หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

 
ชีวิตนี้มีปัญหา ๒
สมณะโพธิรักษ์
หนังสือพิมพ์ เราคิดอะไร ฉบับ 131 มิถุนายน 2544
หน้า 1/1

โดยสามารถเจริญก้าวหน้าทางธรรมได้ด้วย การรู้ยิ่งครบพร้อมถึง “เวทนาในเวทนา” อันแสนสลับซับซ้อน สอดสลับลึกซึ้ง ตั้งแต่ “เวทนา ๒-๓-๕-๖-๑๘-๓๖" กระทั่งแจกละเอียดไปถึง "เวทนา ๑๐๘”

(ต่อจาก ฉบับที่ ๑๓๐)

(๑) “เวทนา ๒” อันได้แก่ เวทนาทางกาย กับ เวทนาทางใจ

เมื่อ “ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย” สัมผัสกับวัตถุภายนอกเกิดความรับรู้ แล้วก็รู้สึกขึ้น หรือ เกิดอารมณ์ขึ้น เรียกว่า อารมณ์ทางกาย ความรู้สึกอันเกิดจากภายนอก นี้คือ “เวทนาทางกาย”

ส่วน “เวทนาทางใจ” คือ อารมณ์ทางใจ หรือความรู้สึกเกิดจากการปรุงขึ้น ในใจเอง ไม่ใช่อารมณ์ หรือความรู้สึกที่เกิด เพราะการสัมผัส จากทางกายทวารทั้ง ๕ ภายนอก [ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย]

การพิจารณา ก็คือ อ่านอารมณ์ในการปฏิบัติเพื่อให้เกิด “สัมมาสมาธิ- สัมมาญาณ-สัมมาวิมุติ” ดังที่ได้อธิบายมาแล้วนั่นแหละ ทั้งในขณะ “คิด-พูด-กระทำอะไรต่างๆอยู่ - ประกอบอาชีพอยู่” ซึ่งต้องพยายามให้ “รู้-เห็น” กระทั่งรู้แจ้งถึงความรู้สึก หรือ อารมณ์ของตนว่า อย่างไรคือ ความรู้สึกอันเนื่องเกี่ยวกับทางกาย หรือ เนื่องเกี่ยว กับภายนอก และความรู้สึกอย่างไรคือ ความรู้สึกอันเนื่องเกี่ยวกับทางใจ หรือ เนื่องเกี่ยวกับภายใน

ที่สำคัญคือ สามารถแยกแยะได้ว่า อารมณ์ หรือความรู้สึก ที่เรียกว่าทางกาย มีเหตุมาจากภายนอก จึงเรียกว่า “เวทนาทางกาย” ส่วนความรู้สึก หรืออารมณ์ ที่ไม่ได้มีเหตุ มาจากภายนอก แต่เกิดจากภายในใจเอง จึงเรียกว่า “เวทนาทางใจ” ซึ่ง “การรู้อารมณ์” นั้น ก็อยู่ในขณะที่มันมีมันเป็นอยู่ ในขณะมีสภาพคนตื่นๆปกติ อันมี “องค์ประกอบ” มี “องค์รวม” อยู่พร้อมทั้งทวาร ๖ เปิดรับวิถี อายตนะ ๖ ทำงาน เชื่อมต่อรับรู้ สัมผัส ๖ ก็รับกระทบอยู่ วิญญาณ ๖ รับซับทราบอยู่เต็มสภาพ เราก็สามารถพิจารณา “เวทนา ๒” รู้ยิ่งได้อยู่ตลอดเวลา ขณะ “ตริตรึกนึกคิด” ก็ปฏิบัติให้เกิด “สัมมาสังกัปปะ” ขณะ “พูด” ก็ปฏิบัติให้เกิด “สัมมาวาจา” ขณะ “ทำอะไรต่ออะไรอยู่” ก็ปฏิบัติให้เกิด “สัมมากัมมันตะ” ขณะ “ทำอาชีพ” อยู่ ก็ปฏิบัติให้เกิด “สัมมาอาชีวะ” จึงสามารถรู้ “เวทนาทางกาย-เวทนาทางใจ” ได้อยู่ในขณะปฏิบัติทุกอิริยาบถ มิใช่จะรู้ “เวทนาทางกาย” ก็ขณะหนึ่ง และจะรู้ “เวทนาทางใจ” ก็ในอีกขณะที่นั่งหลับตา หรือเข้าภวังค์ เท่านั้น จึงจะสามารถรู้ “เวทนาทางใจ” หากมีอิริยาบถทำงานทำการ ทางกายกรรม ทางวจีกรรมอยู่ ก็ไม่สามารถ รู้ “เวทนาทางใจ” ก็จะมิใช่อย่างนั้น

