- แรงรวม ชาวหินฟ้า -

ชื่อนั้น! สำคัญไฉน?
กลายเป็นเรื่องพูดกันสนั่นเมือง (ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์) เมื่อทางกระทรวงมหาดไทย อนุมัติให้นายราเมศ เชี่ยวเขตวิทย์ เปลี่ยนชื่อ นามสกุลใหม่เป็นนายตายแน่ มุ่งมาจน ทั้งหนังสือพิมพ์วิทยุและทีวียกเรื่องนี้ขึ้นมาวิเคราะห์วิจัยกันร่วมสัปดาห์ ความจริงถ้าเข้าใจเรื่อง "หลักกรรม" และ "หลักการ" ในพุทธศาสนาที่เน้นเรื่องความไม่ประมาทความกล้าจน (อัปปิจฉะ) และความรู้จักพอเพียง (สันโดษ) ก็จะเข้าใจได้ว่า นายตายแน่มุ่งมาจน ไม่ได้เป็นชื่อสกุล ที่แปลกประหลาด แต่อย่างใด คงต้องขออนุญาต นำบทความของ คุณกิเลน ประลองเชิง จากคอลัมน์หน้า ๓ ของ น.ส.พ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๔๘ เรื่อง "ชื่อนั้น! สำคัญหนอ!" และเรื่อง "ชื่อซวย-ชื่อเฮง" จากหนังสือ "เชื่ออย่างพุทธ" โดย ณวมพุทธ ซึ่งได้นำเสนอ แก่นแท้ของ พุทธศาสนา อย่างน่าศึกษาดังนี้

ชื่อนั้น! สำคัญหนอ!

เพื่อนส่งหนังสือ "เราคิดอะไร" จากสำนักสันติอโศก ให้อ่านประจำ ผมจึงไม่แปลกใจที่ได้เห็น ชื่อคนหลายคน เปลี่ยนไปจากเดิม

คุณสุกัญญาไม่เจอหน้ากันนาน แต่ยังจำได้ เปลี่ยนชื่อเป็น ฟ้างาย คำอโศก คุณพิสิฏฐ์ สร้อยธุหร่ำ เปลี่ยนเป็น แรงเกื้อ ชาวหินฟ้า

ส่วนที่ยังแวะเวียนเห็นหน้า คุณอำนวย อินทสร เปลี่ยนเฉพาะชื่อเป็น ป่าร่ม

คุณอำนวยบอกว่า วิถีชีวิตบุญนิยมของ ชาวอโศก ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง มาเนิ่นนาน เมื่อคิดกันว่า นอกจากจะมีชีวิตแบบไทยๆ แล้ว ชื่อสกุลส่วนใหญ่มักไม่เป็นคำไทยแท้

ก็น่าจะเปลี่ยนเป็นไทยไปด้วย

แต่ละชื่อที่เปลี่ยนใหม่เป็นคำไพเราะ ความหมายไปทางกุศล ไม่ใช่ชื่อที่สติปัญญาชาวบ้าน ธรรมดาจะตั้งกันเองได้

"ใครอยากได้ชื่อใหม่ ก็ไปหาพ่อท่าน" คุณอำนวยว่า

พ่อท่าน ก็คือผู้ที่เรียกตัวเองว่า สมณะโพธิรักษ์ เจ้าสำนักสันติอโศก

ส่วนชื่อสุดท้าย...นายตายแน่ มุ่งมาจน ผมไม่แน่ใจพ่อท่านจะตั้งให้หรือไม่ แต่แปลกเสียจน กรมการปกครอง ต้องออกมา บอกข่าว

กองทะเบียนเขามีหลัก ถ้าชื่อสกุลที่ขอเปลี่ยนไม่มีความหมายส่อเสียดหยาบคาย หรือ เป็นบางคำ ในพระนามาภิไธย ก็อนุญาต

คุณตายแน่ เป็นชาวราชธานีอโศก อุบลราชธานี คุยให้คุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา ฟังว่า เริ่มด้วยการ เปลี่ยนชื่อก่อน จากนั้นก็ขอเปลี่ยนนามสกุล

