สิบห้านาทีกับพ่อท่าน
โดย ทีม สมอ.

หนังสือพิมพ์สารอโศก อันดับที่ 235
เดือน เมษายน 2544
หน้า 1/1

 

เพื่อฟ้าดิน

ระบบบุญนิยม นับเป็นนวัตกรรม (Innovation) ซึ่งชาวอโศกนำเสนอแก่สังคม เริ่มตั้งแต่การค้า ระบบบุญนิยม ซึ่งมีหลักการซื้อขายแก่ลูกค้าด้วยนโยบาย ของดี ราคาถูก ซื่อสัตย์ มีน้ำใจ เงินสด งดเชื่อ(เครดิตเหนือเครดิต) และมีอุดมการณ์อย่างมุ่งมั่น คือ ขั้นที่
๑. ขายราคาต่ำกว่าท้องตลาด
๒. ขายราคาเท่าทุน
๓. ขายราคาต่ำกว่าทุน
๔. แจกฟรี

ตามด้วยการศึกษาระบบบุญนิยม ซึ่งเน้นปรัชญา ศีลเด่น เป็นงาน ชาญวิชา และวันนี้ การเกิดขึ้น ของการเมืองระบบบุญนิยม ภายใต้คำขวัญพรรค "เศรษฐกิจพึ่งตน ชุมชนเข้มแข็ง ประชามีธรรม ประเทศมีไท" ซึ่งแน่นอน ย่อมมีความแตกต่าง ทวนกระแสกันอย่างยิ่ง กับการเมืองในรูปแบบเก่าๆ แต่จะเป็นอยางไรนั้น พบกับ บทสัมภาษณ์ ของพ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ พร้อมทั้งคำอธิบาย การทำสังฆเภท อันเป็นข้อ ๑ ใน ๕ ของอนันตริยกรรม ว่าเป็นบาป ร้ายแรงเพียงไร

ถาม อโศกกำลังขยายการทำงานออกสู่ภาคประชาชน ในรูปแบบงานการเมือง มีพรรคการเมือง อย่างถูกต้อง ซึ่งต่างจากรูปแบบเดิม ซึ่งเป็นงานศาสนาอย่างไรคะ ?

ตอบ ที่จริงพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นในชาวอโศก ไม่ได้แตกต่างจาก รูปแบบเดิม ในการทำงานศาสนา เป็นแต่เพียงว่า ชาวอโศกเราไปมีสัญญา หรือไปจดนิติกรรม กับทางการขึ้นมา เป็นพรรคการเมือง ซึ่งเท่ากับว่า ไปอาสาจะมีกลุ่มคน ที่ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ นี่แหละ ที่จะไปทำงาน สัมพันธ์กับการเมือง สัมพันธ์กับรัฐศาสตร์ สัมพันธ์กับทางเศรษฐกิจสังคม ของประเทศขึ้นมา แต่โดยพฤตินัย ของเรา ก็ยังคงเหมือนเดิม คือ สร้างและพัฒนาคนเป็นหลัก ให้เจริญ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ทางอาชีพ ต่างๆ ทางการศึกษา ทางสาธารณสุข หรือจะเจริญทางศิลปะก็ตาม ชาวอโศกเราพยายาม ทำกับ ประชาชน สร้างให้ประชาชน มีความรู้ ความสามารถ นี่คือการเมือง ที่ชาวอโศกมุ่งหมาย การเมือง ของชาวอโศก จะไม่ไปอ้าขาผวาปีก ไปแย่งอำนาจ ไปแข่งขัน ล่าลาภล่ายศ เมื่อองค์กร ชาวอโศก มีกำลังพอสมควร สามารถพึ่งตนได้ ในกลุ่มของชาวอโศกเองแล้ว เราอยู่ได้แล้ว ไปรอดแล้ว เพราะฉะนั้น ชาวอโศกก็ควรช่วยเหลือ เกื้อกูลประชาชนมากขึ้น นี่แหละคือ หน้าที่ของการเมือง ที่เราคิดและจะทำ

ถาม เรื่องของตำแหน่งทางการเมือง พ่อท่านคิดอย่างไรคะ ?

