หน้าแรก>สารอโศก


มหาปวารณา

"ปวารณา" คือสุดยอดวิชาของพุทธ
เพราะมีแต่การรู้ข้อบกพร่องไม่ดีในตนเท่านั้น
ที่จะทำให้มีโอกาสแก้ไขปรับปรุงเป็นคนดี ดีขึ้นทุกขณะ

"ธรรมดาคนป่วยก็ย่อมมีเชื้อโรค การได้เห็นเชื้อโรคจึงคือความหวังที่จะหายป่วย คนที่ยังไม่ใช่ พระอรหันต์ก็เช่นกัน ย่อมมีกิเลสเป็นธรรมดา การได้เห็นกิเลส จึงคือ ความหวัง ที่จะหมดกิเลส
คนฉลาด จึงไม่คิดเสียใจ ให้ไร้ประโยชน์ แต่จะพยายาม คิดขจัดกิเลสอย่างเบิกบาน"

ขอน้อมรับต่อทุกข้อบกพร่อง อันเปรียบเสมือนขุมทรัพย์
และขอน้อมคารวะ แด่ผู้ชี้ขุมทรัพย์ ด้วยจริงใจ ขอบคุณ และขอบคุณ
พบกับเคล็ดลับสุดยอดวิชาของพุทธ และทิศทางก้าวย่างต่อไปของชาวอโศกโดย
พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ ในบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้..........

จุดมุ่งหมายของงานมหาปวารณา มีความสำคัญต่อชาวอโศกอย่างไรคะ?
ปวารณา คือ การยอม การบอกตน สารภาพตนเพื่อที่จะให้ใครก็ได้ว่ากล่าวตักเตือน
การปวารณาของสมณะ หมายความว่า การเป็นผู้ที่ให้บอกกล่าวได้ ให้รบกวน ให้ทำอะไรกับตัวเองได้ สรุปง่ายๆคือ ให้รบกวนได้ ให้ตำหนิติเตียนได้ ให้ว่า ให้กล่าว ให้ดุด่าได้ เป็นต้น

ประเด็นที่ว่า งานมหาปวารณามีความสำคัญอย่างไรต่อชาวอโศกนั้น ต้องรู้ก่อน คำว่า "มหาปวารณา" ที่เรานำมาใช้นั้น เรานำมาใช้กับการจัด ให้เป็นพิธีกรรม หรือเป็นวัน ที่มีพิธีกรรม สำคัญ ที่เราจะต้อง มีการปฏิบัติ การประพฤติ เป็นงาน "มหาปวารณา" ซึ่งมีความสำคัญ โดยเฉพาะกับ สมณะชาวอโศก

ที่จริงวัดต่างๆทุกวันนี้ในวันออกพรรษา ก็มีการปวารณาตามพิธีกรรม อยู่เหมือนกัน แต่เขาไม่มี อะไรมาก มีแต่ภิกษุมาเปล่งกล่าว เป็นภาษาบาลี แปลเป็นภาษาไทยว่า "ของดโทษ ให้แก่ข้าพเจ้าด้วย มีอะไร จะว่ากล่าวข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้ผิดพลาด ด้วยกาย วาจา ใจ จะด้วยเจตนาก็ดี ไม่เจตนาก็ดี" อะไรทำนองนี้ เมื่อเปล่งกล่าวกันตามพิธีการเสร็จแล้วก็จบ ก็ไม่ว่ากล่าวอะไรกัน หรือบางที่บางแห่งบางแหล่ง ก็อาจจะมี การอบรมกันบ้าง ติเตียนกันบ้าง ว่ากล่าวกันบ้าง โดยคนนี้คนนั้น ยอมให้ว่ากล่าว ซึ่งจะว่ากล่าวกันได้แค่ไหน ขึ้นกับแต่ละที่ ที่จะให้มีการติเตียนกัน ว่ากล่าวกัน

