หน้าแรก >สารอโศก

บันทึกจากปัจฉาสมณะ พฤศจิกายน ๒๕๔๔


อาศิรพจน์
ยิ่งใดจะใดกล่าว ยิ่งเทิดท้าวไผทไทย
ยิ่งตื้นยิ่งตันใจ ยิ่งมิมีวจีพอ
ยิ่งตรึกยิ่งลึกล้น ยิ่งท่วมท้นพันขานขอ
ยิ่งฟ้ามหาสมุทร ยิ่งพิสุทธิ์มไหศวรรย์
ยิ่งพระมหิศรจรรย์ ยิ่งมหันต์อนันตคุณ
ยิ่งฝ่าพระบาทปก ยิ่งเกล้าพสกยิ่งอบอุ่น
ยิ่งนานยิ่งผ่านบุญ ยิ่งบารมียิ่งบารนี

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะฯ
ข้าพระพุทธเจ้า น.ส.พ.เราคิดอะไร
(สไมย์ จำปาแพง ประพันธ์)

อาศิรพจน์ข้างต้นนี้ พ่อท่านได้ประพันธ์ขึ้น เมื่อวันที่ ๑๖ พ.ย. ๔๔ ที่ราชธานีอโศก เพื่อ ให้น.ส.พ.เราคิดอะไร ได้ลงพิมพ์ ร่วมสดุดีองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ โดยพ่อท่าน ใช้นามปากกา ที่เคยใช้ ตั้งแต่ยังเป็นคฤหัสถ์ว่า สไมย์ จำปาแพง พ่อท่านบอกว่า นามปากกานี้ ไม่มีคำแปล และจำไม่ได้แล้วว่า อะไรเป็นเหตุ ทำให้ใช้นามปากกานี้

โศลกธรรม คือกรรมฐาน
ต้นเดือนพฤศจิกายน มีงานมหาปวารณา ครั้งที่ ๒๐ ที่ปฐมอโศก ๔-๘ พ.ย.๔๔ พ่อท่านได้ นำเอาโศลกธรรม ที่เคยกล่าวไว้ นานแล้ว นำมาย้ำ ให้พวกเราเอาไปฏิบัติ
"เคี่ยวเราเพื่อเอามิตร ผลิตผลเผื่อคนอีกหลาย ขวนขวายงานแบบสานหมู่"

พ่อท่านได้อธิบาย ถึงโศลกนี้ ในช่วงให้โอวาท ปิดประชุม มหาปวารณา ของหมู่สมณะ ๕ พ.ย.๔๔ "...เคี่ยวเราเพื่อเอามิตร เรา คำนี้ทั้งตัวเองและกลุ่มหมู่ข้างใน เคี่ยวเราหมายถึง เคี่ยวตัวเอง และก็เคี่ยวหมู่กลุ่ม ข้างในด้วย คือชาวอโศกนี่แหละ เราต้องเคี่ยวพวกเรา เพื่อที่จะได้ขยายไป ให้เกิดมิตร ถ้าเราเคี่ยวเราไม่โต ประสิทธิภาพ มันก็ได้เท่าเดิม คนอื่นมารับเอา ก็ไม่มีอะไรใหม่ ไม่มีฤทธิ์เพิ่ม มันขยายไม่ออก เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่โต เราก็อุ้มคนไม่ได้เพิ่ม กระเตงไปเท่าเดิม ถ้าจะเพิ่มได้ เราจะต้องเพิ่มเราเอง ให้พัฒนาขึ้น ตั้งแต่ตัวเราเอง ตั้งแต่หมู่กลุ่มสมณะ จนกระทั่งแวดวงชาวชุมชน ไปถึงหลายชุม ของชาวอโศกทั้งหมด เพื่อ เผื่อ แบบ มีอยู่ ๓ คำ ที่อยู่ใน ๓ วรรคนี้

