>สารอโศก


"เราจะสัมผัสความสุขได้
ต่อเมื่อทำใจให้ปราศจากโลภ-โกรธ-หลง"


กิเลสทั้งสามตัวนี้ อยู่คู่โลกมาช้านานแล้ว และเกาะกุมชีวิตปุถุชนทุกผู้คนตราบยังเข้าไม่ถึงซึ่งนิพพาน....

มันเป็นเสมือนกำแพงขวางกั้นทางไปสู่สวรรค์เหมือนม่านหมอก บดบังนัยน์ตา แห่งปัญญา มิให้เห็นหนทาง ไปสู่ความหลุดพ้น

เราจะสัมผัสความสุขได้ในทันที ต่อเมื่อทำใจให้ปราศจากความโลภ...

หมั่นเสียสละทำบุญให้ทานเสมอๆ ช่วยให้ลดโลภจริตออกจากใจ การเสียสละ กอรปความอิ่มเอิบ ขึ้นภายใน รู้สึกสบายอก สบายใจ ไม่เร่าร้อน เหมือนกับการแย่งชิง หวงแหนไว้ เป็นส่วนตัว การให้ด้วยใจ จะไม่ก่อทุกข์ ทว่า หากให้เพราะ ถูกบังคับ หรือทำไป เพราะจำใจ เช่นนี้ไม่ดีแน่

รู้จักเสียสละ อย่างมีปัญญา.... เสียสละทรัพย์ นับเป็นบุญระดับพื้นๆ เสียสละแรงกาย นับเป็นบุญมากขึ้น เสียสละ กิเลสตัณหา นับเป็นบุญ อย่างมากมาย เสียสละอัตตา หมดสิ้นตัวตน พ้นอวิชชา นับเป็นบุญ อย่างสูงสุด

"ทำทานหนึ่งร้อยหม้อ ผลบุญยังมิสู้เจริญจิตเมตตา เพียงเสี้ยวเวลา เท่าหนึ่งหยด น้ำนมโค" พระพุทธองค์ ตรัสไว้เช่นนี้

อานิสงส์ของการให้ทาน มิได้อยู่ที่ปริมาณทรัพย์อันแจกจ่าย หรือราคาของสิ่งนั้น เสมอไป

ทานที่มีอานิสงส์ มาก ขึ้นอยู่กับปัจจัย ๓ ประการคือ

๑. จิตของผู้ให้ทาน....เสียสละจริงๆ หรือทำทานอย่างแอบแฝง อาทิ เพื่อชื่อเสียง หน้าตา สรรเสริญ เยินยอ เพื่อผลประโยชน์ทางอ้อม อย่างนักการเมือง แจกข้าวของ แม้การทำทาน นิดหน่อย ทว่าวิงวอน ขอให้ตน ร่ำรวยมหาศาลนี้ มิใช่บุญมาก แต่กลับบาปหนาเสียอีก เพราะจิตพอกพูน ด้วยความโลภ.... จิตที่คิด เสียสละ ลดโลภภายในใจจริงๆ อานิสงส์ของทานนั้น จึงจะบริบูรณ์

๒. ความสำคัญของวัตถุทาน ที่มีต่อคนรับและคนให้.... ของที่จะสละนั้น สำคัญกับเรา มากแค่ไหน? และ จำเป็น สำหรับ คนรับของหรือไม่?

เศรษฐีซึ่งมีเงินเป็นพันล้าน บริจาคเงินเพื่อการกุศลหนึ่งล้านบาท เพียงเท่านี้ กระเทาะโลภจริต แม้นิดก็ไม่ได้ คงโลภมาก เหมือนเก่า แต่สำหรับกรรมกรยากจน บริจาคเงินเพียง หนึ่งร้อยบาท เป็นร้อยบาท ที่มีค่าต่อชีวิต ของเขายิ่งนัก เมื่อเขาเสียสละได้ ย่อมเป็นการลด โลภจริต อย่างถึงวิญญาณทีเดียว อานิสงส์ ของทาน ก็มากตาม

แต่หากนำเงินหนึ่งร้อยบาทนั้นไป ถวายพระคุณเจ้าขี้โลภ ซึ่งโดยสัจจะเงิน เป็นเสมือน ตราบาป ของภิกษุ กับการนำเงินนั้น ไปให้ขอทาน ข้างถนนที่อดอยาก อย่างไหนอานิสงส์ จะมากกว่ากัน?

๓. คุณธรรมของผู้รับ....ให้ทานกับสัตว์ ย่อมมิสู้ให้ทานกับคน ให้ทานกับคนปุถุชน มิสู้ให้ทาน กับพระอาริยะ และ ยิ่งภูมิธรรมสูง มากเท่าใด อานิสงส์ก็มาก ตามเท่านั้น

และที่สุดของที่สุดแห่งการทำทาน คือ ทำทานด้วยใจ ปราศจากโลภ - โกรธ - หลง อานิสงส์บริบูรณ์ เต็มเปี่ยม แล้วเราจะสัมผัส ถึงห้วงแห่งความสุข ภายในใจ

- แม่น้ำ ลักขิตะ -

(สารอโศก อันดับที่ ๒๕๐ กรกฎาคม ๒๕๔๕)