- ชบาบาน -


ตอนจบ
"กระจุ๋มกระจิ๋ม"

การทำงานกลายเป็นเรื่องสนุกสนานไม่ช้านักรอบบ้านก็หายรุงรังด้วยหญ้า พ่อกับมามุช่วยกันล้างถังน้ำเหล็ก ที่เหลือน้ำฝน น้อยแล้วนั้น เสียจนสะอาด แล้วช่วยกันเข็นไปวางไว้ตรงปากรางเพื่อรองน้ำฝนไว้ใช้ น้ำในถังเหล็กนี้ไม่ได้ใช้ดื่ม เพราะพ่อ ไม่ได้กรองด้วยผ้าขาว เหมือนโอ่งน้ำกินบนนอกชาน ขณะเดียวกันน้อยและพี่แมะ ก็ช่วยกันกวาดเอาเศษขยะออกจากใต้ถุน และรอบตัวบ้านจนหมด บ้านจึงดูสะอาดเอี่ยม แค่นั้นยังไม่พอ พ่อยังชวนเด็กวางแผนงาน วันรุ่งขึ้นด้วยว่า

"วันพรุ่งนี้ทั้งสามคนกลับบ้านทันทีที่โรงเรียนเลิกได้ไหม เราจะไปเอากล้วยไม้ป่าสวยๆ ตามริมคลองมาแขวนไว้ตามหน้าร้าน เอาบอนสี มาปลูกข้างบ้านด้วย ดีไหม ข้างบนบ้านพ่อยกให้แมะกับน้อยจัดการกวาดถูให้เรียบร้อย ช่วยกันหน่อยนะ"

เด็กทั้งสามรับปากจะช่วยพ่ออย่างเต็มที่ น้อยยิ่งนึกเห็นภาพบ้านที่จะดูสะอาดสวยงามผิดปกติมากเท่าใด ก็ยิ่งสงสัย จนเก็บ ไว้ไม่อยู่ เธอเข้าไปเกาะแขนพ่อ ถามเหมือนคาดคั้นให้พ่อตอบ พี่แมะและมามุ ก็พากันรุมล้อมพ่อด้วย

พ่อมองหน้าเด็กๆ ทำท่าเหมือนคิดว่าจะบอกอย่างไรดี น้อยคิดว่าเธอไม่เคยเห็นพ่อมีสีหน้าท่าทางเขินอย่างนั้นมาก่อน ในที่สุด ความลับของพ่อ ก็แตกออกให้เด็กได้ร้องลั่น ด้วยความดีใจ

"คือว่า พ่อได้รับโทรเลขจากสงขลา แม่โทรเลขมาบอกว่าให้พ่อไปรับที่โกลกวันมะเรื่องนี้ พ่ออยากให้แม่เขากลับมาเห็นบ้าน เรียบร้อย สวยงาม แม่จะได้สบายใจอย่างไรเล่า"


บ้านท่าฝั่งคลองสะอาดสวยงามพร้อมสำหรับต้อนรับแม่กลับบ้านแล้ว น้อยและพี่แมะดีใจเป็นที่สุด เมื่อพ่อซึ่งไปรับแม่ ที่สถานีรถไฟ สุไหงโกลก ได้พาแม่กลับมาถึงบ้าน แม่ยิ้มแย้มแจ่มใส บอกกับสองพี่น้องว่า มีข่าวดีจะเล่าให้ฟัง และมีของ มาฝากทุกคน รวมทั้งมามุด้วย แต่พี่แมะและน้อยต้องอดใจไม่ขอดูกันทันทีเพราะแม่เหนื่อยมาก จากที่นั่งแกร่ว มาในรถไฟ ทั้งวันเมื่อวานนี้ แล้ววันนี้ยังต้องเดินเท้าจากโกลกมาแว้งอีก ตั้งครึ่งค่อนวัน จึงต้องคอยจนกระทั่ง อาบน้ำ รับประทานข้าวเย็น กันเรียบร้อยเสียก่อน แล้วจึงมารวมกันรอบตะเกียง อาละดินของพ่อ ในห้องโถงกลาง

"คืนนี้ไม่ต้องอ่านหนังสือได้ไหมคะพ่อ แม่เพิ่งกลับมา?" พี่แมะถามพ่อแต่พ่อรู้ทันตอบพี่แมะว่า
"แม่เพิ่งกลับมา แม่ก็ต้องเหนื่อย แต่แม่ก็คงดีใจถ้าลูกทำการบ้านอ่านหนังสือเพราะลูกไม่ได้เหนื่อยเหมือนแม่สักหน่อย แม่เพิ่งบอกไปตอนบ่าย ว่าให้รู้จักอดใจรอ ไม่ใช่หรือ เดี๋ยวก็ได้ดูของฝากแล้ว ถ้าพ่อจะบอกบ้างว่าทำหน้าที่ของตัว ให้เสร็จเรียบร้อยก่อนล่ะ ลูกจะเชื่อฟังไหม?"

