หน้าต่อไป
บันทึกปัจฉาสมณะ
โดย สมณะแน่วแน่ สีลวัณโณ ตอน...
บุญนิยมรอบกว้าง และใหญ่ขึ้น
หนังสือพิมพ์สารอโศก
อันดับที่ 231
หน้า 1/2

ต้นเดือนตุลาคม บรรยากาศเทศกาลกินเจ ยังคงมีอิทธิพล ต่อวิถีชีวิต ของ ชุมชนต่างๆ ของชาวอโศก ถึงกับงดการทำวัตรเช้า และ การแสดงธรรมก่อนฉัน รวมไปถึงโรงเรียนสัมมาสิกขา ของชาวอโศก หยุดเรียนภาควิชาการ ทั้งชาวชุมชน และนักเรียนทุ่มกำลัง ไปช่วยงานทำอาหาร ถือเป็นภาคปฏิบัติจริง ในการลดละความโลภ ความโกรธ ที่ต่างไปจากในชุมชน ต้องพบเจอ คนที่หลากหลาย ฝึกความเป็นอยู่ ที่ลำบากกว่า ที่เคยอยู่เดิม ห้องน้ำ ที่หลับนอน ไม่สะดวกเท่าในชุมชน ดีที่พ่อท่าน พาพวกเราฝึกกันมา อยู่เรื่อยๆ จึงไม่ยากลำบาก เกินไปนัก

ปีก่อนๆ พ่อท่านจำพรรษา ที่ปฐมอโศก และ สันติอโศก พ่อท่าน ยังแบ่งเวลา แวะไปดูงานให้กำลังใจ กับผู้ใหญ่ และ เด็กๆ ที่ไปช่วยงานกัน ในเทศกาลกินเจ ทั้งที่ มรฐ. (นครปฐม) และ ที่ศูนย์อาหาร (หน้าสันติอโศก) ปีที่แล้ว พ่อท่านได้มาจำพรรษา ที่อุบลราชธานี อุทยานบุญนิยม เปิดปีแรก ในช่วงเทศกาลกินเจ พ่อท่าน ยังแบ่งเวลา มาดูงาน สังเกตการณ์ ให้กำลังใจพวกเรา ที่มาช่วยงาน กันอยู่หลายๆ ครั้ง เทศกาลกินเจปีนี้ พ่อท่านอยู่ในช่วง เร่งงานหนังสือ EQ โลกุตระพอดี จึงไม่มีเวลา แวะไปดูงาน และ ให้กำลังใจ เช่นปีที่ผ่านมา กอปรกับ มีสมณะ สิกขมาตุ ช่วยกัน ร่วมประชุม สรุปงาน และ แก้ปัญหาทุกวัน พ่อท่านเพียงแค่รับฟัง รายงานอย่างเดียว และ แนะนำให้ข้อคิด ช่วยตัดสิน ในบางเรื่อง บ้างเท่านั้น

ที่อุทยานบุญนิยม นอกจากจะขายในช่วงเวลาที่ มากกว่าทุกแห่ง ๖.๐๐ น. - ๒๐.๐๐ น. ปีนี้ยังมี สีสันมากขึ้น มีไฟกะพริบ แพรวพราว มีดนตรีเพื่อชีวิต แถมให้วันละ ๒ รอบ มีร้าน ของศีรษะอโศก มาเพิ่มเติม ในแต่ละวัน มีอาหารกว่า ๕๐ ชนิดให้เลือก ยอดจำหน่ายอาหาร และ ของแห้ง สูงกว่าปีที่แล้ว ทั้งๆ ที่ปีนี้ เศรษฐกิจไม่ดี พืชผักราคาแพง แต่เราก็ยังคง ยืนหยัดราคาถูก อีกทั้งมี ร้านจำหน่ายอาหารเจ มากขึ้นหลายๆ แห่ง ห้างสรรพสินค้า ชื่อดังของอุบลฯ ส่งคน มาเรียนทำอาหาร ที่อุทยาน และ เปิดร้าน อาหารเจ ที่หน้าห้างสรรพสินค้า ของตน ขึ้นป้ายผ้าใหญ่ ดูคึกคัก ราคาก็ไม่แพงมากนัก แต่ลูกค้าส่วนใหญ่ ยังคงไปอุดหนุน ที่อุทยานบุญนิยม ด้วยบรรยากาศ ที่ไม่เหมือน ร้านอาหารทั่วๆ ไป มีทั้งคนแก่ คนวัยกลาง คนหนุ่มสาว และ เด็กโต เด็กเล็กๆ รวมกัน ๑๐๐-๑๕๐ ชีวิต

