เปิดหน้าต่าง ตอ.

ทำไม ต.อ. ต้องมี ๕ ส.
๕ ส. มีประโยชน์อย่างไรต่อหน่วยผลิต

สารอโศก อันดับที่ ๒๓๓
กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔


ในการประชุมครบรอบ ๒ ปี ของ ต.อ. (หน่วยตรวจสอบ และพัฒนาคุณภาพผลผลิต ของชาวอโศก) เมื่อวันที่ ๘ ก.พ.๒๕๔๔ ในงานพุทธาภิเษกฯ ครั้งที่ ๒๕ ณ ศาลีอโศก พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ ให้ความสำคัญอย่างมาก กับการมี ต.อ. พ่อท่านกล่าวว่า

"เราต้องมีหน่วยคุม ผู้ถูกคุมอาจไม่ค่อยชอบ คนข้างนอกคุมงานแบบนี้ได้เงินเดือน ถูกตอกก็ รับได้ ของเราไม่มีเงินเดือนถูกตอกมาก็ยาก การไปตรวจคุม ก็ถูกหอกปากบ้าง แต่พวกเราก็มีใจที่จะ ทำ ต้องทำความเข้าใจว่าทำไมต้องคุม เราต้องมีมาตรฐาน การทำสิ่งดี ถ้าไม่ดีออกไปทำร้ายคน เป็นบาป เราต้องป้องกันการทำบาป

คนมาช่วย ต.อ.ขณะนี้ยังมีน้อย อยากได้เพิ่มขึ้นอีก เราต้องใช้คน เครื่องมือ เครื่องตรวจอีก มาก อยากให้พวกเราเอาใจใส่ร่วมมือกันจริงๆ ต.อ.เป็นองค์กรสำคัญ เป็นสิ่งพาเจริญ ควบคุมการ ไม่เป็นพิษทั้งทางกายภาพ และจิตวิญญาณไม่ให้โลภมาก มีการควบคุมราคาสินค้าขายให้เป็นแบบ บุญนิยม พวกขายราคาเกิน ไม่ใช่ชาวบุญนิยม ไม่น่าคบ... "

สรุปความเป็น ต.อ. คือผู้ทำ ผู้ผลิต ผู้ขาย เกี่ยวข้องกันหมด ต้องช่วยกันดูแล ตรวจสอบ ผลผลิตของตนเอง ถ้าไม่ดีจริง ก็ต้องทิ้ง ต้องยอมขาดทุน เพื่อความปลอดภัย ของผู้บริโภค เราทำจริง ผู้บริโภคก็ สบายใจ

ในเรื่องผลิตผลของชาวอโศก พ่อท่านเน้นเริ่มต้นต้องให้มีความสะอาด ไม่ใช่ไปดู เบื้องหลัง การถ่ายทำแล้ว ใช้ไม่ลง กินไม่ลง ดังตัวอย่างจากที่อื่น เล่าว่า คนทำกะปิบางคน อุ้มลูกด้วย เอาเท้าย่ำกะปิไปด้วย ลูกถ่ายออกมา ก็ลงไปในกะปิ อย่างนี้ไม่ไหวแน่ ของเราจึงต้องให้สะอาด ให้ลือลั่น ดูแล้วให้ได้คะแนนเต็ม แม้ด้านวัตถุดิบ ก็พยายามให้ไร้สารพิษ หรือให้ปลอดสารพิษ ถ้าไม่มี ให้หยุดเสียเลย เป็นแบบพ่อค้า ขายข้าวต้มปลากะพง หากไม่มีปลากะพง ก็ไม่ขายปลาอื่นๆ

ฟังนโยบายของพ่อท่านแล้ว พวกเราคงต้องทำงานหนักขึ้น ต.อ.ก็ต้องทำหน้าที่ เข้มแข็งขึ้น ๕ ส. เป็นกิจกรรมหนึ่ง ในงาน ต.อ. ที่มีบทบาท เกี่ยวข้องในการจัดระเบียบ และความสะอาด ซึ่งเป็น หัวใจของหน่วยผลิต เป็นความจำเป็น โดยเฉพาะ ประเทศทางตะวันตก มีการปฏิบัติอย่างเป็นระบบ มีการกำหนดมาตรฐาน โดยผู้ชำนาญการ

