หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

 
ชีวิตนี้มีปัญหา สมณะโพธิรักษ์ หนังสือพิมพ์ เราคิดอะไร ฉบับ 129 เมษายน 2544
หน้า 1/2

 

๑. ชีวิตนี้ประกอบขึ้นด้วยอะไร? เป็นอยู่อย่างไร? มีความสำคัญอย่างไร?

๒. เมื่อชีวิตนี้มีปัญหา สังคมมีปัญหา ใครเล่าจะเป็นผู้แก้ปัญหาทั้ง ๒ นั้น? (และปัญหาอื่นๆ อีกตั้ง ๑๐ ข้อ) (ต่อจากฉบับที่ ๑๒๘)

ในฉบับนี้ก็ยังคงตอบปัญหาของผู้ใช้นามว่า "ลูกพระรัตนตรัย" ๑๘ ม.๑๐ ต.เขาชัยสน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง ซึ่งมีคำถามถึง ๑๐ ข้อ แต่ได้ตอบไปเพียงคำถาม ในข้อ ๑ เท่านั้น และยาวนานมาจนป่านนี้ ยังไม่จบ

ซึ่งเป็นการตอบคำถามที่อาตมาตอบชนิดตั้งใจสาธยายเจาะลึกและแผ่กว้างอย่างเจตนา เพื่อจะให้ครบครัน ทั้งเนื้อหา ทั้งจุดสำคัญให้ถึงยอด และแน่นอน ย่อมมีเรื่องราวที่เกี่ยวพัน พร้อมทั้งเกร็ดความรู้ข้างเคียง บางเกร็ด ที่น่าจะได้อธิบายเสริม ให้ได้รู้แจ้งกัน เพราะบางเกร็ดนั้นเป็น ปัญหาที่ยังไม่มีคำตอบ มานานแสนนานแล้ว อาตมาพอตอบได้ จึงพยายามตอบ พยายามสาธยาย

ดังนั้น แค่คำถามว่า ชีวิตนี้ ประกอบขึ้นด้วยอะไร? เป็นอยู่อย่างไร? เท่านั้น การตอบจึงยืดยาวไปด้วยนิยาม ด้วยบริบท ด้วยปฏิสัมพัทธ์ ด้วยแก่นสารหลากหลาย มาจนถึงบัดนี้ และยังจะได้อธิบาย ขยายความต่อไปอีก มากพอสมควรทีเดียว

เพื่อจะได้ไม่ยืดเยื้อต่อไป ตั้งแต่ฉบับนี้ก็จะนำคำถามประเด็นอื่น และข้ออื่นของ "ลูกพระรัตนตรัย" ก็ดี ของผู้อื่น ที่เป็นคำถามใหม่ก็ตาม ตอบเพิ่มไปด้วย โดยจะนำคำตอบที่ยังตอบไม่จบของคำถาม ข้อ ๑ ไว้ช่วงท้าย และ จะตอบคำถามใหม่ ในช่วงต้นไปเรื่อยๆ

กระนั้นก็คงยังขอเชิญท่านผู้อ่านทุกท่านที่ มีปัญหา ในชีวิตนี้ ใคร่จะถาม หรือแม้จะไม่ใช่ ปัญหาทีเดียว แต่เป็นเรื่อง ต้องการวิจารณ์วิจัย แง่ใดเรื่องอะไรก็ตาม หรือเป็นเพียงข้อข้องใจ สงสัยต่างๆ หรือจะแลก ความคิดเห็น กันและกัน ก็เชิญเขียนมาร่วมเสวนากันได้เลย

โดยส่งคำถามมาถึงอาตมา "สมณะโพธิรักษ์" หรือคอลัมน์ "ชีวิตนี้มีปัญหา" หนังสือพิมพ์ "เราคิดอะไร" สำนักพิมพ์ กลั่นแก่น ๖๔๔ ซ.เทียมพร ถ.นวมินทร์ คลองกุ่ม บึงกุ่ม กทม.๑๐๒๔๐

[สำหรับปัญหาของ “ลูกพระรัตนตรัย” นอกจากข้อ ๑ ที่ยังตอบต่อๆไปเรื่อยๆ ก็ได้ตอบข้อ ๒-๓ ต่อไปด้วย กระทั่งถึงฉบับที่แล้วได้ตอบปัญหาข้อ ๙ ยังไม่จบ ฉบับนี้ก็จะตอบต่อจากที่ได้ตอบไปแล้ว]

ปัญหาข้อที่ ๙. ขอให้พ่อท่านช่วยจำแนกแยกชั้นนักการเมือง ที่ควรจะเลือกเข้าไปทำหน้าที่ในสภา อันทรงเกียรติ ของชาติ เพื่อจะไม่ก่อปัญหา ให้แก่ชาติบ้านเมืองอีก ในวันที่ ๑๗ พ.ย. ๓๙ นี้