จึงเป็นอันว่าทั้งสองพี่น้องต้องทำการบ้านที่คุณครูให้มาและอ่านหนังสือกันไปตามปกติทั้งๆ ที่ใจอยากเห็นของฝาก เต็มประดา แม่ก็เป็นใจกับพ่อไปด้วยเพราะแม่ทำเฉยเหมือนลืมเรื่องของฝากไปเสียแล้ว เด็กทั้งสองอดคิดไม่ได้ ว่าผู้ใหญ่ นี่ช่างทรมาน ใจเด็กเสียจริงๆ

ครู่ต่อมาพ่อก็อนุญาตให้เก็บหนังสือ แม่เลื่อนหีบห่อจากสงขลาเข้ามากลางวง พี่แมะและน้อยต่างชะโงกเข้าไปดู ในกล่อง ใบแรก เต็มไปด้วยของกินสารพัดอย่าง ทั้งแป้งแดง (แป้งแดง เป็นอาหารหมักชนิดหนึ่ง ของอำเภอเมือง จังหวัด สงขลา มีสองชนิด คือ แป้งแดงหมู และ แป้งแดงปลา มีสีชมพูแก่ ส่วนผสมจะมีอะไรบ้าง ผู้เขียนไม่ทราบ รสเค็ม เปรี้ยว หวาน น่าจะเป็นวิธีหมัก ที่มาจากจีน ราคาค่อนข้างแพง เพราะจะต้องใช้เนื้อหมู และปลาคุณภาพดี การปรุง จะซอย หอมและ พริกชี้ฟ้า โรยหน้าแล้วนึ่งให้สุก) กุ้งเจ่า (กุ้งเจ่า หมักด้วยกุ้งนางทั้งเปลือก น่าจะเป็นวิธีถนอมอาหาร ของคนไทย รสกุ้งเจ่า จะเค็มและเปรี้ยวนำ เปลือกกุ้งจะนิ่ม) สองอย่างนี้เป็นของโปรดของแม่ มันกุ้ง (มันกุ้งของจังหวัดสงขลา ถือเป็น ของคู่เมือง เคี่ยวจากมันในหัวกุ้งทะเลจนเหนียวเป็นสีดำ เติมเกลือเล็กน้อยเพื่อถนอมอาหาร ราคาแพง ในหน้าที่มีปู ในนา มาก ชาวนา จะเคี่ยว มันปูด้วย ลักษณะเดียวกับ น้ำปู๋ ของภาคเหนือ) สีดำปิ๊ดปี๋ที่พี่แมะชอบหนักหนา เวลาที่เติมลง ในน้ำพริก หรือน้ำ บูดูกุ้งเสียบ (ในปัจจุบัน กุ้งในทะเลคงจะเหลือน้อยมาก จึงไม่เห็นการทำกุ้งเสียบ แบบของเมืองสงขลา อีกแล้ว เหลือแต่ กุ้งแก้ว ที่ตากแห้งทั้งเปลือก เท่านั้น ในสมัยก่อน กุ้งราคาถูกมาก ผู้ใหญ่จะซื้อกันเป็นกะละมัง ปอกเปลือก เด็ด หัวกุ้งออก แล้วแช่น้ำเกลือไว้สักครู่หนึ่ง ก่อนเสียบ เรียงเป็นตับ ด้วยไม้ไผ่เหลาแบนๆ ยาวประมาณ ๑ คืบ นำไปตาก เพียงแดดเดียว พอหม้าง (หมาด) หรือถ้าจะเก็บไว้นาน ก็ตากสัก สองสามแดด เวลารับประทาน จะทอดหรือย่าง ให้พอสุก ทุบให้เป็นปุย รับประทานกับข้าวสวยร้อนๆ ผู้เขียนเคยอ่านพบว่า ดอกไม้สด นักเขียน ผู้ยิ่งใหญ่ ของไทย ชอบกุ้งเสียบ สงขลามาก) ของโปรดของน้อย ปลากระบอกร้า (ปลาร้า หรือ ปลาแดก ตามที่ทางอีสาน เรียกกัน น่าจะเป็นอาหาร ของทุกภาค แต่ปลากระบอกร้าที่กล่าวถึงนี้ จะต่างกับปลาร้าที่หมักด้วยปลา ตัวเล็กตัวเล็กตัวน้อย แต่ชาวสงขลา จะนิยม ทำปลาร้า ด้วยปลากระบอก หรือปลาดุก ขนาดค่อนข้างใหญ่ทั้งตัว เป็นของราคาแพง เวลา รับประทาน จะนำมาทอดให้สุก แล้วจึงบีบมะนาว ซอยหอมและพริกลง นิยมคลุกข้าวร้อนๆ โดยเฉพาะข้าวใหม่) ของโปรด ของพ่อ ข้าวเกรียบกุ้ง (จะเห็นได้ ทั่วไปในปัจจุบันว่ามีการพยายามเลียนแบบข้าวเกรียบกุ้ง ของอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา อยู่โดยทั่วไป เชื่อว่าเป็นเพราะ ชื่อเสียง และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ของจังหวัดนี้นั่นเอง ผู้เขียนได้เห็นด้วยตนเอง ว่าสมัยก่อน ชาวสงขลา ทำข้าวเกรียบกุ้ง และปลา ด้วยมือกันเอง ในครัวเรือน หรือแม้แต่ในร้านที่ผลิตเพื่อขาย ก็ไม่ได้พึ่งเครื่องจักร หรือใส่ สารเคมีใดๆ ทั้งสิ้น สินค้า ทั้งหลายเหล่านี้ ร้านในอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เคยได้รับรางวัลที่ ๑ ในการประกวด กะ อุ พา กัม (กสิกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม ) สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม) แผ่นบางวงเล็ก สีออกส้มปนแดง เหมือน สีมัน ในหัวกุ้ง ข้าวเกรียบปลา ที่สีออกขาวขุ่นๆ สองอย่างนี้อร่อยมาก เมื่อทอดมาจิ้มน้ำจิ้ม รับประทานกับข้าวร้อนๆ ของทั้งหมดนี้ สงขลา เป็นแหล่ง มีชื่อเสียงที่สุด ไม่มีที่ไหนสู้ได้ แม่ซื้อมาเป็นเสบียงพิเศษ สำหรับครอบครัว เก็บไว้ได้นาน ไม่เสีย

