เศรษฐกิจชุมชน : ตอน ๑
สารอโศก อันดับที่ 234
มีนาคม 2544

รายงานพิเศษชิ้นนี้ เรียบเรียงจากเนื้อหาบางส่วน ของการเสวนา นำเสนอโดยแบ่งเป็นสองตอน เริ่มจากสารอโศก ฉบับนี้ เป็นตอนแรก และต่อตอนจบ ในฉบับหน้า
เศรษฐกิจชุมชน : ทางเลือกเพื่อทางรอดสังคมไทย ชุมชนศีรษะอโศกบนวิถีบุญนิยม
ฝ่าวิกฤตทุนนิยมมาได้อย่างไร ? ( ตอนที่ ๑ )
จากภาวะที่ประเทศชาติ ประสบภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ จนกระทั่ง ถึงขณะนี้ ทั้งตัวเลขดัชนี ทางเศรษฐกิจ และความรู้สึก ของประชาชน ยังไม่พลิกฟื้น สู่ภาวะมั่นคง เหมือนอย่างที่เคยเป็นมา หน่วยงานรัฐบาล หันมาส่งเสริม นโยบายเศรษฐกิจพอเพียง และชุมชนพึ่งตนเอง สนองกระแสพระราชดำรัส จนเกิดโครงการ และกิจกรรมต่างๆ ตามมามากมาย ทั้งโดยภาครัฐ และเอกชน เพื่อเสริมสร้าง ความแข็งแกร่ง จากรากฐาน เศรษฐกิจ ในชุมชนท้องถิ่น

ชุมชนชาวอโศก เป็นกลุ่มชุมชนตัวอย่าง ที่มีความเข้มแข็ง ทั้งในเชิงอุดมการณ์ วิถีการใช้ชีวิต และเศรษฐกิจ บุญนิยม ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐาน คำสอนทางพุทธศาสนา มาเป็นเวลาหลายปี ก่อนที่ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ จะเกิดขึ้น การจัดการ บริหารชุมชน ธุรกิจ ชุมชน และวิถีการใช้ชีวิต แบบพึ่งพาตนเอง โดยมีหลักศาสนาเป็นแกน ทำให้ชุมชน ชาวอโศก แทบจะไม่ได้รับ ผลกระทบใดๆเลย จากวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น ทางรอดดังกล่าว เกิดขึ้นได้อย่างไร และ มีแนวทาง การฝ่าพ้นวิกฤตใดๆบ้าง ที่ชุมชนอื่นๆ หรือสังคมวงกว้าง จะสามารถนำเทคนิค วิธีการของชุมชน ชาวอโศก ไปใช้เป็นกรณีศึกษา คำถามดังกล่าว นำไปสู่หัวข้อ การเสวนา ว่าด้วยเรื่อง เศรษฐกิจชุมชน : ทางเลือกเพื่อทางรอด สังคมไทย ในหัวข้อ ชุมชนศีรษะอโศกบนวิถีบุญนิยม ฝ่าวิกฤตทุนนิยมมาได้อย่างไร? เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๔๓ งานเสวนาครั้งนี้ จัดโดยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพฯ ผู้เข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วย คณาจารย์ นักวิจัย นักศึกษา และนักวิชาการ จากสถาบันการศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งสื่อมวลชน และผู้สนใจทั่วไป ตัวแทนจากชุมชนศีรษะอโศก ซึ่งได้รับเชิญ เข้าร่วมเป็นวิทยากร ได้แก่ * น.ส.ขวัญดิน สิงห์คำ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่บ้านศีรษะอโศก นายแก่นฟ้า แสนเมือง สมาชิกองค์การ บริหารส่วนตำบล ( อ.บ.ต. ) บ้านกระแชง จ.ศรีสะเกษ น.ส.อุ่นเอื้อ สิงห์ คำ ผู้จัดการ โรงงานยาสมุนไพรชุมชน และแพทย์แผนไทยชุมชน ประสานกลุ่มมวลชน นอกชุมชน และนายปรีชา สมนึก นิสิตสัมมาสิกขาลัยวังชีวิต เขตศีรษะอโศก โดยมี ดร.เสรี พงศ์พิศ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ดร.เสรี : หลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเจริญเติบโต ของชุมชนอโศกมาหลายแห่ง ในประเทศไทย ในวันนี้ เรามีผู้แทน จากศีรษะอโศก สันติอโศก และชุมชนอโศก อีกหลายแห่ง มาร่วมอยู่ด้วย ณ ที่นี้ ผู้คนจำนวนไม่น้อย มีความชื่นชมว่า ชุมชนเหล่านี้ ได้พบทางออก ของตนเอง มีวิธีการ ในการจัดวิถีของตนเอง และชุมชน ได้อย่างเป็นรูปธรรม และต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ไม่ว่าสังคม จะเปลี่ยนแปลง ไปอย่างไร

