สิบห้านาทีกับพ่อท่าน โดย ทีม สมอ. ตอน...
กว่าจะสัมมาทิฐิ
หนังสือพิมพ์สารอโศก อันดับที่ 153 เดือนกุมภาพันธ์ 2535
ฉบับ "กว่าจะสัมมาทิฐิ"

บางคนพูดว่า...

ถ้าชีวิต คือ การเดินทาง
"สัมมาทิฐิ" ก็ คือ แผนที่
ถ้าชีวิต คือ เรือ
"สัมมาทิฐิ" ก็ คือ หางเสือ
ที่ทำหน้าที่บอกทิศทางที่ถูกตรง

: จริงๆ แล้ว สัมมาทิฐิ คือ อะไรคะพ่อท่าน?

: สัมมาทิฐิ ก็ คือ ความเห็น ความเข้าใจ เป็นลักษณะ ของปัญญา แต่ยังไม่ทันเต็มที่ เป็นแต่เพียงความเห็นความเข้าใจ และ ความเห็นความเข้าใจนี่สามารถพัฒนาสูงขึ้นไปสู่ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ไปสู่ทิฐิที่เป็นสัมมาเต็มที่สมบูรณ์ได้

: ทำไมสัมมาทิฐิ จึงได้ชื่อว่าสำคัญที่สุด?

: สำคัญเพราะ ถ้าไม่สัมมาเริ่มต้นแล้ว มันจะนำไปสู่ทางที่ผิด แต่ถ้าเผื่อมันถูกแล้ว มันไปได้ตามเป้าหมาย ตามสัจจะ ไปตามทางที่จะถึงเป้าหมายได้

: ทำอย่างไรเรา จึงจะเข้าถึงสัมมาทิฏฐิ?

: ต้องศึกษามากๆ ต้องค้นคว้า เรามีวิจารณญาณเท่าไหร่ก็ต้องนำมาใช้ แล้วก็หาข้อมูลหลักฐานองค์ประกอบ ความหมายทุกอย่างให้มาก ดีได้มากเท่าไหร่ ความลงตัว ของสิ่งที่จะชี้บ่ง หรือ ชี้บอกถึงความถูกต้อง ถึงความจริง เราก็จะเลือกเอาได้ ด้วยวิจารณญาณ ของเรา

: สัมมาทิฐิมีกี่ระดับคะ?

: สัมมาทิฐิมีนับระดับไม่ได้ มีมากมีมาย เพราะมันเป็นสภาวะที่ซับซ้อน เสริมสร้างขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วก็มีสภาพขัดแย้ง เพื่อที่จะให้เราศึกษาประกอบไปด้วย ในส่วนที่มันถูกต้องมันก็จะส่งเสริม มีลักษณะ ของการปฏิบัติ มีหลัก ของสัมโพชฌงค์ มีธัมมวิจัย มีสัจจะที่เกิดที่เป็นตัวยืน ตัวชี้ชัด ซึ่งจะยืนยันและสอดคล้องกับหลักเกณฑ์กับพระสูตร ทฤษฎี ปรัชญาต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ซึ่งมีให้ตรวจสอบมากแง่มากเชิง แม้แค่หลักใหญ่ๆ สำคัญๆ ก็มีถึง ๑๐ ข้อ เป็นเครื่องตรวจก่อนว่า เข้ากระแสสัมมาทิฐิตามหลักใหญ่แล้ว หรือ ยัง

: ทำไมแต่ละคน จึงมีสัมมาทิฐิไม่เท่ากัน บางคนก็เหมือนมีอยู่แล้ว บางคนก็โมหะไปเลย เป็นเรื่อง ของการสั่งสมมาตั้งแต่เมื่อไหร่?

: สั่งสมมานานนับชาติ แล้วจะไปโมเม เอาว่า เราถูกทีเดียว หรือ เรามีน้อยมีมากไม่ได้ ต้องตรวจสอบว่ามีจริง หรือ ไม่จริง ตามหลักที่กล่าวมาแล้ว

