น้ำท่วมบ้านราชฯ ครั้งที่ 3

หนังสือ สารอโศก
อันดับที่ 240
กันยายน 2544


น้ำท่วมบ้านราชฯอีกแล้ว!! ไม่มีใครคาดคิดว่าบ้านราชฯ จะโชคดีติดต่อกัน ๒ ปีซ้อน เช่นนี้ ก่อนเหตุการณ์น้ำจะท่วม หลายคนพยายามปลอบใจ ตัวเองว่า ไม่น่าจะท่วมติดกันนะ น่าจะห่างออกไปสัก ๔-๕ ปี เพราะน้ำท่วมครั้งแรก ของบ้านราชฯ คือปี ๓๙ ถัดมาปี ๔๓ ต่อไปก็คงจะเป็นปี ๔๗ หรือ ๔๘ ถึงจะถูกต้องตามสถิติ

แต่สิ่งที่แน่นอน คือสิ่งที่ไม่แน่นอน ประมาณวันที่ ๑๙ สิงหาคม สถานการณ์เริ่มไม่น่าไว้ วางใจ อาการน่าเป็นห่วง เพราะจังหวัด ในภาคอีสานตอนบนหลายแห่ง ประสบกับภาวะน้ำท่วม เช่น อุดรฯ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ดังนั้น เมื่อน้ำล้นเขื่อน สายน้ำเหล่านี้ จะไปไหนเสีย จึงพร้อมใจกัน หลั่งไหลมารวมกัน ที่แม่น้ำมูล ดุจรวมน้ำใจให้เป็นหนึ่ง

โรงสีจึงทยอยขน ข้าวเปลือกก่อนเพื่อน ได้แรงงานทหาร จากค่ายสรรพสิทธิประสงค์ มาช่วยขน ในตอนกลางวันเป็นเวลา ๒ วัน ส่วนชาวบ้านราชฯ ระดมขนทั้งกลางวัน-กลางคืน รอดปลอดภัยไปก่อน ประมาณ ๑๘๐ ตัน นำไปฝากที่ โรงสีแหลมทอง ในตัวเมืองอุบลฯ (โดยไม่คิดค่าเช่า ระหว่างส.ค.-ก.ย.) และขายให้กับโรงสี ที่จ.ศรีสะเกษ ๑๑๘ ตันในราคาบุญนิยม ดีกว่าถูกน้ำท่วมเสียหาย ส่วนข้าวเปลือกที่เหลืออยู่ ก็รอดูท่าทีว่า จะท่วมแน่หรือเปล่า หรือเพียงแค่กระแสน้ำ ที่ไหลผ่านลงไป สู่แม่น้ำโขงเท่านั้น แต่ที่ไหนได้ ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง ก็ล้นตลิ่งเช่นกัน

และแล้ว ก็แน่ยิ่งกว่าแช่แป้ง แถมยังมากกว่าปีที่แล้วเสียอีก ดังนั้น จึงระดมสรรพกำลัง จากทุกฐานะ ทั้งนักบวช คนวัด นิสิต ชาวชุมชน และนักเรียน สสธ.ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของบ้านราชฯ ที่ไม่มีวันถดถอย วันนี้เหนื่อย พรุ่งนี้มีแรงต่อได้อีก นอกจากนี้ ยังได้รับน้ำใจจาก พี่ใหญ่ศีรษะอโศกมาอีก ทั้งจากสมณะ นิสิตวังชีวิต นักเรียน สสษ ซึ่งสามารถ ขนข้าวเปลือก จนเกลี้ยงโรงสี นำไปฝากไว้ที่ โรงสีศีรษะอโศก และโรงสีห้วยขะยุง ยังความซาบซึ้งใจ กับชาวบ้านราชฯ มิรู้ลืม ที่ช่วยเหลือเกื้อกูล น้องมาตลอด ทั้งมาช่วยขน รับฝาก และหากมีลูกค้า สั่งข้าวเข้ามา ก็พร้อมจะสีให้อีก พี่คนนี้ มีแต่ให้จริงๆ