ในกรณีของศีรษะอโศก ซึ่งเป็นชุมชนหนึ่ง ที่เป็นหมู่บ้าน และมีผู้นำ ที่เป็นผู้ใหญ่บ้าน มีชาวบ้าน โรงเรียน โรงพยาบาล โรงงาน และทุกอย่าง เหมือนชุมชนอื่นๆ แต่อาจจะต่างกัน ในส่วนที่ว่า เขาอยู่กัน ด้วยอุดมการณ์ ที่เรียกว่า "บุญนิยม" มีวิถีชีวิต ลักษณะเป็นชุมชน ที่แบ่งปันการกิน แบ่งปันการใช้ ยึดวิถีพึ่งตนเอง ด้วยการผลิตปัจจัยสี่ เพื่อยังชีพ ไม่ใช่เพื่อร่ำรวย ชุมชนศีรษะอโศก มีย่างก้าว หรือขั้นลำดับ การพัฒนามาอย่างไรบ้าง กว่าจะถึงวันนี้ ?

ผู้ใหญ่บ้านขวัญดิน : ถ้าพูดถึงเครือข่ายชาวอโศกทั่วประเทศมี ๙๕ เครือข่าย แต่ที่เป็นชุมชนจริงๆ มีประมาณ ๖ ชุมชน ภาคกลาง ได้แก่สันติอโศก กรุงเทพฯ ปฐมอโศก จ.นครปฐม ศาลีอโศก จ. นครสวรรค์ ภาคเหนือ ได้แก่ ภูผาฟ้าน้ำ ที่ ต.ป่าแป๋ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ และลานนาอโศก อยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ ภาคใต้ มีน้อยกว่าภาคอื่น เรียกว่า ทักษิณอโศก อยู่ที่จังหวัดตรัง ส่วนภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ มีมากกว่าภาคอื่น เริ่มตั้งแต่ สีมาอโศก จ.นครราชสีมา ศีรษะอโศก จ.ศรีสะเกษ และราชธานีอโศก จ.อุบลราชธานี ทั้งสามแห่งนี้ มีครบพร้อมทั้งบ้าน วัด และโรงเรียน นอกจากนี้ ยังมีชุมชนขนาดเล็ก ได้แก่ หินผาฟ้าน้ำ ที่จ.ชัยภูมิ เลไลย์อโศก จ.เลย และ ดินหนอง-แดนเหนือ จ.อุดรธานี เป็นต้น

ดิฉันเป็นผู้ใหญ่บ้าน ศีรษะอโศก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐ หากจะแบ่งช่วงปี แห่งการพัฒนาชุมชน ก็จะแบ่งได้ดังนี้คือ
พ.ศ.๒๕๑๙-๒๕๓๐ เป็นช่วงแห่งการพัฒนาคน อย่างดิฉัน ก็ถูกพัฒนา จากกระบวนการนี้
พ.ศ.๒๕๓๐-๒๕๓๔ เรียกว่า ทำเพื่อกิน
พ.ศ.๒๕๓๕-๒๕๓๘ เรียกว่ามีอยู่มีกิน
พ.ศ.๒๕๓๙-ปัจจุบัน เรียกว่าอยู่ดีมีสุข

