หน้าแรก>สารอโศก

กว่าจะถึงอรหันต์
- โดย...ณวมพุทธ -


พระสิริมาเถระ

นิสัยปุถุชน
สับสนสลับกัน
ควรชมกลับเย้ยหยัน
ควรหยันกลับชื่นชม

ในอดีตของพระสิริมาเถระ ได้สั่งสมบุญไว้แล้วในยุคสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ โดยกำเนิด อยู่ในตระกูลพราหมณ์ ได้ชื่อว่า เทวละ ศึกษาเล่าเรียนจนจบไตรเพท(คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพราหมณ์) ชำนาญ ในศาสตร์ต่างๆ

ต่อมาบังเกิดความเบื่อหน่ายในชีวิตครองเรือน จึงละออกจากกามทั้งหลาย แล้วบวช เป็นดาบส (ผู้บำเพ็ญตบะ เผากิเลส) ไปอาศัยอยู่ที่ป่าหิมพานต์ เป็นที่เคารพศรัทธา ของชาวบ้านยิ่งนัก จึงมีลูกศิษย์ มากถึง ๘๔,๐๐๐ คน

เทวลดาบสนั้นเป็นผู้บำเพ็ญฌาน (สภาวะกิเลสสงบอันประณีตยิ่ง) และอภิญญา (ความรู้ยิ่ง) ให้บังเกิด ด้วยศรัทธา แน่วแน่ ในพระพุทธเจ้าทั้งหลาย โดยการมุ่นมวยผม สะพายคนโทน้ำ ก่อพระเจดีย์ทรายที่คุ้งน้ำ ทำการสักการบูชา แด่พระพุทธเจ้าทุกวัน จะรวบรวมดอกไม้นานาชนิด บูชาพระเจดีย์นั้น แล้วทำจิต ให้เลื่อมใส ถึงคุณแห่งพระพุทธเจ้า

บรรดาศิษย์ก็มักถามอยู่บ่อยๆว่า
"ท่านอาจารย์ ก่อเจดีย์ทรายนี้บูชาใครกันหรือ"
"เรานมัสการแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้ประเสริฐสุดในโลกมนุษย์นี้"
"ประเสริฐสุดอย่างไรเล่า อาจารย์"

"พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้มีความเพียรยิ่งใหญ่ รู้ธรรมอันควรรู้ทั้งปวง เป็นผู้นำสัตว์โลกออกจากทุกข์ ทรงบริบูรณ์ด้วย มหาปุริสลักษณะ (ลักษณะของมหาบุรุษ) ๓๒ ประการ เมื่อเวลาเสด็จดำเนินไป ย่อมทอดพระเนตร เพียงช่วงแอก ทรงไม่รีบร้อนในการเสด็จ พระชานุ(เข่า)ไม่สั่น ทรงก้าวพระบาท เบื้องขวาก่อน นี้เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ไม่หวาดกลัว ไม่ทรงยกพระองค์ ไม่ทรงข่มขี่ ทรงหลุดพ้นจากการถือตัวและดูหมิ่น ทรงเป็นผู้มีความเสมอภาค ในสัตว์ทั้งปวง ทรงแสดงธรรมอันเป็นแสงสว่างแก่โลก ทรงเห็นทั้งนรก และ สวรรค์ ไม่มีใครเทียบเท่า พระตถาคตทั้งหลายทรงมีพระคุณหาประมาณมิได้"

เหล่าศิษย์พากันชื่นชมถ้อยคำที่อาจารย์กล่าว ต่างพากันปฏิบัติตาม ด้วยความเพลิดเพลินยินดี น้อมใจไป ในการบูชา สักการะพระเจดีย์ทราย ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

อยู่มาวันหนึ่ง....บังเกิดแผ่นดินสะเทือน หมื่นโลกธาตุหวั่นไหว เทวลดาบส กำลังยืนอยู่ในที่จงกรม ไม่ไกล จากอาศรม ศิษย์ทุกคนแตกตื่น วิ่งมารวมกัน ที่อาจารย์ยืนอยู่ แล้วพากันถามว่า

"แผ่นดินสั่นไหวลือลั่น บังเกิดอะไรขึ้นหรืออาจารย์""จงสงบใจไว้ นี้เป็นมหาโชค พระสัมมาสัมพุทธเจ้า กำลังอุบัติ ในโลกนี้ จะมาเป็นศาสดาแก่มวลมหาชน ดังเช่นที่พวกเราเคารพกราบไหว้บูชาอยู่ บัดนี้เทพบุตร ผู้มียศยิ่งใหญ่ ได้จุติจากสวรรค์ ชั้นดุสิต เสด็จลงมาสู่พระครรภ์ของพระมารดาแล้ว"

ทุกๆคนยิ่งปีติยินดี ยิ่งศรัทธาในพระพุทธเจ้า เฝ้าฝึกฝนบำเพ็ญตนยิ่งขึ้น จนกระทั่งถึงวันที่เทวลดาบส จะลาจาก โลกนี้ไป ได้ฝากคำสอนแก่เหล่าศิษย์ว่า