อันที่สอง ผลิตผลเผื่อคนอีกหลาย เราก็เห็นอยู่แล้วว่า มีอยู่มากมายจริงๆ คนที่เราจะเผื่อแผ่ เกื้อกูลเขา เพราะฉะนั้น ถ้าเราทำอันต้น เคี่ยวเราเพื่อเอามิตรนี่เราได้ เราก็จะได้เผื่อแผ่มิตรเหล่านั้น มิตรทั้งหลาย ที่เข้ามาก็อย่างนี้แหละ มาคัดเลือก อบรมอันนี้ ก็เป็นการคัดมิตร เราจะได้คนที่อบรม เราไม่ได้หมดหรอก ถ้าเราทำถึง ๓ ปี ได้แค่ ๓๐% นะ โอ้โฮ! รุ่งเรืองน่าดูเลย คุณธรรมในสังคมประเทศชาติ ตอนนี้ทางธ.ก.ส. เขาประเมินผล มาให้ดู คะแนนเต็ม ๕ ทำได้ ๔ ขึ้นๆๆทั้งนั้นเลย เขาส่งผลประเมิน มาให้ดูเสมอๆ จะได้ ๓ ก็น้อย, ๓ กว่าๆ ๓.๕๙, ๓.๙๓ มันก็ไล่ๆหา ๔ ถ้าว่ากันตัดเกรดของทางโลกแล้วนี่ แหมเกียรตินิยม เหรียญทองนะ ๔.๕๗, ๔.๖๓ อะไรพวกนี้ มันเหรียญทองนะ บางที ๔.๙ กว่าก็ยังมีเลย เขาเป็นคนประเมิน พวกเราไปร่วมด้วย ดูคร่าวๆ เราไม่ได้ไปทำรายละเอียดนะ ก็เห็นว่าดูดี แต่ก่อนแต่ไร อโศกเรา ไม่เคยได้รับ ผลสะท้อนตอบ ถึงขนาดนี้ ญาติดี คนที่ไปอบรมมาแล้ว กลับมาเป็นญาติดี มาสนใจต่างๆนานา นี่ได้ข่าวว่า บ้านหินแห่เหรอ ทอเสื่อไว้ให้เราตั้ง ๑๐๐ ผืน โอ้โฮ! อย่างนี้เขารู้สึกบุญคุณ แต่ละแห่งๆ ผลตอบรับดีขึ้น ซึ่งไม่ใช่ผล ที่มันจะได้ทันที มันเป็นผลที่ได้จาก การบ่มเพาะมาเรื่อย จนมาถึงวันนี้ เราก็ค่อยๆทำมา เพื่อพิสูจน์ความจริงมา เรื่อยๆ ทั้งๆที่มีกระแสค้าน กระแสล้มล้าง ยังมีอยู่ทุกวันนี้ ไม่ได้หยุดเสียทีเดียว แต่อ่อนล้าลงไป แม้แต่คนที่เคยเป็นฝั่งตรงกันข้าม ถึงขนาดกระเหี้ยนกระหือรือ จะเอาเป็นเอาตายเรา ทุกวันนี้ ก็รู้สึกว่า เบา คลี่คลาย ดีไม่ดี คบหายิ้มแย้ม ยังมีการทำความสัมพันธ์กับเรา อีกด้วยซ้ำ นี่เป็นผลความจริง ที่มันบอกเรา เพราะฉะนั้น งานของเราจะมากขึ้น แต่การขยายตัว ของพวกเรานี่ช้า พวกเราไม่ได้ไปบังคับ เราไม่มีอะไรหลอกล่อ นอกจากไม่ล่อแล้ว ถ้าเขาเข้ามา ก็ขูดเอา ขูดเอา เพราะฉะนั้น คนอื่นเข้ายาก ก็ดีแล้วล่ะ ไม่จำเป็นจะต้องไปหลอกล่อ อะไร ก็ขูดเอา ขูดเอานี่แหละ ผมว่าดี มันจะได้คนจริง ถึงกระนั้นก็ดี เราก็มีรอบในการกระทำ ในการฝึกปรือ ในการทำงาน ก็ซ้อนๆอยู่ ท่านจันทร์มั่ง ท่านเสียงศีลมั่ง แม้แต่ท่านร้อยดาว ก็มีรอบอะไรๆ ถ้าอย่างท่านเสียงศีลนี่ ก็ไม่ใช่ไปล่ามา ก็ฟังมาแล้วก็เข้ามา อย่างท่านจันทร์ ก็ทยอยเข้ามา อย่างท่านร้อยดาวก็ค่อยๆทยอยเข้ามา แต่อบรมอย่างธ.ก.ส. คัดมา มันไม่เหมือน อย่างท่านเสียงศีล ท่านจันทร์ ท่านร้อยดาวทำอยู่ ไอ้นั่นมันอีกชั้นหนึ่ง มันขยาย ไปอีกชั้นหนึ่งแล้ว

