กว่าจะถึงอรหันต์
พระภัททิยกาลิโคธาปุตตเถระ

หนังสือ สารอโศก
อันดับที่ 240
กันยายน 2544


เป็นกษัตริย์ตระกูลสูง
กล้าสิ้นสูญราชสมบัติ
ทรงออกบวชด้วยใจรัก
สุขยิ่งนักเหนือโลกีย์.

แม้ในอดีตของพระภัททิยเถระนี้ ก็ได้บำเพ็ญบุญบารมีเอาไว้กับพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ได้นินมต์พระพุทธเจ้า พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ๖ แสนรูปผู้เป็นนาบุญของโลกมาสู่เรือนของตน ด้วยจิตเลื่อมใส มีใจยินดีนัก แล้วถวายภัต อันประณีตพิเศษ ให้ขบฉันอย่างอิ่มหนำ บนที่นั่งทองซึ่งปูลาดด้วยเครื่องลาดอย่างดีวิเศษยิ่ง

พระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ทรงพยากรณ์เขาไว้ว่า "จะได้เกิดเป็นผู้มีใจสูงดุจท้าวเทวราช เสวยสมบัติอยู่ ๗๔ ครั้ง จะได้เป็น พระเจ้าประเทศราช ครองแผ่นดิน ๑,๐๐๐ ครั้ง จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ ๕๑ ครั้ง จะไปเกิดอยู่ในตระกูลสูง มีนามว่า ภัททิยะ แล้วได้ออกบวช เป็นสาวกของพระศาสดา พระนามว่า สมณโคดม"

ด้วยบุญที่สั่งสมนั้นแล้ว เขาตายจากชาตินั้นๆ ก็ได้เกิดเป็นเทวดาและมนุษย์ กระทั่งกาลเวลาล่วงเลยมาถึง.... สมัยแห่งพระพุทธเจ้า พระนามว่า กัสสปะ เขาได้เกิดอยู่ในตระกูลของกฎุมพี ผู้มั่งคั่งร่ำรวย ในเมืองพาราณสี ได้พบเห็นพระพุทธเจ้า และภิกษุทั้งหลาย เที่ยวบิณฑบาต แล้วแบ่งภัตตาหารกันฉัน เขาจึงถวายภัต และจัดที่นั่ง ตั้งน้ำล้างเท้าให้ ช่วยดูแลบำรุงหมู่สงฆ์ จนตลอด อายุขัยของตน

ครั้นกาลผ่านมาถึง... สมัยของพระพุทธเจ้าองค์สมณโคดม เขาได้เกิดเป็นกษัตริย์ ตระกูลสูงแห่งศากยวงศ์ นามว่า ภัททิยะ เมื่อได้เป็นกษัตริย์ ปกครองบ้านเมืองแล้ว ปรากฏว่า บรรดาเจ้าชายในวงศ์ศากยะ ต่างพากันออกบวช ตามพระพุทธเจ้า เป็นจำนวนมาก พระองค์เองก็เกิดจิตปรารถนาจะบวชบ้าง วันหนึ่งเมื่อสบโอกาสเหมาะ ทำทีเสด็จประพาส ราชอุทยาน พร้อมด้วยเสนา ๔ เหล่า และมีเจ้าชายอีก ๕ พระองค์เสด็จไปด้วยกัน คือ ภคุ อนุรุทธะ อานนท์ กิมพิละ และเทวทัต ครั้นออกจากเมืองได้ไกลแล้ว จังรับสั่งให้เหล่าเสนากลับไป แล้วทั้งหมด ๖ พระองค์ กับอุบาลี ซึ่งเป็นภูษามาลา (ช่างแต่งผม) ก็พากันไป ขอบวชกับ พระผู้มีพระภาคเจ้า

ครั้นบวชแล้ว พระภัททิยะมุ่งมั่น ฝึกฝนบำเพ็ญธรรม ไม่ช้านานนัก ก็ได้บรรลุอรหัตตผล เป็นพระอรหันต์ องค์หนึ่ง ในโลกแล้ว ดังนั้นไม่ว่าจะไปอยู่ ณ ที่แห่งหนใด ในป่าก็ตาม ในเมืองก็ตาม พระภัททิยเถระก็มีปกติอยู่เป็นสุข (ไร้กิเลส) ทุกเมื่อ บ่อยๆครั้ง มักอุทาน ออกมาเสมอว่า "สุขหนอ... สุขหนอ... สุขหนอ..."