เหตุการณ์น้ำท่วม นับเป็นโจทย์โดยตรง ของคนบ้านราชฯ ที่ธรรมชาติมอบให้ ด้วยความรักและเอ็นดู เพราะไม่มี พุทธสถานใด จะปรากฏเหตุการณ์ โชคดีเช่นนี้เลย ข้อสรุปจากน้ำท่วมบ้านราชฯ ที่มีอาณาเขตติดแม่น้ำ จึงไม่เหมาะกับ การสะสมกักตุน วัตถุข้าวของไว้มากมาย เกินความจำเป็น เพราะเชื่อขนมไว้ได้เลยว่า อยู่บ้านราชฯ ต้องเจอกับ น้ำท่วมแน่นอน เพราะบ้านราชฯ เป็นเมืองเรือ เพียงแต่ไม่รู้ว่า หวยจะออกปีไหนเท่านั้น จึงทำให้ชาวบ้านราชฯ อยู่ในภาวะ เตรียมพร้อมอยู่เสมอ เรียกว่าตั้งตนอยู่บนความไม่ประมาท อย่างนี้มรรคผล จะไปไหนเสีย

หลายคนปรับใจได้ มากกว่าปีที่แล้ว เพราะเพิ่งผ่านโจทย์ชิ้นนี้ มาหมาดๆ สำหรับผู้ที่ปีที่แล้วเกือบผ่าน ครั้งนี้เลยถือโอกาส สอบซ่อม วัดผลกันไปเลย บางคนเห็นทุกข์ ของการมีสมบัติมาก อยากมีข้าวของน้อยชิ้น เช่นสมณะ-สิกขมาตุบ้าง แต่อนิจจา... บางคนก็ปล่อยให้โจทย์ชิ้นนี้ หลุดมือ ลอยน้ำไปต่อหน้าต่อตา อย่างน่าเสียดาย

เมื่อมาอยู่รวมกันที่เฮือนใหญ่ หรือเฮือนศูนย์สูญ ก็ยิ่งทำให้ประทับใจกับชื่อ เพราะศูนย์ตัวแรก คือที่จุดกลาง และสูญตัวที่สอง คือทำให้หายสิ้นไป สรุปว่า อัตตาของแต่ละคน ที่มาอยู่รวมกัน ณ ที่นี่ จะถูกทำให้หายสิ้นไปในที่สุด ก็จะไม่ให้หายสิ้น ไปได้อย่างไร เพราะ ๑ คน ก็ ๑ จริตนิสัย ๑๐๐ คนล่ะจะทำใจอย่างไร อึดอัดขัดเคืองหรือไม่ ปล่อยวางได้แค่ไหน วิถีชีวิตต้องเปลี่ยนไป ความเป็นส่วนตัว แทบไม่มี การฝึกวางจิตวางใจ ต้องมีจริงเป็นจริง จึงจะไม่ทุกข์ หรือหากใครทำไม่ผ่าน ก็ต้องพยายามทำให้ผ่าน นับเป็นโจทย์สอบไล่ ประจำปีทีเดียว

ท่านสมณะเคยเทศน์ว่า คนบ้านราชฯ น่าจะบรรลุธรรมได้เร็ว เพราะนอกจากสภาพพื้นที่ ที่หน้าร้อน อากาศก็จะร้อนสุดๆ หน้าหนาวก็มีลมหนาว พัดผ่านมาเย็นยะเยือก จนหน้าแตก หน้าฝนก็มีน้ำมากมาย จากที่ต่างๆไหลท่วมบ้านเรือน ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต จากชาวโคก มาเป็นชาวน้ำ ไหนจะมีแขกมาเยี่ยมเยียน ไม่เว้นแต่ละวัน มีงานอบรมอยู่ ตลอดทั้งเดือน ซึ่งถือว่าเป็นภาวะปกติของที่นี่ ใครที่มาอยู่บ้านราชฯ จึงต้องมีบุคลิกไม่ติดภพ ขยัน รู้จักช่วงชิง เมื่อน้ำลด รีบปลูกพืชผัก น้ำขึ้นรีบเก็บผลผลิต และพร้อมจะปล่อยวางทุกเมื่อ กับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเบื้องหน้า

