กว่าจะถึงอรหันต์ โดย...ณวมพุทธ
พระปฏาจาราเถรี

หนังสือพิมพ์สารอโศก อันดับที่ 235
เดือน เมษายน 2544
หน้า 1/1

 

ทั้งพ่อแม่ พี่ชาย ล้วนตายจาก
ลูกโดนพราก ผัวสิ้น ใจสลาย
ทุกข์จนบ้า ผ้าไม่นุ่ง ไร้ความอาย
ฟื้นคืนคลาย หายเพราะ พุทธองค์

พระปฏาจาราเถรี

ในอดีตชาติหนึ่งของพระปฏาจาราเถรนั้น เคยเกิดในตระกูลเศรษฐี ที่เจริญรุ่งเรือง ด้วยทรัพย์สิน เงินทองมากมาย ภายในเมืองหงสวดี จึงเป็นผู้เพียบพร้อมไปด้วย ความสุขสบายอย่างมาก

คราวนั้นเป็นยุคสมัยของพระพุทธเจ้า พระนามว่า ปทุมุตระ ผู้ทรงรู้จบธรรมทั้งปวง ได้เสด็จอุบัติ ขึ้นแล้ว

มีอยู่วันหนึ่ง นางได้ไปเข้าเฝ้าพระปทุมุตรพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมเทศนาจากพระองค์แล้ว ก็บังเกิด ความเลื่อมใสยิ่งนัก จึงประกาศ ถือเอาพระพุทธองค์ เป็นสรณะ (ที่พึ่งที่ระลึกถึง)

วันนั้นเอง พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ ภิกษุณีรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้มีความละอายต่อบาป (หิริ) เป็นเยี่ยม เป็นผู้ตั้งมั่นคงที่แล้ว ฉลาดคล่องแคล่ว ในกิจที่ควร และไม่ควร ว่าเป็นผู้เลิศยอด ในการทรงวินัย (เคร่งครัด ในข้อห้าม ข้อบังคับ) ยิ่งกว่า ภิกษุณีทั้งหลาย

ด้วยการพบเห็นเช่นนั้น นางบังเกิดจิตยินดี ปรารถนาตำแหน่งอย่างนั้นบ้าง จึงมุ่งสั่งสม บุญบารมี เอาไว้ให้มาก โดยนิมนต์ พระพุทธเจ้า พร้อมด้วยหมู่สงฆ์ ถวายภัตตาหาร ให้ฉันตลอด ๗ วัน

และในวันสุดท้าย เมื่อนางถวายวัตถุทาน อันได้แก่บาตรและจีวรแล้ว ได้ซบศีรษะลงที่พื้น ต่อหน้าพระพักตร์ ของพระพุทธองค์ แล้วกราบทูลว่า

"ข้าแต่พระพุทธองค์ผู้เป็นนายก(ผู้นำ)ของโลก พระองค์ทรงสรรเสริญ ภิกษุณีใด ไว้ในตำแหน่ง ผู้ทรงวินัยอันประเสริฐ ถ้าตำแหน่งนั้น จะสำเร็จแก่หม่อมฉันบ้าง หม่อมฉันตั้งใจมั่น (อธิษฐาน) จะเป็นเช่น ภิกษุณีนั้น "

พระปทุมุตรพุทธเจ้าได้ตรัสกับนางว่า "นางผู้เจริญ อย่าหวั่นใจเลย จงเบาใจเถิด นางจะได้ตำแหน่งนั้น ในอนาคต นับจากนี้ไป อีกแสนกัป (หนึ่งกัป = โลกวอดวาย หนึ่งครั้ง) จะมีพระศาสดา พระนามว่า โคดม เสด็จอุบัติขึ้นในโลก นางจะได้เป็นภิกษุณี ธรรมทายาท ของพระศาสดา พระองค์นั้น โดยมีนามว่า ปฏาจารา "

