- แรงรวม ชาวหินฟ้า -


เมื่อภิกษุณีถูกคณะสงฆ์ย่ำยีฐานะของเธอที่พม่า...!

จดหมายจากคุกพม่า ที่คอลัมน์ ธรรมลีลา ของฉัตรสุมาลย์ (ภิกษุณีธัมมนันทา) ได้นำมาลงพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ ๒๕ พ.ย. - ๑ ธ.ค. ๒๕๔๘ มีเนื้อหาที่พุทธบริษัททั้งหลายน่าจะได้รับรู้ถึงอสัจจธรรมที่ได้เกิดขึ้นดังต่อไปนี้

ภิกษุณีสัจจวาที ชาวพม่าได้รับการอุปสมบทพร้อมภิกษุณีธัมมนันทาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๖ ท่านกำลังศึกษา ในระดับ ปริญญาเอก ที่ศรีลังกา แต่เมื่อได้ทราบข่าวว่าบิดาเจ็บหนักจึงจำเป็นต้องกลับไปพม่า

ในระหว่างที่อยู่ในพม่านั้น ท่านพำนักอยู่กับสำนักของพระอาจารย์ของท่านซึ่งได้รับการอุปถัมภ์ดูแลอย่างดี แต่เมื่อดำเนิน เรื่อง ให้คณะสงฆ์พิจารณากลับได้รับการพิจารณาอย่างไม่เป็นธรรม และในท้ายที่สุด เมื่อท่านไม่ยอมลงนาม ว่าท่านไม่ใช่ ภิกษุณี จึงถูกจองจำในคุก อยู่นานถึง ๗๖ วัน บัดนี้ท่านได้กลับไปศึกษาต่อ ที่ประเทศศรีลังกา และได้ส่งจดหมาย มาเล่า ให้ฟัง ถึงขบวนการสอบสวน ของคณะสงฆ์ และสภาพ การที่ท่าน ถูกจองจำ จึงนำมาถ่ายทอดให้ผู้อ่านได้รับทราบ

ท่านขึ้นต้นจดหมายว่า

เพื่อนที่เป็นญาติธรรมทั้งหลาย
ท่านคงอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับฉันบ้าง ในช่วงที่อยู่ในพม่า

ชาวพุทธที่ฉ้อฉลเกิดจากรากฐานของความยึดมั่นถือมั่นในตน เพื่อความอยู่รอด ย่อมไม่สร้างวิบากกรรมที่ดี กรณีของฉัน อาจจะนำ ไปสู่การพัฒนาสภาพการณ์ให้ดีขึ้น ในประเด็นเรื่องภิกษุณีในพม่าน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดี

ในกระบวนการสอบสวนในศาลพุทธโดยทั่วๆ ไปแล้ว คณะสงฆ์ที่ได้รับการแต่งตั้งให้พิจารณาจะตั้งคำถามถามเป็น ๒ ชุด คำถามชุดแรกให้ตอบลงในกระดาษ และอีก ๒ อาทิตย์ต่อมาจะต้องตอบอีกประมาณ ๔๐ คำถามในรายละเอียด จากนั้น คณะลูกขุน ซึ่งเป็นพระภิกษุทั้งหมด จะพิจารณาคดีในศาลมหานายก ซึ่งเป็นศาลเฉพาะคดีของพุทธศาสนา ในกรณีของ ฉันนั้น พวกเขาไม่มีความจำเป็นต้อง ตั้งคำถาม ด้วยซ้ำไป เพียงแต่เหลียวมองดูประเทศ ที่นับถือศาสนาพุทธ ที่อื่นๆ และ ปรับปรุง ในส่วนที่จำเป็น สำหรับภิกษุณีสงฆ์

(จะมีประโยชน์อะไรที่พม่ามีพระไตรปิฎกหลายฉบับ มีผู้เชี่ยวชาญในภาษาบาลี และมีอาจารย์ผู้สอนวิปัสสนากัมมัฏฐาน ตั้งมากมาย กรรมการที่พิจารณาคดีของฉันนั้น มีผู้เชี่ยวชาญพระไตรปิฎก นั่งอยู่ด้วยตั้ง ๒ คนแน่ะ)

ฉันพยายามที่จะติดต่อพระภิกษุเหล่านี้หลายครั้ง เพื่อที่จะอธิบายเหตุผลที่จูงใจให้ฉันบวชเป็นภิกษุณี แต่ถูกปฏิเสธ ตลอดมา พวกเขาทั้งโกรธ และทั้งหลงตนเอง ทั้งนี้เพราะเขาไม่ใช่พ่อแม่ของฉัน ทั้งไม่ใช่ญาติโกโหติกาอะไรด้วย ทั้งไม่ใช่ ครูบาอาจารย์ ที่เคารพของฉัน พระอาจารย์ที่เป็นพระภิกษุชาวพม่าของฉันเองท่านต้อนรับฉันเสมอ แม้เมื่อบวชเป็น ภิกษุณี แล้ว เมื่อฉัน กลับไปพม่า ฉันอยู่ในวัดของท่าน ประมาณ ๕ เดือน ที่วัดนั้นก็มีทั้งพระภิกษุและสามเณรประมาณ ๑๒๐ รูป

