เปิดหน้าต่าง ต.อ.

เสียงสะท้อนจาก อ.ย.
เมื่อมาเยือนชุมชนอโศก



สารอโศก
อันดับ 241
ตุลาคม 2544


เมื่อวันที่ ๑๗-๑๘ กรกฏาคม ๒๕๔๔ ที่ผ่านมา น.พ.บุญชัย สมบูรณ์สุข รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา นำทีมงานจากกองต่างๆ ของ อ.ย. กรมอนามัย และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ จากสำนักงาน คณะกรรมการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เขต อาจารย์จาก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำนวนกว่า ๒๐ ท่าน ให้เกียรติมาเยี่ยมชม ชีวิตความเป็นอยู่ และการผลิต ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ณ ชุมชนราชธานีอโศก และ ชุมชนศีรษะอโศก ดังที่เคยรายงานข่าวไปแล้ว

ในการมาเยือนครั้งนี้ คุณสุรีย์ วงศ์ปิยชน แห่งกรมอนามัย ได้ช่วยบันทึกข้อคิด ความเห็นที่หลากหลาย จากคณะผู้มาเยือน ในช่วงสรุปการดูงานที่ศีรษะอโศก ฝากไว้ให้เป็นกำลังใจ และข้อคิดแก่พวกเราชาวอโศก ทีมงาน ต.อ.กลาง ขอตัดตอน บางส่วน มารายงาน ดังนี้

ภก. วัฒนา ผอ. กองเครื่องมือแพทย์ อ.ย. รู้สึกเป็นบุญที่ได้เห็นวัฒนธรรม การอยู่รวมกัน ขององค์กร ใช้คุณธรรม นำองค์กร ซึ่งเป็นหลักพื้นฐาน ในการพัฒนาองค์กร

คุณอมรรัตน์ สภาพัฒน์ฯ เคยไปชุมชนอื่นมาหลายแห่งแล้ว เรื่องของชุมชนอโศก เคยได้ยิน ได้ฟังมาบ้าง ที่นี่เด่น ที่เป็นชุมชน คนหลากหลายอาชีพ หลายพื้นฐาน ประทับใจกับการพัฒนาบุคลากร การพัฒนาเยาวชน เด็กรุ่นเล็ก จะเป็นจุดแข็ง

ภญ.พรพรรณ กองควบคุมเครื่องสำอาง อ.ย. จุดเด่นของชาวอโศกมีความสุภาพ อ่อนน้อม ภายใต้ความเข้มแข็ง รับฟังคำชี้แนะ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ต้องมีการตรวจสอบคุณภาพ ทางวิทยาศาสตร์ การจะเป็นแม่แบบ ควรเรียนรู้ องค์ความรู้ เหตุผล

คุณเรวดี สภาพัฒน์ฯ ได้มีโอกาสสัมผัสเรียนรู้ชุมชนอโศก เห็นชุมชนเข้มแข็งจากฐานราก เห็นการลงมาทำงาน ของหน่วยราชการ ที่มาเสริมหนุนชุมชน พร้อมเรียนรู้ด้วย เป็นความประทับใจ แผนพัฒนาฯประเทศ ในปัจจุบัน รัฐมุ่งยกเศรษฐกิจฐานราก ขาดรูปธรรมชัดเจนที่เป็นจริง เพราะฉะนั้น หากมีการถอดกระบวนการเรียนรู้ จากชุมชนนี้ ตนเองยินดี เป็นส่วนหนึ่ง ที่จะช่วย

ภญ. สุบุญญา ผอ. กองวิชาการ อ.ย. การทำความดี เสียสละ เป็นตัวอย่างเป็นการทำบุญ ส่วนตัวไม่เห็นข้อบกพร่อง แต่ห่วงความปลอดภัย การใช้เครื่องจักร เครื่องมือ สุขภาพหู ของผู้ปฏิบัติงาน ที่โรงสีข้าว (เสียงดัง)

ดร. ทิพย์วรรณ กองควบคุมอาหาร อ.ย. ที่นี่ร่ำรวยเรื่องความเข้มแข็ง ใช้วิกฤติเป็นโอกาส ประเทศมองหาชุมชน ที่เป็นตัวอย่าง ต้นแบบการเรียนรู้ ความเข้มแข็งชุมชน การผลิต แปรรูป เพื่อการพึ่งตนเอง ยินดีช่วยพัฒนา แลกเปลี่ยน ประสบการณ์ การพัฒนาระบบอาหาร ให้ได้คุณภาพ เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ ให้ที่อื่น ๆ ขอชื่นชม การพัฒนาเด็กรุ่นใหม่

คุณฉวีวรรณ ศูนย์ประสานงานพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน (ศพช.) อ.ย. ชอบใจคำว่า "ตีนหนา หน้าบาง" อยากติดดิน อยากมีวิถีชีวิตแบบชาวอโศก เคยร่วมทำคู่มือผลิตภัณฑ์ สุขภาพชุมชน ร่วมกับคุณปัทมาวดี กสิกรรม ตอนนี้ประเทศต้องการ ฟังชาวบ้านพูด เพราะฉะนั้น อโศกจะเป็นที่ดูงาน ต้องเหนื่อยกับการพัฒนาคน เป็นครูชุมชน คนอื่นจะจำอโศก เป็นแบบอย่าง