: แต่คนส่วนใหญ่ก็คิดว่าตัวเองสัมมาทิฐิทั้งนั้น แม้ความจริงเขาอาจมิจฉาทิฐิด้วยซ้ำ

: นั่นแหละก็ต้องตรวจสอบ ถึงว่าเอาตัวเองเป็นหลักไม่ได้ ต้องศึกษาค้นคว้ากันจริงๆ ต้องลดอัตตามานะ อย่าไปยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเราเองถูก ต้องวางใจเป็นกลาง ไม่ เช่น นั้น ก็เป็นอัตตามานะเที่ยงแท้อยู่อย่างนั้น ไม่เห็นอย่างอื่น ไม่พิสูจน์อย่างอื่น มันก็ไม่ได้แก้ไข ถ้ามันผิดก็ผิด ถ้าถูกก็บุญไป แต่เพื่อให้แน่นอนก็ต้องพิสูจน์ทั้งสองด้าน เป็นวิภัชวาที อย่าไปมองเพียงแง่เดียวเป็นเอกังสวาที ก็แค่หลักใหญ่ ๑๐ ข้อที่ให้ตรวจดูกันก่อน พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้ไม่เข้าใจกันเลย ยิ่งละเอียดๆ จะสัมมาทิฐิกันได้ง่ายๆ หรือ มันต้องเรียนและพิสูจน์กับความเกิดจริง

: สรุป คือ จะมีสัมมาทิฐิได้ก็ต้องปฏิบัติธรรมจริง

: ปฏิบัติจนกระทั่งมีสภาวะรองรับ ถ้าได้แค่คิดผกผันมันไม่เที่ยงไม่แท้ ไม่แน่นอน แล้วก็เอาจริงไม่ได้ ต้องพิสูจน์สภาวะจริงๆ

สภาวะที่มันสอดคล้องลงตัว ลึกซึ้ง มันจะเห็น ลดก็ คือ ลด ว่างก็ คือ ว่าง ไม่มีก็ คือ ไม่มี ลักษณะอย่างไรเป็นกิเลส โลภ โกรธ หลง เป็นอย่างไร ต้องเห็นต้องรู้ตัวมัน ต้องสัมผัสอาการ เพศ นิมิต ของมันด้วยญาณด้วยอธิปัญญากันจริงๆ

อาการที่หมดโลภหมดโกรธแล้ว เป็นอารมณ์ที่ไม่มี-เป็นอย่างไร อารมณ์ที่มีกิเลสน้อยลงๆ -เป็นอย่างไร ความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ไม่เห็นแก่ตัว ความเกื้อกูล ช่วยเหลือเฟือฟาย มีน้ำใจต่อผู้อื่นมันก็ชัด สามัญมนุษย์เราจริงๆ ก็พอมีความรู้

: สิ่งที่เรียกว่า "สามัญสำนึก" นี่เกิดจากการสั่งสมสัมมาทิฐิ หรือ เปล่าคะ?

: ส่วนมากมันเกิดจากสั่งสมมิจฉาทิฐิก่อน แล้วเขาก็พยายามแก้ไข ให้มันสัมมาทิฐิไปเรื่อยๆ เท่าที่เขาจะมีบุญบารมี

สามัญนี่เป็นเรื่องปกติแล้ว ถ้าเรามีสัมมาทิฐิเป็นสามัญ แสดงว่าเราเจริญมาก ถ้าเรามิจฉาทิฐิเป็นสามัญ แสดงว่าเราไม่เจริญ

คนที่เป็นมิจฉาทิฐิ เป็นปุถุชนที่ไม่เข้าใจโลกุตระ เป็นทาส ของลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข เป็นทาส ของโลกธรรม มันก็เป็นสามัญ ของเขา

การมาเป็นโลกุตรบุคคล เป็นผู้ที่ทิฐิไปในทางลดละ ไถ่ถอน ไม่เป็นทาสโลกียสุข ล้างอัสสาทะออกจากใจนี่สิวิสามัญ ถ้าผู้ใดปฏิบัติจนเป็นปกติได้ ก็ถือว่าเป็นสามัญ ของวิสามัญในบุคคลผู้นั้น คือ โลกุตรบุคคล คือ อริยชน

คือ มีทั้งสามัญ ของ "วิสามัญบุคคล" และ สามัญ ของปุถุชน และ สามัญอย่างหลังมีมากด้วยในสังคม โลกมันถึงยุ่งอยู่ทุกวันนี้

เพราะฉะนั้น ก็ต้องมาพยายามศึกษา พิสูจน์ตัวเองให้พ้นทุกข์แบบอริยะ คือ "พ้นทุกข์อริยสัจ" ไม่ใช่พ้นทุกข์แบบสามัญปุถุชน เมื่อเราพ้นแล้วก็ช่วยคนอื่นได้ ซึ่งมันยากอยู่ แต่ยากเราก็เห็นว่ามันดี ดีที่ไม่แย่งไม่ชิงแล้ว กลับขยันหมั่นเพียร สร้างสรร ช่วยเหลือเป็นความสงบสันติที่ดีแท้จริง เป็นสิ่งที่คนควรได้ควรทำ

