หน้าแรก>สารอโศก

แถลง

นักปฏิบัติธรรม ๓ ประเภท


ในงานพุทธาภิเษกฯและงานปลุกเสกฯที่ผ่านมา ญาติธรรมที่ได้ไปร่วมงาน ก็ย่อมเกิดความประทับใจ ที่ได้
ฟังธรรมอันลึกซึ้ง เพื่อกำจัดกิเลสตัณหา อุปาทาน ให้เห็นแจ้งในไตรลักษณ์ จนเกิดความฉลาด ทางอารมณ์ ที่เป็น อีคิวโลกุตระ

ความลึกซึ้งดื่มด่ำในธรรมรสที่ได้ตั้งใจสดับฟังกันอย่างดี มีผลก่อให้เกิดนักปฏิบัติธรรม ๓ ประเภทด้วยกัน คือ

๑. นักปฏิบัติธรรมที่มุ่งพูดให้ผักงาม เป็นนักปฏิบัติธรรม ที่สามารถแตกตัว ทางความคิด และคำพูด ได้รวดเร็ว เหมือนจุลินทรีย์ จึงสามารถพูดให้ผักงามเอาๆ ได้รวดเร็ว ยิ่งกว่าใจนึก เพียงแค่ช่างคิด ช่างฝัน ช่างจำนรรจา เท่านี้ก็จะสามารถ มีรายได้ดี มีอาชีพ ที่มีหน้ามีตา อยู่ในสังคมนี้ได้แล้ว หรือหาก จะเข้ามาอยู่ในวัด ก็อาจจะสามารถ เพิ่มความหลงตัว หลงตน (อัตตา) และคอยพาผู้อื่น ให้หลงในถ้อยคำ อันสวยงาม ที่คิดสรรพรรณนา ให้ผักงดงาม ขึ้นมาอย่าง วิจิตรพิสดาร ทั้งๆที่ต้นผักจริงๆนั้น หามีไม่

๒. นักปฏิบัติธรรมที่ลูบๆคลำๆผักให้งาม เป็นผู้ที่เบื่อหน่ายพวกที่เอาแต่คิดแต่พูดอย่างเดียว เลยลุย แบบอัตโนมัติ ตามใจชอบ ของตัวเอง (อัตตาธิปไตย) จะได้ผลหรือไม่ได้ผล ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะอีก ๕๐๐ ปี ก็รอได้ ที่สำคัญ ขอให้ได้ทำตามใจชอบไว้ก่อน (อรูปอัตตา) จึงเป็นนักปฏิบัติธรรม ที่ตีภพไม่แตก (ตกภพ) สลายค่ายกล แห่งตัวตนไม่ได้ เพราะตัวตนของฉัน สำคัญกว่าอื่นใด หมู่กลุ่มจะลำบาก เดือดร้อนอย่างไร ไม่สามารถกระตุ้น ต่อมความสำนึก ให้ออกมารับรู้ได้ ถ้าฉันชอบ ฉันก็ทำ (ตามอำเภอใจ)

แม้จะฟังธรรมมาอย่างซาบซึ้งแค่ไหน แต่ก็ไปตามเรื่องตามราวของตัวเองอยู่ดี ดีไม่ดี หลังจาก ฟังธรรมเสร็จ ก็ขอไปเที่ยวต่อทันที เพราะเข้าใจธรรมะดีแล้ว จึงเป็นนักปลูกผัก ที่ถนัด ทำไร่เลื่อนลอย ขาดความสม่ำเสมอ ต่อเนื่องในการดูแลเอาใจใส่ พร้อมที่จะทิ้งๆขว้างๆได้กลางคัน จึงเป็นได้เพียง คนลูบๆคลำๆผัก เพื่อให้งามได้เป็นพักๆ จะเอาเป็นหลักอะไรไม่ได้

๓. นักปฏิบัติธรรมที่มุ่งมั่นตั้งใจปลูกผักให้งาม เป็นผู้ที่ขยันทำแบบฝึกหัด อันเกิดจากผัสสะ ที่เกิดขึ้น จากการงาน(มรรค ๘) และเป็นผู้ที่ขยันทำการบ้าน (บุพเพฯ) ไม่ใช่เอาแต่กดข่ม หรือสะกดจิต ไปวันๆ เท่านั้น ซึ่งแบบฝึกหัดต่างๆนั้น ต้องอาศัยการงาน อันจะทำให้เกิดผัสสะ เพื่อเรียนรู้เนกขัมมะ และเวทนา ๑๐๘ จนได้เห็นความไม่เที่ยง ของกิเลส (อนิจจัง) ความจางคลายของกิเลส (ทุกขัง) และความสิ้นไป หมดไปแห่งตัวตน ของกิเลส (อนัตตา)

การเห็นไตรลักษณ์ของกิเลสนี้ ยิ่งได้อาศัยตาวิเศษ (ตาของมิตรดีสหายดี) ช่วยด้วย ก็ยิ่งจะทำให้ เราเกิด ญาณปัญญา สว่างวาบขึ้นมาโดยเร็วพลัน สามารถขวนขวาย กิจใหญ่น้อย ของหมู่คณะ ไปพลาง เจริญไตรลักษณ์ ของกิเลส ไปด้วยพร้อมๆกัน

ยิ่งทำงานก็ยิ่งรับผิดชอบ ก็ยิ่งเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ยิ่งเป็นหลัก เป็นแก่นแกน ของศาสนา เพิ่มขึ้นๆ ทุกๆวัน

ไม่ใช่เอาแต่พูดเอาแต่ฟัง เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพื่อรอว่า สักวันหนึ่งผักจะงามขึ้นมาเอง (ส่วนกิเลสข้าฯ ใครอย่าแตะ!)

และถ้าจะให้ดี ให้ตาวิเศษบอกด้วย ก็จะช่วยทำให้เราได้เห็นไตรลักษณ์ของกิเลส ได้อย่างรวดเร็ว

- คณะผู้จัดทำ -