กว่าจะถึง อรหันต์ โดย...ณวมพุทธ

พระนันทาเถรี

สารอโศก อันดับที่ ๒๓๓
กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔


ในอดีตชาติของพระนันทาเถรี (ในอรรถกถาใช้เป็นชื่อ สุนทรีนันทา) เคยสั่งสมบุญเอาไว้ ในสมัยของ พระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ผู้ทรงรู้แจ้งจบในธรรมทั้งปวง ทรงฉลาด ในวิธีแสดงธรรม ตรัสสอนให้สรรพสัตว์ เกิดดวงตาเห็นธรรม ทรงช่วยหมู่ชน ให้ข้ามพ้น วัฏฏสงสาร (การเวียน ว่ายตายเกิดอยู่กับกิเลส) ทรงทำให้เดียรถีย์ (นักบวชนอก พุทธศาสนา) กลับใจมาถือมั่นในศีล ๕ ศาสนาของพระองค์ ว่างเปล่าจาก พวกเดียรถีย์ งดงามไปด้วย พระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้เที่ยงแท้คงที่

ครั้งนั้น นางเกิดในตระกูลเศรษฐีที่มั่งคั่งร่ำรวย ในเมืองหงสวดี เป็นผู้เพียบพร้อม ด้วยความสุขสบาย ตั้งแต่เล็ก จนกระทั่งเติบโต เป็นสาวรุ่น ไม่ต้องพบพาน ความทุกข์ยาก ลำบากใดๆเลย

วันหนึ่ง นางมีโอกาสเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ได้ฟังพระธรรมเทศนา อันประกาศถึง ปรมัตถธรรม (สิ่งเป็นจริงที่มีประโยชน์สูงสุด คือนิพพาน) อย่างจับจิต จับใจยิ่งนัก บังเกิดความเลื่อมใสมาก จึงได้นิมนต์พระพุทธเจ้า พร้อมด้วยหมู่สงฆ์ ถวายมหาทาน ด้วยมือของตนเอง แล้วก้มลงกราบ ซบศีรษะลง จรดพื้น เอ่ยปากแสดงการอธิษฐาน (ตั้งจิต) อันแรงกล้า ต่อพระพุทธองค์ ว่ามุ่งมั่นปรารถนา ความเป็นผู้เลิศยอดกว่าใครๆ ในการมีฌาน (สภาวะสงบอันประณีตยิ่ง)

คราวนั้นเอง พระพุทธเจ้าองค์ปทุมุตตระ ทรงได้พยากรณ์ ด้วยญาณหยั่งรู้ในอนาคตว่า "ในอนาคต นับจากกัป (โลกวอดวายหนึ่งครั้ง) นี้ถึงกัปที่หนึ่งแสน พระพุทธเจ้าพระนามว่า โคดม จะอุบัติขึ้นในโลก เธอจะมีชื่อว่านันทา จะได้เป็นธรรมทายาท ของพระศาสดา พระองค์นั้น แล้วเธอจะได้ สมดังความปรารถนา ที่ตั้งจิตไว้ดีแล้วนั้น"

นางได้ฟังคำตรัสแล้ว มีใจยินดียิ่ง มีจิตเต็มเปี่ยมด้วยเมตตา บำรุงดูแล พระพุทธเจ้า และหมู่สงฆ์ทั้งหมด ด้วยปัจจัย (สิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตอยู่) ทั้งหลายจนตลอดชีวิต

ด้วยผลบุญแห่ง กุศลกรรมที่ทำดีไว้นั้น ทำให้ได้เกิดในสวรรค์ (สภาวะสุข ของผู้มี จิตใจสูง) ชั้นต่างๆ เมื่อได้กายใหม่เป็นมนุษย์ ก็เป็นอัครมเหสี ของพระเจ้า จอมจักรพรรดิ หรือพระเจ้าเอกราช มีความสุข ในที่ทุกสถานทั้ง เป็นเทวดาและมนุษย์ ไม่ว่าจะไปเกิด ในชาติใดๆ

