เวทีความคิด ....เสฏฐชน
ค่าใด? สูงกว่ากัน

หนังสือพิมพ์ เราคิดอะไร ฉบับที่ 131 เดือน มิถุนายน 2544
หน้า 1/1

คนเป็นสัตวโลกประเภทที่คนด้วยกันเชื่อว่ามีค่ายิ่งกว่าสัตวโลกชนิดใดๆ เพราะคนกันเองนั่นแหละได้ช่วย กันปลูกฝังความรู้สึกเช่นนี้สืบต่อกันมา จนไม่อาจควานหาเบื้องต้นของความเชื่อเช่นนี้ได้ว่า เกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ เพราะคนทุกคน ที่เกิดมาแล้วก็ล้วนมีความรู้สึก ร่วมเช่นนี้ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแทบทั้งสิ้น ไม่ยกเว้นว่า จะเป็นคนเต็มคนหรือครึ่งคน หรือสิ่งที่ไม่ใช่คนในร่างของคนก็ตาม

"คน" จึงได้มีชื่อเรียกอีกคำหนึ่งว่า มนุษย์ แม้โดยปกติจะไม่ติดปากเท่าคำว่า คน ก็ตาม เพราะมีท่านผู้รู้ ครองเพศบรรพชิต ได้ให้แปลคำว่า “มนุษย์” ได้หรูเริดสร้างความภาคภูมิใจให้แก่คนได้มากกว่า นั่นคือ “ผู้มีใจสูง” ทั้งๆ ที่ถ้าเทียบส่วนของอวัยวะในร่างกายแล้ว ยังมีส่วนที่สูงกว่าใจอยู่อีก คือสมอง แต่หัวสมองไม่มีสิ่งที่คนให้ ค่าที่แทบจะกล่าวได้ว่า อาจจะเหนือกว่า นั่นคือ หัวใจ เพราะคำว่าหัวใจ รวมไปถึงอารมณ์ ความรู้สึก วิญญาณ

“หัวใจ” หมายรวมถึง ความผสมผสานของสิ่งต่างๆ ที่ดีๆ ด้วยกันไว้หมด เพราะหัวใจเป็นสื่อถึงความสุข ความทุกข์ ความเฉลียวฉลาด ความดี ความชั่ว ฯลฯ จนคนอยากจะได้ตำแหน่ง เจ้าหัวใจ กันแทบทั้งนั้น

ด้วยเหตุนี้แหละสงครามระหว่าง “หัว” กับ “ใจ” จึงเกิดขึ้นอยู่เสมอ ถ้าเรารู้จักสังเกตให้ดีๆ หากจะ บอกว่า หัว คือสมอง ความคิด กับ ใจ คือวิญญาณ ความรู้สึก หรือจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า “หัว” คือเหตุผล “ใจ” คืออารมณ์ ก็ได้เหมือนกัน

พอพูดคำว่า “คนนี้มีหัวดี” เราก็เข้าใจได้ทันทีว่า เขาหมายถึง “คนนี้มีปัญญาดี” และปัญญาดีนั้นก็หมาย ถึงผู้เรียนหนังสือดี เรียนหนังสือดีก็หมายถึง ได้รับการศึกษาดี คือได้รับปริญญาเป็นที่สุด แม้ผู้ที่เรียนไม่ค่อยดี อาจ จะสอบตกบ้าง จบช้าไปบ้าง แต่ถ้าพยายามตะเกียกตะกายจนได้ปริญญา เขาก็ยังให้ความเชื่อถืออยู่ดีนั่นแหละ คนจึงไขว่คว้าสร้างค่าให้คนด้วยกันเองโดยวิธีนี้ แม้แต่คนที่มีฐานะยากจนทุนทรัพย์ ก็ยอมขายแรงงาน หรือทรัพย์สินที่มีอยู่น้อยแสนน้อยแล้วนั้นไป เพื่อเป็นทุนส่งให้ลูกหลานของตัวเอง ได้เข้าเรียนในสถานที่เรียกว่า “มหาวิทยาลัย” ด้วยความเชื่อว่า ผู้ที่จบจากที่นี่แหละ จะทำให้ลูกหลานของเขา “มีค่าสูงขึ้น” เพราะมีคำพ่วงท้าย ว่า “บัณฑิต”