ตอบ ส่วนที่จะไปถึงขั้นประชาชนเห็นว่า ชาวอโศกควรเข้าไปรับหน้าที่ในทางรัฐ เข้าไปรับผิดชอบ ตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ทางการเมือง เช่น อยากให้ชาวอโศก เข้าไปรับหน้าที่เป็น สท. สจ. อบต. อะไรต่างๆ ก็แล้วแต่ ชาวอโศกก็ต้องฟัง กระแสเสียงประชาชนจริงๆ ถ้าจะให้ชาวอโศกเป็น ให้ชาวอโศกไปสมัคร แล้วเขาก็เลือกเข้าไป ถ้าถึงครั้งคราว ที่มันควรถึงขั้นนั้น และชาวอโศกเอง ก็มีความพร้อมด้วย มีเรี่ยวแรง มีสมรรถนะ สมควรที่จะ เข้าไปทำงานเพิ่ม เมื่อประชาชนก็เห็นด้วย และชาวอโศกก็เห็นว่า ควรเข้าไปช่วยสังคม ในตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งสามารถจะประสาน กับสังคม ได้กว้างขวางมากขึ้นด้วย เราถึงจะเข้าไป เมื่อถึงเวลาวาระ ที่เหตุปัจจัยต่างๆ เหมาะสมลงตัว

ถาม วิธีลงเลือกตั้งส.ส.ทำอย่างไรคะ ต่างจากเดิมๆไหม?

ตอบ ไม่มีการหาเสียง สมัครแล้วก็บอกให้ประชาชนรู้เท่านั้นว่า ส่งใครสมัคร ติดป้ายหรือ ประกาศ บอก ๕ แผ่น ๑๐ แผ่น เพียงเพื่อบอกให้ประชาชนรู้ ทางรัฐก็ควรจะมีหน้าที่ ช่วยประชาสัมพันธ์อยู่แล้ว โดยเจ้าตัวไม่ต้องหาเสียง หากยังมีการหาเสียงอยู่ นั่นยังไม่ใช่ ประชาธิปไตยอาริยะ ประชาธิปไตยที่แท้จริง เป็นเรื่องของมวลประชาชน ที่มีความศรัทธา เลื่อมใส อันได้สั่งสมความรู้ ผู้ที่ตนศรัทธามา อย่างถ่องแท้แน่ใจ ไม่ใช่เพราะแรงโฆษณา ถ้าประชาชนเห็นดี เห็นด้วย ที่จะเลือกเรา เข้าไปทำงาน เราก็เข้าไปทำงาน ตามหน้าที่ แต่ไม่ใช่เข้าไปรับทำงาน เพื่อแย่งชิงอำนาจลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข เป็นอันขาด เราจะเข้าไปทำงาน ก็คือ ทำงาน ส่วนผลพลอยได้อื่นๆ ก็จะไม่เหมือนกับ ที่เคยเป็นกันอยู่ ในปัจจุบันนี้ แม้แต่เงินเดือนรายได้ เราก็จะไม่นำมาเป็นส่วนตัว จะเอาเข้าส่วนกลางของพรรค เพื่อใช้ประโยชน์ แก่ส่วนรวม งานการเมือง ไม่ใช่การได้เป็นใหญ่เป็นโต แต่เป็นงานเสียสละ รับใช้ประชาชน ตามความรู้ความสามารถ จึงไม่ใช่การเข้าไปแย่งตำแหน่ง ยศศักดิ์ คนทำงานหน้าที่ สภานิติบัญญัติ กับทำหน้าที่บริหาร ก็ต้องแบ่งแยกกันเด็ดขาด ไม่ใช่คนเดียวกัน ใส่หมวกสองใบ เป็นต้น อุดมคติสูงสุด ของการเมือง แบบบุญนิยมนั้น ผู้ได้รับตำแหน่งหน้าที่ยิ่งสูง ยิ่งจะมีเงินเดือนต่ำ เสียสละให้มาก รัฐเป็นผู้ดูแล ให้สวัสดิการ ทั้งหลาย ทั้งในการกินอยู่ หลับนอน และอำนวย ความสะดวก ในการทำงาน เช่น ระดับรัฐมนตรี หรือตำแหน่งสูง จะไม่มีเงินเดือนส่วนตัว รัฐเลี้ยงไว้ หรือประชาชน จะอนุเคราะห์ อุปถัมภ์เลี้ยงดูไว้ เพราะเป็นคนมีคุณค่าประโยชน์ต่อเขาจริงๆ อย่างนี้จะเป็นการทำงาน ให้ประชาชนอย่างแท้จริง มีความเสียสละ และจะต้องเป็นคน ที่มีคุณธรรมจริงๆ เป็นคนมักน้อย สันโดษที่แท้จริง เพื่อไปรับใช้ ไม่ใช่ไปหากิน ไม่ใช่ไปทำธุรกิจ ไม่ใช่ไปล่าลาภ ล่ายศ ล่าสรรเสริญ หรือโลกียสุขอะไรต่างๆ ยิ่งตำแหน่งสูงเท่าไร ยิ่งต้องเป็นคนมีคุณธรรม มากขึ้นเท่านั้น ถึงระดับนายกรัฐมนตรี ต้องทำงานฟรี แล้วรัฐก็ดูแลเอาไว้ อย่างเหมาะสม มิใช่ทำตัว ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย เป็นตัวอย่างอันเลวทราม ที่ไม่ดี ไม่ประหยัด ยิ่งประเทศไทยตอนนี้ ต้องการความประหยัดมากมาย ถ้าส่วนตัวเราฐานะดี ประเทศไทย ของเราอุดมสมบูรณ์ มีฐานะร่ำรวยเพียงพอ คุณจะให้อยู่ในฐานะดีขึ้น ก็จัดสรรไป แต่ไม่ควร จะบอกว่า ผู้ที่ไปทำงานรับใช้ประชาชน จะต้องกินอยู่อย่างฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย มากกว่าประชาชน คนอื่นๆ ที่เสียภาษีมาช่วยรัฐ