"เอาละ คราวนี้มาถึงของฝากเสียทีนะ วันนี้ทั้งสองคนเป็นเด็กดี รู้จักอดทน คอยกันมาตั้งนาน" แม่พูดพลางลากเอากล่อง ใบขนาดกลาง มาเปิดออก น้อยเห็นอะไรหลายอย่างอยู่ในนั้น แม่หยิบออกมา ทีละอย่าง

"เอ้า นี่ของฝากมามุ ลูกข่างแบบไทยมีเดือยเหล็กด้วย นี่ของแมะกับน้อย แม่ซื้อผ้าถุงผืนใหม่ มาฝากคนละถุง ป้าที่สงขลา เย็บมาให้เสร็จเรียบร้อย พรุ่งนี้ นุ่งไปโรงเรียนได้เลย หรือถ้าอยากเก็บไว้ ตอนวันสำคัญก็ได้ จะได้มีของใหม่แต่งกับเขา นี่ คนโบราณ เขาสอนกันมาอย่างนี้ "

สองพี่น้องยกมือไหว้แม รับเอาผ้าถุงมาคนละถุง อยู่แว้งเคยนุ่งแต่ผ้าปาเต๊ะสำหรับเด็กหญิงและผ้าซิ่นฝ้าย เนื้อค่อนข้าง หยาบ เมื่อมาได้ผ้าแปลก และสวยอย่างนี้ จึงดีใจเป็นล้นพ้น โดยเฉพาะน้อย เพราะผ้านั้นเป็นริ้วขวางสีแดงสลับดำ อย่างที่ อยากได้หนักหนา ผ้าถุงอะไรสวยอย่างนี้หนอ ตรงแถบริ้วแดง เขาทอเป็นพื้นธรรมดา แต่ริ้วดำนั่นสิ เขาทอให้เนื้อผ้าย่นๆ อย่างประหลาดที่สุด แม้แต่พ่อ ก็ไม่เคยเห็น ผ้าถุงแบบนี้มาก่อน จึงหยิบขึ้นมาพิจารณา