โดยเฉพาะผู้หญิงยุคนี้ มีโอกาสมากมายที่จะก้าวไปสู่โลก ที่สูงกว่าในอดีต ที่ถูกจำกัดไว้เฉพาะภายในบ้าน หรือวัง เพื่อเตรียมตัวเป็น "แม่บ้าน-แม่เรือน" ของสามีเท่านั้น

ถ้าจะยกย่องผู้หญิงในยุคก่อน ก็ต้องวัดจากความเป็น "แม่ศรีเรือน" คือ ปรนนิบัติสามีดี เลี้ยงดูลูกเต้า ดี ดูแลพ่อแม่พี่น้องญาติของสามีดี เป็นบรรทัดฐาน วิชา “การเรือน” หรือ “การช่างสตรี” จึงเป็นวิชาแนวหน้า ต่างกันลิบลับจากยุคนี้ ที่ผู้หญิงมักจะเลือกเรียนวิชาบริหารธุรกิจ นิเทศศาสตร์ พาณิชยศาสตร์ นิติศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเดินสวนทาง กับการดำเนินชีวิตก่อนๆ คือ ได้ทำงานนอกบ้าน เปิดเผยตัวเองต่อสาธารณชน แสดงความคิดกว้างขวาง อยู่ร่วมกับสังคมหมู่ใหญ่ ไล่เลียงไปจนถึงการประชาสัมพันธ์ ต้อนรับ นำเที่ยว จนกระทั่ง ร้องรำทำเพลง เดินแฟชั่นโชว์ แสดงหนัง เล่นละคร ทั้งทางจอแก้ว จอเงิน ไม่ยกเว้นแม้กระทั่ง การไปเดินโชว์เรือนร่าง อยู่บนเวทีประกวดนานาชนิด

ที่สาธยายมาทั้งหมดก็ล้วนคือ บทบาทของการก้าวไปข้างหน้า ของการสร้างค่าในโลกของผู้หญิง ที่เป็นความ ร่วมมือร่วมใจกันจากผู้ชายด้วย

แน่นอนว่าผู้ที่ช่วยกันสร้างค่าเหล่านั้น เขาล้วนมีความเชื่อเดียวกัน ว่าเป็นการสร้างสรรที่เจริญของสังคม มนุษย์ เขาจึงยอมรับที่จะเปิดทางให้ผู้หญิง เดินไปตามเส้นทางนี้ ไม่ว่าจะเป็นทางไปสู่ความเป็น “บัณฑิต” หรือ “นางงาม”

ยิ่งปัจจุบันนี้ เขาได้ผนึกรวมบัณฑิต และนางงามเข้าด้วยกันอย่างมั่นเหมาะ ด้วยเหตุผลว่า “มีกึ๋นแล้วต้อง มีอึ๋มด้วย” หรือ ใช่มีแต่ “อึ๋ม” อย่างเดียวเป็นพอ ควรมี “กึ๋น” ด้วยจึงจะใช้การได้ดี

ฉะนั้น บรรดาผู้มี “กึ๋น” คือผู้หญิงที่จบปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอกทั้งหลายจึงนิยมคล้อยตามที่ จะพากันไปสมัคร “ประกวดอึ๋ม” กันบนเวทีในชุดอาบน้ำ “วันพีซ-ทูพีซ” ฟิตเปรี๊ยะ เพื่อจะเข้ารอบชนะเลิศ ๑๐ คน จนกระทั่งไปสู่ดวงดาว คือหนึ่งเดียวในประเทศไทย และอาจไปถึงความเป็นหนึ่งเดียวในจักรวาลด้วย

คำโบราณที่ผู้หลักผู้ใหญ่เคยสั่งสอนตักเตือน ให้สติลูกสาวหลานสาวไว้ว่า “ให้รักนวลสงวนตัว” “ให้รัก ศักดิ์ศรีของลูกผู้หญิง” นะ ระวังเนื้อระวังตัว “ริ้นอย่าให้ไต่ ไรอย่าให้ตอม” ดูจะสลายไปกับสายธารแห่ง กาลเวลาเสียแล้ว