ถ้าเข้าใจที่อาตมาได้อธิบายมา หรือตอบปัญหาของคุณมาตั้ง ๘ ข้อแล้ว ก็คงจะพอรู้แล้วว่า นักการเมืองก็คือ “ผู้ที่เข้าไปเสียสละ” ช่วยเหลือสังคมประเทศชาติ ไม่ใช่ผู้เข้าไปแสวงหาลาภ, ยศ,สรรเสริญ,โลกียสุข เป็นอันขาด

นักการเมือง คือ คนที่อยู่ใน "ฐานะนักบริหาร" อันเป็น "ฐานะระดับสูงขั้นที่ ๒" ของสังคม (ขั้นที่ ๑ คือ ฐานะนักบวช) ซึ่งมีศักดิ์ศรีได้รับการเคารพนับถือเทียบเท่า "อาริยชน ขั้น อนาคามี" จึงต้องมีคุณภาพ เพียงพอให้สมแก่ฐานะ

“นักการเมือง” ผู้ใดยังมีพฤติกรรม ที่แสวงหา ลาภ,ยศ,สรรเสริญ,โลกียสุข จากงานการเมืองอยู่ จึงไม่ใช่ นักการเมือง ที่แท้จริง หากผู้ใดเข้าไปทำงานการเมือง แล้วอาศัยงานการเมืองแสวงหา ลาภ,ยศ, สรรเสริญ, โลกียสุข ด้วยโลภะด้วยโทสะด้วยโมหะ มากขึ้นๆ เท่าใดๆ ผู้นั้น ก็คือ ผู้เข้าไปทำลาย ความเป็นนักการเมือง และ ย่อมทำลาย การเมืองมากขึ้นๆ ด้วย เท่านั้นๆ

ดังนั้น ผู้ที่ทำงานการเมือง แล้วอาศัยงานการเมืองแสวงหา ลาภ,ยศ,สรรเสริญ,โลกียสุข ด้วยโลภะ ด้วยโทสะ ด้วยโมหะ น้อยลงๆ เท่าใดๆ กระทั่งไม่มี เลยได้จริง ผู้นั้น ก็คือ ผู้ทำลายความเป็น นักการเมือง และ ย่อมทำลาย การเมืองน้อยลงๆ ด้วย เท่านั้นๆ หรือคือ ผู้เป็นนักการเมือง ที่แท้จริงยิ่งขึ้นๆ เท่านั้นๆ

“ประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ” นั้น จะเป็นสังคมที่มีความเข้าใจใน ฐานะแห่งบุคคล เป็นอย่างดี ก็เพราะประชากร มีภูมิธรรม และมีวัฒนธรรม ในความระลึกถึงกัน -ความรักกัน -ความเคารพกัน -ความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน-ความไม่วิวาทกัน -ความพร้อมเพรียงกัน -ความเป็นอันหนึ่ง อันเดียวกัน (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๒ ข้อ ๒๘๓ ในสาราณียธรรม) นี้แล จึงเป็นสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่าง อบอุ่นสันติสุข โดยรักเคารพนับถือสามัคคีกัน ตามฐานานุฐานะ ซึ่งพร้อมไปด้วย ศรัทธาและปัญญา ที่เข้าใจในสัจจะว่า ฐานะแห่งบุคคล ย่อมมีความไม่เหมือนกัน ไม่เสมอกัน ทั้งในด้าน “สมมุติสัจจะ” และทั้งในด้าน “ปรมัตถสัจจะ”

ซึ่งแบ่งเป็น ๔ ฐานะใหญ่ๆ ได้แก่ ๑.ฐานะนักบวช ๒.ฐานะนักบริหาร ๓.ฐานะนักบริการ ๔.ฐานะนักผลิต

๑. ผู้มี “ฐานะนักบวช” ฐานะนี้ถือว่าเป็น ฐานะ ที่สูงสุดของสังคม ผู้อยู่ในฐานะนี้ จะได้รับการเคารพ กราบไหว้ บูชากันทีเดียว เพราะตามความเป็นจริง จะต้องเป็นผู้มีความบริสุทธิ์จากกิเลส จึงเป็นที่เคารพบูชาเทิดทูน เป็นหลักของสังคม เป็นที่ปรึกษาของสังคม เป็นที่พึ่งของสังคมแท้ เพราะเป็น “สรณะ” หนึ่งของ พระไตรรัตน์ อันเป็นที่พึ่ง สำคัญสูงสุด ของผู้เป็นพุทธศาสนิกชน