ในประเทศญี่ปุ่นการจัดระเบียบเรียบร้อยในสถานที่ทำงานนั้น ปฏิบัติกันเป็นกิจวัตร และถือ กันเป็นเรื่องสามัญสำนึก(common sense) เป็นการมุ่งเน้น ในการสร้าง นิสัยตนเอง (self dicipline) ในตอนเริ่มแรก เขาปฏิบัติกันมาก ในกลุ่มช่างฝีมือ ต่อมาในยุคพัฒนาอุตสาหกรรม การปฏิบัติมุ่งเน้น ที่ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน หันมาเน้นเรื่อง การจัดระเบียบเรียบร้อย และความสะอาด ในสถานที่ทำงาน เพื่อยกระดับคุณภาพ ประสิทธิภาพ และการเพิ่มผลผลิต โดยญี่ปุ่นมีการ จัดระบบ เรียกว่า ๕ S คือ SEIRI เซริ สะสาง, SEITON เซตัน สะดวก, SEISO เซโซ สะอาด, SEIKETSU เซเคทสุ สุขลักษณะ, SHITSUKE ชิสุเกะ สร้างนิสัย

สำหรับประเทศไทย มีบริษัทญี่ปุ่นนำ ๕ ส.เข้ามาใช้หลายบริษัท และบริษัทปูนซีเมนต์ เป็นบริษัทไทยแห่งแรก ที่นำ ๕ S ของญี่ปุ่นมาใช้ โดยกำหนด เป็นคำภาษาไทย ๕ ส.คือ สะสาง สะดวก สะอาด สุขลักษณะ และสร้างนิสัย ซึ่งต่อมาสถาบัน เพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ได้รณรงค์ส่งเสริม ให้หน่วยงาน ทั้งภาคธุรกิจเอกชน รัฐวิสาหกิจ และราชการ นำกิจกรรม ๕ ส. มาใช้ ในการพัฒนาองค์กร และบุคลากร เพื่อเป็นพื้นฐาน ของการเพิ่ม ประสิทธิภาพ คุณภาพ และเพิ่มผลผลิต

การทำกิจกรรม ๕ ส. เป็นที่นิยม เพราะทำให้สถานที่ทำงาน สะอาด เป็นระเบียบ ผลที่ได้เป็น รูปธรรมมองเห็นได้ ทั้งคนในหน่วยงาน และคนภายนอก ผู้ทำ ๕ ส. จะมีระเบียบวินัยสูงขึ้น การปฏิบัติงานง่ายขึ้น และมีความปลอดภัยมากขึ้น ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ ของหน่วยงาน คนในหน่วยงาน เกิดความภาคภูมิใจ รวมทั้งสร้าง ความพึงพอใจ และความมั่นใจ ให้กับลูกค้า

๕ ส.เป็นส่วนหนึ่ง ของงานประจำวัน การเริ่มต้น เริ่มได้ง่ายๆ จากภายในบ้าน หรือ ที่ทำงานของเรา สำหรับหน่วยงาน อาจเริ่มจากส่วนเล็กๆ ทำเป็นพื้นที่ตัวอย่าง (model area)

และค่อยๆยกระดับ พัฒนาไปทีละขั้น จนกระทั่ง ทั่วทั้งหน่วยงาน การทำ ๕ ส. ไม่ต้องใช้ เงินมาก ไม่ต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญแพง แต่ต้องร่วมแรง ร่วมใจกัน ทั้งหน่วยงาน ก็สามารถ จะเห็นผลได้รวด เร็ว

การดำเนินการ ๕ ส. เริ่มต้น ต้องทำความเข้าใจ กับความหมายของ ๕ ส. เสียก่อน

๑. ส.สะสาง คือการแยกของที่ต้องการออกจากของที่ไม่ต้องการ และขจัดของ ที่ไม่ต้องการทิ้งไป โดยเริ่มด้วยการสำรวจ ตรวจดูสิ่งของต่างๆ ที่อยู่ในหน่วยงาน มีอะไร ที่จำเป็นต้องใช้บ่อย อะไรที่นานๆใช้ อะไรที่ไม่ได้ใช้เลย เมื่อพบแล้ว ก็แยกแยะของ ที่จำเป็นต้องใช้ และไม่จำเป็น ออกจากกัน ของที่ไม่จำเป็น แต่ยังใช้ได้ อาจส่งให้ หน่วยงานอื่น หรือบริจาค หรือขายไป ส่วนที่ใช้ไม่ได้ ก็ทิ้งไป ไม่เก็บไว้ให้รก เปลืองเนื้อที่ หรือกลายเป็น ที่เก็บฝุ่น และเพาะเชื้อโรค

