแย (สิแย เป็นคำที่เพี้ยนมาจาก 'สยาม' คนไทยมุสลิม เชื้อสายมลายู จะเรียกคนไทยพุทธเชื้อสายไทยว่า ออแฆสิแย คือ คนสยาม (พุทธ) เรียกคนจีน ไม่ว่าถือศาสนาใดว่า ออแฆจีนอ) ไปตกปลาในนั้น ก็ได้แค่ปลาตัวเล็กๆ แต่ถ้าขอก่อน แล้วลงไปจับ ก็จะได้ปลาตัวโตๆ ฉันแค่ลงไปหาปลากัด เท่านั้นแหละ รู้ไหม ปลากัดในกอแลนั้น ตัวสวยๆทั้งนั้น สีก็สวยกว่าปลากัดในคูในนา ฉันขอก่อน โต๊ะกอเป็งเลยให้ จริงนะ" สมานยืนยัน

"ตกลงพวกเราไปบ้านน้อยกัน วันอาทิตย์พอดี" เพื่อนๆ ของน้อยสัญญา

แล้ววันอาทิตย์ก็มาถึง เพื่อน ๆมากันแต่เช้า น้อยวิ่งไปบอกว่าเธอออกไปอยู่กับพวกเขาไม่ได้เสียแล้ว แต่จะมารับประทาน ข้าวกลางวันด้วย น้อยไม่รู้เลยว่า แชซาอิ๊ดให้พ่อกับแม่เป็นเจ้าภาพในวันนั้น เพราะเป็นครอบครัวที่อยู่ใกล้ชิด กอแลศักดิ์สิทธิ์ มากที่สุด และไม่เคยเกิดเรื่องใดๆ จากที่นั่นเลย

นาบิ้ง(ผืน แปลง)ใหญ่หน้าบ้านมีชาวบ้านมาช่วยและมาดูงานกันคลาคล่ำ พวกผู้ชาย ปลูกโรง หนังตะลุง และเวทีเมาะโยง เยื้องไปข้างหลัง ข้างหน้าเป็นที่สำคัญที่สุด พวกเขาปลูกโรงพิธีชั่วคราว ขนาดใหญ่ติดพื้นดิน พื้นปูกระดาน หลังคามุงด้วยทางมะพร้าวสด ฝาด้านหลัง และข้างๆ สองด้าน ก็ใช้ทางมะพร้าวสอดใบ ขัดกันเป็นผืนเหมือนกัน

ที่น้อยชอบดูมากที่สุดและคนทำใช้เวลามากที่สุดก็คือการพับสานใบมะพร้าวอ่อนสีขาวอมเหลืองให้ห้อยลงมาเป็นพู่คลุมโต๊ะ สำหรับ วางเครื่องเซ่น

พวกผู้หญิงรวมทั้งเมาะจิ๊ฮามิและพี่รอมะห์ด้วยช่วยกันหุงข้าวสวย นึ่งข้าวเหนียวเหลือง ต้มไข่เป็ด แล้วย้อมสีแดง ยังมีกับข้าวอีกมากมาย หลายอย่าง บนโต๊ะเซ่นนั้น ขนมก็มีพวกในตลาด ทำมาช่วยด้วย

เมื่อถึงเวลา แชซาอิ๊ด โต๊ะอุมาที่เป็นโต๊ะดาแล(ดาหลัง-คนเชิดหนัง) ปะดอแมะเต๊ะห์ แต่งกาย สะอาด สะอ้าน โพกศีรษะ อย่างสวยงาม มาพร้อมกัน ที่หน้าโต๊ะเซ่นนั้น ทั้งหมดยกมือขึ้นประประนมมือสูง ตรงหน้าผาก แต่เหนือหัวขึ้นไป น้อยเห็นเขาร่ายมนตร์ อะไรไม่ทราบ กันยาวนานสักพักหนึ่ง แชซาอิ๊ด ก็เรียกหาพ่อแม่ เข้าไปในโรงนั้น โต๊ะอุมาเอาด้ายสีขาว อย่างสายสิญจน์ทำเป็นวงเข้าสี่วง บนพื้น กระดาน แม่พยักหน้า เรียกน้อยและพี่แมะ เข้าไปด้วยสีหน้าเคร่งขรึม เขาบอกให้ทั้งสี่คน พ่อแม่ลูก เข้าไปในวงด้ายนั้น แล้วเขาก็ยืนร่ายมนตร์ อะไรสักอย่าง ที่หน้าโต๊ะเซ่นต่อ ก่อนที่จะหยิบเอาวงด้ายนั้น ออกทางศีรษะของทุกคน น้อยขนลุกเกรียว นึกในใจว่า "วงด้ายนั้น จะคุ้มครองเรา" หรือเธอจะขนลุก เพราะกลัวผีอะไรสักอย่าง ก็เป็นได้

