๑๕ นาทีกับพ่อท่าน
อุโบสถศีล

หนังสือ สารอโศก
อันดับที่ 238
ทีม สมอ.


คนในสังคมต่างถูกบังคับ ให้อยู่ร่วมกันภายใต้กฎหมาย เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ของบ้านเมือง ผู้ใดจะละเมิดมิได้ โดยมีบทลงโทษให้เกิดความหลาบจำ

ศีล คือ ข้อปฏิบัติเพื่อขัดเกลาตัวเองให้เป็นคนดี คนในสังคมไม่เคยถูกบังคับให้ถือศีล เนื่องเพราะจิตสำนึก ในการถือศีล เป็นเรื่องเฉพาะตัว ตราบที่ยังไม่รู้คุณค่า ตราบที่ยัง ไม่เห็นความสำคัญ

ความเพิกเฉยต่อศีลย่อมคงอยู่ตราบนั้น แต่สัจจะคือความจริงที่เลี่ยงไม่ได้ เมื่อไร ที่ผู้ใดละเมิดต่อศีล แม้รู้หรือไม่รู้ก็ตาม กฎแห่งกรรม ย่อมทำหน้าที่ อย่างเที่ยงตรง

งานอบรมอุโบสถศีลหรือการรักษาอุโบสถที่เราจัดขึ้น เพื่อพัฒนามนุษยชาติให้เจริญ คำว่าอุโบสถศีล มีความหมายอย่างไรคะ?

หมายถึงผู้ที่ปฏิบัติศีล ๘ ซึ่งไม่ใช่ศีลสามัญทั่วไป แต่เป็นศีล ๘สูงกว่าศีลสามัญหรือ สูงกว่าศีล ๕ซึ่งเป็นศีลสามัญ ของชาวพุทธทั่วไป ทุกคนพึงมีกัน แต่ชาวพุทธทุกวันนี้ ไม่ได้รู้อย่างนี้ และไม่ได้มีศีล ๕เป็นสามัญกันแล้ว ชาวพุทธทุกวันนี้ ต่ำกว่าสามัญ ของความเป็นชาวพุทธ คือเป็นคนละเมิดศีล ๕กันอยู่เป็นส่วนมาก คนที่ยังไม่มีศีล ๕ อันเป็นศีลพื้นฐาน ชื่อว่า ยังไม่ใช่คนมีคุณธรรมเป็นพุทธ ยังต่ำกว่าสามัญ มาตรฐานของความเป็นคน ที่ชื่อว่า พุทธบุตร เพราะยังไม่มีคุณธรรม แม้แค่ขั้นต่ำสุด เป็นสามัญ คนที่เป็นพุทธบุตร หรือมีคุณธรรม ความเป็นพุทธ ต้องมีศีล ๕ เป็นเครื่องวัด ถ้ามีแค่สามารถ ไม่ละเมิดศีล ๕ ทางกาย ทางวาจาได้ แต่ใจยังต้องฝืน ต้องบังคับตนเองอยู่ ไม่ให้ละเมิด ก็ยังไม่ได้เกิดเป็นพุทธ ที่นับว่าถึงขั้นบรรลุธรรม แต่ก็ยังดี ที่พอคุมพฤติกรรมกายกรรม วจีกรรมได้อย่างรู้ๆ เห็นๆ เป็นคนมีมาตรฐาน ขั้นสามัญภายนอก แต่ถ้าถึงขั้นบรรลุธรรม"ใจ" จะต้องรู้ว่า กิเลสที่จะละเมิด คืออะไร ในข้อไหน แล้วเราก็กำจัดกิเลสนั้นๆได้ นั่นจึงจะเกิดเป็นพุทธบุตร ผู้บรรลุธรรมศีล ๕ ตามที่อาตมากล่าว คร่าวๆนี่แหละ คือ พุทธบุตร หรือผู้มีความเป็นพุทธ นับเป็นคุณธรรม แห่งความเป็นโสดาบัน หรือที่เรียกว่า มีโสตาปัตติยังคะ