ประโยชน์จากการทำ ส.สะสาง
๑. มีพื้นที่ใช้งานเพิ่มมากขึ้น
๒. ประหยัดงบประมาณ ในการจัดซื้อตู้ และชั้น
๓. ของดีของเสีย ไม่ปะปนกัน
๔. ลดเวลา ในการหาสิ่งของ
หัวใจของ ส.สะสางคือ ให้มั่นใจว่า มีแต่ของจำเป็น ในสถานที่นั้น

๒. ส.สะดวก คือการจัดวางสิ่งของต่างๆในที่ทำงานให้เป็นระเบียบ เพื่อให้ง่าย และสะดวก ในการหยิบใช้ ป้องกัน การปะปน โดยคำนึงกับคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัย เมื่อสถานที่ทำงานเหลือแต่สิ่ง จำเป็นในการปฏิบัติงาน หลังจากสะสางแล้ว ก็เป็นเรื่องการจัดระเบียบสิ่งของ ให้เป็นหมวดหมู่ เป็นพวก เหมาะสม กับสภาพการใช้งาน มีป้ายบอกชัดเจน ทุกคนสามารถ เข้าใจได้ง่าย การหยิบ และ การจัดเก็บไม่ผิดพลาด

จะเกิดอะไรขึ้นบ้างถ้าไม่มีการทำ ส.สะดวก
๑. เครื่องมือเครื่องใช้เก็บไม่เป็นที่แน่นอน มีการปะปน หาไม่พบ เสียเวลา เสียอารมณ์
๒. ผู้รับผิดชอบ ไม่อยู่หาของไม่เจอ หยิบของไม่ได้ ทำงานไม่ได้
๓. วัตถุดิบกับงานระหว่างการผลิต ไม่มีการจัดเก็บ ตามระบบเข้าก่อนออกก่อน ทำให้เกิด การเสื่อมคุณภาพ
๔. เกิดอุบัติเหตุจากลักษณะการวางของ ที่ไม่สะดวก หรือไม่ถูกต้อง

ประโยชน์จากการทำสะดวก
๑. หยิบของใช้ได้รวดเร็ว ถูกต้อง
๒. ตรวจสอบสิ่งของต่างๆได้ง่าย
๓. ได้รับความปลอดภัย ในการทำงาน
๔. ผู้รับผิดชอบไม่อยู่คนอื่นทำงานแทนได้
๕. วัตถุดิบระหว่างการผลิต เป็นไปอย่างมี คุณภาพ

ข้อคิดในการทำ ส.สะดวก คือ "เสียเวลา ๑ นาที ดีกว่าเสียเวลาค้นหา ๓๐ นาที" หัวใจของ ส.สะดวกคือ "มีที่สำหรับของทุกสิ่ง และของทุกสิ่ง ต้องอยู่ในที่ของมัน "

๓. ส.สะอาด หมายถึงการทำความสะอาด (ปัด กวาด เช็ด ถู ล้าง) เครื่องมือ เครื่องใช้ วัสดุอุปกรณ์ รวม ทั้งบริเวณพื้นที่ทำงาน จิตสำนึกอย่างหนึ่งของ ส.สะอาด คือ นึกถึงเสื้อผ้าใหม่ คนใส่จะระวังรักษา ไม่ให้เลอะ เช่นเดียวกับ ที่ทำงานที่สะอาด มีระเบียบ คนจะไม่กล้าทำสกปรก

ความสกปรกจะส่งผลเสียอย่างไร
๑. เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
๒. ผลผลิตมีการปนเปื้อนสิ่งสกปรก เป็นพิษภัยต่อผู้บริโภค
๓. ลูกค้า ขาดความเชื่อถือต่อหน่วยงานที่สกปรก ไร้ระเบียบ
๔. มีผลกระทบต่อสุขภาพจิต และกาย ของผู้ปฏิบัติงาน
ส.สะอาด มิได้มุ่งเน้นแค่การปัดกวาด เช็ดถู ชำระล้างเท่านั้น แต่มุ่งเน้นถึง การบำรุงรักษา และซ่อมแซมด้วย การทำความสะอาด เป็นการตรวจสอบไปในตัว เมื่อเราลงมือ ทำความสะอาด เครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ เราจะมีโอกาส ได้พบเห็นสิ่งผิดปกติ เช่น น็อตหลุด น็อตหลวม สายไฟเสื่อม เครื่องร้อนเป็นสนิม หรือมีส่วนใดชำรุด ก็จะสามารถแก้ไข มิให้เกิดความเสื่อม เสียหายใหญ่ ป้องกัน อันตรายไว้ก่อน

