พรรคเพื่อฟ้าดิน
หนังสือพิมพ์สารอโศก อันดับที่ 235
เดือน เมษายน 2544
หน้า 1/1

พรรคเพื่อฟ้าดิน FOR HEAVEN AND EARTH PARTY (FHAE)

ในวันอาทิตย์ที่ ๑๘ มี.ค.๒๕๔๔ พ่อท่านได้ลงนำทำวัตรเช้า เพื่อแสดงธรรมกัณฑ์พิเศษ จึงมีญาติโยม ทั้งคนวัดคนข้างวัดมาร่วมกันฟังมากกว่าปกติ หลังจากสวดมนต์ และกล่าวทักทาย เจริญธรรม พ่อท่านก็กล่าวเกริ่นนำว่า

วันนี้อาตมาตั้งใจจะมาเทศน์เรื่องการเมือง จะพูดถึงนโยบายของการเมือง เพราะเป็นที่รู้กันแล้วว่า เรามีพรรคการเมืองที่ตกลงใช้ชื่อพรรคว่า "เพื่อฟ้าดิน" ใช้ภาษาอังกฤษว่า FOR HEAVEN AND EARTH PARTY ใช้ตัวย่อว่า FHAE

และเริ่มเทศน์ซึ่งมีเนื้อหาที่พอสรุปได้ดังนี้

พวกเราเป็นมนุษย์พันธุ์ใหม่ ที่ทำอะไรขึ้นมาใหม่ๆ ในสังคมกลุ่มใหม่ในยุคนี้ ถือว่าเป็น นวัตกรรม (INNOVATION) หมายความว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงใหม่ จากสังคมเก่า เป็นสังคมอีกแบบหนึ่ง ที่แปลกไปจาก สังคมสามัญยุคนี้อย่างยิ่ง โดยเฉพาะมีลักษณะ ที่แตกต่างจาก สังคมทุนนิยม หรือ สังคมโลกีย์ทั่วๆไป ซึ่งจะต่างกันมาก ราวกับมนุษย์ คนละโลก

พวกเราอาจถูกตู่ว่า เป็นพวกสุดโต่ง สุดขั้ว ที่จริงคำตู่นั้นไม่จริง เพราะจริงๆแล้ว เรายังโต่งไม่ได้สุดขั้ว ด้วยซ้ำไป ยังน้อยไป เราน่าจะสุดโต่ง ได้มากกว่านี้อีกมาก

ที่จริงที่ว่าสุดโต่งนั้นคือ คนทุนนิยม หรือ ชาวโลกีย์เขามองมาที่เรา เขาก็หาว่าเรานี่ ไกลจากเขามาก โดยเขาไม่รู้ความจริง ไม่รู้ความหมายของ สัจธรรม ว่าไกลคืออะไร? ความจริงแล้ว มีเส้นแบ่งขีด หรือเส้นเริ่มต้น เป็นจุดศูนย์กลาง อยู่ตรงหนึ่ง เรียกว่า ขีดของมนุษย์โลกุตระ และ มนุษย์โลกียะ

โลกุตระนั้น ทวนกระแสโลกียะ เพราะฉะนั้น จุดเริ่มต้น ยังไม่โต่งไปไหน เป็นจุดกลาง เมื่อโลกียะสูงไป โต่งไปทางโลกียะ มันก็จะปรุงแต่งโลกียะ ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย มากหลายไปกับ ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ก็ปรุงกันไป ทุกวันนี้ก็ยังไม่หยุดเลย จริงๆแล้ว เขาสุดโต่งแล้ว ทางโลกียะ ของเราทางโลกุตระ ก็จะลดความโต่ง ของโลกียะ ลงมาๆ จนถึงจุดกลาง แล้วเราลดข้ามเขต มาเป็น โลกุตระ เป็นอาริยะโสดาฯ สกิทาฯ อนาคาฯ และอรหันต์เป็นที่สุด แล้วจริงๆ เราโต่งไปได้ไกลหรือยัง ยังเลย ที่เราโต่งไปนี่ ก็โต่งจากจุดเริ่มต้น ไปทางโลกุตระได้นิดเดียว ยังไม่ไกลอะไรเลย แต่เขาก็ว่า เราสุดโต่ง แต่โลกียะเขาโต่งไปจนไกล เขาก็ไม่รู้ว่าเขาสุดโต่ง เพราะเขาไม่รู้ว่า เขายืนอยู่จุดไหน เมื่อมองมาหาเรา เห็นว่าไกลจากเขาเหลือเกิน เขาจึงบอกว่า เราสุดโต่ง