ในสังคมอโศก เราก็จะเห็นความพยายามลดละกันลงมาจริงๆ ตามวิธีพ้นทุกข์อริยสัจ คือ ปฏิบัติองค์ทั้ง ๗ ของมรรคอริยสัจ เพื่อให้เกิด"สัมมาสมาธิ" ซึ่งเป็นสัมมาอริยมรรคองค์ที่ ๘ เมื่อลดละลงมาจริงๆ แล้ว มันก็เป็นสังคมคนที่มีพฤติกรรม มีจิตใจที่โน้มเอน หรือ มีปัญญาที่เห็นไปในทิศทางทวนกระแสใจ เป็นทิศทางไปสู่โลกุตระ แม้จะยังไม่จัดเท่าไหร่ ไม่สูงส่งเท่าไหร่ เป็น "สัมมาสมาธิ" คือ เกิดความตั้งมั่น หรือ ความเป็นได้ เช่น นั้นกัน โดยเฉพาะจิตใจนั้นๆ เป็นกันได้สมบูรณ์ไม่เปลี่ยนแปลงยังไม่มากนี่ก็ตาม

เราจะเห็นรูปแบบอยู่แล้วว่า พวกเราก็ยังอยู่กันอย่างสบาย เกื้อกูลกันได้ แม้จะยังมีความหวงแหนอยู่บ้าง มีความโลภเหลืออยู่บ้าง มันก็ต่างกับสังคมข้างนอก แม้จะมีความบกพร่องบ้างก็ไม่จัดจ้านเหมือนอย่างที่เขาเป็นกัน

นี่เป็นเครื่องทดสอบว่า อย่างไรสัมมาทิฐิ อย่างไรมิจฉาทิฐิ อย่างไรจะเข้าทางจริงๆ

: ถ้าตัดรอบกันแล้วพ่อท่านพอใจไหมกับคนที่นี่ พูดได้ว่ามีสัมมาทิฐิ หรือ ยัง?

: อาตมาพอใจทุกๆ ขนาด สัมมาทิฐิ มันไม่ได้ตายตัว อยู่ขนาดเดียว มันวิจิตรพิสดาร สูงส่งขึ้นเรื่อยๆ เจริญขึ้นเรื่อยๆ พิจารณากันไปมันก็จะได้แต่ละขนาด ในแต่ละระดับ ของคน

อาตมาไม่ตะกละ ไม่โลภโมโทสันอะไร มันได้ดีก็ดี ถ้าไม่ได้ก็อุตสาหะ แล้วก็ไม่ได้เสียใจ เพราะทุกวันนี้ก็ได้อยู่ แม้จะมีคนต่อต้าน มีคนเข้าใจผิด เราก็เข้าใจว่า"สามัญ"มันก็เป็นอย่างนี้อแหละ

อาตมาถามคุณหน่อยเถอะว่า โลกทุกวันนี้ปุถุชนกับโลกุตระบุคคล อันไหนมีมากกว่า และ มีจริงไหม

ปุถุชนก็อย่างหนึ่ง โลกุตรบุคคลก็อย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น มันก็จะต้องค้านแย้ง เขาก็ต้องว่าเราผิด เราก็ว่าอันโน้นผิด มันก็พิสูจน์สัจจะแล้ว ถ้าไม่มีอะไรแตกต่างกัน ถ้าเป็นแบบเดียวกัน เรากับเขาก็เป็นปุถุชนเดียวกันสิ ใช่ไหม?

แต่นี่มันไม่ใช่แล้ว ความเห็นหลายอย่างมันไปในทิศทางที่เราได้ตรวจสอบตามทฤษฎี ของพระพุทธเจ้า เป็นไปเพื่อความมักน้อย สันโดษ ทั้งอารมณ์ก็น้อยลงด้วย ทั้งรูปทั้งนามทั้งวัตถุจิตวิญญาณ มันก็ชัดเจนขึ้นไปทุกที ซ้อนลึกขึ้นไปทุกที ดังที่เราได้ศึกษากันนี่ มันไม่ใช่เรื่องตื้นจนเขาว่าเราสุดโต่ง ยิ่งแตกต่างกันชัดเจนมากเท่าไหร่ เขาก็จะยิ่งเห็นว่าสุดโต่งมากขึ้นๆ