คุณสุรีย์ กองสุขาภิบาลอาหาร กรมอนามัย อยากให้ชุมชนเป็นบทเรียน เป็นครูแก่ชุมชนอื่น โดยเน้นผู้ดูงานให้เห็นว่า ที่เป็นเช่นนี้ เพราะยึดหลักศีลเด่น (มีคุณธรรม) ๔๐% เป็นงาน (สัมมาอาชีพ) ๓๕% ชาญวิชา ตามหลักสูตรการศึกษา) ๒๕% เรื่องมาตรฐานที่ท่านสมณะ (ท่านร่มเมือง ยุทธวโร)สะท้อนว่า อ.ย. เข้มงวดแต่อาหารและยา ส่วนเหล้า บุหรี่ก่อให้เกิดโทษ ต่อสุขภาพคน มากมายไม่เข้มงวด มาตรการการจัดการเรื่องนี้ คงต้องมองเชื่อมโยง ในมิติสุขภาพ ให้นโยบายระดับชาติ ภูมิภาค ไปถึงนโยบายระดับโลก ซึ่งนานาชาติ เช่น WHO ต้องช่วยกัน อีกทั้งแรงหนุนหลัก ในระดับฐานรากสังคม ประชาชน ชุมชน โดยมีสมณะนำ ในด้านศีลธรรม ให้ลด ละ เลิกเหล้า บุหรี่

คุณอุสนา กองควบคุมอาหาร อ.ย. ที่นี่ธรรมชาติให้ความสดชื่น สงบ จุดต่างๆ ที่ดูงานเห็นเด็กพัฒนา พูดจาฉะฉาน อธิบาย ฐานงานผลิตได้คล่อง ปฏิบัติตรง รู้จริง ทางชุมชนเอง ก็มีจิตสำนึก เรื่องความปลอดภัย ของผลิตภัณฑ์ รับผิดชอบตนเอง ชุมชน และชาวบ้านในเครือข่าย เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ ปลอดภัยสู่สังคม ชุมชนเปิดใจ ตั้งใจพร้อมรับ คำติชม เพื่อพัฒนาตนเองตลอดเวลา เพราะมีคุณธรรมนำ ทำให้นึกถึงความปลอดภัย

คุณวัชระ สภาพัฒน์ฯ ชุมชนครบวงจร เป็นองค์รวม สภาพสังคมเข้มแข็ง สงบ โดยมีเศรษฐกิจเสริม ที่นี่เน้นการเรียนรู้ สร้างคน เห็นจากเยาวชน ใช้ชีวิตอยู่ในชุมชน ทำกิจกรรมผลิตแชมพู กลุ่มเยาวชนมีแววตา พร้อมรับการปรับปรุง พัฒนา เรียนรู้ คุยกันด้วยเหตุผล

ภก. วินิต กองควบคุมยา อ.ย. เป็นชุมชนที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ได้ ผู้ประกอบการมีคุณธรรม สถานที่เด่น ชั้นเดียว มีความสะอาด เห็นการประยุกต์ เทคโนโลยีของชุมชน อาจเนื่องจากมีผู้รู้ในชุมชน ผลิตภัณฑ์สมุนไพรอบแห้ง มีการบรรจุสูญญากาศ เก็บไว้แปรรูป น่าจะส่งเสริม การผลิตวัตถุดิบ บรรจุจำหน่าย ควรเตรียมก้าวต่อไป เพื่อให้ได้มาตรฐาน GMP เรื่องเอกสารการผลิต จำเป็นต้องมีบันทึก ให้ชัดเจน

ภญ. กาญจนา สสจ. อุบลฯ โชคดีที่ได้มีโอกาสมา เข้ามาบรรยากาศเหมือนวัด การพูดคุยแลกเปลี่ยน เหมือน สนทนาธรรม เจอโรงเรียน พบนักเรียน เห็นบรรยากาศการผลิต ประทับใจโรงสี จากฝีมือนักเรียน สรุป ที่นี้คือ "บวร" บ้าน วัด โรงเรียน ที่นี้อยู่ดีมีสุข

เกษตรจังหวัดศรีสะเกษ เกษตรกรตื่นตัวเรื่องเทคโนโลยีชีวภาพ ลดการใช้สารเคมี ช่วงแรก ยังไม่มีการศึกษาทดลอง เป็นข้อมูลทางวิชาการ ที่จะยืนยัน ให้นักวิชาการยอมรับ คงจะเป็นประโยชน์ แก่เกษตรกร ได้รับการอนุเคราะห์ องค์ความรู้ ได้เรียนรู้จากที่นี่