สำหรับ"มหาปวารณา"ของเรานี่ ทำเป็นพิธีเลยรวมสงฆ์ทั้งหมดของชาวอโศก ตั้งใจศึกษา ตั้งใจฝึกฝน ตั้งใจทำทั้งใจ ทำทั้งพฤติกรรม และตั้งใจทำ เป็นประจำทุกปีจริงๆ มีสมณะ ชาวอโศกเท่าไร ก็มารวมกัน ทั้งหมด เพื่อที่จะแสดงตัวแสดงตน ให้ว่ากล่าว มีอะไรผิดพลาด มาทั้งปี ใครเห็นว่าควรจะตำหนิ ติเตียนใคร ก็ให้ตำหนิติเตียนกัน ว่ากล่าวกัน มันผิด มันถูก อย่างไร จะได้ช่วยกันฟัง มารวมกันเป็นคณะ เป็นทีม สมณะมีเท่าไร กี่รูปกี่องค์ ต้องไม่ขาด นอกจากคนเจ็บป่วยจริงๆ หรือจำเป็นที่สุด ที่มาไม่ได้จริงๆเท่านั้น ก็ฝากฉันทะมา แต่ถ้าเผื่อว่า มาได้ ยังไงก็ต้องพยายามมาให้ได้ จะแก่จะเฒ่า เจ็บป่วยอย่างไร ถ้าพอมาได้ ก็ต้องมากัน ใช้เวลา ๒ วัน เท่าที่สมณะเรามีอยู่ ประมาณหนึ่งร้อยกว่ารูป ก็พยายาม มาแสดง ปวารณากัน ว่ากล่าวกัน เฉพาะตัว เฉพาะรูป หรือเฉพาะกลุ่ม อะไรก็แล้วแต่ เพื่อให้รู้ ส่วนบกพร่อง และ ก็นำไปแก้ไข ประพฤติ ผู้ใดประพฤติแก้ไขได้แล้ว ก็มาย้ำกันบ้าง บอกอนุโมทนากันบ้าง มันเป็นเรื่องจริงจัง ที่ทุกคน ต้องพยายามกระทำ ด้วยความเข้าใจ และเปิดใจ ทำจริงๆ ไม่ใช่ทำเล่นๆ หรือทำเป็น ศีลัพพตุปาทาน คือทำแค่เป็นจารีต ประเพณี หรือแค่ทำเป็นรูปธรรม ให้เสร็จพิธีการเท่านั้น แต่ต้องทำอย่างมีความเข้าใจ จริงใจ เพื่อให้เกิดคุณค่า ให้เกิดประโยชน์ มีการรับรู้ แล้วก็ยอมรับ ในส่วนบกพร่องนั้นๆ เพื่อจะได้แก้ไข ให้พัฒนา เจริญขึ้นไป อย่างแท้จริง

นอกจากนั้นเราก็ถือโอกาสว่า เมื่อได้มารวมกันในงานมหาปวารณานี้ เราก็จะได้ มีการประชุม ตกลง ในเรื่องของงานแต่ละปี มีเรื่องราวอะไร ที่ควรจะได้ทำ ในปีต่อไป เป็นกิจที่ควรจะกระทำ หรือว่ามีอะไร ที่ได้ทำมาแล้ว ก็นำมาทบทวนรายงานกัน มาบอกกัน ดีบ้างไม่ดีบ้าง ผิดพลาด ไปบ้าง มีประสบการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาแล้ว หรืออนาคต ต่อไปข้างหน้า ตั้งใจจะทำ โครงการอะไร เราก็มาตกลงกัน แล้วก็จัดสรรกันว่า สมณะกลุ่มนั้น กลุ่มนี้ ผู้ใด จะรับหน้าที่ อะไรบ้าง จะรับผิดชอบเรื่องไหน ผู้ใดมีเรื่องอะไรก็เสนอมา เพื่อที่จะได้ช่วยกัน พิจารณาว่า ควรทำ หรือไม่ควรทำ ถือเป็นการประชุมใหญ่ประจำปี ของสมณะ ชาวอโศก ทั้งหมด