ได้ฟังเช่นนั้น นางยิ่งเกิดศรัทธา มีใจเบิกบานยินดีอย่างยิ่ง ตั้งจิตประกอบด้วย เมตตาธรรม บำรุงแด่พระพุทธเจ้า และหมู่สงฆ์ จนตลอดชีวิต

ด้วยกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้แล้ว นางจึงเวียนว่ายตายเกิดเป็นเทวดา (ผู้มีจิตใจสูง) อยู่ในสวรรค์ (สภาวะสุข ของผู้มีจิตใจสูง) ชั้นดาวดึงส์ (สวรรค์ชั้นที่ ๒ จากทั้งหมด ๖ ชั้น)

กระทั่งได้เกิดเป็นมนุษย์ (ผู้มีใจประเสริฐ) ในยุคสมัยของพระพุทธเจ้า พระนามว่า กัสสปะ ผู้มีสาวกมากมาย ประเสริฐกว่า พวกบัณฑิตทั้งหลาย

คราวนั้นนางได้นามว่า ภิกษุณี เป็นพระธิดาองค์ที่ ๓ ของพระเจ้ากิกี ผู้เป็นใหญ่ ในแคว้นกาสี ครองราชย์ ในพระนครพาราณสี อันอุดมสมบูรณ์ และพระองค์ ทรงเป็นอุปัฏฐาก (ผู้บำรุงดูแล) ของพระศาสดาด้วย

พระนางภิกษุณี จึงมีโอกาสได้ฟังธรรม ของพระพุทธองค์เสมอๆ กระทั่งเกิดจิตยินดี พอใจจะบรรพชา แต่พระราชบิดา มิได้ทรงอนุญาต พระนางจึงถือ ประพฤติพรหมจรรย์ ตลอดชีวิต เพลิดเพลินอยู่ด้วย การอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย

ก็ด้วยกรรมดีและการตั้งจิตไว้มั่น นางได้เวียนว่าย ตายเกิดในสวรรค์ จนถึงที่สุด ของชาติสุดท้าย ของนาง เป็นยุคสมัยของ พระพุทธเจ้า องค์สมณโคดม นางได้เกิด อยู่ใน ตระกูลเศรษฐี ที่มั่งคั่ง มีทรัพย์มหาศาลในพระนครสาวัตถี ใช้ชีวิต อย่างสุขสบาย ได้ตามอำเภอใจ

ครั้นเติบโตเป็นสาว นางปฏาจารา ได้พบปะรักใคร่ หนุ่มชนบท ที่ยากจนคนหนึ่ง ตกอยู่ในอำนาจ ของความรัก (กามราคะ) กลุ้มรุม จึงได้แอบหนี ไปอยู่กินกับเขา ในชนบทที่ห่างไกล

ทั้งสองช่วยกัน ทำมาหากิน นางปฏาจารา ต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างเหนื่อยยาก เพราะชีวิต ไม่เคยลำบาก มาก่อน จนกระทั่ง นางตั้งท้อง ครั้นเมื่อท้องแก่ นางเกิดความหวาดหวั่น ในการคลอดลูก ปรารถนาจะไปหา มารดาของตน ได้ครุ่นคิดในใจว่า "เราน่าจะกลับไป เยี่ยมเยียน บิดามารดาบ้าง" นางจึงเอ่ยปาก ขอให้สามีช่วยพาไป แต่สามีของนาง ก็มักจะพูด ผัดเพี้ยนเสมอว่า "เดี๋ยววันนี้จะไป " "พรุ่งนี้ค่อยไปเถอะ"