“เทศกาลกินเจ ๑๐ วัน ปีนี้ที่อุทยานบุญนิยม จ.อุบลราชธานี ขายอาหาร จานละ ๑๐ บาท ต้องล้างจาน กว่าหมื่นใบ ในงานนี้ มีผู้ว่าราชการจังหวัด ไปเปิดงาน นอกจาก ขายอาหารแล้ว ยังมีดนตรีบรรเลง มีไฟกะพริบ บรรยากาศครึกครื้น เฉพาะพวกเรา ที่ช่วยกันทำ ช่วยกันขาย ก็มีกว่าร้อยคน ลักษณะนี้ คือบุญนิยม ที่ทุนนิยม ทำไม่ได้ จะเกณฑ์ที่ไหนมาทำ ทำได้ก็ชั่วคราว แม้พยายาม ใช้จิตวิทยาสร้าง ก็ได้ครั้งเดียว ทำต่อเนื่อง อย่างเราไม่ได้ จ้างคน กว่าร้อย คนขายจานละ ๑๐ บาท ทำไม่ได้ ทุนนิยมเลียนแบบ บุญนิยมไม่ได้ บรรยากาศ ทั้งจิตวิญญาณ พฤติกรรม ของพวกเรา ก็ไม่เหมือนข้างนอก ข้างนอกแม้บริการ อย่างอ่อนน้อม แต่ก็ไม่เหมือน เราดูแข็ง แต่จริงใจกว่ากัน เขาสงสัยว่า เรามาช่วย เป็นร้อยคน ไม่มีรายได้ ทำได้อย่างไร นี่เป็นบทบาทสังคม ของ พวกเรา ที่ทำให้สังคมรู้ว่า เราอยู่ด้วยกัน กินกันไป ใช้กันไป เกื้อกูลกัน ไม่โลภโมโทสัน ก็อยู่ได้ นี่จะเป็นประโยชน์ ที่เราให้กับเขา ให้เขาสำนึก และ เข้าใจเรื่องนี้ เงินทองไม่ใช่หลักสำคัญ สำคัญคือ ความเข้าใจ ความเป็นมนุษยชาติ ความมี “สังคหะ และ ภราดร”......”

(จากบางส่วน ที่พ่อท่านบอกเล่า ให้คณะกรรมการ ๔ องค์กร ได้ทราบ ในช่วงการประชุม ๒๙ ต.ค.๔๓ ที่สันติอโศก)

ออกพรรษาปีนี้ (๑๓ ต.ค.) ก็มีอะไร ที่แปลกไปกว่า ที่เคยเป็นมา พ่อท่าน ให้ตบแต่ง เรือประดับไฟ ระยิบระยับ เพื่อไปร่วมงาน ประเพณี “ไหลเรือไฟ” ของจังหวัดอุบลราชธานี เป็นการตัดสินใจ ร่วมงานประเพณี อย่างปุบปับ ไม่ได้คิดเตรียมการ ไว้ล่วงหน้า แต่ด้วยความพร้อม ของพวกเรา ทั้งคน ทั้งทุน ทั้งเรือ ทั้งหลอดไฟฟ้า จากงานฉลองน้ำ จึงเนรมิตเสร็จ ภายในเวลาไม่กี่วัน ได้ทันกาล ค่าใช้จ่ายต่างๆ พวกเราออกกันเอง ด้วยไปแจ้งเรื่อง ขอร่วม ”ไหลเรือไฟ” หลังจากที่ทางคณะจัดงาน ได้จัดแบ่งแจก งบประมาณ ไปตามวัดต่างๆ ที่จัดแต่ง “เรือไฟ” เข้าร่วมแสดง หมดเกลี้ยงแล้ว

ข้าพเจ้าซักถามถึงเหตุ ของ การไปร่วมไหลเรือไฟครั้งนี้ พ่อท่านตอบ “มีพวกเรา มาเสนอ ให้ไปร่วมงานไหลเรือไฟ กับเขา เพราะ เรามีเรือ อยู่หลายลำ หลอดไฟฟ้า ก็มีอยู่แล้ว ก็เลยเห็นว่า เราน่าจะไปสัมพันธ์ กับสังคมภายนอก ในงานอย่างนี้บ้าง

ผมเองก็ไม่รู้เลยว่า เขาไหลเรือไฟกันอย่างไร ไม่เคยไปดู ตอนแรก มีผู้คิดจะให้ทำ Black light ผมก็บอกว่า ไม่ได้หรอก มันจะต้อง ทำห้องกันแสงไฟฟ้า รอบด้าน แล้วก็เป็นคืนวันเพ็ญ พระจันทร์ เต็มดวงด้วย หากไม่มืดจริงๆ การแสดง Black light จะไม่น่าดู คิดดูแล้ว มันยุ่งยากมาก จึงเลิกล้มไป เขาก็ไปคิด ทำเป็นรูปปลา เรามีเหล็กอยู่แล้ว มีมืออยู่แล้ว ก็ต่อเชื่อมกัน ไม่กี่วันก็เสร็จ”

เป็นครั้งแรก ที่ชาวราชธานีอโศก ได้ไปร่วมงานประเพณี “ไหลเรือไฟ” จึงดูตื่นเต้น คึกคักกันไป ทั้งหมู่บ้าน พ่อท่าน สมณะ สิกขมาตุ ก็ไปกันหมด ออกเรือจากบ้านราชฯ ตั้งแต่ห้าโมงเย็นเศษ เริ่มพิธี “ไหลเรือไฟ” กันจริงๆ ประมาณสองทุ่ม เรือไฟลำอื่นๆ ล้วนแล้วแต่ เป็นพระ และ สามเณร ที่คอยควบคุมเรือ และ คอยต่อไฟตะเกียง ที่ดับ ระหว่าง ปล่อยให้เรือไหลไปตามน้ำ ชาวบ้าน จึงมีความเข้าใจว่า ประเพณี “ไหลเรือไฟ” เป็นเรื่องเกี่ยว กับวัด และ ศาสนา การที่สมณะ และ สิกขมาตุ ไปร่วมดูงาน จึงไม่เป็นเรื่อง แปลกประหลาดอะไร ยังไม่รู้ว่าปีต่อๆ ไป ทางเราจะส่งเรือไฟ ร่วมงานอีก หรือไม่ และ พ่อท่านจะร่วมไปดูอีก หรือเปล่า เพราะ ถ้าย้อนดู งานประเพณี ที่ชาวอโศก เคยร่วมสัมพันธ์อย่างนี้ ที่นครปฐม งานนมัสการ องค์พระปฐมเจดีย์ฯ เป็นงานประจำปี ของ จังหวัด ปฐมอโศก เคยจัดขบวนแห่ ไปร่วมขบวนด้วย ครั้งหนึ่ง พ่อท่านก็ได้ไป สังเกตการณ์ ขบวนแห่ด้วย ครั้งนั้น ปฐมอโศก ก็คึกคัก ทั้งชุมชน แถมมีจากสันติอโศก มาร่วมขบวนด้วย ปีต่อๆ มา ทางเราไม่ได้ร่วมสัมพันธ์ อย่างนั้นอีกเลย

