กติกาเมือง - ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสงขลา -
ตราสารทุน



ฉบับที่แล้วผู้เขียนได้เขียนถึงตราสารหนี้ซึ่งเป็นการลงทุนชนิดหนึ่งเพื่อต้องการกำไรหรือดอกเบี้ย อันเป็นวิธี ลงทุนที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในอเมริก และยุโรป ปัจจุบันระบบ บริษัทข้ามชาติได้ทะลุทะลวงไปในทุกประเทศ การระดมทุน เพื่อเป็นบริษัทใหญ่ ทุนหนา ที่จะกลืนกินบริษัทเล็กๆ ในท้องถิ่นให้หายสาบสูญ เพื่อให้ ประชากรโลก ที่เหลือทั้งหมดเป็นเพียงลูกจ้างที่มีนายจ้าง เพียงไม่กี่คน การลงทุน อีกประเภทหนึ่ง ที่เราได้ยิน กันเป็นประจำ นั้นคือการเล่นหุ้น หรือเรียกว่า ตราสารทุน

คนไทยส่วนใหญ่มองการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์หรือการซื้อขายตราสารทุน หรือหุ้นเช่นเดียวกับ บ่อน การพนันทั่วๆ ไป บางคนไม่เข้าใจ คิดว่าเป็นการเข้าไปเสี่ยง ซื้อขายหุ้น โดยหวังว่า จะได้กำไร จากส่วนต่าง ของการซื้อขายหุ้น แต่ละครั้ง มีคนจำนวนไม่น้อย ที่ร่ำรวยจากการเข้าไปซื้อหุ้น หรือซื้อขายตราสารทุน และมีคนอีกไม่น้อย ที่ต้องสิ้นเนื้อ-ประดาตัว เนื่องจากการเข้าไปเล่นหุ้น หรือซื้อขาย ตราสารทุน การลงทุน ในตราสารทุน เป็นการลงทุน ในตลาดหลักทรัพย์ มิใช่มองแต่การซื้อขายหุ้น แต่ต้องมองเข้าไปในบริษัท ที่เป็นเจ้าของหุ้น ที่จะไปลงทุนว่า บริษัทดังกล่าวนั้น มีกิจการอย่างไร มีการเจริญเติบโตหรือไม่ มีนโยบาย การจ่ายเงินปันผลจำนวนมากน้อยเพียงใด เหมือนกับการลงทุน ทำกิจการในบริษัท ดังกล่าวนั่นเอง เพราะเชื่อว่า การลงทุนในตราสารทุน อาจจะได้รับผลตอบแทนดีกว่า การนำเงินไปฝาก ในธนาคาร และ ได้ดอกเบี้ย ส่วนบุคลที่จะลงทุน ก็จะเลือกลงทุน ในหุ้นรัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทใหญ่ๆ ที่มีความมั่นคงสูง และมีการ จ่ายเงินปันผลประจำ สม่ำเสมอ เช่น หุ้นของบริษัท ปตท. หรือปูนซีเมนต์ไทย หรือบริษัท ยักษ์ใหญ่ ทางการสื่อสารต่างๆ เช่น ชินคอร์ป หรือการสื่อสารแห่งประเทศไทย การบินไทย เป็นต้น

การซื้อขายหุ้นมีความเสี่ยงกรณีที่หุ้นดังกล่าวได้ผลตอบแทนน้อยกว่าดอกเบี้ยเงินฝากในธนาคาร หรือ บางครั้งไม่ได้รับผลตอบแทนเลย เป็นระยะเวลา ยาวนาน เพราะกิจการของบริษัท ดังกล่าวนั้น ไม่มีผล ตอบแทน หรือประสบภาวะ ขาดทุน ผู้เชี่ยวชาญ ในการซื้อตลาดหุ้น เมื่อซื้อแล้ว อาจจะนำออกขาย ทำกำไร บ้าง แต่จะคงหุ้นส่วนใหญ่ไว้เพื่อรอเงินปันผล มากกว่าที่จะทำกำไร จากการซื้อขายหุ้น

การซื้อขายหุ้นในแต่ละหลักทรัพย์คือการซื้อขายตราสารทุน โดยทั่วไปตราสารทุนแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ หุ้นสามัญ และหุ้นบุริมสิทธิ

หุ้นสามัญเป็นหุ้นซึ่งบริษัทต่างๆ นำออกมาขายแก่บุคคลทั่วไป เพื่อระดมทุนในการขยาย กิจการบริษัท เพราะเงินทุนของบริษัทดังกล่าวนั้น ไม่มีพอ ที่จะขยายกิจการ และผู้ถือหุ้นเดิม ไม่มีเงินจะลงทุนเพิ่ม หรือไม่ประสงค์จะลงทุนเพิ่ม โดยที่เจ้าของหุ้นสามัญ มีสิทธิออกเสียง ในการตัดสินใจ ที่สำคัญๆ เช่น การเพิ่มทุน การจ่ายเงินปันผล การยุบรวมกิจการ การควบกิจการ การเลิกกิจการ เป็นต้น โดยผู้ถือหุ้น จะได้รับเงินปันผล เมื่อบริษัท ได้กำไร ตามสัดส่วนของ จำนวนหุ้นที่มีอยู่