ทำให้นางคิดว่า สามีไม่ยอมพาไปเป็นแน่ ดังนั้น เมื่อสามีออกไปนอกบ้านแล้ว นางจึงพกสัมภาระ ที่จำเป็นติดตัว บอกคนคุ้นเคย ข้างบ้านไว้ ว่าช่วยบอกสามี ของนางด้วย นางจะกลับไปเยี่ยม บิดามารดา แล้วออกเดินทางไปทันที ฝ่ายสามี พอกลับมาบ้าน ไม่พบภรรยา ก็ตกใจ รีบไถ่ถามผู้คน จนทราบเรื่อง จึงได้สติ ตำหนิตัวเองว่า "เพราะเราผิดเองโดยแท้" จึงออกติดตามไปโดยเร็ว ไปทันกัน ในระหว่างทาง เป็นเวลาที่นางปฏาจารา ซึ่งท้องแก่ เกิดเจ็บท้องขึ้นมาพอดี จึงได้คลอดลูก ณ ที่นั้นเอง

เมื่อคลอดลูกแล้ว นางก็หมดความขวนขวายที่จะไปเยี่ยมบิดามารดา สามีจึงพานางกับลูก เดินทางกลับ ไปยังบ้านของตน

อยู่ต่อมา จน กระทั่ง นางตั้งท้องลูกคนที่สอง เมื่อท้องแก่แล้ว ก็ปรารถนา ที่จะไปคลอดลูก ยังบ้านของ บิดามารดาอีก คราวนี้ นางมิได้บอกสามีเลย แต่พอสามีของนาง เข้าไปป่า นางจึงฝาก บอกเพื่อนบ้านไว้ แล้วพาลูกชายคนแรก ออกจากบ้าน เดินทางไปยัง พระนครสาวัตถี เพียงสองคน แม่ลูกเท่านั้น

กว่าสามีของนางจะรับรู้ข่าว กว่าจะติดตาม ไปทัน ในระหว่างทาง ก็เป็นเวลาเดียวกับ เมฆฝน หมู่ใหญ่ ดำครึ้มเต็มท้องฟ้า แล้วห่าฝน ก็ตกลงมา ไม่ขาดสาย สายฟ้าก็แลบ แปลบปลาบ ไปรอบๆบริเวณ ตามด้วยเสียงฟ้าคำราม ดังสนั่นหวั่นไหว

ขณะนั้นเอง ลมกรรมชวาต (ลมแห่งเวลาคลอดลูก) ได้ปั่นป่วนบังเกิดแก่นางปฏาจารา ทำให้นางเจ็บปวดท้อง สุดที่จะทนได้ รีบร้องบอกกับสามีว่า "พี่จ๋า ช่วยทำที่กำบังฝน ให้ฉันหน่อยเถิด ฉันกำลังจะคลอดลูก ของเราแล้ว" สามีของนางจึงรีบหาดูที่ทาง ครั้นพบพุ่มไม้แห่งหนึ่ง เหมาะเป็นที่ กำบังฝนได้บ้าง จึงตรงเข้าไป จัดเตรียมพุ่มไม้นั้น แต่ทันใด... ก็ปรากฏงูพิษร้ายตัวหนึ่ง ซึ่งหลบอยู่ในที่นั้น ฉกกัดเขาในทันที เขาล้มลง นอนตาย อยู่ที่ตรงนั้นเอง

ฝ่ายนางปฏาจารา ซึ่งกำลังทุกข์หนัก รอคอยสามีหาที่กำบังให้ ในที่สุด ก็คลอดลูกน้อยออกมา แล้วโอบลูกน้อย ที่ร้องไห้จ้าไว้แนบอก และอาศัยร่างของตน เป็นที่กำบังฝน ให้แก่ลูกอีกคนด้วย นางพยายามปกป้อง คุ้มครองลูกทั้งสอง ทนลมทนฝน อยู่ตลอดทั้งคืน

เช้ารุ่งขึ้น......ฟ้าสว่างแล้ว ฝนหยุดตก นางกล่าวกับลูกคนโตว่า "ลูกแม่ พ่อของเจ้า เดินไปทางนั้น เราตามไปหา พ่อเจ้าด้วยกัน" นางไปตามทิศทางนั้น ครั้นได้พบสามี นอนตาย อยู่ที่พุ่มไม้ จึงร้องไห้เสียใจ คร่ำครวญว่า "เพราะฉันทีเดียว ทำให้พี่ต้องตาย "