“คนเรามีหลายระดับ การจัดสันทนาการอย่างนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่ง ของ การปฏิบัติธรรม ในสังคม เพราะพวกเรา ก็มีกันหลายระดับ อาตมาอยากมีเวลา มาร่วมสังสรรคด้วย" แต่ตอนนี้ กำลังเร่งงาน หนังสือ EQ โลกุตระ ให้ออกทันวันที่ ๒๐ นี้ อาตมา มีเวลานิดหน่อย ก่อนกินข้าวพอดี ก็เลยแบ่งเวลามา พวกเรายังมีความเข้าใจผิดอยู่ว่า หากจัดสันทนาการ ร้องรำอย่างนี้ ก็ไม่อยากมาร่วมด้วย เห็นว่าเหมือนจัดเล่นๆ อาตมากำลังบอก สังคมที่หลงการเล่น เป็นการจริงว่า จะเป็นสิ่งทำให้สังคมบรรลัย อย่างโอลิมปิก ที่เขาเห่อกีฬา ที่เพิ่งผ่านไป นั่นก็หลงการละเล่น เป็นการจริง สันทนาการ ของเราก็เหมือนกัน เป็นการเล่น ชั่วครั้งคราว (Amateur) มิใช่อาชีพ (Professional) ไม่เช่นนั้น คนจะไร้สาระ และ หลงรส เป็นอบายมุข"

พ่อท่านกล่าวถึงการเร่งงานหนังสือ EQ โลกุตระ ตอนให้โอวาท วันเอื้อไออุ่น ๑๖ ต.ค.’๔๓ ที่สันติอโศก โดยพ่อท่านแบ่งเวลา ช่วงฉัน มาร่วมดูรายการต่างๆ ไปด้วย ถือเป็นการพักสมอง พักสายตา ไปในตัว

เอาเข้าจริงวันที่ ๒๐ ต.ค. ก็ยังออกไม่ได้ เพราะ วันที่ ๑๙ ต.ค. พ่อท่าน ยังคงตรวจแก้ เพิ่มเติมสุดท้าย

“หนังสือ EQ โลกุตระ ตอนแรก จะออกให้ทันอโศกรำลึก กะว่า จะเขียนสัก ๑๐๐ หน้า เร่งจนทรุดล้ม อย่างที่พวกเรา ได้รู้กันแล้ว

เมื่อมาเขียนต่อ ก็กะว่าจะประมาณ ๑๕๐ หน้า เอาไปเอามา ก็เป็น ๒๘๘ หน้า ควรจะอ่านกันหลายๆ รอบ ที่อาตมาเร่งๆ ให้ออกก่อน วันงาน ฉลอง ๓๐ ปีการบวช ของอาตมา เพื่อจะได้วัดผล ของ หนังสือ ก่อนวันฉลอง เร่งสุดที่เพิ่งเสร็จ วันก่อนนี้

เราใช้กระดาษอย่างดี ไม่ขาวมาก เพื่อถนอมสายตา อาตมาก็อยาก ให้วาง ในตลาดมากๆ คิดว่า ถ้าได้อ่านกันจริงๆ ก็จะได้อะไรๆ อยู่ไม่น้อยเลย ก่อนตาย อาตมาอยากใช้เวลา สัก ๕ ปี เขียนหนังสือ ศาสนาพุทธ”

พ่อท่านบอกเล่า ให้ข่าวก่อนแสดงธรรม ๒๙ ต.ค.’๔๓ ที่สันติอโศก

เมื่อพ่อท่านเดินทางไปปฐมอโศก ๒๔ ต.ค.’๔๓ หมอพจน์ ได้มาตรวจ สุขภาพพ่อท่าน

หมอพจน์บอก พ่อท่านทำงานเขียนหนังสือ ใช้สมองมากๆ ทำให้เลือด ที่ขาซีด จึงขอฉีดวิตามิน B๑๒ ให้

การเมืองอาริยะ (ที่ยังไม่มีในโลก)

มีอาจารย์ผู้ใหญ่ จากสถาบันบัณฑิต พัฒนบริหารศาสตร์ (นิดา) ผู้สนใจ งานวิจัย กำลังจัดกรอบ การทำวิจัย เกี่ยวกับระบบ บุญนิยม ทั้งหมด เมื่อทราบข่าวว่า พ่อท่านกำลังบอกสอน การเมืองอาริยะ ที่แตกต่างไปจาก การเมืองทั่วๆ ไปที่กำลังเป็นอยู่ทั่วโลก จึงเกิดสนใจ มุ่งประเด็น การเมืองอาริยะ ก่อนเรื่องอื่นๆ ๔ ต.ค.’๔๓ คณะวิจัย คุณหนึ่งฟ้า และ คุณวัชโย ได้มาร่วมสนทนา ซักถามพ่อท่าน ที่ห้องสมุด สันติอโศก จากบางส่วน ที่น่าสนใจ ดังนี้

ท่านอาจารย์ : อยากจะมาขอความคิดเห็นพ่อท่าน เรื่องเกี่ยวกับ การเมืองอาริยะ นะครับ พ่อท่าน มีแนวคิดอย่างไร