ครั้นภิกษุอื่นๆได้ยินเช่นนั้น พากันเกิดปริวิตกว่า "ท่านภัททิยะ อดีตโอรสของ พระราชเทวีกาลิโคธา คงไม่ยินดี ต่อการประพฤติ พรหมจรรย์เป็นแน่ ในยามที่อยู่ป่า โคนไม้หรือเรือนว่าง คงหวนระลึกถึงความสุข (โลกีย์) ในราชสมบัติ เมื่อกาลก่อน จึงได้เปล่งอุทาน เนืองๆว่า สุขหนอ... สุขหนอ... สุขหนอ..."

จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลแด่พระศาสดา ขณะนั้นพระองค์ประทับอยู่ ณ อนุปิยอัมพวัน จึงตรัสเรียกตัว พระภัททิยเถระ มาซักถาม

"ดูก่อนภัททิยะ ท่านอยู่ในป่าก็ตาม โคนไม้ก็ตาม เรือนว่างก็ตาม มักอุทานว่า สุข หนอ... สุขหนอ... สุขหนอ... ดังนี้ จริงหรือ"

"จริงพระเจ้าข้า"

"ท่านเห็นอำนาจประโยชน์อะไรเล่า จึงอุทานเช่นนั้น"

"เมื่อข้าพระองค์เป็นคฤหัสถ์ในกาลก่อน เสวยสุขอยู่ในราชสมบัติ ได้รับการดูแลรักษาอย่างดี จากพวกราชบุรุษ ทั้งภายใน ทั้งภายนอกพระราชวัง ทั้งภายในทั้งภายนอกพระนคร ทั้งภายในทั้งภายนอกชนบท ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้จะมี การคุ้มครอง ดูแลเป็นอย่างดีแล้วนั้น ข้าพระองค์ก็ยังเป็น ผู้ตกอยู่ในความกลัว หวาดเสียว ระแวง สะดุ้งอยู่ แต่บัดนี้ ข้าพระองค์ ถึงจะมีลำพัง ผู้เดียวอยู่ป่า อยู่โคนไม้ อยู่เรือนว่าง ก็ไม่กลัว ไม่หวาดเสียว ไม่ระแวง ไม่สะดุ้ง มีภาระน้อย มีใจสงบ มีชีวิตเป็นไปด้วย ของที่ ผู้อื่นให้ ด้วยเห็นอำนาจประโยชน์นี้แล จึงอุทานเสมอๆว่า สุขหนอ... สุขหนอ... สุขหนอ..."

พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงอุทานในเวลานั้นว่า "ความกำเริบ (กิเลส) ย่อมไม่มีภายใน พระอริยบุคคล ผู้ก้าวล่วงความเจริญ และความเสื่อม มีประการอย่างนั้น เทวดาทั้งหลาย ย่อมไม่สามารถ เพื่อจะเห็น ความกำเริบในพระ อริยบุคคล นั้น ผู้ปราศจากภัย มีความสุข (อย่างโลกุตระ) ไม่มีความโศกแล้ว"

ในกาลนั้นเอง พระภัททิยเถระจึงได้บรรลือสีหนาท ณ เบื้องพระพักตร์ของพระศาสดาว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อก่อน ข้าพระองค์จะไปไหน ก็ขึ้นคอช้างไป แม้จะนุ่งห่ม ก็นุ่งห่มด้วยผ้าเนื้อละเอียด ที่ส่งมาจากแคว้นกาสี แม้จะบริโภค ก็ล้วนเป็นข้าวสาลี ที่สะอาด มีรสโอชา แต่ถึงกระนั้น ความสุขเหล่านั้น ก็ไม่อาจทำจิตของข้าพระองค์ ให้ยินดีได้ เหมือนความสุข ในวิเวก (สงบกาย - สงบจิต - สงบกิเลส) เช่นบัดนี้เลย

