หน้าแรก >สารอโศก


"คนดีไม่ดื้อ คนดื้อไม่ดี"


"กาลามสูตร" คำสอนว่าด้วยชาวพุทธไม่ควรเชื่อง่ายๆ ในเรื่องที่ได้ยินได้ฟังมา แม้ที่สุด ความคิดเห็นของตน จนกว่า จะได้พิสูจน์ เห็นจริง นั่นยืนยันว่า พุทธศาสนา เป็นศาสนาแห่งการใช้ปัญญา

เมื่อปัญญาเกิดแล้ว ศรัทธาจึงเกิดตาม ศรัทธาที่ถูกตรงของพุทธนั้น มีพลังยิ่งใหญ่ และงดงามยิ่งนัก สามารถเข็น กงล้อธรรมจักร ให้ขับเคลื่อน ผ่านเวลานานกว่า ๒,๐๐๐ ปี ท่ามกลาง ชาวพุทธส่วนใหญ่ ที่เดินออกนอกลู่ นอกทาง สวนกระแส ไปทรงจ้าว เข้าผี เล่นอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ นอกขอบเขตพุทธ

"ภูผาฟ้าน้ำ" เป็นอีกหนึ่งในพุทธสถาน ของชาวอโศก และวิหารดอยฟ้า ศูนย์รวมจิตวิญญาณ ของญาติธรรมทางเหนือ พิสูจน์ศาสนา คือ พลังรวมสังคม เพื่อสร้างก่อสิ่งดีงาม ให้แก่มนุษยชาติ

จากบทสัมภาษณ์ ของพ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ เพื่อรู้ถึงบรรยากาศ ภูผาฟ้าน้ำ และเข้าถึง นัยะลึกซึ้ง ของการทำงาน คือการปฏิบัติธรรม อย่างไร!

-ภูผาฟ้าน้ำนับเป็นพุทธสถานน้องใหม่ จัดงานประจำปีเป็นครั้งที่ ๒ แล้ว พ่อท่านได้ขึ้นไป ร่วมงาน บรรยากาศ เป็นอย่างไรคะ?

-บรรยากาศก็ดีซิ ทุกคนที่ไปต่างก็ชื่นชอบ สิ่งแวดล้อมที่ล้อมรอบด้วยภูเขา ลำเนาไพร มี ลำธาร อากาศเย็นสบาย ตอนเช้า ก็มีหมอกให้ดู แถมตรงกับวันเพ็ญ ๑๔-๑๕ ค่ำพอดี เพราะฉะนั้น ทั้งกลางวัน กลางคืน ก็ดูดี

พวกเราตอนนี้ ติดงานช่วยทำการอบรมกันเยอะ เลยไปได้เป็นบางส่วน ที่ใดจำเป็นต้องไป ช่วยงานอบรมก็ไปกัน ส่วนผู้ที่มาได้ก็มา ก็มีคนไม่น้อยเหมือนกัน ประมาณ ๓-๔๐๐ คน ตามประสาเราๆ ไม่ได้ทำให้หวือหวาฟู่ฟ่า เปลืองผลาญอะไร เป็นการสร้างสรร ตามเป้าหมาย ที่พวกเรา จะสร้างจิตวิญญาณ ให้เป็นจิตวิญญาณสัมพันธ์ที่ดี เกิดความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจ ผนึกเป็นหนึ่งเดียวกัน อาตมาก็ว่าเข้าท่า ทุกอย่างดูดีขึ้น เนียนขึ้น และเราก็มีอะไร ที่เป็นนโยบาย ที่จะพยายามสร้างสรรขึ้นมา มีอะไรก็บอกกล่าวกัน

-มีดำริจะเพิ่มวันงานขึ้นใช่ไหมคะ?