เรายิ่งมักน้อย สันโดษ มันก็ยิ่งไม่เสพย์ไม่ติด ไม่ต้องแสวงหามาเพื่อตน ไม่ต้องหวงแหน ไม่ต้องโลภ มันตรงกันข้ามไปไกล เขายิ่งหาว่าเรา"สุดโต่ง"เท่าไหร่ ภูมิใจได้เมื่อนั้นแหละ ขอให้มัน"โต่ง"ได้ตามเขาว่าจริงเถอะ

เมื่อเราเองรู้ทุกข์ แล้วมาปฏิบัติให้พ้นทุกข์ได้บ้างตามลำดับ เบิกบานร่าเริงยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่เครียด ไม่หน้านิ่วคิ้วขมวด ไม่เอะอะโวยวายเหมือนเขามากเท่าไหร่ มันก็ยิ่งห่าง ยิ่งไกลกันกับเขา ก็ยิ่งดีสิ

เรายังรู้เลยว่า กุศล ของเรายังน้อย ยังอยากมีมากกว่านี้ด้วยซ้ำไป อยากไกลโต่งมากกว่านี้ด้วยซ้ำไป

: "โมหะ"กับ"มิจฉาทิฐิ"นี่เหมือนกันไหมคะ?

: โมหะกับมิจฉาทิฐิก็คล้ายๆ กัน คำว่า"โมหะ"เป็นหลัก คำว่า "ทิฐิ" นี่เป็นหน่วยย่อย เป็นหน่วยย่อยที่จะต้องมาประพฤติปฏิบัติ พิจารณาแก้ไข ถ้าเราเริ่มเห็นผิด เราก็เริ่มต้นโมหะ ถ้าเห็นผิดชัดไปเลย เป็นมิจฉาทิฐิสมบูรณ์ไปเลย ไม่แก้ไขเลย ก็เรียกว่าโมหะ อย่างเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นดำเป็นขาว เห็นชั่วเป็นดีไปเลย

: คนที่เห็นอย่างนั้นเขาสั่งสมอะไรมาคะ?

: ก็สั่งสมความโง่น่ะสิ สั่งสมความโง่ พอโง่จัดก็เห็นขาวเป็นดำ เห็นชั่วเป็นดี เห็นผิดเป็นถูก

: ทำไมมีคนพูดว่า ในโลกนี้ไม่มีคนเลวเลย

: นั่นโง่จัด พูดอย่างงมงาย อย่างไม่รู้เรื่อง ในระดับ ของคนดีก็ยังมีคนดีกว่า คนดี ก็ยังต้อง แต่ำกว่าคน ที่ดีกว่า หรือ เลวกว่า คนที่ดีกว่า โดยความหมาย ต้องเข้าใจชัด คนที่โง่ จนไม่รู้ว่าอะไรดี อะไรดีกว่า มันก็ไม่มีการพัฒนาได้แล้ว อะไรก็ดีหมด ไม่มีเลวเลย หรือ ไม่มี"ดีกว่า"มันไม่ได้

โดยสมมติสัจจะ โดยความหมาย มันต้องรู้ต้องแยกออก แล้วเราต้องดีขึ้นๆ ต้องดีแท้ ต้องดีกว่า ดีมาก ดีที่สุด แล้วก็อย่าดีเกิน หรือ ดีแตก

: อย่างน้อยสัมมาทิฐิขั้นต้นก็ คือ ต้องแยกดีกับชั่วให้ชัดเจน

: ใช่! ก็ดีกับชั่วนี่แหละ ต้องรู้ว่าดีกับชั่วนี่มันต้องมีเงื่อนไข ของมันอยู่ ดีในความหมาย ของโลกมีมากมาย และ ดีในความหมาย ของธรรมก็ต้องให้ชัดเจน

สัมมาทิฐินี่เป็นประธาน พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ยืนยันว่า สัมมาทิฐิเป็นประธาน ของทุกสิ่งทุกอย่าง เหมือนกับวันๆ คืนๆ แต่ละวันจะมีพระอาทิตย์ขึ้น ก่อนพระอาทิตย์จะขึ้นต้องมีแสงอรุณ ถ้าไม่มีแสงอรุณก็ไม่มีแสงสว่างในเวลากลางวัน ไม่มีการเริ่มต้นวัน

