>สารอโศก

กว่าจะถึงอรหันต์ โดย...ณวมพุทธ
พระกุณฑธานเถระ

คิดคะนองปลอมเป็นหญิง
แสร้งสุงสิงอยู่กับพระ
หลอกสายตาผู้พบปะ
ชั่วขณะก็บาปแรง


ในอดีตชาติของพระกุณฑธานเถระ เคยได้บำเพ็ญบุญสะสมไว้แล้ว ในสมัยของพระพุทธเจ้า พระนามว่า ปทุมุตตระ คราวนั้นเกิดอยู่ในตระกูลผู้ดีมีสกุลของนครหังสวดี เขามักไปเข้าเฝ้า พระพุทธเจ้า เพื่อฟังธรรมเสมอๆ

วันหนึ่ง ได้เห็นพระพุทธเจ้าทรงแต่งตั้งภิกษุรูปหนึ่ง ให้เป็นภิกษุผู้เลิศกว่า ภิกษุทั้งหลาย ในด้านการเป็น ผู้ได้รับสลากก่อน เขาปรารถนาตำแหน่งนั้นบ้าง จึงพากเพียรกระทำบุญ อยู่เสมอๆ กระทั่งคราวหนึ่ง ได้โอกาสอันยิ่งใหญ่ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงประทับในที่อันสงัด หลีกเร้นอยู่ ๗ วัน ครั้นถึงเวลาเสด็จ ออกจากที่หลีกเร้น เพราะเขาได้รู้เวลานั้น จึงนำผลกล้วย ใบใหญ่เครืองาม เข้าไปถวายพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงรับไว้แล้วเสวย ทำให้จิตของเขา เลื่อมใส ยินดียิ่งนัก พอเสร็จภัตกิจ(ฉันอาหาร) แล้ว พระองค์ได้ตรัสว่า

"จงฟังคำเรา ผู้บำรุงพระพุทธเจ้า เธอจะได้เป็นใหญ่ในหมู่เทวดา(หมู่คนที่จิตใจสูง) ๑๑ ครั้ง จะได้เป็น พระเจ้าจักรพรรดิ ๒๔ ครั้ง และอีก ๑ แสนกัปนับจากนี้ จะได้เป็นพระสาวก ของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีพระโคตรว่า โคดม โดยเธอจะมีชื่อตามผลแห่งกรรมว่า กุณฑธานะ นี้คือ พยากรณ์ของเรา"

ด้วยผลบุญนี้ ทำให้เขาได้เวียนตายเวียนเกิด ในหมู่เทวดา และมนุษย์ (ผู้มีใจประเสริฐ) ทั้งหลาย นานจนกระทั่ง ได้เกิดเป็นภุมมเทวดา (เทวดาเจ้าที่) ในสมัยของ พระพุทธเจ้า พระนามว่า กัสสปะ

มีอยู่วันหนึ่ง ภุมมเทวดากำลังสุขสบายอยู่ในอาณาเขตของตน ได้พบเห็นภิกษุ ๒ รูป ซึ่งเป็นสหาย รักกัน เดินทางผ่านมาในเขตแดนที่ตนรักษาอยู่ เพื่อไปทำอุโบสถ ฟังสวด ปาติโมกข์ ในหมู่สงฆ์ ภุมมเทวดา เกิดคิดสนุกอย่างมิจฉาทิฐิขึ้นว่า

"ภิกษุ ๒ รูปนี้ ช่างสนิทสนมรักกันดีเหลือเกิน หากเราลองแกล้ง สร้างเรื่องให้เข้าใจผิด จะแตกคอกัน หรือไม่หนอ"

ขณะคิดเช่นนั้น พอดีภิกษุรูปหนึ่งปวดท้องปรารถนาจะขับถ่ายหนัก จึงเข้าไปยังพุ่มไม้ ส่วนอีกรูปหนึ่ง ช่วยถือบาตรให้ ยืนรออยู่ภายนอก สักครู่ใหญ่ภิกษุนั้นเสร็จกิจส่วนตัวแล้ว ก็จะออกมานุ่งห่ม ครองจีวร ให้เรียบร้อย

ขณะนั้นเอง....ภุมมเทวดาก็ปลอมแปลงร่างเป็นหญิงรูปงาม ก้าวตามมาด้านหลัง ของภิกษุนั้น แล้วทำที เกล้าผมใหม่ให้เรียบร้อย ปัดฝุ่นตามผ้า จัดผ้านุ่งห่ม ปกปิดกาย ให้มิดชิด ทำราวกับได้มีสัมพันธ์ แล้วกับภิกษุในพุ่มไม้