ทุกวันนี้ ภาษีของรัฐ เอามาช่วยข้าราชการกว่าครึ่ง ของเงินงบประมาณ แผ่นดิน อย่างนี้ มันจะไปเข้าท่าอะไร ข้าราชการ คือผู้รับใช้ ยิ่งข้าราชการการเมือง ยิ่งเป็นผู้รับใช้ ของประชาชน โดยตรงเลยทีเดียว

ถาม ปาราชิก กับ อนันตริยกรรม มีโทษแตกต่างกันอย่างไรคะ?

ตอบ ถ้าไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้ง เราจะไม่รู้ว่าแตกต่างอย่างไร และน้ำหนักของความแตกต่าง จะขนาดไหน ปาราชิกนั้น พระพุทธเจ้าให้หลักเกณฑ์ว่า เป็นกรรมหนัก ของพระภิกษุ สมณะ เป็นบาปที่สุด ของภิกษุของสมณะ โดยคนที่ทำบาประดับนั้น มี ๔ ข้อ ได้แก่
๑. สมสู่มีเพศสัมพันธ์
๒. ฆ่าคน
๓. ลักขโมย
๔. อวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีในตน อันคือการโกหกนั่นเอง

ส่วนสังฆเภทเป็น ๑ ใน ๕ ของ อนันตริยกรรม ซึ่งเป็นบาปที่หนักยิ่งกว่า ปาราชิก อนันตริยกรรม มี ๕ อย่างได้แก่
๑. ฆ่าแม่
๒. ฆ่าพ่อ
๓. ฆ่าพระอรหันต์
๔. ทำให้พระกายพระพุทธเจ้าห้อเลือด
๕. สังฆเภท หรือทำให้สงฆ์แตกเป็นนิกาย

ถาม "อนันตริยกรรม" นั้นบาปหนักยิ่งกว่า "ปาราชิก" อย่างไร?

