หน้าแรก>สารอโศก


อันเนื่องมาแต่ ข่าวเพื่อสื่อมวลชนของอย.
อย่าหลงเชื่อน้ำลูกยอ โฆษณาอ้างรักษาโรค


อย.เตือนผู้บริโภค อย่าหลงเชื่อโฆษณา ผลิตภัณฑ์น้ำลูกยอ ที่อ้างสรรพคุณทางยา โอ้อวดว่า สามารถรักษา โรคต่างๆ ได้เป็นอันขาด โดยเฉพาะการโฆษณาทางแผ่นปลิว และช่องทาง ขายตรง เพราะแท้จริง ผลิตภัณฑ์ น้ำลูกยอ เป็นเพียงผลิตภัณฑ์ เสริมอาหารชนิดหนึ่ง ไม่สามารถ รักษาโรคได้ ขอให้ผู้บริโภค เชื่อเฉพาะสรรพคุณ ที่ระบุบนฉลาก ที่ได้รับอนุญาตจาก อย. แล้วเท่านั้น

ภญ.พรพิมล ขัตตินานนท์ รักษาการนักวิชาการอาหารและยา ๑๐ ชช. ด้านมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์ด้าน สาธารณสุข อย. เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร น้ำลูกยอหลายยี่ห้อ ออกสู่ท้องตลาด และมี รูปแบบจำหน่าย โดยวิธีขายตรง มีการใช้สื่อโฆษณา เช่น ใบปลิว แผ่นพับ ออกแจกจ่าย ให้กับสมาชิก นำไปแนะนำ และขายสินค้าให้กับประชาชน โดยมักพบว่า ข้อความโฆษณา ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว อวดอ้างสรรพคุณ เกินความจริง เช่น อ้างผลการศึกษาวิจัย หรือประสบการณ์ จากผู้ป่วย ที่เป็นโรคต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง หัวใจ อัมพฤกษ์ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เอดส์ ภูมิแพ้ ไขข้ออักเสบ และความผิดปกติอื่นๆ ของร่างกายว่า เมื่อดื่มน้ำลูกยอ ดังกล่าวแล้ว มีอาการดีขึ้น ๕๕-๙๐% ซึ่งสำนักงาน คณะกรรมการ อาหารและยา (อย.) มีความห่วงใย ในเรื่องนี้ เป็นอย่างมาก จึงขอแจ้ง ให้ผู้บริโภคทราบว่า ผลิตภัณฑ์ เสริมอาหาร น้ำลูกยอ ได้ขออนุญาต ใช้ฉลาก เป็นผลิตภัณฑ์ เสริมอาหารเท่านั้น ซึ่งก็คือผลิตภัณฑ์ ที่ใช้รับประทานโดยตรง นอกเหนือ จากการรับประทาน อาหารหลักตามปกติ มีจุดมุ่งหมาย สำหรับ บุคคลทั่วไป ที่มีสุขภาพปกติ มิใช่สำหรับ ผู้ป่วย และไม่ได้มีสรรพคุณ ที่สามารถรักษาโรค แต่อย่างใด สำหรับการโฆษณา โอ้อวดเกินจริง ดังกล่าว อย. กำลังติดตาม ดำเนินการตามกฎหมาย กับผู้โฆษณา เพื่อไม่ให้หลอกลวงผู้บริโภค ให้เกิดความเข้าใจผิด

ภญ.พรพิมล ขัตตินานนท์ กล่าวต่อไปว่า ขอให้ผู้บริโภค อย่าได้หลงเชื่อโฆษณา เกินความจริง ของผลิตภัณฑ์ เสริมอาหาร ที่อวดอ้างสรรพคุณ ในทางยาว่า สามารถบรรเทา หรือรักษาโรคต่างๆ ได้เป็นอันขาด เพราะหาก สามารถรักษาโรคได้จริง จะต้องผ่านการพิจารณา ตามกระบวนการ ในการขออนุญาต เป็นผลิตภัณฑ์ยา โดยเฉพาะที่สำคัญ ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์เสริม อาหารใดๆก็ตาม ขอให้ผู้บริโภค อ่านข้อมูลของอาหารนั้น บนฉลากทุกครั้งว่า มีสรรพคุณเพียงไร และขอให้เชื่อถือ เฉพาะสรรพคุณ ที่ระบุบนฉลาก ซึ่งได้รับการอนุญาต จาก อย.แล้วเท่านั้น