โสดาบัน คือ ผู้เข้ากระแสความเป็นพุทธ มีจิตใจเกิดจริง เข้าสู่โลกุตระขั้นต้น ศีล ๕ เป็น "องค์คุณแห่งความเป็นโสดาบัน" ที่ภาษาบาลีว่า "โสตาปัตติยังคะ" นั่นแหละ ผู้ปฏิบัติตน จนจิตใจลดกิเลสได้จริง มีคุณธรรม ในกรอบของศีล ๕ ก็เป็นพุทธบุตรขั้นต้น ถ้าผู้ใด จะบำเพ็ญมากกว่านั้น เรียกว่า รักษาศีลอุโบสถ ซึ่งจะเพิ่มจากศีล ๕ เป็นศีล ๘ มีข้อจำกัดอะไร ลงไปเยอะกว่ากันมาก ในพฤติกรรมของความเป็นฆราวาสธรรมดาๆ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ถือศีลอุโบถสนี้ ก็คือผู้ถือศีล ๘ มีผู้ฟังไม่ค่อยเข้าใจ บอกว่าที่นี่ มีการลงอุโบสถ วันเข้าพรรษา และไปอธิบายคำว่า ไปลงอุโบสถว่า คือ การถือศีลอุโบสถ อย่างนี้เป็นต้น น.ส.พ.จับความอะไรไม่ชัด แล้วก็นำไปเขียนผิดๆ จนทำให้คนอ่านเข้าใจไขว้เขว

ที่จริงการลงอุโบสถเป็นของสมณะ หรือภิกษุท่านลงอุโบสถก็คือ ท่านลงโบสถ์ ที่จะทำปาติโมกข์ หรือลงสวดปาติโมกข์กัน แต่ก็ไปอธิบายว่า ลงโบสถ์คือ ถือศีลอุโบสถ ซึ่งหมายถึง ฆราวาสทั่วไป ที่ถือศีล ๘ อันเป็นคนละเรื่องกัน

ถ้าเรารู้ว่าศีล ๕ มีอะไรบ้าง ศีล ๘ มีอะไรบ้าง และพยายามปฏิบัติตาม ที่เราสมาทาน เมื่อจะถือศีลอุโบสถ ก็เท่ากับ มาสมาทานศีล ๘ แล้วก็ปฏิบัติตาม ข้อที่ท่านให้เวรมณี หรือให้ละเว้นในแต่ละข้อ ๘ ข้อนั้นๆ ซึ่งมากกว่าศีล ๕ ไปอีก ๓ ข้อ ใครจะเข้าใจความหมาย ขนาดไหน ก็พยายามละเว้นให้ได้ ตั้งแต่ในความหมาย ง่ายๆตื้นๆ เช่น ศีลข้อ ๖ วิกาลโภชนา เวรมณี หมายถึง ให้กำหนดอาหารการกิน ธรรมดาเราเคยกินหลายมื้อ แต่เมื่อถือศีลอุโบสถแล้ว อย่างมากก็กินกันวันละ ๒ มื้อ เท่านั้นแหละ หรืออย่างพวกเราชาวอโศกที่เคร่งๆ เมื่อถือศีลอุโบสถ หรือถือศีล ๘ ก็จะกินแค่มื้อเดียวด้วยซ้ำไป แต่ก็เอาเถอะ ลดลงมา ตามที่เคยกินไม่มีมื้อ หรือกินวันละ ๓ มื้อ ๔ มื้อ ก็ให้เหลือ ๒ มื้อ ปฏิบัติให้มีการขัดเกลา กายวาจา ใจ ศีลข้อต่อมาข้อที่ ๗ ให้ระมัดระวัง ในเรื่องของรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสอะไรต่างๆนานา หรือแม้แต่เรื่อง ที่เป็นอบายมุข เป็นมหรสพ การละเล่นพวกนี้ เราก็ต้องละเว้น ไม่เกี่ยว ไม่ข้อง หรือให้มีสติ สังวรระวัง