โดยเฉพาะนักบวชท่านใด มีภูมิธรรมสูงส่งสูงสุด บรรลุธรรมขั้นนามธรรมกันได้ถึงขั้น อรหันต์ จริง ก็ยิ่งเป็น ร่มโพธิ์ ร่มไทรของมวลมนุษยชาติได้อย่างวิเศษแท้จริง ดังนั้น “ฐานะ” นี้จึงเป็นคนที่ยกไว้ เป็นที่เคารพสูงสุด ในประดา ฐานะแห่งบุคคล ทั้ง ๔

“ฐานะนักบวช” จึงหมายถึง ผู้ที่จะต้องมี สิ่งที่เป็นจริงอันมีคุณค่าประโยชน์อย่างยิ่ง หรือความจริง ที่เป็นสิ่งสูงสุด ซึ่งภาษาบาลี เรียกว่า “ปรมัตถสัจจะ”

เมื่อกำหนดภูมิชั้นกันให้ “ฐานะนักบวช” เป็นฐานะสูงสุด ฐานะนี้จึงเทียบเท่า อรหันต์

และโดย “สมณสารูป” สูงสุดจริงนั้น “ฐานะนักบวช” ตามสัจจะจะต้องเป็นผู้มี “วัณณะ ๙” คือ ความเป็นผู้มี “คุณ ๙ ประการ” [ซึ่งไม่ใช่ โทษ ๖ ประการ ที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า อวัณณะ ๖ ] พระพุทธเจ้าได้ตรัส “วัณณะ ๙” นี้ไว้ชัดเจน และ ทรงย้ำอยู่เสมอ ในพระวินัยแทบทุกบท ให้เป็น หลักตรวจสอบ “นักบวช” ว่า อยู่ใน “ฐานะ” ตามสัจจะ แห่งความทรงไว้ซึ่ง “ฐานะที่ ๑” นี้ได้จริงหรือไม่ [ซึ่งคล้าย “หลักตัดสินธรรมวินัย ๘” อันได้แก่ วิราคะ, วิสังโยคะ, อปจยะ, อัปปิจฉะ, สันตุฏฐิ, ปวิเวกะ, วิริยารัมภะ, สุภระ เกือบจะเป็นอันเดียวกัน]

“วัณณะ ๙” (ความเป็นผู้มี คุณ ๙ ลักษณะ) นั้นได้แก่

๑. ความเป็นคน "เลี้ยงง่าย" (สุภระ) ๒. ความเป็น "คนบำรุงง่าย" (สุโปสะ) ๓.ความเป็นคน "มักน้อย,กล้าจน" (อัปปิจฉะ) ๔. ความเป็นคน "ใจพอ,สันโดษ" (สันตุฏฐะ) ๕. ความขัดเกลา (สัลเลขะ) ๖. ความทำลายกิเลส (ธูตะ) ๗. อาการ น่าเลื่อมใส (ปาสาทิกะ) ๘. การไม่สะสม (อปจยะ) ๙. เพ่งเพียร,ระดมความเพียร (วิริยารัมภะ)

[ฉบับที่แล้วเราได้อธิบาย “ฐานะนักบวช” ยังไม่จบ ได้ขยายให้เห็นคุณลักษณะแท้ของความเป็น “นักบวช” ซึ่งประกอบไปด้วย “วัณณะ ๙” เพิ่งอธิบาย ไปได้แค่ ๗ ลักษณะ ต่อไปก็ ลักษณะที่ ๘ “การไม่สะสม” ก็ได้อธิบายเกี่ยวเนื่องไปถึง “มิจฉาทิฏฐิ- สัมมาทิฏฐิ” อันเป็นจุดสำคัญของ “การจะได้เกิดสู่ ปรโลก เป็นอาริยบุคคล” ซึ่งยังอธิบายไม่จบ ฉบับนี้ยังมีต่อ โปรดติดตามอ่านได้]

พระพุทธเจ้าตรัสหลักการของ “ความเป็นมิจฉาทิฏฐิ ๑๐ และ ความเป็นสัมมาทิฏฐิ ๑๐” ไว้ในพระไตรปิฎกเล่ม ๑๔ ข้อ ๒๕๕ และ ๒๕๗ ซึ่งหากผู้ใดไม่ได้ศึกษา หลักการสำคัญนี้ ย่อมไม่สามารถเป็นผู้มี “สัมมาทิฏฐิ” ที่จะปฏิบัติ ให้เกิดมรรคเกิดผลเป็น “อาริยชน” หรือไม่มีประธาน ที่จะนำปฏิบัติ ให้เกิดผลเข้าสู่ “โลกุตรภูมิ” ได้แน่ๆ