ส่วนเรือกสวนไร่นา ก็เรียบร้อยโรงเรียนอโศกไปแล้ว ต่างลงไปอยู่ใต้น้ำ อย่างสงบนิ่ง อันไหนที่พอจะขุด ถอนหนีน้ำได้ ก็ระดมขุด-ถอน อพยพหนีน้ำ นำไปปลูกที่สวนวังไพร สวนใหม่จำนวน ๑๐ ไร่ ทำเลงาม ดินดี อยู่ที่บ้านคำกลาง ระยะห่างจากบ้านราชฯ ๑.๓ ก.ม. ซึ่งสามารถเดินไปก็ได้ ขี่จักรยานไปก็ดี มีอ.อุดม ศรีเชียงสา ปรมาจารย์ ด้านกสิกรรม ธรรมชาติ ปักหลักเป็นหัวหน้าฐาน อยู่ที่นี่

ส่วนนี้นอกจากจะอุดมสมบูรณ์ ด้วยพืชสมุนไพร ที่หายากแล้ว ดินยังอุดมสมบูรณ์อีกด้วย ขนาดต้นมะละกอ ที่อาการ ร่อแร่ จะตายมิตายแหล่ หนีน้ำไปจากบ้านราชฯ พอไปปักลงที่สวนวังไพรเท่านั้นเอง สดชื่นยืดต้น ตั้งตรงขึ้นมาทันที นโยบายการปลูกพืช ที่บ้านราชฯ ใกล้ความจริงกับวิถีชีวิต ธรรมชาติมากขึ้น ทีมกสิกรรม เริ่มหันมามองพืชน้ำกัน อย่างจริงจัง เพราะบ้านราชฯ เป็นเมืองน้ำ_ที่เหมาะกับพืชน้ำสถานเดียว เพราะไม่ต้องย้ายหนีอะไรอีกแล้ว เพียงแต่ คอยล้อมคอก กั้นกันน้ำพัดพาไปเท่านั้นเอง ปลูกก็ง่าย ตายก็ยาก เก็บกินได้ยาวนาน ไม่ต้องขุด ไม่ต้องไถ ให้เหนื่อยแรง อีกด้วย ส่วนที่สวนบ้านราชฯ เพียงแค่ปลูกพืชผักล้มลุก ที่อายุไม่ยาวเกิน ๙ เดือน จึงน่าจะ เหมาะสมกว่า