เนื่องจากหมู่บ้านของเรา มีคนมาอยู่จากหลายภาคด้วยกัน เมื่อกินข้าวก้นบาตรพระไม่พอแล้ว ก็เลยมาคุยกันว่า จะทำ อย่างไรดี ก็นำคำสอนของพระพุทธเจ้ามา อริยสัจสี่น่ะค่ะ มี ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์ก็คือ หมู่บ้านมีปัญหา ไม่มีอยู่ ไม่มีกิน เพราะรอข้าวก้นบาตรพระไม่พอ สาเหตุของปัญหาก็คือ ไม่ได้ลงมาถึงอาชีพ เป้าหมายของเราก็คือ ทำเพื่อกิน และอันที่สี่ คือ มรรควิธี มรรคมีองค์ ๘ และตกลงกันว่า หมู่บ้านเรา จะตั้งกฎขึ้นมาคือ ๑. ไม่นอนกลางวัน ๒. ไม่ซื้อผัก จากตลาด หันมาร่วมมือกัน ปลูกพืชทุกอย่าง ที่กินได้ แต่ก็ยังพบปัญหา เพราะคนมาจาก หลายภาค ต่างก็อยาก ปลูกพืชผล ที่มีในภาคของตัวเอง จึงตกลงให้ ปลูกพืชผลที่มีในทุกภาค ในที่แปลงเดียวกัน เช่น คนภาคตะวันออก ปลูกทุเรียนกับเงาะ ฝ่ายภาคเหนือ ก็เอาลิ้นจี่กับลำไยมา ภาคใต้ก็เอาผลไม้ ชนิดที่ขึ้นในภาคนั้น มาปลูกไปด้วยกัน คนอิสาน ปลูกกล้วยกับมะละกอ ตกลงกันว่า ถ้าไม่ได้กินจริงๆ ก็ทำฟืน ก็จบ ปรากฏว่า พอปลูกเสร็จ ของคนอิสาน ได้กินไว เหมือนคนอิสานไวๆร้อนๆ เราได้กินมะละกอ กับกล้วยก่อนคนอื่น ปลูกในเนื้อที่ ๑๕ ไร่ ที่มีผู้บริจาคมา ๑ ปีผ่านไป มะละกอออกเต็มเลยนะคะ กล้วยก็ออกเต็ม และเนื่อง จากเราไม่ได้เรียนธุรกิจ แบบทุนนิยม เรียนแต่ ธุรกิจแบบบุญนิยม บุญนิยมอันดับหนึ่ง ของเราคือ แจกฟรี เราก็ยิ่งได้บุญมาก ก็แจกเลยค่ะ เจอใครก็แจกหมด ขนมาแจกถึง กรุงเทพฯ คือขนมาให้ที่สันติอโศก การจัดการของเรา คิดแต่เรื่องบุญเรื่องเดียว เอาบุญไว้ก่อนน่ะค่ะ .....

ปัญหาทำให้เกิดปัญญา
...เมื่อแจกไม่ทัน จึงเกิดกระบวนการแปรรูปขึ้นมา แต่ขอเรียนตรงนี้ว่า การแปรรูปนั้น เราไม่ได้คิด เรื่องการค้าขาย เราคิด แปรรูปเพื่อว่า ทำอย่างไร จึงจะเก็บอาหาร ไว้ทานได้นานๆ เมื่อแปรรูปแล้ว มีคนมา เยี่ยมชมหมู่บ้าน ก็เจอสิ่งที่เรา แปรรูปขึ้นมา เขาก็ บอกว่า เอ๊.....นี่ขายได้มั้ย เราจึงได้คิด ถึงเรื่องการจำหน่าย แต่จำหน่าย ในราคาถูก เพราะว่า หลักบุญนิยมของเรา คือ
๑. ขายราคาต่ำกว่าท้องตลาด
๒. ขายเท่าทุน
๓. ขายต่ำกว่าทุน (ขาดทุน )
๔. แจกฟรี ข้อนี้เราทำอยู่แล้ว ทำเป็นอันดับแรก เลยนะคะ ต่อมาก็ลองขาย ในราคาเท่าทุน ปัจจุบันนี้ เราขายสินค้าใน ราคาเท่าทุน ปรากฎว่าขายดิบขายดี หมู่บ้านเรา ก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น ครั้งแรก เรามีเงินรายได้ เข้าชุมชนเพียง ๕๐ บาท ก็ดีใจ มากแล้ว เราไม่ได้มอง ถึงความร่ำรวย แต่รู้สึกว่า เราเริ่มจะรู้จัก พึ่งตนเองมากขึ้น ไม่ได้รอเงินบริจาค อย่างเดียว ต่อมา เรารู้จักการจัดการ บริหารชุมชน ธุรกิจชุมชน ซึ่งอยู่บนพื้นฐาน ของบุญนิยม เราก็พัฒนาตัวเอง มาจนถึงวันนี้

ในภาวะที่ ประเทศชาติวิกฤต โดยเฉพาะ ในปัญหาเงินกู้ต่างชาติ เริ่มจากปี ๒๕๔๐ ศีรษะอโศก ไม่ได้เจอปัญหานั้น เพราะหมู่บ้านเรา เป็นหมู่บ้าน ที่พึ่งพาตัวเอง มีบางอย่าง ที่ผลิตไม่ได้ เราจะลดรายจ่าย เป็นการเพิ่มรายได้ เช่นปัจจุบัน ราคาน้ำมันสูงขึ้น ไฟฟ้าก็แพง ศีรษะอโศก นำพาชาวชุมชน ตักน้ำใช้ ทั้งๆที่ประปาหมู่บ้าน มีเต็มไปหมด แต่เราก็งดใช้ ให้ชาวบ้าน ลูกเล็กเด็กแดง คนในชุมชน ตักน้ำจากบ่อมาใช้ หรือการประหยัดเชื้อเพลิง เราพยายาม ค้นหาสิ่งใหม่ อาจจะเป็นสิ่งที่เก่า แล้วเอามาปัดฝุ่นใหม่ เช่น เตาแกลบ เรามีโรงสี เราก็เอาแกลบ จากโรงสี มาทำพลังงาน