-ใช่ เพราะเห็นว่าดี ซึ่งก็คงต้องเป็นอะไรอันหนึ่ง ที่พวกเราควรซับทราบ โดยที่นี่มีนัยะ ต่างจากที่อื่น ตรงที่ว่า ยังไม่มีกิจกรรม ที่ประกอบเป็น ยัญพิธีอะไรมาก เพราะเป็นงานที่ เน้นทางจิตวิญญาณ ไม่ได้สร้างก่อ หรือไปทำ ให้เป็นงาน เป็นการอะไร ที่จริงว่าไปแล้ว เป็นงานพักผ่อน มีสันทนาการกันด้วย แต่เราก็ไม่ให้ขาดสภาพ ที่เกิดประโยชน์ ทางจิตวิญญาณที่ดี เท่าที่จะสามารถทำได้ ก็พยายามกันอยู่ เพิ่งเริ่มต้นเป็นปีที่ ๒ ที่อื่นๆ ทำมาแล้วเป็น ๑๐-๒๐ ครั้ง จะให้เหมือนกัน ได้อย่างไร และที่นี่ ก็เป็นรูปแบบใหม่ อาตมายังไม่เก่ง ที่จะบอกลงไป ทันทีว่า จะให้เป็นอย่างไร หรือชี้เปรี้ยงๆ ทำให้มันพรึบ ขึ้นมาเลย ก็ยังทำไม่ได้ รอให้พวกเรา ช่วยกันสร้างสรรขึ้นมา เพียงแต่มีความมุ่งหมายว่า จะให้ที่นี่ เป็นที่รวมน้ำใจ รวมกลุ่ม รวมสภาพที่เป็นแนวลึก เป็นแนวดิ่ง ทางจิตวิญญาณ ให้มากหน่อย ไม่ให้ออกไป แนวกว้างมาก เพราะฉะนั้น จะเห็นว่า เวลาแค่ ๒ วัน ด้านจิตวิญญาณ มันน้อยเกินไป เดินทางมาก็ไกล เหนื่อยด้วย จึงคิดว่า ถ้าจัดงานสัก ๓ ถึง ๔ วัน มีเผื่อวันหัววันท้ายบ้าง ก็น่าจะดี จะได้พักผ่อนบ้าง

-กำหนดตายตัวหรือไม่ว่า จะอยู่ช่วงเวลานี้?

-อาตมาจะตั้งชื่อว่า "งานฉลองหนาวธรรมชาติอโศก" ให้เป็นวันฉลองหนาว คู่กับฉลองน้ำ ที่บ้านราชฯ ซึ่งอาจไม่มีน้ำ ให้ฉลองทุกปีก็ได้ แต่ที่ภูผาฟ้าน้ำ มีหนาวให้ฉลองทุกปีแน่ บางปี ต่ำกว่าศูนย์องศา ดังนั้น จังหวะน่าจะเสร็จจาก งานปีใหม่ อยู่ในช่วง ปลายเดือนมกราคม เพราะต่อจากนั้นไป กุมภา-มีนา จะเป็นงานพุทธาฯ ถ้าเลยไปเดือนกุมภาฯ มันไม่หนาวแล้ว ค่อนๆปลายเดือนมกรา หรือต้นกุมภา ช่วงนี้แหละกำลังดี ก็พยายามเลือกกันอยู่เหมือนกัน จึงยังไม่กำหนดตายตัว จะเลื่อนตามความเหมาะสม ในแต่ละปี โดยจะยึดเอา วันพระจันทร์เต็มดวงเป็นหลัก ถ้าไม่มีวันเพ็ญ ก็เอาที่ใกล้ๆ วันเพ็ญเป็นหลัก เพราะจะได้มีแสงสว่าง จากธรรมชาติมากหน่อย

-ความคืบหน้าการสร้างวิหารดอยฟ้า...?

-การสร้างวิหารดอยฟ้า ให้เป็นไปตามธรรม เพราะว่าอันนี้ อาตมาให้ค่อยๆเกิด จากน้ำใจรวม เมื่อมีการจัดงาน ปีนั้นปีนี้ไป ก็จะเห็นความสำคัญ อาตมาคิดไว้ว่า จะให้หนักไปทางรูปลักษณ์ เป็นศาลาแบบทางเหนือๆหน่อย และเป็นศาลาใหญ่ๆ ใช้งานอเนกประสงค์ รวมๆอยู่ในนั้น ตอนนี้หลายอย่าง ก็ยังไม่ลงตัว

