ตอน "ดินเหนียวสีน้ำเงิน"

บ่ายวันนั้น เด็กนักเรียนชั้น ป. ๒ ที่บ้านอยู่ไม่ไกลจากคลองแว้ง นัดกันว่าจะไปเล่นน้ำคลองให้สนุก และจะได้ ไปเอาดินเหนียวสีน้ำเงิน ชายตลิ่งเตรียมไว้สำหรับวิชาการฝีมือวันรุ่งขึ้นด้วย

คลองแว้งนี้ไหลคดเคี้ยวลงมาจากภูเขาสันกาลาคีรีไปออกอ่าวไทยที่อำเภอตากใบ ตอนที่ผ่านตัวอำเภอแว้ง จะมีสะพานข้ามทำด้วยต้นมะพร้าว มัดต่อกันอยู่ สะพานเดียวเท่านั้น สำหรับคนเดินไต่ราว ข้ามจาก เละสะบือแร (เละสะบือแร เป็นภาษามลายูพื้นบ้าน ทางภาคเหนือ ของประเทศมาเลเซีย และทางภาคใต้ ของไทย หรือที่ในปัจจุบัน เรียกกัน ในประเทศไทยว่า ภาษายาวี บาเละ แปลว่า ด้าน บวกกับคำว่า สะบือแร แปลว่า ตรงกันข้าม รวมแล้วแปลว่า "ท่าฝั่งตรงกันข้าม" คำว่า 'สะบือแร' สันนิษฐานว่า ตรงกับ มลายูกลาง ว่า 'สะมารัง (samarang)' เสียงใกล้กับชื่อเมืองท่า ในประเทศอินโดนีเซีย คือเมือง Samarang ที่คนไทย เรียกเพี้ยนเป็น 'สำปะหลัง') ไปยังตลาด และอำเภอ สะพานไต่แบบนั้น เขาเรียกว่า ติตี แต่ถ้าไม่อยาก เสียเวลา เดินไปข้ามสะพานละก็ มีท่าข้ามที่เขาตัดตลิ่งสูงชัน เป็นช่องแคบๆ และเป็นขั้นบันได ให้เดิน ลุยน้ำ ไปได้ ตั้งหลายจุด ท่าข้ามอย่างนั้น เรียกกันว่า กาแล

กาแลที่นัดกันไปวันนี้เป็นกาแลตรงบ้านของน้อยและมามุ สามารถข้ามคลองแล้วตัดตรงไปตลาด ที่ว่าการ อำเภอ โรงพัก และโรงเรียนได้เลย ส่วนกาแล ตรงติตีนั้น อยู่ใต้ลงไป พอสมควร พอกลับถึงบ้าน เด็กทั้งสอง ก็กุลีกุจอ เปลี่ยนเครื่องแต่งตัว จากเสื้อผ้าสำหรับสวมไปโรงเรียน เป็นผ้าโสร่งและผ้าถุง ผืนเก่า ที่สุด สำหรับ ไว้เล่นน้ำ เสื้อไม่ต้องสวม เพราะยังเป็นเด็ก อายุเพียงเจ็ดขวบ เท่านั้นเอง

ขออนุญาตผู้ใหญ่แล้วก็พากันเดินมาตามถนนหน้าบ้านจนถึงร่องลึกแห่งหนึ่งซึ่งต้องลงเดินข้ามไป พ่ออธิบายว่า ร่องนี้เคยไหล ต่อจากคูเล็ก ที่ไหลผ่านหน้าบ้านนั่นเอง สมัยก่อน เหนือขึ้นไป จากตัวอำเภอ แว้ง ตรงหมู่บ้านจือแร เคยมีทำนบกั้นน้ำ เรียกว่า ปาเนาะ และมีคูผ่อนน้ำไหล มาทางหน้าบ้านน้อย ทำให้เกิดเป็น ร่องน้ำนั้นขึ้น พ่อว่าถ้าแรงน้ำ เซาะไปเรื่อย คลองแว้ง ก็อาจจะเปลี่ยนเส้นทาง มาอยู่ใกล้ บ้านน้อยเข้าไปอีก หรือไม่คลองแว้งตรงนั้น ก็อาจจะกว้าง มากว่าเดิม เป็นหลายเท่าตัว น้อยและมามุ อยากเห็นคลองแว้ง กลายเป็นคลองใหญ่ หรือเปลี่ยนมาอยู่ใกล้บ้านตนเอง แต่พ่อบอกว่า เป็นไปไม่ได้หรอก เพราะทำนบนั้น ได้พังเสียแล้ว คูผ่อนน้ำ หน้าบ้าน ก็ไหลเอื่อย ลงกว่าเดิมมาก