นอกจากนี้ ยังปลูกต้นยาง ประมาณ ๑,๐๐๐ ต้น โดยเอากระบอง ขี้ไต้ ยางนา ปลูกไว้ เพื่อเอามาทำ เป็นขี้ไต้ ใช้จุดแทน ไฟฟ้าในอนาคต นี้คือกระบวนการคิด กระบวนการ อะไรก็ตามแต่ ที่จะเป็นการลดรายจ่าย ของชุมชน เราก็จะ พยายามเอาเข้ามา สู่ชุมชนให้มากที่สุด นี้คือภาพรวม ของศีรษะอโศกนะคะ ณ ปัจจุบัน จากที่เราพัฒนาตัวเอง มาจนถึงวันนี้ เราถือว่า เราพัฒนามาทั้ง หมด ๒๔ ปีเต็ม ย่างเข้าปีที่ ๒๕ ทางกองทุนเพื่อสังคม ( SIF ) ให้หมู่บ้าน ศีรษะอโศก เป็นศูนย์การเรียนรู้ ของชาวบ้านในประเทศไทย ก็จะมีคนไปดูงานในหมู่บ้าน

ดร.เสรี : ในฐานะผู้ใหญ่บ้าน กรุณารายงานหน่อยครับว่า ประชากรที่นี่มีเท่าไหร่ ?

ผู้ใหญ่บ้านขวัญดิน : เรามีประชากร ๓๓๖ คน เป็นชาย ๑๗๐ กว่าคน เป็นหญิง ๑๖๐ กว่าคน มีบ้านหลังเล็กๆ ขนาดราวๆ ๕ x ๕ เมตร จำนวน ๘๓ หลังคาเรือน มีอาคาร ที่เป็นอาคารใหญ่ๆ ประมาณ ๓๕ หลังคาเรือน มีนักเรียน มีโรงเรียน หมู่บ้านเรามี ๓ พลัง หลักในการพัฒนา คือ มีวัด บ้าน และโรงเรียน

โรงเรียนของเรา ซึ่งถูกต้องตามกฎหมายมี ๒ โรงเรียนคือ โรงเรียน สัมมาสิกขา ศีรษะอโศก และ โรงเรียน สัมมาอาชีวสิกขา ศีรษะอโศก ส่วน สัมมาสิกขาลัยวังชีวิต จัดขึ้นมา เพื่อโอกาสให้นักเรียน ที่จบม. ๖ และ อยากศึกษาต่อ กับกลุ่มเรา ได้ศึกษาในระดับ อุดมศึกษา ใช้หลักสูตร ๖ ปี หน่วยการเรียน ๒๐๔ หน่วยกิต ชุมชนของเรา จัดการเรียน การสอนเอง จะเน้นคุณธรรมเป็นหลัก ปรัชญาการศึกษา คือ ศีลเด่น เป็นงาน ชาญวิชา เราดูอุปสงค์ และอุปทาน ของสังคม ซึ่งปัจจุบัน สังคมขาดคนดี มีคุณธรรม เราจึงวัด นักเรียนจาก ปรัชญาของการศึกษา นิสิตที่จบ จากมหาวิทยาลัยนี้ ต้องมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ถ้ามนุษยสัมพันธ์ยังไม่ดี เข้ากับมนุษย์ไม่ ได้ ไม่ให้จบค่ะ

ส่วนนักเรียนระดับสายสามัญ รับตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงม. ๖ มี ๒๐๐ คน และนักเรียน สายอาชีวะ หลักสูตร ปวช. ๓๐ คน เราไม่มีอาคารเรียน เราจึงเรียนได้ทุกที่ นี่เป็นวิสัยทัศน์ อันกว้างไกล

ดร.เสรี : เป็นการเรียนรู้ทุกหนแห่ง ทุกแห่งที่มีความรู้ก็เรียนรู้ได้ ใต้ถุนบ้าน ใต้ต้นไม้ ใต้อะไรก็ได้ เป็นภาพรวม ของศีรษะอโศกนะครับ ที่จริงแล้วมีอีก ๓ ท่าน ที่จะพูดถึง รายละเอียดบางอย่าง ของชุมชนที่นี่ เป็นรูปธรรม ของการดำเนินการ การจัดการทุกอย่าง ในชุมชนแห่งนี้ ว่าเขามีแนวคิดอย่างไร และเขาจัดการอย่างไร?

