สิบห้านาทีกับพ่อท่าน โดย ทีม สมอ. ตอน...
30 ปีแห่งการงานของพ่อท่าน
หนังสือพิมพ์สารอโศก อันดับที่ 230 ฉบับ เดือนธันวาคม 2543
หน้า 1/1

“อโศก เพื่อมวลมนุษยชาติ” เป็นอุดมการณ์สูงสุด ในการกอปรก่อ พุทธศาสนา ของสมณะโพธิรักษ์ ๓๐ ปีแห่งการงานของพ่อท่าน ย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ ยืนยัน ”.......อาตมาทำให้คนนี่แหละ สามารถเปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนแนววิถี การดำเนินชีวิต การดำรงชีวิต เปลี่ยนแปลงแนวคิด เปลี่ยนความรู้ความเห็น เปลี่ยนความรู้ความเข้าใจ........” สร้างคนพันธุ์ใหม่ ที่มีคุณค่าสาระแก่โลก!

: ๓๐ ปีแห่งการงานที่ผ่านมา งานอะไรที่พ่อท่านภาคภูมิใจที่สุด

: งานสร้างคน ทำให้คนพ้นทุกข์ หรือ สุขในระดับโลกุตระ รวมทั้งเป็นคนที่มีคุณภาพ แม้ไม่ได้เต็มครบก็ตาม แต่มีคุณลักษณะของ ๗ ส.บ้าง คือ ส.สุข ส.สูง ส.สร้างสรร ส.เสียสละ ส.สมบัติ ส.สูญ และ ส.สัมบูรณ์ ๗ ส. นี้ อาตมาเห็นว่า คือ ผลแห่งคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่สอนให้คนพัฒนาตน และ ทฤษฎีของพระพุทธเจ้านั้น เป็นไป เพื่อสังคม ไม่ใช่เป็นไป เพื่อปัจเจกบุคคลเท่านั้น ถึงแม้วิธีการจะทำให้ปัจเจกบุคคลแต่ละคน เกิดการพัฒนาก็ตาม เนื้อหาของ การพัฒนาบุคคลนั้น จะทำให้เกิดการละความเห็นแก่ตัว เป็นคนที่มีโลกวิทู รู้ความเป็นไปของโลก หรือ รู้จัก ”โลกีย์”อย่างแท้จริง ว่า “ทุกข์” ทรมาน เป็นภาระ วนเวียน ไม่รู้จักจบ รวมทั้งรู้ความจำเป็นที่เป็นสารสัจจะของสังคม และ ความเป็นอยู่ ของผู้คนในสังคม จนสามารถจะช่วยเขาได้อย่างถูกทิศทาง

คุณภาพของศาสนาพุทธนั้น ไม่ได้สอนให้คนเห็นแก่ตัว หรือ เห็นแก่สิ่งที่เป็นภพ เป็นชาติ ที่ไปติดอยู่ในภวังค์ อยู่อย่างสงบนิ่ง ไม่รู้ไม่เห็นโลก เหมือนปิดทวารแท้ อย่างศาสนาฤาษีเดียรถีย์ต่างๆที่เป็นมา ศาสนาพุทธ ไม่ได้มีลักษณะอย่างนั้น แต่มีลักษณะเปิดโล่งเปิดกว้าง รู้จักโลก หรือ มีโลกวิทู จิตใจของคนที่ปฏิบัติ ตามทฤษฎีของพระพุทธเจ้าเมื่อบรรลุแล้ว จะเป็น “โลกุตรจิต” เป็นจิตที่อยู่ เหนือโลก อย่างที่ไม่ถูกอำนาจโลก อำนาจโลกีย์ ไม่ว่าลาภ ยศ สรรเสริญ หรือ โลกียสุข หรือ กิเลสทางกามก็ดี ทางอัตตามานะก็ดีครอบงำ ถ้าปฏิบัติ อย่างถูกทางแล้ว จะไม่ถูกครอบงำมาก กระทั่ง ลดลงไปๆ จากมากเหลือน้อยลงๆ จนกระทั่ง ครอบงำไม่ได้เลย แล้วก็จะเป็นคนรู้จักโลก รู้เท่าทันโลก และ สามารถ ช่วยคนในโลกได้ โดยตนเองก็พ้นทุกข์ อย่างแท้จริงด้วย เนื้อหาศาสนาของ พระพุทธเจ้าเป็นอย่างนั้น ทุกวันนี้ ศาสนาพุทธถูกเข้าใจผิดว่า เหมือนฤาษี ที่หนีสังคม ปลีกแยกไปเฉพาะตนไปนั่งสะกดจิต หลับตา ปฏิบัติศีล ก็เพียงแต่ เป็นการพยายามกดข่มกันไป โดยเข้าใจว่าได้ผลแค่ ทางกายกับวาจา เท่านั้น เป็นเพียงสำนึกส่วนนอก ที่หยั่งไม่ถึงจิตใจของตนเอง ไม่สามารถอ่านรู้เหตุ จนถึงอนุสัย, อาสวะจริง ไม่สามารถวิจัยเวทนาในเวทนา จิตในจิต อย่างแตกฉานจริง แต่กดข่มใจไว้เท่านั้น หรือ รู้อารมณ์ได้บ้างก็ไม่ลึกซึ้ง แตกฉาน เพียงแค่ฝึกฝน ให้มีความเคยชินในการทำดี ทำดี อย่าไปทำชั่วนะ แต่ก็ไม่รู้จักกิเลส ต้นตอ จึงไม่สามารถดับกิเลส ตัณหาอุปาทาน ได้สิ้นเกลี้ยง สัมบูรณ์ด้วย วิมุติญาณทัสสนะ มันก็เลยไม่จริงไม่จังเท่าไหร่ แม้จะพอมีประโยชน์บ้าง ก็เหมือนหลายๆ ศาสนา แต่ก็ยังสู้หลายๆ ศาสนาที่เขาทำสมาธิ สะกดจิต กันอย่างหนักๆ หรือ ศาสนาที่เขามีพระเจ้า เป็นเครื่องจูงใจไม่ได้ด้วยซ้ำไป