“มิจฉาทิฏฐิ ๑๐ และ สัมมาทิฏฐิ ๑๐” นั้นมีดังนี้

๑.ทานที่ให้แล้ว มีผล (อัตถิ ทินนัง) หมายความว่า ผู้นั้นต้องมีความเห็นหรือความเชื่อถือ (ทิฏฐิ)ว่า "ทาน" ที่ทำไปนั้นๆ “มีผลแน่” โดยเฉพาะ “ผล” ที่เป็น “โลกุตรธรรม” ส่วนผู้ที่มี ความเห็นหรือความเชื่อถือ (ทิฏฐิ)ว่า ทานที่ให้แล้ว ไม่มีผล (นัตถิ ทินนัง) เช่น “ทาน” ก็เพื่อช่วยเหลือเขาไปเท่านั้น ไม่มีผลบุญผลบาปอะไรหรอก ผู้นั้นก็คือ “มิจฉาทิฏฐิ” ตั้งแต่เบื้องต้นทีเดียว

และแม้จะมีความเห็นหรือความเชื่อถือ ว่า ทานที่ให้แล้ว มีผล ก็ต้องรู้ให้ชัดแจ้งอีก ว่ามีผลอย่างไร เช่น ทำทาน อย่างนี้ เป็น “มิจฉาผล” ได้บาป หรือผลไม่ดี ไม่สมควรทำ ทำทานอย่างนี้เป็น “สัมมาผล” ได้บุญ หรือ ผลดี สมควรทำให้ยิ่ง เป็นต้น โดยเฉพาะ “ทำทาน” อย่างไร จึงจะเป็น “ผล” สู่นิพพาน ผู้ทำทานก็ต้องศึกษา ให้เกิดปัญญา มีความเห็นหรือความเชื่อถือ (ทิฏฐิ) ที่ถูกต้องดีงาม

[แล้วอาตมาก็ได้อธิบาย “ทาน” ที่เป็นบาป และ “ทาน” ที่เป็น บุญไปพอสมควร ซึ่งต้องศึกษากันให้ดี ไม่เช่นนั้นจะ “ทำทาน” กัน ได้ “บาป” กันตลอดกาลนาน

เรื่อง “ทาน” นี้ สำคัญมาก ถ้าได้ศึกษาอย่าง “สัมมาทิฏฐิ” ก็จะรู้ได้อย่างถ่องแท้ว่า “ทาน” หรือ “การเสียสละแก่กันและกัน” นี่แหละคือ พฤติกรรม อันวิเศษที่ยิ่งใหญ่ ของสังคมมนุษย์ เพราะเป็นทั้ง “ประโยชน์” แก่ตนแก่สังคม และเป็นทั้ง “มรรค ผล” สู่นิพพานจริงๆ

ส่วน “ทาน” ที่ทำกันอยู่ในสังคมของ “ทุนนิยม” นั้น จะต่างกับ ทาน ในสังคมของ บุญนิยม เพราะมีแนวคิด และความเชื่อถือที่ต่างกัน และ การปฏิบัติธรรมที่เป็น “โลกุตระ” ได้จริง ก็จะมีความจริงจากใจต่างกันไปคนละทางด้วย และเรากำลังอธิบายเจาะลึก “ประโยชน์” ขั้นสูงขึ้นคือ “สัมปรายิกัตถะ” ที่พุทธศาสนิกชน มักจะหลงเข้าใจเพี้ยนไปเป็นแบบ “เทวนิยม” เพราะเข้าใจเรื่อง “ศรัทธาและศีล” ไม่สัมมาทิฏฐิ ซึ่งอาตมา กำลังอธิบาย ให้กระจ่างชัดกันอยู่ ให้เห็นแจ้งในความเป็น “อเทวนิยม” โดยเฉพาะเรื่อง “ศีล” ที่พุทธศาสนิกชนยังหลงเข้าใจผิดและปฏิบัติยัง “ไม่สัมมา” เพราะแยก “ศีล” แยก “สมาธิ” แยก “ปัญญา” เป็นคนละส่วนคนละตอน จึงไม่มีมรรคผลเข้าถึง “ไตรลักษณ์” อย่างเป็น “ปรมัตถธรรม”

การปฏิบัติก็ไม่เป็นไปตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน “มิจฉาทิฏฐิสูตร-สักกายทิฏฐิสูตร-อัตตานุทิฏฐิสูตร” ซึ่งต้องมี “สัมผัส0เป็นปัจจัย” และต้องมี “องค์รวมของทวาร ๖ -อายตนะนอกและในทั้ง ๑๒-วิญญาณ ๖-สัมผัส ๖” ตลอดจนต้องรู้แจ้ง “เวทนาในเวทนา” ละเอียดทะลุ ไปถึงขั้นสูงสุดคือ “โดยความเป็นอนัตตา” (อนัตตโต) ชนิดที่มี “ความไม่มีตัวตนของกิเลส” อันเรียกว่า “อนัตตา” นั้น ปรากฏให้ผู้ปฏิบัติ “รู้” (ชานาติ) “เห็น” (ปัสสติ) อย่างสัมผัส อยู่หลัดๆ เป็นปัจจุบันนั่นเทียว