เริ่มต้น ของวันต้องมีแสงอรุณมาก่อนฉันใด สัมมาทิฐิก็มีความสำคัญปานฉะนั้น

: ทำไมคนที่มิจฉาทิฐิมากๆ ถึงได้เกิดเป็นคน ในเมื่อเกิดมาแล้วทำความวุ่นวายมากเหลือเกิน

: เกิดเป็นคนนี่ ไม่ได้หมายความว่า มันจะเป็นเรื่องสูงส่งอย่างเดียวนะ เกิดมาเป็นคนเลวนี่เป็นความแสบเผ็ดอันสาหัส เป็นความซวยอันสาหัส เพราะเกิดมาแล้วมีอุปกรณ์ มีชีวะ หรือ ชีวิต ของสัตว์โลกที่สามารถทำความชั่วให้แก่ตัวเองได้มาก หรือ จะได้รับวิบากอันแสบเผ็ด ทุกข์ร้อนได้อย่างมหาศาลกว่าสัตว์เดรัจฉานใดๆ

คนที่เกิดมาเป็นคนนี่ เป็นรูปร่าง ของคนนะ แต่ที่จริงนั้นน่ะ จิตวิญญาณเป็นสัตว์นรก คนนี่ก็เป็นภูมิอันหนึ่ง ของสัตว์นรกด้วย

: แต่ถ้าเขากลับตัวกลับใจได้

: ก็เป็นโอกาส แต่ถ้าเป็นคนที่มีบาปมีเวรจัด ก็มีแต่จะหนักหนาสากรรจ์ไปกว่าเก่า จะเป็นเรื่องที่ทุเรศทุรังการ ยิ่งกว่าสัตว์เดรัจฉาน ลองสังเกตลองระลึกดีๆ สิ แม้แต่ในประวัติศาสตร์ หรือ ในปัจจุบันที่คุณเคยเห็นเคยรู้มา

: อย่างที่พูดกันว่าเกิดมาใช้หนี้บาป

: เป็นการใช้หนี้บาปด้วย บางคนก็พิกลพิการ ไม่พิการกาย ก็พิการสมอง พิการทางจิตวิญญาณ

: แต่ถ้าทำเลวลงไปอีก เพราะโมหะ

: เขาเจ็บแสบนะ เขาหลีกเร้นด้วยซ้ำไป แต่มันหลีกไม่พ้น มันเป็นความทุกข์ทรมาน มันเป็นนรก บอกแล้วว่านรกสวรรค์มันอยู่ในตัวคนนี่แหละ

เราจะต้องรู้ในรายละเอียดว่า ในร่าง ของคนนี่ ยังมีเดรัจฉานในร่างคนอีกเยอะ เดรัจฉาน คือ อย่างไร ก็ต้องเรียนรู้สัตว์โอปปาติกะในคนนี่แหละ อมนุษย์ หรือ ยักษ์มารก็ คือ สองแขนสองขาเหมือนคนนี่แหละ อย่างที่หน้าตาโปน เขี้ยวงอกอะไรพวกนั้น เขาเขียนเป็นรูปบุคลาธิษฐานเท่านั้นเอง

ฟังพ่อท่านอธิบายถึงตรงนี้ เกิดสัมมาทิฐิขึ้นบ้าง หรือ ยัง "ทีมสมอ."เอง ก็เพิ่งเกิดดวงตาเห็นธรรม ตรงที่พ่อท่านว่า การได้เกิดเป็นคนมิใช่บุญประการเดียวเสมอไป โธ่! หลงภาคภูมิมาเสียนานว่า ชั่วๆ ดีๆ เราก็ต้องมีบุญระดับหนึ่งถึงได้เป็นคน หารู้ไม่ว่า นั่นก็ คือ มิจฉาทิฐิประการหนึ่ง

มาถึงเรื่องสำคัญสุดๆ แห่งยุค นั่นก็ คือ เรื่อง"ขยะ" ที่ต้องมีสัมมาทิฐิ เช่น กัน

: เห็นว่าพ่อท่านให้ความสำคัญกับเรื่องขยะมาก

: อาตมาให้ความสำคัญมาก พยายามเข็นเรื่องนี้มานานแล้ว แต่พวกเรายังไม่ค่อยเอาถ่านกัน ยังไม่พยายามที่จะอบรมฝึกฝนตน เพื่อจะเรียนรู้ขยะ แล้วก็เป็นคนที่จะต้องไม่ดูดาย เป็นคนที่จะต้องช่วยปราบขยะ มีความรู้ว่าอะไรเป็นขยะแท้ขยะเทียม ตอนนี้ในกลุ่มเรานี่ได้คิดสโลแกนขึ้นมาอันหนึ่ง สำหรับเรื่อง ของขยะนี่ ก็ คือ

"ขยะล้นโลกอยู่เป็นนิจ บัดนี้ กูกำลังคิดทำอะไรอยู่"

: เท่าที่ทำมาได้ผลแค่ไหนคะ?

