หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

 

คิดคนละขั้ว . แรงรวม ชาวหินฟ้า
ภิกษุณีเมืองไทยควรไม่ควรอย่างไร?



ใครๆ ก็รักศาสนา ถ้าทุกๆ ฝ่ายต่างเข้าใจความรักศาสนาของกันและกันได้ แม้จะมีมุมมอง และเหตุผลที่แตกต่างกันออก ไป แต่รักย่อมเข่าใจในรัก โดยเฉพาะความรักในพุทธ ซึ่งสะอาดบริสุทธิ์กว่าความรักทั่วๆไป แม้จะมีความเชื่อมั่น ที่แตกต่างกัน ก็ย่อมจะไม่มีปัญหาอะไร คงมีแต่ปัญญา ที่จะพยายามเข้าใจ ซึ่งกันและกันให้ได้ยิ่งๆ ขึ้นไปเท่านั้น

เพราะปราชญ์ย่อมเห็นความผิดของคนผิดว่าถูกแล้ว
ส่วนคนโง่ ย่อมเห็นความถูกของคนถูกว่าผิดอยู่

เรื่องของภิกษุณีในเมืองไทย นับว่าเป็นกรณีศึกษานานาเหตุผลจากปราชญ์หลายๆ ฝ่ายด้วยกัน ซึ่งน่าจะได้บันทึกไว้เป็นข้อ มูลทางประวัติศาสตร์ ให้คนรุ่นหลัง ได้ศึกษากันต่อไป


สามเณรี ธัมมนันทา
ภิกษุณีมีการสืบสายกันมาแต่พุทธกาล

สามเณรีฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ได้อธิบายให้ฟังว่า "สำหรับการบวชของอาตมาเอง ที่มีการยืนยันว่า ต้องบวชจากคณะสงฆ์ ๒ ฝ่าย จึง ทำให้ต้องไปบวชที่ศรีลังกา ซึ่งบวช โดยภิกษุณีสงฆ์ของศรีลังกา และภิกษุสงฆ์ในฝ่ายสยามนิกาย ก็นับว่าถูกต้อง ตามพระวินัยบัญญัติ ที่บวชโดยสงฆ์ ๒ ฝ่ายแล้ว ทีนี้เงื่อนไขขัดแย้งที่คิดกันว่า คณะภิกษุณีสงฆ์ ในศรีลังกาหมดสายไปนานแล้ว

ราว พ.ศ.๙๐๐ กว่า คณะภิกษุณีสงฆ์ที่ศรีลังกา ได้ไปบวชให้ผู้หญิงจีนที่เมืองนานกิง วัดป่าใต้ เป็นการสืบทอดการบวช ภิกษุณีสงฆ์ จากศรีลังกาไปประเทศจีน

ราวปี พ.ศ.๑๕๐๐ กว่า ฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ สูญหายไปจากศรีลังกา เพราะการรุกราน ของกษัตริย์ฮินดูจากอินเดียใต้ บัดนี้ คณะภิกษุณีสงฆ์ จากฝ่ายศรีลังกา ก็ไปรับการบวชมาจากภิกษุณีสงฆ์จากไต้หวัน ซึ่งเป็นสายจีน ที่บวชจาก ศรีลังกานั่นเอง สายการบวชสายนี้ จึงนับว่าเป็นสายเดียวกัน โดยปริยาย

เพราะฉะนั้นการบวชจากพระภิกษุ และพระภิกษุณีสงฆ์ในศรีลังกา จึงนับว่า ใกล้เคียงกับ พุทธบัญญัติมากที่สุด เท่าที่สังคมปัจจุบัน จะเปิดโอกาสให้ "ผู้หญิง" บวชได้