ฉบับที่แล้วได้อธิบายถึงการปฏิบัติ “ศีล” จนนำพาให้เกิด “สัมมาสมาธิ” และเกิด “ปัญญา” ชนิดมีปฏิสัมพัทธ์ซึ่งกันและกัน ทั้ง “ศีล-สมาธิ-ปัญญา” อย่างเป็น “องค์รวม” ไปแล้ว และเมื่อมีผลของการปฏิบัติ “ศีล” ก็ ย่อมเกิด “ศรัทธา” และ “ศรัทธา” ก็มีความเจริญตามองค์ธรรมสูงขึ้นๆ บริบูรณ์ด้วย “องค์ธรรม” นั้นๆเป็นลำดับๆถึง ๑๐ ลำดับแล้ว และอาตมาได้อธิบายถึงผู้มี “วิชชา ๙” ที่สามารถรู้ “ปรโลก” หรือ “โลกหน้า” แบบพุทธ เชิญอ่านต่อได้]


พุทธศาสนา มีความแตกต่างจากศาสนาอื่น ที่พระพุทธเจ้าทรงกล่าวอยู่เสมอๆ ก็คือ เรื่อง “โลกุตระ” หรือ “ธรรมอันเป็นอาริยะ-วินัยอันเป็นอาริยะ” (อริยธรรม-อริยวินัย) ซึ่งเป็นเรื่อง วิสามัญ ส่วนเรื่อง “โลกียะ” นั้น เป็นเรื่อง สามัญทั่วไป ทุกศาสนา ล้วนกล่าวถึง ความลึกซึ้งของกุศลธรรม และอกุศลธรรม ตามทฤษฎีของตนๆ อยู่ทั้งสิ้น ส่วนใหญ่ทุกศาสนา จึงมีตรงกันสอดคล้องกัน จะต่างกันก็เพียงส่วนย่อย หรือ ส่วนละเอียดเท่านั้น

สำหรับเรื่อง “โลกุตระ” หรือ “ธรรมอันเป็นอาริยะวินัยอันเป็นอาริยะ” นี้ พระพุทธเจ้า ตรัสยืนยันว่า มีแต่ในศาสนาพุทธศาสนาเดียวเท่านั้น ศาสนาอื่น “ว่าง” จากโลกุตระ หรือว่างจาก “ธรรมอันเป็นอาริยะวินัยอันเป็นอาริยะ” (อริยธรรม-อริยวินัย) ซึ่งความเป็น “โลกุตระและอาริยะ” นี้แล ที่เป็น “ธรรมะถึงขั้นนิพพาน”

“นิพพาน” คือ “ความดับโลก” ดังนั้น ผู้จะ “ดับโลก” ได้ ก็ต้องรู้แจ้งเห็นจริง ในความเป็น “โลกนี้” (โลกียะ) อย่างถูกตัวถูกตนของสภาวะ และรู้แจ้ง “โลกหน้า” (ปรโลก,โลกุตระ) อย่างสัมมาทิฏฐิถึงขั้นปรมัตถสัจจะ เมื่อสามารถรู้แจ้ง “โลกนี้” (โลกียะ) แล้วปฏิบัติให้ถึง “ความดับโลกนี้” (ดับโลกียะ) หมายความว่า “ดับกิเลสที่ติดยึดโลกนี้ หรือดับ ความเป็น ทาสโลกนี้” ถูกสภาวะจริงนั่นเอง ในตนลงหมด สิ้นได้ จึงสามารถ เข้าสู่ โลกหน้า (ปรโลก,โลกุตระ) สำเร็จ

การดับหรือการตายจาก “โลกนี้” (โลกียะ) สู่ “โลกหน้า” (โลกุตระ,ปรโลก) ตามปรมัตถสัจจะ ของพุทธ จึงมิใช่ “การดับหรือการตาย” ของชีวิตที่หมายเอาร่างกาย ตายหมดลมหายใจ แต่หมายเอา กิเลสในจิตดับ หรือตาย เมื่อมี “การตายในจิตจริง” (กิเลสตาย) จิตก็เป็น “การเกิดจริง” เรียกการเกิดนี้ว่า “โอปปาติกโยนิ” (การผุดเกิดของจิตในจิต, ผู้เกิดพร้อมทันที)

