พระบรมราโชวาทเรื่องคุณธรรม ๔ ประการ ที่สอดคล้องกับหลักฆราวาสธรรม ๔ ประการนี้ คือเครื่องมือสำคัญ ที่จะใช้ขัดเกลา ความต้องการ ส่วนเกินจำเป็น ของผู้คนให้ลดน้อยลง อันจะเป็นรากฐานสำคัญ ของระบบ เศรษฐกิจ แบบพอเพียงและเศรษฐศาสตร์ การเมืองบุญนิยม ในสังคมมนุษย์

กระบวนการวิเคราะห์และปฏิบัติตามแนวพระบรมราโชวาท เรื่องคุณธรรม ๔ ประการ

บทที่ ๕
การกำหนดสิ่งที่ตั้งใจปฎิบัติ

ต่อจากฉบับที่ ๑๘๒

พิธีกรรมในการอาราธนาศีลและรับศีลก็ดี พิธีกรรมละหมาดและถือศีลอดก็ดี พิธีกรรมในการสารภาพบาปต่อ นักบวช และตั้งใจที่จะไม่กระทำบาปนั้นอีกก็ดีตลอดจนการตั้งสัจจะกับพระภิกษุ กับศาสนบุคคล กับศาสนวัตถุ หรือ กับ สิ่งที่ตนเคารพบูชา ผ่านทางพิธีกรรมของศาสนาต่างๆ ก็ดี ฯลฯ ยัญพิธีเหล่านี้ จะช่วยเชื่อมโยง "สัจจะ" ที่บุคคล ผู้นั้น ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ เข้ากับพันธะทางจริยธรรมของศาสนานั้นๆ

อันจะทำให้สิ่งที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติดังกล่าว มีความ "ศักดิ์สิทธิ์" หรือมีความหมายจริงจังยิ่งขึ้นโดยมิใช่เป็นเรื่องที่ จะทำเล่นๆ เหมือนไม้หลักปักขี้เลนอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องที่ต้องกระทำอย่างจริงจังเหมือนแท่งศิลา (หรือ "ศีล" ที่มาจาก รากศัพท์เดียวกับคำว่าศิลา) ที่ปักลงบนผืนดิน อย่างมั่นคง เพราะมิเช่นนั้นอาจจะกลายเป็น "บาป" หรือไม่เป็น "บุญกุศล" อย่างใดอย่างหนึ่ง ภายใต้พันธะทางจริยธรรมของความเชื่อในศาสนานั้นๆ

๕.๒ การปฏิบัติตามหลักศาสนธรรม
หลักธรรมพื้นฐานของศาสนาต่างๆ โดยส่วนใหญ่จะสอนให้ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม อันจะช่วย ยกระดับภูมิธรรมของชีวิตให้สูงขึ้นอาทิ การรักษาศีล ๕ ในพุทธศาสนา เป็นต้น เพียงแต่จะต้อง ทำความเข้าใจเกี่ยวกับนัยะอันละเอียดของแก่นสารแห่งหลักศาสนธรรมดังกล่าว จึงจักสามารถ นำมาใช้เป็น เครื่องมือ แก้ปัญหาของชีวิตได้อย่างมีพลัง ไม่ใช่การประพฤติปฏิบัติอย่างเป็น "ศีลัพพตุปาทาน" เท่านั้น

ตัวอย่างเช่น ในศีลข้อ ๕ ของพุทธศาสนาที่สอนให้เว้นขาดจากการเสพสุราเมรัย อันเป็นที่ตั้งของความประมาท มัวเมา ถ้าไม่ทำ ความเข้าใจเกี่ยวกับแก่นสารแห่งความหมายของคำว่า "สุราเมรัย" ให้ดี แล้วไปติดอยู่เพียง แค่เปลือก กะพี้ของความหมายดังกล่าว เมื่อรูปแบบการเสพสิ่งเสพติดมึนเมาเปลี่ยนแปลง ไปตามยุค-สมัยและวัฒนธรรม อาทิ มีการเสพ ยาบ้าก็ดี เฮโรอีนก็ดี ยาอีก็ดี ฯลฯ ซึ่งถึงแม้สิ่งเหล่านี้จะไม่ใช่สุราเมรัยที่มีแอลกอฮอล์ผสม แต่ก็เป็น สิ่งเสพติด ที่ก่อให้เกิดความประมาทมัวเมา และทำให้ขาดสติสัมปชัญญะ เช่นเดียวกับการเสพสุรา