"ดูก่อนท่านผู้มีปัญญาดีทั้งหลาย พวกท่านอย่าได้เศร้าโศกเลย ควรพยายามในประโยชน์ของตนทั้งกลางคืน และกลางวัน ไม่ควรเป็นผู้เกียจคร้าน อย่าได้ประมาทเลย"

เมื่ออาจารย์มรณภาพแล้ว ศิษย์ทุกคนพร้อมช่วยกันยกศพของอาจารย์ขึ้นสู่เชิงตะกอน ประนมมือ อัญชลี เหนือศีรษะ เคารพร่างอาจารย์เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะจุดพระเพลิงแผดเผา

ตายจากชาตินั้นแล้ว ก็ได้ไปอยู่ในเทวโลก(โลกของผู้มีจิตใจสูง) ถึง ๑๘ กัป(อายุโลก วอดวายหนึ่งครั้ง) ได้เสวยสมบัติในเทวโลกกว่า ๕๐๐ ครั้ง เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๐๐ ครั้ง ส่วนในกัปที่เหลืออยู่ ได้ท่องไป ในชาติต่างๆ โดยไม่รู้จักทุคติ(ทางไปชั่ว)เลย นี้เป็นผลบุญแห่งการบูชาสักการะพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

กระทั่งได้มาเกิดในสมัยของพระพุทธเจ้าองค์สมณโคดม เป็นบุตรของคฤหบดีในกรุงสาวัตถี แคว้นโกศล ด้วยเหตุที่เจริญเติบโตอยู่ในตระกูลที่พรั่งพร้อมด้วยสิริสมบัตินั่นเอง จึงได้รับชื่อว่า สิริมา และมีน้องชาย ชื่อว่า สิริวัฑฒ์

สองพี่น้องเจริญเติบโตเป็นหนุ่มแล้ว มีโอกาสดีที่ได้เห็นพุทธานุภาพ ในคราวที่พระพุทธองค์รับพระวิหารชื่อ เชตวัน ที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวายแด่พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ จึงบังเกิดจิตศรัทธาแรงกล้า แล้วออกบวช ทั้งสองพี่น้องเลยทีเดียว

ครั้นบวชเป็นภิกษุแล้วบำเพ็ญเพียรไม่นาน พระสิริมาเถระก็ได้บรรลุธรรมก่อนเป็นผู้มีอภิญญา ๖ แต่กลับ มีลาภน้อยอยู่ เพราะกรรมเก่ามาตัดรอน แม้จะมีมหาชนส่วนใหญ่ เคารพนับถืออยู่ก็ตาม ต่างจาก พระสิริวัฑฒ์ ที่ยังไม่บรรลุธรรม กลับมีลาภมากมาย และเพราะการมีลาภมากนี่เอง ก็ยิ่งทำให้ ผู้คน จำนวนมาก พากันสักการะ เคารพยิ่งขึ้น

แม้แต่นักบวชทั้งหลายที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ ซึ่งไม่รู้ว่าพระสิริมาเถระเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็มักพูดจาข่ม ไม่ยกย่อง ตำหนิ พระสิริมาเถระว่า เป็นผู้มีลาภน้อยมหาชนไม่ยกย่อง แล้วพากันสรรเสริญพระสิริวัฑฒ์ว่า มหาชน เคารพนับถือ มากกว่า เพราะได้ลาภได้ปัจจัยมากกว่า เหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ทำให้พระสิริมาเถระ คิดว่า

"ธรรมดาผู้ที่ควรถูกตำหนิ กลับมีผู้กล่าวสรรเสริญ ส่วนผู้ที่ควรสรรเสริญ กลับถูกตำหนิ นี้แหละ เป็นโทษภัย ของปุถุชน"

เมื่อคิดดังนั้นแล้ว ได้พิจารณาธรรมตามความเป็นจริง จึงประกาศความเป็นผู้หมดกิเลสสิ้นเกลี้ยงแล้วว่า

"ถ้าตนมีจิตไม่ตั้งมั่น ถึงมหาชนจะสรรเสริญ มหาชนก็สรรเสริญเปล่า เพราะตนมีจิตไม่ตั้งมั่น แต่ถ้าตน มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ถึงมหาชนจะติเตียน มหาชนก็ติเตียนเปล่า เพราะตนมีจิตตั้งมั่นดีแล้ว"

เมื่อพระสิริมาเถระประกาศการบรรลุธรรมของตนแล้ว ผู้ติเตียนทั้งหลายต่างขอให้พระเถระอดโทษให้ ส่วนพระสิริวัฑฒ์ก็บังเกิดความสลดใจ จึงมุ่งพากเพียรบำเพ็ญธรรม ให้ยิ่งไม่ช้านานนัก ก็สามารถ ทำประโยชน์ตน ให้บริบูรณ์ได้เช่นกัน

ณวมพุทธ
จันทร์ ๙ ธ.ค.๒๕๔๕
(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๖ ข้อ ๒๗๗ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๑ หน้า ๘๙)

(สารอโศก อันดับที่ ๒๕๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๕)