หน้าแรก>สารอโศก

ศุกร์ที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๕ น.ส.พ.อาทิตย์วิเคราะห์รายวัน เมื่อ'บุญนิยม'รุก'ทุนนิยม'
กับตลาดไร้สารพิษของสันติอโศกใหญ่ที่สุดในประเทศ

รอบทิศจิตวิญญาณ


มีคำกล่าวว่า คำว่า'บุญนิยม' ของ 'สมณะโพธิรักษ์' นั้นเกิดขึ้น มานมนานแล้ว นานตั้งแต่ ก่อนจะเกิดเรื่อง 'กรณีสันติอโศก' เสียอีก แต่ที่เริ่มมาเห็นเป็น รูปธรรม ชัดเจนก็คือในปี ๒๕๒๖ และการเกิดชุมชน 'สันติอโศก' ในกรุงเทพฯ จนกระจายไป ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งสมาชิก ในชุมชน 'บุญนิยม' อันเป็นชุมชนใหม่ ล้วนเคยเป็นสาวกของ 'ทุนนิยม' มาแล้วทั้งสิ้น

ล่าสุดเมื่อต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา 'ชาวสันติอโศก' ได้ร่วมกันเปิดตลาด 'บุญนิยม' ขนาดพื้นที่ ๔ ไร่ ในใจกลาง กรุงเทพฯ นับว่าเป็นตลาดปลอดสารพิษ ที่ใหญ่ที่สุด ในประเทศ และเท่ากับว่า เป็นการประกาศ 'รุก' คืบ สวนกระแส 'ทุนนิยม' อันเป็น 'กระแสหลัก' ในปัจจุบัน เพราะตลาดดังกล่าวนี้ ขายสินค้า ผลผลิต ทางการเกษตร ที่มีคุณภาพ ในราคาต่ำกว่าท้องตลาดอื่นๆ เป็นการคืนกำไรให้สังคม

เกือบ ๓๐ ปี ที่ชุมชน 'บุญนิยม' ค่อยๆเติบโตขึ้น สมาชิกในชุมชน มีตั้งแต่เด็กๆ จนไปถึงผู้ใหญ่ คนในชุมชน มีตั้งแต่ฆราวาส จนไปถึงสมณะ (นักบวช) และทุกคน ต่างประกอบอาชีพ ทำมาหากิน

เมื่อก่อนสังคมเมิน 'สมณะโพธิรักษ์' และ ชาวสันติอโศก ที่หันมาใช้ชีวิต ตามแนวทางศาสนา หันกลับมา ฟื้นฟู เกษตรกรรม ทอผ้า สมุนไพร มีความเป็นอยู่เรียบง่าย และสนับสนุนการดำรงชีพ แบบไทยๆ ที่เคยเป็น รากวิถีไทย แต่ปัจจุบัน 'เทรน' วิถีชีวิต แบบทางเลือกของ 'สันติอโศก' ได้รับการยอมรับ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็น อาหารมังสวิรัติ ผลิตภัณฑ์ จากสมุนไพร พืชผักปลอดสารพิษ แต่ถ้าพูดถึง วิถีชีวิตแบบ 'สันติอโศก' สังคม แม้จะยอมรับได้ ในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้ทั้งหมด เหมือนกับที่ 'สมณะโพธิรักษ์' พูดไว้ว่า

'เมื่อก่อนเขาเกลียดเราจะตาย เดี๋ยวนี้เห็นไหม สิ่งที่พวกเราทำ เขาก็หันมายอมรับ เข้าทำนอง เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง'

การยอมรับ 'ทางเลือก' ทางใหม่ของสังคม ยุคทุนนิยม ที่หยิบยื่นมาจากสังคม 'บุญนิยม' ของสันติอโศก ไม่ใช่ของใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ โลกก็เคยฮือฮากับ 'ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว' ของฟูกูโอกะ หรือ เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ ของเอินสท์ ชูมากเกอร์ หรือแม้แต่ ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวง ที่พยายามกลับ เข้ามาหา 'ราก' เดิมของสังคม ที่ไม่ยอมจำนน ต่อระบบทุนนิยม เพียงประการเดียว

'จิ้งเซี่ยงผ่าซือ' พระจีนชาวไต้หวัน ที่เข้ามาทำวิจัย ความสำเร็จของ 'ชุมชนสันติอโศก' และได้นำเสนอต่อ การประชุมพุทธศาสนา ที่ไต้หวัน ได้กล่าวว่า 'ท่ามกลางระบบเศรษฐกิจ ประชาธิปไตย ทุนนิยมเสรี อย่างสุดขั้ว ระบบเศรษฐกิจแบบบุญนิยม ของสันติอโศก เป็นทางเลือกใหม่ ที่ให้ความหมายกับชีวิต มีลักษณะคล้ายสังคม ในอุดมคติ อย่างยุคพระศรีอารย์' แต่ 'จิ้งเซี่ยงผ่าซือ' ก็ระบุว่า กว่าที่ 'สันติอโศก' จะเป็นที่ยอมรับ ของสังคมไทยได้ ก็เลือดตาแทบกระเด็น พวกเขาต้องพากเพียร ฝ่าฟันอุปสรรค คือ ความระแวง สงสัย ความเห็นที่ต่างกัน ... จนเมื่อมวลหมู่ของ ชาวอโศกเพิ่มมากขึ้น ทั้งด้านคุณภาพ และ ปริมาณ พร้อมกับบทบาท การช่วยเหลือสังคม อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ เสียงต่อต้าน ก็ค่อยๆ จางไป"

