พระบรมราโชวาท แถลง ชนะใจ - ชนะภัย (ไฟ)
น้ำท่วมบ้านราช สิบห้านาทีกับพ่อท่าน
พระพุทธเจ้ากับการอนุรักษ์ธรรมชาติ
จดหมายจากญาติธรรม รายงานจากพุทธสถาน
สรุปรายงานการประชุมองค์กรต่างๆ ของชาวอโศก ใต้ร่มอโศก
เก็บเล็กผสมน้อย น้ำฉี่ดีจริงหรือ? ไร้บุญนิยมสังคมอันตราย
กรรมตามสนอง ดวงตามที่สาม หอมดอกพุทธา

น้ำท่วมบ้านราชฯเมืองเรือ ครั้งที่ 4 ปี 2545

กลับหน้าแรก

 น้ำท่วมบ้านราช 

น้ำมาแล้ว !! เป็นคนเมืองเรือหรือเปล่า?

บ้านราชฯเมืองเรือ อยู่ทางอีสานใต้ มีพื้นที่ติดแม่น้ำมูล ลักษณะพื้นที่เป็นแอ่ง เมื่อจังหวัดอื่นๆทางอีสานเหนือเกิดน้ำท่วม น้ำเหล่านั้นจึงไหลลงมาที่นี่ แน่นอนว่า The river is no return สายน้ำย่อมไม่ไหลย้อนกลับ บ้านราชฯจึงหนีไม่พ้นจากภาวะน้ำท่วมครั้งที่ ๔ และท่วมติดกันมา ๓ ปีซ้อนแล้ว

ครั้งแรกเมื่อปี'๓๙ ครั้งนั้นเพิ่งเริ่มสร้างหมู่บ้าน บ้านเรือนยังมีไม่มาก ผู้คนก็มีน้อย ยังท่วมไม่มากเท่ากับ ๓ ปีต่อมา

ปี'๔๓ เป็นปีแรกที่น้ำท่วมมากถึงขั้นต้องใช้เรือ ญาติธรรมทั่วประเทศซื้อเรือพายบริจาคให้ พร้อมอาหารแห้ง พืชผักผลไม้มากมาย โดยเฉพาะกล้วยน้ำว้าส่งมามาก จนนำไปเผื่อแผ่ หมู่บ้านข้างเคียง ที่ถูกน้ำท่วม พวกเราอยู่กันอย่างอุดมสมบูรณ์ แม้ว่าพืชผักที่ปลูกไว้จะเสียหายหมด พ่อท่านเปลี่ยนวิกฤติ เป็นโอกาส จัดงานฉลองน้ำเป็นครั้งแรก ๑๐ วัน ๑๐ คืน ต่อมาได้ซื้อสวนวังไพร ที่บ้านคำกลาง จำนวน ๑๐ ไร่ สำหรับปลูกพืชผักถาวร หากว่าน้ำท่วมอีก เราจะได้มีพืชผักไว้รับประทาน

ปี'๔๔ ไม่มีใครคิดว่าน้ำจะท่วมติดกัน ๒ ปีซ้อน พืชผักเสียหายเช่นเคย มะละกอที่ปลูกไว้นับพันต้นเสียหายหมด เทศกาลอาหารมะละกอหลากหลาย มีให้กินได้ทุกวันทุกมื้อ ญาติธรรมทั่วประเทศยังคงเมตตาส่งอาหาร พืชผักผลไม้มาให้เหมือนเดิมและสามารถใช้เลี้ยงญาติธรรมที่มาร่วมงานฉลองน้ำครั้งที่ ๒ รวม ๑๐ วัน ๑๐ คืน ได้อย่างพอดิบพอดี

ปี'๔๕ เดือน เม.ย. ซื้อสวนไวพลัง ที่บ้านวังกางฮุง จำนวน ๒๖ ไร่ เพื่อปลูกพืชทุกชนิด และต่อมาเราก็ได้สวนไวเกินฝัน ที่บ้านยาง จำนวน ๒๐๐ ไร่ เป็นที่ของทหารของกรมพันสัตว์ต่าง อ.วารินฯ จ.อุบลฯ ให้ยืมใช้ทำกสิกรรม