: อย่างน้อยมันก็ดีขึ้นนะ ดีขึ้นมาก แต่มันก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เพราะเรายังไม่ค่อยเอาใจใส่ หรือ ยังไม่เห็นความสำคัญเพียงพอ

เรื่องขยะนี่ มันเลวร้าย ลงไปทุกวัน เนื้อหาสาระ ของวัตถุดิบ ของทรัพยากรโลก ลดลง เกิดสิ่งที่ต้องเคี่ยวต้องขับเอาเนื้อหาสาระออกมา

เศษขยะ กากขยะและปฏิกูล หรือ เป็นเศษกากไปในทางล้นเหลือ หรือ ร้ายแรง มันจะเกิดขึ้น เพราะมันถูกคั้นออกมาหมดแล้ว ส่วนที่เหลือ จึงไม่ใช่ธรรมชาติเข้าไปทุกที และ จะเป็นพิษจัดจ้านขึ้นไปเรื่อยๆ

ถ้าเราไม่เตรียมตัว ไม่รู้ตัวเสียเดี๋ยวนี้ แล้วเริ่มต้นปลูกฝัง เริ่มต้นสร้างธรรมชาติขึ้นมา ไม่ให้มันเกิดวิกฤตการณ์ในลักษณะที่กล่าวนี่ ในวัฏฏะไหนก็แล้วแต่ ในสังคมกลุ่มไหนก็ตามใจ ทั้งดิน น้ำ ลม ไฟ ทุกอย่าง ถ้าเราไม่ลงมือทำจริงๆ แล้ว เราก็ต้องขาดแคลนเหมือนทุกแห่งที่เขาไม่ระมัดระวัง เพราะเขาเป็นผู้ทำลายมากกว่าสร้างสรร

แต่ก่อนธรรมชาติได้อุ้มชูมนุษย์ชนะมนุษย์ สร้างสรรให้แก่มนุษย์ได้ ทุกวันนี้ธรรมชาติมันพ่ายแพ่มนุษย์แล้ว เพราะมนุษย์ทำลายได้มากกว่า ทั้งมนุษย์ยังมีปริมาณมาก มีสมรรถภาพในการทำลายมาก จนธรรมชาติไม่สามารถจะเร่ง หรือ ปรับตัวเองได้ทัน อันนี้ต้องเห็นให้ชัด

เมื่อมันเป็นอยู่ เช่น นี้ เราก็ต้องมาหาแวดวงที่จำกัด มาทำในขอบเขตที่เราสามารถทำได้ ถ้าเราขืนไปอยู่กับเขาทั้งหมด เราก็ไม่สามารถที่จะสร้างคุณค่า สร้างธรรมชาติให้อุ้มชูมนุษย์ได้ทัน เราก็มามีแวดวงภูมิประเทศสิ่งแวดล้อม ที่เราจะต้องพัฒนา สอนให้คนสร้างค่าที่จะเกื้อกูลธรรมชาติ หรือ สังเคราะห์ธรรมชาติ ให้มันพัฒนาขึ้นมาเต็มรูป เท่าที่มันจะพัฒนา ของมันได้

เราช่วยได้มากมันก็จะดีขึ้น และ เราก็ทำลายน้อยลงๆ จนไม่ทำลายเลย แต่สนับสนุนให้เกิดวัฏฏะ หรือ วงจรธรรมชาติที่สมบูรณ์ อันนี้ก็จะเป็นฐานเป็นรูปร่าง เป็นตัวอย่างให้คนได้เห็นแบบอย่าง และ เป็นตัวถ่วงดุล และ เกื้อกูลอันอื่นต่อไปด้วย