ทีนี้ในงานมหาปวารณาก็ไม่ได้มีแค่เรื่องของสงฆ์อย่างเดียว พวกเราชาวอโศกทั้งหมด ที่ปฏิบัติธรรมอยู่ ก็ต้องให้รู้ว่า เราควรมาร่วมกันด้วย มาสร้างสรร รวมกันเท่าที่ ผู้ใดจะมากันได้ ก็มากัน ทั่วประเทศแหละ แม้เราก็ได้มาฟังเทศน์ฟังธรรม ได้ฟังนโยบาย ได้ฟังเรื่องราว ที่สมณะ ท่านตกลงกันว่า จะมีนโยบายอย่างไร ในปีต่อไป มีอะไรที่จะเปลี่ยนแปลง มีอะไร ที่จะดำเนินไปซ้ำอย่างเดิม หรือว่ามีอะไร ที่ควรจะเน้นทำกัน ให้ยิ่งๆขึ้น แล้วฆราวาส ก็มารับซับทราบ ในวิธีการของปวารณา

แม้ที่สุดได้ผนวกเอาสถานที่ที่เราทำปวารณา มาเป็นส่วนหนึ่งของงานกัน คือที่ปฐมอโศก ซึ่งเป็นชุมชนแรก ของเรา ที่ครบพร้อม ทั้งสมณะ สิกขมาตุ อุบาสก อุบาสิกา เป็นพุทธบริษัท ๔ ตามที่มีที่เป็นได้ โดยแต่ก่อนนี้ ก็ถือเอาวันเกิด ของปฐมอโศก ซึ่งใกล้กับเดือน ตุลา-พฤศจิกายน มาเป็นวันจัดงาน ทุกวันนี้ เปลี่ยนแปลง มาเป็น ไม่ได้เจาะจง แต่ถือเอาวันอาทิตย์ หลังจาก วันมหาปวารณาแล้ว อาทิตย์ใด อาทิตย์หนึ่ง มาร่วมกัน จัดฉลอง วันครบรอบวันเกิด ของชุมชนปฐมอโศก โดยกำหนดเอา วันที่ ๗ พฤศจิกายน กับวันอาทิตย์ เป็นหลัก จัดงาน รวมกันไป ๕ วัน สำหรับปีนี้ งานเริ่มตั้งแต่ วันพุธที่ ๖ สมณะท่านปวารณากัน ๒ วัน ฉลองวันเกิดชุมชน อีก ๓ วัน รวมเป็น ๕ วัน

ฆราวาสเองก็ต้องพยายามกระทำ ให้มันได้ตรงเป้า ตรงจุดมุ่งหมายของงาน เพื่อให้ได้ ประโยชน์สูงสุด เท่าที่จะได้ ซึ่งมีรายละเอียดอีกเยอะ ที่เราทำแล้ว ได้รับซับทราบ แต่ละปี ก็จะมีคำขวัญ มีโศลก มีอะไรต่างๆ ทั้งกิจกรรม ทั้งสาระทั้งธรรมะ ทั้งบันเทิง ที่เป็นรายละเอียด มากมายในงาน นอกจากนี้ เมื่อเราได้มาร่วมกัน พร้อมพรั่งแล้ว มีเรื่องราว ก็มาประชุมกัน เพราะตอนนี้ เรามีงานที่ต้องขยายกิจการอะไร ออกไปอีกมาก ต้องมาเจอกัน แบ่งปัน ประสบการณ์ แบ่งปันความรู้ แบ่งปันความคิดเห็น ภายในเวลาที่กำหนด ในวัน มหาปวารณา ๕ วันนี้ จึงเป็นทั้งงานพิธีกรรม และงานประจำปี ของพวกเรา ซึ่งมีคุณค่า ต่อการที่ทำให้ สังคมพัฒนา หรือ วิวัฒนาการไปได้ดี

ความสำคัญของวันมหาปวารณามีตลอดทั้ง ๕ วัน ตามที่เรากำหนดหรือไม่อย่างไรคะ?
ใน ๒ วันแรก เป็นวันสำคัญของสมณะท่าน ที่ต้องทำพิธีกรรม ดังที่กล่าวแล้ว โดยท่านต้อง ปวารณากันจริงๆ ซึ่งเป็นเรื่องของสงฆ์ทั้งหมด ส่วนฆราวาส จะมาเตรียมงาน หรือ มาบริการ ช่วยเหลือ เฟือฟายกัน มาช่วยจัดสถานที่ จัดอาหารการกิน จัดที่พัก ที่หลับนอน เป็นงานของ พี่ๆน้องๆ มาสังสรรค์ มาอยู่รวมกัน เป็นร้อยเป็นพัน เราไม่มีค่าจ้าง ไม่มีเงินทอง ค่าตอบแทน แบบทางโลกๆ เราทำเหมือน ครอบครัวใหญ่ ที่มาประชุมกัน ก็ช่วยกัน คนละไม้ละมือ เป็นการสร้าง วัฒนธรรมสังคม และ เป็นการสร้าง วัฒนธรรม ของมนุษยชาติด้วย ซึ่งเราทำมา หลายปีแล้ว ได้มีการพัฒนา มีวิวัฒนาการ ในเรื่องนี้ขึ้นมา อันเป็นการกอปรก่อ ความเจริญ ให้แก่สังคม และกลุ่มหมู่มนุษยชาติ

