งานฉลองน้ำครั้งที่ ๒

หนังสือ สารอโศก
อันดับที่ 240
กันยายน 2544


หลังจากบ้านราชฯเจอภาวะน้ำท่วมอีกเป็นครั้งที่ ๓ (ครั้งแรกปี ๓๙ ครั้งที่ ๒ ปี ๔๓ และในครั้งนี้ ระดับน้ำท่วม สูงกว่า ครั้งที่ผ่านมา พ่อท่านจึงจัดงานฉลองน้ำขึ้น โดยครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ ๒๕ ก.ย. -๑ ต.ค.๒๕๔๔)

ในครั้งนี้ได้นำ "เกี่ยข่วมฟ้า" เรือลำใหญ่ที่สุด ของบ้านราชฯ มาต่อเติม เป็นเวทีลอยน้ำถาวร โดยลากมาไว้ ด้านข้างเฮือนใหญ่ มีทีมช่างจากปฐมฯ ที่เดินทางมาก่อนล่วงหน้า รวมพลังหามรุ่งหามค่ำ ฝ่าฟันอุปสรรค นานัปการ เนรมิตเวทีลอยน้ำ ไม่กี่วัน ก็สำเร็จลุล่วง ทันวันฉลองน้ำพอดี

ขณะที่น้ำท่วม นายอำเภอวารินฯ ได้มาเยี่ยมชาวบ้านราชฯ และแจ้งว่า ระดับน้ำจะสูงเพิ่มขึ้นอีกประมาณ ๑ เมตร ซึ่งในขณะนั้น ระดับน้ำได้ท่วม สูงกว่าปีที่ผ่านมา แล้วหากเพิ่มอีก ๑ เมตร จะเป็นอย่างไร ข่าวนี้ได้สร้างความตื่นเต้น ให้ชาวบ้านราชฯ ไม่น้อยทีเดียว แต่ทุกอย่างล้วนอนิจจัง คืนวันผ่านไป ระดับน้ำไม่มีวี่แววว่า จะเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด แต่กลับค่อยๆ ลดลงวันละ ๑-๒ นิ้ว เมื่อถึงวันฉลองน้ำ ระดับน้ำจึงต่ำกว่าปีที่ผ่านมา และก่อนงาน เพียงเล็กน้อย ก็ได้ส่งจ.ม.ไปตามพุทธสถานต่างๆ เชิญชวนญาติธรรม มาร่วมงานฉลองน้ำ ดังนี้

๒๕-๒๖ ก.ย.ศีรษะฯ, สีมาฯ, กลุ่มบุญค้ำบุญคูณ
๒๗-๒๙ ก.ย.ศาลีฯ, สันติฯ, ปฐมฯ, และภูผาฯ
๒๙ ก.ย. กลุ่มเครือข่ายและผู้เข้ารับการอบรม ลูกหนี้ ธ.ก.ส.ที่ผ่านมาตั้งแต่รุ่น ๑-๕
๓๐ ก.ย. ไปเลี้ยงขอบคุณที่บ้านคำกลาง

สำหรับรายการในแต่ละวัน มีดังนี้
๐๓.๓๐-๐๕.๓๐ น. ธรรมรับอรุณ โดยพ่อท่าน(วันเว้นวันสลับกับสมณะ)
๐๗.๓๐-๐๘.๓๐ น. บิณฑบาตทางน้ำ
๐๙.๐๐-๑๑.๐๐ น. ธรรมก่อนฉัน โดยพ่อท่าน (วันเว้นวันสลับกับสมณะ)
๑๒.๐๐-๑๔.๐๐ น. กีฬาอาริยะ
๑๔.๓๐-๑๖.๐๐ น. กรีฑาทางน้ำ
๑๘.๐๐-๒๐.๓๐ น. ม่วนชื่นบนเวทีลอยน้ำ