เมื่อไต่ตลิ่งร่องลึกนั้นแล้วเด็กทั้งสองก็โผล่ขึ้นมากลางสวนมะพร้าวและสวนละไม ก่อนที่จะถึงคลอง พื้นที่ สวนนั้น เรียบเหมือนหน้ากลอง เหมาะแก่การเล่น ลักหญบ (เล่นลักหญบ แปลว่า เล่นซ่อนหา เป็นภาษา ไทยแท้ มาแต่เดิม ที่ทางปักษ์ใต้ ยังอนุรักษ์ไว้ให้ ลัก แปลว่า แอบ มักจะใช้คู่กับกริยาอื่น เป็นต้นว่า ลักแล ก็จะแปลว่า แอบมอง ลักจำ แปลว่า แอบจำ ดังในสำนวนว่า ครูพักลักจำ ที่ยังใช้กันอยู่บ้าง ส่วน หญบ น่าจะตัดมาตามแบบเสียงใต้จาก กระหญบ แปลว่า แอบไม่ให้ใครเห็น เช่นที่ใช้ใน บทละครเก่า เรื่อง นางมโนราว่า 'ฟุบกบกระหยบเงียบมิเกรียบได้' ผู้เขียนเลือกใช้ ญ เพราะอักษรนี้ ชาวปักษ์ใต้ออกเสียงนาสิก จึงต่างกับเสียง ย ที่ออกเสียงปรกติ เหมือนภาคกลาง) อย่างยิ่ง เดี๋ยวเถอะ พอเล่นน้ำกันเหนื่อยแล้ว น้อยจะพาเพื่อน มาเล่นกันในสวนนี้ดีกว่า ลูกละไมสีเหลืองอ่อน ก็อวดช่อห้อยย้อยลงมาเต็ม จนกิ่งแทบหัก อยู่ทุกต้น น้อยและมามุ อดใจไว้ไม่ได้แล้ว เวลาก็ยังพอมีเหลืออยู่ ต่างคนต่างวิ่งแข่งกัน ไปที่ต้นละไม ปีนขึ้นไปนั่งบนกิ่งต่ำที่สุด เลือกดูช่อที่สุกเหลืองได้ที่แล้ว ก็เด็ดมาอย่างเบามือ จนเต็มกำมือซ้าย จากนั้น ก็ใช้มือขวา เกาะลำต้นไต่ลงมา มามุจะเอาไปฝากเพื่อนผู้ชาย ส่วนน้อย จะเอาไปฝากเพื่อนผู้หญิง

เสียงเพื่อนๆ ทั้งชายหญิงดังแซ่ดกันมาจากฟากตลาด ทั้งสองรีบวิ่งไปยังริมคลอง ไต่ขั้นบันไดดิน ลงไป อย่างรวดเร็ว ด้วยความเคยชิน จนชำนาญ เพื่อนๆ ทางฝั่งโน้น กำลังเปลี่ยนเสื้อผ้ากันอยู่ ขณะที่มามุ และน้อย กระโดดโครมลงคลองไปหาเพื่อน เดินฝ่ากระแสน้ำ ที่แม้จะตื้น ก็ยังรู้สึกหนักอยู่บ้าง จากนั้น เด็กผู้ชาย ก็แยกไปเล่น แบบของเขา คือปีนขึ้นไปบนฝั่ง ที่เป็นหัวคุ้งสูง แล้วกระโดดลงมา เพราะตรงนั้น น้ำจะลึกกว่าที่อื่น ส่วนเด็กผู้หญิง จะแยกไปตรงที่น้ำตื้นกว่า ซึ่งเป็นคนละฟากคลอง บางคนทำ ลูกโป่งผ้าถุงกัน ที่ว่ายน้ำเป็น ก็ว่ายน้ำเล่นกันบ้าง เด็กๆ ที่แว้ง ว่ายกันเป็น เพียงสามท่า เท่านั้น คือ ท่าว่ายวา ว่ายกระทุ่ม และว่ายนอนกรรเชียง คนที่ว่ายไม่เป็น ก็นอนลอยคอ ปล่อยตัวตามน้ำไปสักครู่ แล้วรีบลุกขึ้นเดินทวนน้ำขึ้นไป เพื่อลอยตัวใหม่อีก เพียงเท่านั้น ก็สนุกเหลือหลายแล้ว สำหรับเด็กแว้ง