ดังนั้นผู้ที่ไปน้อยวัน เขาอาจมีความจำเป็นหรือติดงานสำคัญก็อาจจะมาร่วมงาน ในบางวัน แต่ถ้าคน ที่เขาเห็น ความสำคัญในอันนี้ เขาก็จะมากัน จนครบเวลา ส่วนผู้ที่มาไม่ครบ วันเวลา ก็มีบ้าง แล้วแต่ ความจำเป็นที่กล่าวมาแล้ว

ส่วนคนที่ไม่เข้าใจสาระสำคัญของงาน อันนี้ก็แน่นอน เขาย่อมไม่เต็มใจจะมาร่วมงาน เพราะมาแล้ว ก็ไม่เห็นว่าดี หรือมีประโยชน์อะไร นั่นคือ คนที่ไม่มีปัญญาจะรู้ว่า ทำไปแล้ว ได้ประโยชน์อะไร เขาก็เลย ไม่ได้ประโยชน์ และก็ไม่ทำตน ให้เป็นประโยชน์ มาร่วมงาน อย่างเสียไม่ได้ ก็ไม่ค่อยเข้าท่าอะไร แต่ถ้าขนาด ที่คนรู้สึกว่า งานวันมหาปวารณา ไม่ได้ประโยชน์อะไร ไม่ควรมาให้เสียเวลา อาตมาก็คิดว่า งานนี้น่า จะเลิกนะ แต่ในความเป็นจริง ไม่ใช่อย่างนั้น อาตมอยากให้ทำความเข้าใจให้ดี ถ้าใครได้อ่าน บทสัมภาษณ์นี้ ได้รับรู้สิ่งที่อาตมากล่าว ในเรื่องของงานมหาปวารณา ว่ามีความสำคัญ มีสารสัจจะอะไร สำหรับ ที่จะทำให้เกิด อิทธิบาท ๔ มีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสาเข้าไปร่วมด้วย

ทิศทางการทำงานต่อไปของพวกเราทั้งฆราวาสและนักบวช?
การทำงานของฆราวาสและนักบวช ก็ทำงานในทิศทางเดียวกัน เพียงแต่ทำกัน คนละฐานะ เท่านั้น ที่เป็นทิศทางเดียวกัน ก็คือ ไม่ว่าจะเป็นใครในโลก ถ้าเข้าใจว่า ชีวิตของแต่ละคน เกิดมา เพื่อที่จะ"สุข" จะ"สูง" จะ"สร้างสรร" และ"เสียสละ" หรือมี"สมบัติ" ซึ่งโดยนัยะ ที่ลึกซึ้ง ขึ้นไป อาตมาว่า สิ่งที่ควรจะได้ ควรจะเป็น คือได้"สูญ" เสียด้วยซ้ำ มีสมบัติ แล้วก็มีสูญ จน "สัมบูรณ์" เพราะฉะนั้น ความสัมบูรณ์ก็คือ ความพร้อมทุกอย่าง อาตมาใช้ภาษา เป็นตัวสื่อ สาระต่างๆ โดยรวมเป็น ๗ ส. คือสุข สูง สร้างสรร เสียสละ สมบัติ สูญ และสัมบูรณ์