ภิกษุที่ยืนคอยอยู่พอเห็นเหตุการณ์เช่นนี้เข้า ถึงกับตะลึงพร้อมกับเสียใจยิ่งนัก ด้วยคิดว่า

"เสียแรงที่เป็นสหายรักกันมานานปี ภิกษุนี้มาทำฉิบหายเสียแล้ว หากเรารู้มาก่อนว่า เพื่อนภิกษุนี้ มีกิเลสหนานัก เราจะไม่คบคุ้นด้วยเลย"

คิดแล้วก็กล่าวกับเพื่อนภิกษุด้วยความรังเกียจการทุศีลว่า
"ท่านจงรับบาตรของท่านไปเถิด ผมไม่ต้องการจะร่วมเดินทางไปกับผู้ลามก เช่นท่านอีกต่อไป"

ภิกษุผู้ถูกกล่าวหาถึงกับยืนงุนงง ฟังถ้อยคำแล้วประหนึ่ง โดนหอกคมกริบ พุ่งเข้าใส่ รีบกล่าวว่า
"ท่านพูดอะไรอย่างนั้น ผมกระทำกรรมลามกอันใดหรือ"

"ท่านกระทำกรรมอันลามกกับมาตุคามในพุ่มไม้ แล้วจึงออกมาด้วยกัน"

"ไม่มีเรื่องเช่นนี้เลย ผมไม่เห็นมีมาตุคามแม้แต่สักคนเดียว"

แม้ภิกษุผู้ตกเป็นจำเลยจะกล่าวความจริงสักกี่ครั้งก็ตาม เพื่อนภิกษุก็ไม่เชื่อถือถ้อยคำทั้งสิ้น ยึดเอาสองตา ที่ตนเห็นนั่นแหละ เป็นเรื่องจริง แล้วแยกทางไปโดยลำพังผู้เดียว

เมื่อถึงเวลาเข้าสู่โรงอุโบสถ ภิกษุที่ถูกภุมมเทวดาหยอกล้อกลั่นแกล้งก็เข้าสู่โรงอุโบสถ ส่วนภิกษุ ผู้เป็นสหาย พอเห็นเช่นนั้น ก็ไม่ชอบใจ ด้วยความรู้สึกที่ว่า

"ภิกษุลามกนี้ไม่บริสุทธิ์ เราไม่ควรฟังสวดปาฏิโมกข์ร่วมด้วย"

จึงยืนอยู่ภายนอก ไม่ยอมเข้าไปในโรงอุโบสถ ภุมมเทวดาเห็นเหตุการณ์เป็นไปอย่างนี้แล้ว ก็สนุกไม่ออก อีกต่อไป เริ่มเป็นทุกข์ในกรรมที่ก่อขึ้น ต้องรีบปรากฏกายแก่ภิกษุนั้น แล้วเล่า ความเป็นจริงให้รู้

"ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านอย่ารังเกียจภิกษุผู้เป็นสหายของท่านเลย ภิกษุนั้นมีศีลบริสุทธิ์ดีอยู่ มาตุคาม ที่ท่านเห็นนั้น ที่แท้คือ ข้าพเจ้าแปลงกายนั่นเอง เพื่อทดลองไมตรีของท่านทั้งสอง ว่าจะเหนียวแน่น มั่นคงหรือไม่ จะแตกไมตรีกันหรือไม่"

"ก็แล้วท่านเป็นใครกันเล่า"

"ข้าพเจ้าเป็นภุมมเทวดาตนหนึ่ง ซึ่งสิงสถิตอยู่ในพื้นที่นี้เอง"

กล่าวจบภุมมเทวดาก็หมอบกราบลงแทบเท้าของภิกษุนั้น แล้วอ้อนวอนว่า

"ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้กระทำผิดพลาดไปแล้ว ขอท่านจงอดโทษแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด"

ภิกษุนั้นรู้ความจริงแล้ว ได้ยกโทษให้ ภุมมเทวดาจึงนิมนต์ภิกษุให้เข้าสู่โรงอุโบสถ แม้ร่วม อุโบสถเดียวกัน แต่ภิกษุนั้น ก็ยังไม่ไปนั่งใกล้ ไม่ได้สนิทสนมอย่างเดิม และไม่ยอม พูดถึงเรื่องนี้ กับภิกษุ ผู้ถูกกล่าวหา นั้นอีกเลย ส่วนภิกษุผู้โดน ภุมมเทวดาแกล้ง ได้พากเพียร บำเพ็ญวิปัสสนา (ฝึกอบรมปัญญา ให้เกิด ความรู้แจ้ง เห็นจริง) จนได้บรรลุ เป็นพระอรหันต์ ในที่สุด

