อริยสัจสี่ พิสดาร

หนังสือพิมพ์สารอโศก อันดับที่ 235
เดือน เมษายน 2544
หน้า 1/1

( ตอน ๒๔ : ภาค ๓ )

อริยสัจ ๔ พิสดาร นี้ บรรยายแจกแจงโดย สมณะโพธิรักษ์ ที่ แดนอโศก เมื่อวันที่ ๒-๕ สิงหาคม ๒๕๑๕ ได้อธิบายความจริงแท้อันประเสริฐ ๔ ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อย่างละเอียดลึกซึ้ง ซึ่งพิสดาร แตกต่างจากเหล่าอาจารย์ และนักปราชญ์ทั้งหลายเคยบรรยายไว้
(ต่อจากฉบับที่แล้ว)

นี้เป็นทางสุด นี้เป็นทางดี จิตของคุณจะตั้งมั่นอย่างนี้ จะตั้งมั่นมีความเห็น อย่างนี้ คุณไปตรวจตนเอง อย่างที่ผมว่านี่แหละ คุณฟังไป ฟังไป รับรู้แล้ว เป็นโสดาบันแล้ว ก็เอาไปดู เทียบเคียงกับความโลภ ที่เกิดในทางนี้ มันจะโลภ หรือมันจะโกรธ ขึ้นมาอีกเท่าไร ไปลดความโลภ ความโกรธ ของสกทาคามี นั้น เพราะเหตุ คุณยังติดโลกเข้าขั้นไหน โลกอบาย หมดแล้วก็รู้ ยังไม่หมด ก็ทำกันต่อ

ถ้าโลกอบาย หมดแล้ว โลกกาม หมดหรือยัง หมดแล้ว ก็ไม่ต้อง ไม่หมด ก็ทำมันต่อไป โลกธรรม ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หมดหรือยัง หมดแล้วก็แล้ว ก็ไม่ต้องทำ ถ้ายังไม่หมด ก็ทำต่อ อันไหนที่เป็น สักกายะ อันไหนที่มันยังมาก ยังแรงยังจัดจ้าน ไม่ว่าโลกอบาย ไม่ว่าโลกกาม ไม่ว่าโลกธรรม ๘ หรือไม่ว่า โลกแห่งอาตมัน มีมานะทิฐิ หรือไปติด ความสวยมากเกินไป อันไหนจัดจ้าน อันนั้นเป็น สักกายะทั้งสิ้น จงเข้าใจสักกายะ ให้ชัดเจน อย่าเข้าใจว่าสักกายะ หมายเอาแต่รูปร่าง มีเนื้อมีหนัง มังสาเฉยๆ แค่นั้นมันไม่พอ มันเลยไม่ไปตัดกิเลส กันสักทีหนึ่ง กิเลสมันไม่ได้เกี่ยวกับ เนื้อหนังอะไร เกินไปนักหรอก จะมานั่งเพ่งอสุภะ ร่างกายเนื้อเน่า เนื้อเปื่อยๆ มากเกินไป ก็เลยแคบ ไม่รู้กิเลสกว้างขวาง เพราะฉะนั้น เราเข้าใจสักกายะ ให้ชัดเจน อธิบายไปแล้ว ก็ไปฟังสักกายะ ให้ดูดีๆ อีกทีหนึ่ง

เพราะฉะนั้น แม้ที่สุด เรายังยึดอาตมัน เป็นสักกายะ ก็ให้รู้สักกายะ ของพระอนาคามี ถ้าเราไม่ติด อบาย ไม่ติดลาภ ยศ สรรเสริญ ไม่ติดรูป รส กลิ่น เสียงแล้ว ไม่ติดสัมผัสนอกแล้ว เหลือแต่ตัวจิตเอง เป็นสักกายะ เป็นอาตมันใหญ่ มีมานะ แรงจัดจ้าน หรือติดสงบ แรงจัดจ้าน ใหญ่ชัด ใครมารบกวน ความสงบก็ไม่ได้ ไม่ยอมสลัดคืน ไม่มีปฏินิสสัคคานุปัสสี ก็พยายามถ่ายถอน สักกายะทุกส่วน นี่ขั้นโสดาบันนะ นี่โสดาบันของอนาคามี ให้รู้สักกายะของเรา ตรวจตราว่า มีอะไร เหลือเศษ ที่ยังจัดจ้านอยู่

แล้วละสักกายะนั้นลง ละลงได้ จนพ้นสักกายทิฐิ จนเหลือน้อย เป็นอัตตานุทิฐิ เห็นอยู่ รู้อยู่ในอัตตา อันเล็กนั้น อัตตานุทิฐิ หรือเรียกว่า อายตนะก็ตาม คือตัวนี้ ตัวเล็กตัวน้อย ตัวนิดหน่อยนี่ แต่อันนี้ ไม่มีสักกายะแล้ว พ้นสักกายะ ลดออกมาได้ จนกระทั่ง เหลือตัวเล็ก ตัวน้อย ดับเศษ น้อยนิดอีก จนพ้นอัตตานุทิฐิได้