(กองเผยแพร่และควบคุมการโฆษณา เดือนพฤษภาคม ข่าวแจก ๔๖ / ปีงบประมาณ ๒๕๔๕)

สรุปข้อเสนอของอย.
๑.เตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อคำอ้างสรรพคุณทางยารักษาโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เอดส์ อัมพาต โรคมะเร็ง ฯลฯ ให้หายได้
๒.เตือนผู้ผลิตไม่ให้โฆษณาเกินจริง จะดำเนินการตามกฎหมาย
๓.น้ำลูกยอเป็นผลิตภัณฑ์ที่อนุญาตให้ใช้ฉลากเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเท่านั้น (ระบุสรรพคุณ ทางยาไม่ได้)

ข้อคิดเห็นบางประการของต.อ.
ข่าวนี้อาจเกิดกระแสความไม่ชอบใจในหมู่ผู้ผลิตในวงการน้ำหมักลูกยอ และเป็นที่งุนงงสงสัย ในหมู่ผู้บริโภค ได้ง่ายๆ
ถ้าหากว่ายืนอยู่กันคนละส่วนของ'ช้าง'[ซึ่งเปรียบเหมือนความ(รับ)รู้อันกว้างใหญ่] จะทำให้มุมมอง ณ จุดที่ยืนอยู่ แตกต่างกันนั้น เหมือนกันได้อย่างไร จึงเป็นเรื่องที่แต่ละฝ่าย ควรจะได้สื่อสาร และพยายาม ทำความเข้าใจ ในมุมมองของผู้อื่น โดยวิเคราะห์แยกแยะประเด็นต่างๆ อย่างปราศจากอคติ กล่าวคือ
๑. ผู้ผลิตควรเข้าใจ บทบาท และมุมมองของอย. อย.ในฐานะหน่วยงานของรัฐ ผู้ทำหน้าที่ คุ้มครอง ผู้บริโภค ด้านผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ได้รับคำร้องเรียน จากประชาชน ผู้บริโภคน้ำลูกยอว่า มีผลิตภัณฑ์ น้ำลูกยอ วางจำหน่ายในท้องตลาด มากมายหลายสูตร หลายขนาน หลายมาตรฐานคุณภาพ ทั้งที่ส่งมา จากต่างประเทศ ผลิตในประเทศ และผลิตโดยชุมชนก็มี อีกทั้งมีการกล่าวอ้าง สรรพคุณ ที่แตกต่างกัน ตั้งแต่การสร้าง เสริมสุขภาพ ไปจนถึงประสิทธิภาพ ในการรักษาโรค แบบครอบจักรวาล ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ส่วนใหญ่ ไม่มีเครื่องหมายรับรอง จากอย. ทำให้ผู้บริโภคไม่มั่นใจ ในมาตรฐาน กระบวนการผลิต และ คุณภาพผลิตภัณฑ์ ว่าประสิทธิภาพมีจริง ดีจริง และคุ้มค่า สมราคาหรือไม่ เพราะกระแสความนิยม มาแรง ทำให้ราคา ที่ตั้งไว้สูงกว่าน้ำผัก ผลไม้ทั่วไป และที่ควรจะเป็น

ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้อย.ต้องออกประกาศ เตือนผู้บริโภค และเตือนผู้ผลิต ให้หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ ที่โฆษณาเกินจริง และจำหน่ายในราคาที่เอาเปรียบผู้บริโภค โดยมิได้จะเหมารวมว่า ผลิตภัณฑ์น้ำลูกยอ ไม่มีประโยชน์ ไม่ควรส่งเสริม หรือต้องการตีทิ้ง ผลิตภัณฑ์น้ำลูกยอ แต่อย่างใด

