สิบห้านาทีกับพ่อท่าน โดย ทีม สมอ. ตอน...
เอื้อไออุ่น
หนังสือพิมพ์สารอโศก อันดับที่ 223
หน้า 2/2

: ถาม ทำอย่างไรให้พวกเรามีสุขภากาย และ ใจที่แข็งแรง

: ตอบ มันมาจากจิตใจนะ อาตมาเห็นชัดๆ เลย มีหลายคนบอกว่า พวกเราทำงานเกิน แล้วก็ไม่สบาย อาตมาว่า ไม่ใช่ อาตมามองในเรื่องของจิตวิญญาณ เป็นเรื่องของโรคทางจิตที่ไม่สมดุล มันไม่ปีติ ไม่ยินดีปรีดา มันไม่เบิกบาน ร่าเริง มันไม่เป็นฉันทะ มันไม่มีอิทธิบาท แม้วิริยะก็ฝืน เพียรก็เพียรฝืน เอาใจใส่ไม่จริง

อาตมาว่า การขาดอิทธิบาทนี่ เป็นเรื่องของความไม่แข็งแรงจริงๆ เป็นอายุที่เสื่อม เพราะอิทธิบาทเป็นเครื่องแสดงถึงอายุ คนที่มีอายุแสดงว่ายังมีชีวิตอยู่ เพราะมีฉะนั้น ใครที่มีอิทธิบาทดี แสดงว่าเป็นผู้ที่มีอายุสมบูรณ์ คือ มีความแข็งแรง เบิกบาน สดชื่น เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ในอิทธิบาทมีฉันทะเป็นตัวนำ ซึ่งคือความเบิกบาน สดชื่น ร่าเริง ยินดี กระปรี้กระเปร่า ว่องไว มี appreciate มีอารมณ์ดีใจกรุ่นอยู่เสมอ และ ก็มีความเพียร ขมีขมัน ขวนขวาย มีความเอาใจใส่ ไม่ใช่คนเนือย คนเฉื่อย คนเซ็ง แต่เป็นคนสงบ เป็นวิมุติที่มีพลัง ซึ่งพระพุทธเจ้าสอนไว้วิเศษจริงทุกอย่างเลย

แต่ทีนี้มันไม่จริง อาตมาพยายามเข้าใจตามที่เขาบอกว่า ทำงานหนักมากเกินไป อาตมามองคนข้างนอก ที่อยู่ทางทุนนิยม ซึ่งทำงานปากกัดตีนถีบ เขาทำงานหนักกว่าพวกเรามากมายเลย จริงๆ ด้วย แต่เขาไม่ป่วยเท่าเราเลย แข็งแรงด้วย

เพราะฉะนั้น ที่พูดกันอยู่ทุกวันนี้ว่า ทำงานเกิน แล้วพวกเราก็เจ็บป่วย อาตมาจึงแย้งในใจ อาตมาก็ดูอยู่นะว่า มันไม่ใช่ ยังขี้เกียจกว่าปกติด้วยซ้ำตรงที่วิริยะไม่เต็ม ไม่ appreciate ไม่เบิกบานร่าเริงยินดี ฉันทะในสิ่งที่เป็นจริงใจมันไม่เป็นจริง กิเลสมันขี้เกียจ มันกินดีอยู่ดี มันพอมีพอกิน และ มันก็มักน้อยสันโดษได้แล้ว เป็นภัยต้าน เป็นภัยของจิตใจ ฟังดูแล้วพอเข้าใจไหม คือ พอมามักน้อยสันโดษ เราเข้าใจแล้ว ดีแล้วล่ะ เราไม่เอามากกว่านี้ แล้วเราจะทำงานมากกว่านี้ไปทำไม มันก็เลยขี้เกียจ ไม่อยากเหนื่อย ความขี้เกียจที่เป็นสันดานลึกๆ ของคนเรานี่มีเยอะ