สามเณรีดีกรีดอกเตอร์ กล่าวถึงกระแสการไม่ยอมรับ ของกรมการศาสนา และวงการสงฆ์ที่ตามมา หลังจากการเปิดใจให้สัมภาษณ์ว่า ตนพร้อมที่จะรอ ฟังคำตัดสินใจ ของทางมหาเถรสมาคม แต่ปัญหาของมหาเถรสมาคมในขณะนี้คือ การไม่ได้ศึกษา ค้นคว้า และรู้ถึงประวัติศาสตร์ ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ต่อการกำเนิด ภิกษุณีอย่างแท้จริง จึงได้เชื่อว่าภิกษุณีได้ดับสูญ หมดไปจากพุทธศาสนาแล้ว

สามเณรีธัมมนันทากล่าวต่อว่า พร้อมที่จะเอาใบปริญญาที่เรียนมา เป็นเครื่องรองรับ และการันตีว่า ถ้าหากไม่ได้ศึกษามาอย่างดี คงไม่ตัดสินใจ บวชอย่างผู้ที่ไม่รู้แน่นอน "ปริญญาของอาตมาที่ได้มา ไม่ใช่แค่ปริญญาทางโลกเท่านั้น เพราะสิ่งที่ อาตมาเรียน และประสบการณ์ในชีวิตการสอน ต่างๆ สามารถบอกได้ว่า อาตมาได้ทำการศึกษา อย่างลึกซึ้ง ทั้งในประวัติพระพุทธศาสนา ถึงแม้จะไม่ได้เป็นพระก็จริง แต่ในส่วนของ พระธรรมวินัย ก็เรียนรู้โดยละเอียด

ในชีวิตสอนพุทธศาสนศึกษา สอนพระเปรียญ ๙ ประโยค ทำวิทยานิพนธ์ ทั้งปริญญาโท และเอก เรื่องภิกษุณี และเขียน หนังสือธรรมะ เป็นภาษาอังกฤษ ขายในตลาด ต่างประเทศ คุณสมบัติตรงนี้น่าจะทำให้อาตมา ไม่ได้รู้เรื่องเรื่อง การบวชภิกษุณี เพียงแค่ตื้นๆ หรือเพียงแค่นึกอยากจะทำก็ทำเพียงอย่างเดียว โดย ไม่สนใจแนวทางพระพุทธเจ้าแน่"

ธัมมนันทากล่าวทิ้งท้ายว่า ตนล่วงรู้ถึงความเป็นตัวเองว่า มีความพร้อมต่อการบวช เพื่อเป็นภิกษุณีมากน้อยแค่ไหน หากไม่แน่ใจจริงและไม่พร้อม คงไม่อาจหาญกล้า พลิกชีวิตบวชอย่างเด็ดขาด

"ผู้หญิงเราถ้าจะลุกขึ้นมาเล่นเรื่องนี้จริงๆ อย่างอาตมา ก็ต้องแม่นในพระคัมภีร์ด้วย ไม่ใช่แค่บอกว่า เถรวาทไม่มีภิกษุณีแล้ว ถ้าไปเปิดดูในพระไตรปิฎกดู ก็จะรู้ว่าผู้หญิง ก็สามารถสืบทอดพระศาสนาได้ ฉะนั้น การไม่ยอมรับผู้หญิงบวช คงต้องถือว่า เป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับ พระธรรมวินัย ขัดแย้งกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ และขัดต่อ พระพุทธศาสนาแน่
(จาก เอ็กซ์-ไซท์ ไทยโพสต์ พ.ค.๒๕๔๔)


 

พระเทพดิลก(มหาระแบบ)
การบรรลุธรรมไม่จำเป็นต้องบวช

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับปัญหาเรื่องภิกษุณี พระเทพดิลกกล่าวว่า ทางสงฆ์ไทย ไม่คัดค้านผู้หญิง ที่เดินทางไปบวช สามเณรีหรือ ภิกษุณี จากต่างประเทศ แล้วกลับมาเมืองไทย แต่ทางสงฆ์ไทย ไม่มีหน้าที่ดูแลผู้หญิง ที่บวชมาจากต่างประเทศ คนเหล่านี้ ต้องให้อยู่ในความดูแล ของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งก็ต้องแล้วแต่ กระทรวงมหาดไทยว่า จะให้อยู่ในฐานะอะไร มีทั้งนักบวช นักพรต ยกตัวอย่าง ถ้าเป็นพระพม่า เข้ามาอยู่ในประเทศไทย ต้องเป็นเรื่องของ กระทรวงมหาดไทยดูแล

