หน้าแรก>สารอโศก

ไร้บุญนิยม สังคมอันตราย
ที่จอดรถ ฤาจะเป็นทำเลทองของคนกรุง ?

คงต้องยอมรับกันว่า พื้นที่จอดรถในกรุงเทพฯกำลังจะเป็นปัญหาใหญ่ และปัญหาบานปลาย สำหรับคน กรุงเทพฯ ซึ่งยังแก้ไขไม่ได้ และดูว่าจะเป็นปัญหาเรื้อรังของคนกรุง ที่จำเป็นต้องใช้รถเป็นพาหนะ จากประสบการณ์ ที่ได้พบเห็น ผู้เขียนขอนำเสนอ ดังนี้

เสียงสุภาพสตรีผู้หนึ่ง เข้ามาโวยวายในร้านหมอแต่เช้า (ยังไม่ทัน ๗ โมงเช้าเลย) บอกกับคุณหมอว่า ใครนะจอดรถ แถมไม่ปล่อยเบรกมือ ฉันต้องส่งลูกไปโรงเรียนแต่เช้า นี่เสียเวลามาก ได้ โทร.แจ้ง ๑๙๑ เพื่อให้ตำรวจมายกรถคันนี้ คุณหมอรีบถามคนไข้ภายในร้าน ก็เป็นคนไข้หญิงคนหนึ่ง ที่ได้จอดรถ ตรงหน้าบ้าน เห็นว่าเป็นบริษัทบัญชี กว่าจะมา ทำงานคงสาย และตรงที่จอด ก็เป็นทางลาดเอียง เกรงปล่อยเบรกมือแล้ว รถจะลื่นไถล คุณหมอ มารยาท ดีมาก ขอโทษขอโพยแทนคนไข้ และเล่าต่อไปอีกว่า แต่ก่อน เคยมีปัญหานี้ เหมือนกัน รถของคนไข้ มาจอดไว้ที่ หน้าร้าน และพบโน้ตที่วางไว้ หน้ากระจกรถว่า ไม่ให้จอด คนไข้เอง อาจคิดว่า เป็นโน้ตที่หมอต่อว่ากระมัง นี่ก็ทำให้ หมอเสียหายเหมือนกัน ทั้งๆที่เป็น หน้าร้านหมอแท้ๆ คุณหมอเล่าต่อไปว่า เพราะเคยอนุญาตคนแถวนี้ว่า หมอเอง ก็ไม่มีรถ หากต้องการ จอดรถ ไว้หน้าบ้านหมอก็เชิญเลย

นี่คนไข้มาจอดรถ แทนรถที่คุณหมออนุญาตให้เพื่อนบ้านเท่านั้นแหละ เป็นเรื่องเลย แบบนี้ คนไข้คนนั้น ต้องงงแน่ๆ ว่า นี่ขนาดจอดรถไว้หน้าร้านหมอแล้ว คุณหมอเองยังมาเขียนต่อว่า ไม่ให้จอดอีก ความเข้าใจผิด ย่อมเกิดขึ้นได้ คนไข้คิดว่า เพราะเป็นหน้าร้านหมอ ไม่น่าจะมีปัญหา หาทราบไม่ว่า ผู้ที่สร้างปัญหา คือผู้ที่ไม่เกรงใจ คุณหมอ ต่างหาก

คนเราได้คืบจะเอาศอก คุณหมออนุญาตให้เพื่อนบ้านใช้เป็นสถานที่จอดรถได้ แต่พอคนไข้ขอใช้สิทธิ์ จอดรถหน้าร้าน หมอบ้าง ทำไมไม่เกรงใจคุณหมอเลยว่า นี่เป็นคนไข้ของหมอนะ ให้เขาจอดไปก่อน คนไข้กลับเมื่อไร แล้วค่อยเขยิบรถ มาจอดตามที่คุณหมอ เคยอนุญาตไว้ ก็เท่านั้นเอง

คนในสังคมทุกวันนี้ต่างเร่งร้อนดิ้นรน อารมณ์ไม่เสบยทั้งเช้า-สาย-บ่าย-เย็น ปัญหาที่จอดรถเป็นปัญหาใหญ่ ปัญหาหนึ่ง ของคนเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ผู้เขียนนั่งรถไปย่านสุรวงศ์ เห็นติดป้ายบอกว่า ค่าจอดรถ ชั่วโมงละ ๑๐๐ บาท มีเพื่อนที่ทำงานส่วนราชการคนหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า เขาเคยมาติดต่อที่อาคารแห่งนี้ และจอดรถไว้ ขากลับ พนักงานขอเก็บค่าจอดรถ ชั่วโมงละ ๑๐๐ บาท อย่างนี้เป็นเรื่อง ต้องให้ผู้มีอำนาจ สั่งการว่า คนผู้นี้มาจาก ส่วนราชการ เพื่อติดต่อธุระ ไม่ต้องเก็บเงิน