หุ้นบุริมสิทธิหรือหุ้นกู้ด้อยสิทธิ เป็นหุ้นซึ่งบริษัทขายออกมาและสามารถเรียกซื้อคืน กลับไปได้ ผู้ถือหุ้น บุริมสิทธิจะได้เงินปันผล เป็นอัตราคงที่ หุ้นบุริมสิทธิ มักจะขาย ในปริมาณมากๆ เช่น ครั้งละ ๑๐ ล้าน บาท ขึ้นไป ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ บริษัทไฟแนนซ์ ล้มจำนวนมาก ธนาคารส่วนใหญ่ มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิด รายได้ เป็นจำนวนมาก ทางธนาคาร จึงออกหุ้นบุริมสิทธิ เพื่อระดมทุน มาบริหารกิจการธนาคาร ด้วยดอกเบี้ย จำนวนมาก เช่น๑๐% บ้าง ๑๑% บ้าง ๑๒% บ้าง ซึ่งดอกเบี้ยดังกล่าวนั้น ค่อนข้างสูง ในเวลานั้น แม้เปรียบเทียบในขณะนี้ ก็ถือว่าสูงมาก และเมื่อครบกำหนด ระยะเวลา ธนาคาร ก็จะขอซื้อหุ้น ดังกล่าวคืน จากนั้น จึงออกหุ้นกู้ชุดใหม่ ที่ให้ดอกเบี้ย ลดต่ำลง อาจจะเหลือ ๗% บ้าง ๕% บ้าง แต่อย่างไร ก็ตาม ดอกเบี้ยดังกล่าวนั้น คงสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก ในธนาคาร ที่มีผู้นำเงินเข้าฝาก

ผู้ที่ลงทุนในตราสารทุนหรือหุ้นในส่วนของหุ้นสามัญจะได้รับผลตอบแทนจากเงินปันผล เมื่อบริษัท ได้รับ ผลกำไร และได้กำไร จากส่วนต่าง ของราคาหุ้นที่ซื้อมา และขายไป การลงทุนในหุ้นแบบนี้ มีอัตรา ผลตอบแทนสูง เพราะกิจการ ของบริษัท เจริญรุ่งเรือง ผู้ลงทุนก็ได้รับ เงินปันผลสูง รวมทั้งราคาหุ้น ก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย

หุ้นที่มีผลกำไร และให้ผลตอบแทนสูงก็จะมีความเสี่ยงสูง เพราะกิจการบริษัทไม่ดี ผู้ถือหุ้น อาจไม่ได้รับ เงินปันผล หรือได้รับเงินปันผล น้อยลง นอกจากนั้น ราคาหุ้น สามารถตกลงจากราคาที่ผู้ลงทุน เคยซื้อมา ได้เช่นกัน นอกจากนั้น หากบริษัทไม่สามารถ ดำเนินกิจการต่อไปได้ หลังจากชำระหนี้สินอื่นๆ หมดแล้ว หากมีเงินเหลือ จึงนำมาเฉลี่ยคืน ให้แก่ผู้ถือหุ้น ซึ่งถ้าหากหนี้สิน ของบริษัท มีมากกว่าทรัพย์สิน และกำไร ที่หามาได้ ก็เท่ากับว่า เงินที่ผู้ถือหุ้น ลงทุนไปนั้น สูญไปทั้งหมด

การลงทุนในตลาดหุ้นด้วยตนเองนั้น จะเสี่ยงพอสมควร ถ้าผู้ที่ลงทุน ไม่มีความเชี่ยวชาญ ต้องมีที่ปรึกษา และมีผู้ชำนาญ ในการซื้อขายหุ้น ให้คำแนะนำ กรณีของลุงช่วย ราดอึ คงไม่เกิดขึ้น ถ้าเจ้าหน้าที่ ของ ธนาคาร ออมสิน ไม่ไปโฆษณาชวนเชื่อ ให้ลุงช่วย ซึ่งไม่มีความรู้ความเข้าใจ เรื่องหุ้นดีพอ แล้วเข้าไปซื้อ เพราะเข้าใจว่า มีแต่กำไร ดีกว่าฝากเงินไว้กับธนาคาร ถ้ามีการอภิปราย ถึงความเสี่ยง ให้ลุงช่วยเข้าใจว่า ถ้ากิจการที่ลุงช่วยไปลงทุนนั้น ไม่ดีหรือล้มละลาย เงินที่ซื้อหุ้น ก็จะเสียไป อาจจะได้คืนไม่ครบ หรือ ไม่ได้คืนเลย ลุงช่วยก็คงไม่ไปซื้อหุ้น หรือหน่วยลงทุนดังกล่าว

