หน้าแรก>สารอโศก

สิบห้านาทีกับพ่อท่าน -สมอ.-
อโศกรำลึก

๓๐ กว่าปี แห่งการทำงานศาสนาของชาวอโศก ผ่านพ้นอุปสรรคขวากหนาม นานา สารพัด แม้เป็นเพียง ชาวพุทธส่วนน้อยก็ตาม
... เราเปลี่ยนแปลงตัวเองจากคนไม่มีศีล เป็นคนมีศีล
... เราหาทางออกให้คนเลิกเบียดเบียนทำร้ายสัตว์ ด้วยอาหารมังสวิรัติ
... เราแนะนำทางรอดแก่สังคม ด้วยเศรษฐกิจระบบบุญนิยม
... เราชี้แนวทางรอดแก่มนุษยชาติ ด้วยกสิกรรมไร้สารพิษ
เรากำลังทำอยู่ ตามกำลังความสามารถทั้งหมด !
พิสูจน์พลังฤทธิ์แรงของศาสนา ที่เรายึดถือ และนำมาประพฤติปฏิบัติ ตามแนวทางคำสอน ของสมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เนื่องในวันอโศกรำลึก ขอน้อมกราบคารวะบูชา พระบรมสารีริกธาตุ ด้วยสำนึกแห่ง ความกตัญญู กตเวทีสูงสุด ขอปฏิบัติตน เป็นชาวพุทธที่ดี เพื่อสืบทอดศาสนาต่อไป ตลอดทุกชาติ !

วันอโศกรำลึกปีนี้ มีงานต่างๆ เข้ามาร่วมอยู่หลายงาน ตรงนี้ไม่ทราบว่า จะเป็นนิมิตหมาย บอกอะไร หรือไม่คะ?

วันอโศกรำลึก เป็นวันหลักที่เรากำหนดล่วงหน้าอยู่แล้ว คือวันที่ ๑๐ มิถุนายน และ ก็มีวันที่ ๙ เสริมขึ้นมา เป็นวันบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ผนวกกันเข้าไปเป็น ๒ วันติดต่อกัน ซึ่งถือเป็นวันสำคัญของเรา เหมือนกับ เป็นวันเช็งเม้ง หรือ วันที่ลูกหลานทั้งหลาย จะมารวมกัน บูชาบรรพบุรุษ วันรำลึกถึง พระพุทธเจ้าของเรา

มาถึงปีนี้ ก็มีเหตุการณ์ต่างๆ เพิ่มขึ้นมาอีก เช่น มีการจัดงานศิลปะ ตั้งแต่ต้นเดือน มิถุนายน ตลอดทั้งเดือน ใช้ชื่องานว่า "รากแก้วแห่งชีวิต ศิลปะกับวิญญาณทางสังคม"

เพราะฉะนั้น ในงานอโศกรำลึก ญาติโยมของเรา ก็จะได้มาดูมาเห็นงานศิลปะ ที่จัดขึ้นนี้ด้วย อีกงานคือ งานประชุมผู้อำนวยการพรรคการเมืองทุกพรรคทั่วประเทศ ซึ่งจะมาจัดประชุมกันที่นี่ ในวันที่ ๗ มิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงใกล้ๆงานอโศกรำลึกด้วย ถามว่าเป็นนิมิตอะไร อาตมาก็คิดว่า มันคงจะเป็นเรื่อง ของผลวิบาก จากกรรมกิริยา และบทบาท ที่เราทำงานกัน เมื่อคุณค่าของงาน หรือเนื้อหาของงาน มันเกิดขึ้นแล้ว ก็จะเชื่อมโยงต่อไป สู่กิจกรรมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น พวกศิลปินก็ตาม ที่จะมาร่วมงานกับเรา ก็เป็นการเปิดกว้าง เชื่อมโยงกับสังคมภายนอกเพิ่มขึ้น หรือแม้แต่เรื่องการเมือง เขายิ่งพูดกันว่า ธรรมะกับการเมือง เหมือนอยู่กัน คนละฟาก หรือ อยู่กันคนละโลก เลยทีเดียว เขาไม่ให้มารวมกัน แต่นี่การเมืองก็จะมาผนวก มาเชื่อมโยงสัมพันธ์กับเรา ทั้งๆที่เขาก็รู้ว่า เรานี่คือธรรมะ เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อว่าการเมืองมีความคิดว่า จะเข้ามาเอาธรรมะ หรือเข้ามาใกล้ธรรมะ มันก็เป็นนิมิตที่ดีใช่ไหม คุณลองคิดดูซิ เอาเถอะ มันจะเริ่มต้น เกิดขึ้น โดยอะไรก็แล้วแต่ ที่ลากจูงให้มาสัมผัส สัมพันธ์ก็ตาม แต่มันก็เป็นนิมิตที่ดี เป็นสิ่งที่ดี