แม้มีทิฐินี้ มีความเห็นมีความเข้าใจอยู่เดี๋ยวนี้ เป็นทิฏฐธรรมสุขวิหาร มีสันตวิหารอยู่ อาศัยอิงแอบอยู่ มีอรูปฌานซ้อนอยู่ ในรูปฌาน สุดท้าย วิหาระของเรา จึงกลายเป็น ผู้มีพร้อมพรั่งไปด้วย ทิฏฐิธรรมสุขวิหาร มีพร้อมพรั่งไปด้วย สันตวิหาร มีปัจจุบันนั้น ทีเดียว ที่เห็นอยู่ รู้อยู่เป็นสุข

สุขตัวนี้ แปลอย่างสุดท้าย ก็แปลว่า ว่างนั้นแหละดี เห็นตัวว่าง และทำตัวความว่าง ให้แก่ตน ถ้าไม่ได้สุขอย่างนี้ แม้สุข ก็เป็นปีติบ้างเล็กน้อย ก็ตัดหางปล่อย ดังที่ผม อธิบายไว้แล้ว ให้ได้มีปีติใจบ้าง ก็ยังดี

เป็นทิฏฐธรรมสุขวิหารอย่างนั้น มีสันตะอย่างนั้น มีวิญญาณอย่างนั้น หรือมี อากาสานัญจายตนะ หรือ มีวิญญาณัญจายตนะ หรือ มีอากิญจัญญายตนะ ที่เป็นอากิญจัญ ที่ไม่มีกิเลส เนวสัญญานาสัญญา ไม่มี เพราะสำคัญมั่นหมาย ได้ถูกต้อง ชัดเจนไม่เบลอ ไม่พร่า ไม่มัว ทำได้อย่างนั้นอยู่ ก็เป็นผู้เกลี้ยงเกลา บริสุทธิ์หมด จริงๆ ทำให้ได้อย่างนี้ เป็นวิหารธรรม ก็มีทิฐิ อันถูกต้องหมด ฉะนั้น คุณไปตรวจตน มีอะไรเหลือทำเอา

แม้คุณจะดำริ แม้แต่คุณจะมาให้มันตรง เท่าที่คุณเห็น จะกระทำ การงานอะไร ก็ให้มันตรง เท่าที่คุณเห็น คุณมีทิฐิ มีชีวิตอยู่ ด้วยความพยายามอันดี มีสติอันดี จิตก็จะได้ตั้งลง เมื่อตั้งใจ อย่างนี้อยู่ การตั้งลงแห่งจิต หยั่งลงแห่งจิต ก็จะเป็นสมาธิ หรืออธิจิตที่ยิ่งๆ เป็นที่สุดแห่งที่สุด สมบูรณ์ที่สุด เป็นผู้ที่มีจิต อันแน่เยี่ยม บริสุทธิ์ และเป็นความรู้ อันบริบูรณ์ที่สุดได้

ภิกษุทั้งหลาย ข้อใดที่เรากล่าวว่า ธรรมที่เราแสดงแล้ว ไม่มีใครข่มขี่ได้ เป็นธรรม ไม่มีมัวหมอง ไม่มีทางถูกตำหนิ ถูกคัดค้าน จากสมณพราหมณ์ ผู้รู้ทั้งหลาย ดังนี้นั้น ข้อความนั้น เราอาศัย ข้อความเหล่านี้แล กล่าวแล้ว

พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่า นี้แหละข้อความทั้งหมด อริยสัจ ๔ ทั้งหลาย นี่แหละ ท่านตรัสแล้ว จะไม่มีใครข่มขี่ หรือเถียงได้เลย สำหรับผู้รู้ จะไม่มีเถียง ผู้ไม่รู้ จะเถียงคอเป็นเอ็น และเราจะรู้ว่า เราจะหยุดเถียง กับผู้ไม่รู้ แต่ผู้รู้ด้วยกันแล้ว ฟังแล้ว จะเข้าใจดี จะเถียงไม่ออกเลย เป็นที่สุด จริงแสนจริง ด้วยอริยสัจอันดังนี้ ผมเห็นอยู่ แล้วผมก็กล่าวตาม แล้วผมก็ยืนยันตาม แล้วผมก็สามารถกล่าวได้ คุณเถียงไม่ออกเท่าใด ผมก็จะพยายาม ให้คุณเห็นได้ คุณรู้แล้ว คุณจะเถียงไม่ออก ด้วยนี่แหละ ข่มขี่ศัตรูอย่างหนึ่ง เอาละ วันนี้พอแค่นี้

จบบริบูรณ์

 

อริยสัจสี่ พิสดาร (สารอโศก อันดับ ๒๓๕ หน้า ๘๙ - ๙๑ เดือน เมษายน ๒๕๔๔)