เห็นหน้าทางทีวี เขาน่าจะมีวิถีชีวิตแบบบุญนิยมต่อไปอีกนาน

เท่าที่ผมคบหากันมา ชาวสันติอโศกทุกคน เป็นยิ่งกว่าพลเมืองดี ไม่เคยเอาเปรียบใคร พร้อมเจือจาน ให้ผู้ที่แผ้วพาน เป็นเพื่อนที่คบหาได้สนิทใจ

ชื่อนั้นสำคัญไฉน...ทุกสิ่งที่อุบัติในโลก อย่าว่าแต่ชื่อที่เปลี่ยนแปลงได้ง่าย กระทั่งชีวิตจิตใจ ก็ล้วนแล้วแต่...สมมติ ประโยชน์จากชื่อ สมมติ... อย่างน้อยก็บอกนิสัย...

ชื่อตายแน่ มุ่งมาจน แน่ใจได้เลย ถ้าเป็น รัฐมนตรี เรื่องโกงกินผ้าใบ โกงกินค่าเวนคืน ไม่มี

ค่านิยมสังคมไทย ชื่อ...สกุล มีความหมาย ครับ เกิดวันไหน หลักการตั้งชื่อ มีตัวอักษร ให้เลือก เน้นตัวนำหน้า ผู้ชายนิยมใช้ตัวอักษร เดช ผู้หญิงนิยมให้ตัวอักษร ศรี

บางวันห้ามพยัญชนะ สระ หรือวรรณยุกต์ ที่เป็นกาลกิณี ถ้าเลือกได้ก็ห่างๆ เข้าไว้ หลายชื่อ ที่มีอักษรกาลกิณี มักต้องถูกทักให้เปลี่ยน ใหม่ภายหลัง

คนมีชื่อเสียงอย่าง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวส เปลี่ยนทั้งชื่อทั้งสกุลใหม่แล้ว ก็ก้าวหน้า ยศก็ขึ้น ตำแหน่งก็เพิ่ม เป็นถึงจเรตำรวจ

คุณนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เปลี่ยน ชื่อสกุลแล้ว ไอทีวี ที่ดูแลอยู่ เรตติ้งยังไม่เป็น ที่หนึ่ง

แต่รายได้มาเป็นที่หนึ่ง

หรือราย คุณสรรเสริญพล ธีราสาสน์ ชื่อ สกุลนี้เปลี่ยนใหม่ทิ้งเค้าชื่อสกุลเก่า ผมตาม ข่าวตอนไปแสดงวิสัยทัศน์ เป็นผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ได้ข่าวว่าได้คะแนนดีมาก

ถ้าชื่อนี้ ถูกประกาศเป็นผู้ว่าการการกีฬาฯ คนใหม่ก็เห็นจะต้องยอมรับกัน ชื่อนั้น! ก็สำคัญ จริงๆ ละหนอ!



"ชื่อซวย-ชื่อเฮง" (นามสิทธิชาดก)

มีชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อว่า ปาปกะ (บาปกรรม) ได้บวชถวายชีวิตในพระพุทธศาสนา แต่แม้เป็น ภิกษุแล้ว ก็ยังเชื่อถือว่า โชคดีหรือเคราะห์ร้ายอยู่ที่ชื่อของคน ดังนั้นคราวใด ที่เพื่อนภิกษุ เรียกชื่อของตน ก็อดคิดไม่ได้ว่า

"ในโลกนี้ผู้ที่ชื่อว่า ปาปกะ เขาบอกกันว่า เป็นชื่อ กาลกิณี จะต้องเคราะห์ร้าย ไม่เป็น สิริมงคลเลย เราต้องขอให้พระอุปัชฌาย์ช่วย ตั้งชื่อให้ใหม่ เพื่อความเป็นมงคลแก่ตัวเรา"

ดังนั้นพระปาปกะจึงเข้าไปหาอาจารย์ รบเร้าให้ตั้งชื่อใหม่แต่พระอุปัชฌาย์บอกว่า

"ชื่อเป็นเพียงภาษาสมมุติ ตั้งไว้เรียกขานกันเท่านั้น จะเป็นสิริมงคลหรืออัปมงคล ก็มิได้ ขึ้นอยู่ที่ชื่อเลย จงมีความพอใจในชื่อเดิมของ ตนเถิด"

