หน้าแรก>สารอโศก

จากโลกีย์ถึงโลกุตระ


ชื่อใหม่ นางมิ่งหมาย บุญเฉลียว
ชื่อเดิม นางทองม้วน พรหมชาติ
เกิด ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๗
พี่น้อง ๕ คน เป็นคนที่ ๔
สถานภาพ หย่า มีบุตร ๒ คน
ภูมิลำเนา อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ
การศึกษา ปริญญาตรี (วิชาเอก ชีววิทยา วิชาโท เคมี) วิทยาลัยอุบลราชธานี
อาชีพ รับราชการครู ๒๕ ปี โรงเรียนบ้านค้อน้อย จ.อุบลราชธานี

ปี ๒๕๑๗ ได้บรรจุเป็นข้าราชการครูครั้งแรกที่ ร.ร.บ้านผือ อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ รู้จักชาวอโศก โดยการแนะนำ จากเพื่อนครู โรงเรียนเดียวกัน ซึ่งเป็นญาติธรรม อยู่ก่อนแล้ว จากนั้นไปทำบุญ ที่ศีรษะอโศก ทุกวันเสาร์ และอาทิตย์ ประทับใจในสังคม ที่มีความประหยัด ขยัน เรียบง่าย อ่อนน้อมถ่อมตน มีความ เป็นพี่ เป็นน้อง พึ่งตนเอง และสมณะพูดอย่างไร ทำอย่างนั้น

ต่อมารับประทานอาหารมังสวิรัติ ลดการแต่งหน้า แต่งตัว และปลูกพืชผักสวนครัวไว้กินเอง ได้รับ ความร่วมมือ จากสามี ฐานะทางครอบครัวดีขึ้น

ต่อมาลดมื้อ เหลือ ๒ มื้อ และ ๑ มื้อตามลำดับ และพาลูกอายุ ๗-๘ ปี ไปคบคุ้นกับทางวัด แล้วให้ รับประทาน อาหารมังสวิรัติ สามีเริ่มขัดแย้ง ไม่ซื่อสัตย์ (นอกใจ) จึงคิดว่า ตนเองคงเคร่งไป และก็ไม่สวย เหมือนเดิม จึงหันกลับไปทำตัวเหมือนเดิม กินเนื้อสัตว์ด้วย แต่ก็รู้สึก ละอายใจตัวเอง จึงเริ่มห่าง หมู่กลุ่ม แต่ยังติดตามข่าวคราว จากหนังสือ ที่ทางวัดส่งมา ให้ตลอด ครอบครัวดีขึ้น แต่สามี ยังไม่ซื่อสัตย์ เหมือนเดิม จึงได้คิดว่า มิใช่เพราะเราเคร่งเกินไป แต่เป็นเพราะสามี จิตใจแปรเปลี่ยนไปแล้ว ทำให้เริ่มคิดถึง หมู่กลุ่ม ยอมลดโลกธรรม ให้หมู่กลุ่มว่ากล่าวได้ และเข้าหาหมู่กลุ่มอีกครั้ง

ปี ๒๕๓๕ หย่าขาดจากสามี กลับมาปฏิบัติธรรมจริงจัง

ปี ๒๕๔๒ ลูกโตแล้ว คนโตเข้ามหาวิทยาลัย คนเล็กเรียน ม. ๖ จึงมาซื้อที่ดิน และปลูกบ้าน ที่ราชธานีอโศก เริ่มมาอยู่ตลอด

๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ ลาออกจากงาน มาเป็นคนวัด สามีมาตาม อยากให้กลับไปดูแลลูก และครอบครัว แต่ตัดสินใจ ไม่กลับ เพราะลูกสามารถดูแล ตัวเองได้แล้ว

ปี ๒๕๔๔ ได้เลื่อนฐานะเป็นอารามิกา

งานที่ทำ ครั้งแรกทำงานทั่วไปก่อน โดยเฉพาะที่โรงครัว จากนั้นได้เป็นผู้รับใช้ ฝ่ายการศึกษา และ ฝ่ายต้อนรับ ผู้มาเยือนชุมชน จนถึงปัจจุบัน

ปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน (การปฏิบัติธรรม)
เมื่อรับงานใหม่ๆ จะมีปัญหา คำสั่งงานไม่เป็นเอกภาพหลายคำสั่ง ทำตามไม่ถูก ต่อมาเริ่มเข้าใจ พยายามใช้ที่ประชุม เป็นหลัก เวลาเกิดผลเสีย ก็ไม่ได้หนักคนเดียว และ อุปสรรคอีกประการหนึ่งก็คือ เรื่องวิบากส่วนตัว เรื่องครอบครัว ถึงกายจะพรากจะห่าง อุปาทาน สัญญาเก่าๆ คอยติดตาม มาหลอกหลอน รบกวนจิตใจอยู่เสมอๆ ทำให้เศร้าหมอง ไม่เบิกบาน

แนวทางแก้ไข เมื่อมีความเศร้าหมอง จะใช้สติทบทวนตัวเอง และรู้ความจริง รู้ถึง ความทุกข์ที่เคยได้รับ พิจารณาบ่อยๆ เสมอๆ ว่ามาที่นี่ เพื่ออะไร ก็จะเกิดความชัดเจน ทำให้กิเลสลดลงได้ ถ้ามีปัญหามากๆ ก็จะปรึกษาสมณะ สิกขมาตุ และหมู่กลุ่ม เมื่อมีความเศร้าหมอง จะไม่อยู่กับตัวเองคนเดียว ออกมาสู่ ส่วนกลาง รับรู้งานส่วนกลางให้มากๆ เอาภาระช่วยหมู่กลุ่มให้มาก จนไม่มีเวลาทุกข์ และลืม ความเศร้าหมอง และหาสิ่งที่เป็นปีติสำหรับตัวเอง ให้กำลังใจตัวเองมากๆ โดยไม่ต้องรอให้ใครต้องมาให้ ต้องเจียม ตัวเองมากๆ และอ่อนน้อมให้มากๆ แล้วเราก็จะอยู่กับหมู่กลุ่ม ได้อย่างมีความสุข

ข้อปฏิบัติยากที่สุด เรื่องความติดยึดในครอบครัว มีอิตถีภาวะมาก ชอบจะเป็น ไม้เลื้อย คอยหา ที่เกาะเกี่ยว ผูกพัน แต่เมื่อปฏิบัติจริงจัง ต่อเนื่อง เห็นโทษภัยเห็นทุกข์มากยิ่งขึ้น จึงสามารถ ลดกิเลสต่างๆ ดังกล่าวลงได้

ทุกวันนี้ พูดถึงครอบครัวก็ไม่เศร้า ไม่ทุกข์มากมาย

เป้าหมายของชีวิต
อยากเป็นนักบวช เพราะมีกรอบ มีกฎระเบียบที่ชัดเจน ทำให้การปฏิบัติ และศึกษา ละลดกิเลส ที่ละเอียด ของตัวเอง ได้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการช่วยให้หลุดพ้น จากความทุกข์ และมีอิสระเสรี อย่างแท้จริง

คติประจำใจ
ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น
มุ่งมั่นอย่างเอาจริงย่อมสำเร็จ
สู้ทนจนตาย บนเส้นทางสายนี้

ข้อคิดข้อฝากกับหมู่กลุ่ม
สังคมชาวอโศกทุกวันนี้ เป็นที่ยอมรับมากขึ้น เป็นสังคมที่อบอุ่น เป็นพี่เป็นน้อง เป็นสังคมของการ
สร้างคน มีการขัดเกลาซึ่งกันและกัน ตอนนี้อโศกรับงานกว้างขึ้น มากขึ้น แม้จะกว้าง จะมาก ยิ่งต้องมี แนวลึกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่อง ศีล ข้อวัตรปฏิบัติของตนเอง ย่อมยิ่งเคร่งครัดขึ้นชัดเจน จนเป็นปกติ

หากปฏิบัติหย่อนยาน ก็จะไม่สามารถสื่อ ให้กับคนใหม่ๆ ที่จะเข้ามาได้อย่างชัดเจน ถูกต้อง และยาวนาน ต้องมีความจริงจัง มั่นคง แม่นในเป้าหมายของการปฏิบัติธรรม เรามั่นคง คนอื่นก็มั่นใจ และเป็นโสดดีที่สุด

(สารอโศก อันดับที่ ๒๔๘ พฤษภาคม ๒๕๔๕)