ประโยชน์ที่ได้รับจากการทำความสะอาด
๑. สภาพที่ทำงานสะอาด สดชื่น น่าทำงาน
๒. ลดและขจัดปัญหาการผลิตสินค้าคุณภาพไม่ดี
๓. ยืดอายุการใช้งานของเครื่องจักร เครื่องใช้ และวัสดุอุปกรณ์
๔. ลดอุบัติเหตุจากการทำงาน
หัวใจของ ส.สะอาด คือ การทำความสะอาดเป็นการตรวจสอบ

๔. ส.สุขลักษณะ คือการดูแลสถานที่ทำงานให้สะอาด เพื่อสุขภาพ และ ความปลอดภัย สุขลักษณะเป็นเรื่อง มุ่งเน้นพฤติกรรม ของคนเป็นหลัก โดยทุกคน จะต้องช่วยกันสร้างที่ทำงาน ให้มีสภาพ และ บรรยากาศ ที่ก่อให้เกิดความสุขกาย สุขใจ ในการทำงาน เมื่อทุกคนในหน่วยงาน ดำเนินการ ๓ ส.แล้ว คือ สะสาง สะดวก สะอาด เป็นประจำเสมอ ส.ตัวที่ ๔ คือ สุขลักษณะ จะเกิดขึ้น เราสามารถรู้ได้ โดยการตรวจดู ตามหัวข้อดังนี้ สถานที่ทำงาน บรรยากาศ และสิ่งแวดล้อม
๑. มีแสงสว่างเพียงพอในการทำงานหรือไม่
๒. สิ่งของต่างๆที่จัดวางในที่ทำงาน ดูเรียบง่ายสบายตา หรือไม่
๓. อากาศถ่ายเทดี หายใจสะดวกหรือไม่
๔. มีสัตว์ไม่พึงประสงค์ เช่น ปลวก หนู แมลงสาบ อาศัยอยู่หรือไม่
๕. มีการเก็บตุนอาหาร ขนม ผลไม้ บนโต๊ะ ตู้ ชั้น หรือไม่
๖. มีถังขยะแยกเปียก-แห้ง และนำไปทิ้งทุกวันหรือไม่
๗. มีกลิ่นสารเคมี หรือกลิ่นเหม็นอื่น ที่เป็นอันตรายหรือไม่
๘. ป้ายหรือ สัญญลักษณ์ มีขนาดและระดับ เหมาะสมกับสายตาหรือไม่
๙. การจัดวางสิ่งของเครื่องใช้ อยู่ในที่ เหมาะสม ปลอดภัยหรือไม่
๑๐. มีการกำหนดแนวทางและวิธีปฏิบัติ เพื่อรักษามาตรฐานไว้หรือไม่ (ใช้ของแล้วเก็บที่ ใช้เครื่องไฟฟ้าแล้ว ถอดปลั๊กออกทุกครั้ง ใช้เครื่องจักรแล้ว เช็ดหยอดน้ำมัน หยุดใช้เครื่องนาน ต้องคลุม ผ้า ฯลฯ)

ประโยชน์ที่ได้รับจาก ส.สุขลักษณะ
๑. สถานที่ทำงานสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย สภาพแวดล้อมการทำงานดี
๒. ผู้ปฏิบัติงาน มีสุขภาพกาย และจิตใจที่สมบูรณ์
๓. ทำงานปลอดภัย และมีความมั่นใจในการทำงานมากขึ้น
๔. ผลิตภัณฑ์มีมาตรฐานขึ้น
หัวใจของ ส.สุขลักษณะ คือ การรักษามาตรฐานของความสะอาด ความเป็นระเบียบ เรียบร้อย ให้คงอยู่ตลอดไป และปรับปรุงให้ดีขึ้น

๕. ส.สร้างนิสัย คือการอบรม สร้างนิสัย ในการปฏิบัติงานตามระเบียบวินัย และข้อบังคับอย่างเคร่งครัดจน เป็นธรรมชาตินิสัย ส.ตัวที่ ๕ เป็นตัวสำคัญที่สุด เพราะหมายถึง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การทำงาน ให้เกิดความเป็นระเบียบ เรียบร้อย ตลอดจน มีการพัฒนาคุณภาพการทำงาน ให้ทันสมัยก้าวหน้า อยู่เสมอ เมื่อทำ ๔ ส. สะสาง สะดวก สะอาด สุขลักษณะ เป็นประจำ จะเกิดเป็นนิสัย การทำงานที่ดี สามารถสร้างสังคม ที่มีระเบียบวินัย เป็นสังคมเจริญ และมีความสุข