ใจจริงน้อยอยากขึ้นไปกระโดดลงมาตรงที่ลึกแบบพวกเพื่อนผู้ชาย เธอเคยแอบทำเช่นนั้น หลายครั้งแล้ว เวลามาเล่น กับมามุ แต่คราวนี้ จะทำอย่างนั้น ไม่ได้เด็ดขาด เพราะเป็นการไม่สุภาพ

เด็กๆ เล่นกันแต่เฉพาะตรงคุ้งนั้นเพราะใครๆ ก็รู้ว่าคุ้งใต้ลงไปนิดเดียวตรงกอไผ่กอใหญ่นั้นน้ำลึกมาก จนหยั่งไม่ถึง น้อยเคยกระโดดน้ำ ตรงที่สูง แล้วทำใจดีสู้เสือ ลอยตามมามุ ลงไปตรงนั้น มาแล้วหนหนึ่ง จึงได้รู้ว่า นอกจากน้ำจะลึกแล้ว ข้างใต้ยังมีน้ำหมุนๆเป็นวง เหมือนจะดูด ให้เธอติดอยู่ข้างใต้ เธอตกใจ กลัว แทบตาย จึงรีบว่ายพุ้ยน้ำ จนไม่รู้ว่า เป็นท่าอะไร เพื่อจะออกมาให้พ้น มามุเห็นเข้า จึงตะโกนบอกว่า

"ลอยไปเฉยๆ ไม่ต้องว่าย ไม่ต้องว่าย"

น้อยได้สติรีบทำตามที่มามุบอก เธอลืมไปได้อย่างไรนะว่าทุกคุ้งที่คลอง มันคดจะลึกมาก แต่พอลงไป ข้างล่างอีกนิด จะกลายเป็นที่ตื้น ความลึกจะไปอยู่ อีกด้านหนึ่งเสมอ เมื่อเธอเล่าให้พ่อฟัง ก็ได้รับการห้าม ไม่ให้ไปตรงที่น้ำลึกนั้นอีก เพราะถ้าเกิดเป็นตะคริวขึ้นมา ลำบากมาก น้อยจะเชื่อฟังคำสั่ง ของพ่อเสมอ วันนี้เธอจึงอธิบาย ให้เพื่อนๆ ผู้หญิงฟัง อย่างที่พ่อบอก

คลองแว้งนี้น้ำใสสะอาดมองเห็นพื้นคลองที่เป็นทรายขาว ทั้งที่เป็นทรายหยาบ เกือบเหมือนกรวดเล็กๆ และทรายละเอียด ที่ละเอียดมาก จนชาวบ้านบางคน อาบน้ำไป พลางก็วัก เอาทรายดังกล่าว มาขัดสีฟัน แต่ที่พิเศษสุดคือ คลองแว้งมีแร่อะไรบางอย่าง เด็กๆ ไม่รู้จัก ปนอยู่กับทรายดังกล่าว มันวับๆ วาวๆ อยู่ในพื้นคลอง โดยเฉพาะเวลา แดดส่องลงมา อย่างวันนี้ พอเพื่อนๆ ที่บ้านอยู่ไกลคลอง ลุกขึ้นจากน้ำ ต่างก็ร้องบอกกัน อย่างตื่นเต้นว่า

"ดู ดู ดูตัวฉันแวววับๆ เป็นทองเลย!"

สำหรับน้อยเธอเห็นมันจนเป็นธรรมดา แต่วันนี้พอได้ยินเพื่อนว่า "แวววับๆ เป็นทองเลย"

ใจเธอนึกวูบไปถึงเรื่องสนุกในหนังสือที่พี่แมะเขากำลังอ่านอยู่ สำหรับชั้น ป. ๔ จึงพูดเสริมขึ้นว่า

"จริงด้วย พวกเราตัวเหมือนพระสังข์เลยนะ"

"พระสังข์อะไรกัน ฉันไม่เห็นรู้เรื่องเลย เธอว่าอะไรน่ะน้อย?" จริยาถามด้วยความสงสัย พลางก้มมอง แขนของตัว แล้วมองแขนเพื่อน "จริงซี ทำไมตัวพวกเรา ถึงได้เหมือนมีทอง ติดเต็มไปหมด อย่างนี้ล่ะ? แปลกดีจัง จะเป็นอะไรไหมนี่?"