(๒) “เวทนา ๓” ต้องพิจารณากระทั่ง “รู้-เห็น” ชนิด เป็น “ภาวนามยปัญญา” ซ้อนลึกเข้าไปอีกว่า “เวทนา ๓” อันได้แก่ สุขเวทนา, ทุกขเวทนา, อทุกขมสุขเวทนานั้น ใน“อารมณ์”เป็นอาการอย่างไร ลักษณะอย่างไร ที่ว่า “อารมณ์สุขกับอารมณ์ทุกข์” นั้นมันต่างกัน (ลิงค) ต่างอย่างไร ก็ต้องหยั่งเข้าไปซับทราบในภาวะจริง อันเกิดอันเป็น ของตนๆ ที่เกิดขึ้นในขณะที่กระทบสัมผัส ทั้งทางตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ กระทั่ง “รู้-เห็น” เป็นญาณเป็นปัญญา ดังที่ได้สาธยายมาแล้ว มากมาย และแม้แต่ “อารมณ์อทุกขมสุข” หรือ “อุเบกขา” ก็แตกต่างกับ “อารมณ์สุข หรืออารมณ์ทุกข์”

ในการเรียนรู้ “เวทนา ๓” ช่วงต้นนี้ ก็มีเพียงสุขเวทนา, ทุกขเวทนา, อทุกขมสุข เวทนาธรรมดา แบบโลกียะ หรือแบบ “เคหสิตเวทนา” ไปก่อน ยังไม่ถึง ความละเอียด ขึ้นถึงขั้นแยกเป็นโลกุตระ หรือแบบ “เนกขัมมสิตเวทนา”

นี่ก็เหมือนกัน อารมณ์หรือความรู้สึก ที่เรียกว่า “อารมณ์สุข, อารมณ์ทุกข์, อารมณ์ อทุกขมสุข หรืออุเบกขา” ก็ต้องพิจารณาให้สามารถแยกแยะได้ ในขณะที่มัน มีมันเป็นอยู่ ในสภาพของคนตื่นปกติอันมี “องค์ประกอบ” มี “องค์รวม” อยู่พร้อม ทั้งทวาร ๖ เปิดรับวิถี อายตนะ ๖ ทำงานเชื่อมต่อรับรู้สัมผัส ๖ ก็รับกระทบอยู่ วิญญาณ ๖ รับซับทราบอยู่เต็มสภาพ เราก็สามารถปฏิบัติ ฝึกฝนจนพิจารณารู้ “เวทนา ๓” ตามที่มันเกิดมันเป็น ในทุกอิริยาบถตลอดเวลา มิใช่จะรู้ “เวทนา ๓” ก็แต่ขณะที่นั่งหลับตาปิดหู หรือเข้าภวังค์เท่านั้น

(๓) “เวทนา ๕” อันได้แก่ สุขินทรีย์, ทุกขินทรีย์, โสมนัสสินทรีย์, โทมนัสสินทรีย์, อุเบกขินทรีย์ ซึ่งเป็น “อินทรีย์” ของ “เวทนา”