เส้นทางนี้ฝ่าวิกฤตได้แน่
คุณแก่นฟ้า : มีคนถามว่า ศีรษะอโศกมีแนวคิดอย่างนี้ ฝ่าวิกฤตของทุนนิยมมาได้อย่างไร ผมคงจะสรุป รวบยอดได้ว่า เราไม่ได้ฝ่า วิถีทุนนิยมมาได้เลย เพราะเราไม่ได้เอาตัวของเรา หรือสังคม เข้าไปในวิถีของทุนนิยม เราจึงไม่ต้องฝ่า
เราไม่ได้พาตัวเอง เข้าไปยืนอยู่ใต้จุดวิกฤตจุดนั้น จึงไม่จำเป็นต้องฝ่า

ประเด็นสำคัญคือ การได้มาศึกษา เรื่องของ พุทธศาสนา จะให้พูดยังไง ก็หนีไม่พ้น เรื่องที่ผมมั่นใจ กล้าท้าทาย กล้าประกาศว่า ถ้ามาศึกษา เรื่องนี้แล้ว ชีวิตเรา จะไม่พบกับคำว่า วิกฤตเลย เพราะเรารู้ว่า วิกฤตเป็นอย่างไร เราจะไม่พาตัวเอง เข้าไปภายใต้วิกฤตนั้น เป็นอันขาด เพราะผมได้พบ กับตัวผมเอง เรียกว่าท้าทาย ให้มาพิสูจน์กันเลย

ผมไปอยู่ที่ ศีรษะอโศก ในปี พ.ศ.๒๕๓๔ เกือบ ๑๐ ปี จากหมู่บ้าน ที่ไม่มีอะไรเลย ตอนนี้เงินหมุน ที่ศีรษะอโศก เดือนหนึ่ง ก็ประมาณล้านกว่าบาท ร่วมสองล้านบาท ในหมู่บ้านเล็กๆ นี่คือสภาพคล่อง ที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ จากการที่เราทำงานสิ่งนี้มา ทำให้ ผมกล้าพูดว่า จะแก้วิกฤต ของโลก... ไม่ใช่ของประเทศไทย ต้องแก้ด้วย ระบบบุญนิยม ถึงจะได้ เพราะบุญนิยม จะทำให้โลก เข้าไปสู่ยุคของ ยูโทเปีย ซึ่งไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน แต่เป็นสิ่งที่ กระทำได้จริง

ผมขอยกตัวอย่าง ระบบเศรษฐศาสตร์ แบบบุญนิยม มองการกระจายรายได้ การกระจายความอุดมสมบูรณ์ เศรษฐศาสตร์ แบบบุญนิยม คิดง่ายๆว่า สิ่งที่เราได้ คือสิ่งที่เราเสียไป อย่างเช่น ซื้อของมา ๑๐๐ บาท ถ้าขายต่ำกว่า ๑๐๐ บาท คือได้ กำไร ผมซื้อมา ๑๐๐ บาท ผมขายไป ๘๐ บาท ผมได้กำไร ๒๐ บาท นี่คือ ทฤษฎีกำไรขาดทุน แบบบุญนิยม เงิน ๒๐ บาท เราได้เสียสละให้สังคม นี่เป็นบุญ นี่คือกำไร แต่ถ้าเรานำไปขาย ๒๐๐ บาท เราขาดทุนแล้ว ๑๐๐ บาท เพราะเราเอารัด เอาเปรียบสังคมมา อันนี้คือ ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ของบุญนิยม

หลายท่านอาจถามว่า แล้วอย่างนี้ จะอยู่รอดได้อย่างไร ศีรษะอโศกทำมา ๑๐ ปี จากกิจการเล็กๆ ด้วยทฤษฎีนี้ เราเริ่มต้น จากเงิน ๔,๐๐๐ บาท ทำโรงเห็ด ตอนนี้มีธุรกิจทั้งหมด รวมแล้วประมาณ ล้านกว่าบาท เงินหมุนนะครับ กำไรเยอะ จริงๆเราไม่ได้กำไร เพราะเราไม่ได้คิดค่าแรง ฉะนั้น โดยทฤษฎีของเศรษฐศาสตร์บุญนิยม คนที่จะมา ทำงานอย่างนี้ได้ ต้องมาช่วยกัน เสียสละ ให้แก่สังคม เสียสละให้แก่ มวลมนุษย์ แล้วถามว่า จะอยู่ได้อย่างไร... อยู่ได้อย่างสบายที่สุด ทั้งสบายกาย และสบายใจ สุขภาพจิตก็ ดี อะไรก็ดี นี่คือเศรษฐศาสตร์บุญนิยม

