ไทยคำฝรั่งคำ เป็นนักบริหารประเภทไหน

การคบค้ากับชาติอื่น ย่อมเป็นธรรมดา ที่ภาษาของเขาจะเข้ามาผสมปนเป แต่ถ้าไม่ระมัดระวัง คำต่างชาติ จะทะลักเข้ามา ในชีวิตประจำวัน มากขึ้นๆ

ยิ่งพึ่งพา ยิ่งต้องใช้ของเขา

ความเจริญใหม่ๆ ที่ลอกเขามา หรือเชิญมา ก่อเกิดภาษาต่างด้าวมากมาย

สักวันเมื่อเปิดพจนานุกรมจะตกใจ "คำไทยสัญชาติอเมริกัน คำไทยสัญชาติญี่ปุ่น คำไทย....... ฯลฯ ก้อโก้เก๋ไปอีกแบบ!

สายธารแห่งภาษา ย่อมเปลี่ยนแปลงพลิกพลิ้วไปตามกาลเวลา ก่อเกิดอย่างค่อยเป็นค่อยไป มีรากแก้วเป็นฐาน

เป็นธรรมชาติ แต่ไม่ใช่ "เสือข้ามห้วย"ที่ไร้ราก

เมื่อโลกเข้าสู่ยุคไร้พรมแดน ภาษาเสือข้ามห้วยจะมีอิทธิพลสูง

กลายเป็นชนชั้น กลายเป็นศักดินา ในกลุ่มคนที่พูดเป็น

เมื่อโลกไม่มีรั้วกั้น ภาษาของเรา(ภาษาไทย)จะเป็นภาษาท้องถิ่นโดยมีเสือข้ามห้วยเกาะกระจาย เหมือนดาวบนท้องฟ้า

เสือข้ามห้วยหรือภาษาที่กระโดดเข้ามาเกาะโดยไม่มีรากเหง้า ก็เหมือนคนร่อนเร่จรจัดขาดจิตวิญญาณ

ความเสื่อมของประเทศ จึงดูได้จากปริมาณภาษาต่างชาติที่เข้ามาในแต่ละปี!

สังคมนี้มีการเอาเปรียบ

คนรวยเอาเปรียบคนจน

คนเมืองเอาเปรียบคนชนบท

คนรู้หลายภาษา ย่อมได้เปรียบกว่าคนรู้ภาษาเดียว

เป็นเครื่องมือทำเงิน

เป็นทางผ่านแห่งการเลื่อนชนชั้น

"ไทยคำฝรั่งคำ" ถือเป็นการประกาศชนชั้นตัวเองสูงกว่าคนทั่วไป

สูงกว่าคนไทย.....คนพื้นเมือง


แต่ไม่ว่าจะเหตุผลใดๆ ที่เกิดจากเจตนาหรือไม่ก็ตามการพูดคำไทยปนฝรั่ง ถือเป็น ลักษณะ "รู้ภาษาไทยน้อย"

เป็นความคับแคบทางภาษาแม่ ในภูมิปัญญาของตัวเอง

รู้ภาษาไทยน้อยแต่ก็ภูมิใจที่ได้โชว์ เหมือนบางคนที่ใส่เครื่องประดับของมีค่าแพรวพราว ยิ่งโชว์มาก ยิ่งเว่อร์มาก (แต่เจ้าตัวภูมิใจ)

มีจิตรกรหลายคนที่ ขยันวาดรูปอันสวยงาม สื่อความหมายที่ตัวเองอยากสื่อ และไม่สนใจคนดูว่าจะรู้เรื่องหรือไม่

ดูไม่เป็นแสดงว่า ตาไม่ถึง รสนิยมไม่มี!

คนพูดคำฝรั่งเยอะๆ ก็ ฉันใด ก็ฉันนั้น

นับเป็นการเอาเปรียบในการสื่อสาร รู้เองเออเองปล่อยให้คนฟังไปเปิดพจนานุกรมเอง!

ไม่อยากเอาเปรียบเพื่อนคนไทย กรุณาลดคำต่างชาติ!

ความจริงแล้ว ถ้าหันมาดูหลักคำสอนในพุทธศาสนา เราจะพบศัพท์ทางเทคนิคมากมาย ซึ่งเป็นทั้งวิทยาศาสตร์ นามธรรม และ รูปธรรม

พูดถึงการไปสู่ชีวิตที่ก้าวหน้า (เช่น บุญกิริยาวัตถุ ๑๐, มงคลสูตร)

พูดถึงกลไกการรับสัมผัส (เช่น เบญจขันธ์)

พูดถึงเทคนิคการบริหาร(เช่น ทศพิธราชธรรม)

พูดถึงยุทธศาสตร์การชนะใจคน(เช่น พาหุง ๘)

พูดถึง ฯลฯ .....ฯลฯ เยอะแยะไปหมด

วันนี้เขาตื่นเต้น "ภูมิปัญญาชาวบ้าน" มีอะไรดีๆ ที่ละเลย จนต้องย้อนกลับสู่ทางเกวียนสายเก่า

เรื่องคำสอนทางศาสนา จึงเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ เมื่อไม่ศึกษาค้นคว้า ราคาก็ยิ่งตก

ของเก่ามีให้ศึกษาไม่นำพา กลับต้องมาศึกษาของใหม่ เริ่มนับ ๑ ก็แปลกดี

รณรงค์ รักชาติ มียุทธวิธีหลากหลาย

ให้เขาได้คุ้นเคยกับดนตรีไทย วรรณคดีไทย อาหารไทย เสื้อผ้าไทย ของใช้ไทย ฯลฯ

แต่ผู้นำทุกระดับ คือ ผู้มีอิทธิพลในการสร้างกระแสความเป็นไทย

เพราะตัวอย่างที่ดี มีค่ากว่าคำสอน

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๙ มิถุนายน ๒๕๔๘ -