แม้อาจารย์จะบอกอยู่อย่างนี้ พระปาปกะก็ยังคงอ้อนวอนอยู่เสมอร่ำไป จนเป็นข่าวกระพือ แพร่ไปในหมู่สงฆ์ว่า

"ภิกษุชื่อปาปกะ เซ้าซี้พระอุปัชฌาย์ให้ตั้งชื่อใหม่ ที่เป็นมงคลแก่ตน อย่างไม่ยอมเลิกรา เลยทีเดียว"

เมื่อพระศาสดาทรงทราบเรื่องนี้ จึงตรัสว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อนภิกษุนี้ก็หวังความเป็น สิริมงคล จากชื่อมาแล้ว"

ดังนั้นจึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาเล่าว่า

- - - - - - - - - - -

ในอดีตกาล มีอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ผู้หนึ่งพร่ำสอนบอกมนต์เหล่าศิษย์จำนวน ๕๐๐ คน อยู่ในนครตักกสิลา และมีลูกศิษย์คนหนึ่งของ อาจารย์ชื่อว่า ปาปกะ(บาปกรรม) ก็เพราะมีชื่อ อย่างนี้นั่นเอง เขาจึงถูกพวกเพื่อนๆ เรียกอยู่ เสมอว่า

"มาเถิดนายบาป เราไปด้วยกันเถอะนายบาป"

เขาถูกเรียกอยู่อย่างนี้ทุกๆ วันเข้า จึงคิดว่า

"ชื่อของเรานี้ช่างอัปมงคลจริง หากจะหวังให้มีความสำเร็จในชีวิต จะต้องขอให้อาจารย์ ตั้งชื่ออื่นให้ใหม่ คงเจริญรุ่งเรืองกว่านี้แน่"

เขาจึงไปขอร้องอาจารย์ แต่อาจารย์กล่าว กับเขาว่า

"หากเจ้าคิดว่าชื่อของตัวเองทำให้อัปมงคล ก็เอาอย่างนี้สิเจ้าบาป เจ้าจงเที่ยวไป ตามชนบท ต่างๆ ไปแสวงหาชื่อ ที่เป็นมงคลมา สักชื่อ เลือกที่เจ้าชอบใจที่สุดเลยนะ แล้วนำมาบอกเรา เราจะเปลี่ยนชื่อนั้นให้แก่เจ้า"

นายบาปก็รับคำอาจารย์ด้วยความดีใจ แล้วตระเตรียมเสบียง ออกเดินทางไปตาม หมู่บ้าน ชนบทต่างๆ

ถึงนครแห่งหนึ่ง...ภายในพระนครนั้น เขาพบกับขบวนแห่ศพ เห็นญาติผู้ตาย กำลังหามศพ เข้าสู่ป่าช้า ถึงถามไปว่า

"นี่! เป็นใครกันหรือที่ตายจากไป"

"เขาชื่อ ชีวกะ (นายเป็น) เฮ้อ! ถึงจะชื่อเป็น หรือชื่อตาย อะไรก็ช่างเถอะ ล้วนต้องตาย ด้วยกัน ทั้งนั้นแหละ"

นายบาปฟังแล้ว ก็ได้แง่คิดสะกิดใจตนเองว่า

"แม้ชื่อเป็น ก็ต้องตาย ชื่อช่วยให้เขามีชีวิต อยู่ต่อไปไม่ได้เลย"

แล้วเขาก็เดินทางต่อไป ขณะกำลังจะออก พ้นจากประตูพระนครนั้น ก็ได้เห็นนายทุน ผู้มั่งคั่งคนหนึ่ง จับนางทาสี คนหนึ่งเอาไว้ แล้วทำการเฆี่ยนตีด้วยเชือก อย่างรุนแรง โดยที่ไม่มีใครช่วยเหลือนางเลย เขาจึงสงสัยสอบถาม ผู้คน บนท้องถนนนั้นว่า

