หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

 
ชีวิตนี้มีปัญหา ๒
สมณะโพธิรักษ์
หนังสือพิมพ์ เราคิดอะไร ฉบับ 130 พฤษภาคม 2544
หน้า 1/1

๑ชีวิตนี้มีปัญหา สมณะโพธิรักษ์ ๑. ชีวิตนี้ประกอบขึ้นด้วยอะไร? เป็นอยู่อย่างไร? มีความสำคัญอย่างไร? ๒. เมื่อชีวิตนี้มีปัญหา สังคมมีปัญหา ใครเล่าจะเป็นผู้แก้ปัญหาทั้ง ๒ นั้น? (และปัญหาอื่นๆ อีกตั้ง ๑๐ ข้อ) (ต่อจากฉบับที่ ๑๒๘)

(ต่อจาก ฉบับที่ ๑๒๙) / ๒

สำหรับผู้มี “บุญญาบารมี” มาแต่ปางบรรพ์ จึงดูเหมือนเป็นข้อยกเว้น ปานประหนึ่ง ท่าน “ลัดคิว” ได้ แต่จริงๆแล้ว..ไม่ใช่ เพราะท่านมี “บุญญาบารมี” เดิม อันเป็น เบื้องต้น หรือท่ามกลาง ที่ท่านได้บำเพ็ญ เป็นพลวปัจจัยมาก่อนแล้วจริง เป็นภูมิธรรม มาแต่ชาติปางก่อนจริง ชาตินี้จึงดูเหมือน ไม่ต้องเป็นไปตามลำดับ นั่นก็เป็นได้ สำหรับท่านที่มี “บุญบารมี” จริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ท่านเหล่านั้น “ไม่มีลำดับ” ท่านสร้างลำดับ มาแล้วแต่ปางก่อน สั่งสมเบื้องต้น.. ท่ามกลางไว้แล้ว เป็นกุศลวิบาก ของตน มายาวนาน ปางสุดท้ายจึงไม่ต้องทำ

ถ้าใครยังไม่มี “บุญญาบารมี” จริง ก็ต้องปฏิบัติไปตามขั้นตอนเป็นลำดับ ให้มีของตนๆ ไม่มีการลัด บังเอิญก็ไม่มี ใครไม่ได้ทำไว้แล้วด้วยตนเอง ก็ยังไม่มี

ไม่พึง “นึกเอา” ว่า ตนมีบารมีมาแล้ว แต่ควรถ่อมตน “เผื่อพอ” ไว้เสมอ นึกเสียว่า ตนไม่มีบารมีมาก่อน แล้วพากเพียรสั่งสมกุศลด้วยอุตสาหะเถิด แม้กุศล เพียงเล็กน้อย ก็คือ “กุศล” หากเรามี “กุศล” นั้นๆมาก่อนแล้วจริง มันจะดูเหมือน "กุศล" นั้นเราทำได้ง่าย และได้เร็วไปเองตามสัจจะ ยิ่งกุศลใดทำยาก นั่นแหละ ยิ่งชี้บ่งว่า เรายังไม่ควรจะรีบรวบรัด ยิ่งควรทำให้ช้า และสุขุมซ้ำซากให้มากๆ ในความยากลำบากนั้น

“สัมมาสมาธิ” ของพระพุทธเจ้านี้ จะว่ายากก็ยากหากไม่รู้จริง จะว่าง่ายก็ง่าย เพราะสั่งสมเป็นไปได้ ตลอดเวลาทุกวินาที ในทุกที่ทุกสัมผัส

เมื่อใครปฏิบัติได้จนจิตบริสุทธิ์เข้าขั้นเป็น “สัมมาสมาธิ” แล้ว ถึงฐานะที่จะต้อง ละวาง “จิตบริสุทธิ์” อันถาวรนั้นกันแล้ว จึงจะใช้พิจารณา เพื่อ “ละ” เพื่อ “ปล่อยวาง” สภาพ ที่ลึกซึ้งที่เหลือ เช่น “จิตปัสสัทธิ” ก็ดี “อุเบกขาเวทนา” ก็ดี เป็นต้น หรือ “ขันธ์ ๕” (บริสุทธิ์) ที่เรายังอาศัยอยู่ เพราะยังไม่ตาย ซึ่งเรายังมี “ความยึดถือขันธ์ ๕” (อุปาทานขันธ์ ๕) ว่า เป็น “ตน” เป็น “ของตน” อยู่ ดังนี้ เราก็จะต้องพิจารณากระทั่ง “รู้แจ้งเห็นจริง” และต้อง “ทำใจในใจอย่างแยบคาย” (โยนิโส มนสิการ) กับสิ่งเหล่านั้น “ด้วยความเป็นอนัตตา” (อนัตตโต) จนถึงที่สุด

จึงจะบรรลุ “สัมมาญาณ” และ “สัมมาวิมุติ”