เมื่อปัญญาไม่แจ้ง ปัญญาไม่เห็นจริง ว่าความขยันหมั่นเพียรสร้างสรรค์เป็นสิ่งมีคุณค่า มีประโยชน์ เป็นสิ่งดี ซึ่งอาตมาก็เทศน์ๆ แต่ก็ไม่เห็น เมื่อปัญญาไม่เห็นจริง ไม่เกิดความยินดี เหมือนกับการอยากได้เพชร เห็นบ่อเพชรแล้วตื่นเต้น เกิดยินดีปรีดาขยันหมั่นเพียร ด้วยความชื่นชมยินดี เพื่อที่จะขุดเอาเพชรคุณธรรม หรือ ธรรมะ ที่เราจะได้เสียสละ จะได้สร้างสรรค์ ก็เหมือนกับเราอยากจะได้เพชรนั่นแหละ ซึ่งอาตมาก็พยายามอธิบาย แต่จิตของเขายังไม่เปิดเห็นคุณค่าของคุณธรรมอย่างนั้น จริงๆ มันก็ไม่ยินดี สดชื่น ไม่ฉันทะเบิกบานจริงๆ ทุกอย่างก็กลายเป็นเรื่องฝืน จะขยันก็ฝืน จะเอาใจใส่ก็ทำอย่างฝืน เพราะฉะนั้น วิริยะ จิตตะ มันก็เลยฝืน พอฝืนมันก็เกิดความขัดแย้ง กดข่มไว้ข้างใน เกิดเป็นโรคทางจิตมันเลยย้อนแย้งตัวเอง

อาตมาก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร แต่ก็ชี้สัจจะโต้งๆ แล้ว เพราะฉะนั้น ก็คงจะพูดต่อไป จนกว่าพวกเราจะเกิดญาณปัญญาตื่นขึ้นมา เมื่อนั้น แหละ เราจะสังเกตได้ว่า คนไหนที่เขาเบิกบาน สดชื่น ร่าเริง เต็มใจทำงาน เขาจะไม่เป็นโรคเป็นภัย เขาจะไม่เจ็บไม่ป่วยหรอก ในพวกเรานี่แหละ จะเห็นได้ว่าคนไหนมีเรื่องมาก บ่นอย่างโน้นอย่างนี้ มีความย้อนแย้งในตัว คนนั้น แหละจะป่วยบ่อย

: ถาม ขอบทปฏิบัติในการวางจิตวางใจ ยามที่ต้องดูแลพ่อแม่เจ็บป่วยด้วยค่ะ คือท่านจะหงุดหงิด เอาแต่ใจ เป็นต้น

: ตอบ ถือเป็นโจทย์ของพวกเรา เพราะว่าเราจะแก้ไขพ่อแม่มันไม่ง่าย เนื่องจาก พ่อแม่ต้องถือดี ถือตัวว่าเป็นพ่อเป็นแม่ การจะมีบารมีสูง จนกระทั่งพ่อแม่ยอมรับนับถือ จนให้เราสอนเราบอกเราแก้ไขพ่อแม่ได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เราต้องยอมรับ พ่อแม่ใครจะเป็นอย่างไร ก็เป็นบาปใคร บุญใคร สุดแล้วแต่ บางคนได้พ่อแม่ที่น่าเหน็ดน่าเหนื่อย ก็ว่ากันไป บางคนพ่อแม่ดูดีก็บุญไป พ่อแม่คนไหนที่หนักหนาสาหัสจริงๆ ก็ไม่รู้จะทำยังไงได้ เพราะเราเลือกเอาไม่ได้ มันเป็นวิบากของเรา เพราะฉะนั้น คำตอบก็คือ ถ้าใครจะมีวิบากหนัก ก็ใช้เป็นโจทย์ให้เราหัดวางใจ หัดพยายามใช้ศิลปวิธีรับลูกให้ได้ตามประสาที่เราเป็นลูก และ มันก็เป็นสิ่งที่ดี ที่เราเลือกโจทย์เหล่านี้ไม่ได้ หรือ เราจ้างก็ไม่ได้ เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น เป็นแบบฝึกหัด เป็นโจทย์ให้เราได้ฝึกฝนพัฒนาให้เป็นประโยชน์เท่าที่เราจะฉลาด และ ได้ฝึกใจตนอย่างแท้จริง

: ถาม ถ้าลูกทำความดี และ ตั้งใจ ขอให้ผลแห่งความดีตกทอด เพื่อช่วยพ่อแม่ บรรเทาทุกข์ จากความเจ็บป่วยบ้าง จะได้ไหมคะ