หลายคนที่ไปย่านเยาวราชหาที่จอดรถยากมาก ผู้เขียนเคยแนะนำบางคนว่า หากมีความจำเป็น ให้ไปที่ โรงพยาบาล ในย่านนั้น แล้วเข้าไปหาน้องชาย บอกถึงความจำเป็น เพื่อขออนุญาตจอดรถ แล้วจึงไปทำธุระ แถวเยาวราช นี่เป็นทางออก ทางหนึ่ง สำหรับบุคลากร ที่ทำงานเพื่อสังคม โดยไม่เอาอะไร

แต่ก่อนที่มูลนิธิอาเซียยังอยู่ที่อาคารสีบุญเรือง ถนนคอนแวนต์ ย่านสีลม ไปทุกครั้งจะต้องให้ มูลนิธิ ประทับตราว่า ได้มาติดต่อ กับมูลนิธิจริง จะได้เสียค่าจอดรถไม่แพงนัก หากไม่ถึงชั่วโมง ก็ให้จอดฟรี

ย่านถนนนวมินทร์ ใกล้วัดบางเตย เขียนว่าที่จอดรถส่วนบุคคล จอดครั้งละ ๑๐ บาท ก็ราคาถูกดี ส่วนที่ บริษัท พลังบุญ จำกัด หากเป็นลูกค้าก็ให้จอดฟรีเหมือนกัน แต่ถ้าไม่ใช่ก็คิดค่าจอดชั่วโมงละ ๑๐ บาท หลายคนจึงเลี่ยง มาจอดในซอยถัดไป คือซอยเทียมพร โดยเฉพาะสถานที่ในส่วนที่เป็น ที่ดินของ สมาคม ผู้ปฏิบัติธรรม และบริษัท ฟ้าอภัย จำกัด จอดที่นี่นานเท่าไรก็ไม่เก็บเงิน ขอเพียงจัดระเบียบ ตอนจอด ให้คันอื่นได้จอดบ้าง มิใช่จอดกินเนื้อที่ ทำให้คันอื่น เข้า-ออกไม่ได้ ต้องช่วยกันหน่อย เพราะทราบว่า ผู้ที่มาทำหน้าที่จราจร ภายในซอยนี้ ล้วนเป็นอาสาสมัคร ทำงานเพื่อสังคม บางวันอาจไม่มีอาสาสมัคร เข้ามาดูแลในส่วนนี้ จึงขอความร่วมมือจากผู้ใช้บริการ ให้ช่วยกัน ประหยัดเนื้อที่ และจัดระเบียบ ในที่จอดรถด้วย

ทุกวันนี้ บางคนที่มาจากเมืองนอกบอกกับผู้เขียนว่า เมืองไทยไม่น่าใช้รถส่วนตัว ทั้งรถติด หาที่จอดรถ ก็ลำบาก จ้างแท็กซี่ สะดวกสบายใจกว่าเป็นไหนๆ ไม่ต้องขับรถไปอารมณ์เสียไป น่าเห็นใจ คนที่ยังต้อง ประสบภาวะเช่นนั้น

แม้แต่เลขานุการมูลนิธิธรรมสันติ หลังจากที่ขายรถ BMW ไปแล้ว ตอนนี้บอกว่านั่งรถเมล์มาวัดสบายๆ ขากลับ บางทีก็มีรถญาติธรรมเอื้ออนุเคราะห์ไปส่ง ไม่ต้องสิ้นเปลืองกับการดูแลรักษารถ หรือหงุดหงิด กับรถติด บางครั้ง ยังเจอใบสั่ง เช่น แค่มาที่วัด ป้ายห้ามจอดตรงถนนหน้าวัดถูกต้นไม้บังจึงไม่ทันเห็น ก็ต้องไปสถานีตำรวจ เพื่อเสีย ค่าปรับ ไปตามระเบียบ ๔๐๐ บาท อย่างนี้เป็นต้น