การถือศีล ก็คือ ต้องมีสติระวัง มีการสำรวมอินทรีย์ มีศีลสังวร โภชเนมัตตัญญตา ชาคริยานุโยคะ พวกนี้เป็นองค์ธรรม ที่ประกอบการปฏิบัติ หรือการรักษาศีล ซึ่งมีสติสัมปชัญญะ ตามหลักธรรม ที่พระพุทธเจ้ากำหนด ควบคู่ไปด้วย มีการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ระมัดระวังรู้จักกิเลส เรียนรู้กิเลส แล้วก็ฝึกละลด จนกระทั่ง ลองลดมักน้อย สันโดษได้เป็น สันโดษลงไปเป็นอัปปิจฉะ สันตุฏฐิลงไป นี่อาตมาพูดตามหลักวิชาง่ายๆ จะให้อธิบายละเอียด คงไม่มีเวลา สรุปแล้วก็คือ เมื่อจะถือศีลอุโบสถ เราก็ต้องรู้ความหมาย ของศีลแต่ละข้อๆ ให้ดีก่อน แล้วก็มาสำรวมอินทรีย์ สำรวมกาย วาจา ใจ สำรวมหู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ ขณะเดียวกัน ก็พยายามเรียนรู้ว่า เมื่อตาของเราสัมผัสรูปก็ดี หูได้สัมผัสเสียงก็ดี จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รสอะไรต่างๆ เราได้เกิดอารมณ์มีเวทนาอย่างไร นี่คือการปฏิบัติสติปัฏฐาน คือมีสติสัมปชัญญะ พิจารณาเข้าไปให้ถึงจิต ถึงเวทนา ถึงอารมณ์ ถึงความรู้สึก แล้วก็พยายามแยกวิเคราะห์ ให้เห็นกิเลสในจิต ว่านั่นเป็น สมุทัยของทุกข์ แล้วเราก็พยายาม ปฏิบัติละลด ด้วยวิธีสมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนา เท่าที่เราจะเข้าใจได้ว่า การปฏิบัติสมถภาวนา คืออย่างไร วิปัสสนาภาวนา คืออย่างไร เพื่อทำให้เกิดการลดละกิเลส ลดสมุทัยนั้น ให้ได้ อย่างแท้จริง นี่คือการปฏิบัติศีล เมื่อสังวรดีๆ มีสติสัมปชัญญะ หรือมีสติปัฏฐาน ๔ มันจะลดละกิเลส ให้เบาบางลง ได้จริง และเป็นคนที่มีจิต สงบจากกิเลส ลงไปจริงๆ เรียกว่า ปวิเวกะ

การปฏิบัติศีลจะขัดเกลากายวาจา โดยเฉพาะขัดเกลาใจด้วย เราสอนกันผิดๆ มานานแล้วว่า ศีลขัดเกลา แค่กายกับวาจา ส่วนจะขัดเกลาใจได้ ต้องไปนั่งสมาธิเอาโน่น ซึ่งเป็นเรื่องผิดพลาด มานานแล้ว จริงๆแล้ว การปฏิบัติศีล จะขัดเกลา กายกรรม ที่เป็นอกุศล ขัดเกลาวจีกรรม ที่เป็นอกุศล แล้วก็ขัดเกลาจิตใจ ที่มีอกุศลอยู่ในจิต อย่างแท้จริง โดยจะต้องเรียนรู้ อาการของจิต ให้ได้ด้วย ศีลนี่แหละ จึงจะพาให้เรา ขัดเกลาจนถึงจิต กระทั่ง มีญาณทัศนะ อ่านใจของเราเอง จนเห็นว่า ในจิตมีกิเลสอย่างนั้น อย่างนี้แฝงอยู่ การปฏิบัติศีลขัดเกลาไป จนกระทั่ง เป็นอธิจิต และ อธิปัญญาได้ โดยจะเกิดปัญญาอ่านเห็น เป็นฌานเป็นวิมุติไปเรื่อยๆ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๔ ข้อ ๑ กับข้อ ๒๐๘ ในกิมัตถิยสูตร กล่าวถึงอานิสงส์ของการปฏิบัติศีล ๙ อย่าง ๑๐ อย่าง ซึ่งจะมีอานิสงส์ ทางจิตวิญญาณด้วย ไม่ใช่อานิสงส์ แต่เพียงทางกายเท่านั้น ท่านตรัสสรุปไว้ว่า "ศีลอันเป็นกุศล ย่อมยังความเป็นอรหันต์ ให้บริบูรณ์ โดยลำดับ" เพราะฉะนั้น การปฏิบัติศีล จะทำให้ถึงขั้น เป็นอรหันต์ได้ ในที่สุด

การถือศีล คือ การสร้างจิตสำนึกได้หรือไม่คะ?