เมื่อถึงชาติสุดท้าย ในสมัยของพระพุทธเจ้าองค์สมณโคดม นางได้เกิดเป็น พระธิดาของ พระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ กับพระนางมหาปชาบดีโคตมี ซึ่งเป็น พระน้านาง ของเจ้าชาย สิทธัตถะ และมีเจ้าชายนันทะ เป็นพระภาดา (พี่ชาย) นางได้ชื่อว่า นันทา ก็เพราะรูปโฉมงดงามยิ่งนัก มหาชนพากันชื่นชม สรรเสริญ ว่ามีความงาม ดังดวงอาทิตย์ ที่เจิดจ้า ในพระนครกบิลพัสดุ์นั้น นอกจาก พระนางยโสธรา ซึ่งเป็นพระสุณิสา (พี่สะใภ้) แล้ว นางเป็นสาวสวย ที่งามที่สุด ยิ่งกว่าสาวรุ่น คนใดทั้งปวง

ครั้นต่อมา เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงออกบวช ได้สำเร็จเป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว บรรดา พระประยูรญาติ ใกล้ชิด พากันออกบวชหมด แม้แต่พระมหาปชาบดี ผู้เป็นพระมารดา พระยโสธรา ผู้เป็นพระสุณิสา เจ้าชายนันทะ ผู้เป็นพระภาดา (พี่ชาย) พระราหุล ผู้เป็นพระนัดดา (หลานชาย) เหลืออยู่แต่นางยังเป็นคฤหัสถ์อยู่ผู้เดียว

นางนึกถึงคำเตือนของพระมารดาที่ว่า "ลูกรัก เจ้าเกิดอยู่ในศากยสกุล เป็นน้องสาว ของพระพุทธองค์ กับพระนันทะ ก็เมื่อบัดนี้ในวัง ไม่มีนันทกุมารเสียแล้ว เจ้ายังจะอยู่ เพื่อประโยชน์อะไรเล่า รูปกาย แม้จะสวยสดงดงาม ก็มีความแก่เป็นจุดจบ กายนี้ บัณฑิตรู้กันดีว่า เป็นของไม่สะอาด เมื่อยังเจริญ แข็งแรง ก็มิได้มีโรค แต่บั้นปลาย ก็จะมีโรค เพราะชีวิตมีความตาย เป็นที่สุด แม้ร่างนี้ของลูก จะงาม จูงใจให้หลงใหล ยิ่งตกแต่งด้วย เครื่องประดับมากอย่าง ก็ยิ่งมีความงาม เปล่งปลั่ง เป็นที่นิยมยินดี ของสายตาทั้งหลาย เสมือนทรัพย์มีค่า ที่ชาวโลกพากันสรรเสริญบูชา แต่ไม่ช้านาน เท่าไรเลย ความชราก็เข้ามาย่ำยี ลูกรัก เจ้าจงละทิ้งพระราชวัง ละทิ้งรูปกาย ที่บัณฑิต ติเตียน แล้วมาประพฤติ พรหมจรรย์ เถิด"

ถึงจะหลงใหลในความงดงามอยู่ แต่นางก็ตัดสินใจ ทำตามคำตรัส ของพระมารดา จึงได้ออกบวช เป็นภิกษุณี ซึ่งออกบวชเพียงร่างกายเท่านั้น แต่จิตใจมิได้บวช ด้วยศรัทธา แท้จริง บวชเพราะ ปรารถนาอยู่ใกล้ชิด กับพระญาติสนิท มากกว่า

ครั้นบวชแล้ว เพราะความที่ยังติดสวย ติดงามนี่เอง นันทาภิกษุณี จึงถูกรบกวน ด้วยอารมณ์ ราคจริต (นิสัยรักสวยรักงาม) เสมอ ต้องระลึกถึงตัวเองอยู่ ด้วยการ เพ่งฌานให้มาก แต่ก็มิได้ ขวนขวาย ในการปฏิบัติธรรมนั้น แม้พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี จะกล่าวตักเตือนอยู่ก็ตาม อีกทั้งนันทาภิกษุณี ก็ไม่ยอมไปฟังธรรม จากพระพุทธองค์เลย ด้วยความเข้าใจว่า พระศาสดา ทรงตำหนิติเตียนรูป ทรงชี้แต่โทษของรูป ด้วยเหตุนี้เอง พระศาสดาจึงตรัสสั่ง พระมหาปชาบดีโคตมีเถรีว่า "ภิกษุณีทั้งหมด จงมารับโอวาท จากเรา ตามลำดับ ตามวาระของตน "