ตอบ ก็สังเกตได้จากปาราชิกข้อที่ ๒ ซึ่งทำผิดในฐานฆ่าคน เหมือนกันกับ อนันตริยกรรมข้อ ๑-๒-๓ แต่ปาราชิกนั้นแค่ฆ่าคนทั่วไป กรรมบาปก็มีอกุศล จะมากจะน้อยก็เท่ากับ บาปฆ่าคน ส่วนอนันตริยกรรมนั้น ถึงขั้นฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ หรือฆ่าพระอรหันต์กันทีเดียว ซึ่งเลวร้ายบาปหนัก ยิ่งกว่า ฆ่าคนธรรมดาๆทั่วไป ใช่ไหม? อีกนัยหนึ่งปาราชิกนั้น เป็นโทษของผู้เป็นสมณะ เป็นภิกษุโดยเฉพาะ เป็นกรอบเฉพาะ ไม่ทั่วไปเหมือนอนันตริยกรรม ซึ่งใครทั่วไป ทำก็บาปหนักได้ ด้วยกันทั้งนั้น ไม่จำเพาะภิกษุ เพราะฉะนั้น สังฆเภทซึ่งเป็นข้อที่ ๕ ของอนันตริยกรรม บาปกรรม จึงเป็นระดับ ความชั่ว บาป ที่หนัก เท่าๆกับการฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์ ซึ่งเป็นบาปหนักเลวยิ่งกว่า ฆ่าคนธรรมดาทั่วไปแน่ๆ ทำอนันตริยกรรม จะต้องใช้หนี้ หลายชาติเหลือเกิน และจะไม่มีโอกาส ได้พบพุทธศาสนา อีกนานหลายชาติด้วย ส่วนปาราชิกนั้นถือว่าเป็นบาปหนัก โดยชาตินี้ทั้งชาติ ก็คือชาติเดียว ที่ไม่ให้เกี่ยวข้อง กับพระพุทธศาสนาอีก ซึ่งเป็นการตัดขาด จากศาสนาพุทธ ไปหนึ่งชาติเท่านั้น ที่ถูกลงโทษ ไม่เหมือนอนันตริยกรรม

พูดถึงปาราชิก ทุกวันนี้ที่เขาลงโทษ เรื่องปาราชิก ก็ทำกันผิดๆ คือคนที่ ปาราชิกแล้ว ก็แค่จับสึกเท่านั้นเอง ผลเลยเท่ากับ คนไม่ได้บวชธรรมดาๆแค่นั้น ยังเป็นพุทธศาสนิกชน ที่มีสิทธิเท่าเทียม ฆราวาสอื่นๆทั่วไป ยังมายุ่งเกี่ยวกับศาสนา ได้เท่าเทียมกันทุกอย่าง ดีไม่ดี มาเป็นมรรคนายก ก็ยังได้ หรือสมีบางคน ก็มาสอนศาสนาด้วยซ้ำ

อันที่จริงนั้น คนที่ปาราชิกแล้ว เท่ากับตายจากศาสนาไปเลย ๑ ชาติ เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ที่ย่อมไม่เกิดอีก เป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น จึงมีโทษเท่ากับ การประหารชีวิต ในทางพุทธศาสนา จะไม่มีการเอื้อศาสนา ให้แก่คนผู้ปาราชิกอีกเลย ในชาติที่เขาทำผิดนี้ ชาวพุทธทุกคน ต้องลงพรหมทัณฑ์คนนี้ ตลอดชาติหนึ่งชาติ ส่วนชาติหน้าไม่รู้ได้แล้ว ก็แล้วแต่คุณมีบาป ของปาราชิกหนักแค่ไหน จะมีวิบากอย่างไร เฉพาะชาตินี้ ผู้ที่ปาราชิกเป็นสมี จะหมดสิทธิ ที่จะได้รับมรรครับผล จะไม่ให้เรียนรู้ พุทธศาสนาไปตลอดชาติ เพราะสมีนั้น เท่ากับตาลยอดด้วน จึงเท่ากับ ตายแล้วจากพุทธศาสนา ไปหนึ่งชาติ ต้องปฏิบัติกับสมี ให้ถูกต้อง ถึงขนาด ถ้ามีการแสดง ธรรมเทศนา อยู่ ณ ที่ใด หากมีสมีเดินผ่านเข้ามา ในรัศมีที่ได้ยินเสียงเทศน์ ต้องให้ผู้เทศน์ หยุดเทศน์ทีเดียว แล้วไปบอกให้สมีออกไป พ้นจากรัศมีนั้นเสียก่อน จึงจะเทศน์ต่อได้