ทุกวันนี้ ศาสนาพุทธ จึงไม่มีประสิทธิภาพในการช่วยคน ให้เป็นคนที่ช่วยสังคม หรือ แม้แต่ช่วยตัวเองได้ในแง่การอดทน ต่ออำนาจกิเลส ก็ยังสู้ศาสนาฤาษีไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงมีผลอย่างที่เห็นนี้ พุทธศาสนิกชนในประเทศไทยมีมากถึง ๙๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ แต่คุณภาพของชาวพุทธสู้ฤาษี หรือ ชาวศาสนาที่นับถือ พระเจ้า ก็ยังไม่ได้ กระทั่ง แม้ในระดับผู้บริหาร ก็เห็นแสดงความโลภ ความโกรธ แสดงความอาฆาตมาดร้าย แสดงความรุนแรงให้เห็นๆอยู่ โดยเฉพาะความโลภ โลภได้ถึงขนาดทุจริต หรือ ทำอย่างน่าเกลียดน่าชัง แม้แต่ในสายของด้านนักบวช ก็แสดงออกชัดๆ แจ้งๆ ถึงความไร้ประสิทธิภาพ น่าอดสูใจเหมือนกัน

ถ้าถามว่า อาตมาภาคภูมิใจ ที่ได้ทำอะไรในชาตินี้ ก็เรื่องนี้แหละ ที่สามารถ ทำให้คน เข้าใจศาสนาพระพุทธเจ้าแล้ว ในช่วงระยะเวลาที่อาตมา ทำงานมาแค่ ๒๐-๓๐ ปี ก็ได้ผลเป็นกอบเป็นกำ เป็นกลุ่มเป็นหมู่ จนเกิดเป็น วัฒนธรรม เป็นแบบวิถีการดำเนินชีวิต ที่เข้าใจโลกุตรธรรม ไม่หลงจนเป็นทาสลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ขึ้นมาได้ตามลำดับ ชนิดเป็นจริง และ จะถาวรยั่งยืนต่อไป อย่างที่สามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ เป็นรูปธรรมอยู่บ้างในทุกวันนี้

: ทิศทางอนาคตจะก้าวต่อไปอย่างไรคะ

: ไม่มีก้าวต่อไปทางอื่น ไม่มีทางไหน มีทางเดียวตั้งแต่ต้นจนกระทั่ง ถึงทุกวันนี้ อาตมามีทางจะพาไปทางเดียว คือไปในทิศทางที่ลดกิเลสอย่างแท้จริง ถ้าจะว่า “ก้าวต่อไป” ก็คือทำให้ดียิ่งๆขึ้น ลดกิเลสให้จริงยิ่งขึ้น ให้หมดกิเลสยิ่งขึ้น หมดกิเลสได้เท่าไร เราก็จะไปสู่สภาพของอิสรเสรีภาพ ภราดรภาพ สันติภาพ สมรรถภาพ บูรณภาพ จะไปสู่จุดนั้น นั่นแหละ ไม่มีจุดอื่นอีก