แม้ว่าปีนี้น้ำจะทำลายสถิติท่วมสูงกว่าทุกปีที่ผ่านมา แต่อาหารการกินของพวกเรา ยังคงอุดมสมบูรณ์ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น มีพืชผักจากสวนต่างๆ ส่งมาปรุงเป็นอาหารและผักสด พร้อมกับแต่ละคนต่างช่วยกันคนละไม้ละมือ พายเรือไปเก็บยอดผักไป นำมารวมกันขึ้นศาลา และญาติธรรมจากที่ต่างๆทยอยมาเยี่ยมให้กำลังใจพร้อมกับนำพืชผักผลไม้มาฝาก

พืชผักในหมู่บ้านที่เสียหายมากที่สุด คือ ต้นมะละกอ และกระทกรก ที่กำลังออกดอกออกผล และข้าวของที่ลอยน้ำไปเพราะตามเก็บไม่ทัน

โรงสี ค่อนข้างลงตัว เพราะเตรียมขนย้ายข้าวเปลือกก่อนน้ำจะมา โดยต่อชั้นบนขึ้นในโรงสีเพื่อวางข้าวเปลือก ซึ่งมีแค่ ๑๕ ตันเท่านั้น

โรงเห็ด ขนย้ายก้อนเห็ดหนีไปอยู่ที่สวนไวพลัง

โรงแชมพูและหม่องค้าผง ขนของขึ้นชั้นบน ไม่ได้กั้นกระสอบทรายเหมือนปีที่ผ่านมา เจ้าของหม่องไม่ต้องแช่น้ำคอยสูบน้ำจนน้ำกัดเท้า สามารถพายเรือมาร่วมกินข้าวกับพี่น้องที่ศาลาได้ตามปกติ

โรงจักร ย้ายไปบนเรือเกียข่วมฟ่า (เรือเหลือง)

ห้องเครื่องมือ ขนย้ายของขึ้นชั้น ๒ และต่อชั้นวางของ เพราะน้ำอาจท่วมถึงชั้น ๒

ทีมโรงปุ๋ยเคลื่อนตัวไปทำปุ๋ยตามสวนต่างๆ ทั้ง ๓ สวน และช่วยทำ ๕ ส. ที่อุทยานฯ

ฮ้านปันบุญ ร้านค้าในชุมชน ขนสินค้าไปขายรวมกันที่อุทยานบุญนิยม และแบ่งบางส่วนไว้ที่บ้านคุณเรียวฟ้าสำหรับขายในชุมชน แทนที่จะขี่จักรยานหรือเดินไปซื้อในช่วงปกติ ก็เปลี่ยนบรรยากาศพายเรือไปซื้อแทน

โรงครัว ย้ายลงแพเหล็ก, เรือลำกกแฮก และบางส่วนของแพแดง(โบสถ์น้ำเก่า) ส่วนศาลาฉันใช้แพแดง

การสัญจรจากแพแดงไปยังเฮือนศูนย์สูญ ใช้เรือใหญ่ ๑๑ ลำต่อเป็นทางเดิน หรือใครไม่อยากเดิน ก็สามารถพายเรือไปได้ การเข้าออกนอกชุมชนมีเรือยนต์ ๓ ลำคอยวิ่งรับส่งเป็นเวลา และมีเรือหางยาว ๘ ลำ คอยสำรองนอกเวลา ท่าเรือยนต์อยู่ที่แพแดง และท่าเรือหางยาวอยู่หน้าเฮือนศูนย์ฯ ส่วนท่าเรือด้านนอกอยู่ที่บ้านคำกลางและท่าอุทยานฯ

ปีนี้ระดับน้ำท่วมสูงกว่า ๒ ปีที่ผ่านมามาก จนท่วมสะพานเสรีประชาธิปไตย ที่ใช้สัญจรข้ามแม่น้ำมูลระหว่าง อ.วารินฯ กับ จ.อุบลฯ ซึ่งรถเล็กไม่สามารถผ่านไปได้ เราจึงแล่นเรือจากบ้านราชฯตรงไปยังฝั่งเมือง ใช้เวลาเพียง ๔๕ นาทีสำหรับเรือยนต์ และ ๑๕ นาทีสำหรับเรือหางยาว พ่อท่านตั้งชื่อท่าเรือใหม่นี้ว่า ท่าอุทยานฯ เพราะลงเรือที่นี่ แล้วเดินไปที่อุทยานฯใช้เวลาเพียง ๕ นาที และได้ใช้ท่าเรือนี้รับ-ส่งพ่อท่านและปัจฉาฯไปยังสนามบินเมื่อเดินทางไปกทม.และมาอุบลฯ ส่วนญาติธรรมที่โดยสารมาทางรถไฟ หรือรถทัวร์ก็มาขึ้นเรือที่ท่าคำกลาง