ส่วนรัฐศาสตร์ของบุญนิยมหมายถึงว่า ผู้ที่ทำงานด้านรัฐศาสตร์ จะต้องเป็นผู้ที่ไม่มีอะไรเลย ทรัพย์ศฤงคาร ลาภ ยศ ก็ไม่ ต้องการ เรียกว่า ทำให้สังคมจริงๆ ทำให้ประชาชนจริงๆ และประชาชน จะเลี้ยงเราไว้เอง ต้องถึงขั้นนี้ คือทฤษฎี ของบุญนิยม ซึ่งทางเราเชื่อว่า จะสามารถแก้ปัญหา ของสังคมได้

แผนการบริโภคของชุมชนศีรษะอโศก
ดร.เสรี : ที่นี่ผลิตอะไรบ้าง แล้วบริโภคอะไรบ้าง จำหน่ายอะไรบ้าง หรือว่าแจกอะไร ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยครับ ? คุณแก่นฟ้า : พอพูดถึงเรื่องการผลิต ทุกคนจะหัวเราะนะครับ ตอนที่เราเริ่มต้นการผลิต เราไม่ได้คิดถึงเงิน เป็นตัวตั้ง เราคิดว่า เราจะบริโภคอะไร เราก็จะปลูกอย่างนั้น เราวางแผนการบริโภค สมมติว่า สิ่งแรกที่เราบริโภค คือถั่วงอก ๓ วัน ก็ได้ผลแล้ว ช่วงแรกกิน ถั่วงอก ต้มถั่วงอก แกงถั่วงอก ผัดถั่วงอก มีถั่วงอกล้วนๆเลย กินแต่ถั่วงอก แขกไปใครมา วันนี้ก็ถั่วงอก เนื่องจาก พวกเราคล้ายกับวัดครับ คนมาปฏิบัติธรรม ก็มากินอยู่กับวัด ต่อมา เราเพาะเห็ดฟาง ๑๐ วัน เห็ดฟางออก ช่วงนี้ค่อยดีหน่อย มีถั่วงอกผัดใส่เห็ดฟาง ต้มถั่วงอกใส่เห็ดฟางก็ดีขึ้น แล้วเราก็ปลูกผักบุ้ง แผนการเพาะปลูก จะวางไปอย่างนี้ เราไม่ได้ตั้งใจ ทำเพื่อการขาย เราต้องการ ทำเพื่อบริโภคก่อน พอเหลือก็แจกจ่าย เจือจานให้แก่คนอื่น ที่ยังขาดแคลนอยู่ แจกแขกไปใครมา ที่มาเยี่ยมเยียนเรา ต่อมา เมื่อมีเสียงเรียกร้อง ให้เราผลิต เพื่อมีรายได้เข้าชุมชน เพราะชุมชนมีค่าใช้จ่ายแล้ว ค่าใช้จ่ายของเรา เช่น เวลามีผู้เข้ามา ขอรับการศึกษา อบรมที่นี่ฟรี เราก็ต้องเสีย ค่าใช้จ่ายเลี้ยงดู ให้ความสะดวกแก่เขา ในหลายๆเรื่อง จึงจำเป็น ที่จะต้องทำเป็นธุรกิจขึ้นมา แต่ก็เป็นธุรกิจบุญนิยม ที่ไม่ได้มุ่งประเด็น ไปที่ผลกำไร แต่มุ่งประเด็นไปที่ว่า จากธุรกิจนี้ เราต้องการให้เป็นวิชาการ หรือเป็นที่ ศึกษาเรียนรู้ เพื่อให้คนอื่น มาศึกษาและนำไปทำ

เพราะฉะนั้น มีหลายท่าน ที่โทรศัพท์ไปซื้อแชมพู หรือ จะเป็นตัวแทน จำหน่ายแชมพู ผมจะบอกว่า เดี๋ยวคุยกันก่อนครับ พวกเราไม่ได้ทำเพื่อธุรกิจ เอาอย่างนี้ คุณมาเรียนดีกว่า เราจะสอนให้หมดเลย ไม่ปิดบัง มาเลยครับ อยู่ฟรีกินฟรี เราเลี้ยงทุกอย่าง คุณเอาเฉพาะตัว กับหัวใจมา แล้วคุณเอาสิ่งที่คุณได้เรียนรู้ ไปทำธุรกิจของคุณเอง เสร็จแล้ว คุณไปสร้างงาน สร้างอาชีพของคุณ ในท้องถิ่นที่คุณอยู่ เพราะทุกวันนี้ เราก็ทำงานหนักอยู่แล้ว เราก็ไม่อยากทำแชมพู เพิ่มมากขึ้น เพราะว่า ทรัพยากรทั้งชุมชน ต้องไปลงที่นี่ ก็อยากให้คนมาเรียนรู้ แล้วเอาความรู้ไปดีกว่า นี่คือแนวคิด ที่เรานำเสนอ ไม่ใช่เราทำ เพื่อจะผูกขาด เพียงเจ้าเดียว ให้มีเงินทอง