"แต่ประเด็นที่อยากให้ประชาชนได้ทราบและเข้าใจ คือ ไม่ใช่ว่าพระสงฆ์ ไม่ยอมบวชให้สามเณรี หรือภิกษุณี แต่พระไม่มี สิทธิที่จะบวชให้คนเหล่านี้ ทางออกในเรื่องนี้ จึงไม่มี เพราะพระธรรมกำหนดไว้เช่นนั้น ส่วนเรื่องของ พระธัมมนันทา หรือสามเณรี ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ นั้นเขาสร้างกันขึ้นมาเอง ไม่ใช่ทางออก มีวัตถุประสงค์แค่ มาแก้แค้นแทนแม่ ตอนรุ่นแม่ ก็ป่วนศาสนา มาตลอด ถ้านางฉัตรสุมาลย์ รู้เรื่องการปฏิบัติธรรมให้บรรลุ ไม่จำเป็นต้องบวช ทุกคนมีสิทธิ์ ปฏิบัติธรรม ได้เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบ แค่จิตใจอยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา ก็จบแล้ว ทำไมจะต้องบวช ในเมื่อทำไม่ได้ ทำไมต้องมาบังคับพระด้วย เท่าที่นางฉัตรสุมาลย์ ออกมาตั้งแต่ต้น ต้องการมาป่วน บ้านเมือง หาเรื่องด่าพระ" พระเทพดิลกกล่าว
(มติชน ๑๗ พ.ค. ๒๕๔๔)


พระศรีปริยัติโมลี
การบวชทำให้ง่ายในการบรรลุธรรม

พระศรีปริยัติโมลี รองอธิการบดีฝ่ายต่างประเทศ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ให้สัมภาษณ์เรื่อง ภิกษุณีในเมืองไทย หลังการบรรยายว่า โดยหลักการแล้ว พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ส่งเสริมการบวช ถือว่าเป็นวิธีที่ง่ายต่อการให้บรรลุธรรม และกำจัดกิเลส และพุทธศาสนาส่งเสริมให้คนบวช ทั้งผู้ชาย-ผู้หญิง เพราะบวชแล้ว ได้บุญ ถ้ามีผู้หญิงอยากบวช ถือเป็นเรื่องดี ดีกว่าผู้หญิงไปประกวด นางสาวไทย ไปประกวดขาอ่อน ที่เป็นเรื่องของราคะ

พระศรีปริยัติโมลี กล่าวอีกว่า ทำอย่างไร จะให้ผู้หญิงบวชได้ ในนิกายเถรวาท ตนเห็นมี ๒ ประเด็นคือ มส. จะต้องประชุมผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง ของภิกษุณี และ ศึกษามาให้ได้ ว่าข้อห้าม ที่ให้ผู้หญิงต้องบวชจากผู้หญิง พระสงฆ์ไทย จะเอาอย่างไร ระหว่าง หลักการของ พระธรรมวินัย กับประโยชน์ที่จะให้ผู้หญิงบวช อาจต้องยอม ได้อย่างเสียอย่าง อันนี้คณะสงฆ์ต้องเชื่อมั่นมาก และตัดสินไปเลย มีพระพุทธพจน์ เปิดช่องไว้แล้ว ถ้าภิกษุสงฆ์อยากแก้ สิกขาบทก็แก้ได้ แต่สมัยนั้น ท่านไม่แก้ สมัยนี้โลกเปลี่ยนไป แล้วพัฒนาไปแล้ว คณะสงฆ์ต้อง กล้าตัดสิน ถ้าไม่มีก็ต้อง หาทางออกให้ผู้หญิง อย่าให้เขาไปหาเอง และถ้าผู้หญิงที่เขาอยากบวช มีเพิ่มขึ้น ถ้าใหญ่โตขึ้นมา จะเป็นปัญหายาว และผู้หญิงเอง อาจมีอคติต่อพระสงฆ์
(มติชน ๑๔ พ.ค. ๒๕๔๔)