แล้วสิ่งที่ทำให้น้อยขนลุกยิ่งกว่าเดิมและน้ำตาคลอเต็มตาก็มาถึง

ใครคนใดคนหนึ่งได้ไปเอาลูกเจี๊ยบตัวน้อยของเธอมาจากอีตักแม่ของมัน โดยไม่ได้ขออนุญาต ผู้เป็น เจ้าของสักคำเดียว มันกลายเป็น ลูกไก่ สำหรับ สังเวยโต๊ะกอเป็ง ในกอแลไปแล้ว อย่างที่สมานว่าไว้ จริงๆ ด้วย และน้อยไม่อยู่ในสภาพที่ทำอะไร เพื่อช่วยมันได้เลย

น้อยหมดความสุข ชำเลืองดูพ่อ แม่ พี่แมะ ทุกคนก็ยืนนิ่งหมด หรือทุกคนก็ทำอะไรไม่ได้เช่นกัน ลูกเจี๊ยบตัวนั้น เพิ่งจะฟักออกจากไข่ เมื่อไม่กี่วันนี้เอง ขนมันยังฟูนิ่มพองอยู่เลย ต้องมาเป็น เครื่องเซ่น เสียแล้ว มันยืนนิ่งอยู่บนโต๊ะ ที่มีใบมะพร้าวอ่อน ห้อยคลุมลงมาเป็นสาย น้อยมองดูมัน ด้วยความสงสาร ขณะที่พวกผู้ชายช่วยกันหามโต๊ะนั้น ออกจากโรง ข้ามถนน ตรงไปยังกอแล ศักดิ์สิทธิ์ ไต่กันลงไปข้างล่าง ที่รกเรื้อ เขาจะวางโต๊ะนั้นตรงไหน เธอไม่เห็น

น้อยแอบเข้าไปยืนอยู่ข้างฝาโรงเซ่น เธอนิ่งเงียบ ในใจนึกเห็นภาพลูกเจี๊ยบตัวนั้น ถูกแลนขย้ำ หรือไม่ก็ภาพมันตกลงไปในน้ำลึกดำ ก้นกอแล มันจะต้องตายแน่ อีตักและเธอก็ช่วยอะไรมันไม่ได้ เพราะมันเกิดมาเพื่อถูกสังเวยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มันเป็นลูกไก่ศักดิ์สิทธิ์ ไปด้วยหรือเปล่าเล่า?

มารู้ตัวอีกทีหนึ่ง เมื่อพี่รอมะห์และมามุ มาลากออกไปใต้ต้นมังคุด ริมกอแล ที่นั่นพวกเพื่อนๆ นั่งกัน อยู่เต็ม เป็นวงใหญ่ กลางวง คืออาหารนานาชนิด ล้วนแต่น่ากินทั้งนั้น แต่น้อยไม่สนใจอะไรอีกแล้ว เธอเห็นเพื่อนๆ ลงมือปอกไข่ต้มย้อมสี เอาไม้ก้านมะพร้าว จิ้มนาสิกาเป๊ะ (นาสิกาเป๊ะ แปลตรงตัวว่า ข้าวอัด เป็นอาหารที่อร่อยและงดงามของทางจังหวัดภาคใต้ และในประเทศมาเลเซีย ข้าวจะหุง ให้นิ่มเปื่อย เป็นเนื้อเดียวกัน ก่อนที่จะเอามานวด และอัดเป็นก้อน ทิ้งไว้ให้เย็น แล้วจึงตัดเป็นชิ้นพอคำ จิ้มกับน้ำจิ้มซาเต และรับประทานกับเนื้อ หรือไก่ ทาเครื่องเทศเสียบไม้ย่าง) จุ่มลงไปในน้ำจิ้มซาเต (ซาเต เป็นคำเดียวกับที่ไทยเรายืมมาเรียกว่า สะเต๊ะ อาหารชุดใน ๘ และ ๙ นี้คล้ายกับที่มี ในประเทศไทยมาก รสแตกต่างกันเล็กน้อย แต่ที่แน่นอน คือ นาสิกาเป๊ะ นั้นเป็นของพื้นเมืองแน่ และ งดงาม ไว้ฝีมือกว่าขนมปังปิ้ง อย่างเทียบกันไม่ได้) แสนน่ากิน ก่อนส่งเข้าปากเคี้ยว อย่างเอร็ดอร่อย บางคนก็จิ้มเอาขนมโค (ขนมโค คือขนมต้มแดง ต้มขาวของไทยนั่นเอง ที่แปลกคือ การใช้ขนมชนิดนี้ ในพิธีกรรม ปรากฏทั้งในประเทศไทย มาเลเซีย พม่า ฯลฯ) ขึ้นมากินก่อน เพราะชอบของหวาน น้อยฝืนสีหน้า เพราะกลัวเพื่อนไม่สนุก แต่เธอไม่รู้สึกหิวจริงๆ