สสจ.ศรีสะเกษ มาได้ ๓-๔ ครั้งแล้ว ประทับใจการใช้คุณธรรม วิสัยทัศน์ สอนการลดโลภ โกรธ หลง ใช้การพัฒนา แบบยั่งยืน พัฒนาระดับล่างชุมชนขึ้นมา ผมพยายามใช้ตัวอย่างที่นี่ พูดให้ชุมชน และเพื่อนๆ ฟัง รวมถึงแนะนำ ให้มาดูงานด้วย

ภก.สงกรานต์ ที่ปรึกษา รมว. สาธารณสุข และ ศพช. อ.ย. เริ่มต้นคุยกันร้อนไปหน่อย ขออธิบายวัฒนธรรมอโศก การตำหนิ เป็นการชี้ขุมทรัพย์ ในส่วนของท่าทีชาวอโศก ต่อผู้มาเยือน พึงระมัดระวัง

นพ. บุญชัย รองเลขาฯ อ.ย. วัฒนธรรมการพูดคุยกัน "การชี้ขุมทรัพย์" ตรงกับที่ อ.ย.ถูกด่าทุกวัน ถูกชี้ขุมทรัพย์ทุกวัน สิ่งแวดล้อม เปลี่ยนพฤติกรรมคน ชุมชนสร้างสิ่งแวดล้อมใหม่ เปลี่ยนพฤติกรรม หล่อหลอมคน ให้เป็นที่ต้องการ ของสังคมนั้นๆ ประเทศชาติ ซึ่งเคยพัฒนาแบบ เศรษฐกิจพอเพียง กลายเป็นพัฒนา เศรษฐกิจแบบสากล คิดถึงการขาย ได้เพิ่มส่งออก เป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำอย่างไร จะหาเงินเข้าประเทศ เปลี่ยนเกษตรเป็นอุตสาหกรรม ผลผลิต มวลรวมมากขึ้น นำวัตถุดิบ ส่งขายต่างประเทศ ซึ่งต้องลงทุนมาก ชวนต่างชาติเข้ามาลงทุน พอเขาดึงเงินกลับไป เลยล้มละลาย จะกลับสู่สังคมเก่าก็ยาก เลยติดกับดัก นโยบายเปิด เรื่องการท่องเที่ยวมาก วัฒนธรรมไหลเข้า ทั้งดี และไม่ดี สิ่งแวดล้อมระดับประเทศ บีบพฤติกรรม เปลี่ยนคนเข้ามาอยู่ในเมือง

อโศกพยายามทวนกระแสสังคม เป็นจุดเริ่มที่ดี แม้มีหลายแห่ง แต่เมื่อเทียบกับทั้งประเทศ ก็ไม่มากพอ ผมเคยไปเรียน ต่างประเทศ ที่ออสเตรเลีย เมืองบริสเบน เมืองสะอาด เป็นระเบียบ เรียบร้อย บรรยากาศดี สิ่งแวดล้อมดี ขยะ โภชนาการดี ทำมาหากินสัมมาอาชีพ เมืองน่าอยู่ มีจริยธรรม ศีลธรรม กิจกรรมทางเศรษฐกิจ พึ่งตนเองได้ กรมอนามัย พยายามทำโครงการ "เมืองน่าอยู่" แต่หาตัวอย่างไม่ได้ ไม่ว่าชุมชนในเมือง หรือชนบท อโศกเป็นแบบอย่าง น่าสนใจ เรื่องสังคมน่าอยู่ เมืองน่าอยู่ ด้านจิตใจ ชีวิต สังคมความเป็นอยู่ ทำอย่างไร ให้เกิดการเรียนรู้ จากสังคมส่วนใหญ่ ไม่แน่ใจว่า รัฐเข้าใจสังคมฐานรากหรือไม่ ต้องการทำแต่สังคมแบบโลกๆ เน้นการท่องเที่ยว ดึงนักท่องเที่ยว ต้องพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ชุมชนอโศก เป็นแบบอย่างที่ดี ในหลายเรื่อง สุขภาพ เศรษฐกิจชุมชน สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตที่ดี แต่หลายคน ยังมีปัจจัยแตกต่าง ที่ไม่อาจเข้าเรียนรู้ ชุมชนเด่นที่ค่านิยมรวม ศีลเป็นตัวยึด ที่โลกภายนอกไม่มี เป็นเรื่องที่ช่วย สังคมได้มาก หากทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ กับโลกนอกชุมชน เกิดการเรียนรู้ จะเป็นการทำบุญใหญ่

โครงการวิจัยพัฒนากระบวนการผลิต และตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ด้วยตนเอง ของ ต.อ. เป็นรูปธรรม ให้ชุมชนอื่น นำไปทำ กระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์ของชาวอโศก ไม่ใช่แค่คุณภาพ แต่ทุกผลิตภัณฑ์ ใส่คุณธรรมลงไปด้วย ไม่ต้องไล่ตรวจในตลาด ตามกระแสใหญ่ ขอชื่นชม



 
สารอโศก อันดับ ๒๔๑ ตุลาคม ๒๕๔๔ เปิดหน้าต่างต.อ. หน้า ๔๐-๔๕