หน้าแรก >

(ต่อจากหน้าก่อน)

วิธีตีความพุทธศาสนา ของพระธรรมปิฎก
๓๐ ต.ค. ๔๕ ที่สันติอโศก คุณ Martin Seeger จาก Hamburg University เยอรมนีและ เพื่อนคนไทย ที่เป็นอาจารย์สอนอยู่มหาวิทยาลัยศรีปทุม อดีตบวชเรียนมาหลายปี มีวุฒิเปรียญธรรม พ่วงท้าย ทั้งสอง ได้มาขอสนทนา สัมภาษณ์พ่อท่าน จากการพูดคุย นอกการสัมภาษณ์ ทราบว่า คุณ Martin เคยบวชอยู่ที่ วัดอุโมงค์ เชียงใหม่ ๓ ปี แล้วกลับไป เรียนต่อที่เยอรมัน ศรัทธาและได้ประโยชน์ จากหนังสือ ของท่าน อาจารย์พุทธทาส และพระธรรมปิฎกมาก สำหรับ อาจารย์มหาวิทยาลัย ศรีปทุมนั้นเคยมา พักค้างศึกษา ที่สันติอโศก ตั้งแต่นั้น ก็ติดตาม งานของสันติอโศก มาตลอด จนถึงปัจจุบัน

"ผมกำลังเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ในหัวข้อ วิธีตีความพุทธศาสนา ของพระธรรมปิฎก เหตุนี้ ผมจึงมา เมืองไทย เพื่อสัมภาษณ์ท่าน แล้วก็สัมภาษณ์ผู้รู้ทั้งหลาย ที่อาจจะเป็น ประโยชน์ สำหรับ วิทยานิพนธ์ ของผม หนึ่งในนั้นเห็นว่า อาจารย์ก็อาจจะเป็นประโยชน์ สำหรับผมด้วย ผมมีหลายขั้นตอน ในการค้นคว้า วิทยานิพนธ์นี้ แต่หัวข้อใหญ่ก็คือ เรื่องคัมภีร์ ในเถรวาทนี้ ก็คือ พระไตรปิฎก" คุณ Martin กล่าวนำ

คำถามคำตอบ ล้วนมีประเด็นที่น่าสนใจ แต่เพื่อไม่ยืดยาวเกินเนื้อที่ในบันทึกนี้ ข้าพเจ้าขอนำ บางส่วน มาย่นย่อ และ ถ่ายทอด ดังนี้

Martin : พระไตรปิฎก มีความสำคัญแค่ไหน
พ่อท่าน : พระไตรปิฎกเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่สุด ในยุคนี้ ยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด
Martin : ท่านใช้คัมภีร์ พระไตรปิฎกมากแค่ไหน?
พ่อท่าน : อาตมาใช้พระไตรปิฎกเป็นหลักเลย
Martin : พระไตรปิฎกมีประวัติศาสตร์ยาวนาน อาจมีบางส่วนตกหล่นหรือเพิ่มเติมนะครับ เราเอาอะไร เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า เป็นพุทธพจน์

พ่อท่าน : อยู่ที่ว่าเมื่อเรียนพุทธพจน์มาแล้ว ก็มาปฏิบัติแล้วเกิดผล แล้วก็ตรวจสอบ ตามคำสอน ทั้งหมด จะลงตัว กันได้ ไม่ขัดแย้งตรงไหน ยิ่งปฏิบัติพิสูจน์ มีมรรคมีผลจริง ก็ยิ่งจะยืนยันชัดเจน

Martin : ในสายตานักวิชาการ มีพระสูตรบางพระสูตรที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติ เช่น พระสูตรเรื่อง ราหู กินพระจันทร์ เรื่องยักษ์อะไรอย่างนี้ อันนี้ถือเป็นพุทธพจน์หรือเปล่าครับ

พ่อท่าน : เป็นพุทธพจน์ ถ้าเข้าใจในความหมาย ที่ใช้ภาษานั้น แทนธรรมะ ที่ผู้บรรลุธรรมแล้ว จะเข้าใจ เลยว่า ความหมายของอันนั้นน่ะ คืออะไร

Martin : เรื่องทำนองนี้เราต้องตีความใช่ไหมครับ ทางด้านนามธรรม

พ่อท่าน : ถ้าไม่มีของจริงแล้วตีความไม่ออกเลย เรื่องยักษ์ เรื่องมาร อาตมาอธิบายได้ เพราะเป็น มโนมยอัตตา แต่เขาศึกษากัน ทุกวันนี้ไม่มี อย่างเจ้าคุณ พระธรรมปิฎก กับอาตมานี่ ตีความอัตตา คนละอย่างเลย ตีความพระอรหันต์ คนละอย่างกันเลย อย่างนี้เป็นต้น

Martin : แตกต่างตรงไหนครับ

พ่อท่าน : ท่านบอกว่า อัตตาไม่มี ท่านใช้ภาษาในพระไตรปิฎกจริง พระพุทธเจ้าตรัสว่า สัพเพธัมมาอนัตตา เมื่อเป็นอนัตตาหมด ก็ไม่ต้องไปปฏิบัติ อาตมาบอกไม่ใช่ ต้องปฏิบัติ มีอัตตาก่อน แล้วก็ปฏิบัติ จนหมด อัตตา มันถึงจะเป็นอนัตตา คุณยังไม่ได้ปฏิบัติ แล้วคุณจะไปมี อนัตตาได้ทันที ก็ตีกินซิ แต่ท่านบอกว่า ใครไปเข้าใจผิดว่า มีอัตตานั่นแหละ คือคนมิจฉาทิฏฐิ

Martin : แต่เรื่องนี้ตามที่ผมเข้าใจ ท่านก็ตีความว่าในปรมัตถธรรม เป็นสัพเพธัมมาอนัตตาติ ใช่ไหมครับ แต่ในการสมมุติ อะไรอย่างนี้ ก็มีอัตตานะครับ เป็นสิ่งสมมุติ

