บทความพิเศษ ๏ โสภณ สุภาพงษ์
ชีวิตที่เหลืออยู่ (ชายแดนใต้ ๔) หนูสุร็อยยา


(ความนำ : เหตุร้ายและความตายได้พรากเจ้าหน้าที่และชาวบ้าน ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัว มากกว่า ๘๐๐ ชีวิต ให้ต้องจากบ้านไปแล้วอย่างไม่มีวันกลับ ชีวิตที่เหลืออยู่ของเด็กกำพร้ามากกว่า ๒,๐๐๐ คน ที่ต้อง ขมขื่น คับแค้น เด็กเหล่านี้กำลังเป็นระเบิดเวลาในอนาคตอันใกล้ของสังคมไทย ชีวิตที่เหลืออยู่ของแม่ ที่บริสุทธิ์ หลายร้อยชีวิต ที่ต้องจมอยู่ในภาระความทุกข์ยากอย่างโดดเดี่ยว สิ้นหวัง ผู้บาดเจ็บพิการ และ ญาติพี่น้องหลายพันคน ที่ต้องอยู่อย่างขมขื่น หมดหวังและหวาดกลัว ผมและเพื่อนๆ ใช้เวลาใน ๑๒ เดือน ที่ผ่านมา พบชีวิตที่เหลืออยู่มากกว่า ๒๐๐ ครอบครัว เพื่อบอกเด็กเหล่านี้ว่า สังคมไทย ไม่ได้มีแต่เพียงโจร หรือ ผู้ที่ใช้อำนาจ โหดร้ายฆ่าฟันพ่อเขา สังคมไทยยังมีเพื่อน มีครอบครัวที่มีน้ำใจ มีทางออก เราช่วยกัน ทุกอย่าง เท่าที่มีกำลัง จะช่วยกันเองได้ ให้ความหวังว่า เขายังมีโอกาส ที่จะได้พบ ความสุข ความสงบ ของเขาอีกครั้ง ในสังคมไทย การถ่ายทอดความจริงของชีวิตบริสุทธิ์ ที่เหลืออยู่ คงเป็นหนทางหนึ่ง ที่ช่วยได้ )

วันนั้น วันที่ ๒๔ เมษายน ที่ผ่านมา ตำบลควนโนรี จังหวัดปัตตานี กลางแดดที่ส่องหน้า เด็กกำพร้า ที่พ่อ เสียชีวิต แม่ที่เป็นม่าย ญาติของผู้ตายความทุกข์รายล้อม เจ้าที่หน้าที่ห่างไกลจากครอบครัว คุณอานันท์ ปันยารชุน ได้กล่าวคำพูดที่ไพเราะสวยงาม ซึ่งผมไม่คาดหมายมาก่อน "เมื่อชีวิตของพ่อเด็กๆ ถูกเอาไป เราก็ต้องเอาอนาคตของเด็กๆ ทุกคนคืนมา"

เด็กๆ และแม่ๆ หลายคนยิ้มเศร้าๆ กับผม เราเคยพบกันหลายครั้งมาก่อน

ผมมองหาแม่หนูสุร็อยยาและแม่ หวังจะได้เห็น แต่ไม่พบ

วันก่อน เมื่อ ๕ มิถุนายน ๒๕๔๗ แม่หนูวัย ๓ ขวบ ที่นั่งหลบอยู่หลังแม่ยังคงสั่นไม่หยุด ผมเห็นมือเล็กๆ ที่จับชายเสื้อบริเวณเอวแม่นั้นสั่นระริกตลอดเวลา

คุณมาสุนี อายุ ๓๑ ปี แม่ของแม่หนู นั่งอุ้มน้องของแม่หนู อายุราว ๔ เดือน ไว้บนตัก คุณมาสุนีสะอื้นฮักๆ หยุดพูด เป็นช่วงๆ ตลอดเวลาที่พูดตอบ คุณวสันต์ พานิช ที่กำลังมองด้วยสายตาที่ห่วงใย

คุณวสันต์ พานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ผู้เต็มไปด้วยน้ำใจกับผู้ยากไร้ ใจที่มุ่งมั่นเข้มแข็ง