คนเราที่เกิดมาแสวง"สุข"กัน ก็ต้องมาเรียนรู้ความสุขมีโลกียสุข มีวูปสโมสุข มีสุขอย่างโลกุตระ "สูง" ก็สูงอย่าง มีสารสัจจะ มีความสูงอย่างแท้จริง มีความเจริญ ความประเสริฐ ของมนุษย์จริงๆ และมนุษย์ ก็ควรเป็นผู้ "สร้างสรร" ไม่ใช่คนงอมืองอเท้า ปลีกหนีจากสังคม อย่างที่ เข้าใจผิดๆว่า ศาสนาสอน ให้คนเลอะๆ เทอะๆ นอกกรอบ นอกความหมาย ที่จริงศาสนาพุทธ สอนให้คนสร้างสรร "เสียสละ" บริจาคหรือทาน นอกนั้นก็เป็น "สมบัติ" ซึ่งมีทั้งโลกียสมบัติ และ โลกุตรสมบัติ ถ้าใครมีแค่ โลกียสมบัติ ก็จะงมงาย ไม่ค่อยได้ประโยชน์อะไรมากมาย เพราะมันจะยังแย่งชิง หลงใหลอยู่กับ โลกียสมบัติ เพราะฉะนั้น จึงต้องมาเรียนรู้ โลกุตรสมบัติ ที่เป็นสิ่งประเสริฐ สิ่งวิเศษ เป็นต้น

แม้กระทั่งที่สุด ถ้าเรารู้จักโลกุตรสมบัติแล้ว เราจะรู้จัก"สูญ"ด้วย รู้จักสิ่งที่ประเสริฐ สิ่งที่วิเศษสุด ถึงขั้นสูญ โดยต้องไปหา"สูญ" กันให้ได้ในชีวิต เมื่อหาได้แล้ว ก็ทำให้ได้จริง จนเกิดจริง เป็นจริงถึงจริง ถึงขั้นบริสุทธิ์ บริบูรณ์ หรือ "สัมบูรณ์"

ชีวิตของคนเรา เมื่อเข้าใจเป้าหมายอย่างนี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสมณะ พระภิกษุ หรือ เป็นฆราวาส ก็จะมี ทิศทางเดียวกัน โดยฐานะของสมณะ หรือนักบวช เป็นแค่สมมุติว่า ต้องมีฐานะหน้าที่ ตามหลัก ตามเกณฑ์ มาบวชแล้ว จะต้องมีโภคัก ขันธา ปหายะ ละทิ้งสมบัติ ทรัพย์สฤงคาร บ้านช่อง เรือนชานออกมา ต้องมีญาติปริวัตตัง ปหายะ ไม่เป็นผู้ไปสร้างญาติอีกแล้ว ปล่อยปละวางปลง มาเป็นคนที่มีประโยชน์ ต่อส่วนรวม ต่อมนุษยชาติส่วนใหญ่ เป็นพหุชนหิตายะ ซึ่งเราต้องรู้ว่า มาบวชเพื่ออะไร เมื่อรู้จักฐานะนี้แล้ว ก็ต้องปฏิบัติ ให้สอดคล้อง ตรงตามความหมายที่ว่านี้จริงๆ และก็ละลดกิเลส เรียนรู้ภายในจิต ที่เป็นตัว ประธาน มโนปุพพังคมา ธัมมา หรือ จิตเป็นประธานของสิ่งทั้งปวง จิตของปุถุชนทั่วไป จะมีกิเลส เห็นแก่ตัว หลงใหลโลกียะ

ศาสนาจึงสอนให้คนพัฒนาตัวเอง จนมีการบรรลุธรรม หลุดพ้นจากกิเลส เป็นผู้ประเสริฐ ที่แท้จริง มาเป็น นักศึกษา หรือนักเรียน เข้ารับการศึกษาที่มี ศีลสิกขา จิตสิกขา ปัญญาสิกขา กันอย่างแท้จริง ให้ได้มรรค ได้ผลที่แท้จริง เหมือนเราไปลงทะเบียน เป็นนิสิต นักศึกษา ในมหาวิทยาลัยแล้ว ก็ต้องตั้งใจ เล่าเรียน กันจริงๆ ส่วนฆราวาส ถึงไม่ได้ลงทะเบียน สมัครเป็นนิสิต นักศึกษาอะไรก็ตาม แต่ก็ควรมุ่งหมายไปหา ๗ ส.นั้นให้ได้จริงๆ เพราะฉะนั้น เมื่อเราเป็นลูก ของพระพุทธเจ้า เป็นพุทธศาสนิกชน เราก็ควรจะศึกษา หลักการของ พระพุทธเจ้า เพื่อมุ่งหมายไปสู่ ทิศทางเดียวกัน เพียงแต่แตกต่าง ที่ฐานะเท่านั้นเอง