พ่อท่าน : นั่นแหละ เราก็ต้องล้างสมมุติ จนกระทั่งบรรลุ จนหมดสมมุติไง ในหนังสือ ถอดรหัสฯ ที่ให้ไป อาตมา ไม่ได้ออกชื่อท่าน อาตมาบอกว่า ผู้รู้ ก็เข้าใจอย่างนี้ เป็นนิรัตตา อนัตตา ก็แปลว่า ไม่มีอัตตา นิรัตตา ก็แปลว่า ไม่มีอัตตา แต่ภาษานิรัตตานี่ เป็นคำที่ ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ จะเข้าใจไม่มีอัตตา เป็นนิรัตตา ซึ่งเป็น มิจฉาทิฏฐิ ส่วนอนัตตานั้น มีอัตตา แล้วต้องปฏิบัติ จนหมดอัตตา แต่ในพระสูตร อัตตานุทิฐิ ก็ให้ปฏิบัติ จนเป็นอนัตตา ไม่ใช่ไม่มีภาคปฏิบัติ คือเรื่องนี้ เป็นเรื่องลึกซึ้งนะ เป็นเรื่องยาก จะพูด ก็ต้องมีพื้นฐาน มามากเลย

Martin : ผมอยากพูดถึงท่านเจ้าคุณที่เอาพระไตรปิฎก ธรรมะต่างๆมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้มี ความหมาย สำหรับชีวิตใหม่นะครับ ที่สามารถเขียนเรื่อง วิทยาศาสตร์ เรื่องทำแท้ง เรื่องเศรษฐกิจอะไร เป็นต้น นะครับ คำถามก็คือ เรามีหลักอะไรนะครับ ที่จะใช้อันนี้ถูกต้อง เพราะว่าอันนี้ ไม่ใช่แค่เอามาดูว่า มันคืออะไร มาปฏิบัติ ตามนั้น อันนี้ประยุกต์ใช้แล้วนะครับ

พ่อท่าน : ไม่ต้องประยุกต์ พระไตรปิฎก ปฏิบัติธรรมแล้วจะถึงสัจธรรม อย่างอาตมา ทำเศรษฐกิจ เชิงพุทธ เศรษฐกิจบุญนิยม อยู่ทุกวันนี้ อาตมาไม่ได้ประยุกต์ อาตมา ปฏิบัติธรรมแล้ว ก็เห็นว่า ต้องเป็นอย่างนี้ เช่น อาตมาสอน เศรษฐกิจบุญนิยมนี่ คนจะต้อง ทำตนให้จน เป็นหลักธรรม ของพระพุทธเจ้า ไม่ต้องประยุกต์นี่ แต่คน ที่มาอธิบายผิด ว่าจะต้องทำตนให้รวย นั่นสิผิดของพระพุทธเจ้า อัปปิจฉะ สันตุฏฐิ ปวิเวกะ มามักน้อย มาสันโดษ พวกนี้ มาจนทั้งนั้นแหละ มามีน้อย ไม่เคยให้ไปมีมากๆ อย่างนี้เป็นต้น ไม่ต้อง ประยุกต์เลย คำสอนของพระพุทธเจ้า

Martin : ที่มีการตีความโดยเฉพาะของท่านพุทธทาส เรื่องนรกสวรรค์ หรือชาติหน้า ชาตินี้ ไม่ใช่เป็น รูปธรรม แต่เป็นนามธรรมนะครับ อันนี้อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไรครับ

พ่อท่าน : อาตมาไม่ได้อ่านหนังสือท่านพุทธทาสมากมาย จนเข้าใจทั้งหมด แต่เท่าที่อาตมา พอได้อ่าน และก็พอเข้าใจ นรกสวรรค์ อะไรต่ออะไรไม่เอา ท่านเอาแต่ ปัจจุบันเท่านั้น ซึ่งอันนี้มันก็เหลว มันไม่มี วัฏสงสาร อาตมาเข้าใจ เชื่อถือ เชื่อมั่นด้วยว่า มันมีอีก นับชาติ ไม่ถ้วน เพราะฉะนั้น เราจะไม่คำนึงถึง สิ่งที่จะเชื่อมต่อไป ถึงชาติหน้า หรือชาติก่อนๆ อีกไม่ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้ มีส่วนสัมพันธ์ มีอิทธิพล กับปัจจุบัน เหมือนกัน แต่ท่านพุทธทาส ท่านจะเอา แต่ปัจจุบัน อดีต อนาคต ท่านตัด อาตมาว่า อันนี้ ท่านสั้นไป ท่านแคบไป ไม่สมบูรณ์

Martin : หมายถึงว่าเราต้องมีความเชื่อในชาติก่อน ในการปฏิบัติธรรม

พ่อท่าน : ใช่ เราเชื่อในชาติก่อน และก็ต้องมีความจริงในชาติก่อนด้วย ถ้าเผื่อว่า เราปฏิบัติ ธรรมถึงธรรม ชาติก่อนมันมีจริง อาตมารู้ว่า ชาติก่อนมันมีจริง ชาตินี้ อาตมายืนยันว่า อาตมาเป็นโพธิสัตว์ ชาตินี้อาตมาไม่ได้ เรียนธรรมะเลย ธรรมะนี่ อาตมาเรียนมา แต่ชาติ ก่อนๆ แล้ว อาตมา เอาจากชาติก่อนๆ มาสอน มาใช้ ชาตินี้ อาตมาไม่ได้เล่าเรียน ฝึกฝน อะไรเลย ใช้ความรู้หรือสมบัติเก่า แต่ชาติก่อนๆ ทั้งนั้น ซึ่งก็ต้องค่อยๆ ค้นจาก ก้นลิ้นชัก ออกมาใช้ ยังหมกอยู่ลึกๆ ทั้งนั้นเลย

Martin : ปัญหาสำหรับผม ผู้แทนคนตะวันตกนะครับ มีปัญหากับความเชื่อ เพราะผม ไม่มีประสบการณ์

พ่อท่าน : ความเชื่ออย่างเดียวไม่พอ ต้องมีความจริงด้วย เมื่อมีความจริงแล้ว ความเชื่อนี่ จะตกไปเลย เพราะมีความจริงอยู่จริงๆ อย่างอาตมามาสอน ๓๐ ปี แล้วมีคนปฏิบัติตาม มีผลต่างๆ นานา ตีความพระไตรปิฎก ก็ตีความได้ อาตมาไม่ได้เรียนนะชาตินี้ อันนี้พิสูจน์ได้นี่