พระธรรมปิฎก
มีทางออก..ถ้ายอมรับว่าเป็นภิกษุณีของมหายาน

ถาม: กลับมาที่ปัญหาที่กำลังคุกรุ่นในปัจจุบัน ในเรื่องการบวชภิกษุณีในเมืองไทย มีผู้ที่พยายามบวช และทางฝ่ายเถรวาทอ้างว่า เพราะเราขาดสูญอุปัชฌาย์ของภิกษุณี ด้านเถรวาทนี้มานานแล้ว ก็มีผู้ไปบวชเมืองจีนที่ไต้หวัน ก็ไม่เป็นที่ยอมรับ และมีกลุ่มที่พยายามผลักดัน ให้มีการบวชภิกษุณี โดยใช้คำอ้างว่า "แม้แต่พระพุทธเจ้า ยังอนุญาตให้สตรีบวชเลย แต่ทำไมทางมหาเถรสมาคม ของประเทศไทย จึงไม่อนุญาต ทั้งที่มีผู้พร้อมที่จะบวช ซึ่งน่าจะอนุญาตได้"

ตอบ: การอนุญาตให้บวชภิกษุณี เป็นเรื่องของพระพุทธเจ้า คือต้องเป็นไปตาม พุทธบัญญัติ มหาเถรสมาคมไม่มีอำนาจอะไรเลย มหาเถรสมาคม เป็นเรื่อง บัญญัติใหม่ ตามกฎหมายของบ้านเมือง แม้แต่สงฆ์ ที่เป็นการปกครอง แบบพระพุทธเจ้า พระภิกษุสงฆ์ก็ไม่มีอำนาจ ที่จะให้ภิกษุณีบวช และการที่บอกว่า เป็นเรื่องไม่มีอุปัชฌาย์ ก็ยังไม่ถูก คือการบวชภิกษุณีสำเร็จด้วยสงฆ์ เช่นเดียวกับ ภิกษุเหมือนกัน เมื่อไม่มีภิกษุณีสงฆ์แล้ว จะบวชภิกษุณีได้อย่างไร ไม่ใช่อยู่ที่ตัว อุปัชฌาย์ อุปัชฌาย์บวช ไม่ได้หรอก ถ้าไม่มีภิกษุณีสงฆ์ ถึงมีอุปัชฌาย์ มีภิกษุณีรูปเดียว เป็นอุปัชฌาย์ ก็บวชใครให้เป็นภิกษุณีไม่ได้

เมื่อครั้งภิกษุสงฆ์ในลังกาหมด ลังกาก็ต้องส่งทูต มาขอพระสงฆ์จากเมืองไทย เดินทางข้ามน้ำ ข้ามทะเล ไปบวชให้แก่คนลังกา ทีนี้ภิกษุณีสงฆ์ไม่มี แล้วเราจะบวช ภิกษุณีได้อย่างไร ข้อสำคัญอยู่ที่นี่

เหมือนอย่างเมื่อพระเจ้าอโศก ส่งพระศาสนทูตมาตั้งพระศาสนาในลังกา พระมหินท์ ก็นำคณะภิกษุมา ก็บวชภิกษุลังกาได้ และตอนนั้นฝ่ายภิกษุณี ก็ต้องมีภิกษุณีสงฆ์ คือพระนาง สังฆมิตตาเถรี นำคณะภิกษุณีสงฆ์มา ฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ จึงบวช ภิกษุณีได้ หมายความว่า จะต้องมีภิกษุณีสงฆ์ จึงจะบวชภิกษุณีได้ ก็เหมือนกัน ปัญหามันติดอยู่ที่นี่ มันไม่ใช่เรื่องอุปัชฌาย์ และ มหาเถรสมาคมอะไรเลย