ฝ่ายภุมมเทวดานั้น ด้วยผลแห่งบาปที่กระทำไว้ ทำให้ต้องได้รับโทษภัยอยู่ในอบาย (คือ ๑. นรก = ทุกข์เร่าร้อน ๒. เป็นดิรัจฉาน = มืดมัวโง่เขลา ๓. เป็นเปรต = โลภหิวกระหาย ๔. เป็นอสุรกาย = สะดุ้งหวาดกลัว) นานจนกว่าศาสนา ของพระกัสสปพุทธเจ้า สูญสิ้นไป แล้วรอ พระพุทธเจ้าองค์ใหม่ ทรงอุบัติขึ้น นั่นแหละ

เมื่อถึงสมัยของพระพุทธเจ้าองค์สมณโคดม เขาได้เกิดอยู่ในตระกูลพราหมณ์ ในนครสาวัตถี มีชื่อว่า ธานะ ได้ศึกษาร่ำเรียนไตรเพท (คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของพราหมณ์) แล้ว

ต่อมาได้ฟังธรรมเทศนาของพระศาสดา เกิดศรัทธายิ่งนัก จึงขอบวช ในพระพุทธศาสนา เมื่อได้อุปสมบท เป็นภิกษุแล้ว วิบากบาปเก่าก็มาตามทวงอีก คือมักปรากฏ กายของสตรี รูปงาม คอยติดตาม อยู่ด้านหลังท่าน เสมอๆในสถานที่ต่างๆ โดยที่ท่าน ไม่เคยเห็นเลย แต่ผู้คนอื่นๆนั้น มักพบเห็นอยู่บ่อยๆ ดังนั้น เมื่อบางคนถวาย อาหารแก่ท่านแล้ว ก็จะพากันพูดกระเซ้าว่า

"ข้าวยาคูนี้สำหรับพระคุณเจ้า และอีกส่วนหนึ่ง สำหรับหญิงงาม ที่คอยติดตาม พระคุณเจ้าอยู่เสมอ"

พระธานะไม่เข้าใจในเรื่องนี้ ทั้งงุนงงทั้งอดขุ่นเคืองไม่ได้ เมื่อถูกเยาะเย้ย ถากถาง จากญาติโยม แม้กระทั่ง สามเณรและเพื่อนภิกษุด้วยกัน ก็เห็นท่านเข้าออกวิหาร พร้อมหญิง รูปงาม เป็นประจำ จึงถูกทั้งหยอกล้อ ทั้งโดนตำหนิว่ากล่าวรุนแรงก็มีว่า

"พระธานะปรากฏเหี้ยเกิดแล้ว....พระธานะเป็นคนเลวทรามต่ำช้าเสียแล้ว...."

ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้ชื่อเพิ่มเติมขึ้นว่า กุณฑธานะ(กุณฑะ=เหี้ยหรือคนเลวทรามต่ำช้า) โดยถูกเย้ยหยัน เรียกชื่อเช่นนี้บ่อยๆ กดดัน กระทั่งอดใจไม่ไหว ท่านก็ระเบิดอารมณ์ขึ้น ด่าใส่เพื่อนภิกษุ และหมู่สงฆ์ว่า

"พวกท่านสิเป็นบ้าเป็นเหี้ย อาจารย์ก็บ้าก็เหี้ย อุปัชฌาย์ก็บ้าก็เหี้ย"

เมื่อเหตุการณ์ถึงขั้นนี้ พระศาสดาทรงทราบเรื่องแล้ว ตรัสเรียกพระกุณฑธานะ มาเข้าพบ ทรงถามว่า

"ดูก่อนธานะ เธอกล่าวคำหยาบช้ากับภิกษุทั้งหลายจริงหรือ"
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นความจริง พระเจ้าข้า"
"ก็แล้วเหตุใดเธอจึงกล่าวอย่างนั้นเล่า"
"เพราะข้าพระองค์อดทนอดกลั้นคำเย้ยหยันเป็นประจำไม่ได้ ต้องอึดอัดขัดเคืองลำบากใจนัก"