ในกรณีเช่นนี้ ถ้าบุคคลผู้นั้นหลงเข้าใจว่าการเสพยาเสพติดดังกล่าวไม่ใช่การกระทำผิดศีลข้อ ๕ หรือผิดหลัก ศาสนธรรม ข้อใด (เนื่องจากไม่ใช่การเสพสุราเมรัย) ก็จะไม่สามารถใช้พลังแห่งพันธะทางจริยธรรมของศาสนา นั้นๆ มาช่วยแก้ปัญหา การเสพยาเสพติด เป็นต้น

แต่ถ้าสามารถตีความให้เข้าถึงแก่นสารของหลักศาสนธรรมนั้นๆ จนตระหนักรู้ว่าการเสพยาเสพติด ไม่ว่าจะเป็น รูปแบบ ใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม คือการกระทำผิดบทบัญญัติทางศาสนาเช่นกัน โดยถ้าสามารถตั้ง "สัจจะ" เลิกละ การเสพ ยาเสพติดเป็นผลสำเร็จ ก็จะได้รับสิ่งตอบแทนจากการปฏิบัติตามหลักคำสอน ของศาสนาดังกล่าว ภายใต้พันธะสัญญา ของศาสนานั้นๆ (อาทิ ตายแล้วจะได้ไปสวรรค์โดยไม่ต้องตกนรก หรือเกิดมาชาติหน้า จะได้มีชีวิต ที่สุขสบายกว่าชาตินี้ หรือจะได้รับ รางวัลบางอย่าง จากพระเจ้า เป็นต้น) เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เกิดแรงจูงใจ ที่จะประพฤติปฏิบัติตาม "สัจจะ" ดังกล่าวอย่างจริงจังมากขึ้น

ในทางตรงกันข้าม หากบุคคลผู้นั้นไม่ศรัทธาในศาสนา (หรือไม่สามารถเชื่อมโยง "สัจจะ" ที่ตนตั้งใจจะประพฤติ ปฏิบัติ เข้ากับ พันธะทางจริยธรรมของหลักศาสนา) เช่น เชื่อว่าชีวิตนี้ตายแล้วสูญ ความสืบต่อของผลแห่งการกระทำ ในชีวิตนี้ ไปสู่โลกหน้า ไม่มี คำสอนทางศาสนาเป็นเรื่องไม่มีผลจริง พระเจ้าไม่มี นรกสวรรค์ไม่มี กรรมดีกรรมชั่วไม่มี ฯลฯ ขณะที่การเสพยาเสพติดก็ให้ความสุขแก่ชีวิตในปัจจุบันนี้อยู่แล้ว ฉะนั้นจะเลิกเสพยาเสพติดให้ทุกข์ทรมาน (จากการ อดยา) เพื่ออะไร เพราะเมื่อชีวิตตายแล้วขาดสูญ การตักตวงแสวงหาความสุขให้มากที่สุดในขณะปัจจุบัน ก็คือกำไร ของชีวิตแล้ว ผลที่สุดพลังจูงใจที่จะให้เกิดการตั้ง "สัจจะ" เพื่อเลิกละยาเสพติดก็จะมีน้อย เนื่องจาก ไม่มีพันธะ ทางจริยธรรม ที่ช่วยอธิบายเชื่อมโยงให้เห็นคุณค่าของการเลิกยาเสพติด หรือเห็นโทษภัย ของการเสพ ยาเสพติด ในภาพรวมระยะยาวของชีวิตรองรับ เป็นต้น

๕.๓ การตั้งจิตอธิษฐาน
การอธิษฐานเป็นการแสดงความมุ่งมั่นปรารถนาที่จะให้บรรลุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยผู้คนจำนวนไม่น้อย มักจะเข้าใจว่า การอธิษฐานก็คือ การขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรืออำนาจพิเศษ เหนือธรรมชาติบางอย่าง (โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง ที่อยู่ในวัฒนธรรมของลัทธิความเชื่อหรือศาสนาที่ตนเคารพนับถือ) ได้ช่วยดลบันดาล ให้ตนประสบ ผลสำเร็จ ในสิ่งที่มุ่งหมายนั้นๆ