ถ้าถามว่าสมณะหรือฆราวาสชาวอโศก จะดำเนินอะไรต่อไป ก็ดำเนินไป ตามแนวทางนี้ ไม่มีอะไร เปลี่ยนแปลง เป็นแต่เรารู้ว่า ขณะนี้เราทำมาถึงตรงไหน ขนาดไหน มีดีอะไรแค่ใด ส่วนที่บกพร่อง มีอะไรที่ต้องแก้ไขปรับปรุง เราก็ต้องรู้ความจริง ของพวกเรา ซึ่งอาจจะ ไม่เหมือนกัน ไม่ตรงกันทีเดียว ในแต่ละกลุ่ม แต่ละหมู่หรือแต่ละชุมชน ของชาวอโศก ซึ่งมีอยู่ทั่วไป เพราะเราทำงาน เป็นขบวนการกลุ่ม มีอะไร ที่ควรแก้ไข ปรับปรุง หรือทำให้ เจริญยิ่งๆขึ้น ก็ทำตามไปตามหลักเกณฑ์ ของระบบบุญนิยม ของพวกเรา เท่านั้นเอง

ขอคำอธิบายที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดๆค่ะ?
ตอนนี้ชาวอโศกมีรูปร่างมีลักษณะของสังคมกลุ่มหมู่ที่เป็นระบบบุญนิยม จริงๆ คือ เป็นสังคม ของพุทธบริษัทนั่นแหละ อาตมาขอยืนยันว่า พวกชาวอโศก เป็นพุทธบริษัทที่มีศีลมีธรรม และก็มีอาชีพ ที่เป็นสัมมาอาชีวะ เพราะเราเดินอยู่ ในเส้นทางวิเศษ อันคือ มรรคองค์ ๘ ซึ่งจะมีการดำรินึกคิด ที่เป็น สัมมาสังกัปปะ มีการพูดจาที่เป็นสัมมาวาจา มีการกระทำ ทุกกรรมกิริยา ที่เป็นสัมมากัมมันตะ โดยพัฒนา ให้เป็นไป เพื่อความเจริญ มีอาชีพก็พัฒนาขึ้น ให้สูงขึ้นๆ เป็นสัมมาอาชีวะ จนพ้น"มิจฉาอาชีวะ ๕" ทุกวันนี้ ก็ทำอยู่ ซึ่งมันก็ได้ความจริงขึ้นมา เป็นรูปธรรม ในทุกชุมชน เป็นรูปร่างของระบบ ที่สอดคล้อง กับความต้องการ ของสังคม เช่น บอกว่า เป็นสังคม หรือ เป็นชุมชนพึ่งตนเอง เราก็ทำได้ เป็นสังคม ที่มีเศรษฐกิจพอเพียง เราก็มีความพอเพียงอยู่ เป็นสังคมที่จะพยายามพัฒนา สร้างระบบนิเวศน์ให้ดี ไปสู่ความเป็น ธรรมชาติ พวกเราก็เป็นไปด้วยดี จนกระทั่ง มีรูปธรรม พอเป็นไปได้อย่างรู้ๆเห็นๆ