"นางเป็นใครกันเล่า ทำไมจึงต้องโดน เฆี่ยนตีด้วย"

"นางทาสีนี้ชื่อ ธนปาลี (นางรวย) นางเป็นคนจน ยืมเงินของนายทุนมาแล้ว ไม่มีแม้ดอกเบี้ย ใช้คืนให้แก่เขา นายทุน จึงทำเอาถึงปานนี้"

ได้ยินดังนั้นนายบาปก็สว่างวาบในใจว่า

"แม้ชื่อนางรวย แต่ที่แท้กลับยากจน เข็ญใจเสียนี่ ชื่อนั้นไม่อาจทำให้นางร่ำรวย ขึ้นได้เลย ชื่อเป็นเพียง ภาษา สำหรับ เรียกขาน กันเท่านั้นจริงๆ หนอ"

เขาเริ่มปลงตกกับชื่อ อันเป็นเพียงสมมุติ ของโลก

จึงตั้งใจเดินทางกลับสำนักอาจารย์ แต่ในระหว่างทางนั้นเอง ได้พบกับชายคนหนึ่ง เข้ามาถามทางว่า

"ขอโทษเถิดครับ ผมเดินหลงทาง ช่วยบอกทางไปสู่นครตักกสิลาแก่ผมด้วย จะเป็นพระคุณ อย่างยิ่ง"

"อ้าว! พอดีเลย ผมก็จะเข้านครนี้เช่นกัน ไปด้วยกันได้ครับ ผมชื่อปาปกะ แล้วท่านชื่ออะไรกัน"

"ผมชื่อ ปันถกะ(นายเจนทาง) ครับ"

พอได้ยินชื่อเข้าเท่านั้น นายบาปก็เอ่ยขึ้น ทันทีว่า

"ท่านชื่อว่า เจนทาง ก็ยังอุตส่าห์หลงทาง ได้อีกหรือ"

"โธ่! ท่านเอ๋ย จะชื่อเจนทางหรือชื่อไม่ชำนาญทางก็เหอะ มีโอกาสหลงทาง ได้เท่ากันหมดนั่นแหละ เพราะชื่อไม่ได้ช่วย ให้รู้จักทาง ที่ยังไม่เคยรู้จักหรอกครับ"

คำตอบนี้ยิ่งทำให้นายบาปหมดสงสัยในเรื่องชื่อยิ่งขึ้นกว่าเดิม เมื่อเดินทางกลับถึงสำนัก จึงตรงไป หาอาจารย์ทันที อาจารย์ถามเขาว่า

"เป็นอย่างไรเล่าเจ้าบาป ได้ชื่อที่ถูกใจเป็น สิริมงคลแล้วหรือยัง"

"ท่านอาจารย์ครับ ธรรมดาคนเราถึงจะชื่อว่านายเป็นก็ต้องตาย ถึงจะชื่อว่านางรวย ก็ยากจน ถึงจะชื่อว่า นายเจนทาง ก็หลงทางได้ ชื่อเป็นเพียงภาษาบัญญัติ สำหรับกำหนดใช้ เรียกกัน เท่านั้น จะรุ่งเรืองหรือล้มเหลว จะโชคดี หรือ เคราะห์ร้าย มิได้อยู่ที่ชื่อเลย แต่ขึ้นอยู่กับ การกระทำ (กรรม) ของคนนั้นเอง ฉะนั้นสำหรับ เรื่องชื่อใหม่ ของผม พอกันที ผมจะใช้ชื่อเดิม ต่อไปครับ ท่านอาจารย์"

"ดีแล้ว ที่เจ้าเข้าใจความจริงของชีวิตได้ ไม่ตกเป็นทาสโง่งม หลงไปกับภาษา และตัวอักษร ของชื่อเท่านั้น"

- - - - - - - - - - -

พระศาสดาทรงนำชาดกนี้มาแสดงแล้ว ตรัสว่า

"นายบาปในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระปาปกะในบัดนี้ ส่วนอาจารย์ทิศาปาโมกข์นั้น ได้มาเป็น เราตถาคตนั่นเอง"