แม้แต่ ในด้านศิลปะ อาตมาขอบอกตรงๆเลยว่า ศิลปินจะมีอัตตามานะสูง ต้องเป็นตัว ของตัวเอง ความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งลึกเข้าไปก็คือ เป็นตัวกูของกู กูต้องไม่เหมือน อย่างใคร กูจะต้องมีอะไร เด่นของกู กูต้องมีเอกลักษณ์ของตัวเอง เป็นต้น เพราะฉะนั้น เมื่อศิลปินเข้ามาโยงใยกับเรา มันก็เป็นนิมิตดีอีกข้อ ซึ่งส่อแสดงให้เห็นว่า เขาก็รู้นะว่า ธรรมะของเรานั้น สอนอย่างไร สอนให้ลดตัวกูของกู และก็พยายาม ลดตัวตนจริงๆ แต่เขาก็ยังมาเชื่อมกับเรา ไม่ว่าเขาจะเจตนา หรือไม่เจตนาก็ตาม มันก็เป็นนิมิตดีว่า เขามา ซึ่งเราก็คงทำให้เขาได้ลดตัวตนลงบ้างแหละ

เพราะฉะนั้น สรุปแล้วนิมิตหมายที่มันเกิด ก็คือเหตุการณ์เหล่านี้ มาอยู่ในช่วงระยะ ของเดือนมิถุนายน หรือเดือนของ อโศกรำลึกด้วย อยู่ใกล้ๆชิดๆ ต่อเนื่องกันด้วย แสดงว่า ทุกอย่างคงจะรวมตัวกัน เข้ามาแล้วละมัง สิ่งที่เคยอยู่ห่างๆไกลๆ สิ่งที่มันยังเอื้อมไม่ถึง มันก็คงจะเอื้อมถึงกัน ขึ้นบ้างแล้วละมัง

การทำงาน อย่างอิสระ สร้างจิตวิญญาณ ทำให้เกิดจิตสำนึกได้อย่างไรคะ?

มันเป็นความซับซ้อน คนเราถ้าเผื่อว่าจิตใจเลว มันก็จะเอาตามใจตัวเอง เพราะฉะนั้น ถ้าให้อิสระ ให้เสรีภาพเขา เขาก็จะทำตามใจกิเลสของเขา กิเลสเป็นเจ้าเรือน มันจะทำเลว ทำชั่ว ทำอะไรๆไป เพราะฉะนั้น คำว่า "อิสรเสรีภาพ" จึงใช้กับวงการคนเลวไม่ได้ ต้องมีกรอบมีอาญา หรือต้องมีอาณาบังคับ มีกรอบที่กำหนด และมีบทลงโทษด้วย เพราะฉะนั้น ในสังคมเป็นอย่างนั้น

ทีนี้ เราก็มานึกถึงสังคม ในรอบกว้าง ทุกวันนี้ ยิ่งคนมีกิเลสกันหนามาก เป็นภัยร้ายแรง กฎหลักกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ หรือกรอบอะไรต่างๆมากขึ้นตาม แม้คนจะดิ้นรน อยากทำตามใจตัวเอง ตามอิสระ ของตัวเอง แต่ให้ทำไม่ได้ ขืนให้ทำ ก็พังอย่างที่ว่า เพราะฉะนั้น ในลักษณะของคนที่ต้องมีหลักมีเกณฑ์ มีกรอบอะไรพวกนี้ คือคนที่จะต้อง ถูกกำหนด บังคับ ส่วนอิสรเสรีภาพนั้น ต้องเป็นคนดีเท่านั้น จึงจะให้ อิสรเสรีภาพได้ เพราะคนดี ใฝ่ดี สังวร สำรวมจริงๆ เพื่อที่จะดี มีความสำนึก ของตนเองจริงๆ มันก็จะทำให้ ตัวเองดียิ่งขึ้น