ในช่วงน้ำท่วม อาหารเด่นของบ้านราชฯ ที่ไม่เคยปรากฏ อยู่ในรายการอาหาร ของชนชาติไทยมาก่อนเลย เพิ่งจะค้นพบที่นี่ เป็นแห่งแรกก็ว่าได้ อาหารนานาชนิดที่ทำจากมะละกอ เคยกินไหมนอกจากตำมะละกอ (ส้มตำ) ผัดมะละกอแล้ว ยังมีลาบมะละกอ ทอดมะละกอ แกงจืดมะละกอ พะโล้มะละกอ แกงอ่อมมะละกอ แกงบวดมะละกอ มะละกอลอยแก้ว และผักลวกของบ้านราชฯ ที่เคยได้รับคำชมว่า ลวกผักได้น่ากิน และมีจำนวนผักมากมาย กว่าพุทธสถานอื่น ก็มีมะละกอลวกทุกวัน เช่นกัน จนเด็กๆบ่นว่า หน้าหนูจะเป็นมะละกออยู่แล้ว ก็จะไม่เป็นได้อย่างไร ทุกวันและทุกมื้อ มะละกอจะเป็นเมนูหลัก ของบ้านราชฯ ในยามนี้ ขนาดแม่ฐานโรงครัว ถึงกับบอกลูกฐานไว้เลยว่า ไม่ต้องสงสัยว่า จะทำอะไรวันนี้ ปอกมะละกอรอท่าไว้ได้เลย เหตุที่มีมะละกอกินไม่รู้จักหมดเสียที เพราะพวกเรา ระดมปลูกมะละกอ กันทั่วบ้านราชฯ กำลังออกลูกงามๆ ชนิดที่ว่า หากภาวะน้ำท่วม ไม่เข้ามาแทรกซ้อนแล้วละก็ มะละกออาจจะกลายเป็น สินค้าส่งออกของบ้านาชฯ ไปยังพี่น้องพุทธสถานอื่นๆ แน่นอน หน้าตาแต่ละคน จะสดใส เพราะอุดมด้วย วิตามิน และเกลือแร่ มีมะละกอกินกัน อย่างเหลือเฟือ แต่แล้วฝันก็ไม่เป็นจริง เรามีวาสนาได้กินเพียง มะละกอดิบๆ และเมนูเด็ดๆเท่านั้น เพราะน้ำท่วมจนต้นมะละกอ พากันล้มระเนระนาด ไปตามๆกัน

สำหรับตอนนี้ ระดับน้ำสูงกว่าปีที่แล้ว ประมาณ ๒๕ เซนติเมตร บ้านนับสิบๆหลังคาเรือน กลายเป็นที่อยู่ ของเพื่อนร่วมโลก ไม่ว่าจะเป็นตะขวบ งู หนู ปลวก มด ฯลฯ บางบ้านก็อยู่รวมกันกับมดโดยสันติ แบ่งอาณาบริเวณกัน เรียบร้อย ไม่ล่วงล้ำเขตแดนกัน เพราะต่างฝ่าย ต่างก็ หัวอกอันเดียวกัน บางคนไม่สามารถ อยู่ร่วมกันได้ เพราะเพื่อนเรา เล่นยกกันมาทั้งกลุ่ม เต็มบ้านไปหมด เจ้าของบ้าน จึงต้องสละบ้านชั่วคราว หนีไปอยู่เฮือนใหญ่ แทนดีกว่า และขณะ พายเรือ หรือว่ายน้ำ ออกกำลังกาย งูและปลาก็แหวกว่ายธาราอยู่ไหวๆ ต่างคนต่างกลัว คนก็กลัวงู งูก็กลัวคน งานนี้ได้ตรวจสอบ วิบากกันว่า ไปติดค้างไว้ที่ไหนหรือไม่

พ่อท่านเคยบอกว่า คนที่จะสร้างบ้านที่นี่ ต้องปลูกใต้ถุนให้สูง ปล่อยให้โล่ง อย่าไป สร้างหรือสะสมอะไรไว้ใต้ถุน น้ำมาเราก็สบาย ไม่ต้องขนอะไร ไม่ต้องห่วงอะไร เพราะมีแค่มุ้งหมอน เสื่อ เสื้อผ้าและข้าวของที่จำเป็นเท่านั้น ก็หอบไปไว้ที่เฮือนใหญ่ได้สบาย

สำหรับถนน จากเฮือนเผิ่งกัน ถึงเฮือนใหญ่ ก็กลายเป็นคลอง ขึ้นมาทันที ไม่ได้นำเรือลำใหญ่ มาต่อเรียงกัน เป็นสะพาน บริเวณถนน เหมือนปีที่แล้ว แต่นำมาต่อไว้ด้านหลัง เฮือนโสเหล่-โรงครัว ในบริเวณบุ่งไหมน้อยแทน เริ่มจากแพโบสถ์น้ำ มายังด้านหลัง เฮือนใหญ่ชั้น ๒ เลยทีเดียว ซึ่งในเรือนอกจากจะเป็นที่พัก ของพวกเราแล้ว ยังเป็นที่เก็บพืชผัก และ ของแห้งต่างๆด้วย