โทษปาราชิกนี้ ร้ายแรงหนักกว่าโทษพรหมทัณฑ์ ต้องพยายามทำความเข้าใจให้ดีๆ พรหมทัณฑ์ คือการไม่สอน ไม่ดูดำดูดี คุณจะชั่วจะเลวจะอะไร เหมือนกับไม่มีคุณ ในโลกในสังคมนี้ จะไม่บอกไม่สอน ตราบที่ยัง ไม่เลิกโทษพรหมทัณฑ์ เมื่อพ้นโทษพรหมทัณฑ์ ก็บอกก็สอนกันได้ใหม่ พรหมทัณฑ์มีการแก้ตัวได้ ในชาตินี้ แต่ปาราชิกเป็นบาป ที่มีโทษหนักกว่า พรหมทัณฑ์ ตัดทางคือตัดมรรค ไม่ให้มีทางเดินไปสู่ กุศล นิพพาน กันเด็ดขาด ไม่มีการแก้ตัวไปตลอดชาติ หากทำผิดขั้นปาราชิก ก็เท่ากับตายทั้งเป็น ไปจากพุทธศาสนา หนึ่งชาติ ก็ลองคิดดูเถิด โทษแค่พรหมทัณฑ์ ยังวางเฉยไม่สอนไม่ให้รับรู้ ปาราชิกนั้น บาปร้ายกว่าพรหมทัณฑ์ จะยังมาสอนมาให้ความรู้ ให้ตำแหน่ง เกี่ยวกับพุทธศาสนา กันอยู่ได้ยังไง

ทุกวันนี้ คนไม่กลัวเรื่องปาราชิก เพราะไม่มีบทลงโทษหนัก ตรงตามธรรมวินัย คนจึงไม่เข็ดขยาด น้ำหนักของศาสนา จึงไม่มีผล คนจึงทำลายศาสนาด้วยปาราชิก กันเยอะแยะ นี่ก็เป็นประเด็นหนึ่ง ที่ขออธิบายความผิดพลาด ในเรื่องพระธรรมวินัย อันเป็นเหตุให้พุทธศาสนา เสื่อมลง

ส่วนสังฆเภทนั้น เป็นบาประดับอนันตริยกรรม ที่หนักกว่าปาราชิก และต้องใช้หนี้กรรม อีกหลายชาติ ทั้งในชาตินี้ด้วย เพียงแต่มันเป็นนามธรรมมากกว่า ถ้าคนไม่กลัวเรื่องสังฆเภท สังคมศาสนา ก็จะอยู่ไม่รอด เพราะคนจะเกิดการย่ามใจด้วย อัตตามานะ โดยที่คิดว่าตัวเอง ชักจะเก่งแล้ว ดีแล้ว ก็แยกตัวออกไปตั้งก๊กใหม่ หรือใครมีความเห็นขัดแย้งกัน ก็แยกตัวออกไป หากเป็นอย่างนี้ มันจะเหลืออะไรล่ะ ถ้าต่างคนต่างก็ถือดี ไม่ระมัดระวังอะไรกันเลย ศาสนาก็จะไปไม่รอด เพราะฉะนั้น สังฆเภทจึงเป็นภัยต่อศาสนามาก เท่ากับการทำลาย พุทธศาสนาให้ระแหง หรือ แตกแยก แตกเสี่ยง ทำให้ศาสนา ไม่เป็นมวลเป็นหมู่ จนไม่เกี่ยวข้องกัน ถึงขั้นไม่มีทาง ที่จะประสานกันได้เลย

ถาม สังฆเภทต่างกับนานาสังวาสอย่างไรคะ?

ตอบ นานาสังวาส เป็นแค่การมีความคิดเห็นต่างกัน แต่ก็พยายามที่จะประสานกันอยู่ พยายาม ที่จะไม่แตกออกไป จากความเป็นพุทธด้วยกัน ยังมีจุดประสาน หรือมีรอยประสานเข้าหากัน พระพุทธเจ้าตรัสถึง นานาสังวาสไว้ว่า ๑. มีกรรม คือ การกระทำที่ต่างกัน เช่น มีพฤติกรรม หรือมีธรรมเนียมปฏิบัติ ที่ต่างกัน มีกิจกรรม มีพิธีกรรม ต่างกัน นานา แปลว่าต่าง สังวาส แปลว่าร่วมกันอยู่ จึงไม่ได้หมายความว่า แตกแยกกัน จนไม่มีทางมาร่วมกันได้ แต่ก็ต่างกัน ด้วยกรรมด้วยอุเทศ เช่น อธิบายเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา ต่างกันคนละอย่าง คนละเรื่องเลย โดยใครถูกใครผิดยังไม่รู้เลย อย่างนี้เป็นต้น แต่เมื่ออยู่กันไปแล้ว สักวันหนึ่งเห็นว่า ของตัวเองผิด ก็ปรับเปลี่ยนมายอมรับ เรียกว่าปรับเป็น สมานสังวาสกันได้ มาเข้าหมู่เดิมได้ นานาสังวาส จึงมีโอกาส และสามารถปรับเข้ามาสู่หมู่ สู่กลุ่มเดียวกัน มีการร่วมกันได้ ตามหลักพระธรรมวินัย