ในกระบวนการสอบสวนนั้น ฉันได้ตอบคำถามเพียง ๑๐ ข้อชุดแรก ฉันเลือกที่จะตอบเป็นภาษาพม่ามากกว่าภาษาบาลี เพื่อให้ ฆราวาส เข้าใจประเด็นด้วย (ทั้งนี้เพราะพระชอบใช้ภาษาบาลี ทำให้ฆราวาสที่ไม่เข้าใจจะพิจารณาคดีไม่ได้) ไม่มี การตอบคำถาม ชุดที่สอง แต่ฉันถูกนำไปขึ้นศาล มหานายกเลย

วันนั้น วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๘ เวลาบ่ายโมง พระภิกษุลูกขุนวิพากษ์วิจารณ์และประณามฉันว่า "ทำกรรมเลว จึงต้องมา เกิดเป็นผู้หญิง" และว่า "แม่ชีพม่าที่เรียกว่าศีลาชินรักษาศีลได้ดีกว่าภิกษุณีของมหายานอยู่แล้ว" "ความพยายามที่จะรื้อฟื้น ภิกษุณีสงฆ์ ในเถรวาท เป็นสัญญาณ ว่าเป็นศัตรูที่จะสร้างความแตกแยกในคณะสงฆ์ ถือเป็นเรื่องร้ายแรง" คณะลูกขุน เห็นว่า ฉันมีความตั้งใจที่จะ "ทำให้เกิดความแตกแยก ในคณะสงฆ์" ฯลฯ

ประมาณบ่าย ๔ โมงครึ่ง คณะลูกขุนบังคับให้ฉันเปลี่ยนเป็นชุดแม่ชี (เสื้อสีชมพู ผ้านุ่งสีแสด)

เมื่อฉันเปลี่ยนชุดแล้ว ฉันตระหนักว่าพวกเขาไม่สามารถที่จะลบล้างความเป็นนักบวชของฉันได้ จากความเปลี่ยนแปลง ภายนอก แม้ว่าจะจับฉัน เปลือยก็ตามที จากนั้น ฉันถูกบังคับให้กล่าวคำขอขมาต่อคณะสงฆ์ที่เป็นลูกขุน คราวนี้ฉันก็เลย พูดว่า "โปรดให้อภัย แก่ข้าพเจ้าด้วย ในสิ่งที่ ข้าพเจ้า ได้ทำผิดไปโดยความไม่รู้เท่าทัน ไม่ว่าจะเป็นด้วยโลภ โกรธ หลง ทั้งที่ ความพยายาม ที่จะเป็นนักบวชนั้น ก็เพียงเพื่อ จะละวาง กิเลสร้าย ทั้งหลาย เหล่านั้น และขออภัยในกรณีที่ได้ใช้ เครื่อง อุปโภค บริโภค ที่ญาติโยมถวาย โดยมิได้พิจารณา และปฏิบัติในสิ่งที่ ไม่ใช่ธรรม"

พวกพระลูกขุนหัวเราะเยาะในสิ่งที่ฉันพูด เพราะฉันไม่ได้พูดในสิ่งที่พวกเขาอยากได้ยิน ฉันไม่ได้สัมผัสถึงความเมตตา กรุณา หรือ แม้แต่ขันติ ความอดทน ในหมู่พวกเขาเลย ทั้งๆ ที่คุณสมบัติเหล่านั้น เป็นคุณสมบัติที่ชาวพุทธปฏิบัติ และเป็นสิ่งที่ พวกเขา สอนให้ชาวพุทธปฏิบัติ

พวกเขาส่งกระดาษให้ฉันอ่าน มีข้อความว่า� ฉันทำความผิดในการที่เป็นภิกษุณี ซึ่งผิดจากหลักพระธรรมวินัย ฯลฯ ฉันเหนื่อย และมึนมาก ที่จะทำตาม คำสั่งสุดท้ายของพวกเขา จึงโยนกระดาษทิ้ง ฉันถูกจับทันทีเวลา ๕ โมงเย็น ตำรวจ ก็พร้อมที่จะจับกุมอยู่แล้ว