๒. อย.ควรศึกษาและทำความเข้าใจกับองค์ความรู้ ที่ไม่ได้อยู่ในระบบการแพทย์กระแสหลัก อันได้แก่ องค์ความรู้ ในการดูแลสุขภาพ การใช้ยาสมุนไพร การใช้เครื่องมือ เพื่อสุขภาพ ทั้งจากระบบ การแพทย์ พื้นบ้าน การแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือกอื่นๆ ซึ่งเป็นความรู้ ที่อยู่กับภาค ประชาชน ไม่ว่าจะเป็น ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือที่นำเข้ามา จากต่างประเทศ ประชาชน จึงมีประสบการณ์ตรง ในการใช้ประโยชน์ และเมื่อเห็นผลดี จึงมีการบอกต่อ มีการผลิต การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อออกจำหน่าย ดังนั้น จึงควร เป็นบทบาท หน้าที่ของรัฐ ที่จะต้องศึกษาวิจัย ตอบคำถาม ให้กับผู้ผลิต และประชาชนผู้บริโภค (โดยเฉพาะ ที่เป็นชุมชนที่พัฒนา ภูมิปัญญาพื้นบ้าน เพื่อการพึ่งตนเอง และเศรษฐกิจชุมชน) ได้ทันกระแส สถานการณ์ ที่จะมีผลิตภัณฑ์ รูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกมาก อาทิเช่น ผลิตภัณฑ์อาหารและยา ที่มีส่วนผสม ของจุลินทรีย์ ก่อประโยชน์ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร จากสารธรรมชาติต่างๆ ที่หลากหลาย ผลิตภัณฑ์ยา ในกลุ่มโฮมิโอพาที เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ ผู้ผลิตชาวเราที่ไม่เข้าข่ายการเตือนดังกล่าว ก็ไม่จำเป็นต้องตระหนกตกใจ เกินกว่าเหตุ หากตั้งใจผลิต เพื่อให้การอนุเคราะห์ ส่งเสริมสุขภาพ แก่ผู้บริโภค มีสูตรตำรับ สถานที่ และกระบวน การผลิต ที่สะอาด มีคุณภาพ ไม่เอาเปรียบ ผู้บริโภคด้านราคา กุศลเจตนาดี ก็ย่อมเกิดผลดี ตอบสนอง โดยแท้

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Dietary Supplement Product) ผู้บริโภค ที่ชอบดื่ม น้ำลูกยอ หรือหน่วยผลิต และญาติธรรมท่านใด ที่ต้องการจำหน่าย เครื่องดื่มน้ำลูกยอ และ ปฏิบัติให้ถูกต้อง ตามกฎหมาย ควรทำความเข้าใจ เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ เสริมอาหาร ซึ่งเป็นเอกสาร เผยแพร่ ของสำนักงาน คณะกรรมการ อาหารและยาดังนี้

ความหมายของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือ Dietary Supplement Product หมายความถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้รับประทานโดยตรง นอกเหนือจากการรับประทานอาหารหลักตามปกติ ซึ่งมักอยู่ในรูปลักษณะเป็นเม็ด แคปซูล ผง เกล็ด ของเหลว หรือลักษณะอื่น และมีจุดมุ่งหมาย สำหรับบุคคลทั่วไป ที่มีสุขภาพปกติ (มิใช่สำหรับผู้ป่วย) เช่น น้ำมันปลาแคปซูล ใยอาหารอัดเม็ด ใยอาหารผงสำหรับชง หรือโรยอาหาร เป็นต้น สำหรับผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีลักษณะ เป็นของเหลวนั้น หากบริโภคโดยมีวัตถุประสงค์ หรือมีลักษณะ เพื่อให้รสชาติ กลิ่นรส จัดเป็นเครื่องดื่ม หากเป็นของเหลว ที่บริโภคโดยไม่มุ่งหมาย เพื่อให้รสชาติ หรือบริโภค ในลักษณะ ต่างจาก เครื่องดื่มทั่วไป (เช่น ครั้งละ ๑๐ มิลลิลิตร) หรือเป็นของเหลวข้น สำหรับหยดใส่น้ำ หรือน้ำผลไม้ เพื่อมุ่งหมาย ในการให้สารบางอย่าง จัดเป็นผลิตภัณฑ์ เสริมอาหาร

