หน้าแรก>สารอโศก

กว่าจะถึงอรหันต์ โดย...ณวมพุทธ

พระปุสสเถระ

กาลภายหน้าภิกษุปัญญาทราม
จะเป็นมารล้างผลาญศาสนา
ทำเสียศีลริษยาบ้าอัตตา
สิ้นศรัทธากล้าบาปหยาบลวงโลก

พระปุสสเถระได้บำเพ็ญบารมีเอาไว้ แม้ในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญกุศล เป็นอุปนิสัย เพื่อการนิพพานไว้แล้ว

กระทั่งมากำเนิดในยุคสมัยของพระพุทธเจ้าองค์สมณโคดม เป็นพระราชโอรสของ พระเจ้ามัณฑลิกะ มีพระนามว่า ปุสสะ(ขาวบริสุทธิ์) เมื่อเติบโตเจริญวัยแล้ว ได้ศึกษา เล่าเรียน ศิลปวิทยาต่างๆ จนสำเร็จ การศึกษา ตามที่พวกเชื้อสายกษัตริย์เคยศึกษากันมา แต่เพราะบุญบารมี ที่สะสมไว้ในชาติกาลก่อน ทำให้เป็นผู้มีอุปนิสัยขาวสะอาด จิตใจบริสุทธิ์ ห่างจากกิเลสตัณหา จึงไม่มีใจเกี่ยวข้อง ในกามคุณ ทั้งหลายเลย

วันหนึ่ง ปุสสกุมารมีโอกาสไปฟังธรรมของพระมหาเถระรูปหนึ่ง ได้เข้าใจลึกซึ้งในสัจธรรม จึงยินดีพอใจ ที่จะประพฤติธรรม เกิดจิตเลื่อมใสศรัทธาแรงกล้า ที่จะออกบวช จึงได้ขออนุญาต

เมื่อได้บวชเป็นภิกษุแล้ว ก็ตั้งใจเรียนรู้กรรมฐาน (วิธีปฏิบัติลดละกิเลสอย่างเหมาะสม) นำมา ประพฤติ บำเพ็ญ ภาวนา (ทำให้เกิดผล) อยู่เสมอๆ สามารถทำฌาน (สภาวะกิเลสสงบ อันประณีตยิ่ง) ให้บังเกิดขึ้น ด้วยวิปัสสนา (พิจารณารู้แจ้งตามจริง ในสิ่งที่กระทำ) ซึ่งไม่ช้านานนัก ก็สำเร็จผล ได้อภิญญา ๖ (๑. อิทธิวิธี = มีฤทธิ์ สู้กิเลสได้ ๒. ทิพพโสต = หูทิพย์ แยกแยะ กิเลสได้ ๓. เจโตปริยญาณ = รู้วาระจิตว่ามีกิเลสหรือไม่ ๔. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ = รู้แจ้ง ระลึกชาติได้ ๕. ทิพพจักขุ = ตาทิพย์มองทะลุกิเลสได้ ๖. อาสวักขยญาณ = รู้แจ้งว่า กิเลส หมดสิ้นแล้ว) บรรลุธรรมเป็น พระอรหันต์องค์หนึ่งแล้ว

อยู่มาวันหนึ่ง มีฤาษีชื่อว่า ปัณฑรสะ ได้แวะมาเยี่ยมสนทนาธรรมกับพระปุสสเถระ ฤาษีพบเห็น ภิกษุ จำนวนมาก เป็นที่น่าเลื่อมใส สมบูรณ์ด้วยศีล และข้อปฏิบัติ มีตน อันอบรมแล้ว สำรวมอินทรีย์ (กายและใจ) ดีแล้ว มีใจยินดีอยู่ในธรรม ฤาษีจึงได้ถาม พระเถระว่า

"ในอนาคตกาล ภิกษุทั้งหลายในศาสนานี้จะมีความพอใจอย่างไรหนอ จะมีความประสงค์ อย่างไรหนอ ช่วยบอก กาลภายหน้า ให้แก่ผมได้รู้ด้วยเถิด"

พระปุสสเถระจึงกล่าวตอบไป ด้วยอนาคตังสญาณ (ญาณหยั่งรู้อนาคต) ของตนว่า

"ดูก่อนท่านปัณฑรสฤาษี ในกาลภายหน้านั้น ภิกษุเป็นอันมาก จะเป็นคนมักโกรธ มักผูกโกรธไว้ ลบหลู่ คุณท่าน หัวดื้อ โอ้อวด ริษยา มีวาทะแตกต่างกัน จะเป็นผู้มีมานะ (ถือตัว) ในธรรม ที่ยังไม่รู้ทั่วถึง คิดว่าตื้น ในธรรมที่ลึกซึ้ง เป็นคนเบาปัญญา ไม่เคารพธรรม ไม่มีความเคารพกันและกัน