พวกเราชาวโลกตุระเป็น "ชาวบุญนิยม" เป็น "ชาวอาริยะ" เรากล้าพูดคำนี้เต็มๆ เพราะ ๒ คำนี้ ใช้แทนกันได้ พอสมควร

จะบอกกันให้ทราบว่า เราจะทำงานการเมือง คือ การเมืองอาริยะ หรือ การเมืองบุญนิยม และก็คิดว่า เราจะเป็น ประชาธิปไตย คืออำนาจอันใหญ่ยิ่ง เป็นของประชาชน โดยให้ประชาชน เลือกตัวแทนของตน เข้าไปใช้ อำนาจ

เพราะฉะนั้น ผู้ใช้อำนาจจะต้องเป็นตัวแทน ที่สัตย์ซื่อต่อตนเอง และต่อประชาชน หากไม่สัตย์ซื่อ ก็เป็นอันไม่ต้องหวังว่า จะเป็นประชาธิปไตย ผู้ที่จะมาทำงานการเมือง จึงต้องเป็นคนที่ซื่อสัตย์ ยิ่งๆ มีสมรรถภาพ มีความรู้ความสามารถ ดังนั้นผู้เป็นตัวแทน ก็คือ ผู้ขึ้นไปรับใช้ประชาชนโดยตรง ต้องเป็นผู้รับใช้จริงๆ ไม่ใช่ไปเป็นเจ้านาย และไปทำให้ ประชาชนเป็นสุข ตนเองจึงต้องเป็นสุขก่อน

ความสุขในที่นี้หมายถึงสุขโลกุตระ หรือเรียกว่าวูปสโมสุข เป็นความสุขที่ต้องไร้ การเป็นทาสลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข เป็นสุขที่ปลอดภัย ไม่สร้างหนี้ ไม่สร้างบาป ไม่สร้างศัตรู ไม่สร้างความวุ่นวาย เดือดร้อน มีแต่สร้างความสงบ สามัคคีดีงาม ความเบิกบานร่าเริง อันเป็นความสุขวิเศษ

เพราะฉะนั้น ผู้จะไปเป็นผู้แทน จะต้องเป็นคนไม่หลงไม่เป็นทาสลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข แต่เป็นคนที่ปลอดภัย ไปรับใช้ได้ อย่างมีความสุข สงบ ไม่มีภาระส่วนตน เป็นคนที่อิสรเสรี ไม่ลำเอียง เป็นโลกุตรบุคคล หรืออาริยบุคคล เป็นชาวบุญนิยม จึงจะเป็นคน ที่มาสร้างประชาธิปไตยได้ และจะเป็น ประชาธิปไตย ที่ดี

พวกเราชาวอโศก ได้ปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้า อาตมาก็มั่นใจว่า พวกเราจะเป็น ประชาธิปไตย ตามที่เรามั่นหมาย ซึ่งจะต้องแตกต่างจาก ประชาธิปไตย ในระบบทุนนิยม หรือ ตามโลกสามัญทั่วไป ที่เขาต่างมี ต่างเป็นกันอยู่ นโยบาย หรืออุดมการณ์ ที่เราจะพูด หรือเขียนออกไปนี้ เขาอาจจะเห็น เป็นเรื่องแปลกๆ บ้าๆ แผลงๆ หรือเป็นเรื่องที่คิดเล่นๆไม่จริง ก็ไม่เป็นไร ช่างเขา แต่เราจะทำให้เป็น ประชาธิปไตย แบบบุญนิยม หรือแบบอาริยะให้ได้

เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ แต่เขาไม่เชื่อว่า จะมีอาริยบุคคล เขาไม่เชื่อว่าจะเป็นจริง เพราะเขาไม่มี สัมมาทิฐิ แต่อาตมาเชื่อ ในพวกเราว่า มีคนที่ปฏิบัติได้ เพราะฉะนั้น เมื่อเราทำกันมาจน ๒๐ ปี, ๓๐ ปีแล้ว ได้เกิดเป็นชุมชน เป็นสังคม มนุษย์มีวัฒนธรรมอย่างนี้ อาตมายืนยันว่า นี่เป็นวัฒนธรรม บุญนิยม ที่เป็นไปได้ ซึ่งเห็นได้ทั้ง วัฒนธรรมทางการดำเนินชีวิต ที่เป็นสังคม ของสาธารณโภคี มีของส่วนกลาง ทุกคนหามาแล้ว เอามารวมกันเป็นส่วนกลาง ไม่ยึดเป็นของตนเอง จะกินใช้ ก็เบิกจากส่วนกลาง กินใช้ส่วนกลางร่วมกัน เราทำได้แล้วทุกวันนี้ แม้จะเป็นกลุ่มเล็กก็ตาม แต่เมื่อมี หลายๆกลุ่ม อย่างนี้มากเข้าๆ นั่นก็คือ กลุ่มใหญ่ เป็นมหภาค

ระบบบุญนิยมที่เราทำขึ้นมานี่ แต่ละคนๆ มีคุณธรรมในตน และคุณธรรม นี่แหละ เป็นทุนทางสังคม ระบบบุญนิยม จะสร้างทุนทางสังคม เศรษฐกิจที่เราทำ ก็เป็นเศรษฐกิจบุญนิยม หรือเศรษฐกิจเชิงพุทธ ที่จะสงเคราะห์สังคม หรือให้ทุนทางสังคม ตลอดเวลา แต่ก็มีเจตนารมณ์ ที่จะให้การสงเคราะห์นี้ ไปสร้างคน เพราะฉะนั้น การสงเคราะห์สังคม ของชาวบุญนิยม จึงไม่ใช่สงเคราะห์แต่เพียงวัตถุ ไม่ใช่สะพัดแจกจ่ายอย่างชาวโลก ที่ใช้เล่ห์เหลี่ยมแฝง ที่จะเอาเปรียบ เพื่อเอากลับมา ให้แก่ตัวมาก ซึ่งเป็นความฉลาด ของความโลภของคน

คนทุกวันนี้ ปฏิบัติหรือพัฒนาแต่เรื่องความโลภ ยิ่งฉลาดก็ยิ่งบำเรอความโลภ ความโลภก็จะอ้วน จะใหญ่ขึ้น ตลอดเวลา คนที่ฉลาด ขี้โลภ จึงเป็นอาวุธร้าย ที่ทำลายสังคม อยู่ทุกวันนี้

ชาวบุญนิยมที่พัฒนาแล้ว
ชาวบุญนิยมที่พัฒนาตนเองแล้ว จะมีคุณลักษณะ ๑๑ ประการ ดังนี้
๑. เป็นคนทวนกระแส คนละทิศ กับทุนนิยม
๒. เป็นคนมีคุณธรรมเข้าเขตโลกุตระ
๓. ปฏิบัติตามได้ยาก (ยกเว้นผู้ที่มีบารมีมาแล้ว) แต่แม้ยากก็ต้องทำ
๔. เป็นไปได้ ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันหรือฝันเฟื่องใดๆ
๕. เป็นสัจธรรม คือเป็นของจริง ของแท้ สำหรับมนุษย์และสังคม
๖. กำไรหรือผลได้ หรือประโยชน์ตน ของชาวบุญนิยม คือสิ่งที่ ให้ออกไป ซึ่งเป็นการให้ ที่ไม่ต้องการสิ่งตอบแทนกลับคืนมา
๗. สร้างคนให้ ประสบผลสำเร็จเป็นหลัก ตามทฤษฎีของพระพุทธเจ้า ไม่ไปหลงสร้าง แค่วิชาการ หรือวัตถุนิยม
๘. จิตเกิด-จิตเป็น เรียกว่า บรรลุธรรมขั้นปรมัตถสัจจะ สู่โลกุตระได้
๙. ความร่ำรวยอุดมสมบูรณ์ ไม่อยู่ที่บุคคล แต่จะอยู่ที่ ส่วนรวม หรือส่วนกลาง
๑๐. เชิญชวนให้มาดู มาพิสูจน์ได้ ดุจเดียวกับ การพิสูจน์ ทางวิทยาศาสตร์
๑๑. จุดสัมบูรณ์คือ อิสรเสรีภาพ ภราดรภาพ สันติภาพ สมรรถภาพ บูรณภาพ

