เปิดหน้าต่าง ต.อ.

ความเคลื่อนไหว:ดูงานที่ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์

         ๑ ส.ค.๔๔ ทีมงานโครงการศึกษาฯ จัดการดูงานให้กับผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง กับการผลิตยาทางปฐมอโศก จำนวน ๑๕ คน ที่ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ จ.ปราจีนบุรี โดย ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร และคณะ ให้เกียรติเป็นวิทยากร ตลอดจน พาเยี่ยมชม งานการแพทย์แผนไทย และหน่วยผลิตยา และพาเยี่ยมชุมชนดงบึง ซึ่งเป็นชุมชนหลัก ในการจัดส่งวัตถุดิบ (ไร้สารพิษ) ให้กับ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์
         
ความเป็นมาของการจัดการดูงานครั้งนี้ เกิดจากความคิดเห็นที่สอดคล้องกัน ระหว่างทีมงาน โครงการการพัฒนา กับผู้รับผิดชอบ โรงงานยา ของปฐมอโศก ซึ่งเห็นประโยชน์ ที่บุคลากรที่เกี่ยวข้อง ในการผลิตยา จะได้รับซับซาบ สิ่งต่างๆที่ได้ดู ได้เห็น ได้ฟังด้วยตนเอง เป็นการสร้างทัศนคติ ปลูกฝังจิตสำนึก ความรับผิดชอบ ในการปฏิบัติหน้าที่ ตามอุดมการณ์ ของชาวอโศก ในการผลิตผลผลิตทุกชนิด ออกสู่ผู้บริโภค โดยเน้นในส่วนของ ศีลธรรมจรรยา ของผู้ผลิต มิได้มุ่งเพื่อธุรกิจ โดยส่วนเดียว อีกทั้งในอนาคต อันไม่ไกลนี้ โรงงานยาแห่งใหม่ ของปฐมอโศก จะสามารถ เปิดทำการได้ จึงเป็นโอกาสอันดี ที่จะนำความรู้ คำแนะนำต่างๆ ที่ได้รับไปปรับปรุง พัฒนางาน ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ให้ผ่านเกณฑ์ การประเมิณ GMP ของกระทรวงสาธารณสุข

         บรรยากาศการดูงานเป็นไปด้วยดี มีการรับฟังข้อคิดเห็น แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ โดยเฉพาะ ผู้เข้ารับการอบรม ได้รับความรู้ ที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ด้านสุขวิทยาส่วนบุคคล และสิ่งแวดล้อม ให้ดียิ่งขึ้น และ ได้หลักการ GMP ภาคชาวอโศกว่า

         ๑. ความสะอาด ในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตยา (ถามตัวเองว่า ทำไมต้องสะอาด และทำอย่างไร จึงจะสะอาด)
         ๒. การตรวจสอบ มีการยืนยันความสะอาด โดยมีระบบควบคุม ตรวจสอบ ทางห้องปฏิบัติการ ทางวิทยาศาสตร์
         ๓. คุณภาพ รักษาคุณภาพยา ให้มีมาตรฐานสม่ำเสมอ
         ๔. ความซื่อสัตย์ ข้อนี้จำเป็นอย่างยิ่ง ในการผลิตผลผลิตทุกชนิด ออกสู่ผู้บริโภค เราตั้งอุดมการณ์ไว้อย่างไร
         ถามตนเอง บ่อยๆว่า ได้ทำตามอุดมการณ์ นั้นหรือเปล่า