นอกนั้นก็คือ ลูกๆหลานๆของเรา เด็กๆนักเรียนพวกนี้ เอาภาระกันหน่อย เพราะว่าอันนี้ ยังม โอกาสอีกนาน เราพยายามที่จะให้โอสถ แทรกขุมขน เขาเข้าไปให้ได้มากที่สุด เขาจะเติบโต เขาจะเป็นกำลังในอนาคต ผลิตผลต่างๆ มันไม่ใช่ผลิตผลได้แค่ สร้างข้าวน้ำให้เขากิน มันไม่ใช่แค่นั้น ผลิตผลเผื่อคนอีกหลายนี่ ผลิตผลของเรา นี่มันคือคุณธรรม ผลิตทางจิต วิญญาณ เป็นสิ่งที่เราผลิตมาก ผลิตโดยตรง ผลิตสำหรับเรา ส่วนอันอื่น เป็นองค์ประกอบเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นงานอาชีพ เป็นกิจการ เป็นองค์ประกอบ แต่มันก็ทิ้งกันไม่ได้ มันจะห่าง มันก็ไม่ห่าง ยิ่งคนทุกวันนี้ ห่างไม่ได้เลย เพราะว่าวัตถุดิบ ทรัพยกรของโลก มันร่อยหรอ คนต้องทำงาน ต้องสร้างขึ้นมาทดแทน สร้างขึ้นมาช่วยเหลือ เกื้อกูลกัน ต้องทำงานอาชีพ หนักกว่า สมัยพระพุทธเจ้า เพราะมันร่อยหรอเต็มทีแล้ว จะไปทิ้งเขาไม่ได้เลย งานอาชีพ ทำไมสมณะจะต้องไปคลุกคลี ด้วยการงานอาชีพ ทำไมต้องไปวุ่นวาย พุทโธ่! ๒๕๐๐ กว่าปี มันไม่อดตายหรอก เดินออกไปที่ไหน ก็เดินไปเก็บอะไรกินได้ แต่เดี๋ยวนี้เดินไปเก็บ เขาก็จับกันเท่านั้น มันมีเจ้าของหมดแล้ว ต่างกันไปหมด ยุคกาลมันเปลี่ยนไปแล้ว แม้แต่สมณะเอง ต้องลงไปคลุก ต้องไปจับมือทำบ้าง ดีไม่ดี ต้องทำเอง ก็ระมัดระวังหน่อย เรื่องโลกวัชชะ เรื่องของวินัย

อันที่สาม ขวนขวายงานแบบสานหมู่ เป็นวิธีการทั้งหนึ่งและสองนั่นแหละ ต้องให้เกิดลักษณะ แบบสานนะ ไม่ใช่ทะเลาะกัน ไม่ใช่แตกแยก ไม่ใช่ห้ำหั่นทำลาย แบบสานถักทอ จะทำอย่างไร อันนี้จะต้องเรียนรู้ จะต้องฝึกปรือ ใช้ความชำนาญ โดยเฉพาะถักทอ ด้วยจิตวิญญาณ กรรมกริยา กายกรรม วจีกรรมของคน นั่นโอ้โฮ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆนะ กระบิดกระบวน ยั่วยวน อย่างชนิดนุ่มนิ่ม ไม่แรงหรอก ดูน่ารัก น่าเอ็นดู บางทีนี่กว่าจะรู้ตัว นานแล้วลึกแล้ว เพราะฉะนั้น ผมบอกตายตัวไม่ได้ เรื่องแบบสานหมู่นี่ ขวนขวายงาน ก็คือ งานเบื้องต้น งานท่ามกลาง งานยังเคี่ยวเรา เพื่อเอามิตรนั่นแหละ งานผลิตผล เผื่อคนอีกหลายนั่นแหละ งานขวนขวาย ทั้งงานใน งานนอก ทั้งงานของสหพรหมจรรย์ ทั้งงานให้ เจริญในอธิศีล เจริญในอธิจิต อธิปัญญา ทั้งงานสองด้านนั่นแหละ เราจะต้องพยายาม กระทำให้ได้สัดส่วน ให้ได้อย่างดี มันถึงจะเกิด ถักทอ เกิดการสาน เป็นปึกแผ่น เกิดขบวน การหมู่กลุ่ม เกิดเครือข่าย

โศลกนี้ ที่จริง ผมไม่ได้เป็นคนค้น โศลกนี้หรอกนะ พวกเราเป็นคนไปช่วยกันค้น เขาจะพิมพ์ ปฏิทิน แล้วก็ขอโศลกผม ผมก็เลยเปิดสมุด เอาโศลกให้เขาไป โศลกหนึ่ง มันก็เป็นนามธรรมของผม ก็เลยเอ้า เอาสมุดไปเลือกดูเอาเอง เขาก็ไปเลือกมา ก็ไปได้โศลกนี้แหละออกมา ผมก็บอกว่าดีมาก เข้ายุคเข้าสมัย ผมก็เห็นด้วย ก็เลยเอาโศลกนี้ มาพิมพ์ลง ในปฏิทิน เพื่อจะให้พวกเราสังวร หรือฝึกปรือ การใช้คำขวัญ ใช้โศลกอย่างนี้ ก็เหมือนกับกรรมฐาน หรือ เหมือนกับนโยบาย เป็นสิ่งที่พวกเรา จะดำเนินกันต่อไป..."

