ชีวิตไร้สารพิษ ตอนที่ ๔ - ล้อเกวียน -

หน้าตาบ่งบอกชีวี

II )ด้านหน้าและด้านหลังของลำตัว
ความสอดคล้องกันระหว่าง ด้านหน้ากับด้านหลังของลำตัว แสดงถึงความสัมพันธ์ ในเชิงส่งเสริมกัน และเป็นปฏิปักษ์ ต่อกันอย่างหนึ่ง ที่จะนำมาวินิจฉัยโรคได้

หลักการสัมพันธ์นี้คือ ความไม่สมดุลที่เกิดขึ้นส่วนด้านหน้าของลำตัว เช่น ที่อวัยวะภายในด้านหน้า ก็จะปรากฏ ที่ด้านหลังด้วย เมื่อเราสังเกต สภาพของกระดูกสันหลัง หรือผิวที่หลัง เช่น....

ลักษณะที่กระดูกสันหลังโค้ง หรือริ้วรอยชนิดต่างๆ หรือสีที่ผิดเพี้ยนของผิวหนัง ก็จะสามารถระบุได้ว่า อวัยวะไหน ที่ทำงานผิดปกติ

III) ด้านซ้ายและด้านขวาของลำตัว
นอกจากจะช่วยให้เข้าใจอิทธิพลที่เราได้รับจากพ่อแม่ และบรรพชนของเราแล้ว ความสมดุลซ้ายขวาของลำตัวเรา ยังสามารถทำให้เข้าใจสภาพอวัยวะภายในได้ด้วย เช่น สมมุติว่าไหล่ขวาสูงกว่าไหล่ซ้าย หรือใหญ่กว่า แสดงว่า ปอดข้างขวา อ่อนแอ อิทธิพลนี้ก็จะโอนไปให้ด้านตรงกันข้ามของกระบังลม หมายความว่า อวัยวะต่ำจากกระบังลม ลงไปทางด้านซ้าย จะอ่อนแอกว่า ในทางกลับกัน สภาพร่างกายเช่นนี้ ถ่ายทอดไปยังขาฟากตรงกันข้าม ดังนั้น ในตัวอย่างนี้ ขาข้างขวา ก็มีแนวโน้มที่จะอ่อนแอกว่าขาข้างซ้าย

IV) ด้านในของลำตัว (ตอนกลาง) กับบริเวณโดยรอบ
เราไม่อาจจะวิเคราะห์อวัยวะภายใน ด้วยการสังเกตโดยตรง โดยไม่มีมาตรวัด แต่ก็เป็นไปได้ที่จะทำความเข้าใจ ถึงสภาพอวัยวะ เหล่านั้น อย่างสมบูรณ์ ด้วยการดูที่บริเวณโดยรอบของลำตัว เช่น เล็บนิ้วมือแตก ขนตามตัวดกเกินไป ริ้วรอย ที่ผิวหนัง ไฝหรือปาน และอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งหมดนี้เผยถึงความไม่สมดุลในอดีต และปัจจุบัน ของอวัยวะ ภายใน

V) ส่วนต่างๆ ของลำตัวกับลำตัวโดยรวม
จะเห็นได้จากกรณีของหูแล้วว่า ความสัมพันธ์นี้ดำเนินไปอย่างไร

เราจะมาพิจารณากันว่า ทำอย่างไรจึงจะเข้าใจสภาพของลำตัวทั้งหมด ด้วยการสังเกตที่ส่วนขวาของนัยน์ตาได้

"ตา"
เมื่อแบ่งตาตามแนวขวาง เราก็จะได้
ส่วนบน ซึ่งตรงกับอวัยวะตอนบนของลำตัว
ส่วนล่าง ซึ่งตรงกับอวัยวะตอนล่างของลำตัว
เมื่อเราแบ่งนัยน์ตาตามแนวตั้ง เราก็จะได้ ครึ่งในกับครึ่งนอก

ส่วนใน ที่เป็นหยางกว่า ตรงกับส่วนของร่างกาย ที่มีลักษณะโครงสร้างกระชับกว่า นั่นคือบริเวณหลัง หรือกระดูกสันหลัง

ส่วนนอก ที่เป็นหยินกว่า ก็ตรงกับด้านหน้าของร่างกาย ซึ่งโดยโครงสร้างแล้ว เป็นหยินอ่อนนุ่ม และขยายกว้าง