คุณมาสุนี ดูแทบจะเป็นผู้หญิงคนเดียวที่ร้องไห้เมื่อพูดถึงสามีที่จากไปอย่างไม่มีวันกลับ ผู้หญิงมุสลิม มากกว่า ๒๐๐ ครอบครัวที่ผมพบจะพยายามไม่ร้องไห้เมื่อพูดถึงสามีที่จากไป ทุกคนจะบอกว่า ชีวิตนี้ เป็นของพระเจ้า อยู่ก็เป็นของพระเจ้า ตายก็เป็นของพระเจ้า สามีปลอดภัยได้อยู่กับพระเจ้าแล้ว ความศรัทธานี้ ช่วยเยียวยาจิตใจผู้หญิงที่เป็นม่ายแทบทุกคน แต่ทุกคนก็ยังเศร้าไม่เสื่อมคลาย เมื่อมองลูกๆ

สามีของคุณมาสุนี อับดุลเลาะห์ อาแว อายุ ๓๔ ปี เคยมีชีวิตอยู่ ณ ตำบลป่าไร่ จังหวัด ปัตตานี เป็นครู สอนหนังสือเด็กๆ ที่โรงเรียน มีรายได้เดือนละ ๒-๓ พันบาท เป็นคนใช้ชีวิตอยู่ในศาสนาทุกลมหายใจ ไม่เที่ยว ไม่สูบบุหรี่ ไม่ไปไหนตอนกลางคืนนอกจากไปละหมาด บอกคุณมาสุนีเมื่อบ่ายวันที่ ๒๗ เมษายน ว่าจะไปปฏิบัติกิจ ทางศาสนา (ดะวะห์) ตามปกติ

ข่าวร้ายมาถึงคุณมาสุนีในเย็นวันรุ่งขึ้น สามีเสียชีวิตในกลุ่มผู้ก่อเหตุความไม่สงบ คุณมาสุนีพูดเบา ขาดเป็น ช่วงๆ ว่า สามีไม่เคยบอก ไม่เคยฝากฝังกับใคร ไม่เคยสั่งเสียอะไร

คุณมาสุนีไม่นึกฝันว่าจะต้องอยู่กับความเศร้าโศกนี้ตามลำพังกับลูกอีก ๕ คน พร้อมกับหนี้ ๑๔๐,๐๐๐ บาท ที่สามีเพิ่งยืม ธ.ก.ส. มาสร้างบ้านบนที่ดินคนอื่น เมื่อสามีตายก็ย้ายออกมาจากที่ดิน มีคนรับจะซื้อไม้ ที่ใช้ทำบ้านในราคา ๘๐,๐๐๐ บาท แต่ตามประเพณี ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ต้องเป็นของแม่สามี คุณมาสุนี จะได้รับค่าไม้ ที่ยังไม่ขายหนึ่งหมื่นกว่าบาท พร้อมหนี้อีก ๑๔๐,๐๐๐ บาท คุณมาสุนีกับลูกๆ ต้องมาอาศัย อยู่กับน้องสาว ไม่มีที่ดิน ไม่มีบ้าน ไม่มีที่ให้ลูกๆ เรียน ไม่มีของให้ลูกกิน ไม่มีอาชีพ ไม่มีความหวัง ไม่มีอนาคต อีกใดๆ

คุณมาสุนีคงอยากจะตื่นมาแล้วพบว่า ทั้งหมดนี้เป็นความฝัน...แต่มันยังคงเป็นความจริง

น้องสาวบอกว่า พี่สาวไม่ยอมพูด เอาแต่นั่งเงียบแล้วร้องไห้กอดลูกตลอดเวลา

แม่หนูคนนั้นยังคงกำชายเสื้อของแม่ด้วยมือน้อยๆ ที่สั่นตลอดเวลาอยู่ข้างหลังแม่พร้อมกับพี่ๆ อีก ๓ คน

ผมถามคุณมาสุนีว่า ทำไมลูกถึงสั่น คุณมาสุนีพูดกับลูกแล้วกลับมาบอกผมว่า ลูกถามว่า ทำไมผม ไม่ไปเสียที ผมจึงถามคุณมาสุนีว่าทำไมลูก ต้องกลัวผม