ถาม: แล้วที่พาไปบวชภิกษุณีสงฆ์ที่ไต้หวัน ที่บวชมาแล้ว ทางนี้ไม่ยอมรับนับถือ และค่อนข้างจะมองกัน ในแง่เรื่องของการเมือง ด้วย

ตอบ: ถ้าไปบวชแบบมหายาน ก็แน่นอนละเรื่องการเมืองไม่ต้องไปเกี่ยวหรอก ก็เหมือนกับภิกษุมหายานนั่นแหละ ภิกษุเถรวาท ก็ไม่รับเหมือนกันใช่ไหม ไม่ต้องไปถึง ไต้หวันหรอก พระมหายานในเมืองไทยก็ถือว่าเป็นมหายาน พระสงฆ์เถรวาท จะไปนับท่าน เป็นเถรวาทได้อย่างไร เป็นเรื่องธรรมดา

ถาม: ทางนครปฐมที่มีเรื่องท่านสังฆณีวรมัย (มารดาของ ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ หรือธัมมนันทา ผู้รับการบวช จากประเทศศรีลังกาเป็น สามเณรี... ไทยโพสต์) เท่าที่จำได้ท่านเองก็อ้างว่า ท่านบวชใน สายเถรวาท มาจากไต้หวัน

ตอบ: ก็นั่นสิ ขอให้มองเป็นเรื่องตรงไปตรงมา ตามธรรมดาอยู่ๆ ถ้าพูดขึ้นมาเฉยๆ จะให้ทางนี้ยอมรับได้ไหมว่า ภิกษุณีที่สืบมาในไต้หวัน เป็นสายเถรวาท อย่างน้อย ท่านก็ต้องตั้งข้อระแวงไว้ว่า ดินแดนไต้หวัน มีแต่พุทธศาสนามหายาน ภิกษุสงฆ์ ก็เป็นมหายาน แล้วจะไปยอมรับภิกษุณีทันทีได้อย่างไร มันก็เป็นธรรมดา ไม่ใช่เฉพาะ ไม่ยอมรับภิกษุณีหรอก ภิกษุก็ไม่รับก็ได้ แต่รับในแง่ที่รู้ว่า นี่เป็นภิกษุ มหายาน เมื่อเป็นภิกษุณี ท่านก็ยอมรับในแง่ว่า นี่เป็นภิกษุณีมหายาน ก็ว่ากันไปตามเรื่อง ตรงไปตรงมาอยู่แล้ว เมื่อมาจากแดนมหายาน ถ้าบอกว่าเป็นภิกษุณีเถรวาท ก็อย่าเพิ่งให้ท่านต้องยอมรับทันที ก็ต้องให้โอกาสท่าน ก็ต้องสืบสาว ราวเรื่องที่เป็นมา ให้ชัดก่อน นี่ก็เป็นเรื่องธรรมดา

ในกรณีที่ว่า ถ้าเป็นภิกษุณีสายเถรวาทจริง แต่ภิกษุสงฆ์ในไต้หวันมีแต่มหายาน ภิกษุณีซึ่งบวชในสงฆ์สองฝ่าย ก็กลายเป็นบวชกับภิกษุสงฆ์มหายาน ความเป็น เถรวาท ก็แปรไปเสียอีก จะนับว่าเป็นภิกษุณีเถรวาทครึ่ง มหายานครึ่ง หรืออย่างไร แค่นี้ก็ต้องเห็นใจท่าน ที่จะต้องวินิจฉัยแล้ว ว่าคงลำบากใจไม่น้อยเลย ถ้ามีภิกษุณีสงฆ์ เถรวาทจริง ก็ถือว่าดีไปขั้นหนึ่ง แต่เมื่อเรื่องเกิดขึ้น ท่านก็ต้องถือในขั้นต้นว่า เป็นภิกษุณี มหายานไว้ก่อน ก็เป็นธรรมดา มันตรงไปตรงมา ก็ต้องให้ความเป็นธรรม แก่ท่านด้วย