: ลูกชนิดไหนที่พ่อท่านชื่นชม และ อยากได้คะ

: ลูกที่ใส่ใจ บอกง่าย ว่านอนสอนง่าย ตั้งใจฝึกฝนศึกษา จริงๆแล้ว ก็อยากได้คนที่มีบารมีมากๆ แต่จะไปบังคับได้อย่างไร คนบารมีมากๆก็ได้มาน้อย ประเภทคนฉลาดสอนแค่ ๒-๓ คำ ก็ไปได้ลิ่วๆเลย เป็นไปไม่ได้หรอก มันก็ได้ ตามบุญตามบารมี อยากจะได้ลูกสอนง่าย แนะนำง่าย เอาใจใส่ อดทน อุตสาหะ พัฒนาได้เร็วๆ ใครๆก็อยากได้อย่างนี้ทั้งนั้น ตรงกันหมดทั้งโลกนั่นแหละ

: อโศกไม่ได้แก้ไขคนชั่วเป็นคนดี แต่มาพัฒนาคนดีให้ดียิ่งขึ้น ใช่ไหมคะ

: ใช่ แต่คนชั่วที่ว่านี้ ก็คือ คนชั่วระดับ อเวไนยสัตว์ หรือ คนชั่วที่หนักหนา สาหัสนั้น เราไม่อยู่ในฐานะจะช่วยได้ เราช่วยคนที่ไม่ชั่ว ขั้นหนักขั้นร้ายแรง ก็ต้องเข้าใจว่าความดีของคนก็คือ การลดความชั่ว ลดความชั่วได้ ก็เป็นคนดี และ ดีที่ได้ก็จะมีดียิ่งกว่า เป็นความดี อีกชั้นหนึ่งขึ้นไป เราต้องเห็นความดีที่ต่ำกว่า ดีขึ้นไป ต้องสูงกว่าดีที่ต่ำกว่า จึงจะเรียกเป็นภาษาว่า ดีขนาดนี้ แต่เราต้อง ไม่หยุดอยู่แค่นี้ ต้องทำให้ดียิ่งกว่าขึ้นไป ดีที่ต่ำกว่า หรือ ที่เราหนีจากดีอันนี้ได้ เรียกมันว่าเป็น “ความชั่ว” เพราะฉะนั้น การละชั่ว หรือ ทำดียิ่งขึ้น จึงมีนัยะอย่างนี้

นัยะที่สูงขึ้นคือ ทำให้ดียิ่งขึ้น ฉะนั้น ที่พูดว่า เราไม่สอนคนชั่ว แต่สอนคนดี ให้ยิ่งๆ ขึ้นนั้น พูดอย่างนั้น ก็เข้าท่าอยู่เหมือนกัน คือถ้าคนหยาบจริงๆ คนที่ร้ายแรงจริงๆ ซึ่งต้องปรับปรุงแก้ไขด้วยวิธีแรง ด้วยวิธีลงโทษ กำราบกันหยาบๆ เหี้ยมๆนั้น เรายังมีแรงไม่พอ หยาบไม่พอ เราใช้วิธีลงโทษรุนแรง อะไรไม่ไหว เพราะฉะนั้น เราไม่อยู่ในฐานะที่จะไปแก้ไข ปรับปรุงคนที่หยาบมากๆ ต้องให้ออกไปอยู่กับ พวกที่หยาบด้วยกัน ถึงกับลงมือลงไม้ หรือ เล่นแรงกัน ให้เข็ดให้หลาบ โดยปรับปรุงแก้ไขกันมา ชั้นหนึ่งก่อน แต่ถ้าไม่ถึงขนาดขั้นที่ว่ามา ยังมีสำนึกที่ดี เราก็แก้ไข และ ทำงานกับคนพวกนี้แหละมาก เรามีสูตรที่ใช้อ่านพัฒนาการ สู่ความประเสริฐเป็นขั้นๆ คือ ๑. ดี ๒. ดีกว่า ๓. ดีขึ้น ๔. ดีแท้ ๕. ดีมากๆ ๖. ดีครบถ้วน ๗. ดีที่สุด ๘. ดีสัมบูรณ์