มื่อหมดที่พึ่ง เสมือนเป็นคนกำพร้า จึงหวังที่จะเดินทางไปหา บิดามารดา นางจูงลูกคนโต และอุ้มลูกคนเล็ก เดินไปจนถึง แม่น้ำน้อยแห่งหนึ่ง ซึ่งน้ำเชี่ยว ลึกประมาณเอวของนาง จึงตัดสินใจ พาเอาลูกน้อย ข้ามไปฝั่งโน้นก่อน ให้ลูกคนโต รออยู่ฝั่งนี้ พอไปถึงฝั่งโน้น นางให้ลูกน้อยกินนม แล้ววางลูกไว้ ที่ริมฝั่ง ตัวเองฝ่ากระแสน้ำเชี่ยว หมายกลับมา รับลูกคนโต

ขณะที่นางอยู่กลางแม่น้ำนั้นเอง มีเหยี่ยวใหญ่ตัวหนึ่ง บินหากินอยู่แถวนั้น พอเห็นเด็กอ่อน นอนอยู่ริมฝั่ง เป็นเสมือน ชิ้นเนื้ออันโอชะ มันจึงโผบินลง โฉบเหยื่อทันที นางปฏาจารา เหลียวมอง เห็นเช่นนั้น ด้วยความตกใจ และไม่รู้จะช่วยลูกน้อย ได้อย่างไร นางจึงร้องตะโกนไล่เหยี่ยว ด้วยเสียงดัง สุดชีวิตของนาง พร้อมทั้งหันกลับ เดินลุยน้ำกลับไป และชูมือขึ้น กวัดแกว่งไล่เหยี่ยว ปากก็ส่งเสียงร้อง ตลอดเวลา

ลูกคนโตที่คอยอยู่ เห็นแม่ยกมือส่งเสียงดัง แล้วหันกลับไปฝั่งโน้น ก็เข้าใจผิดคิดว่า "แม่คงเรียก ให้ข้ามน้ำตามแม่ไป" จึงก้าวลงแม่น้ำตามไปทันที ตอนนั้นเอง เหยี่ยวก็ใช้กรงเล็บ อันแหลมคม ขยุ้มตัวลูกน้อย จนร้องไห้จ้า แล้วเอาบินหนี ไปในอากาศ โดยที่นางไปยังไม่ถึง ฝั่งโน้นเลย ทำให้นางเศร้าโศก เสียใจใหญ่ ครั้นได้สติ คิดถึงลูกคนโตขึ้นมาได้ รีบหันกลับไปมองดู ก็พบเห็นว่า ลูกชายคนโต กำลังถูกกระแสน้ำเชี่ยว ภายหลังฝนตกหนัก พัดพาจมหายไป กับสายน้ำแล้ว

สุดแสนเศร้าใจนัก นางหมดอาลัยตายอยากในชีวิต เหลือสายใยชีวิต เพียงสายเดียว คือ หวังอาศัย บิดามารดา เป็นที่ปลอบใจเท่านั้น จึงเดินทางต่อไป ยังพระนครสาวัตถี

พอไปถึง... ก็ได้รับข่าวร้ายว่า "ทั้งเศรษฐีกับภรรยา และบุตรชายของเศรษฐี ทั้งสามคน ประสบอุบัติเหตุ เพราะคืนที่ฝนตกหนัก มีพายุฝนรุนแรง พัดเรือนหลังหนึ่ง พังล้มลง พอดีทับถูกคนทั้ง ๓ ถึงแก่ความตาย ได้ถูกนำไปเผา ที่เชิงตะกอนเดียวกัน เสร็จเรียบร้อยแล้ว"