ผู้บรรลุบุญนิยมแล้ว
ผู้บรรลุบุญนิยมแล้ว ก็จะเป็นคนดังนี้
๑. จะเป็นคนประหยัด มีชีวิตที่เรียบง่าย สมถะ ไม่เป็นคน เผาผลาญทำลาย ไม่ทำตัวหรูหรา ฟุ้งเฟ้อ สุรุ่ยสุร่าย
๒. เป็นคนมักน้อย กล้าจน เสียสละอยู่เสมอๆ ไม่เอาเปรียบใครๆ
๓. เป็นคนใฝ่ศึกษา สร้างสรร สร้างสมรรถนะ และขยัน แต่กินน้อยใช้น้อย ไม่สะสม มีแต่สะพัดออก
๔. เป็นคนทำงานอย่างตั้งใจ กล้าขาดทุน ให้แก่ผู้อื่นและสังคม ด้วยความเห็นแจ้ง ความจริง ว่า ผู้ขาดทุน คือผู้มีกำไรแก่ชีวิตตนเอง หรือคือผู้มีประโยชน์ มีคุณค่าแก่ผู้อื่น อย่างถูกสัจจะ
๕. เมื่อปฏิบัติธรรมได้สูง ยิ่งจะเป็นผู้สร้างสรร ขยัน อดทน เสียสละ สะพัดออก ไม่สะสม ถึงขั้นสูงสุด ก็คือ อนัตตา คือไม่มีตัวตน ที่เห็นแก่ตัวเหลืออยู่เลย อย่างสัมบูรณ์อันติมะ

การเมืองอาริยะ
การเมืองอาริยะ เป็นการเมืองที่ยังไม่เคยมีในโลกมาก่อน จะมีสิทธิมีหรือไม่ พวกเรานี่แหละ จะเป็นผู้ไปสร้าง ในโลกนี้มีสิ่งที่ไม่เคยเป็นเคยมี แต่มาถึงในปัจจุบันนี้ ก็เกิดมีอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็น วัตถุประดิษฐ์ มีโทษบ้าง ประโยชน์บ้าง ก็มาจาก นามธรรมของคน คือ จิตของคนนี่แหละ แม้แต่จารีต ประเพณี วัฒนธรรม หรือศาสตร์ต่างๆ ที่ไม่น่าเชื่อว่า จะมีจะเกิด ก็มีก็เกิดได้ แม้กระทั่งเศรษฐศาสตร์ หรือระบบการปกครอ งแบบคอมมิวนิสต์ แบบเผด็จการ ที่ต้องบังคับกันทั้งประเทศ ฆ่ากัน ข่มขี่กัน รุนแรง เลวร้าย มันยังเป็นไปได้

ส่วนระบบบุญนิยม เป็นระบบที่มีทั้งสาระ องค์ประกอบที่เต็มไปด้วยบุญ มีคุณความดี มีปรมัตถสัจจะ ไม่มีความรุนแรง เลวร้ายฆ่าแกงข่มขี่กัน จึงน่าเป็นไปได้ยิ่งกว่า เพราะมนุษย์เรา จริงๆแล้ว ก็ต้องการ คุณความดี ความสงบสุข

เพราะฉะนั้น การเมืองอาริยะในอนาคตต้องเกิดได้แน่ๆ ซึ่งจะต้องเกิดจากคน ที่ถูกสร้างขึ้นมา เป็นอาริยะ ตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป ซึ่งจะมีหลักเกณฑ์ ของนโยบายดังนี้