พ่อท่าน : การเมืองอาริยะนี่ อาตมาว่า มันเป็นการเมือง ที่ยังไม่มีในโลก จะบอกว่า เป็นโลกแห่งความฝัน ก็ได้ แต่อาตมาก็ว่า เมื่อความจริง ของโลกุตระ หรือ ความจริง ของคนที่มา ทำได้ขนาด ถึงขั้นจิตใจ มีสาธารณโภคี มีจิตใจที่มันสามารถ เป็นส่วนกลาง ได้อย่างแท้จริง แล้วก็เห็นความจริง โดยปัญญา ปัญญาแท้ๆ ของ เขาเลยนะว่า คนเรานี่ เป็นคนที่มีความสุขได้ เพราะเสียสละจริงๆ และ ก็เป็นความสุขได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้อง เอาลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข อะไรก็ได้จริงๆ เป็นอาริยบุคคลจริงๆ เมื่อมันเป็นจริง ได้เช่นนั้น เขาก็จะเต็มใจ ที่จะทำงาน ไม่ว่าจะเป็น หน้าที่ไหน เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ เขาก็ทำได้หมดแหละ

ฉะนั้นการเมืองอาริยะ ถ้าคนมีภูมิอย่างนี้จริง เขาก็ไปทำการเมือง อันนี้ได้จริง ทำงานไม่ต้อง เพื่อลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข อะไรเลย ทำงานเพื่อช่วยผู้ด้อย ผู้ต่ำกว่า ผู้ที่ควรจะได้รับ ความเสมอภาค ขึ้นมา แล้วก็จะมีวิธีการใดๆ ที่จะเอาคนที่ มีความคิดเดียวกัน เข้ามา ช่วยกันบริหาร นั่นก็คือ คณะบริหาร คณะรัฐบาล ที่จะขึ้นไปทำงาน นั้นๆ อย่างแท้จริง

ท่านอาจารย์ : ท่านบอกว่า เป็นการเมืองที่ยังไม่มี ในโลกนี่ มันอาจจะเป็น เพราะว่า คำนิยาม ของการเมือง ที่เราเคยเข้าใจกันนี่ มันไม่ตรงกัน อย่างนั้นใช่ไหม

พ่อท่าน : ไม่ตรงแน่ เพราะเขานิยามการเมือง อย่างตั้งค่า ของ คนเอาไว้ คือค่าของคนมีกิเลส หรือ กิเลสมาก แต่อาตมานิยาม การเมืองเอาไว้ ตั้งค่าของคน ในชนิด ของคนที่ไม่มีกิเลส หรือ กิเลสน้อย โลกทั่วไป เขาไม่เชื่อว่า คนไม่มีกิเลส หรือ กิเลสน้อยไม่ได้ เขาจึงนิยาม การเมืองว่า คนมันต้องให้ลาภให้ยศ มาเป็นเครื่องล่อ ดีไม่ดี ล่อให้มากๆ ด้วย แล้วหลงเข้าใจว่า หากให้มากๆ แล้วเขาจะสุจริต จะไม่กิน ไม่โกง มันตรงข้ามกัน ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นว่า คนที่มีจิตใจสูงที่สุด จะขึ้นไปเป็นนายกฯ นี่จะต้องเป็นคนที่ มีจิตใจสูง คุณธรรมสูงจริงๆ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น คนที่สูงนี่ จะต้องยิ่งไม่เอา จะต้องสูญ แทนที่เงินเดือน ของนายกฯ จะมหาศาล เงินเดือน ของประธานาธิบดี จะมหาศาล ยิ่งกว่าคนชั้นต่ำ มันกลับกันเลย ว่าเงินเดือน ของประธานาธิบดี หรือ เงินเดือน ของ นายกฯ มันยิ่งต้องต่ำ หรือ ต้องสูญ นี่เป็นตัวอย่าง ให้แก่รุ่นน้องไปเลย เพราะ ว่าเขาภูมิใจ ที่เขาสูญได้นี่แหละ เขาวิเศษ เป็นคนประเสริฐ ความประเสริฐจริง คือ ความไม่ต้อง ไปเอาอะไร ของใคร และ ก็อยู่ได้ ทุกวันนี้ เราก็อยู่ได้ คนไม่ต้อง มีรายได้เลย อยู่ กับกลุ่มหมู่ชนนี้ กินก็น้อย ใช้ก็น้อยแล้ว ไม่ได้มีรสอัสสาทะ แบบโลกๆ เขา เมื่อเป็นความจริงแล้ว เขาก็ทำได้ และ เป็นความจริง เพราะ ใจกิเลสน้อย หรือ ไม่มีกิเลสจริง

ท่านอาจารย์ : สรุปว่า ฐานคติที่เป็นตัวกำหนด คำนิยามนี่ ต่างกัน อย่างตัววัด เรื่องเงินเดือนนี่ ก็เป็นการฟ้องว่า ตั้งตัววัดผิดแล้ว

พ่อท่าน : ให้นายกฯเงินเดือนแพง ผู้พิพากษา ก็ขอขึ้นเงินเดือน เดี๋ยวข้าราชการอื่นๆ ก็ขอขึ้นด้วย แก้ปัญหาแบบนี้ ไม่มีทางหยุดเลย ในโลก