Martin : ผมคิดว่าคนตะวันตกที่ชอบพุทธทาสกับพระธรรมปิฎกนั้น ก็คือ ไม่ต้องมีความเชื่อ ในชาติก่อน อย่างเช่น ที่อาจารย์พูดเมื่อตะกี้ ท่านพุทธทาส อยู่ในปัจจุบันนี้ตลอด อันนี้เห็นได้ ไม่ต้องมีความเชื่อ เพราะว่าบางครั้ง มันก็ยากที่จะเชื่อเรื่องชาติหลายชาติ อะไรอย่างนี้

พ่อท่าน : ไม่มีปัญหา อาตมาก็ไม่นิยม ที่จะไปเอาชาติก่อนมาอ้างอิง อาตมาก็นิยม ที่จะเอา ชาตินี้ นี่แหละ เอาปัจจุบัน แต่อย่าปฏิเสธสิ่งเหล่านั้น และต้องเข้าใจว่า สิ่งเหล่านี้ มีอิทธิพล มีความจริงที่ตามมา มีปฏิสัมพัทธ์ มี interactionี continuum มีอะไรพวกนี้

Martin : จะเป็นเงื่อนไขหรือเปล่า เพื่อที่จะปฏิบัติธรรมะเพื่อบรรลุ ที่จะเชื่อในชาติก่อน เพราะมี พระศรีลังการูปหนึ่งครับ บอกว่า ในสัมมาทิฐินั้น ต้องมีความเชื่อ ในชาติก่อนด้วย

พ่อท่าน : ใช่

Martin : แสดงว่า ถ้าเราไม่เชื่อในชาติก่อน เราไม่มีทางจะเข้าไปบรรลุธรรมได้

พ่อท่าน : ใช่

Martin : แต่ผมถามท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก ท่านไม่บอกว่าใช่หรือไม่ใช่ บอกว่า ไม่ปฏิเสธ ก็พอแล้ว เราไม่รู้ว่ามีหรือไม่มี เพราะฉะนั้น ไม่ต้องปฏิเสธ แต่ให้ปฏิบัติไปเถอะ แล้วก็ทีหลัง อาจจะรู้

พ่อท่าน : ถ้าไม่ปฏิเสธแล้ว ก็จะต้องมีความยอมรับด้วย ยอมรับนี่จะแปลว่า เชื่อไหม ไม่ปฏิเสธ แต่ไม่ยอมรับ ก็แสดงว่าไม่เชื่อ ท่านพระธรรมปิฎกนี่ ใช้ภาษาเก่ง แต่ท่านก็ใช้ อย่างนี้แหละ อาตมาก็แย้งให้ฟัง ยอมรับแปลว่าเชื่อนะ จะเชื่อมาก หรือน้อยนี่ อีกประเด็นหนึ่ง แต่ต้องมีส่วนเชื่อแหละ ไม่ปฏิเสธ นี่คือ มีก็ช่าง ไม่มีก็ช่าง ไม่ปฏิเสธ ก็เรื่องของคุณ แต่เราไม่ยอมรับ หรือ เราไม่เชื่อก็ได้ แค่ไหนล่ะ ท่านหมายแค่ไหนล่ะ

Martin : ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด เข้าใจว่ามีทาง ๓ ทาง มียอมรับ ไม่ยอมรับ หรือ ไม่ต้องตอบก็ได้ เอาไว้ก่อน หมายความว่า เราไม่มีท่าทีต่อปัญหานี้ เพราะปัญหาอยู่ที่อื่นครับ

พ่อท่าน : ก็ถูกสิ ถ้าท่านมีสิ่งที่เป็นอดีต ที่มีจริง กับท่านแล้วนี่นะ ท่านจะไม่พูดอย่างนั้น อาตมา มีอดีตที่มีจริง อาตมายืนยัน อาตมาจึงกล้าพูด อย่างนั้นเต็มปาก ขอถามจริงๆว่า อดีตมีไหม?

Martin : อดีตมีนะครับ

พ่อท่าน : เพราะฉะนั้นคนที่ไม่รู้จริงๆในอดีตนี่ จะเป็นคนที่อวิชชาอยู่ตลอด อวิชชา ๘ ประการ มี ๑. อวิชชาที่ไม่รู้จักอริยสัจสี่ มีอยู่ ๔ ข้อ อีก ๔ ข้อ ก็คือ ๕. ไม่รู้จักอดีต อวิชชาในอดีต ๖. อวิชชาในอนาคต ๗. อวิชชาทั้งในอดีตและอนาคต ๘. อวิชชาในปฏิจจสมุปบาท เพราะฉะนั้น ถ้าเราเอง เราไม่รู้เรื่องอดีต แล้วไม่เข้าใจอดีต แล้วก็ไม่ยอมเชื่ออดีตนี่ อันนี้ยังอวิชชาอยู่ แล้วจะไม่บรรลุธรรม อย่างที่พระศรีลังกาว่า คนที่ไม่บรรลุธรรมนี่ ก็จะไม่แกล้วกล้า ที่จะพูดอะไรชัดเจน ถูกคือถูก ผิดคือผิด จะเหมือน สญชัยเวลัฏบุตร

Martin : อันนี้ก็คิดขึ้นมาเมื่อตะกี้ ที่จำได้ก็คือ ในปัญหาที่มีนิพพาน อัตตา อนัตตา ท่านเจ้าคุณ ไม่ตอบ

พ่อท่าน : ไม่ตอบนั่นคือไม่ชัดเจน

Martin : ตามที่ผมเข้าใจก็คือ ผู้เขียนหรือผู้ที่ออกความคิดเห็นก็หายไป ก็เป็นเรื่องเถรวาท ว่าอย่างไร อันนี้ท่านเจ้าคุณ ก็พยายามทำตามที่ผมพูด เมื่อตะกี้ มหาประเทศ ไม่ว่าเป็น มหาประเทศ ในปรินิพพานสูตร หรือมหาประเทศ ในมหาสังวาสินี (ฟังไม่ชัด) เอาที่พุทธพจน์ สูงสุด แล้วก็ความคิดเห็น ประสบการณ์ ของตัวเอง เอามาทีหลัง เพื่อปกป้อง ไม่ให้มี การวิวาท เกิดขึ้น อันนี้ผมเข้าใจอย่างนี้นะครับ?