ส่วนโรงครัว น้ำมาคืบ ก็ขนของหนีน้ำคืบ น้ำมาศอก ก็ขนหนีน้ำศอก แต่ต่อมาไม่คืบไม่ศอกแล้ว มาเป็นเมตรเลย จึงตกลงย้ายแพเหล็ก จากวังมัจฉา มาด้านหลังโรงครัว ทางบุ่งไหมน้อย เพื่อวางเตาแก๊ส และอุปกรณ์ปรุงอาหาร จากเมื่อก่อน ที่ต้องการแรงงาน มาช่วยเตรียมอาหาร ก็ต้องบอกงดไม่ต้องมาช่วย ไปหางานอย่างอื่นทำ เพราะหาก มีคนลงแพ มาช่วยกันมาก กลัวแพจะล่มเสียก่อน ที่อาหารจะเสร็จ และมีเรือเล็ก คอยลำเลียง อาหารที่เสร็จแล้ว มายังเฮือนใหญ่ ทางด้านฝ่ายหุงข้าว และลวกผัก ครั้งแรกก็หนีมาอยู่ ชั้นล่างเฮือนใหญ่ แต่พอน้ำท่วม ก็ต่อนั่งร้านขึ้นไป ทำกันบนนั้นเลย โดยยังใช้ฟืนเป็นหลัก ในการหุงข้าว ซึ่งเป็นฟืนที่ขนหนีน้ำมาทัน และบางคน ก็พายเรือช่วยเก็บ กิ่งไม้แห้ง มาให้ เพราะระดับน้ำสูง ขนาดพายเรือ เก็บกิ่งไม้แห้ง บนต้นไม้ได้สบายๆ

สำหรับการประสานงาน รับน้ำใจช่วยเหลือ จากพี่ๆน้องๆในครั้งน ี้ ก็มีผู้รับผิดชอบชัดเจนคือ สิกขมาตุกล้าข้ามฝัน และคุณน้อย ร้อยแจ้ง ดังนั้น พอมะละกอเริ่มร่อยหรอ ก็ส่งสัญญาณว่า ส่งน้ำใจมาได้เลย เรียกว่า เริ่มเป็นมวยมากขึ้น

การขนของหนีน้ำในครั้งนี้ ไม่มากเหมือนครั้งที่แล้ว เพราะข้าวของหลายอย่าง ที่ขนหนีน้ำมาที่เฮือนใหญ่ เมื่อปีที่แล้ว พอน้ำลด ก็ปักหลักอยู่ที่นี่เลย ไม่ขนไปขนมาแล้ว ครั้งนี้เลยขนไม่มากมาย เท่าครั้งก่อน แต่ปัญหา ที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ก็คือ ข้าวของที่ลอยน้ำไป จนตามเก็บไม่ทัน ชนิดที่เรียกว่า ใครคิดจะตั้งตัว ก็พายเรือมาอย่างสบายๆ แล้วเที่ยวเก็บ ข้าวของ ที่ลอยน้ำมาเท่านั้น ก็สามารถตั้งตัวได้แล้ว

การสัญจรทั้งภายใน และภายนอกชุมชน ก็เปลี่ยนมาเป็นเรือ หลายคนได้ทำใจ ฝึกใจเย็น จะไปไหนต้องรอ สำหรับ การพายเรือนั้น ไม่เป็นรองใคร เพราะหลายคนได้ฝึกมา จากครั้งที่แล้ว รายการพายเรือ ชมรังมดแดง หรือพายเรือ หมุนอยู่กับที่ ก็แทบไม่เกิดขึ้น