การปฏิบัติธรรมของพุทธ จึงเป็นการปฏิบัติที่ปฏิบัติไปพร้อมกัน กับการดำเนิน ชีวิตปกติ ไม่ต้องแยกอิริยาบถไป “ทำ“ ต่างหาก เช่น ไม่ต้องแยกอิริยาบถไป “ทำการนั่งสมาธิ” ไม่ต้องแยกอิริยาบถไป “นั่งวิปัสสนา” อะไรอย่างนี้เป็นต้น “ทางเอก” ของการปฏิบัติแบบพุทธคือ “มรรคอันมีองค์ ๘” หรือเต็มสูตรก็คือ “โพธิปักขิยธรรม ๓๗” ซึ่งปฏิบัติได้ตลอดเวลา

แต่ก็มิใช่ว่าจะนั่งสมาธิทำ “ฌาน” แบบฤาษีไม่ได้เลย ย่อมทำได้ หากเข้าใจเป็น “สัมมาทิฏฐิ” ดีแล้ว ก็สามารถทำได้ เป็นอุปการะอย่างยิ่งด้วย เพราะการเข้าไป สู่ภวังค์ ทำฌาน จนเกิด “เจโตสมถะ” แบบฤาษีนี้ จะสามารถทำ “เตวิชโช” ได้ดี ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนภิกษุอยู่บ่อยๆ แม้พระองค์เอง ก็ทรงทำในวันตรัสรู้

และการทำฌานแบบนั่งเข้าภวังค์ จนเกิด “เจโตสมถะ” นี้ เพื่อกรณีศึกษา จิตในจิต ให้ยิ่งก็ได้ หรือเพื่อการพักผ่อนก็ดีเยี่ยม

การปฏิบัติธรรมของพุทธนั้น ปฏิบัติไปด้วยทำ “อาชีพ” (อาชีวะ)ไปด้วย พากเพียร “ละมิจฉาอาชีวะ ๕” [ได้แก่ กุหนา, ลปนา, เนมิตตกตา, นิปเปสิกตา, ลาเภน ลาภัง นิชิคิงสนตา] ให้ได้ หรือเลิกละ “กุหนา” (ทุจริตที่เป็นบาปอันตราย) ที่เรามีอยู่ใน “อาชีพ” ให้ได้ เพราะ “กุหนา” เป็น “มิจฉา” เป็น “อกุศล”

หากเลิกละได้ก็มีผลเป็น “สัมมาอาชีวะ” ได้ระดับหนึ่ง

หรือเลิกละ “ลปนา” (ทุจริตที่เป็นบาปทางคำพูด) ที่เรามีอยู่ใน “อาชีพ” ให้ได้เพราะ “ลปนา” เป็น “มิจฉา” เป็น “อกุศล”

หากเลิกละได้ก็มีผลเป็น “สัมมาอาชีวะ” ได้อีกระดับหนึ่ง ดังนี้ เป็นต้น

ต้องละ “มิจฉา” ที่เป็น “กุหนา” ที่หยาบที่สุด ขี้โกง,ทุจริต เป็นต้น ละ “มิจฉา” ที่เป็น “ลปนา” ที่หยาบขั้นโกหก หลอกลวงด้วยคำพูด ก็หยาบร้ายอยู่

เลิกละ มิจฉา ให้ได้เจริญขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงขั้น “เนมิตตกตา” (อกุศลที่เรายังเลี่ยง ยังเหลาะแหละ ยังเสี่ยง ยังไม่แข็งแรงอย่างมั่นใจ) ก็พยายามตั้งใจ มุ่งมั่นแข็งแรง อุตสาหะ ปฏิบัติ เอาจริงเอาจัง จน“พ้นมิจฉา”ให้จงได้ สูงขึ้นเพิ่มขึ้นๆ

สภาพที่สูงขึ้นไปอีกถึงขั้น “นิปเปสิกตา” (ยังมอบตนในทางผิด เช่น ตนสุจริตแล้ว แต่ตนก็ยังยอม รับใช้ คนเลว คนผิดอยู่) ก็ต้องเลิกละให้ได้เป็น “สัมมา” สูงขึ้น

ที่สุด แม้แต่อาชีพขั้น “ยังทำงานรับรายได้แลกกับแรงงาน แลกกับความรู้ ของตนอยู่ หรือรับลาภ แลกลาภอยู่” (ลาเภน ลาภัง นิชิคิงสนตา) พระพุทธเจ้า ยังทรงนับว่า เป็น “มิจฉาอาชีพ” อยู่เลย

“สัมมาอาชีพ” สูงส่งถึงปานฉะนี้

นั่นย่อมหมายความว่า “สัมมาอาชีพ” ของคนขั้นสูงสุดนั้น ผู้พ้น “มิจฉาอาชีวะ” ขั้น “ลาเภน ลาภัง นิชิคิงสนตา” ได้จริง ก็ต้องเป็นคน “ทำงานไม่รับลาภแลกลาภ” หรือ มีอาชีพที่ “ทำงานไม่ต้องรับสิ่งตอบแทน หรือทำงานฟรี” นั่นเอง จึงจะเป็น “สัมมาอาชีพ” ขั้นสูงสุดของผู้ประเสริฐแท้ ในศาสนาพุทธที่เป็น “อาริยบุคคล” มีคุณภาพ ทางจิตใจสูงส่งจริง