ในกาลข้างหน้า โทษภัยเป็นอันมากจะเกิดขึ้นในหมู่สัตว์โลก ก็เพราะภิกษุทั้งหลาย ผู้ไร้ปัญญา จะกระทำ ธรรมะ ที่พระศาสดา ทรงแสดงแล้วนี้ ให้เศร้าหมอง

ทั้งพวกภิกษุที่มีคุณอันเลว แต่โวหารจัดแกล้วกล้า มีกำลังมาก ปากกล้า ไม่ได้ศึกษาธรรมวินัย ก็จะมีขึ้น ในสังฆมณฑล ส่วนภิกษุผู้มีคุณความดี มีโวหารสมควรแก่เนื้อความ มีความละอาย ต่อบาป ไม่ต้องการ อะไรๆ ก็จะมีกำลังน้อย

ในอนาคต ภิกษุทั้งหลายที่ปัญญาทราม จะพากันยินดีเงินทอง ที่ดิน ไร่นา แพะ แกะ และ คนรับใช้ หญิงชาย ภิกษุเหล่านี้จะเป็นคนโง่ มุ่งแต่เอาโทษผู้อื่น ไม่ดำรงมั่นอยู่ในศีล มีความถือตัว โหดร้าย เที่ยวยินดีแต่การทะเลาะวิวาท มีจิตฟุ้งซ่าน นุ่งห่มแต่จีวร ที่ย้อมด้วย สีเขียวแดง เป็นคนลวงโลก กระด้าง เป็นผู้แส่หาแต่ลาภผล เที่ยวชูเขาบนหัวคือ มานะ (ถือตัว) แต่ทำตน เป็นดังพระอริยเจ้า ท่องเที่ยวไป แล้วแต่งผม ด้วยน้ำมัน ทำให้ผมมีเส้นละเอียด เหลวไหลอยู่กับ การทาตา และ หยอดตา

พวกภิกษุนี้จะคลุมกายด้วยจีวรที่ย้อมด้วยสีงา พอใจในผ้าสีขาวๆ อันเป็นธงของพวกเดียรถีย์ สัญจรไป ตามตรอก น้อยใหญ่ พากันเกลียดชังผ้า ที่ย้อมด้วยน้ำฝาด (จีวรสีน้ำตาลแดง) อันเป็นของไม่น่าเกลียด ของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ผู้หลุดพ้นแล้ว ยินดียิ่งนัก ซึ่งเป็นธงชัย ของพระอรหันต์

จะเป็นพวกภิกษุผู้มุ่งในลาภ นิสัยเกียจคร้าน มีความเพียรเลวทราม ในการประพฤติธรรม เห็นการอยู่ป่า อันสงัด เป็นความลำบาก จะใคร่อยู่ในเสนาสนะ (ที่นั่งที่นอน) ที่ใกล้บ้าน โดยไม่สำรวมอินทรีย์ แล้วพากัน ประพฤติ ตามภิกษุ พวกที่ยินดีมิจฉาชีพ ซึ่งได้ลาภเสมอๆ (เพราะภิกษุพวกนั้น เที่ยวคบหาราชสกุล เป็นต้น เพื่อให้เกิดลาภแก่ตน)

ในอนาคตกาล ภิกษุทั้งหลายจะไม่บูชาภิกษุที่มีลาภน้อย จะไม่คบหาภิกษุ ที่เป็นปราชญ์ ผู้มีศีล อันเป็นที่รัก จะครองผ้าด้วยจีวรสีแดง ที่ชนชาวมิลักขะ (คนป่าเถื่อน) ชอบย้อมใช้ แล้วติเตียน ผ้าย้อมน้ำฝาด อันเป็นธงชัยของตนเสีย

ภิกษุเหล่านั้นจะไม่เคารพในผ้ากาสาวะ (ผ้าย้อมน้ำฝาด) ไม่พิจารณาให้แยบคาย เพื่อจะใช้ ผ้ากาสาวะ เหมือนกับเมื่อถูกทุกข์ครอบงำ ถูกลูกศร (กิเลส) แทงเข้าแล้ว ก็ไม่พิจารณา ให้แยบคาย แสดงอาการ ยุ่งยากใจออกมา ส่งเสียงโอดครวญอย่างใหญ่หลวง ไม่กระทำ เช่นช้างฉัททันต์ (อดีตชาติหนึ่ง ของพระพุทธเจ้า) ซึ่งถูกโสณุตรพราน ยิงด้วยลูกศร อาบยาพิษ ทุกข์ทรมานใหญ่หลวง จึงจับพราน หมายทำร้าย แต่พอเห็นผ้ากาสาวะ ที่พรานใช้ คลุมกายเท่านั้น ก็ได้สติพิจารณาโดยแยบคาย ไม่เบียดเบียน ทำร้ายพรานนั้น ได้ตั้งเมตตาจิต กล่าวว่า