"ดูก่อนภิกษุ เธอยังชดใช้บาปกรรมเก่าไม่หมดในเรื่องนี้ ฉะนั้น เธออย่าได้กล่าวคำหยาบ กับใครๆเลย เพราะผู้ที่ถูกเธอกล่าวคำหยาบแล้ว ย่อมกล่าวโต้ตอบเธอ อันถ้อยคำหยาบ ที่เอาชนะกัน ทำให้เกิดทุกข์ โทษภัยตอบจะถูกต้องเธอ แต่ถ้าเธอทำตน ให้ไม่หวั่นไหวได้แล้ว เธอจะเข้าถึง พระนิพพาน (กิเลส สิ้นเกลี้ยง) ความเอาชนะกันจะไม่มีแก่เธอ"

ทรงตักเตือนแล้ว ก็ให้พระกุณฑธานะบำเพ็ญเพียรสืบไป แต่เรื่องราวของท่าน ก็สะพัดไปทั่ว แม้แต่ พระเจ้าโกศล ก็เสด็จไปยังที่พัก ของพระกุณฑธานะ ด้วยพระองค์เอง ประทับเฝ้า ดูอยู่ภายนอก ทรงแลเห็น หญิงรูปงามคนหนึ่ง เดินตามเข้าไปในที่พัก พร้อมกับ พระกุณฑธานะ จึงเสด็จตามหญิงนั้น เข้าไปบ้าง แต่ก็ไม่พบหญิงนั้น แม้จะทรงตรวจดู โดยทั่วก็ตาม จึงเข้าพระทัยได้ว่า

"นี้ไม่ใช่มาตุคามจริงๆ คงเป็นวิบากกรรม อย่างใดอย่างหนึ่ง ของภิกษุนี้แน่"
แล้วทรงยกมือไหว้ พระกุณฑธานะ ตรัสถามว่า
"ข้าแต่พระคุณเจ้า มีความลำบากด้วยอาหารบิณฑบาตบ้างหรือไม่"

"พอสมควร มหาบพิตร"

"กระผมเข้าใจ เพราะหากพระคุณเจ้าไปที่ใดๆ แล้วมีเงาภาพสตรี อันเป็นสิ่งที่ทำให้เศร้าหมอง ติดตามอยู่ เช่นนี้ใครเล่าจะเลื่อมใส ฉะนั้นนับแต่นี้ไป กระผมขอนิมนต์ จะบำรุงพระคุณเจ้า ด้วยปัจจัย ๔ ขอให้ พระคุณเจ้า จงอย่าประมาท ในการทำจิตให้แยบคายเถิด"

เมื่อได้พระเจ้าโกศลทรงอุปภัมภ์แล้ว พระกุณฑธานะมีความเป็นอยู่ ที่สบายขึ้นกว่าเดิม จึงเพ่งเพียร ทำให้มากในฌาน (สภาวะสงบจากกิเลสอันประณีตยิ่ง) ยินดีในฌาน ไม่มีอาสวะ (กิเลสที่หมักหมก ในสันดาน) อยู่ ไม่นานนัก ก็ได้บรรลุ เป็นพระอรหันต์ แล้วเงาภาพสตรี ที่คอยติดตามนั้น ก็สูญหายไป ตั้งแต่บัดนั้น

เช้าวันหนึ่ง พระศาสดาตรัสกับพระอานนท์ว่า
"ดูก่อนอานนท์ วันนี้เราจะไปบิณฑบาตในที่ไกล ภิกษุที่จะไปด้วยนั้น อย่าให้เป็นภิกษุ ปุถุชนเลย เธอจงให้ สลาก แก่ภิกษุ ที่เป็นพระอริยะแล้วเท่านั้น"

พระอานนท์จึงไปแจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายทราบ ทันทีที่จบคำพูด พระกุณฑธานเถระ ก็เหยียดมือ ออกมา ก่อนใคร แล้วกล่าวว่า

"ดีแล้วท่านอานนท์ จงนำสลากมอบให้แก่เรา"

หมู่ภิกษุยังไม่ทราบว่า พระกุณฑธานเถระเป็นพระอรหันต์แล้ว ทั้งยังเคยได้พบเห็น มาตุคาม ติดตามท่าน พระอานนท์ จึงพูดออกไปว่า

"พระศาสดาไม่ตรัสสั่งให้สลากแก่ภิกษุปุถุชนเช่นท่าน จะให้แต่ภิกษุ ที่เป็นพระอริยะเท่านั้น"