โดยจริงแล้ว คนเราต้องการอิสรเสรีภาพ กันทั้งนั้น ถ้าเรามีคนที่จิตวิญญาณ มีคุณภาพ พอประมาณ เราก็จะสามารถ ลดกรอบ ลดอำนาจบังคับ ลดสิ่งที่จะไปควบคุมเอาไว้ ให้เป็นอิสรเสรีภาพ ได้มากขึ้น คนที่สำนึก คนที่รู้ว่าอะไรๆ ควรจะปรับปรุง รู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร ไม่ควรทำหรือควรทำ ควรจะขยัน ควรจะมักน้อย ควรจะมีน้ำใจ ช่วยเหลือกัน หรือควรจะลด ควรจะเลิก ก็พยายามปรับปรุงตน มีอะไรพวกนี้ เป็นการบังคับตัวเอง เป็นตัวที่คอยกระตุ้นตัวเอง ฝึกฝนเอาเอง ไม่ต้องให้มีอะไร มาบังคับ ไม่มีใคร มาคอยบังคับ ไม่มีกรอบ ไม่มีระเบียบ ไม่มีหลักเกณฑ์อะไรๆ กำหนดเอาไว้ แต่เราก็ทำของเราเอง คนสำนึกเอง ทำเอง คุณค่าจะสูง ผลที่ได้จาก การประพฤติ ปฏิบัติธรรม ปฏิบัตินิสัยของเรา มันก็จะได้ มากด้วย

คอมมิวนิสต์ ไปไม่รอด เพราะไม่มีลักษณะ อิสรเสรีภาพอย่างนี้ คอมมิวนิสต์ เป็นระบบการบังคับ ที่เป็นเผด็จการจริงๆ มันจึงไปไม่รอด แค่ ๖๐-๗๐ ปี ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้ว ในสังคมโลก ระบบนี้ จึงใช้ไม่ได้ ส่วนประชาธิปไตย ต้องการอิสรเสรีภาพ แต่คนเรามีกิเลส มากกว่า จึงจำเป็นต้อง มีกฎ ระเบียบ มีวินัย หรือ มีกฎหมายอยู่มาก แต่ถึงกระนั้น ก็ต้องมีช่องให้เขา ได้ฝึกตนเอง เพื่อไปสู่อิสรเสรีภาพ ที่สมบูรณ์ให้ได้ ของเรานี่แหละ อาตมาเชื่อมั่นว่า พวกเราจะมีสำนึก มีการสังวร มีการรักดี ที่จะเข่นตัวเอง เคี่ยวตัวเอง ประพฤติให้เกิดสำนึก และพัฒนาสู่อิสรเสรีภาพสูงสุดต่อไป

ถ้าเราเข้าใจอันนี้แล้ว เป้าหมายสูงสุดของมนุษย์ก็คือ มนุษย์ที่มีอิสรเสรีภาพ สัมบูรณ์ อันคือมนุษย์ ที่เป็นอรหันต์ ซึ่งไม่มีแม้แต่การเป็นทาสตัวเอง ไม่เป็นทาสกิเลสตัวเอง ไม่เป็นทาสใจตัวเอง
เพราะฉะนั้น คนที่หมดตัวตน หมดตัวกูของกู หรือตัวเราแล้ว เราก็ไม่ต้องทำอะไร เพื่อตัวเราเอง แม้เราต้องลำบาก เพื่อคนอื่นบ้าง เราก็ทนได้ เพราะเราก็ฝึก ลำบากมาแล้ว ถ้าเราจะทำเพื่อคนอื่น มันจึงเป็นตัวคำตอบที่ว่า อิสรเสรีภาพคืออะไร อิสรเสรีภาพ คือเราเป็นทาสของผู้อื่น

คนที่มีอิสร เสรีภาพสูงที่สุด ก็คือ คนที่เป็นทาสประชาชนทั้งหมด หรือเป็นผู้รับใช้ มวลมนุษยชาติ ทั้งหมด คำตอบนี้ไม่ใช่คำคม แต่เป็นสัจจะ

การทำงานที่เอาคนดี และคนไม่ค่อยดี คนต่างภูมิมาอยู่ด้วยกัน ผู้บริหารควรใช้ หลักบริหาร อย่างไรคะ?