สิ่งที่ผู้ใหม่พึงสังวร
การประชุมมหาปวารณาของหมู่สมณะครั้งที่ ๒๐ นี้ มีเรื่องร้องเรียนตำหนิ สมณะนวกะรูปหนึ่ง ที่เดิมมีฐานะ เป็นพระอาคันตุกะมาก่อน แล้วขอเข้าหมู่ โดยผ่านระยะเวลา ของการดูตัวดูใจ กันมาแล้ว จนหมู่สมณะ รับเข้าเป็นสมณะชาวอโศกด้วย แต่ต่อมา มีหลายเสียง วิจารณ์ตำหนิว่า สมณะนวกะผู้นั้น ไม่เชื่อฟัง สมณะผู้ใหญ่รูปหนึ่ง ที่อาพาธ ทำตัวเป็นอาจารย์เอง ยกตนข่มว่าดูถูก สมณะรูปอื่นๆ ว่ารู้ไม่เท่าตน มีท่าทีไม่ดี ในเรื่องทรัพย์สิน มักนำวัตถุสมบัติ ไปให้พระที่ตนเคยคบหา ซึ่งพระรูปนั้น ก็มีท่าทีโต่งๆ แรงๆข่มว่า ดูถูกสมณะบางท่าน มาแล้วเช่นกัน

หมู่สมณะเห็นชอบ ที่จะให้สมณะนวกะรูปนั้น ลงอารามที่ภูผาฟ้าน้ำ จะได้ศึกษา เรียนรู้ และฝึกตนเอง ในฐานะนวกะ ให้ดีเสียก่อน มาช่วยงานตามพุทธสถานอื่นๆ พ่อท่านให้ข้อคิดกับสมณะนวกะ รูปดังกล่าวนั้นว่า

"...ท่านยังไม่สัมมาทิฏฐิ ในฐานะเป็นผู้ใหม่ เป็นนวกะ สภาพของสมณะใหม่ ยังไม่สัมมาทิฏฐิ ทั้งในด้าน ของความเข้าใจศาสนา พระอาคันตุกะ รูปที่ท่านพา บุกเข้าไปถึงห้องทำงานผม ก็ถามปัญหา ประเภท ไปหาภพหาชาติ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องธรรมของพระพุทธเจ้า มันเป็นเรื่องของภพของชาติ เป็นสิ่งสร้างภาพ สร้างภพอะไร แล้วก็สายฤาษีเก่าด้วย ผสมความใหม่ที่ท่านเอง จะสร้างสรรอะไรต่างๆนานา ประยุกต์กันใหญ่ แล้วก็ติดใจ ไปชอบอย่างนั้น มันก็ไม่ค่อยตรงนัก เอ้าทำใจใหม่ ทำใจใหม่แล้วก็ศึกษาดู เรียนรู้ ตามธรรม ตามวินัยไป แล้วก็รู้ทิฏฐิต่างๆ ให้เป็นทิฏฐิสามัญญตาให้ได้ เอ้าฝากไว้สำหรับท่าน..."

เรื่องนี้เป็นข้อคิดที่สะท้อนให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้นว่า ทำไมพระพุทธเจ้า จึงต้องมีหลักเกณฑ์ มีกำหนดระยะเวลา ในการพิจารณา รับเดียรถีย์ เข้าสู่ความเป็นภิกษุสงฆ์ แม้เดียรถีย์ จะมีความมักน้อย สันโดษเพียงใด ถ้ายังขาดสัมมาทิฏฐิ ก็ยังไม่สมควร รับเข้าเป็น ภิกษุสงฆ์ทันที และการคัดเลือก ผู้จะมาเป็น สมณะชาวอโศก ก็เช่นกัน แม้จะผ่านระยะเวลา ตามหลักเกณฑ์ ผ่านการซักฟอก สอบทานทิฏฐิต่างๆ มาแล้ว ก็ใช่ว่า จะมีสัมมาทิฏฐิ ไปหมดทุกเรื่อง หมดทุกรูปแล้ว สมณะผู้มาบวชแล้ว พึงสำเหนียก ในเรื่องนี้ ให้มากๆว่า เราไม่พึงหลง ฐานะสมมุติ หลงความรู้ หลงความสามารถ ที่ตนได้ตนมี ข่มว่าดูถูกใครๆ อีกทั้งไม่พึงใช้สมมุติ ฐานะนี้ แสวงหาลาภ เกินกว่าที่ตนจะพึงมีพึงได้ เพื่อตนและพวกพ้อง