ขั้นตอนการขออนุญาตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
ในขณะนี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จัดเป็นอาหาร ที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ ตามประกาศ กระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๒๓๘) พ.ศ.๒๕๔๔ ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณา และอนุญาต โดยสำนักงาน คณะกรรมการ อาหารและยา เสียก่อน จึงจะดำเนินการผลิต หรือนำสั่งฯได้

ผู้ใดประสงค์จะผลิต ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จะต้องดำเนินการ ขออนุญาต ดังต่อไปนี้

๑. กรณีเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตและสถานที่ผลิตเข้าข่ายเป็นโรงงาน ต้องขออนุญาต ตั้งโรงงานผลิตอาหาร (แบบ อ.๑) และขออนุญาต ใช้ฉลากอาหาร (แบบ สบ.๓)

๒. กรณีเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตและสถานที่ผลิตไม่เข้าข่ายโรงงาน ต้องขอรับเลข สถานที่ผลิตอาหาร ไม่เข้าข่าย เป็นโรงงาน (แบบ สบ.๑) และขออนุญาต ใช้ฉลากอาหาร (แบบ สบ.๓)

เอกสารประกอบ การขออนุญาต ใช้ฉลากอาหาร
การขออนุญาต ใช้ฉลากอาหาร ให้ยื่นเอกสารดังต่อไปนี้
๑. คำขออนุญาตใช้ฉลากอาหาร (แบบ สบ.๓) จำนวน ๒ ฉบับ (ต้องพิมพ์ เท่านั้น และห้ามลบ เพิ่มเติม หรือแก้ไขรายละเอียดใดๆ ทั้งสิ้น)
๒. ฉลากอาหาร จำนวน ๕ ชุด
-กรณีที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศให้ส่งฉลากภาษาไทย
๓. ในกรณีที่ฉลากมีข้อความภาษาอื่น ที่ไม่ใช่ภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ ให้ส่งคำแปล ข้อความภาษาอื่น จำนวน ๑ ชุด
๔. เอกสารเพิ่มเติม จำนวน ๑ ชุด ได้แก่
-หนังสือแจ้งสูตรส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ เป็นน้ำหนัก ต่อ ๑ หน่วย และเป็นร้อยละโดยน้ำหนัก และกรรมวิธีการผลิตจากผู้ผลิต โดยมีผู้ลงนามรับรอง พร้อมชื่อเต็มและตำแหน่ง ฉบับจริง
-เอกสารแสดงคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์(Product specification) ซึ่งรวมคุณภาพมาตรฐาน ทางกายภาพ (Physical specification) คุณภาพมาตรฐานทางเคมี (Chemical specification) และคุณภาพ มาตรฐานทางจุลินทรีย์ (Microbiological specification) โดยจะต้องมีผู้ลงนาม รับรอง พร้อมชื่อเต็ม และตำแหน่ง ฉบับจริง
-หนังสือรับรองสถานที่ผลิตอาหาร ตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๑๙๓) พ.ศ.๒๕๔๓

แนวทางในการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
๑. คำขออนุญาตใช้ฉลากอาหาร
กำหนดแนวทางในการพิจารณาคำขออนุญาตใช้ฉลากอาหารดังนี้
๑.๑ พิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับ วัตถุดิบ กรรมวิธีการผลิต คุณภาพมาตรฐาน โดยเน้นความปลอดภัย ผลข้างเคียง
๑.๒ พิจารณาข้อมูลที่แสดงบนฉลาก รวมทั้งคำเตือนและคำกล่าวอ้างต่างๆ ซึ่งจะต้องเป็นข้อมูลที่เป็นจริง และไม่ก่อให้เกิด ความเข้าใจผิด ในสาระสำคัญ
๑.๓ ผลิตภัณฑ์ที่มีความคาบเกี่ยวระหว่างการเป็นยาและอาหาร ให้พิจารณา ข้อมูลดังต่อไปนี้ ประกอบด้วย
๑.๓.๑ มีส่วนประกอบเป็นวัตถุที่มีในตำรายา ที่รัฐมนตรีประกาศตามพระราชบัญญัติยา และโดยสภาพ ทางวัตถุนั้น เป็นได้ทั้งยา และอาหาร
๑.๓.๒ มีข้อบ่งใช้เป็นอาหาร
๑.๓.๓ ปริมาณใช้ ไม่ถึงขนาดที่ใช้ ในการป้องกัน หรือบำบัดรักษาโรค
๑.๓.๔ รูปแบบ วิธีใช้ และปริมาณการบริโภค
๑.๔ ผลิตภัณฑ์ซึ่งมีสูตรส่วนประกอบเป็นวิตามินและเกลือแร่ ทั้งในรูปเดี่ยวและผสม ให้มีปริมาณ วิตามิน และเกลือแร่ แต่ละชนิด ไม่เกินค่าปริมาณสารอาหาร ที่แนะนำให้บริโภคประจำวัน สำหรับคนไทย อายุตั้งแต่ ๖ ปีขึ้นไป (Thai Recommended Daily Intakes-Thai RDI)

๒. คำขออนุญาตโฆษณาอาหาร
กำหนดแนวทางการพิจารณาคำขอโฆษณา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังนี้
๒.๑ ต้องไม่โฆษณาโดยทำให้เข้าใจว่า การรับประทานอาหารนั้นเพียงอย่างเดียว จะทำให้สุขภาพ ร่างกายดีขึ้นได้ แต่ต้องให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จะต้องบริโภคอาหารหลักให้ครบส่วน รวมทั้งการ ออกกำลังกาย และการพักผ่อนที่เพียงพอ
๒.๒ ไม่อนุญาตให้มีการกล่าวอ้าง หรือรับรองคุณภาพ คุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ โดยบุคคล องค์กร หรือ หน่วยงานใดๆ
๒.๓ ต้องไม่สื่อความหมายให้ผู้บริโภคเข้าใจว่า อาหารนั้นสามารถบำบัด บรรเทา รักษา หรือ ป้องกันโรค หรือ ความเจ็บป่วยได้ เพราะจะทำให้สำคัญผิดว่า ผลิตภัณฑ์นั้นเป็นยา
๒.๔ การโฆษณาโดยการแจกแจงคุณประโยชน์ของสารอาหารแต่ละชนิด ที่เป็นส่วนประกอบ ของผลิตภัณฑ์นั้น สามารถกระทำได้ ก็ต่อเมื่อสามารถพิสูจน์ได้ว่า มีคุณประโยชน์ ตามที่กล่าวอ้างจริง
๒.๕ การแสดงข้อความกล่าวอ้างทางโภชนาการ รวมทั้งการโฆษณาที่ใช้ข้อมูล ทางโภชนาการ ในการ ส่งเสริมการขาย ให้ปฏิบัติตามประกาศ กระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๑๘๒ ) พ.ศ.๒๕๔๑ เรื่องฉลาก โภชนาการ
๒.๖ ต้องไม่สื่อความหมายให้เข้าใจว่า เป็นอาหารสำหรับควบคุมน้ำหนัก หรือ สามารถใช้ลดน้ำหนักได้

จริงใจ - ไมตรี
ชาวอโศกเพื่อมวลมนุษยชาติ
ต.อ.กลาง

(สารอโศก อันดับที่ ๒๔๙ มิถุนายน ๒๕๔๕)