ทุกวันนี้นี่ ชาวอโศก เรามีความเป็นจริงขึ้นมา แม้จะเป็น model ที่เล็กๆ ก็ตาม แต่ว่ามันเกิดจาก ตัวฐานที่แท้จริง อาตมาไม่เชื่อว่า ชาวอโศกนี่ มากดข่มเอาไว้ อย่างทรมาน อาจจะกดข่ม กิเลสที่เหลือ แต่กิเลส ที่เขาละได้แล้วนี่ เขาถึงเป็นอยู่ได้ ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๓๐ ปี อย่างนี้ๆ ไม่ได้กดข่มอะไรนี่ พิสูจน์ได้ ตั้งแต่ฆราวาส ที่เขาอยู่ ไม่มีรายได้ ทุกวันนี้ เขาก็อยู่มา ๒๐ ปีก็มี กว่า ๒๐ ปีก็มี มันเป็นความจริง เขาก็สบายใจจริง เขาก็ตั้งหน้า ตั้งตาทำ เพราะ ฉะนั้น ถ้าเราพัฒนาขึ้นไปอีกๆ ๆ ให้เป็นปริมาณ ของคนที่มีคุณภาพ อย่างนี้ คุณภาพสูงยิ่งขึ้น มีปริมาณมากเพียงพอ มันก็พอ ที่จะเข้าไป ดำเนินการ ในสังคมส่วนใหญ่ได้

ว่ากันจริงๆ อาตมาก็ต้องการพิสูจน์ความจริง ของคนเหล่านี้ ด้วยเหมือนกัน ว่าคนเหล่านี้ จริงหรือไม่ ถ้าคนเหล่านี้จริง ทุกอย่าง เป็นไปได้เลย อาจจะต้องอาศัยเวลา อย่างที่ว่านี่ ฟูมฟัก สะสม คนเหล่านี้ เพิ่มขึ้นไปในอนาคต อาตมามั่นใจ ถึงตั้งค่าเอาไว้ว่า ๕๐๐ ปี คนเหล่านี้ ต้องเป็นไปจริง นี่อาตมา ให้อย่างช้าที่สุด สูงสุด ๕๐๐ ปีไปได้แน่

ท่านอาจารย์ : เราเข้าใจเรื่องการเมืองผิด เพราะว่าคำนิยาม มันผิด ตั้งแต่แรก เราไปอ่านตำรา รัฐศาสตร์ฝรั่ง ฝรั่งบอกว่า ต้องมีอำนาจ ต้องมีวัตถุ

พ่อท่าน : ใช่ๆ เขาต้องใช้อำนาจโลกีย์ ใช้อะไรต่ออะไรต่างๆ นานา มาเป็นค่ากำหนดทุกอย่างเลย ซึ่งเขาเข้าใจไม่ได้ ว่าคนมันไม่ต้อง ใช้อำนาจ คนใช้ภูมิธรรม หรือ ปัญญา ที่เข้าถึงสัจธรรม ใช้จริยธรรม ใช้จิตวิญญาณ ที่แท้จริงขึ้นมา เขาไม่เข้าใจ แม้กระทั่งว่า คนมีคุณธรรมนี่ มาอยู่กับโลกไม่ได้ ถ้าคนมีภูมิธรรมแล้ว จะต้องไปอยู่ เป็นฤาษี อันนั้น มันความไม่จริง ศาสนาพุทธ พิสูจน์ว่า โลกุตระ อยู่เหนือโลก อยู่ในโลกีย์นี่ ไม่ต้องหนี โลกีย์ไปไหน แต่ช่วยคนโลกีย์ ต่างหาก แล้วโลกีย์ ทำอะไรท่านไม่ได้ ท่านต่างหาก จะเป็นหลัก เป็นที่พึ่ง ให้แก่ชาวโลกีย์ โดยลาภ, ยศ, สรรเสริญ, โลกียสุข ไม่มีฤทธิ์ มีอำนาจกดดัน หรือ ดึงดูดท่านได้ จะไม่สามารถ ทำให้ท่านลำเอียง

ท่านอาจารย์ : ถ้าเป็นคำนิยาม ก็แปลว่า นักการเมืองนี่ สามารถจะใช้ แนวคิดไปถึงขั้น เผด็จการเลยก็ได้

พ่อท่าน : ถ้ามันบริสุทธิ์ใจแล้ว มันก็เผด็จการได้ เหมือนอย่าง พระพุทธเจ้านี่ ท่านก็เผด็จการเลย สาวกท่านก็ไม่มีอะไร เพราะท่าน จะไม่มีความลำเอียง ไม่ว่าจะลำเอียง ด้วยอคติ ๔ ใดๆ ท่านไม่มีจริงๆ แล้วก็ท่านมี ภูมิปัญญา เชื่อมั่นว่า ท่านมีภูมิปัญญามากพอ ที่จะบัญญัติ อะไรออกมา ได้อย่างดี และ เที่ยงตรงบริสุทธิ์ แน่นอน จึงยอม ให้เผด็จการ absolute เลย

ท่านอาจารย์ : ทีนี้คำว่าเผด็จการนี่ ก็เป็นการตีความ จากคนข้างนอก อีกใช่ไหมครับ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว แท้จริง ไม่ได้เผด็จการ

พ่อท่าน : ท่านไม่ได้เผด็จการ แต่เป็นภูมิธรรม ที่ทุกคน ให้เอกสิทธิ์ แก่ท่าน อย่างเชื่อมั่น และ เต็มใจ

