เวลคัมไนจีเรีย



สารอโศก
อันดับ 241
ตุลาคม 2544


นับเป็นข่าวดีและโชคดีของชาวปฐมอโศก ก็ได้มีโอกาสเป็นตัวแทนของประเทศไทย ในการต้อนรับ เอกอัครราชทูต และชาวคณะ แสดงศิลปวัฒนธรรม จากสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย เมื่อวันที่ ๓๑ ต.ค.๔๔

ก่อนจะเกิดงานนี้ขึ้น ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ ได้เรียนขออนุญาตจาก พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ เพื่อให้ชาวอโศก เป็นตัวแทน ในการต้อนรับ คณะจากสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย

กำหนดงานเริ่มตั้งแต่เวลา ๙:๐๐ น. ซึ่งเป็นการแสดงโหมโรงของชาวชุมชนก่อน เพื่อให้คณะแสดง ของชาวไนจีเรีย ได้แต่งตัว โดยการบรรเลงดนตรีไทย เครื่องดนตรี ที่เป็นเอกลักษณ์ไทย และในช่วงเวลาดังกล่าว ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด นครปฐม พร้อมด้วย เอกอัครราชทูตฝ่ายกงศุล ของสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย ก็เดินทางมาถึง พลตรีจำลอง ศรีเมือง และผู้ใหญ่บ้าน ชุมชนปฐมอโศก ให้การต้อนรับ

จากนั้นเวลา ๑๐ น.เศษ นายนาวิน ขันธหิรัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม เป็นประธานกล่าวเปิดงาน การแสดงศิลปวัฒนธรรม ของชาวไนจีเรีย งานนี้ได้รับเกียรติจากดร.ขวัญดี อัตวาวุฒิชัย เป็นล่ามแปล ให้ชาวไนจีเรียเข้าใจ เมื่อผู้ว่าฯ กล่าวเปิดงานเสร็จ พลตรีจำลอง ศรีเมือง อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ๒ สมัย ขึ้นกล่าว ต้อนรับท่านกงสุล และคณะผู้แสดงจากไนจีเรีย

พลตรีจำลองแนะนำชุมชนชาวอโศกว่า มีผู้พาก่อตั้งและนำพาปฏิบัติจนเกิดเป็นชุมชนพึ่งตนเอง คือ สมณะโพธิรักษ์ โดยที่ชุมชนชาวอโศก ดำเนินชีวิต ด้วยการปฏิบัติศีล ๕ เป็นอย่างต่ำ

เมื่อกล่าวต้อนรับและแนะนำชุมชนชาวอโศกเสร็จ เป็นการแสดงศิลปวัฒนธรรมของชาวไนจีเรีย มีทั้งหมด ๔ ชุด ได้แก่ ๑.การเต้นรำของคนเลี้ยงสัตว์
๒.การเต้นรำของข้าราชการในสำนัก
๓.การเต้นรำเคารพเทพเจ้าแห่งวัดญวน
๔.การเต้นรำให้ความเคารพดนตรี

การแสดงเป็นการสื่อให้เห็นถึงวิถีชีวิตของเผ่าไนจีเรียที่เรียบง่าย แต่เข้มแข็ง แข็งแรง มีการเคารพสิ่งที่ควรเคารพ ใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ พึ่งพาอาศัยธรรมชาติ สังเกตได้จากการใช้ลูกน้ำเต้าเป็นภาชนะ บ่งบอกให้เห็นว่า วิถีชีวิต ของชนเผ่าไนจีเรีย เป็นการดำเนินชีวิต ที่สมถะพอเพียง โดยเฉพาะเครื่องดนตรี ที่นำมาแสดง เป็นเครื่องดนตรี ที่หามาจากธรรมชาติทั้งสิ้น กลองใช้ท่อนไม้ ที่เจาะเป็นโพลง แล้วใช้ท่อนไม้ตี มีตุ่ม(ไห) ใช้ทำเป็นเสียงเบส มีเครื่องเป่า คล้ายขลุ่ยบ้านเรา แต่เป่าคนละลักษณะ และอื่นๆอีก ๒-๓ ชิ้น ที่ไม่ใช่ทำมาจาก ไฮเทคโนโลยีเลย...

เครื่องดนตรีไม่กี่ชิ้น และคอรัสหญิงเพียง ๒ คน พร้อมนักแสดงอีก ๘ ชีวิต สามารถสื่อศิลปะ การใช้ชีวิต ที่เป็นวัฒนธรรม ของชาวไนจีเรีย ได้อย่างเป็นธรรมชาติ พร้อมเพรียง สามัคคี มีชีวิตชีวา ทำให้นึกถึงพุทธพจน์ที่ว่า "ศิลปะ เป็นมงคลอันอุดม"

เมื่อการแสดงของชาวไนจีเรียเสร็จสิ้นลง ท่านเอกอัคราชทูตฝ่ายกงสุล มิสเตอร์ สตีฟ อัคบาน่า แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐ ไนจีเรีย ประจำประเทศไทย ขอพูดคุยสนทนา กับพวกชุมชนชาวอโศก เพราะประทับใจมาก ในการให้การต้อนรับ ที่อบอุ่น ประทับใจ น้ำใจที่เอื้อเฟื้อมีไมตรี แม้พูดคัยกันคนละภาษา แต่จิตวิญญาณ เป็นภาษาเดียวกัน ที่สัมผัสได้ ท่านทูตกล่าวว่า