-สังเกตว่าพ่อท่านเลี้ยงลูกๆ แบบให้เกียรติ แบบผู้ใหญ่ ให้คิดเองตัดสินใจเอง ตัวอย่าง กรณีลูกๆ จะเสนองานใหม่ ซึ่งเป็นลักษณะ สร้างงานเพิ่ม ถ้าพ่อท่านเห็นดีว่า เป็นงานที่มีสาระ พ่อท่านก็มักไม่ขัด แต่จะบอกเตือน ให้พิจารณาดูว่า จะมีกำลังทำไหวหรือไม่ โดยไม่ห่วง เรื่องการลงทุนว่า ต้องสูญเสียเงินทอง โดยให้ลูกๆได้เรียนรู้ ได้พัฒนาตัวเอง จากการทำงานนั้น ข้อสังเกตนี้ ถูกต้องไหมคะ?

-ใช่

-ถามต่อนะคะ เพราะฉะนั้นลูกๆ ก็ต้องคิดเองด้วยปัญญา เพราะถ้าคิดผิด ไม่รอบคอบ อาจทำให้สูญเสีย เงินทอง หรืออื่นๆ ซึ่งเป็นโจทย์ที่คนนั้น ต้องรับผิดชอบ ในกรณีนี้ พ่อท่านจะมีคำแนะนำ อย่างไรคะ?

-ก็ต้องแล้วแต่กรณี แล้วแต่เรื่อง แล้วแต่กิจนั้นทำออกมาดีไม่ดีอย่างไร เราต้องปรึกษาผู้รู้ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ เราเองต้องไม่อวดดี กับใครต่อใคร ว่าเราเก่งคนเดียว ถึงแม้เราเก่งคนเดียว ก็ควรถามไถ่คนอื่นด้วย มันไม่เสียหายอะไร มันเป็นการลดตัว ลดตน และมันก็เป็นเรื่อง ที่ควรช่วยกันคิด ช่วยกันเสริม ช่วยกันสาน ซึ่งพวกเรา ควรพยายาม แม้ในหมู่ สมณะเอง หลายคนก็โดนเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องไม่สมานสามัคคี ถ้าเราเข้าใจ ถึงเรื่องจิตวิญญาณแล้ว เรื่องความเป็นอยู่ของสังคม หรือการกระทำร่วมกัน ช่วยกันคิด ช่วยกันตัดสิน ช่วยกันพยายาม คนนั้นนิด คนนี้หน่อย ต่างๆนานาเหล่านี้ เป็นเรื่องของความสามัคคี เป็นเรื่องของการประสาน การถ่ายทอด การผนึกมนุษย์ ผนึกสังคม มันเป็นเรื่องที่ดีงาม การทำอะไรคนเดียว มันไม่เกิดความพรั่งพร้อม ไม่เป็นพลังรวม ไม่เป็นพลังประสานถักทอ ถ่ายทอดสอดรับ และไม่เกิดความอบอุ่น ไม่ดีหรอก เพราะฉะนั้น พยายามทำอย่างไร ไม่ให้มันอวดดี อวดเด่น อยู่เพียงคนเดียว แม้คนนั้น จะเด่นจริง จะเก่งจริง เขายกให้อย่างไรก็ตาม แต่ยิ่งคนที่เขายกให้นั่นแหละ ยิ่งควรจะต้อง มีจิตวิทยา มีความรู้ ความเข้าใจว่า เราต้องพยายาม ทำให้รักรวมร่วมใจ ทำให้เป็นปึกแผ่น ด้วยกันทั้งหมด ไม่ใช่เราเอง สั่งการอยู่คนเดียว ถ้าเราตายไป สิ่งนั้นก็จบ โดยคนอื่นไม่มีอะไรสืบต่อ ไม่ใช่เรื่องของ การสืบสาน ไม่ใช่เรื่องของสังคม ที่จะดำรงอยู่ อย่างยาวนาน

-วิบากกรรมในการทำให้สูญเสียเงินทอง หรืออื่นๆของส่วนรวม จะมีผลอย่างไรคะ?