ท่านอาจารย์ : เป็นการเผด็จการ ตามความหมาย ของ รัฐศาสตร์ ตะวันตก

พ่อท่าน : ใช่ เผด็จการตามความหมาย ของ รัฐศาสตร์ตะวันตก อย่างพระพุทธเจ้านี่ เป็นจอมเผด็จการเลย แต่ว่าท่าน ไม่ได้เผด็จการ เพราะว่า ไม่ได้บังคับใคร ท่านเผด็จการ โดยทุกคนยินดี และ ยินยอม ให้เผด็จการ และ คนที่ยินยอมนั้น ก็ยอมรับนับถือว่า ท่านมีภูมิธรรม พร้อม สูงกว่าจริงๆ เป็นไปโดย ความดีงาม ที่ถูกต้อง ท่านไม่มี อคติใดๆ จริง ไม่ได้ลำเอียงใดๆ ไม่มีส่วน “เพื่อตน -เพื่อพรรคพวก” แต่เพื่อส่วนรวม เพื่อสิ่งที่เป็นสัจจะ อย่างบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้น คนก็ยอมให้ท่าน เผด็จการ

ท่านอาจารย์ : จากบทเรียนของ พลังธรรมที่ผ่านมา น่าจะเป็น อุทาหรณ์ หรือว่า เป็นข้อคิดยังไงบ้าง ที่เราจะให้มี การเรียนรู้ ในเรื่อง การเมืองอาริยะ

พ่อท่าน : ต้องสร้างคนขึ้นมาให้มากพอ ที่จริง ก่อนจะทำ ก็รู้แล้ว คุณจำลอง ก็รู้อยู่แล้ว ตั้งแต่ต้น อาตมาก็ห้ามแล้ว แต่ไม่เชื่อ ผลก็ออกมา อย่างนี่ อาตมาว่า ทุกอย่างเลยใช่... มันไม่พอ

ท่านอาจารย์ : จากประสบการณ์ตรงนี้ จะสรุปได้ไหมครับ ว่า การเมืองอาริยะ ควรจะเป็นการเมือง ที่พอเพียง ที่อยู่บนพื้นฐาน ของความพร้อม

พ่อท่าน : ใช่ ที่พอเพียง แล้วต้องไปตามลำดับ ของสัดส่วน อย่างพอเหมาะ เพราะทุกอย่าง ต้องมีมัชฌิมาปฏิปทา ถ้าไม่มีสัดส่วน ที่พอเหมาะ เช่น คนที่มีคุณภาพดีแล้ว แต่ปริมาณ ก็ยังไม่เพียงพอ อย่างนี้ มันสัดส่วน ไม่พอเหมาะแล้ว หรือ ปริมาณ คนร่วมมือมาก แต่คุณภาพ ของคน ไม่เพียงพอ ดังที่เป็นๆ กันอยู่ในปัจจุบัน มันก็เละเทะ อย่างที่เห็น นอกจาก เราเพียงพอ แต่ค่านิยม ของสังคม มันพอที่จะรับได้ กันหรือยัง เราก็ต้องดู ทั้งนอกทั้งใน อีกด้วยถ้าปัจจัยข้างใน เราได้จริง แต่ปัจจัยข้างนอก มันไม่เอา

โลกาธิปไตยนี่ หมายความว่า อำนาจโลกน ี่มันมีมากนะ แม้เรา จะแน่แค่ไหน ก็จะต้อง ไม่ใช้กำลังปฏิวัติ ต้องสันติวิธี มันไม่ต้อง ปฏิวัติ อย่างเหมาเจ๋อตุง ไม่ได้ปฏิวัติ อย่างเลนิน ไม่ได้ปฏิวัติ อย่างเลือดตก ยางออก หรือ ปฏิวัติด้วยการ กดดันบังคับ เพราะ ฉะนั้น เราจะต้องเห็น ความพร้อมว่า ข้างในเรา ก็มีสัดส่วน เพียงพอจริง แม้ข้างนอก เขาจะมาก อำนาจโลกาธิปไตย ก็ต้องรู้ อัตตาธิปไตย ก็ต้องรู้ ว่าอัตตาธิปไตย คือเรา เราพอไหม ถ้ามันได้ สัดส่วนพอ ก็ทำได้ ถ้ามันยังไม่พอ หืดขึ้นคอหน่อย แต่ว่าพอได้นี่ ต้องเข็นหน่อย เราก็ต้องรู้ ซึ่งต้องมีธรรมาธิปไตย เป็นแกนกลาง ทั้งนอก และใน ว่าลงกันได้ หรือไม่

ที่ว่าเราฝันหวานที่ว่า ของเราดีจริง มันจริงหรือเปล่า ก็ยังไม่รู้นี่... อย่างนี้ไม่ได้ ต้องรู้อย่างแม่นมั่นว่า ดีจริงเพียงพอ และ ต้องเผื่อพอ อยู่เรื่อย อาริยะนี่ ภูมิทางอาริยะนี่ ต้องเผื่อพอ เพราะว่า มันหลงตนได้ แทนที่จะตัดสิน ๕๐% , ๖๐% น้อยไป ต้อง ๗๐% , ๘๐% เผื่อไว้ ๙๐% ขึ้นไปยิ่งดี มันถึงจะพลาดได้ยาก ถ้าไม่อย่างนั้นพลาด เรื่องนี้ ยากมากเลย ต้องประมาณประเมิน อย่างละเอียดถี่ถ้วน เผื่อไว้เสมอ

ท่านอาจารย์ : ถ้าดูบรรยากาศการเมืองในช่วงนี้ ช่วงการเปลี่ยนแปลง จะเลือกตั้ง อะไรอย่างนี้ เราจะผลักดัน การเมืองอาริยะ เข้าไปได้ ในจุดไหน ในส่วนไหนได้บ้าง