ด้านที่พัก บางส่วนอยู่ที่บ้านของตนเอง นักเรียนหญิงทั้งหมดและชาวชุมชนส่วนน้อยพักที่เฮือนศูนย์ฯ ส่วนนักเรียนชายพักที่เรือสุดให่เหมิด และเรือท้าวแถนพญามูล ซึ่งเป็นเรือโบสถ์ พ่อท่านพักที่เรือพกข่วมโอฆสงสาร สมณะพักที่เรือ สิกขมาตุพักที่แพ ชาวบ้านราชฯบางส่วนออกไปพักที่สวนต่างๆทั้ง ๓ แห่ง, อุทยานบุญนิยมฝั่งเมืองและสหกรณ์บุญนิยมฝั่งวารินฯ

งานอบรมลูกหนี้ ธ.ก.ส. หลังวันที่ ๘ ก.ย.ไปจนถึงเดือนตุลาฯตลอดทั้งเดือนงดไปโดยปริยาย บรรดาพี่เลี้ยงงานอบรมกระจายกำลังไปช่วยงานที่สวนทั้ง ๓ แห่ง สหกรณ์บุญนิยมและที่อุทยานบุญนิยม

และอาศัยช่วงน้ำท่วมลากเรือ ๖ ลำขึ้นไปไว้บนภูเขาที่อยู่ตรงข้ามฮ้านปันบุญ เพื่อเตรียมทำเป็นร้านอาหาร หลายคนสงสัยว่าจะเป็นไปได้อย่างไร จินตนาการตามไม่ออก โปรดติดตามต่อไป อย่ากะพริบตา

ทีมช่าง ๑๒ คนจากปฐมอโศกและศีรษะอโศก เดินทางมาทำเวทีที่เรือกล้าข้ามฝัน เตรียมใช้เป็นเวทีงานฉลองน้ำครั้งที่ ๓ ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ ๑๗-๒๓ ต.ค. รวม ๗ วัน ๗ คืน หลังเทศกาลอาหารเจ เพื่อให้พี่น้องแต่ละแห่งที่เหน็ดเหนื่อยจากงานดังกล่าว มาพักผ่อนฉลองน้ำกันที่บ้านราชฯ ส่วนเวทีเรือเกียข่วมฟ่าในปีที่แล้ว บ้านราชฯได้นำมาใช้เป็นเรืออบรม

นักเรียนสมุนพระรามที่หลายคนเป็นห่วง เกรงว่าจะเกิดอันตราย ก็หมดห่วงได้ เพราะแต่ละคน แทบจะงอกครีบงอกเกล็ดเหมือนปลา ว่ายน้ำและพายเรือเป็นกันทุกคน เด็กผู้หญิงบางคนอายุแค่ ๗ ขวบกว่าๆ ก็สามารถพายเรือลาวลำใหญ่ๆได้อย่างสบาย โดยเฉพาะการเดินบนเรือ ๑๑ ลำที่ต่อมาจากแพแดง เด็กๆสามารถเดินได้อย่างคล่องแคล่วและดูปลอดภัย เพราะนี่เป็นอีกวิถีชีวิตหนึ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้พร้อมกับปรับตัว

ปลาสวายในบุ่งส่วนมากยังคงอยู่ที่นี่ ไม่ว่ายน้ำหนีออกไประเริงสายชลที่ไหน เหมือนกับจะรู้ว่า หากหลงใหลสายน้ำว่ายออกไป โอกาสที่จะรอดชีวิตกลับมาอีกนั้นมีน้อยมาก เพราะภยันตรายภายนอกนั้นมีรอบตัว เหมือนกับนักเรียนสัมมาสิกขาของแต่ละแห่ง ที่เมื่อออกไปแล้ว จะกลับมาอยู่อีกนั้นยาก แม้ใจอยากจะกลับมาก็ตาม เพราะวิบากของแต่ละคนที่ไปก่อเอาไว้ ดังนั้นปลาที่ยังอยู่ที่นี่นับว่าฉลาดมาก ไม่ได้ออกไปเป็นอาหารของใคร