ผู้เกิดใน “โลกหน้า” (โลกุตระ,ปรโลก) ซึ่งเป็นการเกิดทางปรมัตถ์แบบพุทธ ตามนัยดังกล่าวนี้ ได้สำเร็จ จึงเป็น การเกิดใน ” โลกหน้า” (ปรโลก,โลกุตระ) ชนิดที่ไม่ใช่ การตายทางร่างกาย ที่หมดลมหายใจแล้ว ไปเกิดแน่ ดังนั้น เมื่อผู้บรรลุโลกุตระ สูงสุดแล้ว แต่ยังมีชีวิตอยู่ ก็ย่อมยังมีกรรมกิริยาทำการงานอยู่ ตามประสา คนที่ไม่มี ความขี้เกียจ และการงานหรือกรรมกิริยาของท่านผู้ “จบกิจ” ซึ่งเป็นการจบ “ประโยชน์ตน” (อัตตัตถะ) แล้วนี้ การงานหรือกรรมกิริยาของท่าน จึงเป็นไป เพื่อผู้อื่น ทั้งสิ้น นั่นคือ เป็น “ประโยชน์ท่าน” (ปรัตถะ) ทั้งสิ้นนั่นเอง

ศาสนาพุทธมี “นิพพาน” เป็น “ประโยชน์ตน” (อัตตัตถะ) อันสูงสุด ผู้ใดมีนิพพานสมบูรณ์ ถือว่า “จบกิจ” ใน การมี “ประโยชน์ตน” บริบูรณ์

กล่าวคือ “สมบัติทางนามธรรม” ได้แก่ ปัญญา และวิมุติ เป็น “โลกุตรสมบัติ สำคัญสูงสุด” สำหรับตน ซึ่งจะต้อง “รู้ตัวตนและดับตัวตน” ก็ได้รู้แจ้ง และ ได้ปฏิบัติ จนดับถูกตัวถูกตน “จบ” สัมบูรณ์แล้ว หรือ “สมบัติทางรูปธรรม” อันได้แก่ ลาภ, ยศ, สรรเสริญ, โลกียสุข ที่เป็น “โลกียสมบัติ” ก็หมดสิ้นการติดยึด ที่จะสะสมมา เพื่อตนอีกแล้ว เพราะฉะนั้นการงาน หรือกรรมกิริยาของท่านผู้ “จบกิจตน” แล้วนี้ จึงเป็นไปเพื่อ “ประโยชน์ท่าน” (ปรัตถะ) ทั้งสิ้น เพราะส่วนที่เป็นไปเพื่อ ประโยชน์ตนนั้น ครบถ้วนแล้วจริงๆ ท่านไม่ต้องทำเพื่อตนอีกแล้ว แม้ท่านผู้นี้จะศึกษาอะไรต่อ จะมีความรอบรู้ยิ่งๆขึ้นต่อไป เป็นสัมมาสัมโพธิญาณก็ตาม จะฝึกฝน หรือทำกิจ การงาน อะไรเพิ่มขึ้น มีความสามารถชำนิชำนาญ เก่งกาจ เจริญก้าวหน้าขึ้น ในเรื่องอื่นใด ไปอีกเท่าใดๆ ก็เป็นอัน “ไม่ใช่เพื่อตน” อีกแล้ว เพราะท่านหมดตัวตน มี “สันโดษ” (ใจพอ) แท้แน่จริงแล้ว กล่าวคือ ชีวิตเป็นอยู่ท่าน ก็เพียงอาศัยกินใช้ จากแรงงาน ความสามารถของท่านเองนั่นแหละ และมีชีวิตอยู่ทำงาน ช่วยรื้อขนสัตว์ ไปเท่าที่ท่านประสงค์ ซึ่งท่านบรรลุ “อัปปิจฉะ, สันตุฏฐิ, ปวิเวกะ, อสังสัคคะ” และท่านมี “วิริยารัมภะ” บริบูรณ์แล้วจริงแท้แน่นอน