พ่อท่าน : เราจะใช้หลักมหาประเทศนี่ สำหรับสิ่งที่เรายังไม่ชัดเจน สำหรับ ที่เรายังไม่เป็นจริง เราก็ใช้หลัก มหาประเทศตัดสิน แต่สิ่งที่เราชัดเจนแล้ว สิ่งที่เราบรรลุแล้ว สิ่งที่เราเป็นจริงแล้ว ก็ไม่ต้องใช้ มหาประเทศ บอกได้เลยว่า นี่ใช่ นี่ไม่ใช่ จบ

Martin : อันนี้ฟังขึ้น แต่มีปัญหานิดหนึ่งที่ผมเห็นอยู่ก็คือ เรื่องพระวินัย ที่พระพุทธเจ้า ไม่อยากให้มี พูดออกมาใช่ไหมครับ บรรลุแบบนี้ๆๆๆ ใช่ไหมครับ มีหลายข้อ อย่างน้อย ก็ควรจะปกป้องเรื่องนี้ ใช่ไหมครับ

พ่อท่าน : อ๋อ! อวดอุตริมนุสธรรม มีในพระไตรปิฎก ให้อวด ให้บันลือสีหนาท ในสิ่งที่เราบรรลุ นี่แหละ ก็ต่างกัน แต่ท่านธรรมปิฎกบอกว่า บรรลุแล้วก็พูดไม่ได้ ถ้าพูดไม่ได้ มันก็หายไปซิ คนที่รู้จริงแล้ว ก็ไม่พูดเลย ปล่อยให้คนไม่รู้จริง มาพูดหมดเลย ศาสนาก็เสื่อมหมดเลย (การสนทนา ในประเด็นยังมีต่อ แต่ข้าพเจ้า ขอตัดข้ามผ่าน)

Martin : มีใครบ้าง นอกจากพระพุทธเจ้า ที่มีอิทธิพลต่อความคิดของอาจารย์ไหมครับ

พ่อท่าน : พระธรรมปิฎกก็มี คนที่ไม่ฉลาดอะไรก็มีอิทธิพลต่ออาตมาได้ ถ้าอันนี้ เป็นประเด็นที่ดี เป็นประเด็นที่น่าใช้ พระธรรมปิฎกนี่ท่านแม่นในตำรา แล้วเป็นคนที่ขยัน ศึกษาตำรา ได้กว้าง ได้มาก อาตมาได้อาศัยท่าน ที่ท่านได้เรียบเรียงได้รวบรวม อาตมา ทุกวันนี้ ยังใช้หนังสือที่ท่านทำ พจนานุกรม ประมวลศัพท์ ประมวลธรรม ท่านบันทึกไว้ ว่ามีในพระไตรปิฎก เล่มนั้น เล่มนี้ ข้อนั้น ข้อนี้ อาตมาโอ้โฮ! ขอบคุณท่าน อยู่ตลอดเวลา ถ้าอาตมา ตรวจของท่านเสร็จแล้ว ใช้ได้เลยทันที อาตมาไม่สงสัย ท่านมี reference ไว้เล่มนั้น ข้อนี้ อาตมา ก็ไปตามค้นมา สะดวกมาก ยังขอบคุณท่านไม่หาย ท่านเป็น นักการศึกษา จัดหมวด จัดหมู่ ท่านเป็นผู้ที่เอื้อ ในการศึกษา เป็นครูดีมาก แต่ถ้าเผื่อว่า ท่านเอง ท่านปฏิบัติธรรม ให้บรรลุธรรม สักอย่างหนึ่งได้นี่ โอ้โฮ จะวิเศษจริงๆ

Martin : ผมเองมีความคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับตรงนี้ คือ ที่ผมชอบในการสอน ของท่านเจ้าคุณ ก็คือ ที่ไตรสิกขานั้น สามารถปฏิบัติได้ทุกเมื่อ หมายถึงว่า เราไม่ต้อง แบบนั่งสมาธิ ในถ้ำ ไม่ต้องหาวิเวก อะไรอย่างนี้

พ่อท่าน : ท่านเข้าใจอย่างนั้นก็ดีแล้ว

Martin : อันนี้ก็หมายถึงว่า ท่านก็อาจจะปฏิบัติก็ได้ตลอดเวลา โดยที่อ่านหนังสือ โดยที่เขียน หนังสือ โดยที่เทศน์อะไรอย่างนี้

พ่อท่าน : ไม่ใช่อ่านหนังสือเท่านั้น อ่านหรือเขียนหนังสือก็คือปริยัติ ก็ต้องปฏิบัติ ให้เกิดจิต ให้เกิดญาณ ให้เกิดการปฏิบัติที่อ่านสังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ มีจิตสามารถ ที่จะสัมผัส สัมผัสแล้วก็อ่านจิตตัวเองได้ มีการอ่านรู้เกิดญาณ เกิดญาณทั้งญาณในฌาน ญาณในวิปัสสนาญาณ ญาณในมโนมยิทธิ ญาณทั้งหลายแหล่ ในวิชชา ๘ วิชชา ๙ นี่ แต่ท่านปฏิเสธ สิ่งเหล่านี้ ท่านเข้าใจอย่าง พระพุทธโกศาจารย์ว่า วิชชา ๘ วิชชา ๙ นั้นเป็นวิชชา พิเศษต่างหาก ไม่ใช่เรื่องของ พระอริยะ ไม่ใช่เรื่องของ พระอรหันต์ อันนี้ซี มันผิดเพี้ยน อันนี้แหละ ของศาสนาพุทธ เป็นสามัญผล ต้องมีวิชชา ๙ มีจรณะ ๑๕ อาจารย์ดั้งเดิม เขานับเอาวิชชา ๘ เท่านั้น แต่อาตมาผนวก เอาฌานนี่เป็น ๑ วิชชาด้วย แต่อาตมา ก็ไม่ได้ปฏิเสธหรอก จะนับแค่ ๘ ก็ไม่ว่ากัน ถ้าจะนับฌานด้วย ก็จะได้สมบูรณ์ วิชชา ๘ นี้ถ้าไม่มี ไม่ถือว่าเป็นศาสนาพุทธ ศาสนาพุทธเป็นโลกุตรธรรม ต้องมีญาณ พิเศษอันนี้ จะต้องรู้จักจิต รู้จักเจตสิก รู้จักกิเลส รู้จักนิพพาน รู้จักอัตตา และต้องลดกิเลสนี้ ให้ได้จริงๆ มีญาณรู้ว่า เราลดได้ ตามเห็น ตามรู้ บาลีว่าอนุปัสสี ต้องตามเห็น วิราคานุปัสสี อนิจจานุปัสสี เห็นอนิจจัง ไม่ใช่อนิจจัง คือ logic คือ เข้าใจแล้ว เหตุผลว่า ทุกอย่างมันไม่เที่ยง มันอนิจจัง ทุกอย่างอนัตตา ทุกอย่างสูญ ทุกอย่างไม่มีตัวตน นี่ logic ไม่ใช่สัจจะ ต้องเห็น ความเป็นตัวตน เห็นการล้างกิเลส จนกระทั่ง ลดน้อยลง เรียกว่า วิราคานุปัสสี ตามเห็น จนกระทั่ง เห็นนิโรธานุปัสสี ตามเห็นว่า มันดับแล้วนะ กิเลสตัวนี้ๆ สักกายะตัวนี้ อัตตาตัวนี้ ตอนนี้ มันลดลงๆๆ จางลง นิโรธานุปัสสี ตามเห็น ดับแล้ว พิสูจน์จนกระทั่ง ปฏินิสสัคคานุปัสสี พิสูจน์จนกระทั่งว่า เราอยู่กับสังคม เหตุปัจจัย มากระทบเรา กิเลสนี้ ก็ตายสนิท ไม่เกิดอีกเลย เราก็จะเห็น ความดับ เห็นความไม่เกิดอีก เห็นความสูญ มีญาณ เห็นนะ ไม่ใช่ว่า มานั่งนึกคิดเอา ต้องมีสิ่งนี้ เป็นสิ่งนี้ ต้องมีภวติ ต้องมีภาวะ ต้องมีสิ่งนั้นจริง ต้องมีสิ่งที่เป็นดียิ่ง เกิดจริงอยู่ตรงนั้น