การจะทำให้เกิดสร้างนิสัย หรือปฏิบัติจนเป็นนิสัยได้นั้น จะต้องมีการกำหนดแนวทาง ในการปฏิบัติในเรื่องนั้นๆ เช่น ด้านการจัดเก็บวัตถุดิบ การใช้วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ การจัดสถานที่ การผลิตอาหาร เครื่องชงดื่ม และสมุนไพร ควรมีมาตรฐาน ในการปฏิบัติอย่างไร เป็นต้น

หลักการสร้างนิสัย
๑. ต้องมีการกำหนดมาตรฐาน หรือแนวทางปฏิบัติ เพื่อสร้างความเป็นระเบียบ เรียบร้อย สะอาด ปลอดภัย ในสถานที่ทำงานเสียก่อน
๒. มีการกระตุ้นให้ผู้ทำงาน ปฏิบัติตามมาตรฐาน เป็นอย่าง สม่ำเสมอ มีการอบรม รณรงค์ด้วย สิ่งต่างๆ เช่น คำขวัญ รูปโปสเตอร์ ฯลฯ
๓. ผู้นำระดับสูง หรือหัวหน้าพื้นที่ ให้ความสำคัญรับผิดชอบ ติดตามประเมินผล และ มีการรายงาน ในที่ประชุม เป็นประจำ
๔. จัดให้มีคณะกรรมการ ตรวจเยี่ยม และประเมินผลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ ผู้นำระดับสูงต้อง ให้ความสำคัญ เอาใจใส่ สร้างขวัญกำลังใจ ต่อผู้ปฏิบัติงาน
๕. อาจมีการจัด กิจกรรมเสริม เช่น การประกวดพื้นที่

ประโยชน์ที่ได้รับจากการสร้างนิสัย
๑. เกิดนิสัยที่ดีในการทำงาน เคารพต่อกฎระเบียบ ข้อปฏิบัติ รักความสะอาด ความเป็น ระเบียบ คำนึงถึงความปลอดภัย และคุณภาพ
๒. หน่วยงานมีมาตรฐานดี คือมีระเบียบ สะอาด สภาพแวดล้อมดี น่าทำงาน
๓. ได้รับความเชื่อถือ ความไว้วางใจจากลูกค้า และผู้มาติดต่อ
๔. ผู้ปฏิบัติงานมีส่วนร่วม และมีความภาคภูมิใจ ในการยกระดับคุณภาพงาน และ หน่วยงานให้ ดีขึ้น

หัวใจของ ส.สร้างนิสัย คือสร้างทัศนคติที่ดีในการทำงาน

เมื่อท่านมีความเข้าใจเรื่อง ๕ ส. และประโยชน์ของ ๕ ส.แล้ว ท่านคงไม่สงสัยว่า ทำไม ต.อ. ต้องมี ๕ ส. เพราะ ต.อ.เป็นหน่วยตรวจสอบ และ พัฒนาคุณภาพผลผลิต ของชาวอโศก ตามที่ พ่อท่านหวัง จะยกระดับหน่วยผลิต ผลผลิตของชาวอโศก ให้ลือลั่น คือ ผลิตสินค้าดี (สะอาด มีคุณ ภาพ ปลอดภัย) ราคาถูก (ช่วยเหลือผู้บริโภค) ซื่อสัตย์ (ไม่ฉวยโอกาส ฉ้อฉล ปนสิ่งไม่ดี) มีน้ำใจ (ห่วงใยผู้บริโภค) ฉะนั้น พวกเราทุกคน ร่วมมือกันเถอะ ตามคำพูด ของพ่อท่านว่า "รวมน้ำใจให้เป็นหนึ่ง ทำที่พึ่งให้สังคม สร้างนาวาบุญนิยม เพื่อกอบกู้มนุษยชน "

เราทั้งหลาย ผู้เดินมาตามทางที่พ่อท่านชี้ว่า ทางนี้แหละดี และปลอดภัย ช่วยตนได้ ช่วยผู้อื่นได้ เราพิสูจน์กันมาแล้ว ด้วยชีวิตและเวลา ช่วยกันเถอะ ๕ ส. ก็เหน็ดเหนื่อย เหลือเกิน แต่ก็มีใจจะทำ ทีม ต.อ.ไม่เคยท้อ แม้จะถูกว่า ถูกตำหนิ ก็จะขอทนรับใช้ ด้วยใจรักพี่น้อง ของเราต่อไป

ทอธรรม วิชัยดิษฐ์ ๘ มี.ค. ๒๕๔๔


เปิดหน้าต่าง ต.อ. สารอโศก อันดับ ๒๓๓ เดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ หน้า ๓๘ - ๔๓