- ถ้ารู้จักความสำคัญก่อนหลังกันให้ดี การสูญเสียเงิน ไม่เป็นไรหรอก เพราะเราเอา จิตวิญญาณเป็นหลัก แม้จะเสียเงิน เพื่อสร้างจิตวิญญาณก็คุ้ม ยิ่งคนที่ทำ เขาก็ไม่ได้มีเจตนา จะให้สูญเสีย อย่างมักง่ายอะไร แต่ถ้าใครมีเจตนาดื้อด้าน ก็เป็นวิบากของเขา แม้เขาจะบอกว่า ไม่มีเจตนาก็ตาม มันเป็นเรื่องของกรรม ก็ต้องมีวิบากด้วย อาตมาเคยพูดแล้วว่า ถ้าไม่มีเจตนา จะบอกว่าไม่บาป ไม่ได้หรอก เพราะมันเกิดกระทบคนอื่น เราไม่ได้อยู่คนเดียว และทำคนเดียว โดยไม่เกี่ยว กับใครในโลก ซึ่งคนอื่น ก็มีจิตวิญญาณ อย่างที่เคยยกตัวอย่าง คุณบอก คุณไม่เจตนา คุณไปเหยียบ ลูกงูจงอาง แม่งูมันก็อาฆาต ตัวงูที่ตาย มันก็มีจิตวิญญาณ มันรู้หรือว่า คุณไม่เจตนา มันอาฆาตคุณได้ แม่งูก็อาฆาตคุณอีก มันเป็นวิบาก เพราะจิตวิญญาณ เชื่อมโยงอย่างนี้ มันมีรัก มีชัง มีโลภ โกรธ หลง เราห้ามมันได้ไหมล่ะ สัตว์ที่ถูกคุณเหยียบตาย มันไม่รู้ว่า เราเจตนา หรือไม่เจตนา จิตวิญญาณ มันจึงพยาบาทเราได้ และ แม่งูก็พยาบาทเรา แม้เราจะไม่เจตนาก็ตาม

คนก็เหมือนกัน แม้เขาจะบอกว่า เขาให้อภัย เขาอโหสิ เขาไม่จองเวร จองกรรมหรอก เขารู้จิตของเขาจริงหรือ เขาพูดได้แค่สำนึกนอก และสำนึกในล่ะ อโหสิได้จริงไหม อภัยให้ทั้งหมดได้ไหม ถ้าเขาบอกอโหสิจริง เขาไม่ติดยึดจริงๆ และเขาอภัยจริงๆ ได้ทั้งหมด มันก็ดี แต่คุณแน่ใจได้อย่างไร เพราะคนเหล่านั้น เขาไม่ได้ปฏิบัติธรรม ไม่เรียนรู้ระดับจิต ตั้งแต่ สำนึกสามัญ (conscious) สำนึกกลาง (subconscious) ไปถึงสำนึกใน ที่เป็น อาสวะ อนุสัย (unconscious)

-ที่ผ่านมางานต่างๆที่ทำได้สำเร็จ กับที่ล้มเหลว อย่างไหนมากกว่ากัน?

-มันคงมีที่ได้ มากกว่าล้มเหลวนะ เราเองเป็นบุญนิยม ทุนรอนของเรา ก็มีไม่มากไม่มาย เรี่ยไร เราก็ไม่ได้ทำ ทำมาหาได้ ก็กินก็ใช้กันอยู่ ทุกวันนี้ การสร้างงาน หรือการก้าวหน้า ในวัตถุธรรมต่างๆ มันก็ขยายตัวอยู่เรื่อยๆ คนซะอีก ขยายตัวช้ากว่าวัตถุ แต่คนก็มีทั้งปริมาณ และคุณภาพ ทวีขึ้นอยู่ เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า วัตถุและคน คือ สิ่งที่สื่อบอกเรา เป็นดัชนีชี้ค่าว่า เราไม่ได้พังทะลาย หรือผลิตได้ไม่พอกิน ไม่พอใช้ ถ้าเราเป็นหนี้เป็นสิน ชักหน้าไม่ถึงหลัง ก็คงส่อให้เห็นว่า เราเองไปไม่รอด แต่ถ้ามันไม่เป็นเช่นนั้น มีความเจริญด้วย มีสิ่งที่เสริม ที่เจริญขึ้นมาด้วย ทั้งงาน ทั้งคน ทั้งวัตถุ อาตมาก็ว่า มันไม่ได้สูญเสียอะไร ยังก้าวหน้าพอไปได้ โดยเราได้ประโยชน์ ด้านจิตวิญญาณด้วย