คุณมาสุนีเล่าว่า หลังสามีตาย เจ้าหน้าที่จำนวนมากมาค้นบ้าน นำของและเอกสารทุกอย่างในบ้านไปหมด วันนั้น ลูกลูกช็อก ตกใจเสียขวัญมาก หลังจากวันนั้น สุร็อยยา ลูกสาววัย ๓ ขวบ สั่นทุกครั้ง เมื่อมีคน มาบ้าน

แผลเป็นนี้ฝังลึกในใจของสุร็อยยา

ใจของแม่หนูสุร็อยยา ผวาล่องลอยไปถึงไหน ผมถามตัวเองในใจตลอดทางที่กลับบ้าน คุณมาสุนี จะจมในความทุกข์ จนทำร้ายตัวเองหรือไม่นานเท่าใด

ทุนเริ่มต้น ๑๐,๐๐๐ บาทที่เรามอบให้คุณมาสุนีคงช่วยไม่ได้มากนัก ต้องช่วยให้คุณมาสุนี หลุดจาก ความอาลัย อาวรณ์ ขมขื่นจากอดีต และความกังวลต่ออนาคตให้ได้ ได้อยู่ไม่ห่างลูกๆ

เมื่อผมกลับไปเยี่ยมอีกครั้งหนึ่ง อาจารย์ (หญิง)รัศมี กฤษณมิษ อักษรศาสตร์ จุฬาฯ อาจารย์ โซรยา และ เด็กๆ นักศึกษา มอ.ปัตตานี ออกความเห็นว่า เราควรหาซื้อ จักรเย็บผ้า ให้คุณมาสุนี เพื่อจะได้รับจ้าง เย็บหมวก กะปิเยาะห์ สีขาวของ ผู้ชายมุสลิม วันละ ๓๕ บาท พอได้มีอาชีพ อยู่กับลูกๆ ได้ตลอดวัน ได้ลืม ความทุกข์ยากได้บ้าง ร้านในตลาดในเมือง ใจดี ลดราคาจักรให้เหลือ ๘ พันบาท คุณตุ้มสถาปนิก สามี อาจารย์หญิง ช่วยไปเขียนรูปให้เด็กๆ ได้ระบายสี ผมเห็นคุณมาสุนี ยิ้มอย่างชื่นใจ

มีคนไทยในลอสแองเจลิสได้อ่านที่ผมเล่าแจ้ง เราขอให้ช่วยเปิดบัญชีที่ธนาคาร เพื่อจะส่งเงิน ให้คุณมาสุนี ได้ทุกๆ เดือน แต่คุณมาสุนีก็ยังเปิดบัญชีกับธนาคารไม่ได้ บัตรประชาชน คุณมาสุนี ถูกขนไปจากบ้าน หมดแล้ว

เมื่อผมไปเยี่ยมคุณมาสุนีอีกครั้งปลายปีที่แล้ว แม่หนูสุร็อยยาชะโงกอยู่หลังแม่ ยิ้มแสดงท่า "จ๊ะเอ๋" นิ้วเล็กๆ ชี้มาที่แว่นบนหน้าผม บอกความหมายว่าจำได้

ผมบอกกับตัวเองว่านี่คือรางวัล เราได้ช่วยทำให้จิตของเด็กเล็กๆ ที่จมมืดอยู่ในนรก กลับมาแจ่มใสได้ อีกครั้ง รางวัล ที่ทำให้เราทำหน้าที่นี้ต่อไป ไม่ว่าจะยากเย็น เเละอันตรายแค่ไหน

ใช่ครับ...เราต้องเอาอนาคตของเด็กๆ ทุกคนคืนมา

(กองทุนการศึกษาเพื่อเด็กและแม่ที่ทุกข์ยากจากเหตุร้ายจากภาคใต้โดยไม่หักค่าใช้จ่าย ภายใต้มูลนิธิ สื่อสร้างสรรค์ และมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว โทร: 0-1641-0416, 0-1831-4896 โทรสาร: 0-2512-2050)

-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๐ กรกฎาคม ๒๕๔๘ -