เจี๊ยบ ๆ ๆๆๆๆๆ

เอ๊ะ! หูเธอแว่วไปหรือเปล่า เสียง เจี๊ยบๆๆๆๆ ดังมาอีกแล้ว หูน้อยไม่ได้แว่วไปหรอก เพราะเด็กๆ ต่างเคี้ยวอาหารค้างอยู่ในปาก กระโดด ลุกขึ้นยืนพร้อมกัน

เจี๊ยบ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ

เสียงเบาที่แสนบริสุทธิ์นั้น ดังมาจากดงไม้เล็กๆ ริมกอแลนั่นเอง แล้วลูกไก่ตัวน้อยขนฟูก็ปรากฏขึ้น ไม่ห่างจากวงเพื่อน น้อยหัวเราะลั่น พร้อมน้ำตา ที่หลั่งพรั่งพรูออกมา ก้าวอย่างรวดเร็ว เข้าไปช้อน ตัวลูกเจี๊ยบของเธอขึ้นมา ด้วยความดีใจ อย่างบอกไม่ถูก เพื่อนๆรุมล้อม เข้ามาลูบตัว ขนนุ่มนิ่มของมัน พลางอุทานว่า "เว้ ๆๆๆ" ผู้ใหญ่หลายคน เข้ามารุมล้อมด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม สมานหันไปพูดกับมามุว่า

"กีตอวอยะเดาะห์ ดิยอเตาะมาตี โต๊ะกอเป็งเตาะยอบูวีดียอมาตี (เราว่าแล้ว มันไม่ตาย โต๊ะกอเป็ง ไม่ให้มันตายหรอก)"

และมามุพูดว่า "น้อย มารีมาแก มารี (น้อย มากินกัน มา)"

น้อยอุ้มลูกไก่ไว้ มองไปรอบตัว ทุกคนสีหน้าแจ่มใส ลมพัดมาเอื่อยๆ อาหารทุกชนิด ก็ล้วนสวยงาม น่ารับประทานทั้งนั้น



หมายเหตุเขียนเสร็จเวลา ๑๐.๓๕ น. วันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๘ แต๋วและนวล เพิ่งโทรศัพท์ทางไกล มาเล่าสถานการณ์ที่แว้ง และบนภูเขาที่สุคิริน ฟังดูเหมือนพวกเขายอมรับ ความน่ากลัวรายวันไปแล้ว และไม่คิดจะย้ายไปไหน ความหวังทั้งมวลตอนนี้ อยู่ที่คณะกรรมการ สมานฉันท์ของฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน อย่างน้อยก็หยุดการสังหารเถิด ไม่มีศาสนาใด สอนให้ทำเช่นนั้น

ยี่สิบกว่าตอนของเรื่องนี้ กำลังเตรียมพิมพ์อยู่ที่สำนักพิมพ์แล้ว

กอแลที่เล่าให้ท่านฟัง ยังอยู่จนปัจจุบันนี้ แต่เห็นว่าคลายความศักดิ์สิทธิ์ลงมาก คนจีนได้ซื้อที่ตรงนั้นไป และเขาเอากอแล เป็นที่ทิ้งขยะ ตอนนี้ จีนคนนั้นตายแล้ว ด้วยสาเหตุน่าฉงน คือตกต้นเงาะไม่สูงอะไร ลงมาตาย

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๙ มิถุนายน ๒๕๔๘ -