ถาม: ในประเด็นนี้ ถ้าผู้หญิงไทยยอมรับสภาพ คือยอมรับ เป็นภิกษุณีสงฆ์ ของมหายาน ก็น่าจะเป็นทางออกได้

ตอบ: ก็เป็นทางออกหนึ่ง เราก็ต้องมาตกลงว่าจะเอาอย่างไร

ถาม: ต้องมีการสืบต่อไปอีกไหมครับว่ามีการขาดช่วงของภิกษุณี

ตอบ: อันนี้ก็เป็นหน้าที่ของนักประวัติศาสตร์ หรือชาวพุทธ ที่จะต้องสืบสวน ทางประวัติศาสตร์ ว่า ภิกษุณีสงฆ์ในไต้หวันนั้น สืบมาอย่างไร เป็นภิกษุณีสงฆ์ สายเถรวาทแท้จริงไหม ถ้าหากว่าสืบได้ชัด ทางนี้ยอมรับได้ ก็หมดเรื่อง แต่ก็ต้อง พิจารณาในแง่ว่า ไต้หวันไม่มีภิกษุสงฆ์เถรวาท ที่จะบวชภิกษุณีเถรวาท ในขั้นตอนที่ให้ครบสงฆ์ ๒ ฝ่าย แล้วจะยุติอย่างไร ก็ว่ากันตรงไปตรงมา อย่าไปยก อันโน้นมาปนอันนี้ ให้มันยุ่ง ไม่ต้องไปพูดถึงภิกษุณีเลย ภิกษุก็เหมือนกัน เราก็ยังมีภิกษุ สายเถรวาท และภิกษุมหายาน

ถาม: แล้วอย่างที่บัญญัติไว้ว่า พระอุปัชฌาย์ของภิกษุณีที่เรียกว่า ปวัตตินี ที่ว่าสามารถบวชได้แค่ปีละองค์ แล้วก็ต้องเว้นไปอีกปีหนึ่ง ถึงจะบวชได้ใหม่ อีกองค์หนึ่ง อย่างนี้คิดว่าน่าจะเป็นพระพุทธประสงค์ ที่จะคุมกำเนิดนะครับ

ตอบ: ก็อาจจะอย่างนั้น คือไม่ต้องการให้มีมาก คล้ายว่าทำให้การบวชภิกษุณีนั้น เป็นไปได้ยาก อันนี้คงต้องมองในแง่สังคม คือ เป็นปัญหาเกี่ยวกับ วัตถุประสงค์ ทางสังคม

ถาม: คือท่านต้องการที่จะให้สูญพันธุ์ไปโดยปริยายหรือเปล่า

ตอบ: อันนั้นก็ต้องพิจารณากันอีก อาตมาคงตัดสินไม่ได้ แต่พูดได้ว่า เป็นข้อที่ควร ตั้งข้อสังเกต อย่างหนึ่ง
(จากเอ็กซ์-ไซท์ ไทยโพสต์ พ.ค. ๒๕๔๔)


เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ไม่มีนิกาย

นายเสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิตด้านศาสนาให้สัมภาษณ์ว่า กรณีนี้มีมติ จากพระฝ่ายเถรวาท ว่าเป็นไปไม่ได้ ที่จะรื้อฟื้นการบวชภิกษุณีขึ้นมาอีก โดยอ้าง ประวัติศาสตร์ว่า การบวชภิกษุณีต้องบวช ๒ ครั้ง คือ บวชเป็นภิกษุณีสงฆ์ก่อน แล้วบวชจากภิกษุสงฆ์อีกครั้ง แต่ภิกษุณีสงฆ์ได้ขาดช่วงไปแล้ว เมื่อไม่มีภิกษุณีสงฆ์ จึงบวชภิกษุณีไม่ได้ แท้จริงแล้วในสมัยพระพุทธเจ้า ไม่มีการแบ่งนิกายเป็นมหายาน หรือเถรวาท เมื่อฝ่ายเถรวาท อ้างว่าขาดช่วงไปแล้ว แต่อีกฝ่ายมหายาน ยังยืนยันว่า มีภิกษุณีสงฆ์อยู่ โดยสืบทอดมาจากลังกา ก็สามารถบวชได้