เพราะแม้พ่อแม่ ผู้ใหญ่ที่เขาบอกว่า “ทันสมัย” นั้นกลับเป็นฝ่ายสนับสนุน เตรียมกรุยทางให้ลูกสาวหลาน สาวสวยๆ ของตน ได้มีโอกาสขึ้นไปกรีดกราย เดินย้ายส่ายตะโพกโชว์อึ๋ม อยู่บนเวทีการประกวดด้วยซ้ำไป เคยได้ ฟังคำสัมภาษณ์จากข่าวว่า บางคนถึงกับเตรียมตัวก่อน ล่วงหน้าเป็นปีๆ เพื่อให้ลูกสาวหลานสาว กระโดดสูงไป สร้างค่าให้ตนเองในทิศทางนี้ จึงแทบจะหา “ช้างเผือกในป่า” ประเภท “น้องนางบ้านนา” จบประถม ๔ ผู้ด้อยการ ศึกษา ความรู้เกรดต่ำแต่ รูปสวย ผมงาม ตาหยาดเยิ้ม เรือนร่างอรชร มาเข้าประกวดไม่ได้ เพราะสินค้าตัวใหม่ ยุคไฮเทคที่ส่งตรง จาก "นักเรียนนอก-บัณฑิตใน" มีให้เลือกเป็นเข่งๆจนเพิ่มดีกรีเป็นโท เป็นเอกมากขึ้นตาม จำนวนครั้งที่ถึงฤดูประกวดนางงาม

จากคำสัมภาษณ์บัณฑิตตรี-โท-เอก ทั้งนอกและในประเทศเหล่านั้น ว่ามีแรงบันดาลใจอะไรที่ทำให้เธอยอม มาโชว์เรือนร่างบนเวทีประกวดนางงามแล้ว ออกฉงนใจ มากๆ ว่า ทำไม? บัณฑิตที่ย่อม มีความเฉลียวฉลาด เป็นทุนเดิม ไยกลับมองเห็นว่าการเอาเรือนร่างไปเดินโชว์ ท่ามกลางสายตาสาธารณชน เป็นเส้นทางไปสู่ "ความสูงของชีวิต" ในเมื่อเราเคยได้รับคำสั่งสอน จากประเพณีวัฒนธรรมที่ผู้ใหญ่ดีๆ ของคนไทยเรารักษาสืบทอด กันต่อๆ มาว่า ชีวิตจะสูงได้ด้วย “พฤติกรรมสูง” เท่านั้น

พฤติกรรมสูงนั้น ทางพุทธศาสนาเราเรียกว่า “ความประพฤติที่ดี” ซึ่งดูได้จาก กายดี วาจาดี ใจดี

กายดี หรือกายสุจริต จะต้องเป็นการดำรงชีวิตที่สะอาด ไม่ขายตัวกิน หรือมีอาชีพขายตัว ไม่ว่าจะขายตัว เอง หรือเอาตัวคนอื่นไปขาย ล้วนเป็น “มิจฉาวณิชชา” ทั้งสิ้น

กายดี ต้องรู้จักรักนวลสงวนตัว ปกปิดกาย ไม่ยั่วยวน ใครๆ ด้วยกาย ดังจะเห็นได้จากสตรีมุสลิมที่พยายาม คลุมหน้า คลุมแขน คลุมขา คลุมหัว เพราะเขาไม่ส่งเสริมให้กายไม่ดี ซึ่งแต่งตัวตรงกันข้ามนี้ต้องไปทำให้ก่อบาป ก่อเวรก่อกรรมแก่ผู้อื่น เป็นพาหะความใคร่ กำหนัด ที่หมิ่นเหม่ต่อการกระทำผิดทางเพศ ทำนองตัดไฟแต่ต้นลม ไม่ประมาท แม้ต้องอดทนต่อดินฟ้าอากาศที่ร้อนอบอ้าวก็มีอานิสงส์ที่ดี ที่เธอเหล่านั้นยินยอม แล้วสตรีพุทธจะมี สติปัญญาด้อยกว่าได้อย่างไร? ในเมื่อหลักคำสอนของพุทธศาสนานั้น ได้กล่าวถึงโทษภัยของรูป รส กลิ่น เสียง สี แสง ไว้อย่างละเอียดลออ หลายเชิงชั้น ไม่ลำเอียงว่าเพศหญิงหรือชาย อย่าหลงใหลเป็นแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ คือ ไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะเป็นอันขาด จนชาวพุทธบางกลุ่ม เบี่ยงเบนไปสร้าง “พระปิดทวาร” ในวงการนักเล่น พระเครื่องด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่จริงๆแล้วพระพุทธเจ้าทรงสอนให้คน “สำรวมอินทรีย์” ต่างหาก