... ครั้งแรกที่ผมไปศีรษะอโศก ผมเข้าไปดูที่ครัวก่อน ปรากฎว่าไม่มีข้าวเลย เพราะฉะนั้น ปีแรกเราจึงวางแผน ปลูกข้าวก่อน เริ่มจากการขอที่นา จากพ่อของอาจารย์ขวัญดิน แล้วก็พาคนในชุมชนไปทำนา ปีนั้นเราก็มีข้าวเพียงพอ บริโภคทั้งชุมชน จากการทำนา โดยไม่ใช้สารเคมีใดๆ พอวางแผนทำนาเสร็จ ขั้นต่อมา ก็ทำโรงสีข้าวเล็กๆ ทำเสร็จแล้ว มีเหลือก็ขาย ทีนี้เราก็รับซื้อข้าว จากชาวบ้านมา แล้วทำธุรกิจโรงสีข้าว เป็นธุรกิจเล็กๆ เราได้เงินลงทุนขั้นต้น มาหนึ่งแสนบาท จากพ่อของ อาจารย์ขวัญดิน เมื่อก่อน วันหนึ่งสีได้ประมาณ ๒๐๐ กิโลกรัม แต่ปัจจุบันนี้ เราสีได้ ชั่วโมงละ ๒ ตัน แล้วก็ส่งเข้ากรุงเทพฯ และทั่วไป

ยุทธวิธีในการแนะนำเกษตรไม่ใช้สารเคมี
ดร.เสรี : ข้าวเปลือกมาจากไหนครับ และมีวิธีอะไรที่จะให้เขาปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี ?

คุณแก่นฟ้า : ข้าวเปลือกส่วนใหญ่เป็นข้าวที่เราซื้อจากเกษตรกรรอบข้าง ทั้งรอบชุมชนนั้น และจากชุมชนอื่น เรามีฉางข้าวขนาด ๕๐๐ ตัน และ เราสร้างตลาดใหม่ซึ่งเป็นตลาดไร้สารพิษ มิใช่มุ่งขายผลผลิต แต่ขายความซื่อสัตย์ เสียสละ เอื้อเฟื้อแบ่งปัน ยึดมั่น วัฒนธรรมไทย นี่คือสโลแกนที่เราตั้งไว้ ของกลุ่มกสิกรรมไร้สารพิษที่เราตั้งขึ้นมา เพราะฉะนั้น กลุ่มนี้ต้องผลิตของทุกอย่าง ที่ไร้สารพิษ ไม่มีสารเคมี

คุณอุ่นเอื้อ : เมื่อก่อนนี้ชาวบ้านมักจะถามเสมอว่า ปัญหาของเขา คือมีหนี้สินมาก ทำอย่างไร เขาจึงจะสามารถลดหนี้ เขาถามหาตลาด เพราะเขาผลิตอะไรอย่างเดียว มาเยอะๆ แล้วก็ถามหาตลาด ว่าอยู่ตรงไหน แต่คราวนี้ พอเราเปลี่ยนวิธีคิด โดยให้เขาปลูก หลายๆอย่าง ในพื้นที่เดียวกัน ให้มีความหลากหลาย แล้วก็ทำตลาดขึ้นมาเอง ไม่ต้องไปพึ่ง ตลาดคนอื่นนะคะ จากตลาดเล็กๆ ปลูกผักหลายๆ อย่าง คนละ ๑๐ อย่าง ๑๕ อย่าง ปลูกมาขาย ทุกวันนี้ เปลี่ยนไปนะคะ ไม่มีคำถามว่า ตลาดอยู่ที่ไหน ทุกวันนี้ต้องถามว่า คุณจะเอาอะไร มาขายตลาด ทุกวันนี้ ขายหมดทุกอย่างเลย คนมีความต้องการ บริโภคสูงมาก ขายได้วันละ พันกว่าบาทค่ะ มีอะไรขายได้หมดเลย ชาวบ้านก็เริ่มเห็นแล้วว่า สิ่งที่เขาทำนี้ เป็นแนวทางที่ถูกต้อง