ขัดเกลาสมณะ จะทำอะไรคำนึงถึง อัตถะหรืออัตตา
ลงอาราม ก็เป็นการปฏิบัติธรรม

ในการประชุมมหาปวารณาครั้งนี้ ที่ประชุมได้อนุมัติให้หินผาฟ้าน้ำ จ.ชัยภูมิ เป็นสังฆสถาน เพิ่มใหม่ขึ้นมา ด้วยความมีศรัทธา ที่แน่นเหนียวมั่นคง หมู่คณะก็มีความสมานสามัคคีกันดี ชาวบ้านและเด็กๆ ในละแวกใกล้เคียง ก็ดูมีศรัทธา ทำเลสถานที่ ก็เป็นชนบทที่งดงาม น้ำ ดิน อากาศ ธรรมชาติแวดล้อม ดูดีหมด ทำให้ได้ใจสมณะหลายรูป เมื่อถึงวาระที่สมณะทุกรูป จะต้องเลือก "ลงอาราม" เพื่อแจ้งให้หมู่ รับทราบโดยทั่วกันว่า ในระยะเวลา ๑ ปี จากนี้ไป ท่านใด สมัครใจ จะอยู่ประจำช่วยงาน ที่พุทธสถาน หรือสังฆสถานใด ผลปรากฏว่า มีสมณะหลายรูป เลือกที่จะ "ลงอารม" ที่หินผ้าฟ้าน้ำ อย่างชนิด เกินฐานะ สังฆสถาน ขณะที่พุทธสถานอื่นๆ ซึ่งมีงานมากขึ้น มีเด็กนักเรียนมากขึ้น เช่นที่ศีรษะอโศก และศาลีอโศก กลับมีสมณะ ที่สมัคร "ลงอาราม" น้อยลงกว่าทุกปี

ในหมู่สมณะ ๑๐๓ รูป มีประมาณ ๓๐ รูปขึ้นหรือลง ที่รับภาระงานการประจำ ตามพุทธสถานต่างๆ ซึ่งก็ถือเป็นการ "ลงอาราม" โดยหน้าที่ งานการที่รับ เป็นภาระบังคับอยู่ในตัว อีกประมาณ ๓๐ รูปขึ้นไป อยู่ในฐานะนวกะ ที่จะต้อง "ลงอาราม" ที่ภูผาฟ้าน้ำ ซึ่งต้องเรียนรู้ฝึกตนเอง ยังไม่พ้นนิสัยนวกะ มีประมาณ ๑๐ รูปที่ชราภาพ และอาพาธ ที่เหลือนอกนั้น ประมาณ ๔๐ รูป ที่สามารถเคลื่อนตัวเลือก "ลงอาราม" ที่ไหนก็ได้