ผู้ใดยังมีกิเลสดุจน้ำฝาด (โดนย้อมอยู่) ปราศจากทมะ (การข่มกิเลสในใจ) และสัจจะ (การทำได้จริง) ย่อมไม่ควร นุ่งห่มผ้ากาสาวะ ส่วนผู้ใด คายกิเลส ดุจน้ำฝาดออกไปแล้ว ตั้งมั่นอยู่ในศีล อย่างมั่นคง ประกอบด้วย ทมะและสัจจะ ย่อมสมควรจะนุ่งห่ม ผ้ากาสาวะ โดยแท้

ผู้ใดมีศีลวิบัติ(เสียศีล) มีปัญญาทราม ไม่สำรวมอินทรีย์ กระทำตามความพอใจ ของตนอย่างเดียว มีจิตฟุ้งซ่าน ไม่ขวนขวายในทางที่ถูก ย่อมไม่สมควรจะนุ่งผ้ากาสาวะ ส่วนผู้ใด สมบูรณ์ด้วยศีล ปราศจาก ราคะ มีจิตตั้งมั่น มีความดำริผ่องใส ย่อมสมควรนุ่งห่ม ผ้ากาสาวะโดยแท้

ผู้ใดไม่มีศีล ผู้นั้นเป็นคนพาล มีมานะ (ความถือตัว) ฟูขึ้น ย่อมสมควรจะนุ่งห่ม แต่ผ้าขาวเท่านั้น จะนุ่งห่ม ผ้ากาสาวะได้อย่างไร

ภิกษุและภิกษุณีทั้งหลายในอนาคต จะเป็นผู้มีจิตใจชั่วร้าย ไม่เอื้อเฟื้อ จะข่มขี่ภิกษุ ผู้คงที่ ในธรรม ผู้มีเมตตาจิต

แม้แต่ภิกษุพวกที่เป็นคนโง่เขลา มีปัญญาทราม ถึงพระเถระจะให้ศึกษาการใช้สอย ผ้ากาสาวะ ก็จะไม่เชื่อฟัง จะไม่เคารพ ไม่เอื้อเฟื้อพระอุปัชฌาย์อาจารย์ เป็นเสมือน ม้าพิการ ไม่เอื้อเฟื้อต่อสารถี ฉะนั้น

ในกาลภายหลังนับแต่การสังคายนาครั้งที่ ๓ ผ่านไปแล้ว (การสังคายนาครั้งที่ ๓ เกิดขึ้นประมาณ พ.ศ.๒๓๔ โดยพระเจ้าอโศก หรือ ศรีธรรมาโศกราช เป็นศาสนูปถัมภก ผู้ทำนุบำรุงศาสนาพุทธ ใช้เวลา สังคายนา ๙ เดือนจึงเสร็จ ต้นเหตุจาก เดียรถีย์มากมาย ปลอมบวช ในพุทธศาสนา เพราะมีลาภสักการะ เกิดขึ้นมากนั่นเอง ได้สังคายนาที่อโศการาม เมืองปาฏลีบุตร มีพระอรหันต์ ๑,๐๐๐ รูป ประชุมกัน โดยพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ เป็นประธาน) ภิกษุและภิกษุณีทั้งหลาย ในอนาคต จะปฏิบัติกัน อย่างนี้"

ครั้นพระปุสสเถระแสดงถึงมหาภัย อันจะบังเกิดในภายภาคหน้าแล้ว ก็ได้กล่าวกับ เพื่อนภิกษุ ในที่นั้นว่า

"ภัยอย่างใหญ่หลวงที่จะทำอันตรายต่อการปฏิบัติธรรม ย่อมจะมีมาในอนาคตแน่นอน ฉะนั้น ขอให้ ท่านทั้งหลาย จงเป็นผู้ว่าง่ายเถิด จงพูดถ้อยคำที่สละสลวย มีความเคารพกันและกัน มีจิตเมตตา กรุณาต่อกัน จงสำรวมในศีล ปรารถนาความเพียรในธรรม มีใจเด็ดเดี่ยว บากบั่น มั่นคง สม่ำเสมอ

ท่านทั้งหลายจงเห็นความประมาทว่า เป็นภัย จงเห็นความไม่ประมาทว่า เป็นความปลอดภัย

แล้วจงอบรมด้วยอัฏฐังคิกมรรค (อริยมรรคมีองค์ ๘) เมื่อกระทำได้รู้แจ้งดังนี้แล้ว ย่อมจะบรรลุ นิพพาน (ดับกิเลสทุกข์ สิ้นเกลี้ยง) อันเป็นทางแห่งการไม่เกิดไม่ตายได้"

ณวมพุทธ
พฤ. ๓๑ ต.ค. ๒๕๔๕
(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๖ ข้อ ๓๙๕, อรรถกถาแปลเล่ม ๕๓ หน้า ๒๐๒)

(สารอโศก อันดับที่ ๒๕๓ ตุลาคม ๒๕๔๕)