Martin : อาจารย์เห็นความสำคัญ หรืออิทธิพลของท่านเจ้าคุณ ๑ ต่อสังคมไทย ๒ เถรวาท โดยทั่วไป

พ่อท่าน : มีอิทธิพลมาก แล้วคนก็ยอมรับ จนทุกวันนี้ก็ยิ่งมีคะแนนแห่งค่านิยมสูงมาก คงจะเป็น อันดับ ๑ ของประเทศไทย คิดว่าต่างประเทศก็นิยมมากด้วย

Martin : ปัญหาก็คือ พระสูตรต่างๆ หรือในอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ อะไรอย่างนี้ เกิดขึ้นทีหลัง ผมแยกแยะ ยังไม่ออก ถ้าเป็นอรรถกถา เริ่มต้นเมื่อไร หรือคัมภีร์บริวาร ก็เกิดขึ้น พ.ศ.๔๐๐ อะไรอย่างนี้ แต่อรรถกถา บางเล่ม เช่น นิติปกรณะ อาจจะเริ่มต้นก่อน ในมหากัจจายนะ อะไรอย่างนี้ จะเป็นรุ่นอรรถกถา หรือหลังจากนั้นก็ได้ มันแยกแยะไม่ชัดนะครับ

พ่อท่าน : ถ้าจะเป็นเลือดเถรวาท ก็ต้องพยายามอย่าไปยุ่งเกี่ยวกับอรรถกถา อาตมา อยากจะแนะนำให้ ตัวหลักปฏิบัติจริงๆ อยู่ในพระสูตร อย่าเพิ่งไปวุ่นพระอภิธรรม หรือ วินัยมากมาย เราเรียนพระสูตรนี่เถอะ แค่นี้พอ พระวินัย ๘ เล่มพักไว้ก่อน พระอภิธรรมอีก ๑๒ เล่ม พักไว้ก่อน พระอภิธรรมน่ะ คนไปขยายความ แล้วก็ตั้งภาษาขึ้นใหม่เยอะ

Martin : แสดงว่าพระอภิธรรม เป็นรุ่นอรรถกถา

พ่อท่าน : เป็นรุ่นอรรถกถาเสริม โดยที่ไปเจาะเอาจากพระวินัย พระสูตรนี่ มาดูรายละเอียด ของหมวดธรรมะ ล้วนๆ ไม่มีนิทาน ไม่มีชาดก ไม่มีบุคคล เอาแต่เรื่องธรรมะแท้ๆเป็นจิต เจตสิก รูป นิพพาน มาร้อยเรียง ทั้งหมดเลย เมื่อร้อยเรียงแล้ว ตัวเองก็ต้องเขียน คำสมาน คำประสาน ความเห็นอัตโนมัติ ตรงนี้แหละเยอะ แล้วก็แต่งภาษาใส่ก็มี อันนี้มันไม่ครบ สมบูรณ์ เติมอีกสักตัวหนึ่ง ซึ่งอาตมาเอง ไม่ถือสาหรอก ถ้าเราเรียนพระสูตร ทั้งหมด แล้วเอาไป ปฏิบัติ มีสภาวจิต เจตสิก รูป นิพพานแล้วนี่ พระอภิธรรม ก็มีประโยชน์มาก แต่ถ้าไปเอาพระอภิธรรม มาศึกษาก่อน ท่องพระอภิธรรมได้เก่งแล้ว ไม่ไหวแล้ว จะหลง ตัวเองด้วย

Martin : สมมุติผมอยู่ที่เยอรมันนะครับ ก็ต้องใช้หนังสือใช้คัมภีร์เป็นหลักนะครับ แล้วควรทำ อย่างไร ให้มีท่าทีที่ถูกต้อง ถ้าไม่มี ครูบาอาจารย์

พ่อท่าน : ก็ต้องศึกษา ทำความเข้าใจกับคัมภีร์นั้น แล้วเอาไปทดลองปฏิบัติ ให้เกิดผล แล้วเอามา เทียบตรวจสอบ กับคัมภีร์อีก ถ้ามันตรงก็ใช้ได้ ถ้ามันยังไม่ตรงก็ใช้ไม่ได้

เพื่อนคุณ Martin ที่เป็นคนไทย สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม ซึ่งเคยบวชเรียน หลายปี เป็นมหาเปรียญ เหมือนกัน ป้อนคำถามว่า "หากมีคนสนใจศึกษา แนวคิดของท่าน พระธรรมปิฎก พ่อท่านมีอะไรจะแนะนำไหมครับ มีจุดอะไร ที่เราต้องระมัดระวัง"