ตอนแรกเขาจับฉันมาขังไว้ที่สถานีตำรวจในระดับจังหวัด ตำรวจคนหนึ่งแวะเวียนมาดูพร้อมกับกรายสายตา มาที่หน้าอก และ ส่วนล่าง ของร่างกาย ฉันเกิดความกลัวจนตัวสั่น ได้แต่นั่งสมาธิภาวนา ต่อมาประมาณทุ่มครึ่ง เขาจึงย้ายฉันไปขัง ที่สถานี ตำรวจส่วนกลาง ฉันอยู่ที่นั่น ๔ วัน มีทั้งหนู ทั้งห้องส้วมที่สกปรก ไม่มีน้ำ ต้องใช้ถ้วยน้ำที่สกปรกและรั่ว...รูหนูดีๆ นี่เอง

ฉันคิดแม้กระทั่งจะฆ่าตัวตาย แต่ยกเลิกความคิดดังกล่าว ฉันพยายามอธิบายให้ผู้คนเข้าใจเรื่องภิกษุณีทุกครั้งที่มีโอกาส

วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ฉันถูกย้ายไปเข้าคุกเมืองย่างกุ้ง นรกชัดๆ มีทั้งอาชญากร มีทั้งนักโทษที่เป็นโรคเอดส์ และโรคติดต่อ ชนิด ต่างๆ ไม่มียารักษา สภาพปกติในพม่า ไม่มีรองเท้าใส่ ไม่มีร่ม แม้จะเป็นหน้าฝน เสื้อผ้าอับชื้น เพราะต้องใส่ทั้งๆ ที่ยัง ไม่แห้ง มีทั้งแมลงวัน ยุง และแมลงอื่นๆ โรคผิวหนัง แผลเน่าเปื่อย พุพอง ฉันพยายามปฏิบัติธรรม ให้ดีที่สุด ในสภาพ ที่น่าเวทนา เช่นนี้

ค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ต้องจ้างทนายความ ต้องจ่ายเงิน (ให้แก่ผู้คุม) เพื่อจะได้อยู่ในสภาพที่ดีขึ้น ทั้งในคุกและไปขึ้นศาล ทำตัว เลียนแบบ นักโทษการเมือง ที่ใช้จ่ายอย่างเต็มที่

ในที่สุด ฉันได้รับการปลดปล่อยออกมาเมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๔๘ เวลา ๐๘.๐๐ น. แล้วถูกพาไปยังสนามบินนานาชาติ ทันที เพื่อจะส่งตัว กลับออกไปศรีลังกา เวลา ๐๙.๐๐ น. รวมเวลาที่ถูกจองจำ ๗๖ วัน

ที่ได้รับการปลดปล่อยออกมานั้น เพราะพี่สาวคนที่สามที่เป็นแม่ชี ได้ทำหนังสือร้องเรียนถึงประธานสภาแห่งสันติภาพและ การพัฒนา ทั้งนี้ ต้องให้รายละเอียด เพิ่มเติมด้วยว่า พ่อและพี่ชายของฉันเป็นทหาร แม้กระนั้น ในวันที่ ๔ สิงหาคม ฉันนั่ง ต้องขึ้นศาล มหานายก และต้องกล่าว คำขอขมา ทั้งยอมเปลี่ยนเป็นชุดแม่ชี ฉันทำทั้งหมดนั้น ด้วยความตระหนักว่า ถ้าอยู่ ในคุก ฉันทำอะไรไม่ได้เลย และอาจจะต้องถูกขังลืม จนตาย และในความเป็นจริง ในช่วงหน้าฝน ฉันก็เจ็บ เจียนตาย ถึงสองครั้ง ในช่วงที่ถูกจองจำอยู่นั้น

ทั้งหมดนี้ ฉันได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่เลวร้ายนั้นว่า ประชาธิปไตยเป็นสิ่งจำเป็น โดยประชาชนจะต้องได้รับ การพัฒนา ทางจิตใจ และมีศิลปะ ในการจัดการ เพื่อพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ และการศึกษาในพม่า เพื่อที่จะได้ปกป้องพุทธศาสนา อย่างแท้จริง

ด้วยเมตตา
อาชินสัจจวาที (อาชิน เป็นคำนำหน้าชื่อของพระ)
ศรีลังกา

ผู้เขียนยินดีที่ท่านสัจจวาทีไม่ต่อสู้แบบหัวชนฝา และได้ให้คำแนะนำไปแล้วว่า ให้ออกมาต่อสู้ในโลกข้างนอก ดีกว่า ที่จะติดคุก และตายเปล่า หลังจาก ที่เคยนำเสนอเรื่องราวของท่านให้ผู้อ่านมติชนสุดสัปดาห์ ทราบไปไม่นานนี้ ก็ยินดี ที่ทราบว่า ท่านได้กลับไปศึกษา ปริญญาเอกต่อ ที่ศรีลังกา