พ่อท่าน : อาตมาคิดว่า คงจะผลักดัน การเมืองอาริยะ เข้าไปในสังคม ยังไม่ได้เลย นอกจาก เราจะตั้งหลัก ทำการเมือง อาริยะนี้ เพื่อฟูมฟัก เพื่อก่อร่าง สร้างตัว เท่านั้น เพราะ ฉะนั้น การเมืองอาริยะ จะไม่กระดี๊ กระด๊าอะไร กับสังคมการเมืองทั่วๆ ไปเขาเลย มันจะต้อง ระมัดระวัง เป็นแต่เพียงว่า เราต้องดูกฎหมาย รัฐธรรมนูญ ให้ดีๆ เราจะทำอะไร ได้แค่ไหน

บางคนเข้าใจยังไม่พอ ยังเข้าใจแนวคิด และ การกระทำ ของเรา ยังไม่ได้ จริงๆ เราดูตัวเราเองแล้วนี่ เรายังน้อย เราไม่ได้ผิด แต่คนไม่เข้าใจเรา จะมองเราผิดๆ ตัวบุคคลพวกเรานี่ ยังไม่มากพอ ทั้งในมวล ขององค์กร ทั้งในมวล ของ Keyman ที่จะต้อง ลงไปทำงาน ทั้งตัวที่เป็น ชาวอาริยะเองนี่ ซึ่งเรียกว่า แกนจัดตั้งนี่ ก็ยังไม่พอ และ ความเข้าใจ ของมวลประชาชน ส่วนใหญ่ เป็นประเด็นสำคัญ ของความหมายแห่ง ประชาธิปไตยด้วย ต้องเข้าใจเรา ต้องเชื่อมั่นในเรา เพียงพอจริงๆ

ท่านอาจารย์ : ท่านว่า ถ้าเรามีพรรคการเมือง แบบอาริยะนี่ มันน่าจะขยาย แวดวง ของบุญนิยม นี่ได้เร็วขึ้นไหมครับ

พ่อท่าน : ได้เร็วขึ้น เพราะ ว่าอำนาจทางการเมืองนี่ เป็นอำนาจใหญ่ อันหนึ่ง ของสังคม อำนาจทางธุรกิจ ก็ใหญ่ อำนาจทางตุลาการ ก็ใหญ่ เขาถึงกันไว้ ไม่ให้อำนาจการเมือง กับอำนาจธุรกิจนี่ มาฮั้วกัน

พร้อมกันนั้น อำนาจของศาสนา ก็มีจริงด้วย แต่ทุกวันนี้ อำนาจศาสนานี้ ด้อยไม่รู้จะด้อย ยังไงเลย เราพยายาม ที่จะฟูมฟัก ให้อำนาจ ทางศาสนา อำนาจคุณธรรมนี่ ขึ้นมาให้มากๆ จนกระทั่ง มีความยอมรับ เพียงพอ

อำนาจทางศาสนา หรือ อำนาจทางจิต-วิญญาณนี่ มีมาตั้งแต่ ดึกดำบรรพ์ หมอผีนี่ เหนือกว่า หัวหน้าเผ่านะ แม้แต่ยุคสมัย ของ โสกราติส ก็มีอำนาจ ทางจิตวิญญาณ กับอำนาจทางรัฐ โสกราติส ก็ต้องตาย แต่ถ้าโสกราติส มีอำนาจทางจิตวิญญาณ นี่สูงกว่าอำนาจทางรัฐ โสกราติส ก็ชนะ

ตอนนี้ อโศกนี่ สังคมยอมรับอำนาจนี้เท่าไหร่ ถ้าพอ เราก็รู้ว่า จะดำเนินการ ได้แค่ไหน ถ้าไม่พอ ไม่ได้ เหมือนโสกราติส ถูกแขวนคอตาย ถูกกินยาพิษ นี่อาตมาไม่เข้าคุกนี่ ก็เก่งแล้วนะ

ท่านอาจารย์ : เราไปใช้ระเบียบกฎหมาย ที่มันนิยามผิด มาตั้งแต่แรก

พ่อท่าน : ใช่ มันก็ต้อง Conflict อยู่แน่นอน เพราะ ว่าสัจจะ มันไม่ตรงกันอยู่แล้ว โลกทุกวันนี้ ก็ต้องยอมรับ กฎหมาย พระพุทธเจ้า ก็ไม่ได้สอน ให้ไปขัดแย้งกฎหมาย ท่านให้อนุโลม ตามกฎหมาย เหมือนกัน เราก็ไม่ได้ขัดแย้ง

อาตมามองประชาธิปไตยจริงๆ นี่ มันไม่มีพรรค การเมืองหรอก การหาเสียง กันอยู่อย่างนี้ ก็ไม่เป็น ประชาธิปไตย อเมริกา ก็ไม่ใช่ ประชาธิปไตย อังกฤษเอง ก็ยังไม่ใช่ ประชาธิปไตย ยังเป็นอำนาจ ของกิเลส อยู่ทั้งนั้นเลย ต้องการลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ทั้งนั้น มันไม่บริสุทธิ์หรอก มันกดข่มเอาไว้ pretend ไว้

เพราะฉะนั้นคำว่า การเมืองในโลกนี้ ถึงบอกว่า เป็นเรื่องเหลวไหล เป็นเรื่องเลว เขาถึงกันศาสนา ถือว่าศาสนา เป็นเรื่องบริสุทธิ์ ถึงกันออกๆ ซึ่งความจริง กันออกไม่ได้ โดยจริงแล้ว ศาสนา ต้องเข้าไป ประดิษฐาน อยู่ในการเมือง ถ้าการเมือง ไม่มีศาสนา การเมืองไม่มีธรรมะ มันถึงได้เลวร้าย กันอยู่ทุกวันนี้ แล้วนักการเมือง ที่แย่ๆ นี่แหละ คิดกลไกซับซ้อน ขึ้นมาเรื่อยๆ ด้วย “ความฉลาด” ยิ่ง ของเขา แต่อยู่ใต้อิทธิพล ”อวิชชา”