"ทำไมแม่ถึงซื้อสีเดียวกันให้ลูกล่ะคราวนี้ ถูกใจใครคนหนึ่งแน่ๆ สีแดงแบบอีกาไม่คาบพริกเสียด้วย" พ่อพูดล้อน้อย "สวยจริง เขาเรียกว่า ผ้าอะไรนะแม่?"

"เขาทอสีดำแดงสลับกันอย่างนี้ทั้งนั้น ไม่มีสีอื่นเลย พ่อ เด็กๆ ที่สงขลากำลังเห่อกัน ฉันเลยซื้อมาฝากลูก คนละถุง เห็นเขา บอกว่า เป็นผ้าจากภาคเหนือ เรียกว่า ผ้าแม่สอด ถ้าเพื่อนๆ ที่โรงเรียนถาม ก็บอกเขาอย่างนั้นนะลูก"

แม่อธิบายพลาง ดึงอะไรอีกห่อหนึ่งออกมา อะไรน่ะ? โอ๊ย! แม่ขา ! น้อยตาโตด้วยความตื่นเต้นและนึกไม่ถึง

"เอ้า นี่เสื้อผ้าป่านสีแดงคนละตัวด้วย จะได้ใส่เป็นชุดเสียเลย ชอบกันไหม?"

"ชอบค่ะ" เด็กทั้งสองตอบแม่พร้อมกัน น้อยนั้นพูดแถมไปด้วยว่า "น้อยชอบที่สุดเลย สวยกว่ากระโปรงจีบของจริยา จากบางกอก เสียอีกค่ะแม่ สีแดงเสียด้วย"

พี่แมะและน้อยมัวแต่ดีใจจนลืมไปเสียสนิทว่าพ่อยังไม่ได้อะไรเลยสักอย่างเดียว จนกระทั่งแม่คลำหาอะไรหยุกหยิก ที่ก้นกล่องนั้น แล้วแม่ก็ดึงเอาอะไรที่ห่อกระดาษแก้วหลายชั้น ออกมาส่งให้พ่อ

"นี่ของโปรดพ่อไง พ่อต้องชอบแน่ๆ ทีเดียว พนันกันก็ได้ ยาหนม (ยาหนม หรือที่คนปักษ์ใต้บางท้องที่เรียกว่า กันแม คือ กะละแม ของภาคกลางนั่นเอง เดิมคนปักษ์ใต้จะกวนกะละแมสำหรับงานบุญเดือนห้า ผู้เขียนเชื่อว่า คำว่า ยาหนม นั้น มาจาก กระยาขนม แต่ถูกชาวปักษ์ใต้ตัดพยางค์รัสสระออกเสียทั้งสองพยางค์จึงเหลือเพียง ยาหนม ดังกล่าว จะเป็น ชื่อไทยเดิม ของขนมที่กวนด้วยแป้ง กะทิ น้ำตาล หรือไม่อาจสืบคนได้ คำ กะละแม หรือ กันแม น่าจะเข้ามาทีหลังมาก เพราะเชื่อว่า ยืมมาจากคำภาษาอังกฤษว่า คาราเมล (caramel) อย่างแน่นอน อาจจะเป็นเพราะสีและรส ที่คล้ายกันก็ได้ caramel นั้นคือน้ำตาลที่เอาขึ้นไฟเคี่ยวจนไหม้เป็นสีดำ กลิ่นหอม) ขนมชาวบก (ชาวสงขลาในตัวเมือง ค่อนข้างมีอคติ ในเชิงดูแคลน คนนอกตัวเมือง ทั้งทางบก และที่ต้องข้ามทะเลสาบสงขลาไป ในกรณีนี้เป็นเพราะคนในตัวเมือง จะกวน กะละแม เฉพาะในตอนสงกรานต์ แต่คนชนบท อีกฟากหนึ่ง ของทะเลสาบ จะกวนกันตลอดปี และนำมาขาย ที่ตลาด ในตัวเมือง บิดาของผู้เขียน ชอบขนมชนิดนี้ จึงมักถูกมารดาล้ออยู่เสมอ ว่าเป็นคนชอบขนมบ้านนอก ชาวเมือง สงขลา จะเรียก คนชนบท ที่ไม่ต้องข้ามทะเลสาบว่า ชาวเหนือ และเรียกคนที่มาจาก อีกฝั่งทะเลสาบว่า ชาวบก ทัศนคตินี้ อาจจะฝังลึก แต่ปัจจุบัน น่าจะคลายลงบ้าง เพราะคนเก่งๆ ของประเทศทั้งนักการเมือง และนักบริหาร มาจาก ข้างบก เสียแหละมาก) ไงพ่อ"