พอถึงวาระที่นันทาภิกษุณีต้องไปฟังธรรม ก็เลี่ยงส่งรูปอื่นไปแทนเสีย ทำให้พระศาสดา ต้องตรัสย้ำ กำชับอีกว่า "เมื่อถึงวาระฟังธรรมของรูปใด ภิกษุณีรูปนั้น พึงมาฟังธรรม ด้วยตนเอง ไม่พึงส่งรูปอื่นมาแทน" ทำให้นันทาภิกษุณี ไม่อาจละเมิดรับสั่ง ของพระศาสดาได้ ต้องปฏิบัติตามนั้น

วันหนึ่ง พระพุทธองค์ทอดพระเนตร เห็นใบหน้าของนันทาภิกษุณีแจ่มใส ดังดอกบัวบาน เมื่อมาฟังธรรม เป็นอุปนิสัยอันควร แก่การบรรลุธรรม จึงตรัสเนรมิตนางงามเลิศ คนหนึ่ง ทั้งน่าชื่นชม ทั้งน่าชอบใจ ให้ปรากฏในจิต ของนันทาภิกษุณี เสมือนปรากฏอยู่ เบื้องหน้าสายตา ฉะนั้น ด้วยอานุภาพแห่ง อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ของพระองค

พอได้เห็นนางงามที่สวยพริ้งยิ่งกว่าตน นันทาภิกษุณี ถึงกับคิดเพ้อไปว่า "ดีจริงหนอ เป็นลาภแก่ดวงตา ของเราแล้วหนอ ที่ได้พบเห็นนางงามถึงปานนี้ เชิญเถิด แม่คนงาม เธอมีชื่อสกุลใด หากมีความประสงค์สิ่งใด จงบอกแก่ฉันเถิด ฉันจะให้"

"เวลานี้ยังไม่ใช่เวลาที่จะถามปัญหา ท่านจงให้ฉันนอนหนุนตัก ให้ฉันได้พักหลับ สักครู่ก่อน" ว่าแล้ว นางงามนั้น ก็เอาศีรษะพาดลงที่ตัก ของนันทาภิกษุณี หลับตาพริ้มอย่างเป็นสุข

ทันใดนั้นเอง.....หน้าผากของนางงามนั้น พลันพองโตขึ้น แล้วปรากฏของแข็ง ก้อนใหญ่ตกลง กระแทกหน้าผากอย่างแรง หน้าผากของนางงาม แตกดังโพละ ทั้งเลือดทั้งหนอง ไหลพรั่งพรูออกมา ส่งกลิ่นเหม็นเน่า คละคลุ้ง มีการบวมเขียว ลุกลามไปทั่วทั้งตัว กายสั่นเทิ้ม หายใจถี่ ได้รับทุกข์ ทรมาน ดิ้นทุรนทุรายอยู่ ขณะนั้น นันทาภิกษุณี ถึงกับสะดุ้ง แล้วกลับรำพัน อย่างสลดสังเวชใจว่า "แม่คนงาม ประสบทุกข์ ฉันก็พลอยมีทุกข์ จมอยู่ในมหาทุกข์ไปด้วย แม่คนงามที่เป็นที่พึ่ง ของฉัน บัดนี้ หน้าที่งดงามนั้น หายไปไหน จมูกโด่งงามนั้น หายไปไหน ริมฝีปากที่สวย เหมือนลูก มะพลับสุก หายไปไหน ลำคอคล้ายปล้องทองคำ หายไปไหน ใบหูดังพวงดอกไม้ สิ้นสีสันไปแล้ว ปทุมถัน คล้ายดอกบัวตูมแตกแล้ว มีกลิ่นเหม็น คล้ายศพเน่า เอวกลม ตะโพกผาย ของแม่คนงาม เต็มไปด้วย สิ่งชั่วถ่อยหนอ