ถาม ในแง่ของฆราวาส ควรปฏิบัติต่อสงฆ์ ที่เป็นนานาสังวาส กันอย่างไรคะ?

ตอบ ฆราวาสก็ไปฟังธรรมทั้งสองฝ่ายนั่นแหละ เห็นว่าอันไหนดี เรียกว่าเป็นธรรมวาที ฝ่ายไหน บรรยายถูกต้อง ก็รับเอาไป ให้สิทธิส่วนตัวแก่ฆราวาส ใครมีภูมิปัญญา รับอันไหนได้ก็รับไป อย่าให้ฆราวาสแตกพวกอีก ให้มันเป็นแค่เรื่อง ความเห็นต่างของสงฆ์ ซึ่งมันเป็นธรรมชาติ บังคับกันไม่ได้

ส่วนสังฆเภทนั้น เป็นเรื่องที่แตกหัก ไม่มีทางรวมกันได้อีกเลย เป็นคนละประเภท คนละพวก คนละกลุ่ม คนละหมู่ ยึดถือศีล ถือวินัย กันคนละเรื่อง คนละ กฎเกณฑ์ ไม่ใช่วินัย ๒๒๗ เหมือนกัน อย่างนี้เป็นต้น หนักเข้าฝ่ายหนึ่ง อาจเป็น เทวนิยม อีกฝ่ายเป็น อเทวนิยมไปเลย

ถาม สังฆเภทถึงพร้อมด้วยองค์ประกอบใดบ้างคะ?

ตอบ สังฆเภทประกอบด้วยองค์ ๕ ได้แก่
๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้แสดงอธรรมว่าเป็นธรรม
๒. แสดงธรรมว่าเป็นอธรรม
๓. แสดงอวินัยว่าเป็นวินัย
๔. แสดงวินัยว่าเป็นอวินัย
๕. อำพรางความเห็นด้วยกรรม ด้วยอุเทศ

ถาม แล้วอย่างชาวอโศกนี่ ถือว่าทำสังฆเภทไหม?

ตอบ ไม่ ชาวอโศกเป็นแค่นานาสังวาส ถูกต้องตามธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ที่จริงจะเป็นสังฆเภท หรือเป็น นานาสังวาสจริงนั้น ขึ้นอยู่กับสัจธรรม หากพฤติกรรมจริง ทั้งกายกรรม วจีกรรม โดยเฉพาะ มโนกรรม คนผู้ใดมีเจตนา และกระทำถึงพร้อมด้วย องค์ธรรม ๕ ดังกล่าวแล้ว ผู้นั้นแหละ มีอนันตริยกรรม ตามสัจจะ ไม่มีใครเบี้ยวสัจจะได้ ใครแสดงอธรรมว่าเป็นธรรม แสดงธรรมว่าเป็นอธรรม ใครแสดงอวินัย ว่าเป็นวินัย แสดงวินัย ว่าเป็นอวินัย ก็อยู่ที่ใครถูกจริง ใครผิดจริง แม้แต่การอำพรางความเห็น ด้วยกรรม ด้วยอุเทศ ใครทำจริง คนนั้นก็มีโทษ เป็นสังฆเภทจริง

ถาม สังฆเภททำให้เกิดความเสียหายอย่างไรคะ?