"ไม่เป็นไรหรอก" น้อยตอบ "พอตัวแห้งมันก็หลุดออกหมด พวกเธอลองเอามาบี้ดูซี"

เพื่อนๆ ทำตามที่น้อยบอก โดยมีน้อยทำให้ดูก่อน แร่ดังกล่าวในคลองแว้งที่เห็นแว่บวับนั้น จะเป็นแร่อะไร น้อยไม่เคยทราบ แต่มันอัดตัวกันแน่น เป็นชั้น บางแสนบาง เด็กๆ สามารถ เปิดขึ้นมา เป็นทีละชั้นได้ เมื่อมันอัดซ้อนตัวกัน และแตกออกเป็นก้อนเล็ก ก้อนน้อยนั้น ด้านข้างของมัน จะเป็นสีดำสนิท แต่ด้านบน จะส่องประกายวับๆ ทำให้ลำคลองเล็กสายนี้ เป็นคลองพิเศษ ไม่เหมือนที่อื่น เป็นคลองเฉพาะ ของแว้งที่รัก แห่งนี้ แห่งเดียวเท่านั้น

"แล้วที่น้อยว่าพวกเราเหมือนพระสังข์น่ะอะไรล่ะน้อย? บอกหน่อยซี" อุทัยถามบ้าง น้อยจึงเล่าเพื่อน ตามที่ได้ แอบอ่านหนังสือ ของพี่แมะมาว่า

"ก็ในหนังสือชั้นป. ๔ เขาอ่านกันไง ชื่อ เรื่อง 'สังข์ทองตอนเลือกคู่และหาเนื้อหาปลา' อีกสองปี พวกเราก็ได้ อ่านกันแล้วแหละ"

"ก็เธออ่านแล้วก็เล่าพวกเราก่อนก็ได้นี่นา เราอยากรู้ที่ตัวแววแว่บๆ น่ะ เล่าแค่ตรงนั้นก่อนก็ได้น่าน้อย เล่าหน่อยเหอะ" มณีพรรณ ซึ่งเป็นเพื่อนมุสลิม ขอร้อง น้อยทราบดีว่า ที่บ้านเพื่อนคนนี้ คงมีแต่พระคัมภีร์ กุรอ่าน เท่านั้น ถ้าไม่เล่า เขาคงเสียใจ จึงเล่าเพื่อนว่า

"เรื่องนี้สนุกดีนะ พระเอกเกิดมาในหอยสังข์ เลยชื่อพระสังข์ ทีนี้ต่อมา ก็ออกจากหอย แล้วก็ไปเป็นลูก ของนางยักษ์ แต่เขาไม่รู้ว่า แม่คนนั้น เป็นยักษ์ไง วันหนึ่งแม่ไม่อยู่ พระสังข์ก็แอบไปพบ บ่อเงินบ่อทอง พอลงไปอาบน้ำในนั้น ตัวของพระเอก ก็เลยเป็นทอง เหมือนพวกเราตอนนี้"

"งั้นคลองแว้งเราก็เป็นคลองทองซีนะ พอลงไปแล้วขึ้นมา ตัวก็เป็นทองเหมือนพระสังข์" เพื่อนๆ พึมพำกัน บ้างก็ว่า เด็กอะไร เกิดในหอย บ้างก็ว่า ยักษ์ตัวจะใหญ่ สักเท่าไหนกันนะ แมะนะ ขอร้องน้อยต่อว่า

"เรื่องสั้นแค่นี้หรือน้อย แล้วทำไมเธอว่าเขาหาปลาด้วยล่ะ พระเอกตัวเป็นทอง น่าจะรวยแล้ว ทำไมยังต้อง มาหาปลาอีก เธอเล่าต่อ อีกหน่อยได้ไหม? น่าน้อยน่า"