ได้ซิ การปฏิบัติธรรมของพุทธ สรุปลงแล้วก็คือ ไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อเราสมาทานศีล ก็ต้องปฏิบัติให้กาย วาจา ใจ ของเราลดละกิเลสลงไป จนเกิดปัญญา รู้แจ้งเห็นจริง การมาสมาทานศีลก็คือ เรามีสำนึกขั้นต้นแล้ว ที่จะมี ความปรารถนาดี ต่อตนเอง และต่อผู้อื่น ซึ่งจะทำให้เรา เจริญพัฒนาขึ้นได้จริง จนไม่เป็นภัย ต่อตนเอง และผู้อื่น

การสร้างจิตสำนึกในทางโลก ทำได้จริงหรือไม่คะ?

นั่นเป็นภาษาพูดเฉยๆ เขาจะรู้จักแค่สิ่งหยาบๆ ทางกายกรรมก็ดี วจีกรรมก็ดี หรือแม้แต่ทางมโนกรรม ก็เป็นระดับหยาบๆ และเขาก็พยายาม สะกดจิตสะกดใจ ตัวเองเท่านั้น พยายามบังคับ ไม่ให้กายกรรม เกิดเป็นอกุศล หรือวจีกรรม ก็พยายาม ไม่ให้เกิดอกุศล ขณะเดียวกัน ก็พยายามสะกดจิต หรือว่าข่มจิต ให้มันหยุด เป็นวิธีสมถภาวนา เท่านั้นแหละ แม้จะเป็นสำนึก หรือมีการสำนึก มีการควบคุม ไม่ให้เกิดสิ่งที่เป็นอกุศล มันก็เป็นแค่สมถะเท่านั้น ซึ่งต่างกับ การปฏิบัติ ของพระพุทธเจ้า ที่ไม่ใช่การกดข่ม หรือการพยายาม ระงับด้วยวิธี สมถภาวนาเท่านั้น แต่ต้อง ปฏิบัติ วิปัสสนาภาวนาด้วย ซึ่งเป็นตัวแท้ ของศาสนาพุทธเลย เป็นการภาวนา หรือการทำให้เกิดผล แบบวิปัสสนา วิปัสสนาแปลว่า รู้เห็นของจริง แม้กิเลสก็รู้ ก็เห็นของจริงในใจ อันคือ สภาพที่อ่านลงไปจริงๆ รู้จักกายกรรม รู้ว่า กายในกาย กายนอกกาย รู้จักเวทนาในเวทนา รู้จักความรู้สึก รู้จักอารมณ์ ตลอดจนรู้จักจิตในจิต รู้จักธรรมในธรรม ซึ่งเป็น ลักษณะต่างๆ ของกิเลส ที่เรียกว่า นิวรณ์ 5 เป็นต้น ทั้งรู้จักกิเลส รู้จักอุปาทาน รู้จักอายตนะ ๖ ทั้งส่วนที่เชื่อมต่อ ระหว่าง อายตนะนอก กับอายตนะใน อาทิ ตาสัมผัสรูป จะเกิดสภาพอารมณ์อย่างไร เราก็อ่านอาการนั้น ได้ชัดเจน ไม่ใช่ว่า กดข่มไปดื้อๆ กดข่มไปเฉยๆ แล้วก็ไม่รู้เรื่องรู้ราว ไม่รู้รายละเอียดอะไร อย่างนั้นไม่ใช่วิถีของพุทธ แบบกดข่มได้ แต่ไม่รู้จัก ไม่เห็นของจริง เป็นแค่สมถะ วิธีสมถะศาสนาก่อน พระพุทธเจ้าเกิดทำกันมาแล้ว พระพุทธเจ้าก็ใช้บ้าง ใช้ด้วย แต่ไม่ใช่วิธีของพุทธแท้ วิปัสสนา จึงจะเป็นของพุทธแท้ๆ