: ตอบ ไม่ได้ ในแง่สัจธรรมนั้น ไม่ได้ ศาสนาพุทธสอนเรื่องกรรม และ วิบากของกรรม ใครทำคนนั้น ก็ได้ ทำแล้วจะยกให้ใครก็ไม่ได้พ่อแม่ต้องทำเอง ลูกจะช่วยเหลือได้ ก็คือทำกรรมปัจจุบันที่ดีต่อพ่อแม่ ดูแลเอาใจใส่ ปรนนิบัติไม่ให้ขาดตกบกพร่อง มีน้ำใจกับท่าน ทำให้ท่านรู้สึกอบอุ่น และ มีความสุข ด้านสังคมศาสตร์ ก็มีผลได้ ก็เห็นทำกันอยู่ หรือ เป็นจิตวิทยาข้างเคียง ก็มีผลได้อยู่บ้าง

: ถาม วัยทองมีผลกระทบอย่างไรกับนักปฏิบัติธรรมคะ

: ตอบ ความหมายวัยทองของสังคมโลก เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในรอบของวัยอายุขัย หรือ สรีระร่างกาย เมื่อผู้หญิงถึงรอบที่ประจำเดือนจะหมดไป หรือ ทางผู้ชายก็อาจมีอะไรของเขาบ้างก็ไปเห่อๆ กับเขา ซึ่งแต่ก่อนแต่ไร ไม่เคยได้ยินเรื่องของผู้ชาย แต่ตอนนี้ก็มีขึ้นมา

เรื่องนี้ในฐานะนักปฏิบัติธรรม ขอวิจัยขาดไปเลยว่า ถ้าเกี่ยวกับด้านทางจิตวิญญาณแล้วละก็ ไม่มีผลกระทบอะไรเลย สำหรับผู้ที่มีคุณธรรมเพียงพอ และ แม้นักปฏิบัติธรรมที่ยังไม่มีคุณธรรมสูงส่ง แต่ถ้าเผื่อเข้าใจดี ก็จะไม่มีผลกระทบอะไรเท่าไร

ส่วนคนที่ได้รับผลกระทบนั้น เรื่องของสรีระก็เป็นจริงบ้าง ที่มีการเปลี่ยนแปลงตามวัย แต่ถ้าเข้าใจดีๆ แล้วก็ไม่มีปัญหาอะไรมากเลย ไม่เกิดการกระทบกระเทือนอะไรหนักหนาหรอก แต่เพราะอุปทาน และ เป็นแฟชั่นประโคมกันพวกที่ขายผลิตภัณฑ์ หรือ สินค้าอะไรต่างๆ เพื่อจะกอบโกยเอาเงินเอาทองต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นการขายยาแก้อาการ ยาบำรุง มันเป็นเรื่องของสังคมเศรษฐกิจ เป็นเรื่องของความโง่ เห่อ ตามเรื่องของกระแสโลกบ้าง จนทำให้เลอะเทอะนักหนาแสนสาหัสตกลงก็เลยกลายเป็นเหยื่อของสังคมชนิดหนึ่ง

ถ้าเข้าใจที่พูดนี้แล้ว ไม่ต้องไปตกอกตกใจ หากปฏิบัติตัวดีๆ ใจเย็นๆ พัฒนาจิตใจดีๆ แล้วละก็ จะไม่มีผลกระทบอะไรเลย ที่คิดว่าคนวัยทองจะต้องมีอารมณ์หงุดหงิด เครียดง่าย โมโหง่าย อันที่จริงเป็นโรคของจิตแล้วก็ไปผสมกับทางร่างกาย จนเป็นการทำร้ายร่างกายอีกที เป็นไปได้ทุกอย่างแหละ

เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นนักปฏิบัติธรรมสายอโศกแล้ว อย่าไปตื่นเต้น อย่าไปบ้าบอคอแตกกับเขา ไปทำความเข้าใจกันให้ดีๆ

บทสรุป

ความรักที่ยิ่งใหญ่คือ ความรักมวลมนุษยชาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่สอนให้เรารู้ว่า เมื่อละเว้นจากการทำความชั่วทั้งปวง ทำแต่ความดี ทำจิตให้ผ่องใสแล้ว จะพบว่าโลกนี้ไม่มีอะไรเลวร้าย ไม่มีใครอยากเกิดมาเป็นคนชั่ว ไม่มีอะไรที่แก้ไขไม่ได้ ไม่มีอะไรที่ให้อภัยไม่ได้ จะมีแต่หัวใจที่อ่อนโยนเท่านั้น ที่รับรู้ว่าทุกคนต่างเกิดมาตามกรรมดี และ กรรมชั่วที่ตนได้สร้างมาเอง

end of column