         บทเรียนที่ชาวปฐมอโศกได้จากการเยี่ยมชุมชนดงบึง คือ
         ๑. การค้นหาเครือข่ายเกษตรกร ที่จะปลูกวัตถุดิบ สมุนไพรไร้สารพิษ ป้อนโรงงานนั้น ควรทำในเชิงรุก โดยประสานกับหน่วยงาน ที่ทำงานกับเกษตรกร ในพื้นที่ เช่น เจ้าหน้าที่เกษตรกร เจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. ซึ่งในปัจจุบัน ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ด้วย เช่นกัน
         ๒. ต้องให้ความสำคัญกับการปลูก หรือ จัดหาวัตถุดิบสมุนไพร ที่มีสารสำคัญของตัวยาสมุนไพร ที่จะทำให้ยามีคุณภาพ ซึ่งหมายถึง วิธีการปลูก ระยะการเก็บเกี่ยว การเก็บรักษา วัตถุดิบที่ถูกต้อง ถูกวิธี โดยควรมีเครื่องตรวจ หาสารสำคัญ ไว้ควบคุม คุณภาพวัตถุดิบ ดังกล่าวด้วย

         ระลึกถึงคำพูดของ สมณะบินบน ถิรจิตโต ได้ว่า "เมื่อชาวอโศกหรือผู้ใด คิดดี ทำดี พวก เราน่าจะชื่นชม ให้กำลังใจ ซึ่งกันและกันบ้าง" เพราะฉะนั้น งานนี้ไม่เหนียมอาย ขอเอื้อนเอ่ย ชมชื่น ผู้ที่เกี่ยวข้อง ในการอบรม และดูงาน ดังต่อไปนี้
         ๑. ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร และคณะ ให้ความเป็นกันเอง ต้อนรับฉันท์พี่น้อง แม้เวลาจะล่วงเลยไป จนใกล้ค่ำ สีหน้ายังปรากฏ รอยยิ้ม แววตาที่แจ่มใส พร้อมที่จะให้ความรู้ ด้วยความเต็มใจ โดยเฉพาะ ภญ.สุภาภรณ์ ได้สอดแทรกความรู้ ความรู้สึกดีๆ ทางนามธรรม เป็นข้อคิด สะกิดใจ ให้กับชาวเรา ไว้หลายๆตอน ก่อนจาก ฝากข้อคิด ปลุกจิตสำนึกให้ว่า "ทำอย่างไรที่เรา (ชาวอโศก) จะเอาชีวิตของเราแบกรับ สร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเอง อย่าไปหวังพึ่งคนอื่น ต้องสร้าง อบรม คนของเรา (อโศก) ให้เกิดความรู้ ทำอย่างไร จึงจะสร้างกลุ่มวิทยากรขึ้นมา ด้วยพวกเรากันเอง ให้เข้มแข็งได้"
         ๒. พี่น้องชาวอโศก ครั้งนี้ขอชื่นชมที่รวมใจกัน มารับความรู้อย่างเต็มใจ และสนใจ ที่จะซักถาม แลกเปลี่ยน ความรู้กัน ทำให้รู้สึกว่า การงานใดๆ หากผู้ปฏิบัติ เข้าใจสาระของงานนั้นๆ ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ย่อมคลี่คลาย แก้ไขได้ และ ขอขอบพระคุณ ทพ.ทศพล เปี่ยมสมบูรณ์ ที่จัดอาหารในราคาบุญนิยม ให้รับประทานกัน อย่างอิ่มหนำสำราญ ทั้งเวลาเช้า และกลางวัน

         ในส่วนของทีมงานผู้จัดการอบรมครั้งนี้ ขออนุโมทนาต่อทุกๆฝ่ายในกุศลจิต เราจะก้าวเดิน เคียงข้างกันไป พัฒนา แก้ไข ข้อขัดข้องต่างๆ ร่วมกัน เพื่อที่จะผลักดัน ให้โรงงานยาปฐมอโศก ได้มาตรฐาน GMP ผลิตยา ที่ได้คุณภาพ ออกสู่สังคม ตามอุดมการณ์ของเรา "ชาวอโศกเพื่อ มวลมนุษยชาติ"

ต.อ.กลาง

เปิดหน้าต่างตอ. หนังสือสารอโศก อันดับที่ ๒๓๙ สิงหาคม ๒๕๔๔ หน้า ๓๙-๔๒