พ่อท่าน : "มันไม่มีอะไรที่จะต้องระมัดระวังหรอก เพราะว่าของท่านไม่มีผลร้าย แต่มันไม่ดี ถึงที่สุด เพราะว่าท่านก็สอนให้คนทำดี เหมือนศาสนาอื่นๆ ที่ก็สอนให้คนทำดี ทั้งนั้น เป็นสมมติธรรม ของท่าน ละเอียดดี กว้างดี แต่จุดลึกละเอียด เข้าถึงปรมัตถธรรมนี่ ไม่ถึงเท่านั้นเอง ปริยัติหรือตรรกะนี่ ท่านเก่งมาก แต่สภาวะปรมัตถ์ ท่านยังไม่ถึงเท่าไหร่


โลกสีขาว : โรงเรียนศีล ๕
๓๑ ต.ค. ๔๕ ที่สันติอโศก คณะผู้ผลิตรายการ "โลกสีขาว" ช่อง ๗ สี มาขอถ่ายทำ "โรงเรียน ศีล ๕" ที่โรงเรียนสัมมาสิกขา สันติอโศก ตั้งแต่ ๖.๐๐-๑๕.๐๐ น. เนื่องจาก คณะถ่ายทำ รายการ มาไม่ทัน ตั้งแต่เริ่มตื่น การทำวัตร และ การออกกำลังกาย จึงจำลองภาพ ถ่ายทำ ไปด้วย แล้วก็ไปถ่ายทำ กิจกรรม ในฐานงานต่างๆ รวมถึง ได้มาขอสัมภาษณ์ พ่อท่านด้วย

นักข่าว : อยากทราบถึงแนวการศึกษา ที่มีเรื่องของศีลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และก็เน้น การศึกษา ให้กับเยาวชน นี่แหละครับ

พ่อท่าน : การศึกษาของเรานี่เราพยายามที่จะรับความรู้ แนวทางจากศาสนาพุทธ ที่พระพุทธเจ้า ทรงดำเนินมา มีปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ แล้วเราก็เอามาปฏิบัติ โดยเราเห็นว่า คนควรจะต้องมีศีล หรือควรจะมีจริยธรรม มีคุณธรรมนำชีวิต เพราะว่า การศึกษา ที่ไม่มี ศีลธรรม ความรู้นั้น ก็จะกลายเป็นอาวุธ ทำร้ายสังคม ทำร้ายตนเอง ตนเอง ก็จะเป็นคนขี้โลภ ความได้เปรียบที่ได้ศึกษามาก เก่งมาก ก็ไปเอาเปรียบเอารัดสังคม อันนี้เป็นภัยมาก สำหรับ การศึกษาในโลกปัจจุบันนี้ หลักการศึกษาของเรานี่มี ศีลเด่น เป็นงาน ชาญวิชา นี่เป็น หลักการใหญ่ ศีลนี่มันหมายความ คลุมหมดเลย ไม่ว่าด้านศีลธรรม ด้านศาสนา หรือว่า ด้านธรรมะ เพราะว่าปฏิบัติศีลนี่แหละเป็นไตรสิกขา และปฏิบัติให้ตรง ขัดเกลา กาย วาจา ใจ โดยเฉพาะอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ในการลดละกิเลสได้ เพราะฉะนั้น เด็กๆจะต้อง ถือศีลมีศีล จะรู้จักอบายมุข จะรู้จักไอ้ที่สังคม มันมอมเมาอะไรต่างๆนานา พวกนี้ เราจะสอน เราจะบอก มีทุกอย่าง เด็กที่นี่อย่างน้อยจะถือศีล ๕ บางคนที่ถือศีลสูงกว่านั้น เขาถือ ของเขาเอง เขาสมัครใจ เพราะว่าธรรมะของเรา ไม่ได้บังคับอะไร ศีลแปดก็มี บางคน ก็ประพฤติ เพิ่มเติมขึ้น อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น เด็กที่นี่เขาจะรู้จักอบาย แล้วปฏิบัติ จริงจัง สิ่งที่มอมเมา แม้แต่บุหรี่ อย่าไปพูดถึงยาบ้า โรงเรียนของเรา ไม่มียาบ้า ยาพิษ แน่นอน แม้แต่สิ่งมอมเมา เช่น น้ำเปรี้ยว น้ำหวาน น้ำขวด น้ำอัดลม เด็กๆพวกเรานี้ จะเข้าใจ หมดแหละ แล้วก็ลดละเลิก ในการศึกษา ศีลเด่น มันจะคลุมให้เด็กนี้ มีภูมิคุ้มกัน ที่จะอยู่ กับสังคม เพราะสังคม จะปรุงแต่ง มอมเมา เอากิเลสเป็นหลัก เพื่อที่จะยั่วยุ ให้คนเรา หลงใหล ติดยึดเสียหายไป แล้วก็มีชีวิตไปไม่พอกินพอใช้ การศึกษาของเรา จะสอนให้เด็ก รู้จักการใช้ชีวิต ในขณะทำงานไปด้วย ไม่ใช่ว่า จะต้องไปนั่งอัด อยู่แต่ ในห้องเรียน ทั้งวัน นี่เราเรียนหมดเลย เราจะทำอะไรไป แกก็จะรู้ แล้วก็เขียนรายงาน เราเรียก ปฏิบัติวิทยา เราก็จะชี้บอก อันนี้เราจะต้องเรียนรู้ ในเรื่องของใช้ภาษาอย่างไร อันนี้จะใช้วิทยาศาสตร์ อันนี้จะใช้คณิตศาสตร์อย่างไร ในการปฏิบัติ แม้แต่กสิกรรม ก็มีคณิตศาสตร์ มีวิทยาศาสตร์ อย่างนี้เป็นต้น เขาจะรู้ว่า วิทยาศาสตร์ อยู่ในกสิกรรมอย่างไร คณิตศาสตร์ อยู่ในกสิกรรม อย่างไร อยู่ในการพาณิชย์ อยู่ในการแปรรูป อยู่ในการปรุงแต่ง อย่างนั้น อย่างนี้ ที่จะทำ กิจกรรมอะไร การงานอะไร อุตสาหกรรมอะไร ต่างๆนานา เป็นสังคมศาสตร์ มีอะไร ต้องรู้จักเขียน รู้จักชื่อ รู้จักสื่อในการจะเขียนปฏิบัติวิทยารายงาน เราก็ให้คะแนนไป นี่เป็น การศึกษาปฏิบัติเป็นงาน ส่วนศีลธรรม เราจะมีการตรวจศีล มีธรรมะ จะฟังธรรม จะอ่าน หนังสือธรรมะ หรือจะศึกษากับผู้รู้ กับสมณะ กับสิกขมาตุ หรือ กับใครต่อใคร เพราะฉะนั้น เมื่อเด็กได้ปฏิบัติอย่างจริงจัง ที่สำคัญที่สุดก็คือว่า โรงเรียน ของเรา เป็นโรงเรียน ที่สัมพันธ์ กับบ้าน สัมพันธ์กับวัด เรียกว่า บวร บ้าน วัด โรงเรียน สัมพันธ์กัน ไม่แตกแยกกัน จะรู้ ความจำเป็น จะรู้ความสำคัญในการดำเนินชีวิต จะรู้การงาน อาชีพอะไรอย่างนี้ เป็นต้น จะรู้จัก มรรยาทสังคม จะรู้จักข่าวคราว ไม่ใช่จะมานั่งอ่าน แต่หนังสือ เพราะฉะนั้นคะแนน