เช่น การอธิษฐานต่อรูปเคารพของเทพองค์ต่างๆ บ้าง ต่อพระพุทธรูปบ้างต่อพระเจดีย์บ้าง ต่อพระบรมสารีริกธาตุบ้าง ต่อ พระพรหมเอราวัณบ้าง ต่อพระบรมรูปทรงม้ารัชกาลที่ ๕ บ้าง ฯลฯ เพื่อขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเคารพบูชานั้น ใช้พลัง อำนาจเหนือธรรมชาติมาช่วยดลบันดาลให้สิ่งที่ตนตั้งจิตอธิษฐาน ประสบผลสำเร็จตามที่ขอ เป็นต้น

การอธิษฐานแบบนี้มักจะถูกเชื่อมโยงกับการประกอบพิธีกรรมบางอย่างเพื่อเป็นเครื่องมือติดต่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตน เคารพบูชา ได้ช่วยเมตตา ดลบันดาลให้ความมุ่งหมายของตน บรรลุผล สมปรารถนา อาทิ จุดธูปเทียนบูชาบ้าง กราบไหว้บ้าง สวดมนต์บ้าง นั่งสมาธิภาวนาบ้าง ฯลฯ ควบคู่ไปกับการตั้งจิตอธิษฐาน ขอในสิ่งที่ตนปรารถนานั้นๆ

บางครั้งก็มีการบนบานศาลกล่าวประกอบคำอธิษฐานด้วย เสมือนเป็นสัญญาข้อแลกเปลี่ยนที่กระทำกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดังกล่าวว่า หากสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น ได้ช่วยดลบันดาล ให้ตนบรรลุผล ตามที่อธิษฐาน ขอไว้แล้ว ตนจะกระทำอะไร เป็นการตอบแทนบ้าง ฯลฯ

การอธิษฐานในความหมายแบบนี้อาจจะช่วยให้กำลังใจ และเป็นกลไกป้องกันตนเองของจิต (defence mechanism) แบบหนึ่ง ที่ช่วยลดความเครียด ความทุกข์กังวลลงได้บ้าง แต่ยังไม่มีอานิสงส์อะไรมากนัก ต่อการช่วยแก้ปัญหา และ ยกระดับภูมิธรรมของชีวิต ให้เจริญงอกงามยิ่งๆ ขึ้น

ขณะที่ถ้าใช้ปัญญาวิเคราะห์ให้เห็นถึงเหตุมูลฐานแท้จริงของปัญหานั้นๆ ที่บีบคั้นชีวิตให้เป็นทุกข์ แล้วกำหนดเป็น "สัจจะ" ที่จะประพฤติปฏิบัติ เพื่อแก้ไขเหตุมูลฐานดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่ง ภายใต้ขอบเขต ที่เหมาะสมกับกับ องค์ประกอบต่างๆ ตามลำดับขั้นตอน และตามกำลังที่ตน จะพึงประพฤติปฏิบัติได้ (ดังกระบวนการวิเคราะห์ และ ปฏิบัติ ตามพระบรมราโชวาท เรื่องคุณธรรม ๔ ประการ ที่ได้กล่าวมาแต่แรก) การตั้งจิตอธิษฐาน เพื่อขอให้สิ่ง ศักดิ์สิทธิ์ ในวัฒนธรรมของศาสนา หรือลัทธิความเชื่อที่ตนเคารพบูชา ช่วยบันดาลให้ตนมีพลัง ที่จะสามารถประพฤติ ปฏิบัติตาม "สัจจะ" ที่ตั้งใจไว้ ให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย การอธิษฐานแบบนี้ จะให้อานิสงส์ในการช่วยแก้ปัญหา และ ยกระดับภูมิธรรมของชีวิต ให้สูงขึ้น เหนือกว่าการอธิษฐาน ที่เป็นการ "อ้อนวอนขอ" แบบแรกมากมาย

ตัวอย่างเช่น คนที่มีลูกติดยาเสพติด ถ้าคนผู้นั้นสวดมนต์อธิษฐานขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือ "พระเจ้า" ได้ช่วยลูกของตน ให้พ้นจาก การเป็นทาสของยาเสพติด ซึ่งโดยปกติการอธิษฐานขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเคารพบูชาช่วยเหลืออะไร เราก็มักจะต้อง ประพฤติตัว ให้สอดคล้องกับ ความต้องการของ "สิ่งศักดิ์สิทธิ์" ดังกล่าว ตามลัทธิความเชื่อนั้นๆ อยู่แล้ว

(อ่านต่อฉบับหน้า)

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๓ ตุลาคม ๒๕๔๘ -