เพราะฉะนั้น อะไรที่เราทำได้แล้ว และอะไรที่เราเห็นว่าจะต้องเสริมสานกันต่อ เราก็มาประชุม ปรึกษา หารือกัน แบ่งงานกันทำต่อไป แม้ที่สุด ในเรื่องที่เราพูดกัน พูดทีไร ก็เป็นเรื่อง ๑.แปลก ๒.เป็นเรื่องอหังการ์ ๓.เหมือนอวดดี อวดตน ๔.เป็นสิ่งท้าทายให้พิสูจน์ คือ เมื่อชาวอโศก ปฏิบัติธรรมแล้ว พัฒนาจนมีวิถีชีวิต ที่ดำเนินไป เป็นคนมักน้อย สันโดษ แม้ที่สุด เป็นคนที่ทำงาน ไม่รับรายได้เลย เป็นคนมาอด มาทน แต่ที่สุด เราก็สุข สบายใจ ไม่ได้อด ไม่ได้ทน แต่อย่างใด เช่น เรามาแสดงตัวว่า ทำงานฟรี ประกาศออกไป แล้วเรา ก็ทำได้ อย่างเต็มใจ เป็นคนที่กล้าจน ไม่สะสมกอบโกย ตั้งอกตั้งใจสร้างสรรมากๆ และไม่เอา หรือเอาน้อยๆ พอเป็นไป พออาศัย พออยู่พอใช้ ตามแต่ที่ใคร จะเสียสละ ได้มากเท่าไร เราเห็นว่า นี่คือ เรื่องจริงของมนุษย์ ผู้ที่สละ ให้แก่สังคม ให้แก่มนุษยชาติได้ จะเป็นผู้ประเสริฐจริงๆ

เราเข้าใจสัจธรรมอย่างนั้นแล้ว ก็ทำกัน จนกระทั่งกลายเป็นวัฒนธรรม กลายเป็นรูปแบบ กลายเป็น จารีตประเพณี กลายเป็นระบบ กลายเป็นสัจจะ กลายเป็นกิจกรรม พฤติกรรม พิธีกรรม ที่อยู่ในสังคม เป็นรูปลักษณ์ เฉพาะตัวของ สังคมระบบบุญนิยม จนกระทั่ง มีระบบวิธี มีสิ่งที่เราเรียกกันถึงขั้น สาธารณโภคี คือ มีการกินการใช้เป็นส่วนกลาง ทุกคนทำแล้ว ก็นำเข้าส่วนกลาง ไม่ได้สะสมเป็นของตัว ของตนเลย และก็มีการจัดสรร แบ่งกิน แบ่งใช้กัน ร่วมกันอยู่ในนี้ เป็นรูปลักษณ์ที่พูดไปแล้ว ก็เหมือน อวดอ้าง อหังการ์ พูดไปแล้ว ใครๆฟัง อาจรู้สึกว่า ไม่น่าจะอวด ไม่น่าจะพูด ไม่น่าจะย้ำ แต่เราก็พูด เพื่อยืนยัน ให้เห็นว่า ในโลกมนุษย์นี้ มีความเป็นไปได้ มีสิ่งที่มนุษย์ จะกระทำอย่างที่ว่านี้ได้ ก็ควร น่าจะได้บอกกัน เพราะเรื่องเลว เราก็พูดกันมาก และก็ได้พยายามแก้ไข ปรับปรุงอยู่ ส่วนเรื่องดี ก็น่าจะพูด นำมาอ้างอิง ยืนยันบ้าง เพื่อให้เป็นตัวอย่าง เป็นแบบอย่างว่า คนเราทำได้ใน เรื่องดี ไม่ใช่ทำแต่เลว พูดถึงแต่เรื่องเลวเท่านั้น

เรื่องดีก็ควรพูดกันบ้าง ใครฟังแล้วอาจรู้สึกไม่สบายใจ หมั่นไส้ ก็ต้องขออภัย ซึ่งเราก็ได้ ประกาศความจริง ไปบ้างแล้ว โดยไม่ใช่โอ้อวด เพื่อโชว์ เพื่อหาลาภยศ หรือ ด้วยการใช้ จิตวิทยา เพื่อที่จะทำให้ ตัวเองเด่นดัง ก็ไม่ใช่ อย่างแน่นอน


ผู้มีชีวิตพัฒนาอยู่ทุกวันคืนหรือทุกวันคืนที่ล่วงไป
ล้วนเป็นวันคืนแห่งการพัฒนาสำหรับชีวิตของเขา
ชีวิตของเขาย่อมอยู่ในโลกแห่งความจริงในปัจจุบัน
ด้วยความยินดี เบิกบานแจ่มใสอย่างไม่หลงฝันถึงสิ่งที่ผ่านมาในอดีต
และไม่หลงจมอยู่กับภาพมายาในอนาคต.

(สารอโศก อันดับที่ ๑๕๓ ตุลาคม ๒๕๔๕)