๑.เศรษฐกิจบุญนิยม
เป็นการเฉลี่ยสะพัดส่วนได้ วัตถุทรัพย์ต่างๆ ด้วยจิตที่เสียสละจริงๆ ด้วยจิตที่เห็นฐานของสังคม มีคนที่จะต้องช่วยเหลือเกื้อกูล อย่างแท้จริง ไม่ใช่เห็นแก่พรรคพวก พี่น้องของตน ทั้งต้องเข้าใจอุปสงค์ อุปทานของสังคม หมู่กลุ่มอย่างชัดเจน เข้าใจหลักการ DEMAND (ความต้องการ) SUPPLY (ปริมาณ) ของสังคมแต่ละกลุ่ม แต่ละหมู่ เป็นเศรษฐศาสตร์ ที่มีปัญญาลึกซึ้ง และ รู้จัก สังคมศาสตร์ชัดเจน เน้นไปหาสาธารณโภคี คล้ายที่ คอมมิวนิสต์ต้องการ คือมีส่วนกลาง ผู้บริหารของส่วนกลาง ก็จะบริหารสะพัด ไปสู่กระทรวงต่างๆ กรมกองต่างๆ ให้ไปจนถึงประชาชน จะเป็นเศรษฐกิจที่มีเป้าหมาย เกื้อกูลวัตถุ แต่ต้องไปสร้างคน ขัดเกลาคน ให้มีคุณธรรม สู่โลกุตระ

๒. การศึกษาบุญนิยม
จะต้องศึกษาให้รู้จักศาสตร์ต่างๆ เช่น เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ กสิกรรม อุตสาหกรรม การเงิน สาธารณสุข การบริโภค สื่อสาร การเมือง ศิลปะ การบริหาร กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม วิทยาศาสตร์ ความสัมพันธ์ ระหว่างชาติ ให้เป็นไปตาม ลักษณะบุญนิยม ให้เกิดภูมิธรรม ทางบุญนิยม เน้นศีลธรรม โดยมีปรัชญา การศึกษาว่า ศีลเด่น เป็นงาน ชาญวิชา ซึ่งจะเน้นศีลธรรม ๔๐% เชี่ยวชาญการงาน ๓๕% และวิชาการความรู้แค่ ๒๕%

๓. กสิกรรมบุญนิยม
ต้องเป็นกสิกรรมไร้สารพิษ ที่รู้จักพืช รู้จักฤดูกาล ความเป็นอยู่ของพืช และ ทำพืชมาเป็น ธัญญาหาร เป็นของที่จะกินจะใช้ แต่ต้องไม่เป็นพิษ เป็นภัยต่อมนุษย์ และ จะเลี้ยงมนุษย์ ฉะนั้น การสร้างกสิกรรมไร้สารพิษ จะต้องมีน้ำใจ มีความซื่อสัตย์ สุจริต มีความจริงใจ ที่รู้จักข้อสำคัญว่า สร้างมาเพื่อเลี้ยงมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์ยังชีพ อยู่อย่างแข็งแรงผาสุก กสิกรรมจึงเป็น เรื่องอาหาร อย่างยิ่ง ที่เราต้องสร้างขึ้นให้ดีที่สุด และถูกที่สุด