: จุดวิเศษของมนุษยสัมพันธ์อยู่ตรงไหนคะ

: อยู่ที่จิตใจที่แคร์คนอื่น กลัวเขาจะโกรธ จะเสียใจ กลัวว่าเขาจะได้รับ ผลกระทบที่ไม่ดีจากเรา พยายามตั้งใจ ไม่ให้เขาเสียใจ น้อยใจ โดย “ไม่เห็นแก่ตัวเอง” จุดนี้ขาดแคลนมาก ในสังคมทุกวันนี้ แม้ในหมู่ชาวอโศก เราพูดกันถูกต้องถึงเรื่องความเสียสละ การช่วยเหลือสังคม การละตัวละตน แต่มันจะไม่จริง ถ้าใจลึกๆของเรา “ยังเห็นแก่ตัว” ยังไม่จริงใจ ยังไม่มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ใครจะเป็นอย่างไร ช่างหัวเขา ตัวนี้แหละ เป็นตัวที่ยังบกพร่อง กันอยู่ เป็นจุดที่พวกเรายังแก้กันไม่ได้ มัน จึงเป็นอย่างที่มันเป็น ต่างคนต่างคิด ใครจะทำก็ช่างมัน เราก็ทำของเรา ทำให้เกิดความไม่ประสาน

: ควรปฏิบัติตัวอย่างไรคะ

: เราจะมีสิ่งเหล่านี้ได้ เพราะมีความเชื่อมั่น เข้าใจด้วยเหตุผล เห็นจริงๆ ใจลึกๆ จึงจะนำเข้ามาพิจารณา มาพัฒนา มาฝึกหัดตามที่เราเข้าใจ

ขอให้พวกเราใช้ปัญญาไตร่ตรอง และ ปรับลักษณะที่ไม่แคร์ใคร จนกลายเป็น อัตตามานะ ถือดี ถือตัว และ ขัดแย้งกัน ทำอะไรก็ไม่ลงรอย ไม่โอนอ่อนเข้าหากัน ต่างคนต่างทำ ตกลงกันเป็นมติหมู่แล้ว ก็ยังไม่เอาตาม ควรใช้ปัญญาถอดถอน อย่าลำเอียงเข้าข้างตน

”เราต้องแคร์คนอื่น” ถ้าเขาทำไม่สมใจเรา เรายังรู้สึกไม่ค่อยชอบ รู้สึกเสียใจ รู้สึกแข็งกระด้างขึ้นมา แล้วคนอื่นล่ะ ถ้าเราทำอะไรไม่แคร์ จนเขาได้รับผลกระทบ เขาจะรู้สึกอย่างไร มันน่าจะคำนึงตรงนี้ เขาไม่แคร์เรายังไม่สบายใจ ถ้าเราไม่แคร์ เขาก็ไม่สบายใจเหมือนกัน ต้องรู้จักมี ”เยื่อแห่งความสัมพันธ์ในโลก”กันบ้าง

คนเราจะเห็นใจกันได้ ไม่ใช่นั่งเพ่งดูใจกันง่ายๆ แต่ต้องดูจากกิริยา ดูจากพฤติกรรม ดูจากการคบคุ้น ดูจากองค์ประกอบทั้งหลายทั้งปวง อย่าให้เขา เข้าใจเราผิดว่าเป็นคนไม่มีน้ำใจ แต่ก็ไม่ใช่ประเล้าประโลม กันมากเกินไป เราควรรู้ประมาณว่า เขาควรจะได้อะไร มีขีดคั่นแค่ไหน

ขอให้พวกเราพยายามปรับปรุงอันนี้กัน เพราะเป็นพฤติกรรมอันดีงามของมนุษย์ ขอฝาก ให้พวกเรา ไปขยายต่อ

๓๐ ปีแห่งการงานของพ่อ แม้จะเกิดผลงานเป็นรูปธรรมให้เห็นมากมาย
แต่ผลงานนั้น กลับไม่ใช่เป้าหมายหลักสำคัญที่แท้จริง
ยิ่งไปกว่าการเกิดความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างกันอย่างอบอุ่น
เก็บเกี่ยววันเวลาที่อยู่ร่วมรวมกันพี่ๆน้องๆ พ่อๆลูกๆ ไว้ในความทรงจำ
วันเวลาแห่งความสุข ที่เหลือน้อยลงๆๆ

 

end of column