ในเรื่องของห้องน้ำ ก็สามารถอาบน้ำได้ทุกๆที่ เพราะไปที่ไหนก็มีแต่น้ำเต็มไปหมด เป็นน้ำที่ไหล อยู่ ตลอด เวลา จึงสะอาด และเวลาที่ตกน้ำก็ได้อาบน้ำ แม้ว่าจะไม่อยากอาบก็ตาม ในส่วนของ ห้องส้วม ก็แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละคน แต่ก็อย่าให้ประเจิดประเจ้อนัก รับรองว่าทีมปลาสวายจะมาช่วยทำ ๕ ส.ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง เพราะนี่เป็นอาหารเสริมชั้นดีของปลาเหล่านี้

ปีนี้สมณะแดนเดิม พรหมจริโย ซึ่งมีประสบการณ์ในการขับเรือมาแต่เยาว์วัย มาช่วยดูแลเรือยนต์ โดยมีนักเรียนสส.ธ.และสมุนพระรามคอยเป็นกะลาสีเรือ ติดสอยห้อยตามพร้อมกับเรียนรู้เรื่องเรือไปด้วย โดยเฉพาะหลวงตาใจดี เปี่ยมด้วยเมตตา จึงเป็นที่รักและเคารพของเด็กๆทุกคนที่ช่วยงาน และสมณะฟ้าไท สมชาติโก ที่เชี่ยวชาญในเรื่องเรือเล็ก คอยซ่อมบำรุงเรือเล็ก ช่วยยาเรือพาย ให้กับทุกลำ ในเวลาอันรวดเร็ว นับว่าเป็นมืออาชีพทีเดียว

ย้อนหลังไป สมัยปู่ย่าตาทวด วิถีชีวิตของผู้คนในสมัยนั้นใช้เส้นทางคมนาคมทางน้ำเป็นหลัก เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก น้ำก็ระบายลงสู่แม่น้ำใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ท่วมขังนาน ต่อมามีการตัดไม้ทำลายป่า สร้างถนน สร้างเขื่อน ทำให้เส้นทางการระบายของน้ำถูกปิดกั้น มาถึงวันนี้แทบจะเรียกได้ว่าทั่วโลกเกิดภาวะน้ำท่วม สร้างความเสียหายนานัปการ ก็ล้วนมาจากความเจริญที่มนุษย์กระทำทั้งสิ้น บ้านราชฯที่ไม่เดือดร้อนในวันนี้เพราะเรามีเรือใช้
เพียงพอ จะไปไหนมาไหนก็สะดวกทั้งเรือใหญ่และเรือเล็ก ต่อไปน้ำจะท่วมอย่างนี้ คนที่มีรถก็เหมือนมีเศษเหล็กเท่านั้น เพราะไม่สามารถใช้สัญจรได้ ต่อไปในอนาคตคนที่มีเรือจึงคือมหาเศรษฐี และวันนี้เรือใหญ่และเรือเล็กที่บ้านราชฯ เรามีรวมกันเกือบ ๑๐๐ ลำแล้ว

บรรยากาศของบ้านราชฯในวันนี้ ดุจอยู่บนสรวงสวรรค์ เพราะน้ำขึ้นสูงเหนือหลังคาแล้ว ยังคงสดสวยและสดใส พายเรือไปก็มองเห็นยอดไม้เขียวขจีทั้งสองข้างทางแทนแปลงผักที่จมอยู่ใต้น้ำ และดูจะสดใสยิ่งกว่าตอนน้ำไม่ท่วมเสียอีก สภาพจิตใจของชาวบ้านราชฯ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ๙๙.๙๙ เปอร์เซ็นต์ รู้สึกเป็นปกติ ไม่ทุกข์ร้อนอะไร ที่อื่นๆถูกน้ำท่วมจะมีข่าวการเสียชีวิตทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่ที่นี่มีเพียงถูกตะขาบกัด ๒-๓ คนเท่านั้น

ปีนี้แม้หลายคนที่สร้างบ้านจะยกใต้ถุนสูงขึ้น แต่ก็ไม่วายถูกน้ำท่วมถึง มีการปรารภถึงการสร้างแพแทนสร้างบ้าน เพราะคาดว่าต่อไปน้ำจะท่วมทุกปี

น้ำท่วมทำให้ต้องใจเย็น ถึงแม้จะรีบสักแค่ไหนก็ต้องค่อยๆพายเรือไป และการดูแลข้าวของที่ลอยตามน้ำก็ต้องช่วยกันพายเรือเก็บมาไว้ โดยเฉพาะแผ่นไม้ที่ลอยออกไป ส่วนมากจะเป็นไม้สักที่มากับเรือใหญ่ที่ซื้อมา