มีการถกกันว่า การเดินทางมาร่วมงานฉลองน้ำที่บ้านราชฯนั้นคุ้มหรือไม่กับพุทธสถานต่างๆที่อยู่ห่างไกล ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการเดินทาง และระยะเวลาที่อยู่บ้านราชฯเพียงไม่กี่วัน ซึ่งเรื่องนี้ท่านสมณะได้เทศน์ว่า พุทธสถานบางแห่งอยู่ไกล เช่น ปฐมฯ, สันติฯ, และภูผาฯ หากนึกถึงทางโลก การเดินทางมา ร่วมงานฉลองน้ำ มีแต่เสียกับเสีย แต่หากคิดทางโลกุตระแล้ว คุ้มเกินคุ้ม เพราะได้มาพบกับ พระโพธิสัตว์ ฟังสัทธรรม จากพ่อท่าน ตอกย้ำความมั่นใจ ในทิศทางสัมมาทิฏฐิ เมื่อมาถึงแล้ว ต้องเปลี่ยนความเคยชินทุกอย่าง การนอนรวมกันมากมาย หาความเป็นส่วนตัวได้ยาก ห้องน้ำห้องท่า ก็ไม่สะดวก จะไปไหนมาไหน ต้องใจเย็นๆ และสามารถใช้เรือ ได้เพียงอย่างเดียว เรือพายใช่ว่าจะมีมากมาย ต้องรอคิว รอเรือเข้า-ออกตามเวลา หากใครรู้จักตักตวง เอาประโยชน์เหล่านี้ ก็เรียกว่า ได้กำไรมากมาย กับการได้ปรับจิตปรับใจ

ทางด้านอาหาร ยังคงได้รับน้ำใจจากพี่น้องญาติธรรมทั่วประเทศ ส่งผักผลไม้และอาหารแห้งมาให้ แทนมะละกอที่กินมานานแรมเดือน และในครั้งนี้มีผู้ประสานงานกลาง บริหารจัดการกับข้าวของที่ส่งมา ได้อย่างลงตัวไม่ซ้ำซ้อนเสียหาย

ในส่วนของกีฬาอาริยะ ที่พ่อท่านเคยคิดว่า น่าจะเกิดขึ้นในชาวอโศก ในงานครั้งนี้ได้บรรจุ กีฬาอาริยะ อยู่ในรายการ แต่ละวัน อาทิเช่น พายเรือตีกอล์ฟ เหมาะสำหรับ ผู้รักการพายเรือ เพราะท่านจะสนุกกับการพายเรือ เขี่ยผักตบชวา และ ลากสนม (ซากอินทรีย์วัตถุที่ทับถม) มารวมกัน เพื่อเตรียมทำปุ๋ยหลังน้ำลด และพายเรือเก็บขยะ ที่ลอยตามน้ำ ส่วนผู้ที่ชอบงานสูงๆ ก็มีงานมัดซาแลงก์ บนโครงเหล็ก บริเวณตลาดอาริยะ ตกลงมา ก็ได้เล่นน้ำสนุกไปเลย แต่ห้ามตั้งใจกระโดด เพราะอาจเจอตอไม้ได้ หรือหากว่าชอบงานเบาๆ ก็มีงานขนกาบมะพร้าว จากชั้นล่าง ใส่หลุมกระถาง บริเวณรอบระเบียง ชั้น ๒,๓ เพื่อเตรียมปลูกต้นไม้ และหากใครอยากสัมผัสดิน ก็มีงานเตรียมแปลง เพาะต้นกล้า ที่สวนวังไพร อยู่ที่บ้านคำกลางให้ทำ นอกจากนี้ ยังมีงานขัดๆล้างๆถูๆ และทำความสะอาด ที่ฮ้านปันบุญ -หม่องค้าผง -และห้องน้ำชาย หลังเฮือนใหญ่ ทั้งเด็กนร. และญาติธรรมแต่ละพุทธสถาน ร่วมกันเล่น อย่างสนุกสนาน และมีสาระ บ้านราชฯมีพื้นที่ กว้างใหญ่มาก หากไม่ได้ทุกท่าน มาร่วมด้วยช่วยกัน งานอีกมากมาย ก็คงต้องวางไว้ก่อน เพราะเสร็จงานนี้แล้ว ก็ต้องเตรียมงานอบรมฯ งานเจ และงานตลาดอาริยะอีก