ดังนั้น เมื่อท่านผู้เป็น “อรหันต์” แล้วนี้ ท่านจะศึกษาฝึกฝนความรู้ขั้น “สัมมาสัมโพธิญาณ” สั่งสมเพิ่มเติมขึ้นไปอีกเท่าใดๆ “สัมมาสัมโพธิญาณ” ที่เจริญขึ้นๆ ในตัวท่านอีกนั้น ก็ไม่นับว่าเป็น “ประโยชน์ตน” (อัตตัตถะ) เพราะความรู้ ความสามารถที่เกิดเพิ่มขึ้นๆทั้งหลายทั้งปวงล้วนแต่จะเป็นไปเพื่อ “ประโยชน์ผู้อื่น” (ปรัตถะ) ต่อไปๆๆๆทั้งสิ้น แม้กุศลใดๆที่ท่านเกิดท่านทำก็ตาม สิ่งที่เกิดที่มีนั้น ล้วนเป็นไป เพื่อ “ประโยชน์ผู้อื่น” (ปรัตถะ) ทั้งโดยตรง และ โดยอ้อมแท้จริง เพราะสำหรับท่าน ไม่ว่า จะเป็นนิพพาน หรือลาภ, ยศ, สรรเสริญ, โลกียสุขที่คน ทั้งชาวโลกุตระ และชาวโลกีย์ พึงถือกันว่า คือ “ผล” คือ “ประโยชน์” กันนักหนานั้น ท่าน “จบกิจ” สิ้นยึดถือเป็นอารมณ์ ที่จะต้องได้ ต้องเป็นต้องมี สำหรับตน อีกแล้วจริงๆ ท่านต้องลำบาก เหน็ดเหนื่อย เพื่อผู้อื่นต่างหาก สำหรับตัวท่านเอง ไม่ต้องสะสม หรือบำเรอตน อีกเด็ดขาดแล้ว ท่านอยู่ จึงอยู่เพื่อ “ช่วยรื้อขนสัตว์” ต่อไป มิใช่ “เพื่อตน” ใดๆเลย

ท่านผู้ใดบรรลุ “นิพพาน” ครบจบสำหรับตนได้แล้ว และเป็น “อรหันต์” ที่ยังมี “ขันธ์ ๕” เมื่อท่านผู้นี้ยังไม่ “ปรินิพพาน” ท่านก็ยังมีกรรมกิริยา ทำการงานอยู่ ในสังคมอยู่แน่ๆ กรรมกิริยาเหล่านั้น ล้วนเป็นกุศล ที่ถึงพร้อม และเป็นกรรมที่ “สักแต่ว่ากิริยา” ไม่สุขไม่ทุกข์สำหรับตน หากดำเนินไปอยู่ตราบใด ก็เป็น “ประโยชน์แก่ผู้อื่น” (ปรัตถะ) อยู่ตราบนั้น ดังนั้นแม้อรหันต์ท่านนี้ จะยังศึกษาฝึกฝน “โพธิสัตวภูมิ” ต่อไป หรือ จะบำเพ็ญกิจต่อไปสู่ “พุทธภูมิ” อีก ก็ถือว่า ท่านไม่ได้ “ทำเพื่อตน” แล้ว กรรมกิริยา หรือความรู้ ความสามารถ ที่จะต้องพึงเกิดพึงพัฒนาเป็น “พระโพธิสัตว์มหาสัตว์” สูงขึ้นๆ ไปอีกปานใดๆ “ผลแห่งวิบากกรรม” ที่ต้อง “เป็นของตน” (กัมมัสสกะ) ตามสัจจะ นั้นก็ตาม ก็เป็นเรื่องของ “สัมภารวิบาก” ที่สั่งสมขึ้นเป็น “บุญบารมี” อันจะเสริม ส่งซ้อน ย้อนกลับไปเป็นสมรรถนะ ทำ “ประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ..รื้อขนสัตว์” ได้ยิ่งๆขึ้นนั่นเอง ซึ่ง “พ้นประโยชน์ตน” อย่างสิ้นจบแล้วจริงๆ

ผู้มี “นิพพาน” จึงเป็นทั้ง “ประโยชน์ตน” (อัตตัตถะ) สุดสูงสุดและเป็นทั้ง “ประโยชน์ท่าน” (ปรัตถะ) อย่างอภิมหาศาล

ในขณะที่ผู้ปฏิบัติยังเป็น “เสขบุคคล” (อาริยบุคคลที่ยังไม่ได้นิพพานสมบูรณ์ เป็นที่สุด) พากเพียร บำเพ็ญเพื่อ “ประโยชน์ตน” (อัตตัตถะ) อยู่นั้น หากทำกรรมใด ก็จะเป็นผู้มี “ประโยชน์ ทั้งตน และทั้งประโยชน์ผู้อื่น” (อุภยัตถะ) ไปพร้อมกัน ในกรรมเดียวกัน และในขณะ เดียวกัน ต่อเมื่อ “จบกิจ” เป็น “อเสขบุคคล” (อาริยบุคคล ที่ได้นิพพานสมบูรณ์ เป็นอรหันต์) แล้ว จึงจะเป็นผู้ทำกรรมใด ก็เป็นกรรมกิริยาที่มีแต่ “ประโยชน์ผู้อื่น” (ปรัตถะ) ชนิดไม่เห็นแก่ตัว สัมบูรณ์ เพราะหมดตัวตนแล้ว ท่านผู้นี้จึงมีแต่ “ประโยชน์ผู้อื่น” (ปรัตถะ) ไปตลอด จนกว่าจะ “ปรินิพพาน”