๔. อุตสาหกรรมบุญนิยม
ต้องเป็นอุตสาหกรรมที่ให้เกิดอุตสาหกรรมครอบครัว อุตสาหกรรมหมู่บ้าน อุตสาหกรรมย่อม แล้วมีเครือข่าย มีการประสานกัน เป็นอุตสาหกรรมที่รวมมา เป็นจำนวนมาก จำนวนใหญ่ เป็นระบบวิธีของสังคม ที่มีเครือข่าย ไม่ใช่อุตสาหกรรม ที่สร้างมาเพื่อหากำไร เอาเปรียบ เหมือนอุตสาหกรรมใหญ่ๆ อย่างที่เป็นกันอยู่ทุกวันนี้ แต่ก็อาจจะมีโรงงานใหญ่ สร้างสิ่งที่เป็น อะไรใหญ่ๆ ก็เป็นอุตสาหกรรม ที่รวมกันทำ ร่วมหุ้นกันทำ อย่างสุจริตใจ เป็นของส่วนกลาง ให้ประชาชน เข้าไปร่วมด้วย แต่ละคนก็จะมีสิทธิ ได้รับส่วนแบ่ง จากอุตสาหกรรมนั้น อย่างทั่วถึงยุติธรรม เป็นปลาใหญ่ ช่วยปลาเล็ก ไม่ใช่ปลายิ่งใหญ่ ยิ่งกินปลาเล็ก

๕. การเงินบุญนิยม
ต้องเป็นการเงินในระบบ ที่เป็นสิ่งแทนค่าของอะไรต่ออะไร ไว้เล็กน้อยเท่านั้น ตามคุณค่า หน้าที่ของมัน เช่น ข้าวมีหน้าที่ของมัน หิน ดิน ไม้ ก็มีหน้าที่ของมันตามจริง เงินจึงเป็นแต่ เพียงสิ่งแทนค่าตามหน้าที่ ของสิ่งนั้นๆเท่านั้น ไม่ใช่แก้วสารพัดนึก เพราะฉะนั้น ผู้ที่มาดูแลการเงิน บุญนิยม จึงต้องเป็นคนที่เป็น โลกุตระบุคคลที่สูง เป็นคนบุญนิยม เป็นอาริยบุคคล ระดับอนาคามี ขึ้นไป เป็นผู้ที่ไม่ยึดติดในลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข มีใจเป็นกลาง ไม่เห็นแก่ตัว มีชีวิตที่เบาว่าง ไม่สะสม มีแต่จะสะพัด ให้ไปใช้แก่กันและกัน ไปสู่แต่ละคนให้ดีที่สุด ให้มาก และเหมาะสมที่สุด

๖. สาธารณสุขบุญนิยม
จะเป็นสาธารณสุข ที่สร้างการป้องกัน เรียนรู้สรีระ ชีวิต สิ่งแวดล้อม และ สิ่งที่มาสังเคราะห์ กับชีวิต ว่าทำอย่างไร ที่จะอยู่เย็นเป็นสุข ไม่เจ็บไม่ป่วย ด้วยหลัก ๕ อ. คือ อาหาร อารมณ์ ออกกำลังกาย อากาศสิ่งแวดล้อม อิทธิบาท แต่หากมีเจ็บป่วย ก็จะดูแลรักษา เกื้อกูลกัน เป็นสาธารณสุขส่วนกลาง จะช่วยเหลือกันอย่างมีน้ำใจ มีความบริสุทธิ์ใจ เห็นทุกข์ของมนุษย์ ในโลกอย่างแท้จริง

๗. การบริโภคบุญนิยม
ก็จะต้องมีการดูแล สอนการบริโภค ทำความเข้าใจให้แก่สังคม ให้แก่มนุษย์ ได้รู้จักว่า ทุกวันนี้ เราหลงการบริโภคกัน อย่างร้ายกาจ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ เครื่องกิน เราจึงต้องสอน ต้องสร้าง ให้สังคมมนุษย์ รู้จักการบริโภค ที่เป็นคุณค่าประโยชน์ ที่ไม่ผลาญพร่าทำลาย ไม่มอมเมา และรู้จักการบริโภค ที่เป็นอาริยะ เป็นความเจริญ อย่างคนมีภูมิธรรม มีปัญญาฉลาดเฉลียว ได้กิน ได้ใช้ ได้อาศัยอย่างเป็นสุข และไม่เปลืองที่สุด

๘. การสื่อสารบุญนิยม
ต้องสื่อสารอย่างเป็นสัจจะความจริง เป็นประโยชน์คุณค่าให้แก่ชีวิต เร็วไว ทั่วถึง ไม่ว่าจะสื่อสารแบบใด จะใช้เครื่องมือ หรือมนุษย์ก็ตาม ต้องสื่อสารสิ่งที่เป็นคุณค่า ต่อชีวิต อะไรเป็นพิษเป็นภัย ก็ต้องสื่อสารบอกกัน แจ้งกันให้รู้ได้ทันท่วงที