อาตมาเห็นว่า สภาพสังคมบุญนิยมของเรา มีความเข้าใจ มีความผนึกแน่น เพิ่มขึ้นอยู่ ในอัตราการก้าวหน้า ที่เห็นได้ อาตมาไม่ได้วัด โดยเครื่องมือ มิเตอร์อะไร แต่ดูจาก องค์ประกอบต่างๆ ทั้งความเป็นอยู่ร่วมกัน การขยายตัวเอง สังคมกลุ่มหมู่ ที่เราก่อเกิด รวมทั้งกระแส ของความเป็นอยู่ ที่ปรากฏ ที่มันแสดงออกว่า อยู่อย่างทะเลาะแบะแว้ง มีความวุ่นวาย เดือดร้อน หรือว่า อยู่กันอย่างสงบ มีความอบอุ่น ดำเนินไป อย่างมีความรักใคร่ กลมเกลียว มีความสมาน สามัคคี โดยเฉพาะ เนื้อแท้ของความเป็นพี่ เป็นน้อง ในลักษณะของ อิสระเสรีภาพ ภราดรภาพ สันติภาพ สมรรถภาพ บูรณภาพ นี่แหละ ถ้าคุณเข้าใจความหมาย ๕ ตัวนี้ และเอาค่า ของความหมาย ๕ ตัวนี้ มาวัดสังคมเรา

คุณรู้ถึงความหมาย ของเสรีภาพหรือไม่ อาตมาขอยืนยันว่า พวกเรา อิสระเสรีภาพจริงๆ ใครไม่ชอบใจ ก็สบัดก้นไปจริงๆ ใช่ไหม อยากจะอยู่ก็อยู่ สมัครใจมาอยู่ ถึงจะโดนสับ โดนโขก มันก็จะอยู่ เป็นอิสรภาพของเขา และเป็นภราดรภาพที่พวกเรา มีความเป็นอยู่ อย่างพี่ อย่างน้องจริงๆ พี่น้องคือ การพึ่งพากันได้ ช่วยเหลือเฟือฟายกันได้ มีความเกื้อกูลอาทรกัน ตามหลักพุทธพจน์ ๗

ในเรื่องสันติภาพ สังคมข้างนอกทุกวันนี้ไม่มีสันติ อาตมามองดู ในองค์กรต่างๆ สถาบันต่างๆ เทียบเคียงกันแล้ว เราว่าของเรา มีสันติภาพ มากกว่าองค์กร หรือสถาบันอื่น ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ หลายๆสถาบัน หลายๆองค์กร แม้ว่าสมรรถนะ เราอาจด้อยกว่าเขาก็ตาม แต่นั่นแหละ สมรรถนะเท่าที่เรามีนั้น ก็พอให้เรา พึ่งตนเองได้ และเราก็ขยาย ความเจริญ อยู่พอสมควร ในด้านบูรณาการ หรือ ด้านบูรณภาพ ของพวกเรา ก็แน่นแฟ้น จนคนข้างนอก ต้องยอมรับ ก็มีมากขึ้น เพิ่มขึ้นอยู่

-พ่อท่านไม่เร่งที่ผลงาน แต่เร่งให้ชาวอโศก ขยันทำงาน ผลของงาน ให้เป็นไปตามธรรมชาติ โดยมุ่งเรื่อง ของจิตวิญญาณ มากกว่าใช่ไหมค่ะ?