"เป็นสาวกพระพุทธเจ้าไม่มีนิกาย ดังนั้นทำไมจะบวชไม่ได้ ลังกาเขาคิดอย่างนี้ จึงมีการบวชภิกษุณีขึ้น ซึ่งอาจารย์ฉัตรสุมาลย์เห็นว่า ถ้าไปบวชที่ไต้หวัน เมืองไทย คงไม่ยอมรับ เพราะเป็นมหายาน แต่ไปบวชที่ศรีลังกา จะมีโอกาส ได้รับการยอมรับ ง่ายขึ้น เพราะเป็นกึ่งเถรวาทกึ่งมหายาน แต่เรื่องจะยอมรับหรือไม่ อย่าไปคิดมาก เพราะในสังคม ถูกครอบงำทางความคิด ยึดติดรูปแบบ อ้างตัวบทกฎหมาย อ้างนิกายทั้งๆ ที่ สมัยพระพุทธเจ้าไม่มีนิกาย" นายเสถียรพงษ์กล่าว
(มติชน ๑๔ พ.ค.๒๕๔๔)


เสียงสะท้อนจากสถาบันแม่ชีไทย
ไม่เห็นด้วย

วันที่ ๙ พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวมติชนเดินทางไปที่มูลนิธิสถาบันแม่ชีไทย วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อสอบถามความคิดเห็น เรื่องดังกล่าว พบว่าแม่ชีส่วนใหญ่ ในมูลนิธิ สถาบันแม่ชีไทย วัดบวรฯ ไม่เห็นด้วย ที่จะมีการบวชเป็นภิกษุณี และไม่เห็นด้วยว่า เป็นการยกระดับ เพราะศีลหลายข้อของการเป็นภิกษุณี ยังทำยาก

แม่ชีอรุณ เพชรอุไร เลขาธิการมูลนิธิสถาบันแม่ชีไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ที่คิดว่า การกระทำเช่นนี้ เข้าใจว่าจะยกสถานะแม่ชีนั้น เห็นว่าเป็นเรื่องของตัวบุคคลมากกว่า พระพุทธเจ้า ไม่ได้จำกัดผู้หญิงว่า บรรลุธรรมไม่ได้

แม่ชีประนอม โอภาส สมาชิกมูลนิธิสถาบันแม่ชี ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ปัจจุบัน สังกัดสำนักแม่ชี สะพานใหม่ ดอนเมือง ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่เห็นด้วย และไม่จำเป็น ต้องไปบวชเป็นภิกษุณี เพราะลำพังแค่ศีล ๘ ก็ยังรักษาได้ไม่ครบ หลายคนยังบกพร่อง ในระเบียบวินัยของแม่ชีที่มีถึง ๒๐๐ กว่าข้อ แล้วนับประสาอะไร กับไปบวช เป็นภิกษุณี ที่มีศีลเยอะไปหมด ลำพังศีลแม่ชีก็เขยิบตัวไม่ได้ ไหนจะสมบัติผู้ดี เต็มไปหมด รักษาไม่ได้ ฉะนั้น แค่รักษาศีล ๘ ให้สมบูรณ์ ให้จิตสว่าง จะดีกว่า ไม่ต้องอะไรมาก