ผู้ทำงานสื่อสาร จะต้องยิ่งซื่อสัตย์ต่อสังคม ต่อปวงประชาชน ไม่แฝงเพื่อหาประโยชน์ ส่วนตน หรือลำเอียง เป็นเครื่องมือของคนนั้น กลุ่มนี้ พรรคนี้ แต่จะต้องเกื้อกูล สร้างสันติสุข สร้างความอบอุ่น ความเจริญงอกงาม ให้แก่มนุษยชาติ

๙. ศิลปะบุญนิยม
ต้องเข้าใจศิลปะว่า คือมงคลอันอุดม คือเหตุที่ทำให้เกิดความประเสริฐแก่มนุษย์ นำพาไปสู่ความเจริญ อันสูงสุด มีทั้งสุนทรียศิลป์ ทั้งแก่นศิลป์ สุนทรียศิลป์ ก็คือ สิ่งที่สร้างที่ประกอบ ชี้ชวนให้คนเกิดสนใจ เพื่อไปเอาแก่นศิลป์ หรือเอาสาระ ไม่ว่าจะเป็น การวาด การเขียน การปั้น วรรณกรรม ท่าทางลีลา หรืออะไรอื่นอีกก็ตาม จะชี้ชวนนำไป สู่สาระประโยชน์ อันเป็นคุณค่า ที่แท้จริง แก่มนุษย์ ไม่ใช่เป็นมหรสพ มอมเมา หรือ เป็นอนาจาร เช่น ถ้าเขียนภาพโป๊เปลือย เมื่อคนดูภาพแล้ว เกิดการลดราคะลงได้ ก็เป็นศิลปะ แต่ถ้าดูแล้วราคะก็ขึ้น อย่างนี้เป็นอนาจาร

๑๐. การบริหารบุญนิยม
ผู้ที่จะขึ้นไปบริหาร จะต้องเป็นคนที่มีคุณธรรม ภูมิธรรมที่สูง รู้ทิศทาง ของโลกียะ กับโลกุตระชัดเจน ต้องรู้และเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ทั้งรูปธรรมนามธรรม ของนโยบายทั้งหมด ของพรรค จะป็นโสดาบันขึ้นไป ยิ่งเป็นอนาคามี หรืออรหันต์ ก็ยิ่งดี

๑๑. กฎหมายบุญนิยม
จะเป็นหลักเกณฑ์ของสังคม เพื่อประโยชน์ของคนส่วนมาก หรือ ส่วนที่จำเป็น ที่สำคัญๆมากๆ ของสังคม ไม่ใช่เพื่อได้เปรียบ หรือเพื่อผู้ใดผู้หนึ่ง และจะออกกฎมา ให้น้อย หรือไม่มาก เพราะการออก หรือมีกฎหมายมาก แสดงว่าสังคมเสื่อม ฉะนั้น กฎหมายจะต้องลดลงๆ จนคนมีสำนึกเอง มีหิริโอตตัปปะ มีศีลมีธรรม ที่สุดไม่ต้องมี กฎหมายบังคับ นี่คือกฎหมายที่ดีที่สุด

การออกกฎหมาย จะต้องออกให้น้อยและชัดเจน ไม่บีบบังคับอะไรมาก แต่จำเป็นต้องบีบบังคับ ก็ต่อเมื่อ สิ่งนั้นรุนแรงร้ายแรง จึงเป็นกฎหมาย ที่เข้าใจสังคม เข้าใจความขาดแคลน ความร้าย ความแรง เข้าใจสิ่งที่มาก สิ่งที่เกิน ต้องมีหลักเศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ อย่างมาก ทั้งความเข้าใจ ในการศึกษา และ การเมืองอย่างดีมาก