“อินทรีย์” ในที่นี้หมายถึง น้ำหนักหรือความเข้มข้น หรือความมีอำนาจของเนื้อหา ที่เรียกว่า “สุข” ก็ดี มันเป็นอย่างไร มีฤทธิ์เท่าไหร่ ขอบเขตแค่ไหน มีสภาพมาก สภาพน้อยปานใด “ทุกข์” ก็ดี มันเป็นอย่างไร มีฤทธิ์เท่าไหร่ ขอบเขตแค่ไหน มีสภาพมากสภาพน้อยปานใด

“โสมนัส” ก็ดี “โทมนัส” ก็ดี “อุเบกขา” ก็ดี มันเป็นอย่างไร มีฤทธิ์เท่าไหร่ ขอบเขต แค่ไหน มีสภาพมากสภาพน้อยปานใด

ผู้ปฏิบัติจะรู้แจ้งได้จากการพิจารณาสภาวะแท้ของ “เวทนา” เหล่านี้ที่เกิดที่เป็นในตน ขณะมีสัมผัส เป็นปัจจัย ซึ่งต้องฝึกฝนพิจารณาด้วยของจริง

และต้องพิจารณาให้รู้แจ้งไปกระทั่ง นัยที่กำหนดลงไปอีกว่า “สุข” นั้นหมายเอา ความสบายกาย อันเป็นความสบาย ที่เนื่องอยู่กับภายนอก ซึ่งนับว่าต่างจาก “โสมนัส” ที่หมายเอา ความสบายใจ อันเป็นความสบาย ที่เนื่องอยู่แต่ภายใน

หรือ “ทุกข์” ก็ดี ก็มีนัยที่กำหนดลงไปอีกว่า หมายเอา ความไม่สบายกาย อันเป็น ความไม่สบาย ที่เนื่องอยู่กับภายนอก ซึ่งต่างจาก “โทมนัส” ที่หมายเอา ความไม่สบายใจ อันเป็นความไม่สบาย ที่เนื่องอยู่แต่ภายใน

เวทนาต่างๆเหล่านี้ ผู้ปฏิบัติต้องมี “ภาวะ” จริงในตน และสัมผัสพิจารณาอ่านรู้ แยกแยะได้จากของจริงเอง จึงจะ “รู้ยิ่งจริงแท้” แม้รู้แล้วก็ยังยากยิ่ง ที่จะกล่าว จะบอกด้วยคำพูด ให้แก่ใครๆรู้แจ้ง ตรงตามภาวะนั้นๆได้ง่าย

(๔) “เวทนา ๖” อันได้แก่ จักขุสัมผัสสชาเวทนา (ความรู้สึกที่เกิดจากการแตะต้อง (สัมผัส) ทางตา) เป็นต้น และอีก ๕ เวทนา ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เกิดจากการแตะต้อง (สัมผัส) ทางหู, ทางจมูก, ทางลิ้น, ทางกาย, ทางใจ

แม้จะมี “ตา,หู,จมูก,ลิ้น,กาย, ใจ” แต่ถ้าไม่มี “การแตะต้อง, การสัมผัส” “เวทนา” ก็ไม่ชื่อว่า “มี” เพราะ “สัมผัส” เป็นปัจจัย “เวทนา” จึง “มี” (ปฏิจจสมุปบาท) ซึ่งความหมายของ “สัมผัส” นี้ สำหรับทวารภายนอก ๕ คือ ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย นั้น พอเข้าใจกันได้ง่าย ว่าแตะต้องอย่างไร หรือสัมผัสอย่างไร แต่เรื่อง “สัมผัสทางใจ” นั้นก็มี “ธรรม” ที่แตะต้องปรุงกันเป็น “ธรรมารมณ์” ถึงแม้จะเห็นไม่ได้ เหมือน ทวารนอก เพราะเป็นนามธรรม หรือเป็นอรูป ทว่าในใจเองก็ “มีสัมผัส” ทางนามธรรม ต่อนามธรรม หรือใจในใจ สัมผัสกันเองเช่นกัน