"อ้าว! มีขนมชาวบกมาฝากด้วยหรือ ดีจริง น้อยช่วยไปหยิบมีดบางในครัวมาให้พ่อหน่อย แล้วเรามาฉลองยาหนม นี่กันดีกว่า" พ่อพูด อย่างดีใจ ที่ได้ของฝาก

"เดี๋ยวค่ะ พ่อ ของพ่อยังมีอีกนะ" แม่ว่าพลางดึงห่ออะไรบางๆ ออกมาส่งให้พ่อ

พ่อยิ่งประหลาดใจกว่าเดิมเมื่อเปิดห่อออกมาพบว่าข้างในเป็นผ้าเช็ดหน้าเนื้อเนียนละเอียด สองผืน สีขาวกับสีนวล ตรา ยังติดอยู่ กับตัวผ้าเช็ดหน้านั้น ทั้งสองผืน น้อยกับพี่แมะ เลื่อนตัวเข้าไปหาพ่อ เพื่อดูตรานั้น มันเป็นตรากระดาษ รูปสามเหลี่ยม แปลกๆ และมีตัวภาษาอังกฤษพิมพ์ไว้ข้างในด้วย

"ตราอะไรคะพ่อ?" ทั้งสองถามและขอให้พ่ออ่านให้ฟัง

"เอ้า มาดูเองมา นี่เป็นรูปอะไร มีตัวหนังสือฝรั่งเขียนไว้ด้วย" เมื่อสองพี่น้องตอบไม่ถูกว่าเป็นรูปอะไร พ่อจึงแนะนำ ต่อไปว่า

"พรุ่งนี้น้อยกับแมะไปซื้อขนมกรวยกินนะ เคยสังเกตใบตองใส่ขนมกรวยไหม มันกลมปลายแหลม อย่างนั้น เขาเรียกว่า กรวย พรุ่งนี้ พอกินเสร็จแล้ว อย่าเพิ่งทิ้ง เอามาพับให้เป็นสามด้านเท่าๆ กัน แล้ววางคว่ำลง ลูกก็จะได้ใบตองขนมกรวย ที่เหมือน กับ ตรา ที่ติดอยู่ บนผ้าเช็ดหน้านี่เลย สามเหลี่ยมแบบนี้ ฝรั่งเขาเรียกว่า ปิระมิด เห็นไหม นี่ เขาเขียน ด้วยตัวหนังสือฝรั่ง PYRAMID นี่ถ้าเอาไปให้เพื่อนๆ ที่โรงเรียนที่เขาเรียน ภาษาอังกฤษ เขาก็จะอ่านว่า ปิระมิด"

"ผ้าเช็ดหน้าอย่างนี้เขาทำที่สงขลาหรือคะ พ่อ?" พี่แมะถาม

"โอ๊ย ไม่ใช่หรอก แม่เขาใจดี แล้วก็ชอบใช้ของดีๆ ด้วยผ้าเช็ดหน้าตราปิระมิดนี่ มาจากเมืองฝรั่งเชียวนา" พ่อมองดูแม่ อย่าง จะพูดว่า พ่อขอบใจแม่มากๆ ที่ซื้อของดีให้ "นี่พ่อจะใช้ไปได้หลายปีทีเดียวนะแม่ เพราะมันทนและผ้าเนื้อดี ละเอียดดีด้วย พ่อชอบมาก ว่าแต่แม่เองซื้ออะไรให้ตัวเองบ้างล่ะ หรือซื้อของฝากพวกเรา จนเงินหมด"