ในส่วนของกรีฑาทางน้ำ วันแรกของงานเป็นการแข่งขัน ระหว่างชาวศรีษะฯที่มากันเกือบหมดหมู่บ้าน กับบ้านราชฯ เจ้าภาพ สถานที่แข่งขันจัดไว้บริเวณถนน จากเฮือนโสเหล่มายังเฮือนใหญ่ บรรยากาศสนุกสนาน เพราะมีการแข่งขัน ตั้งแต่ระดับเด็กชั้นประถมฯ ระหว่างสมุนพระรามเจ้าภาพ กับนกกระจาบจากศีรษะฯ ตลอดจนนร.นิสิต และ ผู้ใหญ่ทุกฐานะ มีการว่ายน้ำ พายเรือ และชักกะเย่อ มีกองเชียร์ ยืนล้นให้กำลังใจ อยู่บนระเบียงชั้น ๒-๓-๔

๒ วันถัดมา ได้ย้ายสนามแข่งขัน ไปยังบริเวณบุ่งไหมน้อย ข้างแพโบสถ์น้ำ เนื่องจากระดับน้ำลดลง และสนามแข่งขันคับแคบ เป็นการแข่งขัน ระหว่างทีมปฐมฯ-สันติฯ-บ้านราชฯ ไม่ว่าจะเป็น การว่ายน้ำเดี่ยว ว่ายน้ำผลัด และการพายเรือ ตั้งแต่หนึ่งถึงหลายฝีพาย โดยเฉพาะ ทีมผู้อายุยาว จากสันติฯ ที่โชว์ลีลาการพายเรือ ได้งดงาม และ เข้าเส้นชัย ไปอย่างสบายๆ เพราะล้วนแต่มีประสบการณ์ พายเรือมาแต่เยาว์วัย

ในส่วนของการล่องนาวาบุญนิยม ชมทัศนียภาพยามน้ำท่วม ก็จัดแบบฉบับกระเป๋า โดยเรือหางยาว ๑ วัน เนื่องจากระดับน้ำได้ลดลง จนไม่สามารถ นำเรือยนต์ลำใหญ่ เข้าไปได้ ก็เป็นอะไรที่เรียบง่าย และน่ารักไปอีกแบบ

การพายเรือ ยังคงได้รับความสนใจ จากพี่น้องบ้านโคกกันทุกคน โดยเฉพาะเด็กๆ พายไม่รู้จักเบื่อ ไม่กินข้าวก็ยอม บ้างก็พายไปชมหมู่บ้าน บ้างก็พายซ้อมมือก่อนลงแข่งขัน บ้างก็หัดพาย โดยก่อนที่จะพายเรือ ท่านสมณะฟ้าไท สมชาติโก ลูกแม่น้ำเจ้าพระยาโดยกำเนิด ได้ปฐมนิเทศ การใช้เรืออย่างไร ให้ปลอดภัย ทั้งเรือและชีวิต พร้อมมีบริการชูชีพผูกเอว สีหวานแหววป้องกันตัว หากพลาดพลั้ง ตกน้ำตกท่าไป

การบิณฑบาตทางน้ำ โดยพ่อท่านนำหมู่สมณะ-สิกขมาตุ- บิณฑบาตจากแพโรงครัว และไปตามบ้านในชุมชน ได้รับความสนใจ จากนร. และญาติธรรม รอใส่บาตรมากมาย

ในส่วนของเวทีลอยน้ำ โดยมีเรือเกี่ยข่วมฟ่า เป็นเวทีใหญ่ที่สวยงาม และได้มาตรฐาน จอดอยู่บริเวณด้านข้างเฮือนใหญ่ เป็นการแสดง ของแต่ละพุทธสถาน ที่ร่วมงาน โดยผู้ชม นั่งชมอยู่ตามระเบียง ชั้น ๒-๓-๔ บ้างก็พายเรือไปมา ชมอยู่หน้าเวที เมื่อระดับน้ำลดลง ได้ย้ายเรือเวที ไปยังบริเวณบุ่งไหมน้อย โดยญาติธรรม สามารถนั่งชม อยู่บริเวณเรือใหญ่ต่างๆ ที่จอดเรียงต่อๆกัน และบ้างก็พายเรือมาชม พร้อมกับให้ อาหารปลาไปด้วย