นางปฏาจาราแทบล้มทั้งยืน ถึงกับใจแหลกสลาย อัดแน่นเปี่ยมล้น ด้วยความเศร้าโศก มหาศาล ในใจมีแต่ครุ่นคิดว่า "ลูกสองคน ของเราตายแล้ว ผัวของเราก็ตาย พ่อแม่พี่ชาย ของเราก็ตาย ทุกคนตายกันหมดสิ้น แล้วเราเล่า ทำไมยังไม่ตาย"

นางเริ่มสับสนเสียสติ ด้วยความเสียใจสุดขีดนั้นเอง ทำให้ไม่ค่อยได้กินได้นอน จนร่างกาย ซูบผอม ตัวเหลืองซีด ตรอมใจ ไร้ที่พึ่งพิง เป็นคนบ้า ผ้าไม่นุ่ง เที่ยวเดินไป ทั่วพระนคร บางคนพบนางแล้ว ก็ขับไล่ บางคนก็โยนขยะใส่ บางคนก็ขว้าง ด้วยดิน หิน ท่อนไม้

วันหนึ่ง นางปฏาจารา ได้เดินเข้ามายังพระวิหาร ที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงธรรมอยู่ ผู้คนจึงพากันกล่าวว่า "อย่าให้หญิงบ้า เข้ามาที่นี่ "

แต่พระศาสดา ตรัสห้ามว่า "อย่าห้ามนางเลย ให้นางเข้ามาเถิด"

เมื่อนางเข้ามา ยืนอยู่ในที่ไม่ไกลนัก พระศาสดาทรงเรียกสติของนาง ให้กลับคืนทันที

"เจ้าจงมีสติเถิด อย่าโศกเศร้าถึงบุตร สามี บิดามารดา พี่ชายที่ตายไปแล้วเลย จงเบาใจ จงแสวงหา ตัวของตัวเองเถิด เจ้าทุกข์เดือดร้อนไป ก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะไม่ว่าเครือญาติ หรือใครๆ ก็ไม่อาจห้ามกั้น ความตายได้เลยว่า อย่าเกิดขึ้น กับผู้ที่ถึงที่ตาย

ดูก่อนปฏาจารา น้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ยังมีปริมาณน้อย น้ำตาจากความเศร้าโศก ของคนที่ถูกทุกข์ กระทบแล้วนั้น มีปริมาณมากกว่า น้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ เสียอีก ฉะนั้น เหตุใด เจ้าจึงยังประมาท อยู่เล่า"

พระศาสดาตรัสถึง ความเวียนว่ายตายเกิดอยู่กับทุกข์ ที่ควรจะเบื่อหน่าย หาที่สุดจบให้ได้ ทำให้ความโศกของนาง ทุเลาลง ได้สติขึ้นมาทันที พระศาสดา เห็นเป็นโอกาสดีแล้ว จึงทรงแสดงธรรมอีกว่า

"สัจจะ(ความจริง) ธรรมะ(ความดี) อหิงสา(การไม่เบียดเบียนทำร้าย) สัญญมะ (การสำรวมในศีล) ทมะ (การฝึกข่มกิเลสในใจ) มีอยู่ในผู้ใด พระอริยะทั้งหลาย ย่อมคบผู้นั้น นั่นเป็น อมตธรรม (ธรรมที่ไม่ตาย คือพระนิพพาน) ในโลก บัณฑิตรู้ใจความข้อนี้แล้ว ย่อมสำรวมในศีล รีบเร่งชำระทาง ไปพระนิพพาน (ดับกิเลส สิ้นเกลี้ยง) ทีเดียว"

นางตั้งจิตพิจารณาไปตามธรรม ของพระศาสดา พอได้ฟังพระพุทธพจน์นั้นจบ ก็ได้บรรลุธรรม ตั้งอยู่ในฐานะ ของพระโสดาบันทันที จึงทูลขอบรรพชา กับพระศาสดา