"ส่วนเรื่องที่ว่าจะเป็นการยกระดับแม่ชีนั้น ขนาดแม่ชียังทำไม่ได้ แล้วภิกษุณี จะทำอย่างไร เวลานี้ยังมีแม่ชีบางพวก ออกไปเรี่ยไรเงิน ส่งเงินให้ลูกเรียนเมืองนอก ซื้อรถให้ขับ พวกนี้ไม่ใช่แม่ชีจริงๆ เป็นการเบียดเบียนคนอื่น ตัวฉันเอง ก็ยังบกพร่อง หลายอย่าง ดังนั้น ไม่เห็นด้วยที่จะบวชยกระดับแม่ชี และเป็นไปไม่ได้ เพราะทุกวันนี้ แม่ชียังไม่รู้ว่าอยู่ในสถานะอะไร เวลาทำบัตรประชาชนก็เป็นโยม เวลาเลือกตั้ง ก็เป็นแม่ชี" แม่ชีประนอม กล่าวว่า และว่าคนที่มาบวชชี ส่วนใหญ่ เป็นเพราะอกหัก ไม่มีที่อยู่ มีปัญหากับทางบ้าน ทะเลาะ ตบตีกับสามี หรือไม่ก็บวชแก้บน ที่จะมาบวช เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยมีน้อย
(มติชน ๑๑ พ.ค. ๒๕๔๔)


ทนายแม็กไซไซ
การบวชเป็นภิกษุณี เป็นเสรีภาพ ที่ไม่มีความผิดทางกฎหมาย

นายทองใบ ทองเปาด์ สมาชิกวุฒิสภา ทนายความเจ้าของรางวัลแม็กไซไซ แสดงความเห็น เรื่องดังกล่าวว่า การบวชเพื่อเป็นภิกษุณี ของสามเณรีธัมมนันทา หรือ รศ. ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ไม่ขัดต่อกฎหมาย และไม่มีกฎหมายใด ห้ามปราม เรื่องเกี่ยวกับ การบวชเป็นพระ หรือภิกษุณี เลยแม้แต่น้อย ฉะนั้น การบวชเป็น สามเณรี ของ ดร.ฉัตรสุมาลย์ จึงไม่มีอะไรเสียหาย หรือมี ความผิดกฎหมาย แต่อย่างใด

นายทองใบยังกล่าวอ้างถึง สิทธิความเสมอภาคระหว่างชายหญิง ที่ควรเปิดช่อง ให้มีการบวชภิกษุณี เกิดขึ้นในประเทศไทยว่า หากอิงด้วยรัฐธรรมนูญใหม่ ในมาตรา ๓๘ ที่ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือสิทธิ ในทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพ ในการปฏิบัติตามศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรม ตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่พลเมือง และไม่ขัดต่อความสงบ หรือศีลธรรมของประชาชน ควบคู่กับปฏิญญาสากล ข้อที่ ๑๘ ที่ว่า ทุกคนมีสิทธิ์ ในการนับถือศาสนา แล้วตนมองไม่เห็นว่า จะมีอะไรเสียหาย กับการที่ ดร.ฉัตรสุมาลย์ ตัดสินใจบวช เป็นภิกษุณี

"เราต้องทำให้เกิดเสรีภาพ ระหว่างชายและหญิง ถ้าท่านอยากบวชก็บวชไปซิ ไม่เหมือนมีอะไรเสียหายนี่ ในเมื่อท่านมาเพื่อ หวังจะสืบทอดพระพุทธศาสนา และเสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง ความสะดวกสบาย เกียรติยศ ชื่อเสียงต่างๆ มาปฏิบัติตรงนี้ เราก็ควรต้องสนับสนุน ถึงวันนี้เราจะเอาแต่แก้กฎหมาย โดยที่ไม่แก้ไขในด้านศีลธรรม ไม่ได้แล้ว"
(เอ็กซ์-ไซท์ ไทยโพสต์ พ.ค.๔๔)

คิดคนละขั้ว (เราคิดอะไร ฉบับ ๑๓๑ มิ.ย. ๔๔ หน้า ๔๘ - ๕๓ )