โอ....รูปไม่เที่ยง อวัยวะทั้งหมดสกปรกน่ารังเกียจ น่ากลัวเหมือนซากศพ ที่ถูกทิ้งไว้ ในป่าช้า แต่ร่างกายนี้กลับเป็นที่ยินดีของพวกพาลชน (คนโง่เขลา)

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้อารมณ์จิต ของนันทาภิกษุณี ว่าเข้ากระแส สู่ความสังเวชแล้ว เกิดความเบื่อหน่ายในรูป จึงตรัสสอนว่า "ดูก่อนนันทา จงดูร่างกายอันกระสับกระส่าย ไม่สะอาด เปื่อยเน่า ดังซากศพ จงอบรมจิตให้ ตั้งมั่นด้วยดี มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ด้วยอสุภารมณ์ (อารมณ์ที่พิจารณา เห็นความไม่สวยไม่งาม) ร่างกายเรานี้ฉันใด ร่างกายท่าน ก็ฉันนั้น ร่างกายท่านฉันใด ร่างกายเรา ก็ฉันนั้น ร่างกายเป็นของเหม็นเน่า มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไป พวกคนพาล ยินดียิ่งนัก แต่พวกบัณฑิต ย่อมพิจารณา เห็นร่างกายนี้ เป็นของสกปรก ท่านจงพิจารณา โดยไม่เกียจคร้านเถิด ทั้งกลางวันกลางคืน ก็จะเบื่อหน่าย ในรูปกายนี้ จะแทงตลอด เห็นด้วยปัญญาของตนได้"

ด้วยการตั้งใจและกระทำจิตให้แยบคาย พิจารณากาย เห็นเป็นอนิจจัง (ไม่เที่ยง) ทุกขัง (เป็นทุกข์) อนัตตา (ไม่ใช่ตัวตน) ทำให้นันทาภิกษุณี เกิดญาณ (ความรู้จริง) ขึ้นแล้ว พระศาสดาจึงตรัส แสดงธรรมยิ่งขึ้นว่า "รูปกายนี้ตามธรรมดาแล้ว สร้างขึ้นให้เป็นนคร แห่งกระดูก มีเนื้อและเลือด ฉาบทาไว้ เป็นที่ ตั้งแห่งความชรา ความตาย ความถือดี และความลบหลู่" เมื่อจบคาถาธรรมนี้ พระนันทาเถรี มีจิตสว่างไสว ตั้งมั่นอยู่ในธรรม ได้บรรลุธรรม เป็นพระอรหันต์แล้ว จึงอุทานออกมาว่า

"เมื่อเราเป็นผู้ไม่ประมาท ค้นคว้าอยู่โดยอุบายอันแยบคาย จึงเห็นกายนี้ ทั้งภายใน และภายนอก ตามความเป็นจริง เราจึงเบื่อหน่ายในกาย คลายความกำหนัด ในภายใน ไม่เกาะเกี่ยว ในสิ่งใดๆ เป็นผู้สงบระงับ ดับสนิทแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ในที่ไหนๆ ก็มีฌาน (สภาวะสงบ อันประณีตยิ่ง) อยู่ ตลอดเวลา"

พระศาสดาทรงพอพระทัย ในคุณสมบัตินั้น จึงทรงตั้งให้พระนันทาเถรี อยู่ในตำแหน่ง เอตทัคคะ (ผู้ยอดเยี่ยมพิเศษกว่าผู้อื่น ในทางใดทางหนึ่ง) ด้านชำนาญในฌานไว้แล้ว

ณวมพุทธ พฤหัส ๑ มี.ค.๒๕๔๔ (พระไตรปิฎกฉบับหลวงเล่ม ๒๖ ข้อ ๔๔๒ พระไตรปิฎกฉบับ หลวงเล่ม ๓๓ ข้อ ๑๖๕ พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯเล่ม ๓๓ หน้า ๔๗๗ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๔ หน้า ๑๓๖)


กว่าจะถึงอรหันต์ สารอโศก อันดับ ๒๓๓ เดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ หน้า ๗๘ - ๘๒