ครั้นบวชแล้วไม่นาน แม้จะพยายามบำเพ็ญเพียรอย่างหนัก ก็ยังไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ ทำให้ปฏาจาราภิกษุณี คิดขึ้นว่า "ชาวนาทั้งหลาย ไถนาด้วยไถ หว่านพืชลง บนผืนดิน หาทรัพย์ เลี้ยงบุตรภรรยาได้ ก็แล้วเรา เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ทำตามคำสั่งสอน ของพระศาสดา ไม่เกียจคร้าน ไม่มีใจฟุ้งซ่าน เหตุใด จึงยังไม่อาจบรรลุ พระนิพพานได้"

คืนหนึ่ง ขณะที่กำลังตักน้ำมาล้างเท้า ปฏาจาราภิกษุณี เห็นน้ำล้างเท้า ไหลจากที่สูงลง สู่ที่ต่ำ คือจากฝ่าเท้า ลงไปสู่พื้นดิน แล้วซึมหายไป แม้จะตักมาล้าง เป็นครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ ก็ตาม น้ำก็ยังคงซึมหายไป เช่นเดิม จึงได้ยึดน้ำนั่นแหละ เป็นนิมิต (เหตุ) ทำจิตให้เป็นสมาธิ (ตั้งมั่น) กำหนดวัยทั้ง ๓ เปรียบเสมือน น้ำที่ล้างเท้า ทั้ง ๓ ครั้งนั้น คือสัตว์โลกทั้งปวง แม้ปฐมวัย (อายุ ๑-๓๓ ปี) ก็มีตาย แม้มัชฌิมวัย (อายุ ๓๔-๖๗ ปี) ก็มีตาย แม้ปัจฉิมวัย (อายุ ๖๘ ปีขึ้นไป) ก็ต้องตาย สัตว์โลก ล้วนมีความตาย เป็นของธรรมดา

พิจารณาธรรมเช่นนั้นแล้ว ก็เกิดปัญญา จึงได้ถือตะเกียง เข้าไปยังวิหาร ตรวจดูที่นอน แล้วขึ้นบนเตียง จับเข็มหมุนไส้ตะเกียงลง พอไฟดับ ความหลุดพ้นแห่งใจ ได้มีแล้ว ได้บรรลุ อรหัตผลแล้ว

พระปฏาจาราเถรีเ ป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์ และทิพยโสต (หูทิพย์ คือฟังเสียงกิเลสออก) รู้ในเจโตปริยญาณ (รู้ใจที่เป็นกิเลสอื่นๆได้) รู้ปุพเพนิวาสานุสติญาณ (ระลึกชาติได้) ชำระทิพพจักขุ ( ตาทิพย์ คือ มองทะลุ กิเลสได้) ให้บริสุทธิ์ ทำอาสวะ (กิเลส) ทั้งปวงสิ้นไปแล้ว เป็นผู้บริสุทธิ์ หมดมลทินด้วยดี

ต่อมา พระปฏาจาราเถรี ได้หมั่นเพียรศึกษาวินัยทั้งปวง ที่พระศาสดา ทรงบัญญัติไว้ สามารถทรงจำ และกล่าวอ้างวินัย ได้กว้างขวาง ได้อย่างชัดเจน ตรงตามจริง กระทั่งพระศาสดา ทรงพอพระทัย ในคุณสมบัตินั้น จึงทรงแต่งตั้งไว้ ในตำแหน่ง เอตทัคคะ (ผู้ยอดเยี่ยมในธรรม ด้านใดด้านหนึ่ง) ว่า

"ปฏาจาราภิกษุณีผู้เดียวนี้ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลาย ในด้านความเป็นผู้ทรงวินัย"

ณวมพุทธ จันทร์ ๗ พ.ค. ๒๕๔๔ พระไตรปิฎกเล่ม ๒๖ ข้อ ๔๔๘ พระไตรปิฎกเล่ม ๓๓ ข้อ ๑๖๐ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๔ หน้า ๑๘๓)

 

กว่าจะถึงอรหันต์ (สารอโศก อันดับ ๒๓๕ หน้า ๘๓ - ๘๘ เดือน เมษายน ๒๕๔๔)