สองพี่น้องลืมไปเสียสนิทว่ายังไม่ได้ดูของของแม่เลย พอพ่อถามแม่จึงค่อยๆ เอาห่อเล็กๆ ที่แอบไว้ออกมา ให้พ่อและลูกๆ ดู มันเป็นกล่องกระดาษแข็ง ขนาดใหญ่กว่านิ้วหัวแม่มือพ่อ นิดหน่อย รูปร่างและสีมันสวยที่สุด พ่อรับมาเปิดออก อย่างระมัด ระวัง ข้างในกล่อง บุด้วยผ้าแพรสีชมพู ดูอ่อนหวานละมุนละไม ยังกับอะไรดี ตรงกลางเขาเจาะไว้ มีขวดแก้ว ขนาดจิ๋ว เท่านิ้วมือพ่อวางแน่นพอดี กับช่องที่เจาะ ฝาขวดเป็นรูป สี่เหลี่ยมแบนๆ แล้วยังมีด้ายสีทอง พันแน่นที่คอขวด อีกทีหนึ่ง

ตั้งแต่เกิดมาจนมาเติบโตที่อำเภอแว้งน น้อยไม่เคยเห็นอะไรที่สวยกระจุ๋มกระจิ๋ม อย่างขวดแก้ว ในกล่องนั้นเลย พ่อใช้นิ้วก้อย ค่อยๆ บรรจงแงะเอาขวดนั้นขึ้นมา น้อยแทบไม่หายใจ อยากขอพ่อจับมันสักนิด แต่ไม่กล้า เดี๋ยวมันจะตกลงมาแตกเสีย ขวดกระจิ๋วหลิวนั้น จะต้องสำคัญมาก เพราะพ่อพูดกับแม่เบาๆ ว่า

"น้ำหอมหิมาลายา (Himalaya) เชียวหรือแม่"

พ่อพูดเหมือนรำพึงพลางหมุนขวดน้อยนั้นดูรอบแล้วรอบเล่า "กี่ปีนะแม่ที่เราเคยคิดอยากซื้อหา มาใช้กับเขาสักขวด อุตส่าห์ เก็บหอม รอมริบกันจนได้บ้าน ได้สวนยาง แล้วยังไปซื้อบ้านกับที่ดินที่สงขลาอีก จนฉันลืมไปแล้ว เรื่องน้ำหอม ยี่ห้อนี้น่ะ แล้วนี่แม่ยังอุตส่าห์ ซื้อไว้ในบ้านที่แว้ง"

"อาจจะฟุ่มเฟือยไปบ้างนะพ่อ พ่อไม่ว่าอะไรใช่ไหม?" แม่พูดเสียงต่ำ
"จะไปว่าอะไร เราทำงานหนักมาตลอด ไม่รู้ว่ากี่ปี พวกเมียข้าราชการที่อยู่บ้านเฉยๆ เขายังซื้อมาแตะกันหอมฉุย แม่น่ะ ควรจะ ซื้อเป็นรางวัลให้ตัวเอง มานานแล้ว เก็บไว้ใช้เถอะแม่ เด็กๆ พวกนี้คงไม่เคยเห็น ขวดน้ำหอมเลยสินะ น้ำหอม หิมาลายานี่ หอมมากนะลูก ถ้าแม่ให้พ่อเปิด เราก็จะได้กลิ่นพร้อมๆ กันสักนิด ตกลงไหมแม่ ฉันเปิดนะ" พ่อพูด ทำให้ สองพี่น้อง อยากรู้จัก กลิ่นของมัน ขึ้นมาทันที

พ่อมักทำให้ทุกอย่างดีขึ้นได้อย่างรวดเร็วเสมอ น้อยรู้สึกว่าอะไรที่ดูเหมือนเศร้าๆ นั้นกลายเป็นสนุกสนานไปแล้ว ทุกคนเข้าไป รุมล้อมพ่อ ที่พยายามจะหมุน ฝาขวดแก้วนั้น จนสุดแรง แต่เจ้าขวดน้ำหอม กระจุ๋มกระจิ๋มบอบบาง จนน้อยไม่กล้าจับนั้น กลับแข็งแรงผิดปกติ แม่ขอลองหมุนบ้าง ก็ไม่สำเร็จ พี่แมะทำท่าจะขอพ่อลอง แต่พ่อส่ายหน้าว่า ไม่สำเร็จหรอก