ต้องใช้หลักเกณฑ์สัปปุริสธรรม ๗ ประการของพระพุทธเจ้า คือ เราต้องรู้องค์รวมทั้งหมด ต้องรู้ธัมมัญญุตา และต้องรู้แก่นแท้ เป้าหมาย สารัตถะ หรือสารสัจจะ ที่เรียกว่าอัตถะ ซึ่งเป็นเนื้อแท้ หรือ ผลเป้าหมาย หรือจุดสำคัญอะไรก็แล้วแต่

สรุปคือ ต้องรู้องค์รวม ทั้งหมด และรู้ถึงเป้าหมายหลัก โดยรู้ตัวเรา เป็นสำคัญ ด้วยว่า เรามีคุณ มีค่า เท่าใดจริงๆ หรือ มีโทษมีภัยแค่ใด เราอยู่กับสังคม คนเขายอมรับเราเท่าใด เขาให้ค่าเรา เท่าใด เราจะทำได้แค่ไหน จะต้องเป็นข้อมูล ที่เอาไปคิด คำนวณด้วย รู้จักธรรมะ รู้จักอัตถะ รู้จักอัตตะแล้ว ยังไม่พอ ต้องมีมัตตัญญุตา คือการประมาณ หรือ คิดคำนวณ บวกลบ คูณหาร ให้ถูกต้อง เหมาะสม กับองค์ประกอบอื่นๆอีก ทั้งด้านกาลัญญุตา หรือโอกาส เวลานั้นๆ เราต้องดูว่า กาละนี้ทำได้ไหม อย่างนี้ ขนาดนี้ เหมาะกับโอกาส กับวาระ แค่ไหน และยังไม่พอ ต้องคำนึงถึงบริษัท คือสังคมนี้ กลุ่มหมู่นี้ ด้วยว่า จะทำได้เท่าไร ประมาณแล้ว ต้องคำนวณออกมาให้ได้ ว่าควรทำแค่ไหน หากมีหลายกลุ่ม รวมกัน เป็นกลุ่มใหญ่ขึ้นอีก ก็ต้องเข้าใจองค์ประกอบ และนำมาเป็นข้อมูล ที่จะนำเอามา ประมาณ เอามาจัดสรร ให้ดีที่สุด

เพราะฉะนั้น แม้แต่บริษัท แม้แต่กลุ่ม แม้แต่คณะ กระทั่งกว้างไปถึงชุมชน สังคม รอบกว้าง เราก็ต้องดูว่า ค่ารวมของหมู่ ประมาณนี้ เขาเป็นอย่างไร มีอะไรแค่ไหน และเรื่องนี้ เหมาะสมแค่ไหน สมควรที่เรา จะนำมาใช้ได้เท่าไร สมควรพูดไหม สมควรเสนอหรือยัง สมควรทำออกมาได้หรือยัง ให้เขาได้หรือยัง หรือ ควรสงวนไว้ก่อน ละเอียดถึง ปุคคลปโรปรัญญุตา คือ แต่ละบุคคลก็ต้องเข้าใจว่าในกลุ่มนี้ บริษัทนี้ มีบุคคลแต่ละคน ไม่เหมือนกัน เราก็ต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ความเป็นของเขา แต่ละคน ไล่ละเอียดไป ก็ยิ่งครบครัน เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเป็นสัตบุรุษ เป็นผู้รู้ หรือ เป็นปราชญ์ เป็นผู้บริหาร เป็นผู้ที่จะดูแล จึงต้องมีความรู้ พวกนี้จริงๆ และต้องใช้ จริงๆด้วย จึงจะจัดสรร ความเป็นสังคม กลุ่มหมู่ ที่มีคน หลากหลาย แตกต่างกันได้ดี


อานิสงส์ของการบริจาคมีอย่างไร?

คุณต้องหัดเรียนรู้สาระประโยชน์ ซึ่งมีอยู่ ๒ อย่างคือ
๑. ประโยชน์ผู้อื่น ซึ่งเรียกว่าปรัตถะ สาระประโยชน์ที่คุณบริจาคให้ไปแล้ว คุณต้องคิดก่อน ใช่ไหมว่า จะทำบุญอะไร ให้ที่นี่ ให้ตรงนี้เพื่ออะไร เป็นประโยชน์คุณค่าอย่างไร แค่ไหน

๒. ประโยชน์ตน ซึ่งเรียกว่า อัตตัตถะ ถ้าคุณไม่ตรวจสอบตัวเองเลย ผู้นั้น ก็จะไม่ได้ประโยชน์ตนเลย แต่ในการตรวจสอบ คุณต้องรู้ว่า จะตรวจสอบอย่างไร แค่ไหน ในตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่า ประโยชน์ผู้อื่นเสียอีก อย่างน้อย ก็ต้องทำตน ให้บริจาค ให้บริสุทธิ์ใจ หรืออย่าให้ใจตน มีความหวงแหน มีเล่ห์ มีกิเลส หรือมีอกุศลใดๆ ในการบริจาคนั้น หากคุณเห็นข้อบกพร่องอะไรในตน ก็ต้องปรับปรุง แก้ไขตนเอง ให้ได้เสมอ นี่คือ อานิสงส์สำคัญ ที่เป็นประโยชน์ตนแท้จริง