-คุณถามถูกแล้ว อาตมาหวังสร้างคน อาตมาไม่ได้หวังผล ที่จะให้เป็นผลงาน อย่างโก้ อย่างใหญ่ เพื่อจูงใจคน ดึงดูดคน หรือ เพื่อเด่นเพื่อดัง ก่อนจะตาย อาตมาไม่ได้หวังผลงาน อาตมาหวังผลคน งานจะเจริญเอง ตามเหตุปัจจัยที่แท้ แม้อาตมาตายไปแล้ว ส่วนงานใหญ่ แต่ไม่สร้างคนนั้น ถ้าผู้สร้างตายไป คนไม่แข็งแรง ก็สืบสานต่อไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในการสร้างคน การแนะอาจผิดบ้าง ถูกบ้าง ดีบ้าง ได้บ้าง เสียบ้าง บกพร่องบ้าง อะไรก็แล้วแต่ วัตถุเงินทอง ต้องสูญเสียไป กับการสร้างคน วัตถุย่อมใหญ่โตช้า แต่คนก็ได้พัฒนา คนมีวิวัฒนาการ คนมีสมรรถนะเพิ่ม มีทักษะเพิ่ม ทั้งด้านวัตถุธรรม เจริญบ้าง นามธรรมเจริญดี และด้านโลกียประโยชน์ - โลกุตรประโยชน์ อะไรเพิ่มขึ้นมา มันได้อันนี้ เป็นเป้าหมาย เป็นความต้องการ ที่อาตมามุ่งหมาย ไม่ใช่หวัง สร้างผลงานใหญ่ๆ หรูหรา โด่งดัง มีชื่อมีเสียง เอาเด่นเอาดัง ชาวอโศกทุกคน ควรเข้าใจ และควรทำอันนี้ สืบสานไปอีกนิรันดร์

-แต่เหมือนพ่อท่านเร่งสร้างงานมาก?

-อาตมาจะกระตุ้นเร่งคนให้พัฒนา เร่งคนให้สร้างงาน คนก็เกิดสมรรถนะ เกิดทักษะ เกิดการขัดเกลา เกิดการลด ละกันไปในตัว เพราะว่า เรามีระบบ ลดละอยู่แล้ว ระบบที่ต้อง กำจัดกิเลส ถ้าไม่มีการงาน ไม่มีระบบพวกนี้ การลดละกิเลสจะน้อย ซึ่งศาสนาพุทธแท้ ไม่ใช่ศาสนานั่งหลับตา สะกดจิต แต่มีกรรม เป็นสัมมา สัมกัปปะ หรือ มโนกรรม สัมมาวาจา หรือ วจีกรรม สัมมากัมมันตะ หรือ กายกรรมแท้ๆ แม้แต่สัมมาอาชีวะ ก็คือกรรม ถ้าเข้าใจ ศาสนาพุทธชัดๆแล้ว จะเห็นว่า เป็นศาสนาแห่งกรรม หรือเป็นศาสนาแห่งการกระทำ

-ทำอย่างไร พวกเราจะไม่หลงประเด็น มุ่งเรื่องงานมากเกินไป?

-ไม่หลงหรอก ถ้าเข้าใจว่า การทำงาน คือ การปฏิบัติธรรม ข้อสำคัญ คุณเองมีทฤษฎี มีวิธีการ ที่คุณทำงาน โดยมีการปฏิบัติธรรม ควบคู่ไปด้วยหรือไม่ เป็นแม่โค เลี้ยงลูกโค แล้วเล็มหญ้า ให้ตนเองไปด้วย ถ้าปฏิบัติให้มัชฌิมา รู้จักประมาณถูก ตามหลักที่ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ อย่างไร คุณจะไม่หลงหรอก จะอยู่ในมรรคองค์แปด แน่นอน การปฏิบัติมรรคองค์ ๘ ก็คือ หลักปฏิบัติธรรม ที่มีการทำงาน ควบคู่ไปด้วย อย่างประมาณ ให้พอเหมาะเสมอ โดยดูทุกงาน และทุกกรรมของเรา ทั้งกายวาจาใจ แม้การประกอบอาชีพ ก็อยู่ในหลักการนี้หมด

บทสรุป
รับสมัคร ผู้ประสงค์เข้ามาทำงานร่วมกัน ในระบบบุญนิยม ที่นี่งานหนัก เงินน้อย ลดการเสพสุข ทุกชนิด พร้อมเสียสละ กิเลส ทุกรูปแบบ แต่สิ่งที่คุณได้จากเรา ไม่มีที่ไหนในโลกให้คุณได้ "เราให้คุณได้ปฏิบัติธรรม" ถ้าคุณไม่รับ คุณจะไม่ได้ อะไร จากเราเลย คุณลาออกไปเถอะนะ!

(สารอโศก อันดับ ๒๔๔ มกราคม ๒๕๔๕)