กว่าจะถึงอรหันต์
พระเชนตปุโรหิตปุตตเถระ
หนังสือพิมพ์สารอโศก
หน้า 1/1

*ใครหยิ่ง ถือตัว ถือดี
มักมี นิสัย กระด้าง
หมิ่นเขา ยกเรา ทำกร่าง
ไกลห่าง นอบน้อม นิพพาน

พระเชนตเถระนี้ ได้บำเพ็ญบุญญาธิการเอาไว้แล้ว ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญกุศลทั้งหลาย มิใช่น้อยในชาตินั้นๆ

เมื่อมากำเนิดในยุคของพระพุทธเจ้าองค์สมณโคดม ได้มาเป็นบุตรปุโรหิต ของพระเจ้าปเสนทิโกศล แห่งนครสาวัตถี โดยมีชื่อว่า เชนตะ

นิสัยของเชนตมาณพนั้น เพราะบิดาเป็นถึงปุโรหิต (พราหมณ์ที่ปรึกษา ของพระราชา) จึงเย่อหยิ่งถือดี ถือตัวมัวเมา ในชาติตระกูลของตน ที่เป็นพราหมณ์ บริสุทธิ์ ทั้งฝ่ายบิดา และมารดา มัวเมาในยศฐา บรรดาศักดิ์ว่า เกิดอยู่ในตระกูลพราหมณ์ ที่มีชื่อเสียง มีทรัพย์สมบัติมาก และมัวเมา ในรูปร่าง หน้าตาดี มีผิวพรรณงาม ด้วยความเมาทั้งหลายนั้น ทำให้เชนตมาณพ สำคัญตนว่า ไม่มีใครเสมอเหมือนตน หรือดียิ่งไปกว่าตน

เขากลายเป็นคนโง่เขลา เพราะกุศล ถูกกำจัดเสียแล้ว ด้วยอติมานะ (การดูหมิ่นผู้อื่น) มีใจกระด้างถือดี ไม่เอื้อเฟื้อ มักดูหมิ่นผู้อื่น จึงไม่กราบไหว้ใครๆ แม้กับ บิดามารดา พี่ชายพี่สาว หรือกับสมณพราหมณ์ ที่โลกสมมุติว่า เป็นครูบาอาจารย์ ก็ตาม เขาก็ไม่ให้ ความเคารพยำเกรง แต่บุคคล ที่อยู่ในฐานะ ที่ควรเคารพ

วันหนึ่ง...เชนตมาณพได้พบเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงกำลังแสดงธรรม อยู่ท่ามกลาง บริษัทหมู่ใหญ่ เขาเกิดความคิด ขึ้นในใจว่า

"เมื่อพระสมณโคดมนี้ แสดงธรรมจบ เราจะเข้าไปเฝ้า แต่ถ้าพระองค์ ไม่ตรัส ทักทายเราก่อน เราก็จะไม่ทักทายด้วย ถ้าตรัสทักทายเรา เราจึงจะทักทายตอบ"

การแสดงธรรมจบแล้ว เขาจึงเข้าไปยืน อยู่ในที่ไม่ไกลพระองค์นัก แต่พระศาสดา มิได้ตรัสทักทายเขาเลย เขาจึงไม่ยอม ทักทายก่อน ก็ด้วยความถือตัวจัดของเขา จึงแสดงอาการ จะเดินผละจากไป... ขณะนั้นเอง พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้ตรัส กับเขาก่อน

"ดูก่อนพราหมณ์ ใครๆในโลกนี้ หากมีมานะ (ถือตัวถือดี) ย่อมไม่ดีเลย ผู้ใดหากมา ด้วยความหวัง ในประโยชน์ใด ผู้นั้นพึงควรเพิ่มพูน ให้ได้ในประโยชน์นั้น"

เชนตมาณพ รู้สึกอัศจรรย์ใจขึ้นมาทันทีว่า

"พระสมณโคดม ทรงรู้จิตใจของเรา"

เขาจึงบังเกิดความศรัทธายิ่ง ละพยศสลัดทิ้งมานะ และความมัวเมา ทั้งหลาย ตรงเข้าไปน้อมศีรษะ ซบลงที่พระบาททั้งสอง ของพระศาสดา กระทำอาการ เคารพบูชาอย่างยิ่ง แล้วทูลถามว่า

"ผู้เป็นพราหมณ์นั้น ไม่ควรทำมานะกับใคร ควรมีความเคารพ ยำเกรงใคร และบูชาใคร ด้วยดีแล้ว จึงจะเป็นการดี"

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสตอบปัญหาแก่เขาว่า

"ไม่ควรทำมานะ กับบิดามารดา พี่ชายพี่สาว และ ครูบาอาจารย์ ควรมีความเคารพยำเกรง และบูชา บุคคลเหล่านั้น ด้วยดี จึงจะเป็นการดี

ควรทำลาย มานะของตนเสีย ไม่ควรมีความกระด้าง กับพระอรหันต์ผู้เย็นสนิท ผู้ทำกิจเสร็จแล้ว หาอาสวะ (กิเลสที่หมักหมม ในสันดาน) มิได้ พึงนอบน้อมแก่ท่านเหล่านี้ ซึ่งไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า"

ด้วยจิตแนวแน่ น้อมไปในธรรมเทศนานั้น ทำให้เขาได้บรรจุธรรม เป็นพระโสดาบัน ณ ที่นั้นเอง จึงทูลขอบวช กับพระศาสดา ต่อมา เมื่อบวชแล้ว ได้พากเพียรบำเพ็ญ ในสมณธรรม (ธรรมของผู้สงบระงับกิเลส) จนได้บรรลุ เป็นพระอรหันต์ องค์หนึ่ง และได้ประกาศ อริยคุณของตนว่า

"เราละทิ้งมานะ และความมัวเมา ทั้งปวงได้แล้ว มีใจผ่องใส การถือตัวว่า เป็นเรา เป็นเขา เราต้องขาดแล้ว การถือตัวต่างๆทั้งหมด เรากำจัดสิ้นแล้ว เราถอนมานะทั้ง ๙ ได้แล้วด้วยดี คือ
๑. แม้ดีกว่าเขา ก็ไม่ถือสาว่า ดีกว่าเขา
๒. แม้ดีกว่าเขา ก็ไม่ถือตัวว่า เสมอเขา
๓. แม้ดีกว่าเขา ก็ไม่ถือตัวว่า เลวกว่าเขา
๔. แม้เสมอเขา ก็ไม่ถือสาตัวว่า ดีกว่าเขา
๕. แม้เสมอเขา ก็ไม่ถือตัวว่า เสมอเขา
๖. แม้เสมอเขา ก็ไม่ถือตัวว่า เลวกว่าเขา
๗. แม้เลวกว่าเขา ก็ไม่ถือตัวว่า ดีกว่าเขา
๘. แม้เลวกว่าเขา ก็ไม่ถือตัวว่า เสมอเขา
๙. แม้เลวกว่าเขา ก็ไม่ถือตัวว่า เลวกว่าเขา

เราขอกราบไหว้พระศาสดา ผู้สูงสุดกว่าสัตว์โลกทั้งหลาย ด้วยเศียรเกล้า การถือตัวว่า ดีกว่าเขา เสมอเขา และเลวกว่าเขา มานะทุกอย่าง เราได้ทำลายหมดสิ้นแล้ว"

*ณวมพุทธ
พุธ ๕ ธ.ค.๒๕๔๔
(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๖ ข้อ ๓๕๕ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๒ หน้า ๒๐๑)

สารอโศก อันดับ ๒๔๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ กว่าจะถึงอรหันต์