ซึ่งอาตมาก็ได้แจกแจง อธิบายมาพอสมควรแล้ว ว่าเมื่อสัมผัสเกิดขึ้นก็มี “ความรู้สึก หรืออารมณ์” (เวทนา) ที่เกิดจากสัมผัสทางตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ อันเป็นทวารรู้ทั้ง ๖ ของคนทุกคน ที่ต้องมีต้องเป็น หากผู้ปฏิบัติได้ศึกษาเรียนรู้ จากเหตุ จากปัจจัยต่างๆ ได้ถูกถ้วน ครบถ้วนละเอียดลออ ก็จะรู้แจ้งเห็นจริง ด้วยข้อเท็จข้อจริง สมบูรณ์ยิ่งๆ ว่าเราเอง หลงติดยึด “รูป” อยู่อย่างไร หรือเท่าไหร่ มากกว่า หรือ น้อยกว่ายึดติด “เสียง” อะไรอย่างนี้ เป็นต้น หรือแง่อื่นๆเชิงอื่น อีกมากมาย ที่เราจะต้องศึกษา จากการสัมผัส แล้วมีอะไรใน “อารมณ์ หรือ ความรู้สึก” ด้วยการอ่านพิจารณา แยกแยะลึกซึ้งขึ้นไปเรื่อยๆ

การปฏิบัติธรรมของพุทธ ลดละกิเลสกันในขณะมีการสัมผัส แตะต้องอยู่หลัดๆ นี่แหละ เมื่อสัมผัสทางตา เห็นรูปอยู่ก็ดี สัมผัสทางหู ได้ยินเสียงอยู่ก็ดี หรือทุกๆทวาร ขณะสัมผัสอยู่ ก็ต้องอ่านพิจารณา “อารมณ์ หรือ ความรู้สึก” ให้ได้ ให้ทันเสมอ แล้วฝึกหัด พิจารณา “เวทนาในเวทนา” ให้ก้าวหน้าสู่มรรคผลสูงขึ้นๆ

(๕) “เวทนา ๑๘” อันได้แก่ เวทนาที่เกี่ยวกับโสมนัส ๖, (ความรู้สึกที่ปรนปรุงไปด้วย กับสุข แบบโสมนัส ๖) เวทนาที่เกี่ยวกับโทมนัส ๖, (ความรู้สึกที่ปรนปรุงไปด้วยกับทุกข์ แบบโทมนัส ๖) เวทนาที่เกี่ยวกับอุเบกขา ๖ (ความรู้สึกที่ปรนปรุงไปด้วยกับ ความไม่สุขไม่ทุกข์ แบบอุเบกขา ๖)

(มีต่อฉบับหน้า) อ่านต่อเล่ม ๑๓๒

ซึ่งความสามารถขั้นต่อจากการพิจารณา เวทนาในเวทนา ลึกซึ้งมาขั้นนี้ ก็จะต้องพิจารณาแยกแยะ อารมณ์ในอารมณ์ ให้รู้แจ้งลึกลงไปในอารมณ์ ยิ่งๆขึ้นไปอีก หรือแยกแยะเอารายละเอียดของ เวทนาในเวทนา ขั้นพยายามรู้ ความละเอียดของ อาการหรือความปรนปรุงในภายใน ว่ามี อาการ ของอะไร ที่ปรนปรุงกันอยู่ใน อารมณ์หรือ ความรู้สึก (เวทนา = emotion) นั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของ เวทนา ๒ หรือเวทนา ๓ หรือเวทนา ๕ ที่เราได้ศึกษามี ปัญญา รู้แจ้งมาแล้วนั้นๆ

อ่านฉบับ 130
ชีวิตนี้มีปัญหา ๒ สมณะโพธิรักษ์ ( เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๓๑ มิถุนายน ๒๕๔๔ หน้า ๒๘ )