"เอาละ อย่างนี้ต้องใช้วิธีใหม่ เด็กๆ หลีกไป ขอพ่อจุดตะเกียงกระป๋องหน่อย"
แล้วน้อยก็ได้รู้ วิธีเปิดฝาขวดแก้ว ในคืนนั้น เมื่อพ่อเอาคอขวดไปลนที่ไฟตะเกียง พ่อหมุนขวดไปรอบๆ ควันดำติดขวดสวย เป็นปื้นดำ หายสวยไปเยอะเลย น้อยคิดด้วยความรู้สึกเสียดาย แต่พ่อบอกว่า เช็ดออกได้ ไม่มีปัญหา พอคอขวดร้อน พ่อก็หมุน ฝาขวดออกได้โดยง่าย ไม่ต้องใช้แรงอะไรเลย พ่อให้แม่แตะ น้ำหอมนั้นนิดหนึ่ง จากนั้นทุกคน ก็ผลัดกันดมที่นิ้วแม่

"หอมจังเลย แม่" เด็กทั้งสองพูด น้อยถามพ่ออีกครั้งเพื่อให้จำได้ "ชื่อน้ำหอมอะไรนะคะพ่อ น้อยจำไม่ได้เสียแล้วค่ะ?"

"น้ำหอมหิมาลายา เป็นชื่อภูเขาที่สูงที่สุดในโลก นี่ไงมีรูปติดอยู่ข้างนอกขวดด้วย บนกล่องก็มีเหมือนกัน เอาละ ดึกแล้ว ถึงเวลานอนของเด็กแล้ว น้ำหอมนี่แม่จะเก็บไว้บนโต๊ะในห้องนอนนะ ลูกอย่าไปหยิบเล่น เดี๋ยวจะตกแตกเสีย ไปนอน ได้แล้วไป๊ พ่อกับแม่ ก็จะเข้านอนเหมือนกัน" พ่อออกคำสั่ง ซึ่งพี่แมะและน้อย จะต้องทำตามทันที

ก่อนหลับไปคืนนั้น น้อยได้ยินเสียงพ่อกับแม่คุยกันเบาๆ ในห้องนอนใหญ่

"ตกลงแม่ซื้อบ้านมาทั้งสองหลัง ที่ดินทั้งสองแปลง ทั้งส่วนที่เคยเป็นของนมขายให้ป้าเป้า แล้วก็ส่วนของป้าเป้าเองด้วย ใช่ไหม?" พ่อถามแม่
และเมื่อแม่รับคำแล้วพ่อก็ถามต่อว่า
"แล้วป้าเป้า จะไปอยู่กับลูกหลานคนไหนล่ะ?"

"ป้าเป้าจะขออาศัยอยู่ต่อในที่ที่ขายให้เราค่ะ" แม่ตอบ

"แล้วแม่ให้ป้าเป้าอยู่หลังใหญ่ที่เคยอยู่เดิม หรือให้อยู่หลังเล็กของนม?"

"ตกลงฉันให้ป้าเป้าอยู่หลังใหญ่ตามเดิม ส่วนนมก็อยู่หลังเล็ก ยังไงนมก็เป็นสุขแล้วที่ได้อยู่ในบ้านตัวเอง ไม่ต้องอาศัย บ้านคนอื่น อยู่อีกต่อไป อันนั้นเห็นจะสำคัญที่สุด"

น้อยรู้สึกแปลกใจนิดๆ ว่าทำไมแม่จึงทำเช่นนั้น แล้วพ่อก็เห็นด้วย แต่เธอก็ผล็อยหลับไปอย่างเป็นสุข

หมายเหตุ :
เขียนที่บ้านซอยไสวสุวรรณ เสร็จเวลา ๒๒.๔๐ น. ๑๘ พ.ย. ๔๘ ต้องรีบให้เสร็จคืนนี้ และเตรียมตัวไปช่วยวิทยากร พูดเรื่อง 'สัประยุทธศิลป์ถิ่นสยาม' ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ่ายวันพรุ่งนี้ เหตุการณ์ร้ายทางภาคใต้ ดูจะรุนแรงขึ้นถึงขนาด ฆ่ายกครัวกัน หวังว่าผบ.ทบ. คนใหม่จะทำให้ คลี่คลายลงได้

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๖ มกราคม ๒๕๔๙ -