สินค้าบางอย่างขายได้ด้วยการ “ให้ดู” บางอย่างขายได้ด้วยการ “ให้จับต้อ”ง บางอย่างขายได้ด้วยการ “ให้เป็นเจ้าของ” แต่แน่นอนว่า ก่อนที่จะถึงขั้นเป็นเจ้าของ ก็ต้องมีการดู จับต้องมาก่อนเป็นบันไดเบื้องต้น

ดังนั้น ผู้ที่เข้าใจผิดไปว่า “น่าไปดูสิ่งที่ไม่ควรดู” หรือ “เปิดให้ดูสิ่งที่ไม่ควรเปิดให้ดู” เป็นหนทางของการ ก้าวไปสู่ความสูงของชีวิต มิกลายเป็น เอาหัวเดินต่างเท้าไปหรือ?

ถ้าจะให้เหตุผลว่า การไปเดินประกวดเป็นการโชว์ของดีที่เธอมี ก็น่าจะคิดได้อีกมุมหนึ่งว่า ของดีนั้นมีหลาย ระดับ คือมีได้ทั้ง “ของดีในระดับดี” กับ “ของดีระดับเลว” ไม่ต่างไปจากคำเปรียบเปรยที่มีได้ทั้ง “ดาวฟ้า” และ “ ดาวดิน”

หากบัณฑิตหญิงผู้เข้าประกวดจะ “แก้ตัว” และยืนยันที่จะไป “แก้ผ้า” บนเวทีด้วยเหตุผลว่า จะมีโอกาส “แก้หน้า” ระดับประเทศ ระดับจักรวาลที่หวังผลในอนาคต ไม่ว่าผู้ที่เดินเส้นทางสายนี้ จะได้ก้าว ต่อไปเป็นดารา พิธีกร นักแสดง นักร้อง จนกระทั่งอาจเป็นถึงคุณหญิง คุณนาย เราก็คงจะต้องทำใจยอมรับ คำดำรัสของพระพุทธ องค์ที่กล่าวว่า “ผู้หญิงมีกามคุณห้าเป็นทำเลเครื่องหากิน” ในที่สุด

“ค่าของคน” อยู่ที่ใบกระดาษปริญญาจริงหรือ? ถ้าเช่นนั้นแล้ว ไฉนคนจึงยังต้องหันมาสร้างค่าด้วยการ เปลืองตัว เปลืองกาย ขึ้นไปอีก ระหว่างใบปริญญา กับตำแหน่งนางงาม อะไร? มีค่ากว่ากัน? หรือล้วนมี “ค่า เทียม” เท่ากันจริง ๆ

“ค่าปริญญา” ทำให้คนนำไปทำให้เกิดผลอะไร?

“ค่าการประกวด” ทำให้คนนำไปทำให้เกิดผลอะไร?

ไฉนสถาบันที่สร้างบัณฑิตเหล่านั้น จึงไม่ลองนำเรื่องนี้มาวิจัยวิจารณ์ดูบ้าง ค่าอย่างไรที่จะทำให้ “บัณฑิตมีค่า” ให้ “สถาบันมีค่า” หรือเพียงแต่นำไปตีราคาเป็นสินค้าก็พอแล้ว

ถ้าหากคิดกันเพียงแค่นี้ ก็ไม่น่าที่จะเสียงบประมาณ ในการสร้างสถาบันระดับมหาวิทยาลัย เสียงบ ประมาณทุนการศึกษามากมาย ทั้งเสียเวลาในชีวิตไม่น้อย ที่กว่าจะได้ปริญญามาแล้ว ต้องนำมาสร้างค่าเสริมใน ทำนองนี้อีก ในเมื่อเรือนร่างนี้ ก็มีราคาของมันอยู่เดิมสำหรับ “การเป็นทาส” ทุกยุค ไม่ว่าจะเป็นทาสเรือนกาย หรือทาสความคิด รวมไปถึงทาสวัฒนธรรมของชาติต่างๆ ในโลก

เพียงการจะตัดสินใจว่าระหว่าง “ค่าของบัณฑิต” กับ “ค่าของนางงาม” อย่างใดพึงส่งเสริม จำเป็นกว่ากัน ยังไม่ได้แล้ว “ค่าของความสูงจริงๆ” จะตัดสินกันได้อย่างไร

 
อ่านฉบับ 130    

เวทีความคิด เสฏฐชน (เราคิดอะไร ฉบับ ๑๓๑ มิ.ย. ๔๔ หน้า ๔๕ - ๔๗ )