ตอนแรกตกลงกันว่า แม้น้ำจะท่วม ชาวบ้านราชฯ ก็จะอบรมลูกหนี้ ธ.ก.ส.ต่อไป แต่พออบรมผ่านไปได้รุ่นเดียว ก็เจอปัญหามากมาย สุดท้าย ก็ขอเลื่อนออกไปและออกไป แล้วงานฉลองน้ำ ครั้งที่ ๒ ก็เข้ามาเสียบแทน ได้อย่าง พอดิบพอดี มีกำหนด ๗ วัน ๗ คืน เริ่มตั้งแต่ ๒๕ ก.ย.-๑ ต.ค.๔๔ รับรองว่างานนี้ยิ่งใหญ่แน่ เพราะได้ลากเรือ ลำใหญ่ที่สุด ของบ้านราชฯ "เกี่ยข่วมฟ่า" มาเตรียมไว้ หน้าเฮือนใหญ่ สำหรับเป็นเวทีแสดง ในภาคค่ำ

พ่อท่าน แม้จะอาพาธ ก็ได้เมตตา เทศน์ทางโทรศัพท์ มาให้กำลังใจลูกๆ ที่บ้านราชฯว่า "ให้เป็นบ้านราชฯ เมืองเรือ ที่เป็นประโยชน์ ต่อประเทศชาติสืบไป แม้น้ำจะท่วม อาตมาก็จะไม่ถอย น้ำท่วมบ่อย เป็นการฝึกซ้อมพวกเรา ให้เกิด ความชำนาญ เป็นปึกแผ่น บ้านราชฯ จะทดสอบพวกเรา แม้แต่ยายใจพร้อม ป้าเหมือนคำ ก็ไม่ถอยไปไหน ยังคงปักหลัก สู้น้ำท่วม อยู่ที่บ้านราชฯ

เราจะต้องเป็นคน ร้อนก็อยู่ได้ หนาวก็อยู่ได้ น้ำท่วมก็อยู่ได้ เราก็จะเป็นคนแข็งแรงเพิ่มขึ้น อยู่ได้ทุกสถานการณ์ ซึ่งเป็นสังคมศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ ช่วยเหลือกันด้วยความอบอุ่น เป็นมนุษยวิทยา ซึ่งเป็นรากฐาน ที่วิเศษสุดของมนุษย์ เป็นสาระแก่นสาร ของมนุษย์มากกว่า

ขอให้ทุกคนมีกำลังใจ ให้สู้กับสิ่งที่มา ไม่ใช่เศร้ากับสิ่งที่มา เอาสถานการณ์น้ำท่วม มาพัฒนาบ้านราชฯ ของเรา ให้เจริญรุ่งเรือง คิดถึงส่วนรวม มากว่าส่วนตัว"

ขอกราบขอบพระคุณ พี่น้องทุกๆท่าน ที่เอื้อเฟื้อน้ำใจ ทั้งวัตถุข้าวของ อาหารการกิน รวมทั้งแรงกาย แรงใจ ช่วยเหลือ บ้านราชฯ ตลอดมา น้องเล็กคนนี้ จะพยายามพัฒนาตน ไม่ทำให้พี่ๆผิดหวังแน่นอน และพร้อมที่จะเก็บเกี่ยว เอาประโยชน์ตน ที่รายล้อมเข้ามาทดสอบ ไม่ว่าจะ เป็นภัยจากธรรมชาติ งานอบรมที่มีอยู่ประจำ ทุกเมื่อเชื่อวัน และผัสสะ ที่มีอยู่รายวัน เหล่านี้ ล้วนพัฒนาให้พวกเรา เป็นคนแข็งแรง เป็นบทปฏิบัติ สู่การพ้นทุกข์ ชาวบ้านราชฯ พร้อมจะสร้าง บ้านราชฯ เมืองเรือ ให้เป็นประโยชน์ ต่อประเทศชาติสืบไป สมดังอุดมการณ์ ของพระโพธิสัตว์เจ้า ที่ว่า "ชาวอโศก เพื่อมวลมนุษยชาติ

ไท บ้านราชฯ

น้ำท่วมบ้านราชฯครั้งที่ ๓ หนังสือสารอโศก อันดับที่ ๒๔๐ เดือนกันยายน ๒๕๔๔ หน้า ๔ - ๑๐