ในค่ำคืนของวันที่ ๑๙ ก.ย. มีรายการเอื้อไออุ่น พ่อท่านได้เน้นย้ำว่า

"พวกเรายังมีนิสัยเลวกันอยู่ ไม่ว่าเด็ก, ผู้ใหญ่ มีคนดีบ้าง แต่ส่วนมากก็เป็นตัวอย่างกันและของก็เสียหาย คือ ความไม่มีระเบียบ ความไม่เอาใจใส่ข้าวของ ทิ้งขว้าง ค้นกระจุยกระจาย เลอะเทอะ ไม่เก็บไม่งำ ไม่จัดเข้าที่เข้าทาง ไม่มีน้ำใจ พวกนี้ไม่เป็นคนดีหรอก ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็แล้วแต่ ถ้าไม่หัดจริงๆ ก็จะติดนิสัยเลวๆชั่วๆติดไป อย่างที่ท่านเดินดินว่า น้ำมาทิ้งรถ น้ำหมดทิ้งเรือ แบบนี้ก็ตาย อะไรก็ไม่เหลือ....."

แม้น้ำจะท่วมอีกกี่ครั้งเราก็ยังคงอุดมสมบูรณ์ ไม่ทุกข์ร้อน ทั้งเรื่องอาหารการกิน เรื่องที่อยู่ เราอยู่กันด้วยระบบบุญนิยมที่ใช้หลักสาธารณโภคี วิถีชีวิตยังคงดำเนินไปตามปกติ เรามีธรรมะที่น้อมนำมาปฏิบัติปรับจิตวิญญาณ มีสมณะ-สิกขมาตุคอยเป็นกำลังใจให้คำปรึกษา มีเรือใช้เพียงพอในการสัญจร มีเฮือนศูนย์สูญเป็นที่พึ่งพิงหากที่บ้านไม่สามารถอยู่ได้ และถึงวันนี้พวกเรากลายเป็นมืออาชีพในเรื่องน้ำท่วมไปแล้ว ต่างจากพี่น้องประชาชนชาวอุบลฯและที่อื่นๆที่ถูกน้ำท่วมเหมือนกัน แต่พวกเขาเหล่านั้นเดือดร้อนทุกข์ยากในทุกๆเรื่องและทุกๆครั้งที่เกิดน้ำท่วม เหมือนดังที่พ่อท่านเทศน์ในคืนเดียวกันว่า

"....พวกเรามีระบบวิธีของบุญนิยม มีสาธารณโภคี น้ำท่วมขนาดนี้ที่อื่นเขาคร่ำครวญร้องไห้ ทุกข์ร้อนลำบากลำบน ทุกที่เขาไม่ได้ท่วมขนาดเรา นี่เราไม่มีดินเลย (มีดินถมอยู่ข้างหน้าเฮือนศูนย์ฯเท่านั้น) น้ำท่วมหมด ระบบเศรษฐกิจของพวกเรา พิสูจน์ได้เห็นชัดเจนว่าไม่เดือดร้อน ที่อื่นเขาทุกข์ร้อนจะเป็นจะตาย ไม่มีการช่วยเหลือเกื้อกูล ไม่เป็นมวลเป็นหมู่ ไม่เป็นอย่างพวกเรา แต่พวกเราไม่เดือดร้อน เห็นชัดเจนระบบบุญนิยม สาธารณโภคี ว่าวิเศษยอดเยี่ยมจริงๆ....."

บ้านราชฯเมืองเรือ จึงคือคำตอบของระบบบุญนิยม พวกเราอยู่กันด้วยหลักสาธารณโภคี แม้จะเกิดวิกฤติน้ำท่วมอย่างไร พวกเราก็ไม่เดือดร้อน กราบขอบพระคุณในอนาคตังสญาณของพ่อท่าน ที่นำระบบบุญนิยมมาสั่งสอนมนุษยชาติ และนำเรือมาไว้ที่นี่มากมาย หากไม่มีเรือเหล่านั้น พวกเราก็จะไม่รู้ว่าจะอยู่กันอย่างไร และกราบขอบพระคุณญาติธรรมทุกท่านที่มาเยี่ยมเยียนให้กำลังใจ


เมืองเรือ พันธุ์แท้

 

   Asoke Network Thailand