๑๒. กระบวนการยุติธรรมแบบบุญนิยม
ต้องมีลักษณะของ ความเข้าใจการปฏิบัติของกลุ่ม หมู่ บุคคล เป็นขบวนการ ที่จะต้องเข้าใจถึง ความยุติธรรม คือทำให้ ยุติลง ทำให้หยุด ทำให้สงบ หรือ ทำให้เรียบร้อย จึงต้องมีความเข้าใจ ถึงจิตวิญญาณมนุษย์ ระบบสังคม และพฤติกรรมของสังคม เป็นคนที่ใจกว้าง เข้าใจสัจธรรมของมนุษย์ได้ดี

๑๓. วิทยาศาสตร์บุญนิยม สามารถใช้วิทยาศาสตร์ ให้เป็นประโยชน์ ต่อสังคมมนุษยชาติ และ ต้องบอกแจ้ง ถึงพิษภัย ถึงสิ่งที่จะเอาไปใช้ กับสังคมมนุษย์ สิ่งใดเป็นพิษภัยต่อสังคม ก็ต้องมีกฎหมาย บังคับในการใช้ เพราะวิทยาศาสตร์ เป็นความรู้ ๒ คม มีทั้งประโยชน์ และโทษ จึงจำต้องมีความเข้าใจ ในวิทยาศาสตร์นั้นๆ อย่างดี

๑๔. ความสัมพันธ์ระหว่างชาติบุญนิยม (การต่างประเทศ) จะเป็นความสัมพันธ์ที่เกื้อกูล ที่ช่วย เหลือกัน อย่างไม่ใช่ไปเอาประโยชน์จากเขา ต้องเป็นความสัมพันธ์ที่มีน้ำใจ มีความปรารถนาดี มีสุจริตใจ สุจริตธรรม มีความซื่อตรง อะไรที่สามารถสัมพันธ์ได้ เราก็รับสัมพันธ์ด้วย อะไรไม่สามารถ สัมพันธ์ได้ เราก็ขออยู่ส่วนตัว อย่างแท้จริง เป็นความสัมพันธ์ อย่างมีภูมิปัญญา เข้าใจถึงเรา และเขาว่า เราจะมีประโยชน์คุณค่ากับเขาไหม หากเราให้ประโยชน์ คุณค่าอะไรกับเขาไม่ได้ เราก็ขอสงบเสงี่ยมก่อน ส่วนการรับความช่วยเหลือ จากผู้อื่นนั้น เราจะขอรับแต่น้อย เราจะช่วยตนเอง พึ่งตนเองให้ได้ อย่างแข็งแรงก่อน จึงจะสัมพันธ์กับชาติต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเขา

สรุปการเมืองบุญนิยมหรือการเมืองอาริยะนี้ จะต้องเข้าใจคำว่า บุญนิยม อย่างสำคัญ

บุญนิยม คือ คติความเชื่อที่มุ่ง "บุญ" เป็นที่ตั้ง (เป็นนิยมสั้นๆ ที่พ่อท่านกล่าวไว้) และให้เรียกสังคมเราว่า "สังคมมนุษย์บุญนิยม"

สุดท้ายพ่อท่านก็ยืนยันว่า เรื่องที่เทศน์ไป ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน แต่เป็นไปได้จริง เพราะทุกวันนี้ สังคม ชาวอโศกเรา ก็มีสภาพสังคม ที่มีคุณลักษณะ ตามที่ได้พูดไปแล้ว แต่ทว่า เป็นกลุ่มตัวอย่าง ที่ไม่มีมากนัก จึงได้ฝากให้พวกเรา พยายามขวนขวาย ให้มีคุณธรรมที่เป็นอาริยะ หรือ เป็นบุญนิยม ขึ้นมา ให้แข็งแรงให้ได้ แล้วสภาพดังกล่าว จะปรากฏให้เห็นเอง ที่เป็นนวัตกรรมจริงๆ เป็นการเปลี่ยนแปลง มาเป็นสังคม มนุษยพันธุ์ใหม่

แรงพุทธ เรียบเรียง

 

 

(สารอโศก อันดับ ๒๓๕ หน้า ๑๐ - ๑๘ เดือน เมษายน ๒๕๔๔)