"ก็พระสังข์คนนั้นเขาไม่ได้แค่ชุบตัวเป็นทองน่ะซี เขากลัวแม่เขาที่เป็นยักษ์ตัวใหญ่ จะกลับมาเห็นเข้า ก็เลย ขโมย ไม้เท้าวิเศษของแม่ไปด้วย" น้อยเล่าต่อ

"รับรองพระเอกถือไม้เท้าแล้วบินไปบนฟ้าได้ ใช่ไหมล่ะ?" มามุซึ่งชินกับการเล่าเรื่องแปลกๆ จากหนังสือ ของน้อย พูดดักคอ

"เธอทายตอนต้นถูก มามุ แต่เธอทายต่อไม่ถูกหรอก พระสังข์ไม่ได้ขโมยแต่ไม้เท้าวิเศษนะ เขายังขโมย รูปเงาะไปด้วย แล้วก็ภาษาไทย เขาเรียกว่า เหาะ ไม่ใช่บิน" น้อยเล่าต่อ พร้อมทั้งช่วยแก้ ภาษาไทย ของเพื่อนรักไปด้วย

"รูปเงาะหรือ งั้นพอพระเอกใส่เสื้อเงาะก็เหมือนซาอิ๊ (ซาอิ๊ เป็นชื่อของเงาะซาไก มีตัวตนจริง ลงมาจาก ภูเขาสันกาลาคีรี กับพ่อแม่ และมาอยู่ในหมู่บ้าน ที่อำเภอแว้ง ระยะหนึ่ง ผู้เขียนได้รู้จักกับ ซาอิ๊จริงๆ) เลยซี มิน่าฉันถึงว่า ทำไมเธอชอบไปยืนคุยกับซาอิ๊ ซาอิ๊เหมือนพระสังข์นี่เองแหละ รู้แล้ว" มามุล้อน้อยต่อ

"ไม่เหมือนซักหน่อย มามุ เหมือนได้ไง ซาอิ๊ตัวดำจริง ถอดหนังออกไม่ได้ แต่พระสังข์นี่ถอดรูปเงาะ ออกก็ได้ ใส่อีกก็ได้ ใช่ไหมล่ะ?" มณีพรรณ ขัดมามุบ้าง

"วันหลังฉันค่อยเล่าต่อดีกว่า เราไปขึ้นต้นละไมกันดีกว่าน่า พวกเธอกินที่ฉันกับมามุเอามา หมดแล้วนี่ ไปเหอะ" น้อยตัดบท ชวนเพื่อน พลางออกเดินนำหน้า ขึ้นซอกตลิ่ง

"ไปทั้งเปียกอย่างนี้แหละดีแล้ว เดี๋ยวเรากลับลงมาเล่นน้ำใหม่ ต้องไปเอาดินเหนียวกันไง ลืมแล้วหรือ" ประพนธ์ พูดเตือนขึ้น

ขบวนเด็กนักเรียนชั้น ป. ๒ เดินขึ้นไปในสวนโดยที่ไม่รู้กันว่าเป็นสวนของใคร เพราะไม่มีบ้านเจ้าของ อยู่ในนั้น อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง ต้นผลไม้ในอำเภอแว้ง มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง เว้นเสียแต่ที่เป็นท้องนา และ สวนยาง ใครจะเก็บที่หล่นใต้ต้น หรือในคลอง ไม่มีใครหวงห้าม บ้านก็ไม่ต้องมีรั้วกันขโมย ใครเดินผ่าน อยากรับประทาน ก็ขอกันได้เสมอ

เด็กๆ ปีนต้นละไม เด็ดรับประทานกัน ช่อแล้วช่อเล่าจนอิ่ม จากนั้นก็พากันเดินเตร่ไปยังคุ้งเหนือขึ้นไป ตรงนั้น มีต้นทุเรียน ขึ้นเป็นป่าทีเดียว แต่ตอนนี้ ยังไม่ถึงหน้าทุเรียน มีต้นก่ออยู่สองสามต้น ลูกของมัน มีเปลือกหนามหุ้มอยู่ แต่ตอนนี้มันสุกแล้ว เปลือกจึงแตกออก ปล่อยให้เม็ดหล่นลงมาเบื้องล่าง