เดี๋ยวนี้ ข้าพระองค์ประกอบด้วยความเพียร ยินดีแต่อาหารที่ได้มาจากการบิณฑบาต ไม่ถือมั่นในสิ่งใดๆ เพ่งฌาน (สภาวะสงบกิเลส อันประณีตยิ่ง) อยู่ ถือเคร่งในธุดงค์ ๑๓ ข้อ ปฏิบัติในความมักน้อย สันโดษ อยู่สงัด ไม่คลุกคลี ด้วยหมู่คณะ

ข้าพระองค์ละทิ้งเครื่องราชูปโภค (เครื่องใช้สอยของพระราชา) คือ จานทองคำอันมีราคา ๑๐๐ ตำลึง (ทอง ๔๐๐ บาท) ที่งดงาม วิจิตรด้วยลวดลาย และภาพ ทั้งภายในและภายนอก มาใช้บาตรดินใบนี้ ซึ่งเสมือนการได้อภิเษก (ครองราชย์) เป็นครั้งที่ ๒...

แต่ก่อนข้าพระองค์ มีหมู่ทหารถือดาบ รักษาอยู่บนป้อมและกำแพงที่ล้อมรอบ มองเห็นได้ไกลๆ มีซุ้มประตูอย่างแน่นหนา ก็ยังคงมีความหวาดเสียว อยู่เป็นนิตย์ แต่...บัดนี้ ข้าพระองค์ไร้ความสะดุ้งหวาดเสียว ละความขลาดกลัวภัยได้แล้ว มาหยั่งลงสู่ป่า เพ่งฌานอยู่ ตั้งมั่นอยู่ในศีล เจริญสติและปัญญา ได้บรรลุถึงความสิ้นไปทั้งปวง แห่งสังโยชน์ (กิเลส ที่ผูกมัดใจ) แล้ว"

พระศาสดาทรงทราบคุณทั้งปวงของพระภัททิยเถระแล้ว ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่สงฆ์ ทรงแต่งตั้งให้เป็น ผู้มีเอตทัคคะ (ผู้ยอดเยี่ยมพิเศษในด้านใดด้านหนึ่ง) เลิศกว่าภิกษุทั้งปวง ในด้านผู้มาจากตระกูลสูง ได้เป็นมหาสาวก องค์หนึ่ง ในจำนวน ๘๐ องค์แล้ว

คุณวิเศษเหล่านี้คือ ปฏิสัมภิทา ๔ (ความรู้แตกฉานในเนื้อหา-ธรรมะ-ภาษา-ไหวพริบ) วิโมกข์ ๘ (ความหลุดพ้น จากกิเลส ๘ อย่าง) และอภิญญา ๖ (ความรู้ยิ่ง ๖ ประการคือ ๑.อิทธิวิธี มีฤทธิ์สู้กิเลสได้ ๒.ทิพพโสต หูทิพย์ แยกแยะกิเลสได้ ๓.เจโตปริยญาณ รู้วาระจิต มีกิเลสหรือไม่ของตน และผู้อื่น ๔.ปุพเพนิวาสานุสติญาณ รู้ระลึกชาติได้ ๕.ทิพพจักขุ ตาทิพย์เห็นแจ้งกิเลส ๖.อาสวักขยญาณ ความรู้ที่กิเลส หมดสิ้นแล้ว) พระภัททิยเถระ กระทำให้แจ้งชัดแล้ว กิจของพระพุทธศาสนาได้กระทำเสร็จแล้ว

ณวมพุทธ
พ. ๑๐ ต.ค. ๒๕๔๔

(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๖๔ พระไตรปิฎกเล่ม ๒๖ ข้อ ๓๙๑ พระไตรปิฎกเล่ม ๓๒ ข้อ ๔๕

 

 

กว่าจะถึงอรหันต์ หนังสือสารอโศก อันดับที่ ๒๔๐ เดือนกันยายน ๒๕๔๔ หน้า ๘๕