( โปรดติดตามฉบับหน้า ... หัวใจสำคัญของระบบบุญนิยม )


คุณขวัญดิน สิงห์คำ ๑๑ ปีของชีวิตข้าราชการ นำธรรมะมาใช้ในการเป็นครู ทำให้คุณขวัญดินพบว่า ปัญหาต่างๆ ทั้งของเด็กนักเรียน ผู้ปกครอง และครูเอง ไม่สามารถแก้ไขได้ง่ายๆเลย

“...ถ้าเอาเงินเป็นตัวตั้ง ก็คงแก้ปัญหาสังคมไม่ได้ จริงๆแล้วมนุษย์นี่ขาดกำลังใจ ขาดคน เคียงข้าง ที่จะให้แนวความคิด ปัจจุบันเมืองไทยไม่ได้จน แต่ขาดความคิด และคนแนะนำ ที่ถูกต้องเท่านั้น...” ด้วยแนวคิดเช่นนี้ คุณขวัญดิน จึงมุ่งมั่น ในการกินน้อยใช้น้อย มีส่วนเหลือจุนเจือผู้อื่น และยินดีกับการทำงานหนัก ปี ๒๕๓๑ เธอลาออก จากชีวิตข้าราชการ และเริ่มงานด้านกสิกรรม “... พอลงไปจริงๆแล้ว ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แรกๆเรายังไม่ติดดิน ยังเป็นนักพูด มากกว่านักทำ ทุกข์มาก จนคิดถอยกลับ แต่คุณพ่อบอกว่าอย่าเลย อยู่บ้านเรา ไม่ทำอะไรตลอดชีวิตก็อยู่ได้ แต่ชีวิตไม่มีคุณค่า ความลำบากจะมีบ้าง ก็เหมือนเมฆหมอกผ่านไปแล้ว ฟ้าก็จะสว่าง ดิฉันกลับไปสู้ใหม่ จนกระทั่ง ชาวบ้านเขายอมรับ ยกให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน จนถึงทุกวันนี้

* ปัจจุบันคุณขวัญดิน สิงห์คำ ได้ลาออกจากตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านศีรษะอโศกแล้ว เพื่อทำงานด้าน การเมืองบุญ นิยม ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อฟ้าดิน และยังคงเป็นกำลังสำคัญในการร่วมพัฒนาชุมชนหมู่บ้านศีรษะอโศก


คุณแก่นฟ้า แสนเมือง วิศวกรหนุ่ม เงินเดือนหลักหมื่น ใช้ชีวิตสุขสบาย กิน ดื่ม เที่ยว จนกระทั่งสุดท้าย เริ่มมองหาความหมาย ของการใช้ชีวิต เริ่มศึกษาปรัชญา นั่งสมาธิ และศึกษาวิถีชาวพุทธ จากชาวอโศก นั่นเป็นจุดเปลี่ยน ครั้งสำคัญของชีวิต "...ผมเลิกทุกอย่าง เวลาที่เคยสูญเสียไป ก็ได้กลับคืนมา ผมใช้เวลา ที่ได้คืนมานั้น ทำงานมากยิ่งขึ้น มีเงินเหลือใช้มากขึ้น ก็ได้ช่วยเหลือคนอื่น แต่มีข้อแม้ว่า ยืมเงินผมไปแล้ว ผมไม่คิดดอกเบี้ย แต่ต้องห้ามกินเหล้า ให้เอาเงินไปให้ลูกให้เมีย.... บางคน รับไม่ได้ ยอมไปยืมที่อื่น แบบเสียดอกเบี้ย แต่หลายคนที่รับได้ ก็มาเอาไป เราก็ช่วยกันอย่างนี้ สุดท้าย ผมลาออกจากงาน ก็มา ศึกษาหลักปรัชญา ของพุทธศาสนา...." เงินทุน สองแสนกว่าบาท จากการลาออก ถูกนำไปใช้ก่อตั้ง ร้านอาหารมังสวิรัติ และชักจูงคนมาทำ เพื่อเผยแพร่มังสวิรัติ และ เมื่อทุกอย่างลงตัว คุณแก่นฟ้า ก็ยกร้านให้ผู้อื่นสืบทอด แล้วไปเข้าร่วมชุมชนศีรษะอโศก ในปี ๒๕๓๔ เป็นหนึ่งในพลังสำคัญ ในการพัฒนาชุมชน ด้วยหลักเศรษฐกิจบุญนิยม

(อ่าน เศรษฐกิจชุมชน ตอนจบ)

     

(สารอโศก อันดับ ๒๓๔ เมษายน ๒๕๔๔ หน้า ๑๑๙ - ๑๒๗.)