หรือยิ่งกว่านั้น การบริจาคนี่ เป็นเหตุให้เกิด ทั้งประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่น อย่างเป็นปรมัตถธรรม กันทั้ง ๒ ฝ่ายเลยก็ได้ เรียกว่า อุภยัตถะ ถ้าทั้งผู้ให้ คือทายก ก็มีสัมมาทิฏฐิ รู้ว่าการบริจาค คือ การละกิเลสโลภ แล้วก็บริจาค ชนิดที่ทำใจ ของตนให้ ลดกิเลสโลภได้จริง อย่างรู้แจ้งเห็นจริง ย่อมเป็นประโยชน์ ขั้นปรมัตถ์ แก่ตนทีเดียว พร้อมกันนั้น ผู้รับ คือปฏิคาหก ก็มีสัมมาทิฏฐิ แม้รับบริจาค ก็ไม่หลงเกิดกิเลส โลภในใจ หรือ ไม่โลภให้แก่ตน โดยใช้สิ่ง ที่ได้รับบริจาคนั้น ก่อประโยชน์ เผื่อแผ่ต่อผู้อื่น ให้ยิ่งๆขึ้นไปอีก ก็เป็น เนื้อนาบุญจริง และหรือผู้รับ ก็รับของบริจาค ชนิดได้ปฏิบัติจิตของตน ให้ลดกิเลส ได้จริงด้วย ก็เป็นประโยชน์ขั้น ปรมัตถ์นั่นเทียว

ควรทำอย่างไรกับความคาดหวังสูงที่สังคมมอบให้ ?

ห้ามไม่ได้ และก็ไม่ควรจะห้ามเขา คนเราคาดหวังอะไรสูงก็ดีอยู่ แต่คุณต้องรู้เท่าทัน การคาดหวังนั้น ถ้าคุณเอง ไปยึดติดมากมาย คุณก็เจ็บปวดหัวใจ สำคัญที่ตัวของคุณ หรือตัวของใครๆก็แล้วแต่ การคาดหวังสูง ไม่มีปัญหาหรอก ธรรมดา อุดมการณ์ ต้องสูงเข้าไว้ เสร็จแล้วเราก็ให้ใกล้ อุดมการณ์ที่สุด ไม่มีใคร ที่ไปถึงจุดสุดยอด ของอุดมการณ์ ต้องมีข้อบกพร่องบ้าง คนเราสามารถ ที่จะคิดถึง สิ่งที่ดีกว่า ความจริง ที่จะเป็นได้ แต่จะทำให้ดี ตามที่มันจะเป็นนั้น ไม่ได้ง่ายๆหรอก แต่ก็ต้องให้ได้ สูงขึ้นๆ ไปเรื่อยๆ
ในส่วนของเรา คุณก็ต้องวางใจต่อการตรวจสอบ ห้ามเขาไม่ได้ เขาตรวจสอบมาก็ดี นำข้อตำหนิ ติฉิน ของเรามาแล้ว ก็ตรวจสอบเราเองโดยจริง มีข้อบกพร่องอะไรที่ควรแก้ไข ก็แก้ไขไป เป็นการดีที่ เขามากระตุ้น ให้เราต้องเสริมคิด เสริมสร้าง เสริมรู้ เสริมอ่าน เสริมบอกอะไรต่างๆให้เรา โดยเราไม่ต้องจ้างสักบาท เราทำใจของเรา ก็แล้วกัน บางเรื่อง เรารับรู้เลยว่า เป็นข้อบกพร่องของเรา ที่มีอยู่ แต่ยังทำไม่ไหว ทำได้แค่นี้ ก็ยอมจำนน จริง! แม้เราคุยไปว่า อุดมการณ์ของเราสูง และเราก็อยาก ให้เป็นตามนั้นก็ตาม แต่ทำได้เท่าใด เราก็ต้องรู้ความจริงว่า เราสูงเท่านั้น อย่าหลงว่า ตนสูงไปตามอุดมการณ์ ที่ตนยังไปไม่ถึง ก็แล้วกัน

การยอมรับความจริง
เป็นความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่
เป็นความอิสระเสรีของชีวิต
เป็นการปลดปล่อยตัวเองจากเครื่องพันธนาการ
เป็นอะไรก็เป็นให้ดีที่สุด
และยอมรับความจริง

(สารอโสก อันดับที่ ๒๔๘ พฤษภาคม ๒๕๔๕)