"มาสัมผัสกับชุมชนชาวอโศก ทำให้คิดถึงบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้ำจิตน้ำใจที่ต้อนรับ เพราะลักษณะเช่นนี้ ใกล้เคียงกับ ชาวไนจีเรีย และที่สำคัญที่สุดคือ ชาวไนจีเรียทั้งประเทศ ซึ่งมีประชากร ประมาณ ๑๒๐ ล้านคน มี ๒๘๐ เผ่า ในประเทศ สั่งซื้อข้าวจากประเทศไทย มากที่สุดในโลก และเมล็ดข้าว ของชุมชนชาวอโศก อาจเป็นเมล็ดสุดท้าย ที่ไปถึงชาวไนจีเรีย ก็เป็นได้"

วัฒนธรรมใกล้เคียงกัน ย่อมสานสัมพันธ์ด้วยไมตรีที่สื่อถึงกันได้ จากนั้นได้มีการแลกเปลี่ยน การเล่นเครื่องดนตรี แต่ละชิ้น เช่น ระนาด กลอง ขลุ่ย ฯลฯ ไนจีเรียทดลองเล่น เครื่องดนตรีไทย คนไทยทดลอง เครื่องดนตรีของไนจีเรีย สร้างความประทับใจ และเกิดความเป็นพี่ เป็นน้องกันอย่างยิ่ง

และชุมชนชาวอโศกได้สร้างความประทับใจให้ชาวไนจีเรียแบบไม่รู้ลืม นั่นคือการมอบเครื่องดนตรีไทยระนาด ให้กับชาวไนจีเรีย โดยพลตรีจำลอง เป็นผู้มอบ ให้กับท่านเอกอัคราชทูต ทำให้ชาวไนจีเรีย ซาบซึ้งใจ ดีใจ จนแสดงออกมา ด้วยการกระโดด ร้องไชโย (เป็นภาษาของเขา) กันทุกคน และขึ้นไปแบกระนาดชูขึ้นเหนือศีรษะ แล้วนำระนาดไทย วางบนศีรษะ เดินลงจากเวที แววตาแห่งความปีติ บ่งบอกให้เห็นถึงความเป็นพี่เป็นน้อง ดวงตาคือ หน้าต่างของหัวใจ ทำให้นึกถึง พระพุทธพจน์ที่ว่า "โลกทั้งผองพี่น้องกัน" ใช่! ช่างถูกต้องและเป็นจริง แม้จะอยู่ต่างชาติ ต่างภาษา แต่สายตา และจิตวิญญาณ คือภาษา ที่สื่อกันได้

ปิดท้ายการแสดง ด้วยชุดรำกลองยาวจากเด็กสัมมาสิกขาปฐมอโศก เสียงกลอง สามารถสร้างสัมพันธ์ อันลึกซึ้ง กับชาวไนจีเรีย ได้ดียิ่ง เพราะนักดนตรีนักร้อง และหลายๆคนในคณะ ได้ขึ้นไปรำกลองยาว และเลียบแบบ การต่อตัว ทำให้บรรยากาศ ยิ่งเป็นพี่เป็นน้องกัน อย่างแท้จริง ต่างสนุกสนานริ่นเริง ในเชิงของสื่อ ที่สร้างสัมพันธภาพ อันดีงาม

งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกลา แต่หากความศรัทธาและประทับใจจะยืนยาวต่อไป ชาวไนจีเรียร่วมถ่ายภาพ กับสมณะ สิกขมาตุ ไว้เป็นที่ระลึก ชาวไนจีเรียมีความขี้อาย เกรงใจ สัมผัสได้ถึงความอ่อนน้อม ถ่อมตน ให้เกียรติผู้อื่น เป็นผู้มีจิตใจงดงาม ในสีผิวที่แตกต่าง

จำใจจากลา แม้ว่าประทับใจอย่างสุดซึ้ง ชุมชนชาวอโศกได้มอบของชำร่วย ให้กับคณะชาวไนจีเรียทุกๆคน เลี้ยงต้อนรับ ด้วยอาหาร ที่ปลอดภัยไร้สารพิษ มอบสิ่งที่ดีๆให้ แม้จะไม่ใช่ธรรมะที่พาพ้นทุกข์ แต่สิ่งที่ประทับใจ อาจสานสัมพันธ์ เชื่อมโยงต่อกัน ในภพหน้าชาติหน้า โบกมือลา ด้วยสายตาที่อบอุ่น เอื้ออาทร และอาลัยอาวรณ์ ในความประทับใจ

ขอขอบคุณชาวอโศกทุกพุทธสถาน ขอขอบคุณนักเรียนสัมมาสิกขาทุกพุทธสถาน ที่ไปร่วมกัน เป็นตัวแทนประเทศไทย ในการต้อนรับ ชาวสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย และขอขอบคุณอย่างยิ่ง คือดร.ขวัญดี อัตวาวุฒิชัย ล่ามกิติมศักดิ์ ที่ทำให้ไทย และไนจีเรีย พูดภาษาเดียวกัน

ฝั่งฟ้าฝัน

*สหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย เมืองหลวงคือลาโก้ (Lagos) ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของอัฟริกา บนเส้นละติจูด 3 57'N ถึง 13 54'N และเส้นลองติจูด 2 39 W ถึง 14 38 W มีเนื้อที่ 356,668 ตารางไมล์ ภาษาทางการ คือภาษาอังกฤษ ประชากรส่วนใหญ่ นับถือศาสนาอิสลาม และศาสนาคริสต์ ยังมีความเชื่อ เรื่องภูติผี วิญญาณ และเครื่องลางของขลัง...



     

สารอโศก อันดับ ๒๔๑ ตุลาคม ๒๕๔๔ เวลคัมไนจีเรีย หน้า ๓๖-๓๙