วันสุดท้าย ในค่ำคืนของวันที่ ๓๐ ก.ย. ชาวบ้านราชฯได้นำวงดนตรี-อาหาร ไปแสดง และเลี้ยงขอบคุณ พี่น้อง บ้านคำกลาง ชาวศีรษะฯ ได้นำข้าวเกรียบทอด มาร่วมแจกด้วย โดยทางบ้านราชฯ เขียนป้ายผ้าติดไว้ว่า "ขอบคุณที่ช่วยกันมาตลอด" มีประธานกรรมการบริหาร สภาตำบล ประธานสภาตำบล และตัวแทน ผู้ใหญ่บ้านคำกลาง ขึ้นมากล่าวขอบคุณ และร่วมร้องเพลง เป็นการกระชับความสัมพันธ์ ระหว่างบ้านราชฯ และบ้านคำกลาง ให้แน่นแฟ้น ยิ่งขึ้น งานเริ่มตั้งแต่ ๑๘.๐๐-๒๐.๓๐ น. โดยประมาณ เรือแงกเบิงแน และแกบอเฒ่านำพวกเราไปร่วมงาน และบ้างก็ พายเรือไปเองก็มี

ในช่วงก่อนฉันและทำวัตรเช้า พ่อท่านเทศน์พอสรุปได้ว่า

งานฉลองน้ำเป็นการพาสร้างจิตวิญญาณ เพราะคนจะลนลานกลัวกับสภาพที่เกิดขึ้น ถึงอย่างไร จะปักหลักอยู่ ที่นี่แน่นอน บ้านราชฯเมืองเรือ เป็นเมืองน้ำแน่นอน น้ำท่วมจึงเป็นเรื่องปกติ ของคนที่นี่ เราต้องปรับตัวว่า จะอยู่อย่างไร กับน้ำท่วม หลายคนเลิกถามว่า ทำไมสร้างเฮือนศูนย์เสียใหญ่โต? ขนเรือมาทำไมมากมาย?

ขอให้เราทำเหตุปัจจัยให้ดี แล้วทุกอย่างจะจัดสรรตัวมันเอง หากเชื่อว่าสิ่งนี้คือทรัพย์ เราจะเป็นชาวน้ำ (วารินแปลว่าน้ำ) ต้องเรียนรู้ ปรับตัว ปรับเรื่องจิตวิญญาณ น้ำท่วมบ้านราชฯ จนไม่มีดินจะเดิน ใครจะอยู่ก็อยู่ ใครจะหนีก็หนี บ้านราชฯ จะเป็นเมืองเรือ ปีนี้คนแก่ คนป่วย ไม่หนีอยู่สู้ พวกเราไม่อดอยาก พี่น้องช่วยเหลือเฟือฟาย นี่เป็นสังคมศาสตร์

เราจะอยู่กับเมืองน้ำให้ได้ ไม่หนี เคยอยู่เมืองบก(โคก)มาแล้ว ต่อไปจะเกิดเป็นวัฒนธรรม จารีตประเพณี การอยู่กับน้ำ จะไม่ทุกข์ เพราะฉะนั้น เราจะปรับตัวเอง สู้สถานการณ์ บูรณาการถิ่นฐานไปเรื่อยๆ

งานฉลอดน้ำได้จบลง อย่างสวยงาม อีกครั้งหนึ่ง ขอกราบขอบพระคุณท่านสมณะ -สิกขมาต ุ-ญาติธรรมทุกท่าน และนักเรียน สัมมาสิกขา ทุกพุทธสถาน ที่ได้มาให้กำลังใจ ร่วมงานฉลองน้ำ ร่วมบำเพ็ญประโยชน์ และทุกท่าน ที่เอื้อเฟื้อน้ำใจ ส่งอาหารมาให้

ณ วันนี้ ชาวบ้านราชฯเมืองเรือ พร้อมแล้วที่จะเป็นชาวน้ำอย่างมีความสุข น้ำท่วมจึงคือ เรื่องปกติของบ้านราชฯ เราจะแปรวิกฤติ สู่การพัฒนา ให้ยิ่งๆขึ้นสืบไป

คน

 

งานฉลองน้ำ ครั้งที่ ๒ หนังสือสารอโศก อันดับที่ ๒๔๐ เดือนกันยายน ๒๕๔๔ หน้า ๑๑-๑๘