เผยเบื้องหลังเหตุของการตั้งชื่อ (มติชน ๑๔ กันยายน ๒๕๔๘)

สมณะโพธิรักษ์ เจ้าสำนักสันติอโศก เล่าถึงการเปลี่ยนชื่อของบรรดาญาติธรรมในสันติอโศกว่า ที่จริงแล้ว ชื่อที่เกี่ยวข้อง กับความตายของญาติธรรมในสันติอโศก ไม่ได้มี เฉพาะนาย ตายแน่เท่านั้น แต่ยังมีชื่อตายอื่นๆ อีก เช่น นายเพื่อนตาย นายกล้าตาย นายผ่านตาย เป็นต้น

"เราตั้งสำนักสันติอโศกเมื่อปี ๒๕๑๖ ประมาณ ๓๒ ปีมาแล้ว พอปี ๒๕๒๗ ก็เกิด หมู่บ้านปฐมอโศก เป็นหมู่บ้านแรก ของสำนัก ช่วงนี้เองที่บรรดาญาติธรรม ที่เข้ามาอยู่ใน หมู่บ้านปฐมอโศกได้เริ่มเปลี่ยนชื่อกันเสียใหม่ การเปลี่ยนชื่อ มีมาตั้งแต่แรกๆ อาตมาเอง ก็เปลี่ยนชื่อ หลังจากนั้นน้องๆ และคนอื่นๆ ก็อยากเปลี่ยนบ้าง และเปลี่ยนกัน มากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่ง ขณะนี้ เปลี่ยนชื่อกันประมาณ ๑๐,๐๐๐ กว่าชื่อแล้ว" พ่อท่านโพธิรักษ์บอกกล่าว

และอธิบายถึงความมุ่งหมายของการเปลี่ยนชื่อเพิ่มเติมว่า ชื่อที่เป็นภาษาไทยมี ความหมาย อยู่ในตัวของมันทุกคำ อย่างตายแน่ ก็มีความหมายจุดประสงค์ เพื่อใช้เป็น เครื่องเตือนสติ ของคน หรือเตือนสติของตัวเอง ว่าตายแน่ เมื่อคน เรียกชื่อ ตายแน่ ก็คือต้อง ตายแน่ แต่ตอนนี้ยังมีชีวิตอยู่นี่จะต้องทำอะไร ทำความดีอะไร

"ถ้ายังมีชีวิตอยู่ก็เท่ากับคนเรายังมี โอกาสทำความดี ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อโลก ต่อเพื่อน มนุษย์ด้วยกัน แต่ถ้าเรา ตายไปแล้ว มันก็หมดโอกาสที่จะทำความดี เป็นการให้ความหมาย ที่เป็นมรณสติ อย่างแน่ๆ แท้เลย คือ คนเราต้องตายแน่"

สำหรับชื่อ "ตายแน่ มุ่งมาจน" พ่อท่าน โพธิรักษ์อธิบายว่า มีความหมายและเจตนาเพื่อ มาลดละ ไม่สะสม มาเป็น คนจน ที่มีประโยชน์ มีคุณค่าในโลก เป็นคนจนที่มีความสุข

"คนที่ตั้งชื่อนี้เขาเข้าใจแล้วก็ปฏิบัติได้จริง ไม่ใช่เรื่องลอยลม"



บทสรุป ของคุณตวงศักดิ์ ชื่นสินธุ นักข่าวมติชน ได้ทิ้งท้ายในสกู๊ปครั้งนี้ว่า

การเปลี่ยนชื่อของบรรดาญาติธรรมในสันติอโศก อาจเป็นบทสะท้อนหนึ่งในสังคม แห่งการแสวงหา เพียงแต่ว่ากับคน ทั่วไปนั้น การเปลี่ยนชื่อก็เพื่อให้ชีวิตดีขึ้น มีความเป็นสิริมงคล มากขึ้น แต่กับคนในสันติอโศก การเปลี่ยนชื่อ คือ เครื่องเตือนตน ให้หลุดพ้น จากวัฏสงสาร

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๓ ตุลาคม ๒๕๔๘ -