สิบห้านาที กับ พ่อท่าน โดย ทีม สมอ. ตอน...
ผ่าอัตตา
หนังสือพิมพ์สารอโศก อันดับที่ 167 ฉบับ เดือนธันวาคม 2536
หน้า 1/2

ในยุทธจักร เหล่าจอมยุทธ์ผู้หยิ่งทระนงในศักดิ์ศรี ฆ่าได้หยามไม่ได้ ตายเสียดีกว่าอยู่อย่างผู้แพ้ ได้พลีชีพมามากต่อมากแล้ว ท่ามกลางเสียงแซ่ซ้อง ชื่นชม ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว เนื่อง เพราะ ชีวิตย่อมเป็นที่รักยิ่ง แต่เมื่อชีวิตนั้นไม่ได้เรียนรู้ถึงสัจธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาต่างไม่รู้ว่า นั่นก็ยังเป็นแรงผลักดัน ของ กิเลส "อัตตา" (ตัวกิเลส) ในตน ที่แม้จะจะลดละเบาบางจากกิเลส "สักกายะ" (ตัวกิเลส) หยาบใหญ่บ้างแล้วก็ตาม แต่พิษสงกลับรุนแรงเหลือร้าย ก่อทุกข์นานัปการ

ด่านนี้พาให้หลายคนวกวน หลงทาง และ ตายก่อนถึงจุดหมาย ด้วยรู้ไม่เท่าทัน เพราะ ใน "อัตตา" นั้น ยังมีความยึดติดเป็นตัวเป็นตนหยาบ-กลาง-ละเอียด จนที่สุด เรียกว่า "อาสวะ"(ตัวกิเลส) อีกมากมายหลายเชิงชั้น ที่ผู้ปฏิบัติธรรมจะต้องรู้ "ตัวตน" ของ มัน แล้วทำให้"สูญ" จนตายสนิท ไม่ฟื้นจริง

ดังนั้น ผู้หมดอัตตา จึงจะหมดตัวตน ซึ่งคือการหลุดพ้นเป็นอิสระจากกิเลสอย่างสิ้นเชิง เป็นจอมยุทธ์ที่เหนือชั้นยิ่งกว่า ด้วยการผ่าอัตตา โดย พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ จากบทสัมภาษณ์ ดังต่อไปนี้ : -

: การทำงานที่จะให้ประสานกันได้ในหมู่กลุ่ม พ่อท่านสอนว่าจะต้องละ"อัตตา"ก่อน ขอกราบเรียนถามว่า อัตตาคืออะไรคะ

: อัตตา คือ สิ่งที่เป็นตัวตน ของ กิเลส มีตั้งแต่กิเลสกาม (กามตัณหา) จนถึงกิเลสในภพ ของ จิต(ภวตัณหา) ที่ติดยึดว่าเป็นเรา เป็นตัวตน ของ เรา แล้วเราก็พอใจเสพสมสุขสม กับ สิ่งที่ได้มาสมใจนั้นๆ เช่นว่าเราได้เงินทองมาสมใจเรา แล้วเราก็หลงเสพสมใจตามภพที่ตั้งใจหมายเอาไว้ ตัวตน ของ กิเลสที่ติดยึดความพอใจดังกล่าว ก็คือสิ่งที่ เรียกว่า "อัตตา" ซึ่งมีหลายระดับ ถ้าเป็นตัวตน ของ กิเลสที่ต้องอาศัยทวารข้างนอก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ๕ ทวารนี้เป็นองค์ประกอบในการเสพ แล้วก็หลงเป็นรสสุขสมไป กับ "รูป-เสียง-กลิ่น-รส-สัมผัสนอก"เหล่านี้ ก็ เรียกว่า กามคุณ ๕ กามภพ หรือ "กามตัณหา"

ถ้าเผื่อว่าตัวตน ของ กิเลสตัณหา มันสร้างความทุกข์ ความเดือดร้อนให้มาก โตหยาบมากๆ ก็ เรียกว่า เป็น "สักกายะ" ซึ่งแปลว่าตัวตน ของ กิเลสเหมือนกัน แต่สักกายะเป็นตัวตน ของ กิเลสระดับหยาบ ซึ่งเราต้องรู้ให้ได้ก่อน และ ก็ละออก

ถ้าเป็น "ตัวตน" ของ กิเลสอย่างละเอียด หรือ อย่างกบดาน ทำเป็นนิ่งสงบแฝงตัวนอนเนื่องอยู่ในก้นบึ้ง ของ จิต (อนุสัย) อยู่ลึกหมักดองไว้ เห็นไม่ได้ง่ายๆ ก็ เรียกว่า เป็น "อาสวะ" ซึ่งเป็นกิเลสที่นักปฏิบัติธรรมจะต้องรู้จักขนาด ของ ความแตกต่าง (ลิงค์) แห่งอัตตาทั้งหลาย ตั้งแต่หยาบใหญ่(สักกายะ) ลดลงไปทุกขนาดล้วนมี "ตัวตน"(อัตตา)ให้เจ้าตัวเรียนรู้ด้วยญาณ หรือ ด้วย "อธิปัญญา-อภิญญา" ของ ตนทั้งสิ้น จนกระทั่งเหลือเป็น "ตัวตน" ขั้นปลายที่ เรียกว่า "อาสวะ" ก็ต้องเรียนจนรู้ตัวมัน จับตัวมันได้ และ ฆ่ามันตายเป็นที่สุด