บ้านอยู่ถึงบางพลี นั่งมอเตอร์ไซค์แล้วไปต่อรถเมล์แต่เช้า หอบหิ้วพืชผักผลไม้จากสวน ใส่ตะกร้ามาให้วัด อิ่มบุญ อิ่มใจ เงินที่เคยเสียให้กับ การดูแลรักษารถ ก็นำมาทำบุญได้เพิ่มขึ้น

นึกชื่นชม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรท่านหนึ่ง คือ ส.ส. พินิจ จันทร์สมบูรณ์ ที่นั่งรถ บ.ข.ส. จากอำเภอเมือง กาญจนบุรี มาต่อแท็กซี่ที่สายใต้ เพื่อมาประชุมที่สภา เคยฟัง ส.ส.ท่านนี้เล่าถึงอานิสงส์ของการ ไม่มีรถแล้ว ทำให้ต้องพึ่งแท็กซี่ และได้รู้จักคนเพิ่มขึ้น เผื่อมีใครจากท่ารถสายใต้ ไปในเส้นทางเดียวกับทางไปรัฐสภา ก็จะให้ผู้นั้น อาศัยไปด้วยกัน ปฏิบัติแบบนี้ ทำให้ได้รู้จักประชาชน เพิ่มขึ้นทุกครั้ง ที่มาสภาฯ ดีไปอีกแบบ นะท่าน ส.ส.พินิจ ไม่ต้องมีปัญหา เรื่องที่ จอดรถ

อีกกรณีหนึ่งที่ผู้เขียนขอชื่นชมไว้ ณ ที่นี้ สำหรับผู้ทำหน้าที่จราจร ในที่จอดรถของโรงพยาบาลรามาธิบดี ที่คอยอำนวย ความสะดวก แก่ผู้มาจอดรถ จัดระเบียบได้ดีมาก แผงกั้นที่เลื่อนได้ หากมีรถมาจอด ก็เลื่อน จัดระเบียบกันตรงนั้น ไม่ให้รถแต่ละคัน จอดตามอำเภอใจ แบบนี้ประหยัดเนื้อที่ได้แน่

ผู้เขียนเองมีโอกาสนั่งรถไปแถวศิริราช (ท่าน้ำวังหลัง) ผู้ที่นั่งไปในรถ จำเป็นต้องซื้อยาย่านนั้น พบว่า หากไม่ไปจอดรถ ในโรงพยาบาล และต้องซื้อของย่านนั้นแล้ว จะหาที่จอดรถไม่ได้เลย ต้องวนรถไปมา จนกว่าผู้ที่ลงไปซื้อของ จะซื้อเสร็จ ทำให้สิ้นเปลืองน้ำมันโดยใช่เหตุ แต่จะทำอย่างไรได้ เพราะบริเวณนั้น หาที่จอดรถไม่ได้จริงๆ

สมัยนี้หากไม่มีรถก็รู้สึกจะทำงานไม่คล่องตัว มีรถแล้วยังต้องหาที่จอดรถ หากเป็นเทศกาลงานเมือง แค่ไปเที่ยว ท้องสนามหลวง ยังต้องนำรถไปจอดถึงบางลำภู หลายแห่งในเมืองหลวงประสบปัญหาเช่นนี้ มาโดยตลอด หากสามารถ ช่วยกันใช้ระบบ ขนส่งมวลชน แม้จะไม่สะดวกเท่ากับ การมีรถใช้เองก็ตาม แต่ก็เป็นทางหนึ่ง ที่จะช่วยลด ความแออัดของยวดยานพาหนะ บนท้องถนนได้

แล้วท่านผู้อ่านคิดอย่างไรบ้างกับเรื่องนี้

การเดินทางด้วยรถของตนเองแม้สะดวก แต่บางครั้งก็อาจเกิดปัญหาอย่างที่เล่ามาข้างต้น หากระบบ ขนส่งมวลชน มีประสิทธิภาพ และการเดินทางด้วยรถโดยสาร โดยเฉพาะรถเมล์ สามารถบริการได้ทั่วถึง ไม่แออัด อย่างที่เป็นอยู่ ทุกวันนี้ แน่ใจได้ว่า ผู้บริโภคคงเลือกทางที่ดีกว่า

***************
หากท่านผู้ใดมีประสบการณ์จริงจากชีวิต สามารถส่งมายังคอลัมน์นี้หรือส่งมาทาง e-mail ข้างต้น

(สารอโศก อันดับที่ ๒๔๗ เมษายน ๒๕๔๕)