"นี่ไม่ใช่ลูกก่อหมูนะ มันเป็นลูกก่อข้าว ช่วยกันเก็บเถอะ คืนนี้ฉันจะเอาไปแช่น้ำไว้หนึ่งคืน พรุ่งนี้จะเอาคั่ว ไปฝากพวกเธอกิน ที่โรงเรียน หวานมันดีจะตาย เอาไหมล่ะ?" มามุอาสา

ช่วยกันเก็บลูกก่อได้มากทีเดียว ก่อนกลับไปที่คลอง เล่นน้ำต่อกันอีกพักใหญ่ แล้วจึงพากันเดิน วกไปวกมา ในคลอง ส่วนที่น้ำตื้น จนถึงกาแลติต มีเรือจอด ปิดตรงที่จะไปขุด ดินเหนียว สองลำ เป็นเรือบรรทุก น้ำบูดูเจ๊ะเหมาขายที่ ตลาดแว้ง โชคดีที่เขาขายหมดแล้ว และเจ้าของอนุญาต ให้ปีนข้ามเรือเขา ไปอีก ฟากหนึ่ง เพื่อควักเอาดินเหนียว ริมตลิ่ง ได้ตามสบาย

เด็กๆ ตกลงกันว่าให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายไปเด็ดใบบอน ส่วนผู้ชายเป็นฝ่ายข้ามเรือ ไปเอาดินเหนียว ออกมา แบ่งกัน เป็นการยุติธรรมดีแล้ว เพราะการไปควักดินเหนียว ก็ต้องปีนข้ามเรือ หรือไม่ก็ลอดใต้ท้องเรือ ซึ่งทำได้ ไม่ง่ายนัก ส่วนการไปเด็ดใบบอน ก็ต้องบุกเข้าไป ตรงชายคลอง เพื่อเลือกเอาใบ ที่ไม่อ่อน ไม่แก่นัก เด็กผู้หญิง ก็ต้องเสี่ยง กับการเด็ดใบบอน แล้วอาจโดน ยางสีน้ำตาล ทำให้คันได้เหมือนกัน

ดินเหนียวที่เด็กๆ มาเอาไปทำการฝีมือในวันนี้ มีอยู่แต่ตรงนี้เท่านั้น ดินเหนียวตรงอื่น จะเป็นสีโคลน ดูสกปรก แต่ดินเหนียว ริมคลองแว้ง ตรงนั้นสีฟ้าแก่ จนเกือบเป็น สีน้ำเงิน เนื้อของมัน ละเอียดเหนียว ดูละมุนเสมอกันหมด พี่แมะเล่าว่า ก่อนรุ่นพี่แมะ เด็กนักเรียนแว้ง ก็มาควักเอาด้วยมือ ตรงนี้แหละ มาถึง รุ่นพี่แมะ ก็มาเอาตรงนี้ เหมือนกัน นี่มารุ่นน้อย ก็มาเอาอีก เหมือนดินเหนียว มันเตรียมตัว และเต็มใจ ให้เด็กๆ เอาไปใช้กันตามสบาย อย่างไรอย่างนั้น

ควักกันออกมาเป็นก้อนโตเต็มมือแล้วถึงจะล้างลงในน้ำคลองมันก็ไม่เปื่อยยุ่ยแต่อย่างใด เด็กๆ ต่างช่วยกัน วางลงในใบบอน ใบบอนนี้ ใช้ห่อของสด ได้ดีกว่าใบตองเสียอีก เพราะมันไม่กรอบ และไม่ดูดน้ำ พอวางลง ตรงกลาง แล้วก็พับริมเข้ามา ทั้งสี่ด้าน โดยใบมันไม่กรอบ ไม่แตก ไม่หักด้วย

เมื่อได้ดินเหนียวเพียงพอแล้วเด็กทางฝั่งตลาดก็ผลัดเสื้อผ้าเพื่อกลับบ้าน ส่วนน้อยกับมามุ ช่วยกันถือ ห่อดินเหนียว และลูกก่อ เดินกลับบ้าน ทั้งผ้าเปียก

ช่างสนุกสดใสอะไรอย่างนี้ น้อยไม่อยากให้วันเวลาผ่านไปเลย!