ศีลเด่น ๔๐% เป็นงาน ๓๕% วิชาการ ๒๕% วิชาการตามที่กระทรวงศึกษาธิการ กำหนดมา ก็ไม่มีปัญหา จะเรียนเมื่อไหร่ เราก็เรียน เพราะว่าเด็กอยู่กับเรา มีแต่เด็กอยู่ประจำ ทั้งหมดเลย เหมือนลูกเหมือนหลาน เพราะฉะนั้น จะมีชีวิตเต็มๆ เมื่อจะสอนเพิ่มเติม จะสอน วิชาการ จะสอนเรื่องงาน จะสอนเรื่องอะไร ก็ได้หมด เป็นเหมือน ชีวิตสามัญ เด็กก็จะมี การศึกษา ชีวิตแบบนี้ แม้ในที่สุด เด็กจบ ม.๖ แล้วออกไปสอบ Entrance ก็ไม่มีปัญหา เด็กที่นี่ Entrance ได้ทุกปี ทั้งที่เด็กที่นี่ไม่มาก จบปีหนึ่งไม่กี่สิบคน เราก็มีสัมมาสิกขาลัยของเรา เราเรียก อุดมศึกษาไม่ได้ ผิดกฎหมาย เราต้องเรียกอุดรศึกษา ก็เรียนที่นี่ มีหลักสูตร ๖ ปี ก็เรียนกันไป เป็นนิสิตประจำ เหมือนกัน

นักข่าว : ถ้าเขาเรียนจบจากที่นี่แล้ว จะต้องออกไปอยู่ในสังคมภายนอกล่ะครับ ตรงนี้ จะมีการปรับตัวอย่างไร?

พ่อท่าน : ถ้าจะอยู่กับสังคมภายนอก เขาก็จะมีภูมิคุ้มกัน ดังที่กล่าวแล้ว เขาก็จะรู้จักโลก รู้จัก ความมอมเมา รู้จักอะไรต่ออะไร เขาก็จะอยู่อย่างที่เรียกว่า ไม่ถูกโลก กลืนชีวิตไป เด็กจะมี ภูมิคุ้มกัน จะมีภูมิปัญญา มีจิตที่แข็งแรง เพราะได้อบรม ทางศีลธรรม จะแข็งแรง ทางด้านจิตใจ จะมีภูมิปัญญารู้เท่าทันในสิ่งที่ควร สิ่งที่ไม่ควร อะไรดีไม่ดี ถ้าผู้ใดสมัครใจ จะไปอยู่ข้างนอก เขาก็จะรู้ตัวเขาว่า ถ้าเขามีภูมิคุ้มกันแข็งแรง เขาก็จะไปอยู่ข้างนอก เขาก็จะอยู่ได้อย่างสบาย ทีนี้บางคนเขาก็จะรู้ว่า ถ้าเขาไปอยู่ข้างนอก แล้วภูมิคุ้มกัน เขาไม่แข็งแรง เขาอยู่ไม่ไหว เขาก็จะกลับมาอยู่กับเรา แม้บางคนเขาจะอยู่ข้างนอกก็ได้ อยู่นี่ก็ได้ เขาก็สมัครใจ อยู่กับพวกเรา เพราะว่ามันเป็นชุมชน ที่มีทิฐิสามัญญตา ศีลสามัญญตา หมายความว่า มีความเห็น ความคิดเหมือนกัน ตรงกันในการดำเนินชีวิต ในทิศทางเดียวกัน มุ่งหมายเพื่อจะเป็นไป อย่างมีอุดมการณ์ หรือจะเข้าใจว่า ชีวิต เกิดมาทำไม เกิดมาเพื่ออะไร และ ควรจะทำยังไง เช่น เป็นต้นว่า เราสอนเด็กว่า ไม่จำเป็น จะต้องไปโลภโมโทสัน ไม่ต้องไปหมายรวย ไม่ต้องรวย แต่ทำงานให้ดีดี ขยัน หมั่นเพียร แต่มีสมรรถนะให้สูงๆ สร้างสรร แล้วก็เสียสละในระดับบุญนิยม ก็แจกจ่าย เจือจาน ให้กับ สังคมไป เกี่ยวกับการค้าพาณิชย์บุญนิยม ขายต่ำกว่าทุนให้ได้ และก็อยู่รอด อย่างนี้ เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกใหม่ ในสังคมเศรษฐศาสตร์บุญนิยม พวกนี้เด็กๆจะเข้าใจ เขาจะตัดสินใจ ของเขาเอง เขาจะไปอยู่ข้างนอกจะอยู่ไหวไหม หรือไม่ไหว เขาก็จะรู้ ของเขาเอง หรือเขาอยาก จะอยู่ที่นี่ ก็เข้ามา หรือเขาไม่เข้าใจ เขาก็ตัดสิน วินิจฉัยเอาเอง เพราะฉะนั้น ก็จะมีทั้งที่เด็ก จะอยู่ที่นี่ต่อไป จะอยู่ในชุมชน เป็นผู้สืบทอดอะไรๆไป และ เด็กที่ออกไปข้างนอก ประสานกับ เด็กคนอื่นๆ