สำหรับกิเลสที่อยู่ข้างในจิต ที่ไม่ต้องอาศัย ตา หู จมูก ลิ้น กาย จากทวารภายนอกเป็นสื่อ แต่อาศัยความนึกคิด หรือ ปรุงแต่งเอาเองในจิต ซึ่งมันนึกคิด ปรุงแต่งหยาบได้เหมือนกัน ยึดถือตัวเรา ว่าเราต้องเอาตามใจเรา ร้ายแรงขนาดไหน ก็เป็น "สักกายะ" หยาบขนาดนั้น จะตามใจในเรื่องอะไรก็แล้วแต่ จะต้องสมใจตนในเรื่องนั้นเรื่องนี้ นึกเอาไว้ สมมุติเอาไว้ก็เป็นอัตตา เป็นตัวกิเลสในภพ อันนี้ เรียกว่า "ภวตัณหา" อยากได้อย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็ยึด ยึด มากเท่าไร ก็หยาบมากเท่านั้น เรียกว่า "กิเลสหยาบ" (วีติกกมกิเลส) ซึ่งเป็นสักกายะที่จะต้องลดละลงให้เบาบางลงมาตามลำดับ ยึดน้อยลงก็เป็นกลางๆ เรียกว่า "กิเลสกลางๆ" (ปริยุฏฐานกิเลส) เหลือน้อยหน่อย ก็เป็นตัวตนน้อยๆ เรียกว่า "กิเลสน้อยๆ" (อนุสัยกิเลส) หรือ บางทีดูเหมือนมันไม่ค่อยมี ที่แท้มันมีอย่างมากอย่างเก่งด้วยซ้ำ ทว่าไม่ค่อยรู้เท่าทันมัน เพราะ มันอยู่ลึก หรือ ไม่ก็มีเล่ห์อยู่ลับๆ ก็ เรียกว่า "อนุสัย" ไม่ออกมาโชว์ตัวง่ายๆ อาจจะเป็นส่วนเหลือ ของ กิเลสเล็กๆ น้อยๆ ก็เรียก"อนุสัย" อาจจะเป็นส่วนใหญ่ ของ กิเลสที่กบดานนอนนิ่งนอนเนื่องอยู่ใต้ก้นบึ้ง ของ จิต ก็คือ "อนุสัย" ซึ่งกิเลสพวกนี้เป็นพวกต้องใช้ญาณลึกซึ้ง และ เอียดแยบคายตามค้นตามเก็บรายละเอียด จึงจะทำลายล้างได้หมด ไม่เช่นนั้นจะหมักหมมเป็นเชื้อกิเลสหมักดองแตกตัวขึ้นอีกได้ จึงเรียกกิเลสชนิดนี้อีกคำว่า "อาสวะ" ศาสนาพุทธนั้นต้องเรียนรู้และล้างกิเลสให้หมดสิ้น สะอาดเกลี้ยงอย่างรู้จริงรู้แจ้งถึงขั้น "อนุสัย" หรือ "อาสวะ" ซึ่งเป็น"ตัวตน" ชั้นที่เรียนรู้ยากขึ้นสูงสุด กิเลสนั้นมากมายร้ายกาจที่สุด ถ้าใช้แค่วิธีนั่งหลับตาทำสมาธิสะกดจิตไปเรื่อยๆ หมักหมม กลบๆ ทำไม่รู้ไม่ชี้ กับ มัน หรือ ไม่เอาจริง กับ มัน ก็สงบได้เหมือนกัน แต่มันก็จะยิ่งเป็น"อนุสัย" เป็น "อาสวะ" หนักหน้าขึ้นไปอีกและดองไปนานเท่านานหลายกัปหลายกัลป์ พระพุทธเจ้า จึงไม่รับรองฤาษีที่ไม่ใช้ทฤษฎี "มรรคมีองค์ ๘ " แต่ใช้ทฤษฎีทำสมาธิหลับตาสะกดจิตได้เก่งยอดเยี่ยมแม้ปานใดว่าเป็น "อารยะ" แค่ขั้นโสดาบัน ก็ เพราะ อย่างนี้

รวมแล้ว "ตัวตน" ของ กิเลสประเภท หรือ ระดับต่างๆ เรียกว่า เป็นอัตตาหมด ไม่ว่าจะเป็นสักกายะ ของ อัตตา ตัวตน ของ กิเลสอย่างหยาบ หรือ อาสวะ ของ อัตตา ตัวตน ของ กิเลสอย่างลึกซึ้ง อย่างละเอียด

ส่วน ตัณหาอีกชนิดหนึ่ง คือ "วิภวตัณหา" นั้น เป็นตัณหา หรือ ความปรารถนา เป็นความอยาก ก็จริง แต่อยากได้ภพที่สูงขึ้นกว่าภพสามัญ เช่น อยากได้โลกุตรภพ เป็นต้น หรือ อยากได้นิพพาน นี่ก็เป็นความอยากที่ เรียกว่า "วิภวตัณหา" คือ อยากละล้างกิเลสล้างอัตตา หรือ คือ อยากได้ความไม่มีไม่เป็นตัวตน ( ของ กิเลส) อยากได้ความไม่มีกิเลส ไม่มีตัณหา หรือ อยากได้ "ความไม่ต้องอยากมาให้แก่ตัวเอง" ชัดๆ ก็คือ อยากได้ "ความไม่มีภพไม่มีชาติสำหรับตน" นั่นเอง หรือ อยากได้ "ความสิ้นภพจบชาติแห่งการเกิด ของ กิเลสใดๆ อีก อย่างสนิทถาวร" ซึ่งเป็นตัณหาชั้นสูงกว่าตัณหาขั้นสามัญ อันได้แก่ "กามตัณหา กับ ภวตัณหา" ขึ้นไปอีก เป็นตัณหาอุดมการณ์ เป็นตัณหาที่มีภพภูมิขั้นโลกุตระ ที่แม้ผู้รู้สมัยนี้ส่วนใหญ่ก็เข้าใจ "วิภวตัณหา" นี้เพี้ยนไปเป็นตัณหาสามัญ แค่เป็นความอยากที่อยู่ในรูป "ปฏิเสธ" เท่านั้น ซึ่งก็ยังไม่พ้นวนเวียนอยู่ในโลกียภพ

การปฏิเสธกาม ปฏิเสธภพแบบสามัญที่เป็นโลกียะธรรมดา มันก็คือ "ภพ" สามัญ อยู่ในวัฏสงสารตามเดิม ยังไม่ใช่การได้ "วิภวภพ" แต่อย่างใด

วิภวตัณหานี้ เป็น"ตัณหาพิเศษ" ("วิ" ที่ต่างไป ที่ไม่สามัญ ที่แจ้งสว่างกว่าธรรมดาโลกย์ไปอีก ที่ล่วงพ้นภพสามัญไปอีกขั้น เป็นคนละเรื่อง กับ ภพสามัญโลกียะ เพราะ ตัณหาสามัญนั้น เมื่อได้สมใจใน"ความอยาก" หรือ สมใจใน "ความไม่อยาก" กิเลสก็ยิ่งจะหนาขึ้นๆ (ปุถุ) ส่วน"วิภวตัณหา" นั้น เมื่อได้สมใจใน"ความอยาก" หรือ "ความไม่อยาก" ก็คือ ได้ลดกิเลสลงๆ (วิราคะ) หรือ ได้ทำตัวออกจากโลกียภพ (เนกขัมมะ) ซึ่งเมื่อได้แล้วก็อาจจะมี"อุปกิเลส" เกิดซ้อนได้อีก ก็จะต้องเรียนรู้และละล้างอุปกิเลสนั้นๆ ซึ่งเป็นอัตตาใน"วิภวภพ" อีกที จนหมดภพที่ละเอียดสูงส่งขึ้นไปเรื่อยๆ จนที่สุด "อัตตา"ที่เป็นกิเลสเพื่อตัวเพื่อตนก็หมดสิ้นไม่เหลือ เป็นผู้หมดสิ้น"สุข-ทุกข์" แม้สุดท้าย "โสมนัส-โทมนัสแบบชาวโลกีย์"(เคหสิต โสมนัส-เคหสิต โทมนัส) เกลี้ยงสนิท และ ไม่หลงแม้แต่จิตที่วางเฉยจากสุขทุกข์โสมนัสโทมนัส (เนกขัมมสิต อุเบกขา) ว่า เป็นเรา-เป็น ของ เรา (ไม่หลงยึดติดในอัตตา-อัตตนียา) ซึ่งใช้ "วิภวตัณหา" ล้าง "กามตัณหา" และ ภวตัณหา" จริงๆ แล้วยังต้องใช้ "วิภวตัณหา" ล้าง "วิภวภพ" ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก จนสิ้นสุดจบ

ทีนี้ มันวิเศษสุดตรงที่ว่า ไอ้"ตัวตน" หรือ สิ่งที่มันรองรับอยู่ในมนุษย์นี่ ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้ว และ ท่านก็ยังไม่ตาย ยังมีชีวิตอยู่ ยังมีตัวเรา- ของ เราอยู่ตาม"สมมุติสัจจะ" ท่านไม่มีกิเลสมาเสพเพื่อตัวตน (ท่านหมดอัตตาสำหรับ"ตัวเอง"แล้วจริง) แต่ท่านมีความปรารถนาดี ความต้องการสร้างสรร ช่วยเหลือ ทว่าไม่ใช่มาบำเรอเพื่อตน (ท่านหมดสิ้น"รสหลงสุขสมใจ" หรือ "รสเสพสมสุขสม" ซึ่งเป็นรส ของ โลกียะ(อัสสาทะ)เกลี้ยงแล้วจริง แต่ท่านกลับยิ่งสามารถมี"ความปรารถนาดี" ซึ่งเป็นพฤติกรรม ของ จิตที่ได้ฝึกดีแล้ว สะอาดแล้วจริง ตามสัมมาอริยมรรค ของ พระพุทธศาสนา มันเป็นเพียงพฤติกรรมที่ภาษาบาลี เรียกว่า "อิจฉาวจร หรือ อากังขาวจร" (คำว่า "อิจฉา" นั้น มันหมายถึง "ความต้องการ,ความปรารถนา" กลางๆ แต่คนไทยเข้าใจเพี้ยนไปเป็น "ริษยา" ความจริงแล้วภาษาบาลีที่หมายความว่า"ริษยา" นั้น คือ คำว่า"อิสสา" ไม่ใช่"อิจฉา") อย่างนี้ก็เป็นความต้องการจริงๆ และ ถ้ายังจะเรียกกันว่า "ตัณหา"อยู่อีก ก็เรียกได้ว่า "วิภวตัณหา" หรือ เป็นตัณหาอย่างวิเศษนั่นเอง

กล่าวคือ เป็นภพที่ท่านเองท่านไม่ติดเป็น ของ ตัว ของ ตน แม้ดูเหมือนเป็นตัวตนที่ต้องมีรูป มีร่าง มีสภาพ อาการ ของ จิต มีความต้องการ ของ จิต แต่ก็เพื่อผู้อื่น เพื่อคุณค่า เพื่อประโยชน์ ของ โลก ของ มวลมนุษยชาติ (พหุชนหิตายะ, โลกานุกัมปายะ) ไม่ใช่เพื่อตัวเอง พูดอีกอย่างหนึ่งคือ "เป็นตัวตนที่ไม่ใช่ตัวตน" เรา จึง เรียกว่า เป็น อัตตาพิเศษ หรือ เรียกว่า "อรหัตตะ" หรือ "อรหัตตา" ก็ได้ แต่อันนี้ทางเถรวาทเขาหาว่าอาตมาพูดเอาเอง เขาไม่รับรอง ก็ฟังๆ ไป อาตมาจะใช้เป็นสื่อภาษาเพื่ออธิบายให้เฉพาะผู้ที่สามารถเข้าใจและตั้งใจรับประโยชน์ได้เท่านั้น

: การละอัตตาทำอย่างไรคะ

: การละอัตตาตามวิธี ของ พระพุทธเจ้า มีทฤษฎีเอกคือ "มรรคองค์ ๘" เป็นทฤษฎีรากเหง้า วิธีปฏิบัติโดยสรุปที่สำคัญ คือ เราต้องทำความเข้าใจให้ถูกตรงเป็นสัมมาทิฐิ แล้วก็เพียรพยายามตั้งอกตั้งใจรู้ตัวกิเลส หรือ พยายามปรับตัวให้เป็น "สัมมา" อยู่เสมอ (สัมมาวายามะ) พยายามรู้ตัวเองเสมอ รู้ชนิดวิจัยธรรมอยู่ตลอดในขณะใด ก็คือมีสติ มีธรรมวิจัยอยู่ขณะนั้น และ ถ้าสติที่รู้ตัวมีธรรมวิจัยถึงขั้นปรมัตถ์ มีการปฏิบัติถึงขั้นได้มรรคผลขณะใด ขณะนั้นชื่อว่า สติก็เป็น"สติสัมโพชฌงค์" และ ธรรมวิจัยก็เป็น "ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์" แต่ถ้ามีสติ หรือ วิจัยธรรมก็ไม่ถึงขั้นเข้าเขตได้มรรคได้ผล ก็ไม่ชื่อว่า "สติสัมโพชฌงค์" สตินั้นก็เป็นเพียง "สติกัลยาณชน" เท่านั้น ไม่เข้าขั้นสติที่มีผลสร้าง "สัมมาอาริยะ" หรือ แย่กว่านั้น ก็เป็นแค่มีสติแบบ "สติปุถุชน" ซึ่งปุถุชนเขาก็มีสติ ไม่ใช่ไร้สติ ธรรมวิจัย ก็นัยคล้ายกัน กับ สติ คือ แบ่งเป็น ๓ แบบ เช่นกัน ก็อาจจะเป็นได้แค่ "ธัมมวิจัยกัลยาณชน" หรือ "ธัมมวิจัยปุถุชน"ก็ตามคุณภาพนั้นๆ

ทีนี้ เมื่อมี "สัมมาทิฐิ" เป็นประธาน และ มี "สัมมาวายามะ" กับ "สัมมาสติ"ที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพถึงขั้นดังกล่าวแล้ว ตัวที่สติต้องรู้ทั่วให้ลึกเข้าไปถึง และ ธรรมวิจัยก็ต้องเข้าไปวิจัยกันแท้ๆ ก็คือ "ความตริตรึกนึกคิด" (สังกัปปะ) -"คำพูดการพูด" (วาจา)-"การกระทำต่างๆ" (กัมมันตะ) - "การงานอาชีพต่างๆทั้งหลาย" (อาชีวะ) ๔ สภาพนี่แหละคือ ตรงที่จะต้องปฏิบัติให้ "พ้นมิจฉา" ให้ได้ ถ้าพ้นมิจฉาได้ คือใน"ความตริตรึกนึกคิด" ก็ลดละมิจฉาได้จริง ไม่ว่าจะเป็น "กามวิตก" หรือ "พยาบาทวิตก" หรือ "วิหิงสาวิตก" ใน"การพูดคำพูด" ก็ลดละมิจฉาได้จริง ไม่ว่าจะเป็น "พูดปด" หรือ "ส่อเสียด" หรือ "คำหยาบ" หรือ "คำเพ้อเจ้อ" ใน "การกระทำต่างๆ" ก็ลดละมิจฉาได้จริง ไม่ว่าจะเป็น "พฤติกรรมที่ประกอบด้วยโทสะ"(ปาณาติบาต) หรือ "พฤติกรรมที่ประกอบด้วยโลภะ (อทินนาทาน) "พฤติกรรมที่ประกอบด้วยราคะ" (กาเมสุมิจฉาจาร) และ ใน "การงานอาชีพ" ก็ลดละมิจฉาได้จริง ไม่ว่าจะเป็น "การงานชั่วผิดชัดๆ" (กุหนา) ไม่ว่าจะเป็น "การงานที่ยังพูดปดพูดหลอกลวง พูดโกง" (ลปนา) ไม่ว่าจะเป็น "การงานที่ยังส่อให้เห็นเศษความเพี้ยนเสี้ยนความผิดอยู่" (เนมิตตกตา) ไม่ว่าจะเป็น"การงานที่เรายังยอมมอบตนให้ กับ ทางผิดนั้นอยู่ แม้ตนเองจะบริสุทธิ์ ไม่ทำผิดเองแล้ว" (นิปเปสิกตา) และ ขั้นสูงสุด ไม่ว่าจะเป็น "การงานที่ยังรับสิ่งแลกเปลี่ยนตอบแทนกลับมาให้ตนอยู่" ใดๆ (ลาเภน ลาภัง นิชิคิงสนตา)

ซึ่งจะพ้นมิจฉาชีพสุดยอด ก็คือ ต้องทำงานทำอาชีพชนิดไม่รับสิ่งตอบแทนแลกเปลี่ยนกลับคืนมาให้ตนเองเลย หรือ ทำงานอาชีพฟรี โดยไม่ต้องมีอะไรตอบแทนโน่นแหละ

เรื่องมิจฉาชีพ ๕ นี้ เป็นเรื่องลึกซึ้งสูงส่งมากในศาสนาพุทธ ทฤษฎี"สัมมาอริยมรรค มีองค์ ๘" นั้น สำคัญสูงสุดในศาสนาพุทธ หากปฏิบัติได้อย่างถูกตรงบริสุทธิ์สะอาดจากโลภ-โกรธ-หลง ได้อย่างถูกตัวตน ของ กิเลส (อัตตา) ฆ่ากิเลสอย่างถูกตัว (อัตตา) จนละเอียดสุดสิ้นอาสวะตัวสุดท้าย

เมื่อปฏิบัติด้วย "สัมมาทิฐิ" เป็นประธาน และ มี "สัมมาวายามะ" กับ "สัมมาสติ" ประกอบพร้อมห้อมล้อมช่วยปฏิบัติมีประสิทธิภาพจริง และ มีญาณรับรู้ในการปฏิบัติ อ่านตนไปพร้อมๆ กับ การปฏิบัติให้ได้ทุกขณะเสมอ

ถ้ารู้ว่าตนได้สั่งสมความตริตรึกนึกคิดจนเกิดจนเป็น"สัมมา" ขึ้นมาได้ ก็ เรียกว่า "สังกัปปะ" นั้นว่าสัมมาสังกัปปะ

รู้ทางการพูดและทำได้เป็น"สัมมา" ก็ เรียกว่า สัมมาวาจา

รู้การกระทำทุกอิริยาบถ และ ทำได้เป็น "สัมมา" ก็ เรียกว่า สัมมากัมมันตะ

รู้กระทั่งการงานอาชีพต่างๆ และ ทำให้เลื่อนขั้นขึ้นได้เป็น"สัมมา"จริง ก็ เรียกว่า สัมมาอาชีวะ

ให้รู้ว่าในการคิด ในการพูด ในการกระทำต่างๆ ในการงานอาชีพมีกิเลสมาประกอบอย่างไร ทำให้เราต้องเกิด"มิจฉา"ต่างๆ ก็สามารถหยั่งเข้าไปจัดการ กับ กิเลสให้ลดละได้จริง จนสามารถปรับ "ความตริตรึกนึกคิด" ปรับ "วาจา" ปรับ "การกระทำต่างๆ" ปรับ "การงานอาชีพ" เข้าสู่ "สัมมา" ได้เป็นมรรคเป็นผล

จิตที่ได้มรรคได้ผล เพราะ ปฏิบัติมี "สัมมาทิฐิ" เป็นประธาน มี"สัมมาวายามะ" กับ "สัมมาสติ" ประกอบพร้อมห้อมล้อมช่วยให้เกิด "สัมมาสังกัปปะ-สัมมาวาจา-สัมมากัมมันตะ-สัมมาอาชีวะ" รวม ๗ องค์นี่แหละ ทำให้สั่งสมเกิดขึ้นเป็น "อธิจิต" หรือ เป็น "สัมมาสมาธิ" ต้อง เรียกว่า "สัมมาสมาธิ" เพราะ เป็น"สมาธิ"ที่ได้จากการปฏิบัติองค์ทั้ง ๗ ของ มรรค ไม่ใช่ "สมาธิ" ที่ได้จากการนั่งหลับตาสะกดจิตเอา หรือ ได้จากวิธี ของ ลัทธิศาสนาที่มีวิธีอื่นๆ

เพราะ ฉะนั้น "มรรคองค์ ๘" จะมีสังกัปปะ, วาจา, กัมมันตะ, อาชีวะ, เป็นตัวหลักในการปฏิบัติโดยตรง ต้องพยายามให้ได้กุศลทุกกรรมทุกขณะ มิใช่ไปปฏิบัติอยู่แต่ กับ นั่งหลับตาแล้วได้สมาธิเป็นหลัก จะต้องมีความเห็น หรือ ทิฐิที่ทำให้ถูกตรงอย่างนี้เสียก่อน แล้ว จึงฝึกให้มี "สติ"จนเข้าขั้น"สัมโพชฌงค์" และ ฝึก"ธัมมวิจัย"จนมีประสิทธิภาพเข้าขั้น "สัมโพชฌงค์" กระทั่งรู้ได้ว่ากิเลสเป็นอย่างไร จะทำให้ออกอย่างไร ทำให้ละลดอย่างไร มีสติรู้ตัว แล้วก็พยายามกระทำอยู่เสมอ

เมื่อเราเรียนรู้ละลดกิเลสได้ตามทฤษฎีเอกนี้ ก็จะสะสมลงเป็นสมาธิ เรา เรียกว่า "สัมมาสมาธิ" เป็นมรรคข้อที่ ๘ มรรคทั้ง ๗ ที่เป็นสัมมาทิฐิ, สัมมาสังกัปปะ, สัมมาวาจา, สัมมากัมมันตะ, สัมมาอาชีวะ, สัมมาวายามะ, สัมมาสติ ๗ ตัวนี้ จะทำงาน ฝึกฝน สั่งสมลงเป็น"สัมมาสมาธิ" จึงไม่ใช่สมาธิที่ได้มาจากการนั่งหลับตาที่เขาทำกันทั่วไปมาแต่ไหนๆ ทุกวันนี้ชาวพุทธส่วนใหญ่ก็ได้หลงผิดว่า การปฏิบัติ"สมาธิ" ของ พุทธก็คือได้จากนั่งหลับตาสะกดจิต ซึ่งไม่ใช่ "สัมมาสมาธิ"ใน มรรคองค์ ๘ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอน

ทีนี้วิธีปฏิบัติที่ซ้อนไป กับ มรรคองค์ ๘ อันเป็นองค์ประกอบซึ่งต้องเรียนรู้ลึกซึ้งก็คือ ต้องมี"สติสัมโพชฌงค์" ซึ่งสติสัมโพชฌงค์นี่แหละคือสัมมาสติ

โพชฌงค์แปลว่า "องค์แห่งการตรัสรู้"

เมื่อสตินั้นอยู่ในระดับสติแห่งการตรัสรู้ มันก็จะทำงานถูกต้อง แล้วก็มี"ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์" คือมีการวิจัยทั้งนอกและในจิตในใจ หรือ วิจัยถึงขั้นจิต เจตสิก รูป นิพพาน(ปรมัตถ์) วิจัยในจิตว่าเรามีกิเลสยังไง เรียนรู้วิธีแล้วเราก็มีวิธีปฏิบัติ คือ วิธีสมถภาวนา กับ วิปัสสนาภาวนา เพื่อลดกิเลสลงไปได้เรื่อยๆ จึงต้องเพียรพยายามเป็น "วิริยสัมโพชฌงค์" การมีสติสัมโพชฌงค์ มีธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ ทั้ง ๓ องค์นี่แหละเป็นภาคปฏิบัติที่สำคัญ ถ้าเราปฏิบัติถูกก็จะละลดกิเลสลงได้จริง

ถ้ามันได้ดี เจริญขึ้นในการปฏิบัติธรรมก็จะเกิด "ปีติ" มีความดีใจ พอใจ ที่เราปฏิบัติได้จริง เป็นองค์แห่งการตรัสรู้จริง เรียกว่า เป็น"ปีติสัมโพชฌงค์" ซึ่งตัวปีตินี้ยังเป็นอุปกิเลสซ้อนอยู่ เป็น"ความฟูใจ" จากนั้นถ้าเราลดอุปกิเลสลงได้แล้ว ดูจิตดูใจ ของ เราที่สงบระงับจากกิเลสจริงๆ ต่อไป แล้วเรารู้ว่า แม้สงบระงับจากกิเลสระดับหนึ่งแล้ว ก็ยังมีแนวลึกที่ต้องทำให้สงบ ระงับต่อไปอยู่อีก ก็จะเกิดเป็น"ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์" และ เมื่อปฏิบัติสะสมความสงบระงับต่อไปตามนัยดังนี้ได้มากขึ้นๆ จนตั้งมั่นแข็งแรงก็ เรียกว่า เป็น "สมาธิสัมโพชฌงค์"

และในความแข็งแรงตั้งมั่น ยังจะมีแนวลึก ของ จิตวิญญาณอีกว่า จิต เจตสิกต่างๆนอกจากตั้งมั่นแล้ว มันต้องสะอาดลึกซึ้งลงไปเป็นฌาน เป็นวิมุติยิ่งๆ ขึ้น คือ ต้องละแม้แต่อุปกิเลสปีติ กิเลสที่ติดความสุขอันสงบ ระงับ เป็นวูปสโมสุข หรือ ปัสสัทธิ จะต้องลด กับ อย่าไปติดยึดว่ามันเป็นเรา(อัตตา) ว่าเป็น ของ เรา(อัตตนียา) จะต้องเรียนรู้ว่า สุขอย่างไรที่เป็นสุขโลกีย์ ทุกข์อย่างไรที่เป็นทุกข์โลกีย์ เรียกว่า เป็นเคหสิตะ โสมนัส เคหสิตะ โทมนัส หรือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา แบบโลกๆ แล้วก็ลด จนมันลดได้เป็น"อุเบกขาเวทนา" ซึ่งเป็น "เนกขัมมสิตะ อุเบกขา" ที่ต่างจาก "เคหสิตะ อุเบกขา" เพราะ เป็น "อุเบกขาสัมโพชฌงค์" เป็นความว่างวางเฉยที่มีคุณภาพขั้นโลกุตระตามระบบที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ซึ่งมิใช่ความว่างวางเฉยสามัญที่ปุถุชนก็ว่างกันได้ เฉยกันได้อยู่ทั่วไป หรือ ว่างวางเฉยตามระบบฤาษี หรือ แม้จะเป็นชาวพุทธแต่ยังมิจฉาทิฐิ

แม้คนไม่เรียนธรรมะอะไรเลย มันเป็นอุเบกขาได้เหมือนกัน มันว่างวางเฉยได้เหมือนกัน แต่มันเฉยอย่างไม่รู้เรื่อง อย่างไม่เรียนรู้ มันเป็นปฏิกิริยา ของ ธรรมชาติที่วางเฉย ว่างๆ เฉยๆ ซึ่งเรียนผิดกันอยู่มากในทุกวันนี้ โดยหลงเข้าใจผิดเอาง่ายๆเป็นมิจฉาทิฐิ โดยหลงเข้าใจว่า ถ้าเราเจตนาทำก็ตาม หรือ จิตมันว่างเฉยเองก็ตาม ตอนใดตอนนั้นเป็นการฝึกนิพพาน ทั้งที่เป็นเพียงการทำจิตให้ว่างโดยไม่รู้กิเลส ไม่เกิดการรู้เห็น"สักกายะ" เป็น"สักกายทิฐิ" และ ทำตนให้พ้น"สักกายทิฐิ" นั้นๆ อย่างถูกสภาพตัวตนจริง ลดกิเลสนั้นๆ ไม่เป็น ไม่ถูกตัว(อัตตา) ไม่ถูกเฉพาะ"อาการ"นั้นๆ หรือ "นิมิต"นั้นๆ แต่มันว่างเป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดา ของ มนุษยสัตวโลก แล้วไปหลงใหลว่าอันนั้นเป็นอุเบกขา ของ การประพฤติธรรม ซึ่งที่จริงยังไม่ใช่ มันเป็นแค่เคหสิตะ อุเบกขา

พระพุทธเจ้าแบ่งไว้ชัด "เคหสิตะ อุเบกขา" หมายถึง การมีอุเบกขา ของ ชาวบ้าน ชาวโลกธรรมดาที่วางเฉยได้ชั่วครั้ง ชั่วคราว ตามธรรมชาติ ของ จิต โดยไม่ได้เกิดจากการละลดกิเลสแต่อย่างไร หรือ แม้แต่การว่างวางเฉยตามระบบวิธี ของ ลัทธิอื่น หรือ การวางเฉยตามระบบพุทธที่ยังมิจฉาทิฐิ มิจฉาปฏิบัติ ก็ยังไม่ชื่อว่า "อุเบกขาสัมโพชฌงค์"

เพราะ ฉะนั้น การวางเฉยที่ไม่เป็น"เนกขัมมสิตะ อุเบกขา" เนื่องจากปฏิบัติไม่ถูกตามปรมัตถธรรม อย่างที่อธิบาย จึงไม่ใช่เป็นตัวอุเบกขาสัมโพชฌงค์

แต่ถ้าเผื่อว่าทำให้"กิเลสลด" ถูก"สมุทัย" มันก็จะลดทั้งสุขเวทนา หรือ ทุกขเวทนา มันก็ไม่ติดยึด เป็นการละออก เรียกว่า เนกขัมมะ ถึงแม้ขณะปฏิบัติอยู่จะยังลำบากลำบนมันก็เป็น"เนกขัมมะ โทมนัส"คือ เรารู้ว่าเรากำลังปฏิบัติ"เนกขัมมะ" รู้อาการ รู้สภาพจริงๆ เลยว่า เราทำถูกหลัก เรากำลังต่อสู้ กับ กิเลส แม้จะเป็นทุกข์โทมนัสก็รู้ตัวเอง (ทุกขายะ อัตตานัง ปะทะหะติ) รู้อย่างมีภูมิรู้ รู้ว่าตัวเองเป็นโยคาวจร รู้ว่าตัวเองเป็นผู้กำลังพากเพียรปฏิบัติอยู่ อย่างนี้ เรียกว่า เป็น "เนกขัมมสิตะ โทมนัส"

ถ้าเราปฏิบัติจนลดกิเลสได้จริง เราก็จะดีขึ้น ว่างขึ้น เบาขึ้น สบายดี ดีใจ มีความสุขอย่างสงบระงับ เรียกว่า "เนกขัมมสิตะ โสมนัส"

จากการเดินโพชฌงค์นี่แหละ ปฏิบัติให้ดีขึ้น และ กิเลสเข้าไปจนถึงขั้น "เนกขัมมสิตะ อุเบกขา" เรียกว่า การละออกจนกระทั่งทำเวทนาให้เป็นอุเบกขา หรือ ที่เราเคยได้ยินในโพธิปักขิยธรรมว่า "สติปัฏฐาน๔ ให้พิจารณากายในกาย พิจารณาเวทนาในเวทนา คือต้องอาศัยเรียนรู้ลึกลงไปถึงสุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา "เวทนา"อย่างไหนเป็น "เคหสิตะ" อย่างไหนเป็น"เนกขัมมะ" ซึ่ง"เวทนา"นี่พระพุทธองค์ทรงสอนเอาไว้มาก เป็นเวทนา ๓ ก็ตาม หรือ แบ่งออกเป็น "เคหสิตะ" กับ "เนกขัมมะ"ตาม ต้องเรียนเป็นลำดับตามที่อาตมาอธิบาย แม้จะไม่ละเอียดเป็นขั้นเป็นตอน ก็ขอให้ฟังๆ ไป แล้วก็ศึกษาให้ลึกซึ้ง

เพราะ ฉะนั้น "เวทนา" ก็เรียนรู้ในเวทนา ๒ ในเวทนา ๓ เวทนา ๕ เวทนา ๖ เวทนา ๑๘ เวทนา ๓๖ พอถึงเวทนา ๓๖ท่านแบ่งเป็นเคหสิตะ กับ เนกขัมมะ จนถึงเวทนา ๑๐๘ มีทั้งเวทนาที่เราต้องเรียนรู้ จำได้ว่า อันนี้เป็นเวทนาในอดีต มันเป็นกิเลสอย่างไร เดี๋ยวนี้เราละลดได้ไหม เปรียบเทียบเวทนาในปัจจุบัน จนกระทั่งเราเข้าใจล่วงหน้าไปถึงเวทนาในอนาคต เอากาละอดีต ปัจจุบัน อนาคต ทั้ง ๓ มาแบ่งแยกจากเวทนา ๓๖ มันก็จะได้ถึง ๑๐๘ เวทนา เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่ศึกษา เพราะ ภาษา เราต้องเรียนรู้สภาวะด้วย

ผู้ใดเรียนรู้แล้ว ลดละกิเลสไปได้เรื่อยๆ จนกระทั่งถึง "อุเบกขาสัมโพชฌงค์" ก็คืออุเบกขาที่ได้จากเนกขัมมะนี่แหละ หรือ เรียกว่า "เนกขัมมสิตะ อุเบกขา" เป็นการวางปล่อยกิเลสได้อย่างลึกซึ้ง จนกระทั่งว่างวางเฉย การวางเฉยถึงขั้นอย่างนี้ คือการว่างวางเฉยจากการฆ่ากิเลสจนจิตแข็งแรง สงบสนิท แม้จะถูกโลกธรรมสัมผัสกระแทกกระทุ้งอย่างแรงอย่างร้าย จิตก็ไม่สะเทือนหวั่นไหว (ผุฏฐัสสะ โลกธัมเมหิ จิตตัง ยัสสะ น กัมปติ) ยัง "อุเบกขา" ได้อยู่ เป็นสัมโพชฌงค์ตัวที่ ๗

จากสติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ซึ่งเป็นตัวปฏิบัติ จนกระทั่งได้ดีขึ้นมา เป็นปีติสัมโพชฌงค์ เป็นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ จนกระทั่งเจริญเป็นสภาพสั่งสมลงเป็นสมาธิสัมโพชฌงค์ ตั้งมั่นแข็งแรง แล้วก็ลึกลงไปจนละเอียดลออเป็น "อุเบกขาสัมโพชฌงค์" ตัว "โพชฌงค์ ๗" นี่ เป็นภาวะการเดิน หรือ ถ้าพูดเป็นภาษามรรค คือ เป็นทางเดิน "โพชฌงค์" จึงเป็นตัวเดินไปสู่เป้าหมายนิพพาน พุทธะเกิดต้องเดิน ๗ ก้าว ตามการก้าวแห่ง "โพชฌงค์" ดังนี้ นี่แหละคือ การเกิด ของ พระพุทธเจ้าต้องเดิน ๗ ก้าว อย่างนี้ "พุทธะเกิด ต้องมีการเดิน ๗ ก้าว" ตามรอยพระยุคลบาท ไม่เช่นนั้นไม่ใช่พุทธแท้สมบูรณ์ ปฏิบัติเช่นนี้ได้ จึงจะสามารถลดละกิเลส "ตัวตน" ภพชาติได้สะอาดสิ้นเกลี้ยง

   

๓๐ นาที กับ พ่อท่าน ตอน ผ่าอัตตตา (อันดับ ๑๖๘ สารอโศก ธันวาคม ๒๕๓๖)