อย่าพึงคาดเดาว่า คนผู้ทำงานฟรี หรือทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนกลาง เพื่อประโยชน์ ผู้อื่น โดยไม่รับรายได้ ไม่รับค่าจ้างนั้น จะยังชีพอยู่ไม่ได้ จะไม่สามารถ อยู่รอด ในสังคมมนุษย์ แม้ในสังคมที่ต่างเห็นแก่ตัวอย่างทุกวันนี้ อาจจะเชื่อยาก แต่ขอยืนยันว่า เป็นไปได้ และในปัจจุบันนี้ ก็มีอยู่จริง ทั้งที่เป็นส่วนตัวเดี่ยวๆ ทั้งที่อยู่ เป็นหมู่เป็นสังคม มีระบบแบบแผนด้วย กระทั่งชื่อว่าวัฒนธรรม

การมีชีวิตของคนที่ปฏิบัติธรรมตามแบบพุทธ จึงเป็นความเจริญก้าวหน้า ทั้ง “งานอาชีพ” ทั้ง “กรรม” ต่างๆ “นึกคิด-พูด-การกระทำ” ทุกอย่างเจริญก้าวหน้าด้วย และบรรลุภูมิธรรมที่เป็น “อาริยธรรม” ไปด้วย

“การดำรินึกคิด” หรือ “สังกัปปะ” ซึ่งก็เป็นปกติในชีวิตของคน คนทุกคน ก็ต้องดำริ นึกคิด เป็นธรรมดาสามัญ แต่สำหรับผู้ปฏิบัติธรรมแบบพุทธ ที่มีการศึกษา ศาสนา พุทธดีแล้ว ก็ต้องพยายามสังวรสำรวม เพื่อ “ละมิจฉาสังกัปปะ ๓” อยู่กับชีวิต ที่ดำเนินไปนั่นแหละ อย่างมี “สัมมาทิฏฐิ” และมี “สัมมาปฏิปทา” (แนวทางการประพฤติตน ที่ถูกต้อง)

ดังนั้น ชีวิตปกติ ก็จะมี “ความพยายาม” และมี “สติ” รู้ตัวให้ได้เสมอ ที่จะ “รู้เห็น” กรรมต่างๆของตน ทั้ง “ความดำรินึกคิด” ที่เป็นมโนกรรม ทั้ง “การพูด” ที่เป็นวจีกรรม ทั้ง “การกระทำทางกาย” ที่เป็นกายกรรม หรือ “การกระทำทุกอิริยาบถ รวมทั้ง กายวาจาใจ” ที่เรียกว่า “กัมมันตะ” และทั้ง “การทำงานอาชีพ” ที่เรียกว่า “อาชีวะ” ก็จะพิจารณาอยู่ตลอด ตามหลักของ “สติปัฏฐาน ๔” คือ พิจารณา “กายในกาย - เวทนาในเวทนา - จิตในจิต - ธรรมในธรรม” และย่อมปฏิบัติเป็นไปกับ “องค์รวม” หรือ “องค์ประชุม” ทั้งหมด ดังกล่าวมาแล้ว

การพิจารณาที่สำคัญมาก ก็คือ พิจารณา "เวทนาในเวทนา"

เมื่อเราพิจารณา“เวทนาในเวทนา” ของเราเจาะทะลวงทะลุลึกเข้าไปกระทั่งผ่านการ “รู้,เห็น” ชนิดเป็น “ภาวนามยปัญญา” ซึ่งไม่ใช่รู้แค่นึกคิดเพียงกับเหตุผล และบัญญัติ หรือเพียงนั่งสะกดจิตเข้าฌานแล้วก็พิจารณาเวทนาในภวังค์ นึกคิดอยู่ในภวังค์ ตรวจสอบอารมณ์ ในขณะอยู่ในภวังค์แค่นี้เท่านั้น แต่เป็น การพิจารณา “เวทนา ในเวทนา” ที่สามารถรู้ลึกลงไปยิ่งๆขึ้น ในการปฏิบัติแบบพุทธ ตามทฤษฎีมี “โพชฌงค์ ๗” และ “มรรค ๘” หรือตามสูตร “โพธิปักขิยธรรม ๓๗” อันผู้ปฏิบัติ ก็ปฏิบัติอยู่กับชีวิตประจำวันปกติ นี้แลตลอด

โดยสามารถเจริญก้าวหน้าทางธรรมได้ด้วย การรู้ยิ่งครบพร้อมถึง "เวทนาในเวทนา" อันแสนสลับซับซ้อน สอดสลับลึกซึ้ง ตั้งแต่ "เวทนา ๒ - ๓ - ๕ - ๖ - ๑๘ - ๓๖" กระทั่ง แจกละเอียดไปถึง "เวทนา ๑๐๘"

(อ่านต่อฉบับ ๑๓๑) ชีวิตนี้มีปัญหา ๒

อ่านฉบับ 129   อ่านฉบับ 131
ชีวิตนี้มีปัญหา ๒ สมณะโพธิรักษ์ ( เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๓๐ พฤษภาคม ๒๕๔๔ หน้า ๒๘ )