ทั้ง 'จิ้งเซี่ยงผ่าซือ' และ 'โพธิรักษ์' ต่างชำแหละ ระบบ 'ทุนนิยม' ว่าเป็นอวิชชา ที่กระตุ้นให้ คนเกิดกิเลส กามคุณ -ลาภ -ยศ -สรรเสริญ จะได้แห่กันมาเสพ 'สินค้า' ที่ระบบทุนนิยมสร้างขึ้น และยิ่งไปกระตุ้น 'กิเลส' ก็ยิ่งทำให้จิตใจของคน ไม่เคยสงบ

ส่วนมาเรีย เลน่า ปริญญาเอก ด้านศาสนาเปรียบเทียบ ชาวฟินแลนด์ ได้เข้ามาศึกษา วิถีชีวิต 'บุญนิยม' เป็นเวลาเกือบ ๒ ปี และได้เดินทางไปเยี่ยม ชมชุมชนบุญนิยม ทั่วประเทศ เธอได้วิพากษ์ เปรียบเทียบ ให้ฟังว่า 'ในระบบทุนนิยม คนมักจะวัดความสำเร็จในชีวิต ด้วยมาตรฐาน ๔ ประการคือ ความร่ำรวย ทางวัตถุ ตำแหน่งทางโลก ชื่อเสียงเกียรติยศ และ ความสำราญ ทางโลกีย์ พวกทุนนิยม ต้องการบ้าน หลังใหญ่ ต้องการเงินมากๆ"

ขณะที่ระบบแบบ 'บุญนิยม' กลับเน้นการละกิเลส ไม่เสพ 'สินค้า' เกินความจำเป็น หัวใจของบุญนิยมคือ การลดละอะไรๆ ที่เกินเลย จากความจำเป็นของชีวิต เข้าไปสู่กระบวนการพื้นฐานของชีวิต ซึ่งตรงกับ หลักการ 'เศรษฐศาตร์เชิงพุทธ' (Buddhist Economics) ของเอินสท์ ชูมากเกอร์ กล่าวถึง ลักษณะ เศรษฐศาตร์ เชิงพุทธว่า 'ตั้งอยู่บนพื้นฐานสันโดษและอหิงสา'

สมณะโพธิรักษ์' มองรูปแบบการบริโภคอาหาร 'มังสวิรัติ' พืชผักปลอดสารพิษ ใช้ผลิตภัณฑ์ สมุนไพร แม้สังคม 'เสพ' ทางรูปธรรมเท่านั้น และได้รับความแพร่หลาย จนกลายเป็นธุรกิจขนาดย่อม สร้างรายได้ เป็นกอบเป็นกำ ซึ่งสินค้าเหล่านี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับสินค้า ในทุนนิยม ที่ผู้เสพ ยังเข้าไม่ถึง จิตวิญญาณของ 'บุญนิยม'

ตลาดบุญนิยมไร้สารพิษ กำลังเติบโตขยายปีก ได้สู่ต่างประเทศเพื่อนบ้าน ลาว เขมรและจีน ที่สนใจ ผลิตภัณฑ์ จากสมุนไพร ขณะที่พืชผัก ผลไม้ไร้สารพิษ ฝรั่งต่างชาติสนใจ เคยสอบถามเข้ามา เพียงแต่ อาจจะมีปัญหา ที่มาตรฐาน ISO ของฝรั่ง กับ ISO ของบุญนิยมไม่เหมือนกัน แต่สมณะโพธิรักษ์ บอกว่า 'ไม่เป็นไร เทียบกัน ตัวต่อตัว มาตรฐานของเราดีกว่ามาก'

ถึงแม้ว่า ท่ามกลางการดิ้นรน เพื่อแสวงหาหนทางชีวิตที่ดีกว่า เศรษฐกิจ 'ทุนนิยม' จะมีแนวคิดของ 'ฟูกูโอกะ' 'ทฤษฎีใหม่' หรือ 'เศรษฐศาสตรเชิงพุทธ' แต่ 'บุญนิยม' น้องใหม่ล่าสุด ของวงการ ที่ถูกชูขึ้นมา ให้เป็น ทางเลือกใหม่ ของสังคม โดยให้คนหันกลับมา มองหาแนวคิด การดำเนินชีวิต บนพื้นฐานของหลัก 'ปรัชญา' และ 'ศาสนา' โดยไม่หลบลี้หนีสังคม ไปแสวงหาความหลุดพ้น เพียงลำพัง ก็ได้ชี้ให้เห็นว่า 'อารามศักดิ์สิทธิ์' ในการบำเพ็ญเพียร เพื่อบรรลุธรรม ตามแนวทาง 'บุญนิยม' ของ 'ชาวสันติอโศก' ไม่ได้มีเพียง การอยู่แค่ในป่า หรือในวัด แต่กลับอยู่ในทุกๆที่ของโลก ดังนั้น 'ชาวสันติอโศก' จึงถือเอา เวทีโลกเป็น 'อารามศักดิ์สิทธิ์' ในการดำเนินชีวิต ตามหลักพระธรรม

งานนี้ใครจะนำไปทำตาม เป็นแบบอย่างก็ย่อมได้ ไม่สงวนลิขสิทธิ์

l ทีมข่าวอาทิตย์รายสัปดาห์ l

(สารอโศก อันดับที่ ๒๔๙ มิถุนายน ๒๕๔๕)