มีวิปนี่ก็เห็นอยู่ชัดๆ แล้วมันเผด็จการ อย่างน้อย เผด็จการพรรค เสร็จแล้ว ก็เผด็จการทางสภา ทุกวันนี้ เผด็จการหมด แม้คุณจะได้ เสียงข้างมาก เต็มที่ขณะนี้ มันก็เป็นเผด็จการ ทางสภา ซึ่งจิตใจ ของ คนที่บริหาร อยู่ในนั้น มันก็ยังไม่บริสุทธิ์ ทั้งนั้นน่ะ มันก็อยาก ได้อำนาจ สภานิติบัญญัติ ก็อยากได้อำนาจ มาจากทางบริหาร คณะบริหาร ก็ฮั้วอำนาจ กับสภานิติบัญญัติ ข้าก็เอี่ยว เพราะว่าเป็นอำนาจ นี่เป็นแต่เพียงว่า ยังดึงอำนาจ ตุลาการ มาไม่ได้เต็มที่ ถึงไม่ได้ ก็พยายามเข้าไป ครอบงำเขา เข้าไปแผ่อิทธิพล อยู่นั่นแหละ พูดจริงๆ แล้วมันก็เป็น กิเลสทั้งนั้น มันไม่ไว้ใจใคร มันต้องบริสุทธิ์ใจ ต่างคนต่างไว้ใจกัน ถึงจะเป็นประชาธิปไตย ที่บริสุทธิ์

ทีนี้จะทำยังไง บทสรุปก็คือว่า ต้องสร้างคนขึ้นมา ให้มีคุณภาพ และ ปริมาณที่เพียงพอ คุณภาพที่ว่านั้น ต้องมีคุณธรรม และ ความรู้ความสามารถ แล้วคนที่มี คุณธรรมคืออย่างไร คนที่มีคุณธรรม คือ ชาวฤาษีที่ไม่รู้ อิโหน่อิเหน่อะไรเลย บริสุทธิ์ใจจริงเหมือนกัน แต่ซื่อบื้อ ไม่รู้ประสาเลย สังคมไม่รู้เรื่อง โลกีย์ไม่รู้เรื่อง แบบนี้ ก็ป่วยการ ทำอะไร กับสังคมไม่ได้ แต่ต้องมีคุณธรรม บริสุทธิ์จริง แล้วก็ต้องมีความรู้ความสามารถ ของโลกวิทู ของโลก ของ สังคมจริงด้วย จึงจะเป็นประโยชน์แก่สังคม และ อาตมาแน่ใจว่า ศาสนาพุทธ มีโลกวิทู มีโลกุตรจิต มีโลกานุกัมปา โลกวิทูคือรู้จักโลก รู้เท่าทันโลก โลกุตระจิต ก็คือ มีจิตสะอาดจริง อยู่เหนือโลกธรรมจริง โลกานุกัมปา คือรู้จักประโยชน์ ของสังคม เกื้อกูลสังคม ทำหน้าที่ เพื่อช่วยสังคม อย่างแท้จริง

๒๕ ต.ค. ๔๓ ที่สันติอโศก ก่อนเดินทางไปสถานีโทรทัศน์ UBC บรรดาท่านอาจารย์ และ คณะทำวิจัย ระบบบุญนิยม ได้มาสนทนา ซักถามพ่อท่านอีก มีประเด็น ที่น่าสนใจดังนี้

พ่อท่านกล่าวนำ “ก่อนที่จะทำวิจัยเรื่องนี้ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า แล้วเชื่อหรือเปล่า ว่าเป็นไปได้ หากยังไม่เชื่อ ว่าเป็นไปได้ ยังไม่แน่ใจ ก้ำๆ กึ่งๆ อยู่ ก็อย่าทำวิจัยเลย”

บรรดาอาจารย์ทั้งหมด ตอบเหมือนกันว่า ผมเชื่อครับ ว่าเป็นไปได้

เมื่อพูดถึงการทำแบบสอบถาม ประชากร ชาวอโศก เพื่อทำวิจัยเกี่ยว กับระบบบุญนิยม พ่อท่านให้ความรู้ กับคณะทำวิจัยว่า

“วิธีวัดจิตวิญญาณ จะวัดเชิงปัญญา เราต้องรู้ว่า คนปัญญา จะฉลาดแกมโกงได้ การตอบแบบสอบถาม ตอบตามความฉลาดได้ แต่อาจไม่จริง ขณะที่ คนที่มีปัญญาน้อย จะมีเชิงเจโตซื่อๆ สายเจโต จะตอบแบบสอบถาม ผิดพลาดง่าย ทั้งๆ ที่ความจริง ของเจโต มีมากกว่าดีกว่า การตรวจสอบ ในเชิงแบบสอบถาม ก็สามารถ ตรวจสอบได้ ประมาณหนึ่ง แต่อาตมาว่า ความจริงๆ ๆ นั้นต้องใช้เวลา ที่เขียนเป็นเอกสารไม่ได้ บางทีปฏิภาณปัญญา ของ คน ในการจะสื่อ หรือตอบรับ ข้อความการสื่อ ก็ไม่เข้าใจกัน

จิตจริงๆ ไม่มีคำตอบ หรือ ตอบไม่เป็น โดยเฉพาะ พวกสายศรัทธา สายเจโต จะซื่อๆ มากกว่าเฉลียวฉลาด”

มีต่อ

 

next page
    หน้าต่อไป