เราแบ่งตา ออกเป็น ๑๒ ส่วน บนพื้นตาขาว เพื่อจะระบุบอกสภาพอวัยวะที่มีปัญหา ซึ่งจะปรากฏออกมาให้เห็น ได้อย่างจำเพาะ เจาะจงยิ่งขึ้น

บริเวณที่ตาแดง จะบ่งชี้ถึงปัญหาอันเกิดขึ้นที่อวัยวะอันตรงกัน ตัวอย่างเช่น

อาการตาแดงในบริเวณที่ตรงกับสมอง ก็หมายความว่า เส้นโลหิตฝอยในบริเวณนี้อักเสบ และขยาย
อาการตาแดง ในบริเวณที่ตรงกับอวัยวะเพศ บ่งชี้ว่า เส้นโลหิตฝอยในบริเวณนี้ขยาย และอาจมีโลหิตไหลผ่านมากเกินไป

ในบางกรณี ผู้หญิงอาจจะเกิดอาการตาแดงขึ้น ในบริเวณนี้ ในช่วงมีประจำเดือน ทว่าอาการตาแดงนี้ ก็ควรจะหายไป เมื่อหมด ประจำเดือนแล้ว ถ้าหากว่าตาแดงอยู่ตลอดเวลา ก็แสดงว่ามีปัญหาเรื้อรังเกิดขึ้นที่อวัยวะเพศ

จุดดำๆ ที่บริเวณตอนบนของตา ชี้บ่งถึงการเกิดนิ่วแข็งเป็นไตขึ้นในไซนัส

จุดดำ ที่เห็นตรงบริเวณตอนล่างของตาเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่า กำลังจะเกิดนิ่วก่อตัวขึ้นที่ไต หรือเกิดซีสต์ขึ้นที่รังไข่

หากว่าตาขาวมี........
- สีเหลือง แสดงว่า ตับกับถุงน้ำดี กำลังทำงานผิดปกติ
- สีคล้ำ บ่งชี้ถึงปัญหาที่ไต และกระเพาะปัสสาวะ
- สีแดงๆ แสดงว่า หัวใจและลำไส้เล็กไม่ได้ทำงานอย่างที่ควร
- สีเทา ในลูกนัยน์ตา ก็เหมือนกับที่ใบหน้า คือ บ่งบอกถึงปัญหาที่ตับ
- สีซีดๆ แสดงว่า ปอด และลำไส้ใหญ่มีปัญหา
- สีเขียวๆ แสดงว่า มะเร็งกำลังก่อตัวขึ้น

มะเร็งยังอาจจะสะท้อนออกมาให้เห็น ที่ลูกนัยน์ตา ในลักษณะเป็นแผ่นใสๆ ในบริเวณตรงกับบริเวณของร่างกาย ส่วนที่เป็นมะเร็ง

อาการที่พบทั่วไปอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ การเกิดปื้นสีขาวหรือเหลืองที่ลูกนัยน์ตา ตรงบริเวณข้างใต้เปลือกตาล่าง ซึ่งบ่งชี้ว่ามีไขมัน และมูกสั่งสมอยู่ในบริเวณตอนล่างของลำตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งรอบๆ อวัยวะเพศ

สำหรับผู้หญิงลักษณะเช่นนี้ บ่งชี้ว่ามีการขับของเหลวออกมาทางอวัยวะเพศอย่างเรื้อรัง

ในกรณีของผู้ชาย บ่งชี้ถึงปัญหาต่อมลูกหมาก จะลุกขึ้นมาปัสสาวะบ่อยๆ ในช่วงที่นอนหลับตอนกลางคืน

การพิจารณาวินิจฉัยจาก "หน้า"-"ตา"- "ลิ้น" อาจจะทิ้งร่องรอยของอดีตเอาไว้ได้ แต่ในส่วนของปัจจุบัน ต้องตรวจสอบ จากชีพจรของ แต่ละบุคคล เพื่อจะได้วินิจฉัยโรคให้ได้ครบอย่างแม่นยำไม่ผิดเพี้ยน


พระพุทธองค์ตรัส
บุคคลผู้ประกอบด้วย
ความจริงสามประการนี้
พึงทราบว่าเป็น คนพาล
๑. ไม่เห็นโทษโดยความเป็นโทษ
๒. เห็นโทษแล้วโดยความเป็นโทษ แต่ไม่ทำคืนตามความจริง
๓. เมื่อผู้อื่นชี้โทษอยู่ ไม่ยอมรับรู้ตามความจริง

(พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ "อัจจยสูตร" ข้อที่ ๔๔๓)

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๘ มีนาคม ๒๕๔๙ -