ชั่วโมงการฝีมือในวันรุ่งขึ้นก็สนุกมากเหมือนกัน เสียดายที่มามุยังเรียนอยู่ชั้นมูลไม่อย่างนั้น จะสนุกว่านี้มาก บนโต๊ะของคุณครู มีตัวอย่างงานปั้น ที่รุ่นพี่ทำไว้ และเก็บไว้ในตู้ใหญ่ สำหรับอวด คนที่มาเยี่ยมโรงเรียน มีทั้งรูปลูกน้อยหน่า ทุเรียน มังคุด มะเฟือง รูปวัว ควาย และช้าง

แรกที่สุดคุณครูสอนให้เด็กนักเรียนนวดดินเหนียวของตนกับพื้นซีเมนต์ก่อนจนมันเหนียวนุ่มและหนืดได้ที่ จากนั้น ก็ให้เด็กๆ เลือกตัวอย่างรูปปั้น ที่ตนอยากทำ น้อยนั้นชอบสัตว์ อยากปั้นสัตว์ มากกว่าปั้นผลไม้ แต่คุณครู แนะนำว่า ให้เธอหัดปั้นผลไม้ก่อน จะดีกว่ามาก น้อยจึงเลือกทำ ลูกน้อยหน่า

การปั้นลูกน้อยหน่านั้นง่ายแสนง่าย น้อยค่อยๆ ปั้นดินเหนียวจนเป็นก้อนกลมขนาดค่อนข้างใหญ่ ใหญ่กว่า ตัวอย่าง ที่คุณครูให้ดูเสียอีก เธอนึกถึง สิ่งที่จะทำต่อไว้ในใจ โดยไม่บอกใครทราบ เมื่อได้รูปกลม ตามต้องการแล้ว คุณครูก็สอน ให้เอาดินเหนียวอีกส่วนหนึ่ง มาคลึงเป็นเส้นยาว แล้วเด็ดเป็นท่อน เท่าๆ กัน หยิบเอาแต่ละท่อนเล็กนั้น มาคลึงในฝ่ามือ จนกลม จากนั้นจึงแตะน้ำเข้านิดหนึ่ง ก่อนที่จะติดเข้ากับ ผิวลูกกลมใหญ่ ที่ทำไว้แล้ว ติดอย่างนั้น เข้าจนเต็มทั้งลูก

มันกลายเป็นลูกน้อยหน่าดินเหนียวสีน้ำเงินแสนสวยแล้วจริงๆ ด้วย!

แค่นั้นยังไม่พอ คุณครูสอนให้น้อยใช้นิ้วแตะน้ำลบรอยกดตามปุ่มที่ติดเข้าไปกับตัวลูกน้อยหน่า จนดูเหมือน เป็นผลไม้จริง ยิ่งเมื่อคุณครูสอน ให้น้อยเอาดินสอหิน กดตรงด้านบน ให้เป็นรู เอาดินเหนียวที่คลึง เป็นเส้นเล็ก สอดเข้าไป ก็กลายเป็นขั้ว ผลน้อยหน่า มากขึ้นไปอีก

เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว น้อยจึงบอกคุณครูว่า เธออยากทำน้อยหน่าดินเหนียวลูกนั้น ให้เหมือนน้อยหน่า กระปุกออมสิน ของพี่แมะที่บ้าน จะได้หยอด เศษสตางค์เก็บไว้ สำหรับซื้อ สิ่งที่อยากได้ โดยไม่ต้อง ไปกวนขอเงินแม่

ความหวังของน้อยเป็นจริงแล้วเมื่อคุณครูไปหยิบมีดบางคมกริบมาให้ แล้วสอนให้เธอผ่าลูกน้อยหน่านั้น ออกเป็นสองซีก น้อยทำตาม ที่คุณครูสอน อย่างตั้งอกตั้งใจ เธอเม้มปากแน่น อย่างไม่รู้ตัว ขณะใช้ช้อน สังกะสี บรรจงควักเนื้อดินเหนียวข้างใน ออกมาเสียมากต่อมาก จากนั้นคุณครู จึงสอนให้ประกบ น้อยหน่า สองซีก เข้าให้ตรงกัน ใช้นิ้วแตะน้ำ ลูบลบรอยต่อ จนมองไม่เห็นแล้ว น้อยจึงคลายริมฝีปากที่เม้ม อย่างโล่งใจ บัดนี้ลูกน้อยหน่าของเธอ เบาหวิวกว่าเดิมมาก