ศาสนาของพระพุทธเจ้านั้น รู้แจ้ง รู้ละเอียด เห็นจริงรู้ชัดเจน แม้เป็นนามธรรม ระดับจิต เจตสิก รูปนิพพาน ก็อ่านอารมณ์ สภาพพวกนั้นออก ถ้าทำถึงขั้นอ่านสภาวะออกว่า อารมณ์สภาพที่เป็นโลกียะ จะเป็นอย่างไร สภาพที่ กำลังเนกขัมมะ หรือสภาพที่พยายาม จะละออกเป็นอย่างไร อาการทางเนกขัมมะ สิตะเวทนา มันมีอาการที่อ่านออก ต่างกันกับเคหะสิตะเวทนาอย่างไร ก็จะเข้าใจอาการเหล่านั้น ได้ชัดเจน ซึ่งต่างกับ การมีสำนึกเฉยๆ แล้วก็ท่องคาถา และ พยายามกดข่ม

ศาสนาส่วนใหญ่จะไม่ละเอียดลอออย่างนี้ แต่ศาสนาของพระพุทธเจ้า ละเอียดลออชัดเจน และเมื่อกิเลส มันจางคลาย ลงไปเรื่อยๆ เราก็รู้จักอาการความแตกต่าง ที่เรียกว่าลิงคะ รู้จักนิมิตเครื่องหมาย บอกแสดงอาการ อย่างนี้เป็นความโลภ เป็นความโกรธ ซึ่งเป็นอาการที่ต่างกัน เป็นต้น หรือแม้แต่น้อยกับมาก ก็มีความต่างกัน ดังนี้ ความโลภแต่ก่อนนี้ มีอาการ แรงมาก เดี๋ยวนี้มันลดน้อยลง ก็เป็นลิงคะที่ต่างกัน ในระดับของความเข้มข้น ความหนัก ความเบา เราจะอ่านรู้จริง ตามความเป็นจริง จนกระทบ สัมผัสอย่างไร ยั่วยวนอย่างไร ก็ไม่เกิด เราก็จะเห็น ความไม่เกิด ของอาการกิเลสนั้นๆ เมื่อกิเลสดับสนิท ก็มีญาณทัศนะ อ่านออกตั้งแต่ ระดับโสดาบันขึ้นไป

สรุปแล้ว ถ้าไม่ถือศีลอย่างรู้วิธี จนสามารถปฏิบัติเป็นวิปัสสนา ก็จะได้แต่สมถะ ถึงจะมีจิตสำนึก ก็ได้แค่ไม่แท้ ไม่ละเอียด และไม่ถาวร เมื่อมีอะไร มายั่วกิเลสที่แรงมาก ก็กดข่มได้แค่ กดข่ม ไม่ได้ฆ่ากิเลสถูกตัวมัน จึงไม่จริง ไม่ถาวร แม้จะกดข่มได้นาน ก็แค่นาน แต่ไม่จริง มันฟื้นได้ ส่วนมากได้แต่ชั่วครั้งชั่วคราว ยกตัวอย่าง เช่น เรารู้ว่าสิ่งนี้ไม่ดี ก็จะมีแรงกดข่ม ได้ขนาดหนึ่ง ๕๐๐ บาท กิเลสเราไม่ขึ้น, ๕ หมื่น ชักต้องคิดแล้ว, ๕ ล้าน กิเลสไม่อยู่แล้ว อย่างนี้เป็นต้น ทั้งนี้เพราะ มันไม่รู้จักกิเลส ที่เป็นอนุสัย ฝังอยู่ในใจจริงๆ จึงไม่ได้ถูกล้าง ให้ถูกตัวถูกตน จนเกลี้ยง จนสะอาด เมื่อไม่ได้ปฏิบัติ อย่างรู้แจ้งเห็นจริง ก็จะไม่รู้อาการ ที่เป็นนามธรรม เล็กๆน้อยๆ ละเอียดลออ แม้ธุลีละออง

เรามีบทความลงตีพิมพ์ในน.ส.พ.บางฉบับ พบปัญหาว่า มีการแก้ไข จนผิดจากความหมายเดิม อาจทำให้ผู้อ่าน เกิดความสับสน ไม่ชัดเจน และอาจไปสู่การปฏิบัติที่ผิดได้ มีวิธีแก้ไขอย่างไรคะ?