หลังจากทราบผลการสมัคร "ลงอาราม" ของสมณะทั้งหมด พ่อท่านวิจารณ์ตำหนิว่า "...มันน่าจะลองปรับกันหน่อยนะ มิใช่ว่าจะเอาสมัครใจเท่านั้น ต้องถามใจผู้สมัคร ที่จะไปลงอาราม ที่นั่นที่นี่ สมัครเพราะชอบ นั้นแหละบำเรอกิเลส สมัครเพราะชอบจะอยู่ที่นี่ มันสบายใจดี ไม่มีคนกวนใจ หรือว่า มีอะไรแวดล้อมที่ฉันชอบ ถึงไปลงอาราม อย่างนั้นไม่ใช่มาปฏิบัติธรรมหรอก ไม่ได้มาขัดเกลาอะไรหรอก มาเติมกิเลสธรรมดาๆ เป็นพวกเลี้ยงยาก ไม่ใช่เป็นสุภโร เป็นทุพภโร มันต้องคิดถึงงาน คิดถึงประโยชน์ คิดถึงอัตถะ ไม่ใช่เอาแต่บำเรอ ถ้าทำเพื่อสนองอัตตา มันจะเกิดประโยชน์อะไร ประโยชน์ตนก็ไม่เกิด ประโยชน์ท่าน ก็ไม่เกิดเลย คิดให้ดีเถอะ ไม่มีเลย ไม่มีทั้งอัตตัตถะ ไม่มีทั้งปรัตถะ ไม่มีทั้งประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ก็มันสนองอัตตาธรรมดา แต่ถ้าคิดถึงประโยชน์ที่แท้ อัตถะ เราก็ดูประโยชน์ตน เพื่อขัดเกลา ไม่ใช่ว่าตามใจตน ต้องยอมจะทุกข์ จะร้อน จะหนาว จะลำบากลำบนอะไร ก็ต้องยอม เท่าที่พอเป็นไปได้ ไม่ฝืนสังขาร ไม่ฝืนสมรรถนะ ไม่ฝืนอะไรของตนเองเกินไปนัก ประโยชน์ก็คือ ที่ศาลีฯ เขาต้องการอะไร เออ เราควรจะช่วย เขาได้มากนะ ที่ศีรษะฯ เขาต้องการอะไร เออ เราน่าจะช่วยที่นี่ได้มากนะ มีอะไรบ้างขณะนี้ ที่ไหนก็แล้วแต่ที่นั่น ที่นี่ ที่เหมาะควรจะไปลง บอกแล้ว ไปลงอาราม ก็ไม่ใช่ว่า ใส่ชื่อไปแบบตอแหล แล้วก็ไม่ใช่ เพราะบำเรอตนเองอีก เพราะฉะนั้น มันก็ควรจะต้องได้พิจารณากัน ผมว่าลองๆดูนี่ อาจจะเผินๆ ลงอารามนี้เพราะบำเรอกิเลส ลงๆไปแล้วกล่าวชื่อ ลงไปแล้วผมว่า มันจะเป็นอย่างนั้น ส่วนใหญ่หรือเปล่า ถ้าเป็นอย่างงั้น มันไม่เกิดประโยชน์เลย เพราะฉะนั้น ควรจะมาปรับ ผมฟังดูแล้วนี่ มันไม่ได้หรอก ศีรษะอโศก ๖ รูป บรรลัยปีนี้ จะต้องมีสมณะไปช่วย เพราะคนเขาก็ไม่ได้เพิ่ม แล้วก็งานจะมาหนัก ศีรษะอโศก มันควรจะสัก ๑๕ รูป ไม่ใช่ ๖ รูป..."

มีสมณะรูปหนึ่งแสดงความเห็นว่า ได้เฝ้าสังเกตการลงอาราม พุทธสถานหลักแต่ละแห่ง จำนวนสมณะ จะน้อยลงทุกปีๆ คิดว่าปัญหาเรื่องงาน ที่มันโถมเข้ามานี่ มันเกินอินทรีย์พละ ของผู้ที่ไม่ถนัด และผู้ที่ยังไม่พร้อม จึงอยากให้พ่อท่าน ใช้อาณาไปเลย ถ้าอนุสาสนีไม่ได้ผล ให้พ่อท่าน พิจาณาเลยว่า จะโยกย้ายยังไง

พ่อท่านกล่าวต่อ "...การที่แสดงลงอารามแล้ว นี่ผมยังไม่ได้อ่านดูรายชื่อด้วยซ้ำไปนะ ถ้าผมอ่านดูรายชื่อ ผมคงจะรู้อะไรเพิ่มเติม ขึ้นไปอีกเยอะ นี่ขนาดแค่รู้จำนวน ลงอารามเท่านั้น ก็รู้สึกได้เลยว่า ผมล้มเหลวพอสมควร ในการอบรมสั่งสอนพวกคุณ ผมเองคงจะต้อง ไม่เคี่ยว ก็ต้องเลิก ไม่เคี่ยวก็ต้องลามือ เพราะว่ามัน..."

"พ่อครับ ผมคิดว่า พ่อไม่ได้ล้มเหลวในการสอน แต่ว่าอินทรีย์พละของพวกผมนะครับ ทุกวันนี้..." สมณะรูปหนึ่งพยายามชี้แจง