กระบวนการและวิธีการสอบสวนของลูกขุนที่เป็นคณะสงฆ์เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ในสมัยโบราณเราเชื่อกันว่าประเทศหลัก ที่นับถือ ศาสนาพุทธ สายเถรวาท ๓ ประเทศนั้น มีความชำนาญต่างกัน เช่น ประเทศศรีลังกาเก่งเรื่องพระสูตร ประเทศพม่า เก่งเรื่อง อภิธรรม และประเทศไทย เก่งเรื่องพระวินัย

ในความเป็นจริงที่ว่าประเทศไทยเก่งเรื่องพระวินัยนั้น ในความหมายว่าพระสงฆ์ไทยเคร่งครัดพระธรรมวินัยกว่าประเทศ เพื่อนบ้าน มาถึงใน ทศวรรษใหม่นี้ ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าเราจะยังคงยืนยันเช่นเดิมได้หรือไม่

ประเด็นเรื่องการบวชภิกษุณีที่คณะลูกขุนพม่าหาว่าผิดพระธรรมวินัยนั้น มีหลักคิดง่ายๆ ว่า ใครเป็นคนเริ่มต้น พระพุทธเจ้า ทรงเริ่มต้นไว้ให้ เราชาวพุทธ ในสมัยหลัง ควรรักษาไว้ไม่ให้สูญหาย หากไม่เคยมีมาก่อน เช่นในประเทศพม่า และไทยก็ต้อง ช่วยกันพิจารณาว่า ทำอย่างไร จึงจะให้มีให้เกิดขึ้นได้

ท่าทีที่ว่าไม่มีก็ดีแล้ว ไม่มีเราก็อยู่มาได้ เป็นสิ่งที่เราตัดสินแบบคนขี้เกียจ ไม่ต้องการแสวงหา ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้า เรารู้ต่อไปอีกว่า พระพุทธองค์ ทรงฝากฝังพระศาสนาไว้กับคนสี่กลุ่ม ที่เรียกว่า พุทธบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา

ชาวพุทธที่แท้จะเปลี่ยนท่าทีที่มีต่อประเด็นการบวชของผู้หญิงไปโดยปริยาย


บทวิจารณ์ส่งท้าย
กระบวนการสอบสวนของคณะสงฆ์ที่เป็นลูกขุนในกรณีนี้ เป็นกระจกสะท้อนการปฎิบัติธรรมของพุทธสาวกในยุคนี้ได้เป็น อย่างดี น่าเสียดาย ผ้ากาสาวพัสตร์ ที่ใช้นุ่งห่มอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่หาได้ทำให้จิตวิญญาณของพระพม่า คณะลูกขุนนั้น ซึมซับเอา พระปัญญาธิคุณ พระกรุณาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณ ของพระพุทธองค์ มาใช้แต่อย่างใด ดีไม่ดีมิหนำซ้ำ อาจ กลับหลงตัว ว่าเป็นเจ้าของศาสนา เป็นผู้ผูกขาด พุทธศาสนา โดยอาศัยกฎหมาย มารองรับอำนาจบาตรใหญ่ เพื่อใช้เล่นงาน ใครๆ ก็ได้ที่มีความเห็น ความเชื่อ แตกต่างจากตนออกไป

ทั้งๆ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ซึ่งเป็นเจ้าของศาสนาเอง เมื่อถูกพระเทวทัตขบถ แบ่งแยกสงฆ์เอาไปปกครองเพื่อต่อสู้กับ พระพุทธองค์ พระพุทธองค์ ก็เพียง ให้ประกาศแก่พุทธบริษัทได้ทราบว่า "ณ บัดนี้ พระเทวทัต ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ การกระทำ ใดๆ ของพระเทวทัต เป็นเรื่องของพระเทวทัตเท่านั้น" ซึ่งไม่มีการใช้อำนาจใดๆ ไปเล่นงาน พระเทวทัต แต่เป็นการใช้ "ธรรม" ให้เป็นอำนาจแทน

น่าเสียดายที่คณะสงฆ์ในพม่าพากันกวาดภิกษุณีทิ้ง ทั้งๆ ที่ยังไม่มีการพิสูจน์ว่าตัวเองดีจริง แน่จริงกว่าภิกษุณีหรือเปล่า? เพียงแค่ได้ช่องว่า มีกฎหมาย มารับรองความเป็นพระ ก็เลยใช้อำนาจเป็นธรรม แทนการใช้ธรรมเป็นอำนาจ ซึ่งย่อมจะนำ ผู้นั้น ไปสู่ความพินาศ (ทางคุณธรรม) ในที่สุด.


ผู้ใดมีสัจจะ คุณธรรม ไม่เบียดเบียน
สำรวม ข่มใจ ฉลาด ปราศจากมลทินโทษ
ผู้นั้นแล เรียกว่า เถระ

*** พุทธวจนะ

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๖ มกราคม ๒๕๔๙ -