แม้แต่บริษัทที่ประกอบกิจการที่เป็นภัยต่อสังคม เช่น บริษัทสุรา บริษัทที่ตีพิมพ์สื่อลามกอนาจาร ตลอดจน บริษัทต่างๆ ที่ตั้งขึ้น เพื่อมอมเมาประชาชน โดยใช้กีฬาเป็นสื่อก็ดี ใช้สุขภาพอนามัยของประชาชน เป็นสื่อ ก็ดี ใช้ความรักชาติ ชาตินิยม หรือขนบธรรมเนียมประเพณีของไทย เป็นสื่อก็ดี ต่างก็เห็นช่องทาง ที่จะขยาย กิจการของตนเอง โดยพยายามผลักดัน กิจการของตนเองนั้น ให้สามารถเข้าไปขายหุ้น ในตลาด หลักทรัพย์ได้ เมื่อเข้าไปขายได้ และสามารถโฆษณา ประชาสัมพันธ์ จนให้คนอื่นๆ เห็นว่ากิจการ ของตนนั้น มีอนาคต คือมีโอกาสทำกำไรแล้ว คนมีเงินที่พร้อมจะลงทุน ก็จะเข้าไปซื้อหุ้นดังกล่าว ทำให้ได้เงิน จำนวนมาก นำไปประกอบกิจการ และขยายกิจการดังกล่าวนั้น ได้ใหญ่โตยิ่งขึ้น เช่น กิจการ สุราและเบียร์ ซึ่งขณะนี้มีการเสนอ จะเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เพื่อขายหุ้นให้กับ บุคคลทั่วไป และมีการ คัดค้าน จากบุคคลอื่น ว่ากิจการ ประเภทดังกล่าวนี้ มีโทษภัยมากกว่า คุณประโยชน์ และไม่ต้องการ ให้กิจการดังกล่าวนี้ มีกิจการที่ใหญ่โต หรือขยายอาณาจักร ออกไปก่อความเสียหาย แก่สังคม ประเทศชาติ และมวลมนุษยชาติยิ่งขึ้น แต่ก็มีผู้โต้แย้งว่า ถ้าตลาดหุ้นของเรา ไม่อนุญาตให้บริษัทดังกล่าว นำหุ้น เข้าในตลาดหลักทรัพย์แล้ว ก็จะสามารถนำเข้าไประดมทุน ในต่างประเทศ มาขยายกิจการดังกล่าว ให้ใหญ่โตขึ้น และจะผลิตสินค้า ประเภทมอมเมาดังกล่าวนี้ออกมาอีกจำนวนมาก ขณะนี้แม้หลายฝ่าย จะได้ชะงักและพยายามทบทวน แต่แนวโน้มของการคัดค้าน จะน้อยลง และเบาลงทุกครั้ง เพราะระบบ ทุนนิยมของโลก ได้ครอบครอง สื่อทั้งหมดในขณะนี้ จะเผยแพร่ข่าวสารในด้านดีและข้อโต้แย้งทุกๆ ประเด็นที่ฝ่าย ศีลธรรมและศาสนา พยายามที่จะเข้าไปคัดค้าน และเมื่อถึงจุดหนึ่ง ฝ่ายที่ต่อต้านคัดค้าน ก็จะเงียบ และไม่มีเสียง เพราะจะขาดมวลสมาชิก ขาดเครื่องมือ ขาดสื่อที่จะทำความเข้าใจ และเผยแพร่ ความคิด แต่สื่ออีกด้านหนึ่ง จะกระพือโหม เมื่อเห็นกำไรที่จะได้รับ โอกาสเจริญก้าวหน้า ในวงการธุรกิจ โดยเฉพาะการอ้างถึง สภาพเศรษฐกิจของประเทศ ที่จะเจริญก้าวหน้า ต่อไปในอนาคต และมีหลักตรรกะ เข้ามาเสริมให้เห็นว่า แม้จะต่อต้านอย่างไร ก็ไม่สามารถต่อต้านได้ เพราะระบบทุนนิยมของโลก กำลัง กลืนกิน สรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่มีอยู่ และเข้าครอบงำกิจการต่างๆ ธุรกิจต่างๆ และเปลี่ยนความคิดของคน ให้มุ่งไปสู่ความเป็นสากล คือการเป็นนักบริโภคนิยมต่อไป เช่นเดียวกับที่ยุโรป และอเมริกา ที่ถูกเปลี่ยนไป จนหมดสิ้นแล้ว ต่อไปเหลือเฉพาะเอเซีย และอาหรับ และจะต้องถูกแปรเปลี่ยนไป ในลักษณะเดียวกัน อยู่ที่พวกเราทุกคน จะได้ตระหนักถึง พิษภัยดังกล่าวนี้ หรือไม่เท่านั้น และสามารถที่จะอาศัยสื่อ ที่เข้าใจ เผยแพร่ความคิด ดังกล่าว ถ่ายทอดความคิดดังกล่าว ออกไปสู่อนุชนรุ่นหลัง ได้มากน้อยเพียงใด เท่านั้น

-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๐ กรกฎาคม ๒๕๔๘ -