"มันมีพัฒนาการ มันมีดีเพิ่มขึ้นอยู่ มันไม่ได้ล้มเหลวอย่างนั้นทั้งหมด มันไม่ได้ล้มเหลว ๑๐๐% แต่มันล้มเหลวด้วยศักดิ์ศรี มันล้มเหลวในฐานะ ฟังเข้าใจไหม การเจริญก้าวหน้าของคน ของกลุ่ม มนุษยชาติมันมีอยู่ แต่ว่าผมในฐานะผู้นำมันตกแล้ว เพราะฉะนั้น จะต้องพิจารณาตัวเอง ว่าจะต้องถอนตัวออก หรือ จะต้องพลิกตัวใหม่ เพิ่มเติมขึ้นไป ทำงานนี้อีก ก็ต้องมานั่งคิดกันว่า จะไหวไหม เพราะว่า ผมจะต้องปลีกตัว มาเขียนหนังสือ ตั้งใจว่า จะเขียนวิเคราะห์ วิจัยธรรมะ ที่ลึกขึ้นไปเรื่อยๆ

เมื่อกี้ผมบอกว่า ผมฟังตัวเลขลงอาราม ฟังแล้วผมรู้สึกว่า ผมล้มเหลว ก็เพราะว่า พวกคุณ ตามใจตัวเองหมด แล้วก็ไม่พยายาม ที่จะเห็นแก่ศาสนา ไม่ใช่พัฒนาตนนะ ตามใจตัวเอง และก็เห็นแก่ตัว มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ มันส่อแสดงถึงอย่างนั้น ยิ่งคนเก่าก็เป็นอย่างนั้น จะเป็นการเกาะยึดที่ก็ตาม มันก็เป็นกิเลสเป็นปลิโพธะ ตามอารมณ์ของตนเอง บางทีก็อยากอยู่ที่เก่า บางทีก็อยากไปที่ใหม่ อะไรก็ตาม มันก็เป็นอัตตา เป็นการเสพ สิ่งที่ตัวเองชอบ ตนเองเลือกเฟ้นที่จะทำ ทุกคนก็ต้องมีปฏิภาณของตัวเองว่า เราอยู่ตรงนี้ดีไหม เราคิดถึงอัตถะ หรือคิดถึงอัตตาบ้างไหม ผมว่าคุณบำรุงบำเรออัตตามากกว่า เอาอัตตามาเป็นฤทธิ์ เป็นเดช ในการตัดสินมากกว่า ผมว่านะ จะมีสักกี่คน ที่บอกว่า ไม่ได้คิดบำเรออัตตา คิดถึงอัตถะมากกว่า สักกี่คน ที่คิดถึงอารมณ์ตน คิดถึงสภาพที่ตนเองรู้สึก จนเห็นอัตตาอยู่ว่า ตรงนี้ดีกว่า มันจะเป็นอะไร พอใจตัวเองมากกว่า ที่จะคิดถึงว่า เราคิดถึงงาน คิดถึงเพื่อนฝูง คิดถึงมนุษยชาติ คิดถึงสิ่งที่เรากระทำ เพื่อศาสนา เพื่อประโยชน์ เพื่อคุณค่า โดยถอดตัว ถอดตน แล้วระลึกดูตนด้วย มีอัตตัญญุตา เอ! ตัวเรานี่ เห็นแก่ตัวตรงไหน มุมไหนบ้าง ได้คิดอย่างนั้นหรือเปล่า ทุกวินาที เราก็ปฏิบัติธรรม แม้กระทั่ง ขณะอบรม ขณะประชุม ขณะที่จะมหาปวารณาอยู่กันขณะนี้ แล้วก็ปฏิบัติธรรม จะต้องมีสติสัมปชัญญะ รู้ตลอดเวลาว่า เรากำลังปฏิบัติจัดแจง จัดการ กรรมต่างๆ ที่เราจะกระทำ จะลงอาราม นี่ก็เป็นกรรมชนิดหนึ่ง...."

สมณะรูปหนึ่งเสนอให้ตัดจำนวนที่จะอยู่สังฆสถานต่างๆไม่เกิน ๔ รูป มีเสียงตอบรับ พ่อท่านเอง ก็เห็นด้วย แล้วจึงพิจารณา จำนวนสมณะ ที่สมัครลงอาราม ตามพุทธสถานต่างๆ