แม้พระอานนท์กับเพื่อนภิกษุจะว่ากล่าวท่านอยู่ แต่พระกุณฑธานะเถระ ก็ยืนกรานว่า ได้เป็น พระอริยะ แล้ว พระอานนท์ก็ไม่ยอมให้สลากแก่ท่าน แล้วไปกราบทูลถามกับ พระศาสดา พระศาสดาตรัสว่า

"จงให้สลากแก่ท่าน"

พระอานนท์จึงกลับไปหาพระกุณฑธานเถระ แต่ยังไม่ทันที่จะกล่าวอะไร พระกุณฑธานเถระ ก็เอ่ยขึ้น ก่อนว่า

"ท่านอานนท์ พระศาสดาย่อมทรงรู้จักเราดี พระศาสดาจะไม่ทรงห้าม ภิกษุเช่นเรา รับสลากก่อน"

จบคำก็ยื่นมือไปหมายรับสลากก่อนใครในทันที จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างนี้ พระศาสดา จึงเสด็จมา ท่ามกลางหมู่สงฆ์ แล้วให้พระกุณฑธานเถระ รับสลากเป็นคนแรก ก่อนใครอื่น ทรงทำให้หมื่นโลกธาตุ หวั่นไหวไปทั่ว ด้วยการประกาศ แต่งตั้งว่า

"พระกุณฑธานะนี้ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุสาวกของเราทั้งปวง ในด้านการเป็น ผู้รับสลาก ก่อนใครๆ"

แม้พระศาสดาจะประกาศคุณของท่านถึงปานนี้ แต่ภิกษุผู้เป็นปุถุชนก็ยังไม่เห็นคุณ ของท่าน พระกุณฑธานเถระ จึงต้องการกำจัดความสงสัย ของภิกษุเหล่านั้น ด้วยการกล่าวอ้าง ถึงอรหัตผล ของท่าน

"ภิกษุพึงตัดสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ (กิเลสชั้นต่ำที่ผูกมัดใจให้ทุกข์คือ ๑. สักกายทิฏฐิ = ยึดความเห็น ชั่วหยาบ ของตนเป็นใหญ่ ๒. วิจิกิจฉา = ความลังเลสงสัย ๓. สีลัพพตปรามาส = การถือมั่นศีลแบบลูบๆคลำๆ ๔. กามราคะ = ความยินดีติดใจในกิเลสกาม ๕. ปฏิฆะ = ความขัดเคืองใจ)

พึงละสังโยชน์เบื้องบน ๕ (กิเลสชั้นสูงที่ผูกมัดใจให้ทุกข์คือ ๑. รูปราคะ = ความยินดีพอใจ ในอารมณ์ ที่เป็นรูป ๒. อรูปราคะ = ความยินดีพอใจในอารมณ์ที่เป็นเพียงความรู้สึก ๓. มานะ = ความถือตัว ๔. อุทธัจจะ = ความฟุ้งซ่าน ๕. อวิชชา = ความรู้ที่ไม่พาพ้นทุกข์)

พึงทำให้มากในอินทรีย์ ๕ (๑. สัทธา = มีความเลื่อมใส ๒. วิริยะ = มีความเพียรมั่น ๓. สติ= มีความรู้ตัว ไม่เผลอใจ ๔. สมาธิ = มีจิตตั้งมั่น ๕. ปัญญา = มีความรู้แจ้งดีชั่ว)

ภิกษุผู้ก้าวล่วงพ้นกิเลสเครื่องเกาะเกี่ยว ๕ ประการ (๑. ราคะ = ความยินดีในกาม ๒. โทสะ = ความโกรธ ๓. โมหะ = ความหลงผิด ๔. มานะ = ความถือตัว ๕. ทิฏฐิ = ความเห็นผิด) ได้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า ข้ามโอฆะ (กิเลสที่ท่วมทับใจหมู่สัตว์โลก) ได้แล้ว

เรานี้มีความเพียรในกิจที่นำความเกษมจากโยคะ(กิเลสที่ผูกใจให้ติดอยู่ในกาม -ในภพ-ในทิฏฐิ -ในอวิชชา) มาให้ เราทรงกายนี้ไว้เป็นชาติสุดท้าย ในศาสนา ของพระสัมมา สัมพุทธเจ้า

คุณวิเศษเหล่านี้คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำได้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนา เราได้ทำ เสร็จแล้ว"

ณวมพุทธ
อาทิตย์ ๒ ก.พ.๒๕๔๖
(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๖ ข้อ ๑๕๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๓๒ ข้อ ๓๓ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๐ หน้า ๑๒๙)

(สารอโศก อันดับที่ ๒๕๖ มกราคม ๒๕๔๖)