: พ่อท่านจะใช้วิธีใดในการปลุกสำนึก ของพวกเราเกี่ยวกับเรื่องนี้

: ก็พูดก็บอกความจริง ให้เห็นจริงอย่างนี้แหละ แล้วเราเองก็ต้องฝีกฝนอบรมตนด้วย เพราะนิสัยมันเลวมาแล้ว พวกเรานิสัยมันเสียมามากด้วย ต้องมาแก้ไขปรับปรุง ต้องมาฝึกจนเกิดความรู้สึกเห็นจริงๆ ด้วยญาณปัญญา เห็นประโยชน์คุณค่าว่าอย่างนี้ควรทำ ทำแล้วมันดีขึ้น แล้วเราทำไมถึงยังไม่ทำ

: เรียกว่าอยู่ที่ไหนก็ทำตรงนั้นให้ดี

: อยู่ที่ไหนเราก็ทำที่นั่น จะนั่ง ยืน นอน เดินที่ไหนๆ ก็มีสติสัมปชัญญะ รู้จักสังเกตสังกา อันใดควรจัดแจง มีโอกาส มีเวลาจะทำ จะเก็บขยะ ตรงนั้นตรงนี้ จะเปลี่ยนแปลงอะไรพวกนี้ต้องรู้ เรียนรู้ขยะเทียมกับขยะแท้ ขยะแท้ๆ ที่จริงนะมันน้อย ส่วนมากเป็นขยะเทียมเสียเยอะ ขยะเทียม คือ ขยะที่สามารถจะนำไปใช้ต่อในกิจอื่นได้อยู่อีก หรือ นำไปหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ ส่วนขยะแท้นั้น คือ ขยะที่จะต้องทำลายลงไปให้สูญ ถ้าผู้ใด มีความรอบรู้ ในการจัดการ กับขยะเทียม ให้เกิดประโยชน์ ได้ต่อไปมากด้านมากทิศทาง ก็ช่วยโลกให้อุดมสมบูรณ์ได้มาก ซึ่งต้องมีความรอบรู้มากจริงๆ และ สามารถ หรือ รู้วิธีจัดการกับขยะแท้ให้สูญได้ง่ายได้เร็วได้ดีอย่างจริง อย่างไม่มีพิษภัยตามมาด้วย ก็ คือ ผู้เจริญในเรื่อง "ขยะวิทยา" หรือ เป็นบัณฑิตแท้ ในแขนง Garbology (garbage)

: อีกเรื่องที่เป็นบรรยากาศตอนนี้ในอโศก คือ เรื่องเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนสกุลกันยกใหญ่นี่ อยากทราบว่ามีความสำคัญ หรือ มีความหมายอย่างไร?

: อาตมาเห็นความสำคัญ จึงทำ อาตมาคงไม่ทำอะไรที่ไม่สำคัญแน่

: เป็น"อัตตา" ของพ่อท่านด้วย หรือ เปล่า?

: ใครจะคิดว่าเป็นอัตตาก็ได้นะ แต่อาตมาเห็นว่ามันเป็นเรื่อง ของอาตมาคิด อาตมาเห็น อาตมามีเหตุผลอธิบายได้ ซึ่งคนฟังแล้วเข้าใจก็เข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจแล้วหมั่นไส้ มันก็ช่วยไม่ได้ ก็ขออภัยที่พวกคุณคนไหนหมั่นไส้อาตมา ก็ทุกข์ทุกคน

: พ่อท่านกรุณาขยายความอีกทีได้ไหมคะ ว่ามันมีความหมายอย่างไร หรือ ทำแล้วมีประโยชน์อย่างไร

: ไม่ได้ประโยชน์ยังไง อย่างน้อยที่สุด อาตมาก็รักษาวัฒนธรรมอันหนึ่งที่เป็นไทยให้พัฒนาต่อไป เพราะเดี๋ยวนี้มันไปกันใหญ่แล้ว ทุกวันนี้อย่าว่าแต่เห่อชื่อที่เป็นภาษาบาลี เป็นภาษาสันสกฤต ที่พยายามตั้งกันให้แปลกให้เป็นภาษาต่างประเทศจัดเข้าไปใหญ่เท่านั้นเลย ฝรั่งก็เข้ามาแล้วเดี๋ยวนี้ ต้องชื่อเป็นฝรั่ง ชื่อ วิคกี้ ชื่อจอห์นนี่ ชื่อคริสตี้ หรือ เป็นชื่อฝรั่งแท้ๆ กันจริงจัง เดี๋ยวนี้ไปหมดแล้วนะ อย่าว่าแต่ชื่อภาษาบาลีที่แปลกันจะไม่หวาดไม่ไหวแล้วเลย