"สันติอโศกมี ๑๘ รูป มากกว่าเพื่อน ธรรมดาสันติอโศกไม่เคยมากอย่างนี้ ปฐมอโศกเคยมากกว่า ราชธานีอโศก เคยมากกว่าสันติอโศก แต่มาถึงวันนี้แล้วนี่ มีงานเยอะขึ้นที่ราชธานี และศีรษะฯ หรือว่าที่ปฐมฯ แต่สันติอโศก งานน้อยลง เพราะไม่มีงานอบรม นี่เป็นข้อวินิจฉัย ตื้นๆนะ ผมก็ว่า เพราะเหตุอย่างนี้หรือเปล่า หนีงานหนัก ไปสมัครงานเบา อยู่สันติฯเถอะ มันไม่ค่อยมีอะไรวุ่นวายจุ้นจ้าน คือเลือดฤาษี หรือเลือดเห็นแก่ตัว เลือดไม่อยาก จะวุ่นวาย เลือดไม่อยากจะทำงานหนัก หนีงานหนัก มาสมัครงานเบา นี่เป็นอาชีพพระ อาชีพศาสนา มาแต่ไหนๆ ที่ศาสนา มันฉิบหายวายป่วง อยู่ทุกวันนี้ อยู่ในประเทศไทยนี่ คนที่มาบวชนี่คือ คนมากินมานอน หลับๆตื่นๆ คือได้กินได้นอน ตลอดชีวิต เออหลบๆเลี่ยงๆ ไม่เสพกามหน่อย เงินทองก็มีใช้ ทุกอย่างนั้นแหละ เพียงแต่อด เรื่องผู้หญิงเท่านั้นเอง คนอดไม่ได้ มันถึงได้ปาราชิกกัน ตั้งเยอะแยะ เป็นธุรกิจอันหนึ่ง ที่หนีมาหลบ มาหากิน อันนี้ เป็นสัญชาตญาณ ของมนุษย์ หรือของสัตวโลก มนุษย์นี่แหละ มันหนีงานหนัก ไปสมัครงานเบา ทุนนิยมมันสร้างคนมาแบบนั้น บุญนิยมสร้างคน ให้ต่อสู้เสียสละ เข้มแข็ง อดทน เห็นแก่ประโยชน์เกื้อกูลมนุษย์เ ผื่อแผ่ บุญนิยมนี้ สร้างเป็นศาสนา แต่ทุนนิยม ไม่ได้สร้างศาสนาเลย สร้างความเห็นแก่ตัว มันก็เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า เจ้านายทุนใหญ่ๆ นี่ไม่ได้ทำงานหรอก โตขึ้น ใหญ่ขึ้น ก็มีแต่นั่งกินนั่งใช้ ชี้นิ้ว มีเครื่องบำเรอ บำรุง เครื่องอำนวยความสะดวก มีบริวารทำแทน อะไรต่ออะไรหมดเลย ทุนนิยมก็อย่างงั้นแหละ แต่บุญนิยมนี่ ขยันหมั่นเพียร มีสำนึก เป็นบุญจริงๆ เป็นคุณค่าของมนุษย์จริงๆ เพราะฉะนั้น ชีวิตชาวพุทธทุกวันนี้ ก็วิ่งไปหาโลกีย์ ไปหาทุนนิยม ศักดินาอย่างเก่า ไม่ได้ขึ้นมาเป็นธรรมะ ธรรมโมอะไร ไม่ได้เป็นพุทธอะไร ศาสนาพุทธอยู่ในเมืองไทย มันล้มเหลว ก็เพราะอย่างนี้ มันหนีงานหนัก ไปสมัครงานเบา นอนๆ กินๆทั้งนั้น....."

คำพูดที่พ่อท่านกล่าวมาแต่ต้น ได้ผล มีสมณะหลายรูป ขอถอนตัว จากการลงอารามที่ หินผาฟ้าน้ำ ย้ายไปลงอารามที่ ศีรษะอโศก

"เอ้า! ใครจะปรับเปลี่ยนยังไง ก็เอา ยังคิดใหม่ได้ ดังที่ผมบอก ผมพูดไปแล้วนี่ เราควรจะคำนึง ถึงประโยชน์ ถึงกิจน้อย กิจใหญ่ของสพรหมจรรย์ คุณจะปฏิบัติอยู่ที่ไหน คุณก็ต้อง เพ่งเล็งกล้า ในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ของคุณ ทั้งนั้นแหละ คุณอยู่ที่ไหน ก็ต้องทำประโยชน์ตน ดังนั้น ส่วนประโยชน์ท่านนั้น ก็ต้องคำนึงถึง สิ่งแวดล้อม คำนึงถึงงาน คำนึงถึงกิจ....." พ่อท่านกล่าวทิ้งท้าย

เสือสามตัวที่สมณะพึงระวัง!
และการประชุมมหาปวารณาครั้งนี้ สิ่งที่พ่อท่านกล่าวเตือนหมู่สมณะโดยตรง ให้ระมัดระวัง ๓ ส. คือสตรี สตางค์ และสังฆเภท

(มีต่อหน้า2/2)

(สารอโศก อันดับ ๒๔๔ มกราคม ๒๕๔๕)