"แล้วหนูจะใส่เศษสตางค์เข้าไปได้อย่างไรคะ หนูปิดมันหมดทั้งลูกเสียแล้ว?" น้อยถามคุณครู

"ได้สิ น้อย คราวนี้เรามาช่วยกันเจาะช่องหยอดสตางค์กันดีไหมล่ะ? นี่ไง ทำอย่างนี้ หนูจะใส่สตางค์ ขนาดไหนล่ะ?" คุณครูสุภาถาม

"สตางค์แดงค่ะ คุณครู" น้อยตอบพลางนึกในใจว่า ตนเองไม่มีเศษสตางค์อยู่เลย จะทำอย่างไรดี กำลังนึก กังวลอยู่ ครูสุภา คงทายใจเธอได้ถูกกระมัง เพราะคุณครูพูดว่า

"ไม่มีเศษสตางค์หรือ ไม่เป็นไร เอาของครูมาลองวัดขนาดก็ได้"

แล้วน้อยก็ได้ผลัดกับคุณครูสุภา ค่อยๆเจาะช่องที่ผลน้อยหน่าดินเหนียวนั้นอย่างช้าๆ จนสำเร็จ เป็นช่อง ยาวเรียบ พอเหมาะ สำหรับหยอด เศษสตางค์แดงลงไปได้ น้อยถอนหายใจยาว อย่างมีความสุข เมื่อทุกอย่าง เสร็จสมบูรณ์ลง และคุณครูบอกให้เธอ เอากระปุกออมสินน้อยหน่าใบนั้น ไปตากแดด ร่วมกับของเพื่อนๆ

"ต้องตากให้แห้งสนิทจึงจะดี เย็นนี้ครูอนุญาตให้ทุกคนนำผลงานการฝีมือวันนี้ ไปให้ทางบ้านชม แล้ววันหลัง เราจะทำอะไร ที่สวยกว่านี้กันอีกนะ"

ตอนพักเที่ยงวันนั้น เด็กนักเรียนชั้นอื่นๆ มารุมล้อมดูงานการฝีมือ ของเด็กชั้นป.๑ กันเต็มไปหมด มามุ ก็มาด้วย เมื่อน้อยชี้ให้ดู ลูกน้อยหน่าของเธอ มามุพูดว่า

"ทีนี้บ้านเธอก็มีกระปุกออมสินเป็นลูกน้อยหน่าสองลูกแล้วสินะ ของพี่แมะเขาเหมือนของจริง กว่าของเธอ นิดหนึ่ง เพราะเป็นสีเขียว"

"ช่างเถอะ แค่นี้ฉันก็ว่าสวยแล้วแหละ แล้วฉันก็ทำเองด้วย ของพี่แมะเขา พ่อซื้อให้" น้อยตอบ เหมือนจะ ปลอบใจตนเอง

"พอเธอเก็บสตางค์ไว้ในนั้นได้เยอะแล้ว เธอก็รวยเหมือนกับสตางค์พี่แมะในลูกน้อยหน่าสีเขียว เหมือนกัน แหละนะ" มามุเพื่อนที่แสนดี พูดให้กำลังใจน้อย

น้อยยิ้มให้เพื่อนอย่างขอบคุณ ในใจก็นึกแว่บไปถึงเจ้าเงาะ ที่มีร่างข้างในเป็นทอง ที่เธอยังไม่ได้เล่า ให้เพื่อนๆ ฟัง


หมายเหตุ
เขียนเสร็จเวลาห้าทุ่มครึ่ง วันเสาร์ที่ ๒๕ มิ.ย. ๔๘ เรื่องตอนนี้เขียนเพราะหลายคน ถามเรื่องดินเหนียว สีน้ำเงิน นี้ว่า มีจริงหรือ พรุ่งนี้ต้องเดินทาง แต่เช้ามืด ไปจังหวัดระยอง กับคุณสุพจน์ ชีรานนท์ เนื่องในวัน สุนทรภู่ เหตุการณ์ ทางแว้ง รุนแรงมาก จนรู้สึกไม่สบายใจอย่างยิ่ง ได้ยินทางการประกาศ ให้จังหวัด นราธิวาส เป็นเขตอันตราย แต่ผู้ว่าฯ กลับว่า ไม่มีอะไร ไม่เข้าใจเลย

-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๐ กรกฎาคม ๒๕๔๘ -