ก็ได้แต่ขอร้องกัน ผู้ที่เอาบทความของเราไปแปลง ไปเขียนอะไรๆ หรือว่าเขียน ตามความเข้าใจของตนเอง มันจะผิดง่าย เพราะธรรมะ ของพระพุทธเจ้านั้นสำคัญ เพราะฉะนั้น บทความที่เขียนให้ไป ก็ต้องขอร้องกัน คำความแต่ละคำ สำนวนประโยคอะไร ก็อย่าให้ผิด จะแก้อันโน้นนี้อะไร ก็ควรบอกกัน ว่ามันแก้ได้ หรือไม่ได้ เพราะว่า ที่เขียนอะไรไป ไม่ใช่เรื่องทั่วไปธรรมดา หรือแม้แต่สัมภาษณ์ไปแล้ว บางทีก็ไปเรียบเรียง แบบฟังไม่ค่อยได้ชัด ได้เต็มหรอก เพราะถอดเท็ปแล้ว ไม่ค่อยตรงตามที่พูด เรียบเรียงได้ความหมาย ไม่ครบตามที่หมาย ภาษามันมีคำเล็กคำน้อย มีมุมเหลี่ยม ที่มันละเอียดลออ เพราะฉะนั้น อาตมาไม่ค่อยอยากให้สัมภาษณ์เท่าไร ถ้าจะให้เขียน ก็เขียนได้ แต่ถ้าจะถอดเท็ป ก็ให้ตามที่พูดเลย ว่ามีสำเนียง สำนวนอะไรต่างๆ มีพลความอย่างไร เวลาไปถอดเท็ป เอาตัวหนังสือออกมา ถ้าไปเรียบเรียง ตัดต่อ เอาตามที่ตัวเองเข้าใจ ถ้าใครฟังรวมๆ แล้วรวบเอาคำมาเขียน มันจะตกหล่น ไม่ครบ ตามที่พูดไว้อย่างละเอียด ซึ่งมักจะเก็บไม่หมด หรือแม้แต่เก็บหมด บางทีก็ไม่ตรงเรื่องเหมือนกัน เพราะภาษาพูด กับภาษาเขียน มันต่างกัน บางทีก็พูด ซ้ำไปซ้ำมา วนไปวนมา หรือมีสำเนียงลีลา ละไว้ในฐานที่เข้าใจ ซึ่งในขณะพูด มันก็รู้อยู่ แต่เวลาไปเขียน ทำเป็นตัวหนังสือแล้ว ไม่ค่อยจะตรงทีเดียว ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร มันได้แค่นั้น ก็เอา แล้วแต่บุญ แต่กรรม อย่าไปเคร่งเครียดกันมาก ก็ได้แต่ขอร้อง ซึ่งใครเข้าใจอย่างไร ก็ย่อมเขียนออกมา ได้อย่างนั้น มันเป็นไปไม่ได้ ที่จะบังคับความเข้าใจ ของใครให้เข้าใจ ตามที่เราเข้าใจ ความซับซ้อน และละเอียดลออ ของธรรมะมีมาก ยิ่งธรรมะ ขั้นสูง ยิ่งลึกซึ้ง มีทั้ง "สัจจะย้อนสภาพ"

อย่างอาตมาเป็นคนเขียนหนังสือช้า เขียนแล้วทบทวน ทวนแล้วทวนอีก แก้ไปแก้มาหลายครั้ง ไม่ได้เขียนเร็วๆ อย่างที่คนอื่น เขียนหรอก ที่เขาเขียนกันออกเร็วๆ หนึ่งหน้าเขาเขียนแค่ ๑๐ - ๒๐ นาทีก็เสร็จ แต่อาตมาใช้เวลาเขียน บางที ๑ วัน ๒ วัน ๓ วัน เพิ่งได้แค่หนึ่งหน้า ซึ่งไม่ได้เขียนง่ายๆ

สิ่งเดียวที่ผู้มีศีล แตกต่างจากผู้ไม่มีศีล คือ ความอ่อนโยนของหัวใจ ที่เข้าใจตัวเอง และเข้าใจผู้อื่น ที่ยอมได้ และยอมรับทุกสิ่งที่เกิดขึ้น หัวใจที่ถูกขัดเกลาแล้วด้วยศีล.


สิบห้านาทีกับพ่อท่าน อุโบสถศีล หนังสือสารอโศก อันดับที่ ๒๓๘ หน้า ๙ - ๑๕