นิพพาน จึงเป็นยอดแห่ง “ประโยชน์” ที่มนุษย์พึงมีพึงได้เป็นที่สุด

และที่สุดแห่งที่สุด ก็คือ “ปรินิพพาน” ซึ่งเป็นการดับสิ้นหมดทุกสิ่งอย่าง ไม่มีอะไร อีกเลย หมายความว่า ไม่มีทั้ง “โลกนี้” (อดีตและปัจจุบันกาล)สำหรับตน ไม่มีทั้ง “โลกหน้า” (อนาคตกาล) สำหรับตนอีกแล้ว เป็นสุดท้าย ตัดวัฏฏสงสาร ไม่มีโลกหน้า และ ไม่มีโลกนี้ หรือโลกไหนๆ กันอีกนิรันดร์ สุดสิ้นอันติมสัจสัมบูรณ์ สำหรับบุคคลผู้นี้

“ปรินิพพาน” คือ การสิ้นสุด “จบปรมัตถ์” ทั้งในอดีต ในปัจจุบันในอนาคต สิ้นสุดแม้แต่ “ประโยชน์ผู้อื่น” ที่เป็น “บรมประโยชน์” (ปรมัตถ์) ต่อมวลมนุษย์ก็หยุดสนิท เด็ดขาด กรรมกิริยา หรือการยังมีบทบาทลีลาทั้งทาง “รูปธรรม” และทั้งทาง “นามธรรม” ก็เป็นอันหมดจบ สุดสิ้นสำหรับมนุษย์คนใดคนหนึ่ง ทั้งโลกนี้และโลกหน้าสิ้นเชิง

เพราะฉะนั้น “ประโยชน์” (อัตถะ)ตามปรมัตถสัจจะ จึงลึกซึ้งมีคุณค่าแท้ และจะรู้แจ้ง ถูกต้องตรงสัจธรรม ได้ยากมาก เนื่องจาก “นามธรรม” หรือ “จิตวิญญาณ” เป็น ความละเอียดลออ ลึกซึ้ง ซับซ้อนยิ่งนัก และ “นามธรรม” จะได้ชื่อว่า “สละออก” หรือ “ทาน” หรือ “จาคะ” ก็ต้องมี “ญาณหยั่งรู้ในภาวะจริง ของนามธรรมนั้นๆ” (ญาณทัสสนะ) หรือ “รู้แจ้งเห็นความจริงของใจว่า ใจเราเกิดภาวะการสละ จริงๆ อย่างถ่องแท้” (โยนิโส มนสิการ)

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดว่า “จิตวิญญาณเป็นประธานสิ่งทั้งปวง” หากไม่ศึกษา ปฏิบัติ จนสามารถรู้แจ้ง “นามธรรม” หรือ “จิตวิญญาณ” อย่างสัมมาทิฏฐิ จนเห็นแจ้ง ความจริงตามที่มี “ปรากฏการณ์” (ปาตุภาวะ)ในจิต(มนสิ) ก็ไม่สามารถจะเป็นคนที่มี “ประโยชน์” ได้แท้จริง เพราะใครก็ตาม ที่จะรู้จักสัจธรรมของ “ประโยชน์” จะต้องรู้จัก “ทาน” หรือ “จาคะ” อย่างสัมมาทิฏฐิ แล้วปฏิบัติจนกระทั่ง “เกิดความสละนั้น ‘ที่ใจ’ (มนสิ)จริงๆ” (สัจจภาวะ)

เพราะ “กรรมด้านนามธรรม” นั้น ลึกซึ้งยิ่งกว่า “กรรมด้านรูปธรรม” มากกว่ามากนัก ผู้ไม่สนใจด้าน “นามธรรม” เฉพาะอย่างยิ่งไม่เข้าใจถึงขั้น “ปรมัตถสัจจะ” ก็จะไม่รู้ได้ว่า “ทาน” ของตนในครั้งนั้นๆ จะเป็นบุญหรือบาป และอย่างไรจึงจะเป็น “โลกุตรกุศล” ก็ขึ้นอยู่กับ “มโนกรรม” ของผู้ “จาคะหรือทำทาน” เป็นนัยสำคัญ

(อ่านต่อ ฉบับที่ ๑๓๐) / ๑

 

    อ่านหน้าถัดไป
ชีวิตนี้มีปัญหา ๑ สมณะโพธิรักษ์ ( เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๒๙ เมษายน ๒๕๔๔ หน้า ๒๒ )