ตอบ ฆราวาสก็งงซิ เพราะเขาจะรู้ได้อย่างไรว่า หมู่ไหนถูก ถ้ามีสงฆ์ แบ่งเป็น ๕ กลุ่ม มันต้องมีกลุ่ม ที่ถูกที่สุด อยู่กลุ่มเดียว ก็จะพาฆราวาสแตกไปเป็น ๕ กลุ่มด้วย ศาสนาก็แตกออกเป็น ๕ นิกาย ยิ่งแตกไปเป็น ๑๐ เป็น ๒๐ ก็ยิ่งพากันแตกแหลกเละใหญ่ ซึ่งเป็นการทำลายศาสนาโดยตรง เพราะฉะนั้น เราจะต้องรักษา ความมั่นคง ความแข็งแรง ของศาสนาไว้ อย่าให้แตกแยก ให้ได้นานที่สุด มากที่สุด

ถาม สังฆเภทเกิดจากสาเหตุอะไรคะ?

ตอบ เกิดจากความไม่รู้ เกิดจากความหลงตัวเอง แต่แม้คุณทำโดยไม่รู้ก็ตาม จะโดยเจตนา หรือ ไม่เจตนาก็ตาม เมื่อทำให้เกิดสังฆเภท คุณก็อนันตริยกรรมได้ทั้งนั้น

ถาม มีวิธีป้องกันอย่างไร?

ตอบ สอนเรื่องความจริง สอนเรื่องโทษเรื่องภัยให้ชัดเจนว่า บาปมันก็เป็นบาปจริง ถ้าเชื่อเรื่องบุญ เรื่องบาป เขาก็จะไม่พยายามละเมิด ไม่พยายามทำ ถ้าสอนเรื่องบาป เรื่องกรรมไม่ถึงขั้น สัมมาทิฏฐิ ไม่เข้าขั้นศรัทธาสัมปทาจริง คนก็ไม่กลัวบาป แม้จะเป็นบาป ขั้นอนันตริยกรรม เขาก็ไม่กลัว เขาก็กล้าทำสังฆเภทได้

ถาม มูลเหตุอะไรทำให้คนคิดทำสังฆเภทคะ?

ตอบ คนที่จะทำให้เกิดความแตกแยก เพราะหลงตน มันเป็นอัตตามานะ เป็นความถือดี ถือตัวที่มาก ใครที่ไม่ชอบความสามัคคี ชอบเห็นผู้อื่นทะเลาะกัน ตีกัน ชอบความแตกแยก ทุกวันนี้คนชอบดูมวย แล้วก็แตกแยก เป็นสองฝั่งสองฝ่าย แข่งกันแย่งกันไปเรื่อย จนกระทั่ง เห็นการตีกัน การรบราฆ่าฟันกัน เป็นเรื่องสนุก ชอบดูหนังทำร้าย ทำลายกัน นี่แหละ เป็นการสั่งสมจิต ที่หยาบเลวไปเรื่อยๆ ก็เป็นได้ เพราะฉะนั้น อย่าไปทำจิตให้รู้สึก ให้เห็นดีเห็นชอบ ควรทำให้จิตรู้สึก สังเวช รู้สึกปลง รู้สึกเห็นว่า ไม่น่ากระทำ ไม่น่ายินดี บางคนยินดี จนกระทั่งถึงกับ มันส์ในหัวใจ มันก็สั่งสมเข้าไปเรื่อยๆ เป็นสัจจะความจริง เป็นพลังงาน และสร้างกรรมหนัก ได้ในที่สุด

ความสามัคคี ความไม่ทำร้ายกัน เป็นความสงบสุข เป็นความอบอุ่น เป็นความประเสริฐ ในโลกจริงๆ

บทสรุป กว่าที่คนๆหนึ่งจะเรียนรู้ เติบโตเป็นคนดี ไม่ใช่เรื่องง่าย และความผิดพลาด มีส่วนหล่อหลอม ที่สำคัญยิ่ง เพราะแต่ละบทเรียน แห่งความพลั้งพลาด ซ้ำแล้วซ้ำเล่า สอนเราให้จดจำ ทำอะไรไม่คิด หรือว่าจะมีวันนี้ อย่าทำผิดซ้ำอีก อย่าแม้แต่ทำเพิกเฉย ต่อคำติงเตือน นั่นคือ เรากำลังประมาท และความประมาท คือหนทางสู่ ความตาย.

 

 

สิบห้านาทีกับพ่อท่าน (สารอโศก อันดับ ๒๓๕ หน้า ๑๙ - ๒๘ เดือน เมษายน ๒๕๔๔)