เพราะฉะนั้น อาตมาว่า อย่างน้อยที่สุด ใครจะว่าอาตมามีอัตตาก็เพราะยึดมั่นถือมั่นในวัฒนธรรม เอาภาษาไทยไว้ให้มากหน่อย หรือ อย่างภาษาบาลีที่มาเป็นไทยชัดๆ พูดก็เข้าใจกันแล้ว แม้จะมีรากศัพท์มาจากภาษาอื่นก็ตาม เช่น คำว่า "บุญ" คำว่า "พร" คำว่า "ทิพย์" หรือ อะไรอื่นๆ นี่ ที่พูดมา ก็เข้าใจกันแล้ว อาตมาก็ถือว่าเป็นภาษาไทยไปแล้ว ไม่ใช่จะไปลบล้างต่อต้านเขาไปหมด

แต่อะไรที่เป็นบาลีจ๊ะจ๋า สันสกฤตจ๊ะจ๋า อาตมาก็เลี่ยงให้มากที่สุดเท่านั้นเอง อาตมามีอัตตาอย่างนี้ มันผิดมากมาย หรือ

: แต่บางชื่อที่ตั้งมาแม้แต่พวกเราเองยังต้องทำใจ ก็น่าเห็นใจพวกเจ้าหน้าที่เขต ที่บางทีเขาก็รับไม่ได้

: ก็นั่นแหละ มันมีน้ำหนักมีจุดมุ่งหมาย แต่ถ้าเขารับไม่ได้เอามากๆ และ เราพิเคราะห์ดูมันแรงไปมากจริงๆ เขาไม่เปลี่ยนให้เราก็ไม่ดื้อด้านอะไร เจ้าหน้าที่คนนั้นเขาไม่เอา แต่อีกคนเข้าใจ เขาก็เปลี่ยนให้ก็ไม่มีปัญหา

ชื่อที่อาตมาตั้งส่วนใหญ่ก็ให้เป็นกรรมฐาน เป็นเครื่องสังวรทั้งสำหรับตนและทั้งสำหรับสังคม เป็นสัญลักษณ์ เป็นประโยชน์ในตัว ของเจ้า ของชื่อ เป็นประโยชน์เตือนสังคมด้วย แล้วก็เป็นไทยๆ ฟังปุ๊บก็เข้าใจ รู้ความ เตือนสติ กระทบความสำนึกได้ อาตมาว่าแค่นี้มันก็มีความหมายในตัว ของมันเองแล้วนะ แม้มันจะแปลกไป จะใหม่ขึ้นมาบ้าง ก็เป็นวิวัฒนาการอยู่ในกรอบ ของความเป็นไทย ก็เห็นชอบความใหม่สร้างความแปลกกันเป็นสามัญกันจะตายไป ถ้าจะใหม่จะแปลกที่มีเหตุผลมีเป้าหมายอย่างมีสติสัมปชัญญะบ้าง ไม่ใช่ทำไปอย่างไร้ความหมายไร้สาระมันก็น่าจะดีมิใช่ หรือ มันอาจจะดูแปลกใหม่จนเห็นเป็นเกินๆ ไปบ้างก็จริง สำหรับผู้"ตีกรอบให้ตัวเอง "ว่าแค่นี้เท่านั้นควรจะพอ ใครเกิน "กรอบ" แห่งความรู้สึกที่ตนยึด เขาผู้นั้นก็ต้องเห็นว่า "แปลกเกินไป" ก็ใช่ตามที่เขายึด ส่วนคนที่ไม่ยึดเขาก็เห็นว่า "แปลกดี" ! และ อาจจะชื่นชมชอบใจ สำหรับผู้ไม่ได้ติดยึดก็เป็นอยู่จริง

ก็คงจะจบสิ้นแล้วทุกกระบวนท่า โดยสุดท้ายทีมสมอ. ก็เป็นฝ่ายล่าถอยออกมา เพราะไม่มีอะไรที่พ่อท่านทำโดยปราศจากความหมาย หนำซ้ำก่อนถอย ก็ได้ชื่อเสียงเรียงนามใหม่ที่เป็นไทย-ไทกันโดยทั่วถ้วน เอวัง

-ทีม สมอ.-

end of column
     

๑๕ นาทีกับพ่อท่าน ตอน กว่าจะสัมมาทิฐิ (สารอโสก อันดับ ๑๕๓ ก.พ. – มี.ค. ๒๕๓๕)