คุณสุขเกษม สุขภิญโญ ผู้ควบคุมการผลิตรายการ "โลกสีขาว" ได้เปิดเผย ถึงความรู้สึก ภายหลัง การถ่ายทำ "จากการที่ได้เดินทางไปสัมผัสกับเด็กๆ ในหลายโรงเรียน โดยเฉพาะ ปีนี้ จะพูดถึงการเล่น ให้มีความรู้ เรียนให้สนุก หรือว่า เก่งดี มีความสุข ก็ตั้งโจทย์ว่า เอ๊ะ! เก่งดีแล้ว จริงๆ ในสภาพสังคม ปัจจุบันนี้ เด็กจะมีความสุขจริงหรือ ก็เลยเกิด เป็นโจทย์ ขึ้นมาว่า มีไหมโรงเรียนที่เอาเรื่องของศีล เข้าไปจับ ให้เด็กได้เรียนรู้ ไม่ใช่เรียน เฉพาะชั่วโมง พุทธศาสนา ก็เลยมองหาสถานที่ที่จะมีรูปแบบการศึกษา ในลักษณะ อย่างนี้อยู่ ทราบจากสื่อ เลยพุ่งตรงมาที่นี่ พบว่ามีอย่างนี้

มาแล้วก็รู้สึกทึ่ง ที่ทำได้แน่นเหนียวมาก จากกระบวนการเรียนการสอน ได้เห็นฐานงาน ต่างๆ คิดว่า เป้าหมายของ ศีลเด่น เป็นงาน ชาญวิชา คงจะได้จริงๆ ดูจากกระบวนการ ที่เด็ก มีส่วนร่วม และได้รับการแนะนำ ต่างๆ จากอาๆ และสมณะทั้งหลาย

ผมว่าเด็กที่นี่เขาได้แน่นอน ในเรื่องของการเรียนกับการรักษาศีล เป็นคนที่มีศีล คิดว่า ถ้าเด็กทั่วไป ภายนอก ได้มีโอกาสอย่างนี้บ้าง อาจจะไม่ต้องมาอยู่ประจำ ก็คงจะเป็น เรื่องของ การจัดกิจกรรมค่าย ในช่วงปิดเทอม หรือในโอกาสพิเศษ ก็จะเป็นสิ่งที่ดี ต่อเด็กกลุ่มอื่นๆด้วย"

ในวันเดียวกันนั้น เวลา ๑๐.๐๐-๑๒.๐๐น. นักวิชาการ จากสำนักงาน คณะกรรมการ การศึกษา เอกชน กระทรวงศึกษาธิการ ได้มาประชุม เกี่ยวกับการจัดการศึกษา คุรุของ ร.ร.สัมมาสิกขา สันติอโศกคนหนึ่ง ที่ทำหน้าที่ต้อนรับ ทั้งคณะถ่ายทำ รายการโทรทัศน์ และ ตัวแทน จากกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งข้อสังเกต เปรียบเทียบว่า "การมาของเจ้าหน้าที่ จากกระทรวง จะเน้นในเรื่องของเอกสาร ต่างจากของสื่อ ที่จะเน้นกิจกรรม ของนักเรียน การพัฒนา ของนักเรียน การที่สื่อต่างๆ มาถ่ายทำกิจกรรม ของนักเรียนอยู่เสมอ เป็นผลดี ต่อนักเรียน ทำให้เขากระตือรือร้น ปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่ตกผลึก"

ช่วงบ่าย น.พ.เหวง โตจิราการ ได้กรุณามาให้ความรู้ถึงความเป็นมาของกฎหมาย๑๑ ฉบับ ที่รัฐทำสัญญา ขายรัฐวิสาหกิจ ให้ทุนต่างชาติ อย่างเสียเปรียบ และ จะเกิด ความเสียหาย อย่างไร? พ่อท่านได้ร่วมฟังกับพวกเรา อีกหลายคน แต่เสียดาย ที่บันทึกนี้ ยืดยาวมากแล้ว ข้าพเจ้าต้องขอตัด ข้ามผ่านไป

ปิดท้ายบันทึกฉบับนี้ จากบางส่วนที่พ่อท่านให้โอวาทปิดประชุมชุมชนปฐมอโศก (๑๔ ต.ค.) และ ปิดประชุม ๘ พาณิชย์บุญนิยม (๒๘ ต.ค.)

"...ตอนนี้อะไรๆก็ดูราบรื่น พอเป็นพอไป ไม่ว่างานเกิด งานตาย ไฟไหม้ น้ำท่วม มีอะไรมา เราก็ปรับ ให้เป็นไปด้วยดี วิธีการของบุญนิยม เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ ครอบครัวใหญ่ มีการลดละ ส่วนเฟ้อเกิน ขยันสร้าง ผู้มีมากก็ช่วยผู้มีน้อย แค่นี้ก็พิสูจน์แล้ว มันไปรอด ระบบบุญนิยม เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ ความร่มเย็นเป็นสุข เจริญงอกงาม เป็นเรื่องที่ดีที่สุด เป็นบุญของ ศาสนาพุทธ มันยืนยันพิสูจน์ว่า เป็นระบบเศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ ที่ดีมาก เพราะฉะนั้น พวกเราก็พิสูจน์กันไป เพื่อตัวเราเอง ไปสู่จุดที่สูงสุด นอกนั้น ก็เป็นผลข้างเคียง ที่ดีขึ้นด้วยตามมา

ถ้าพวกเราเข้าใจได้อย่างชัดเจนว่า ชีวิตไม่ต้องไปสะสมอะไร มาสร้างสรร เผื่อแผ่ เสียสละไป ไม่ต้องสะสม กักตุน ระบบของเราอย่างนี้ เชื่อมั่นว่าไปรอด......." (ปฐมอโศก ๑๔ ต.ค.)

"....การทำงานฟรีและการขาดทุน เป็นการทำงานช่วยเหลือประชาชนโดยตรง เป็นการพิสูจน์ คำสอนของพระพุทธเจ้าว่า มีคนเช่นนี้ อยู่ในโลกจริงๆ แม้จะมีจำนวนน้อย ก็ขอให้พยายาม ทำให้แข็งแรง และมีคุณภาพ การเสียสละมากๆ รับเงินเดือนน้อยๆ หรือไม่รับเงินเดือนเลย เป็นความเจริญ ให้พยายามพากเพียร และช่วยกันพิสูจน์ ความจริงกันต่อไป....."
(๘ พาณิชย์บุญนิยม ๒๘ ต.ค.)

* อนุจร
๖ ธ.ค. ๔๕

(สารอโศก อันดับที่ ๒๕๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖)